“นักวิชาการ” กำลังทำอะไรกัน????


“นักวิชาการ” ที่อ้างตัวเองว่า กำลังทำงานวิจัยและพัฒนาสนับสนุนแนวปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ยังเถียงกันไม่เสร็จเลย ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” แปลว่าอะไร มีกี่ห่วง กี่เงื่อนไข ยิ่งฟังยิ่งเหนื่อย มากกว่าการทำงานจริงเสียอีก

ปัจจุบันในเมืองไทย มีคน “อ้าง” ว่าตัวเองเป็นนักวิชาการสาขาต่างๆมากมาย พอเข้าสำนักงาน จำนวนนักวิชาการมีมาก จนแทบหาเก้าอี้นั่งไม่ได้ จึงเดินขวักไขว่จนแทบจะชนกันตาย

นักวิชาการจำนวนมากเหล่านี้ แต่ละท่านก็ไม่ค่อยว่าง ทำงานหนักแบบ “ตัวเป็นเกลียว” แทบหาเวลาว่างยาก

แต่.. เมื่อเราต้องการนักวิชาการทำงานด้านหนึ่งด้านใด กลับหานักวิชาการไม่ได้

หรือ พอจะได้ก็ไม่ว่างพอที่จะมาทำงาน “วิชาการ” เพราะติดงานอื่นอยู่

ใครคิดจะเชิญนักวิชาการเหล่านี้ไปไหน ต้องรอคิวกันเป็นเดือนๆ

เมื่อ นักวิชาการมีมาก แทบหาเงินจ้างไม่ได้ และส่วนใหญ่ก็ทำงานกันอย่างหนักขนาดนั้น

แต่ทำไมประเทศไทยจึงไม่พัฒนาแบบใช้หลักวิชาการในการทำงานหรือพัฒนาเท่าเทียม เท่าทันคนอื่นสักที

หลายปีที่แล้ว ผมได้ยินข่าวว่า เราแข่งกับเกาหลี ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ ต่อมาลดชั้นตัวเองลงมาเรื่อยๆ เห็นว่าต่อมา เราก็แข่งกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม

แต่ได้ยินข่าวว่า ตอนนี้เรากำลังแข่งกับลาว เขมร หรือ พม่า ไปโน่น

 

ผมเลยสงสัยว่า

·        เราถอยหลัง

·        อยู่กับที่

·        หรือเดินช้าจนประเทศอื่นตามมาทันกันแน่

และ “นักวิชาการ” ควรจะภูมิใจไหมในสิ่งที่ทำอยู่

เพราะ พอให้ประเมินตัวเอง “นักวิชาการ” แต่ละท่าน เขียนผลงานตัวเองซะเลิศเลอ แบบ “ไม่มีที่ติ” ได้เลย

ถ้าเป็นจริงอย่างว่า ก็มีคำถามว่า ทำไมประเทศไทยจึงดูเหมือนกำลัง “ถอยหลัง” อย่างนี้เล่าครับ

เมื่อมองเข้าไปในการทำงานจริงๆ นักวิชาการส่วนใหญ่ ยังติดยึดอยู่กับการท่องตำราไปทำงาน ผลงานที่ทำแบบตัวเป็นเกลียว ดูเหมือนจะไม่มีผลสำเร็จอะไรมากนัก

 

สิ่งที่ชาวบ้านทำสำเร็จแบบไม่มี “หลักวิชาการ” กลับมีผลสำเร็จในการทำงานมากกว่า สิ่งที่นักวิชาการใช้ “หลักวิชาการ” เสียอีก

เช่น การใช้ “หลักวิชาการ” ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็ยังสู้แค่ “ความรู้สึก” ของคนธรรมดาทั่วไปไม่ได้

 

คนที่จบยิ่งสูง ที่น่าจะมี “หลักวิชาการ” มาก กลับยิ่งทำงานได้น้อยลง หรือทำไม่ได้เลย

แล้วเราจะสร้างนักวิชาการไปทำไม

เมื่อผลเชิงประจักษ์ในแทบทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภาค ระดับกิจการ ระดับกิจกรรม เหล่านั้น แทบไม่ได้เกิดจากการใช้หลักวิชาการเลย

แม้จะนำหลักวิชาการมาตามประเมินตามหลัง ก็ยังทำได้ น้อยมาก

นี่ยังไม่ได้พูดถึงการนำหลักวิชาการ “มาสร้างงาน”

 

ตัวอย่างชัดๆ เรื่องแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของท่านในหลวง

 

ชาวบ้านทำสำเร็จ “เชิงประจักษ์” ไปไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครัวเรือนแล้ว พอที่นำไปใช้เป็นแบบอย่างเป็นสิบปีมาแล้ว

“นักวิชาการ” ที่อ้างตัวเองว่า กำลังทำงานวิจัยและพัฒนาสนับสนุนแนวปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ยังเถียงกันไม่เสร็จเลย ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” แปลว่าอะไร มีกี่ห่วง กี่เงื่อนไข   ยิ่งฟังยิ่งเหนื่อย มากกว่าการทำงานจริงเสียอีก

 หรือ อีกตัวอย่างหนึ่ง

เรื่อง “เกษตรอินทรีย์” ที่ชาวบ้านที่ "ด้อยหลักวิชาการ" พยายามทำมาเป็นสิบๆปี จนสามารถผลิตสินค้าคุณภาพสูง ส่งออกได้ เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก และมีขับเคลื่อนไปเป็นวาระแห่งชาติแล้ว

เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะ

 "ไม่ทำลายตนเอง ไม่ทำลายผู้อื่น และ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม"

ก็ยังมี “นักวิชาการ” บางกลุ่มที่บางส่วนได้รับการสนับสนุนจากบริษัทค้าสารเคมี พยายามจะขอยกเลิกวาระแห่งชาตินี้เสีย หาว่าขัดความเจริญของชาติ

จึงขอถามแบบง่ายๆ ตรงๆ ว่า

ท่านนักวิชาการผู้ทรงเกียรติ์ทั้งหลาย

·        “ท่านกำลังทำอะไรอยู่ครับ

·        มีความภูมิใจในงานของท่านมากไหมครับ

·        มีอะไรดีกว่าที่กำลังทำอยู่ไหมครับ????”

 

 

หมายเลขบันทึก: 174426เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2008 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

ท่านนักวิชาการผู้ทรงเกียรติ์ทั้งหลาย

·“ท่านกำลังทำอะไรอยู่ครับ

กำลังสำลักกาแฟ ครับเนื่องจากบทความนี้ ..

แวะมาอ่านครับ

เป็นผู้น้อยให้รู้ก้มประณมกร

สวัสดีอีกครั้งครับ

เอาอีกครับ ... เอาอีก

ขอบคุณครับ

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณครู

น้องจิแวะมาเยี่ยมเยียน สบายดีหรือเปล่าค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ

เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ----> น้องจิ ^_^

P

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

 

อ่านบันทึกอาจารย์ยังไม่ทันจบก็นึกถึงคำของใครก็ไม่ว่าทีบอกว่า

  • เมื่อเสียงเงินดัง เสียงปราชญ์ก็เงียบ

 

 

อีกอย่างหนึ่ง ประเด็นนี้อาจใกล้เคียงกับประเด็นที่อาตมาเคยเปรียบเทียบไว้นิดหน่อยที่...

 

หรือไม่ก็ขอเชิญอาจารย์ไปชมอรรถกถาที่ขยายความพระไตรปิฏกได้ที่่

 

เจริญพร

ท่านมหาครับ

ความรู้กับเงิน ทำไมต้องขัดแย้งกันครับ

หนุนเสริมพลังกันไม่ได้หรือครับ

ผมนีกไม่ออกจริงๆครับ

แหะๆ

อาจารย์ดร. แสวง รวยสูงเนินขา  หนิงไม่ได้เป็นนักวิชาการหรือ สายวิชาการนะคะ  เป็นสายปฏิบัติการที่ทำงานบริการวิชาการค่ะ  และตอนนี้ก็จะทำ R2R (routine-to-research)ค่ะ  อยากให้การทำงานประจำของเรา  ที่มีการแก้ไขปัญหาและนำมาปรับปรุงอยู่เสมอนั้น  ทำตามหลักวิชาการ  เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาค่ะ...ไม่ได้นั่งเทียนเขียนมา  อิอิ ( กลัวละลาย )

ปล. กล้วยของอาจารย์ที่นำมาฝากพ่อครูบานั้น  ติดอยู่ในรถหนิง  แต่อาจารย์ไม่ต้องเป็นห่วงนะคะ  หนิงจะดูแลอย่างดี ( เก็บไว้ในพุงกลมๆ )

ขอบพระคุณค่ะ

  • ทุกวันนี้
  • มีทั้งนักวิชาการจริง
  • และนักวิชาการโหล
  • มั่วกันอยู่นั่นแหละ เมื่อออกสนามยาก จะไปไหนละ
  • วิกฤติศรัทธาก็เกิดขึ้นสิครับ
  • เดี๋ยวนี้บางแห่งชาวบ้านเขาคุยกัน
  • ถ้าบอกว่ามีนักวิชาการจ๋ามา เขาก็จะแหวะ
  • ถ้าเป็นอย่างนี้บ่อยๆ ไม่ต้องไปถาม ไปประเมินอะไร
  • เพราะวิชาการชั้น2นั้น มันสอนตัวเองดีนัก

สวัสดีครับท่านอาจารย์...

    ได้ยินเสียงคนบ่นเลยมาอ่านครับ...สบายดีนะครับ

จริงๆ คนส่วนใหญ่ของประเทศคือชาวบ้านครับ หากชาวบ้านทำแล้วสำเร็จบนหลักวิชาภูมิรู้ในท้องถิ่นของตัวเองก็ให้ชาวบ้านถ่ายทอดกันเองนั่นหล่ะครับ เป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เอางานมาพูด ให้ผลงานพูดด้วยปากของผลงาน จะไปสนใจนักวิชาการทำไมเล่าว่าเค้าจะทำอะไรกัน???? อิอิ เพราะอาจารย์มีคำตอบดีอยู่แล้วครับ

    ทำให้ชาวบ้านอยู่ได้ด้วยตัวของชาวบ้านเอง ยั่งยืนที่สุด ยั่งยืนบนประสบการณ์ และมีภูมิคุ้มกัน รู้ทันว่าใครหน้าไหนเข้ามาหาด้วยเหลี่ยมไหน ตามทันอ่านใจคนออก แล้วก็ขับเคลื่อนแนวทางที่ได้จากการเรียนรู้

    ส่วนหากนักวิชาการศึกษาของปลอม อย่างผมก็มัวแต่จำลองอยู่ ซึ่งไ่ม่ใช่ของจริง อย่างที่อาจารย์บอกว่า อาจารย์ชอบของจริงมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีครับ อาจารย์์์บอกว่า การจำลองเป็นการมองเห็นด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่มองด้วยตาเนื้อ เรามาหาทางให้ชาวบ้านทำการจำลองกันด้วยจิตวิญญาณจะดีกว่าไหมครับ มาสร้างหลักสูตรการจำลองเพื่อศึกษา KM ธรรมชาติ ให้เค้าเข้าถึงแก่นแท้ของ KM ธรรมชาติ น่าจะีดีครับ เพราะจะได้คำตอบเช่นกัน เพราะอดีตผู้นำก็ทำการจำลองกันอย่างที่อาจารย์ว่าเช่นกันครับ ด้วยจินตนาการสูงๆ ได้คำตอบในสมอง ระดับปัญญา

    สำหรับการไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ผมยังเห็นว่า เป็น ข.ไข่ เป็น บ.ใบไม้ และ ป.ปลา เรียงตามลำดับอย่างที่อาจารย์ว่าจะดีกว่าครับ... เลิกแข่งขันกันได้แล้ว หันมาแบ่งปัน พึ่ึงพาเกื้อกูลกันเถิด เพราะสภาพพื้นที่เราต่างๆ กัน แข่งกันยังไง พื้นฐาน หรือต้นทุนก็ต่างกันอยู่ดี สู้แบ่งกันกิน แบ่งกันปลูกดีกว่าครับ เพราะชนะๆ แล้วได้อะไรเหรอครับ  นำเวียดนามแล้วได้อะไรเหรอ... หรือหากเราครองโลกแล้วคนบ้านเราร่ำรวย เราเห็นเพื่อนบ้านยากจนและขอทานเยอะๆ เราจะมีความสุขเหรอครับ??????????????????????????????????

    แข่งขันนั้น เป็นสังคมทุนนิยม....... แบ่งปัน เป็นสังคมนิยม มันอยู่กันคนละขั้ว จะทำอะไรก็รีบทำกันเถิด...ทรายแต่ละเม็ดในตึกใดๆ ทำหน้าที่ด้วยกันทั้งนั้น คงจะให้ทรายทุกเม็ดมาทำหน้าที่เหมือนกันที่เดียวกัน แล้วเราคงไม่ต้องเรียกหาคำ่ว่าบูรณาการหล่ะครับ.....

    กราบขอบพระคุณมากครับ

สังคมของเรามีคนชี้นิ้วกันมากเกินไป ไม่เฉพาะแต่นักวิชาการหรอกครับ ชี้ทีไรก็ชี้ออกนอกตัวทุกที ตกลงตัวผู้ชี้ก็เลยยังไม่มีโอกาสได้ทำสักที ถ้าให้ได้ลองทำ อาจช่วยให้รู้ได้เร็วว่าใครของจริง ใครของปลอม

ค่านิยมของสังคมยังให้คุณค่ากับความรับรู้ (ปริญญา) แต่ความรู้ที่ร่ำเรียนมากลับไม่มีค่าเลยหากไม่สามารถเปลี่ยนเป็นการกระทำ/การประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้างได้ เป็นความรู้แห้งๆ เหมือนกับที่เรียนมาแบบแห้งๆ ครับ

  • "คิวไม่ว่างรอเป็นเดือนๆ"....อ่านแล้วเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ...กำลังเซ็งก็เพราะต้องรอคิวนักวิชาการเนี่ยล่ะค่ะ

 

หลักความคิดเกี่ยวของลัทธิ ขงจื้อ ที่ว่า

หรือ "ต๋าเจ่อจี้เทียนเซี่ย ผินเจ่อตู๋ซ่านฉีเซิน"

((หาก)ประสบความสำเร็จ(ก็จะต้อง)ช่วยเหลือสรรพสิ่งใต้ฟากฟ้า (แต่ถ้าหากตัวเองนั้นไม่อยู่ในสภาวะที่ประสบควาวสำเร็จ หาก)ยากจนก็พยายามที่จะรักษาตัวรอดและทำให้ดีที่สุด)

นั้นก็ยังคงใช้ได้อยู่ครับ อิๆ

สวัสดีค่ะ อ.แสวงที่เคารพ

ได้ชื่อว่าเป็น นักวิชาการ คนหนึ่งค่ะ แต่ไม่เคยแน่ใจเลยว่าตัวเองรู้อะไรมากไปกว่า คนที่ทำจริง หรือ เราชอบเรียกว่า ชาวบ้าน

เมื่อถูกอุปโลกน์ให้เป็น นักวิชาการ แล้วก็จำต้อง ทำตามหน้าที่ แต่มันแห้ง ๆ แล้ง ๆ โหวง ๆ ในใจอย่างที่ท่านว่า เพราะรู้สึกว่าเรา กลวง เหลือเกิน ไอ้ที่เรียนมาเป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่เห็นบอกไว้สักหน่อย... พอไปเห็นของจริงก็ยัง งง ๆ งัน ๆ ทำ ๆ ไปสักพักใหญ่ก็อ้อ...เป็นเช่นนี้หรือ  แต่...นักวิชาการหรือข้าราชการบางพันธุ์ เขาเลี้ยงไว้ให้อมโรค....และอยู่ในวงจร... โง่ จน เจ็บ...

โง่ (ห้ามคิดห้ามแสดงความคิดเห็น) จน(ปัญญาเพราะไม่รู้จะคิดสร้างสรรค์ทำไม พูดไปก็แค่นั้น) จ็บ (สมองและสติปัญญา เพราะไม่กล้าคิดไม่กล้าทำ-ป่วย)

ตอนจะมาเรียนหนังสือต่อ ไปขอบคุณท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ช่วยแนะนำสั่งสอน ท่านบอกว่า ดี ดี ไปเรียนเสีย จะได้หายโง่ จน เจ็บ อย่าเรียนกลับมาแล้วยิ่งป่วยหนักนะ

คนไม่มีราก รับไว้ใส่ใจ...ตั้งใจรักษาให้ตัวเองหายป่วย...แต่ตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะป่วยด้วยโรคใหม่หรือเปล่าค่ะ...

อาจารย์เก่งมีเยอะ แต่ส่วนใหญ่งานก็เยอะเหมือนกัน ในอีกมุมหนึ่งจึงต้องมองว่า ทำไมอาจารย์เก่งจึงไม่สามารถดึงอาจารย์โหลไปพัฒนาให้เป็นอาจารย์เก่งบ้าง อาจารย์โหลบางคนพยายามที่จะพัฒนาตนเอง แต่ก็ไร้ซึ่งโอกาสและไม่ได้รับคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากอาจารย์เก่ง

อันนี้แล้วแล้วโยงไปที่ประเด็นว่า ทำไมไทยจึงพัฒนานาช้ากว่าประเทศอื่น ก็เพราะเราเก่งเป็นรายคนแต่เราร่วมกันเก่งไม่ค่อยจะเป็น ภาพสะท้อนชัดจากพฤติกรรมของคนเป็นอาจารย์ที่ท่านอาจารย์ได้นำเสนอไปครับ

สวัสดีค่ะ ดร แสวงที่เคารพรักยิ่ง

  •  ใครทำดีเราควรส่งเสริมค่ะอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการที่ศึกษากันถึงระดับปริญญาทั้งหลาย
  • ....ชาวบ้าน ..ถ้าเขาทำอะไรสำเร็จหรือทำได้ดีกว่าพวกนักทฤษฎี..เราก็ควรส่งเสริมเขา ให้โอกาสเขา..เรื่องบางเรื่องอาจต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์จริง..มาสอนผู้มีความรู้ทางทฤษฎีด้วยซ้ำไปค่ะ เช่นเรื่องที่เกี่ยวกับการเกษตร หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นต้น
  • ประเทศชาติไม่ค่อยเจริญเท่าที่ควร..คิดว่าคงเป็นเพราะคนมักคาดหวังกับสิ่งต่างๆเช่นคาดหวังกับนักวิชาการ..เป็นต้น..แต่ความจริงแล้วทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้ค่ะ..โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานทางด้านการเกษตร..มีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น แบบประเทศไทยเรา..เป็นต้น
  • แต่ถ้าทำงานร่วมกันได้ระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้าน..อันนั้นก็อาจเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้นก็เป็นได้..สำหรับเรื่องที่ต้องอาศัยทฤษฎีใหม่ๆผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นต้น

ด้วยความเคารพรักยิ่งค่ะ

หนูหมูอ้วนค่ะ

   นักวิชาการที่เจอส่วนมากที่เขาบอกว่าเป็นผู้คงแก่เรียนจะมีลักษณะดังนี้

  • อ่านมาก จดจำเชื่อมโยงสิ่งที่อ่าน สิ่งที่ฟังมาเป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็เอาไปบอกคนอื่นๆต่อ
  • เขาจะตอบคำถาม "อะไร" ได้คล่อง แต่ถ้าถาม "ทำไม" หรือ "อย่างไร" จะออกอาการ ข้างๆคูๆ  เพราะ ไม่เคยทำสิ่งที่พูด
  • เขามักดูถูกของที่ทำได้ง่ายๆว่า .. อ่อนด้อย .. ยิ่งรุงรัง ยิ่งเข้าใจยาก .. นั่นล่ะ เขาชอบ ..
  • ฯลฯ

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์

    มาอีกรอบนะครับ.....

ทฤษฏีกับปฏิบัตินั้น ต้องอยู่ด้วยกันครับ และมีระดับของทฤษฏีและระดับของปฏิบัติ

ทฤษฏีอาจจะเทียบได้กับราก...ปฏิบัติก็เปรียบเสมือนผล

ไม่่ว่าเราจะเริ่มอันใดก่อนก็ตาม...หากท้ายที่สุดแล้วสร้างความสมดุลระหว่าง ทฤษฏีกับปฏิบัติให้ได้ ความสำเร็จก็คงเกิดครับ

เหมือนคำกล่าวที่ว่ากันว่า 

  • ทฤษฏีที่ไม่นำไปปฏิบัติใช้ ก็ไร้ผล
  • ปฏิบัติที่ไ่ม่มีทฤษฏีก็ไร้ราก
  • ทฤษฏีที่นำไปปฏิบัติและสู่การพัฒนาทฤษฏีต่อย่อมมีทั้งรากทั้งผล ความยั่งยืนก็เกิด

เรามักมองกันว่า...ชาวบ้านเน้นการปฏิบัติเป็นหลัก และนักวิชาการเน้นภาคทฤษฏีเป็นหลัก

เป็นแนวทางที่เริ่มกันจากคนละจุดกันครับ

เน้นปฏิบัติก็นำไปสู่การศึกษาธรรมชาติบนฐานของเหตุและผล จนปฏิบัติซ้ำๆ วันหนึ่งเมื่อมีความแ่ม่นยำ ก็สาัมารถเขียนทฤษฏีได้จากการปฏิบัติจริง

เน้นทฤษฏีเป็นหลักที่นำไปสู่การปฏิบัติใช้จริง ก็เป็นการเรียนจากบทสรุปของคนที่เคยศึกษาปฏิบัติมาก่อนแล้ว เพียงแต่เราต้องนำไปทบทวนเพื่อสร้างและยืนยันก่อนจะเชื่ออย่างปักใจ จะทำให้เรามั่นใจมากขึ้น

สองทิศทางนี้ ก็ย่อมไปเจอกันระหว่างทางได้ เพื่อให้ปฏิบัติและทฤษฏีกันสมดุล

ในนักปฏิบัติก็จะมีทฤษฏีที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในระบบคิด เช่นเดียวกับ นักวิชาการที่เน้นทฤษฏีที่ศึกษาก็ย่อมเกิดการปฏิบัติผสมอยู่เช่นเดียวกัน

อย่างการเขียนโปรแกรม แค่เรียนว่าโครงสร้างไวยากรณ์ภาษาเป็นอย่างไร โดยไ่ม่เคยหัดเขียนและพบกับข้อความผิดพลาดจากการคอมไพล์ ก็เป็นการเรียนที่ไร้ผล เพียงแค่รู้ไว้ใช่่ว่าเฉยๆ...

ท้ายสุด ทั้งชาวบ้านและนักวิชาการต้องทำงานร่วมกันครับ แล้วจะเกิดภาวะสมดุลกัน รวมปฏิบัติและทฤษฏีไ้้ว้ในตัวเราด้วยกันเช่นกันครับ

กราบขอบพระุคุณมากครับ

ไม่แน่ใจว่าพ่อจะจำได้ไม๊ตอนที่เราได้มาพบกัน หนูเคยเล่าให้พ่อฟังถึง

"ศรัทธาที่ไม่มีแรงต่อนักวิชาการไทย" ก็เห็นเช่นเดียวกันค่ะ

เข้า--จิต--เข้า--ใจ--เข้าใส้--แต่ไม่เข้ากึ๊น

แร..ง!! ดีไม่มีตกนะคะ อิอิ

ไปค่ะ ไปต่อ ไปด้วยกัน

คงมีสักวัน ที่เป็นของ "ชาวบ้าน" อย่างเรานะคะ

เรียน อาจารย์ ดร.แสวง ครับ

  • คนเรียนยิ่งสูง ยิ่งขี้โกง ... บางทีวัฒนธรรมองค์กรก็เปิดช่องโน้นช่องนี้ให้ ล้วนแต่โกงบ้านโกงเมืองทั้งนั้น
  • จากไม่มีหลักฐานใด ๆ ก็ทำให้มีหลักฐานที่ถูกต้องซะ ... เวลา สกอ. กพร. อะไรมาตรวจ ก็ยื่นให้ นี่ไงล่ะ เรามี (เอามาจากไหนก็ไม่รู้)
  • ผลงานวิชาการของพวกทำผลงานขอ ซี ขอตำแหน่งทางวิชาการ ก็มั่วนิ่ม อาศัยพวกพ้องบ้าง ระบบอุปถัมภ์ก็มี แล้วงานพวกนี้จะลงท้องถิ่นไปแก้ปัญหาประชาชนงั้นหรือ ไม่มีหรอก
  • ได้ตำแหน่งมา เงินเดือนขึ้น ไปหาเหตุทำ ทำไม ไร้ประโยชน์ เดี๋ยวก็ทำผลงานอีกสักขั้น เงินก็เพิ่มแล้ว อาจารย์ว่าไหม
  • สังคมมหาวิทยาลัยที่ผมอยู่ ผมเห็นแบบนั้น ... จะเหลือดีบ้างก็น้อยจัง
  • เขียนหนังสือ ... เพื่อตัวเอง
  • ทำวิจัย ... ทำให้จบเร็วที่สุด ก็เพื่อตัวเอง
  • นี่มาบอกว่า มหาวิทยาลัยท้องถงท้องถิ่นอะไร ฟังไม่ขึ้น
  • แวะมาบ่น ... ให้อาจารย์ฟังเรื่อง วิชาการจอมปลอม

ขอบคุณครับ :)

ขอบคุณครับที่มาช่วยเติม ช่วยชี้แนะ และให้กำลังใจในการทำงานใน "โลกแห่งความเป็นจริง"

ผมยังเชื่อมั่น ในหลักการที่ว่า

  • ไม่มีใครเลย ที่ต้องการหรือตั้งใจเป็นคนไม่ดี หรือพยายามทำในสิ่งที่ไม่ดี (โดยไม่จำเป็น)
  • ที่ต้องทำอยู่ในปัจจุบัน น่าจะเนื่องจาก เขาอาจจะรู้อยู่แค่นั้น หรือคิดได้แค่นั้น หรือ ทำเต็มที่ และดีที่สุด ได้แค่นั้น
  • และ ถ้ารู้ และสามารถทำได้ดีกว่านั้น ผมเชื่อว่าเขาจะต้องทำแน่นนอน

ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่า "วิชชา" น่าจะเป็นแสงส่องทาง

"สัมมา"ทิฐิ เป็นหางเสือ ที่เหลือก็ตัวเราเอง

ที่จะทำให้แต่ละท่านพุ่งไปสู่การทำในสิ่ง "ที่ดีที่สุด" ที่ตัวเองทำได้ "ดีที่สุด"

ผมจึงเชื่อว่า "การสะกิด" จะแรงหรือค่อยก็แล้วแต่อาการ

จะช่วยให้เราเริ่มเข้าใจ และทำในสิ่งที่น่าจะดีกว่าเดิม

 

ผมยังเชื่อมั่นว่า ถ้าเราไม่ติดยึดกับ "สันดาน" ที่ไม่ถูกต้อง เช่น เห็นเงินสำคัญกว่าทุกอย่างในโลก อย่างที่เรากำลังคุยกันอยู่ในปัจจุบัน เราน่าจะมีทางพัฒนาได้เร็ว

วันหนึ่งเราต้องจากโลกนี้ไป เราจะให้โลกลืมเราไปเลย หรือจะให้โลกจำว่าเราได้สร้างอะไรไว้ให้กับโลก

ความดี ที่แม้บางท่านจะถือว่าเป็นกิเลศอย่างเบาๆ ก็เป็นสิ่งที่สร้างสรรสังคมได้ และทำให้สังคมนี้น่าอยู่มากขึ้น

เรามาช่วยกันสร้าง critical mass ของความดี และคนดี เพื่อสร้าง momentum ของความดี และกลุ่มคนที่ทำดี

นี่เป็นหนทางที่ผมมองเห็น กำลังเดิน และหาแนวร่วมต่อไปครับ

ขอขอบพระคุณอีกครั้งครับ

 

อายพ่อจังเลยค่ะ

ตำแหน่งที่เค้าให้หนูคือ "นักวิชาการศึกษา"

แต่ 10 กว่าปีมานี้หนูก็ยังไม่คุ้นเคยซักกะที

รู้สึกแต่ว่าตัวเองเป็น "ผู้บริการจัดการศึกษา" ซะมากกว่า

แต่หนูก็จะพยายามเรียนรู้จากที่นี่นะคะ

ก็หนูอยากเป็นส่วนหนึ่งของ critical mass ของความดี และคนดี ให้เกิดเป็น momentum ของความดี และคนที่ทำดี

กลัวก็แต่จะ "ติดดี" จนเกิน "พอดี" หน่ะค่ะ

อากาศร้อน ใจเย็น เห็นจะดี

อากาศดี ใจรน ทนไม่ไหว

อากาศเสีย ทุกข์นี้ ที่เสียใจ

อากาศไทย ทำไม เป็นอย่างนี้

~~ ร้อนหล๊ายหลายค่า ~~

อยู่ไป ทำไป แก้ไขไป เดี๋ยวก็ดีเองแหละครับ

ใจเย็นๆ ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม

แต่ต้องระวังหลัง "น้ำขึ้นให้รีบตัก" ด้วยนะครับ

 

  • สวัสดีค่ท่านอ. ดร. แสวง รวยสูงเนิน
  • ดีใจที่ได้เป็นสมาชิก gotoknow
  • ได้รู้จักคนดีมากมาย...ในสังคม ...นี้
  • ได้มีกำลัง แรงใจที่จะทำงานต่อไป ...
  • เพราะเคยตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า...
  •  นักวิชาการ กำลังทำอะไรกันอยู่ ...
  • ขอบคุณค่ะ

ยินดีต้อนรับครับ

ใน G2K เราคือก้อนแห่งความดี ที่กำลังเพิ่มmomentum ไปเรื่อยๆครับ

สวัสดีครับ

นักวิชาการ คือ ผู้ที่ดีแต่พูด = ปริยัติ

ชาวบ้านคือ ผู้ที่ดีแต่ทำ = นักปฏิบัติ

นักวิชาการ,ชาวบ้าน ที่พูดดีและทำดี = ปฏิเวธ

ปล่อยวางความเป็นอัตตาที่แสดงถึงผู้มีภูมิรู้ ผู้คงแก่เรียน ผู้รู้มาก ผู้เป็นพหูสูตร ผู้ขี้โกรธ ผู้อวดรู้ ผู้อวดตน

แล้วมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยกันเถิด

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท