การเรียนแบบธรรมชาติ กับ การเรียนภาคทฤษฎี


เราจะเริ่มทำความเข้าใจสิ่งที่เราต้องการเรียนรู้ก่อนการเข้าไปอ่านเอกสารตำรา และหรือพร้อมๆกับการสอบถามจากผู้อื่น

ในชีวิตประจำวันของเรา เมื่อเราต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรสักอย่าง เรามักจะเริ่มต้นด้วยการไปทำความรู้จักกับสิ่งที่เราจะเรียน แล้วก็ไปศึกษาถึงข้อมูลที่มี และไปถามคนที่เคยใช้หรือคนที่เคยรู้จักมาก่อน

 

ตามหลักการของ ๓ ครู คือ

ครูธรรมชาติ  ครูเครื่อง และ ครูคน

กล่าวคือ เราจะเริ่มทำความเข้าใจสิ่งที่เราต้องการเรียนรู้ก่อนการเข้าไปอ่านเอกสารตำรา และหรือพร้อมๆกับการสอบถามจากผู้อื่น

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่า

เราซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มา ๑ เครื่อง พร้อมคู่มือ คนส่วนใหญ่จะไม่เริ่มต้นจากการอ่านจากคู่มือ แต่จะเริ่มจากการลองเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ กดปุ่มต่างๆ ให้เข้าใจถึงกลไกที่เป็นอยู่ จนถึงขั้นที่เริ่มไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็จะใช้วิธีการอ่านจากคู่มือที่ให้มา หรือสอบถามคนที่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อน

นี่คือ หลักการเรียนอย่างเป็นธรรมชาติ ที่คนส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้

แต่ระบบการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาในปัจจุบัน พบว่า มีการสอนทฤษฎี ไปจนสิ้นสุดทุกอย่างแล้ว จึงเริ่มให้นักศึกษาไปฝึกงาน หรือไปดูตัวอย่าง ซึ่งไม่สามารถจะทำให้นักศึกษาเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง หรือเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเป็นการเรียนแบบผิดธรรมชาติ

เรื่องนี้ ผมได้พยายามอธิบาย ให้อาจารย์และบุคลากรในสถาบันการศึกษาฟัง เขาก็เถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายว่า คนจะเรียนรู้ได้ ต้องเริ่มต้นที่ทฤษฎีให้จบก่อน แล้วจึงไปสู่ภาคปฏิบัติ จึงจะเรียนรู้ได้ดี

ซึ่ง ผมไม่เห็นด้วย อันเนื่องมาจากตัวอย่างของการเรียนวิธีการใช้คอมพิวเตอร์ ที่ผมยกตัวอย่างไว้ข้างต้นว่า

เราจะต้องมีการเห็นของจริง มีคู่มือ ลองทำ ลองใช้ ทดสอบ จนทำต่อไปไม่ได้ แล้วจึงเริ่มมาอ่านคู่มือหรือถามคนที่เคยทำมาก่อน แต่ส่วนใหญ่เราก็จะถามก่อนอ่านเสมอ

นี่เป็นภาวการณ์เรียนปกติของคนทั่วไป

ผมจึงเสนอว่า นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรใดๆ ก็ตาม น่าจะต้อง สัมผัสโลกแห่งความเป็นจริง ในงาน หรือกิจกรรมที่เขาจะต้องเผชิญเสียก่อน หรืออย่างน้อยก็ต้องมีประสบการณ์มาก่อนในเรื่องนั้น ๆ จึงจะเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่น การเรียนด้านเกษตรกรรม  นักศึกษาจำเป็นจะต้องรู้จักระบบการเกษตร ปัญหา ขีดจำกัด และสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างกว้างๆ พอเป็นแนวในการวางแนวคิด การศึกษา และการค้นคว้า ที่ตรงประเด็นกับวิชาการ และการปฏิบัติอย่างสอดคล้องกัน เป็นขั้นๆ แบบเดียวกับการลองใช้คอมพิวเตอร์ที่ผมยกตัวอย่างไว้ข้างต้น

หลังจาก ๑๐ ปีผ่านไป ผมได้มีโอกาสที่จะลองทำกิจกรรมนี้ แม้จะไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็พอมีลู่ทางทำได้ ที่แรงต้านทานของบุคลากรสถาบันการศึกษาลดลง ปล่อยให้ผมทำตามแนวคิดดังกล่าวข้างต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพานักศึกษาชั้นปีที่ ๑  ในหลักสูตรเกษตรศาสตร์ ไปศึกษาระบบการผลิต การบริโภค และการตลาด ของข้าวอินทรีย์ และพืชเกษตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะให้นักศึกษาได้มีกรอบแนวความคิดในการศึกษาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีแนวคิดที่เหมาะสมในการวางแนวทางในการพัฒนาตนเอง ไปตามแนวของวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

สำหรับในปีการศึกษา ๒๕๕๑ นี้ ผมได้ขอความอนุเคราะห์จากวัดป่าสวนธรรมร่วมใจ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาชั้นปีที่ ๑  ที่นอกจากจะได้เห็นตัวอย่างการจัดการระบบเกษตรอินทรีย์และข้าวคุณธรรมแล้ว ยังจะได้ศึกษาพัฒนาจิตของตนเองให้เหมาะสมกับการเป็นคนที่ดีของสังคม มีความภาคภูมิใจ และพร้อมที่จะเสียสละทำงานเพื่อประเทศชาติ

นั่นคือ กิจกรรมหนึ่งที่อยู่ในแผนการสอนเพื่อการเรียนรู้แบบธรรมชาติ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใต้กรอบเวลา แผนงาน และงบประมาณที่มี

อีกกิจกรรมหนึ่ง ที่ผมกำลังเริ่มใน ๒-๓ วันนี้ ก็คือ การนำนักศึกษาที่เรียนวิชา การจัดการทรัพยากรที่ดินแบบบูรณาการ จำนวน ๑๐๐ กว่าคน ไปดูงานและร่วมกิจกรรม การทำนาของผมที่แปลงสาธิตเกษตรอินทรีย์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เห็นของจริงว่า การทำเกษตรอินทรีย์  การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ พืช สัตว์ และระบบนิเวศน์แบบบูรณาการนั้น มีตัวอย่างที่เป็นของจริงอย่างไรบ้าง

กิจกรรมนี้ จะเริ่มในวันเสาร์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ เป็นต้นไป

Na007

การรวมพลและกำหนดแผนงานในตอนเช้า

Na016

การเริ่มงานด้วยการดูสภาพการกินของหอย และเก็บมาทำปุ๋ยน้ำหมัก

Na020

การเตรียมกล้าโดยการถอนแยกจากแปลงที่ ๑

Na017

การนำกล้ามาปักดำซ่อมข้าวที่หอยกินเสียหาย

นอกจากนี้ ผมจะมีนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ และนักศึกษาปริญญาโท จำนวนประมาณ ๑๕-๒๐ คน ไปร่วมกิจกรรม การทำนาเพื่อการเรียนรู้ การทำปัญหาพิเศษ และการวิจัย ในพื้นที่นาจริง ๆ แบบไม่มีข้อสมมุติให้อืดอัดในกระบวนการศึกษา

ผมถือว่า วิธีการเรียนแบบนี้ จะทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสระบบการผลิต สภาพแวดล้อม ระบบทรัพยากร และระบบการจัดการที่เป็นจริง ในทุกบริบท มีผลได้ผลเสีย อย่างชัดเจนในระดับพื้นที่ เช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วไปทำอยู่ในปัจจุบัน

นักศึกษารุ่นนี้ จะเริ่มต้นจากการ หว่านข้าว ดูแลน้ำ ถอนกล้า ปักดำ ติดตามผล จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การบริโภค และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่คาดว่า จะทำให้นักศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อการเรียนทฤษฎีที่เข้าใจได้ง่าย และมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

ผมจึงหวังว่า วิธีการเรียนรู้แบบธรรมชาตินี้ จะเป็นวิธีที่ยอมรับได้ในสถาบันการศึกษา เพื่อเสริมการเรียนภาคทฤษฎี ที่บังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้นักศึกษาท่องจำไปสอบแบบจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็สอบผ่านไป พอจบก็จำอะไรไม่ได้เลย

แต่การเรียนแบบวิธีธรรมชาติ ตามแนวที่ผมวางไว้นี้ น่าจะช่วยให้เกิดความรู้และความเข้าใจ ฝังอยู่ในความรู้สึก และจิตวิญญาณของผู้เรียน เป็นความรู้ที่เป็นจริงที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาปัญญาและความสามารถได้ ในระยะต่อๆไป และอาจจะเป็นต้นแบบของระบบการจัดการเรียนรู้แบบ KM ธรรมชาติ ที่พยายามนำเสนอมาตลอดในระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา

นี่คือ แผนงาน และแผนปฏิบัติ

ท่านใดมีข้อเสนอแนะ ขอขอบคุณล่วงหน้า มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

หมายเลขบันทึก: 186637เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2008 02:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ผมเชื่อวิธีการที่ท่านอาจารย์บอกเพราะเห็นเหมือนที่อาจารย์เห็น ผมชอบที่จะให้น้องๆลงมือทำกอ่น เจอปัญหาแล้วถาม เราจึงบอกว่าเพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้นมีระเบียบกฎหมายตัวไหน ถามดูเขาว่าแบบนี้ดีเข้าใจและทำได้เลย

มายกมือสนับสนุนครับ

เรียน ท่าน อาจารย์แสวง

  • ผมเห็นด้วยอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง บันทึกของอาจารย์ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่เคยทำครับว่า ผมเคยทดลองใช้วิธีการให้เกษตรกรสงสัยจนสุด ๆ แล้วค่อยให้ค้นคว้าที่ละนิด สุดท้ายค่อยเอาตำรามาว่าในเรื่องทฤษฎี ได้ผลดีมากในเรื่องของความเข้าใจและปฏิบัติได้
  • ครั้งใดที่ใช้การบรรยายในการให้ความรู้  เขาจะห่วงเหงาหาวนอน  และบอกว่าไม่เข้าใจ  ตกลงว่าเวลาอบรมตำราคู่มือที่แจกไปก็ไร้ค่าเพราะไม่เข้าใจตอนอธิบายแล้ว ตำราก็คงไม่อยากอ่าน
  • ผมไม่ได้ตั้งแนวทางตามบันทึกของอาจารย์ที่บอกว่าการเรียนรู้แบบธรรมชาติ  แต่ผมก็เจอมาลักษณะอย่างนี้  และควรอย่างยิ่งที่จะเรียกแบบที่อาจารย์เรียก 
  • ทฤษฎีมาที่หลัง  แต่ทำไมต้องยัดเหยียดให้ผู้ที่ยังไม่รู้เรื่องใด ๆ ต้องเจอทฤษฎีก่อน 

                                            ชาญวิทย์-นครศรีฯ

กราบสวัสดีครับ

    สบายดีนะครับ  การชวนอยากให้เด็กปฏิบัติแล้วค้นเจอหลักคิด แนวคิดแล้วเด็กคิดหลักได้ด้วยตัวเอง...แล้วมาทราบตอนหลังว่า ออหลักนี้มีคนคิดไว้แล้วว่าอย่างนั้น จะทำให้เด็กประทับใจในสมองของตัวเองที่คิดได้เช่นกัน ทำให้รู้ว่ากว่าจะมาเป็นทฤษฏีหรือหลักนั้นมาจากการปฏิบัติจนได้หลัก ทฤษฏีส่วนใหญ่ก็มาจากปฏิบัตินั่นล่ะแต่เราไปจับมาผิดช่วง ตั้งต้นกันที่หลักการ จนไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วสารตั้งต้นมันไม่ใช่ทฤษฏีเลย แต่ควรจะเป็นรากฐานคือ การปฏิบัติ

    ปฏิบัติ ----(1)------>   ทฤษฏี -------(2)------>  ปฏิบัติ

    สองช่วงแห่งการเรียนรู้

  • หากอยากให้ผู้เรียนเน้นที่ปฏิบัติ ทำไมเราไม่เริ่มที่ปฏิบัติ
  • หากอยากให้ผู้เรียนเก่งทฤษฏี ทำไมเราไม่เริ่มที่ปฏิบัติ
  • หากมองสองอย่างนี้ไม่เชื่อมกัน การเรียนรู้ก็ล้มเหลว เพราะหัวใจทั้งสองคือหัวใจแห่งการปฏิบัติ  จะทำให้เราคิดว่า ทฤษฏีคือความฝัน ปฏิบัติคือความจริง

    ขอบพระคุณมากครัีบ

 

กระผมเขียนข้อเสนอแนะที่บันทึกพ่อครูเสร็จ...อ่านบันทึกของท่านอาจารย์ เห็นว่าสอดคล้องกัน ขอนำมาแปะรวมแล้วเชื่อมกันดีกว่านะครับ

คาระวะท่านอาจารย์ครับ

--------------------

P

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
เมื่อ ส. 07 มิ.ย. 2551 @ 07:39
689352 [ลบ]

กราบท่านพ่อครูครับ

เสียงจากกลุ่มหนุ่มสาววัยเฮ้ว...

ผมมองว่า กระบวนการเรียนรู้ หากไม่ทำเอง ก็พูดไม่ได้เต็มปาก ทำเองถึงบรรยายได้ถึงรสถึงชาติ ไม่ทำมัวแต่พ่นทฤษฏี ยังไงก็ไม่เนียนนะขอรับ

ส่วนวิถีของผมเองก็ทำไปเรียนรู้ไป ด้วยวัยหนุ่มสาวที่มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้รู้จักครูบาอาจารย์ช่วยนำทางวิวัฒน์ แม้ท่านไม่ได้บอกตรงๆแบบเขกหัวให้ทำ แต่ปรัชญา - แบบอย่างที่ท่านย่างรอยไป เรายึดมั่นในผลึกปัญญาที่สร้างสรรค์สังคม

ไม่มีเวลาสำหรับมือสมัครเล่นเเล้ว เดี๋ยวนี้ต้องมืออาชีพเท่านั้น ไม่มีเวลาสำหรับลุยแบบไม่ฟังอีร้าค้าอีรม แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของศาสตร์ มีตรรกะที่นำมาผสานกับใจที่ดีงาม

วันนี้ผมวิ่งไปพร้อมวิธีการคู่ขนานคือ นำความรู้เดิมมาใช้ พร้อมกับสร้างความรู้ใหม่กับบริบทใหม่ ผสานให้เป็นนวตกรรมของตัวเองแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเรียนรู้ก็ถอดบทเรียนออกมาให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ธรรมดา ไม่ผยอง แต่ก็มีศักดิ์ศรี และสู้ได้จนยิบตา ใครมีศาสตร์ดีๆเอามาสู้กัน...ไม่พูดอย่างเดียว ทำแล้วพูดดีกว่า เท่ห์กว่ากันเยอะเลย

"มนุษย์ทุกคนต้องการความหวานชื่น แต่ทุกเรื่องจำเป็นต้องมีจุดพอดี"

ชอบครับ ประโยคนี้..

เรียน ท่าน อาจารย์แสวง

  • ผมเห็นด้วยอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง บันทึกของอาจารย์ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่เคยทำครับว่า ผมเคยทดลองใช้วิธีการให้เกษตรกรสงสัยจนสุด ๆ แล้วค่อยให้ค้นคว้าที่ละนิด สุดท้ายค่อยเอาตำรามาว่าในเรื่องทฤษฎี ได้ผลดีมากในเรื่องของความเข้าใจและปฏิบัติได้
  • ครั้งใดที่ใช้การบรรยายในการให้ความรู้  เขาจะห่วงเหงาหาวนอน  และบอกว่าไม่เข้าใจ  ตกลงว่าเวลาอบรมตำราคู่มือที่แจกไปก็ไร้ค่าเพราะไม่เข้าใจตอนอธิบายแล้ว ตำราก็คงไม่อยากอ่าน
  • ผมไม่ได้ตั้งแนวทางตามบันทึกของอาจารย์ที่บอกว่าการเรียนรู้แบบธรรมชาติ  แต่ผมก็เจอมาลักษณะอย่างนี้  และควรอย่างยิ่งที่จะเรียกแบบที่อาจารย์เรียก 
  • ทฤษฎีมาที่หลัง  แต่ทำไมต้องยัดเหยียดให้ผู้ที่ยังไม่รู้เรื่องใด ๆ ต้องเจอทฤษฎีก่อน 

                                            ชาญวิทย์-นครศรีฯ

สนับสนุน อาจารย์ครับ จะขอติดตามความคืบหน้าครับ

รักษาสุขภาพนะครับ

เห็นด้วยค่ะ การเรียนต้องให้ผู้เรียนเข้าไปคลุกตั้งแต่เริ่มต้น อย่างน้อยเพื่อเป็นการปรับทัศนคติในการเรียนรู้ หลังจากนั้นแล้วค่อยเติมความเข้มในแต่ละ concept ต่อไป

สวัสดีครับ อาจารย์

เป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบธรรมชาติจริงๆเลยครับ

ทุกคนต้องเริ่มเรียนจากการได้ลงมือปฏิบัติก่อน ถึงจะได้รู้จักปัญหาที่เกิดขึ้น และก็จะหาทาง วิธีมาแก้ไข ทำให้เราได้ประสบการณ์ ความรู้ที่จะติดตัวเราไปตลอดไม่มีวันลืม

เพราะการเรียนทุกวันนี้มีแต่ทฤษฎีเรียนไปก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง พอหลังจากสอบแล้วก็คืนให้อาจารย์ที่สอนหมดเลย พอจบก็ไม่มีความรู้อะไรเลยก็มี

ขอบคุณมากครับอาจารย์

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.แสวง

วันนี้ผมเพิ่งบรรยายในงานสัมมนาเกี่ยวกับประสบการณ์จากการเป็นสมาชิกใน gotoknow นี่ ผมเปรยกับเพื่อนว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมมีบันทึกและนักบันทึกในดวงใจอยู่ไม่กี่คน ผมคิดว่าอาจารย์ทำหน้าที่ของผู้ส่งสารได้ดีที่สุดครับ และเป็นนักบันทึกคนโปรดของผม

ผมเห็นว่าจุดมุ่งหมายของ gotoknow คือการนำความรู้ฝังลึก (tacit) มาเผยแพร่ให้เป็นความรู้แบบไม่ฝังลึก (explicit) คืออธิบายได้และสามารถนำไปใช้ต่อได้ จะใช้ต่ออย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของผู้รับ

ส่วนผมฐานะผู้รับจะนำไปใช้ต่ออย่างไรนั้น คงต้องคิดให้หนัก และคิดให้ตลอด

แนวคิดของอาจารย์หลายๆ อย่างผมเรียนรู้จากทฤษฎีที่ฝรั่งเขาคิดขึ้นสวยหรู แต่ผมเองยังไม่เคยได้ลงมือเอามาใช้จริง อาจารย์เชี่ยวชาญด้านเกษตร ผม(พยายามจะ)เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แม้เนื้อหาวิชาจะต่างกัน แต่ผมเชื่อว่าจุดมุ่งหมายเราไม่ต่างกันนะครับ คือมุ่งให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์การเรียนที่ดี เป็นประโยชน์ และใช้ได้จริง

วิธีหนึ่งซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจคือการเรียนรู้แบบเป็น "ลูกมือ" ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิถีแบบธรรมชาติเหมือนกัน ผมขอบังอาจเสริมตัวอย่างตามความเข้าใจของผมนะครับ

สมมติผมเป็นลูกชาวนา ผมเข้าใจว่าผมอาจจะไม่ได้เริ่มเรียนรู้การทำนาโดยการหว่านข้าว ดูแลน้ำ เพราะยังเด็กเกินไป คุณพ่อคุณแม่ก็อาจใช้ผมไปเลี้ยงทุยก่อน หรือทำอะไรง่ายๆ อันนี้ผมไม่ทราบว่ามีอะไรบ้าง พอเริ่มโตขึ้นมาหน่อยก็อาจจะให้ทำอะไรที่มันยากขึ้น อาจให้หว่านข้าว เกี่ยวข้าว กว่าจะรับช่วงต่อเป็นผู้ต่อรองกับเถ้าแก่โรงสี หรือทำอะไรที่ยากๆ ก็ต้องรอให้รู้วิถีของชาวนาเสียก่อน

ผมเชื่อว่าตัวอย่างของผมไม่ถูกต้องนัก แต่อยากจะเสนอภาพที่ว่า การเรียนรู้แบบธรรมชาติ บางครั้งมันไม่ใช่ หนึ่ง สอง สาม แต่อาจจะเป็น สี่ สอง หนึ่ง ห้า ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการของเนื้องาน แต่เป็นไปตามความยากง่าย การสอนแบบนี้มันไม่มีโครงสร้างแน่นอน นักการศึกษาก็คงทำใจลำบาก เพราะมันไม่เป็นไปตามทฤษฎี

ผมมาคิดต่ออีกหน่อยสำหรับบันทึกนี้นะครับ ผมสงสัยว่าถ้าเกิดผู้สอนเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ตรง คือจบปริญญาตรี โท เอก แล้วก็เข้าสู่วิชาชีพ เป็นนักวิชาการเลย แบบนี้จะหาประสบการณ์ตอนไหน ยิ่งเดี๋ยวนี้ตลาดการศึกษาแข่งขันกันหนัก ต้องเรียนเร็ว ต้องเรียนเก่ง ยิ่งจบเร็วยิ่งดี แบบนี้เรามาถูกทางไหมครับ?

ระลึกถึงเสมอครับ

ปล. ยิ่งเรียนผมก็ยิ่งเบื่อการบรรยายประเภทนั่งปิ้งแผ่นใส ยิ่งรู้สึกว่าเราเลือกวิธีที่น่าเบื่อที่สุด เป็นวิธีหลักในการเรียนแทบจะทุกระดับชั้น อาจารย์เป็นเหมือนผมไหมครับ?

เรียนจากประสบการณ์ตนเองจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิต ทั้งผิดและถูก

เรียนจากประสบการณ์ของท่านอาจารย์อาจใช้เวลาเพียง 5 นาทีจริง ๆ

สวสดีครับ ท่านอาจารย์

ผมกำลังเรียนจากของจริงครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์แสวง

ผมสนใจในวิธีการสอนของอาจารย์ครับที่มีความตั้งใจสอนคนรุ่นใหม่ได้กล้าที่จะเรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ เรียกว่าวิธีการแบบธรรมชาติ ทำให้เรียนรู้ได้ลึกซึ้งเพราะ

..ความรู้และความเข้าใจ ฝังอยู่ในความรู้สึก และจิตวิญญาณของผู้เรียน เป็นความรู้ที่เป็นจริงที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาปัญญาและความสามารถได้ 

 พัฒนาวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไปไม่จบ อย่างน่าสนุกครับ และตัวแบบต้นแบบของอาจารย์แสวง(ครูคน)สำคัญกว่าทฤษฎีหลายเท่านะครับ ที่จุดประกายให้นักศึกษานำไปต่อยอดได้ ..

  ทฤษฏีเก่าก็อาจเปลี่ยนแปลงได้  ใช่ใหมครับ.....

ครับ

ขอขอบคุณทุกม่านที่เข้ามาอ่านและเสนอความเห็น

วันนี้ตอนเช้านักศึกษาจะแสดงความรู้สึก

ผมจะรวบรวมมาไว้ในเรื่องต่อไปครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

นับว่าเป็นโชคดีคะที่ได้เข้ามาอ่าน ศึกษาความรู้จากท่าน เพราะได้แนวคิดที่สามารถนำไปปรับใช้กับการสอนเด็กอนุบาลได้เลยคะ ให้เด็กเรียนรู้จากธรรมชาติ สังเกตธรรมชาติของสัตว์ พืช แล้วนำมาปรับพฤติกรรมให้ได้พฤติกรรมที่พึงประสงค์ "ที่จะช่วยให้เกิดความรู้และความเข้าใจ ฝังอยู่ในความรู้สึก และจิตวิญญาณของผู้เรียน เป็นความรู้ที่เป็นจริงที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาปัญญาและความสามารถได้" อีกทั้งยังสามารถปรับพฤติกรรมของเด็กได้ด้วยละคะ

ขอบคุณสำหรับความรู้คะ

ด้วยความยินดีครับ

การเรียนแบบธรรมชาติน่าจะดีที่สุดครับ

และดีกว่าการเรียนแบบ "ผิดธรรมชาติ" แน่นอน

ผมใช้วิธีเดียวกันนี้สอนภาษาอังกฤษให้ลูกทั้งสองคน

ปัจจุบันเขาใช้ได้คล่องพอๆกับภาษาไทย

เพราะ เขาเรียนแบบธรรมชาติ แบบเดียวกับภาษาไทย

ที่เราสอนให้

  • พูดได้
  • เขียนได้
  • อ่านได้  แล้วจึง
  • เรียนการใช้อย่างถูกต้องเป็นขั้นๆไป

ที่ต่างจากการสอนแบบผิดธรรมชาติ ที่

  • สอนการเขียน
  • สอนไวยากรณ์
  • สอนการอ่าน
  • สอนการพูด สอนการใช้

มั่วไปหมด

ผมว่าไม่มีการสอนภาษาไหนที่ควรเริ่มจากการเขียน และไวยากรณ์ ครับ

นี่คือตัวอย่างที่ไม่ดี ที่เราทำกันในการสอน "ภาษา"

และมีตัวอย่างอีกมากมาย ที่ "ไม่ดี"

หันกลับมาใช้การเรียนแบบ "ธรรมชาติ" ดีกว่าครับ

ปัญหาการเรียนจะได้น้อยลง

เช่น ไม่มีคนไทยคนไหน (ที่ไม่พิการ) ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ แม้จะมีความสามารถการเรียนรู้ต่ำขนาดไหนก็ตาม

เพราะ เราเรียนแบบ "ธรรมชาติ"

ทำไมเราไม่ใช้ตรงนี้เป็นต้นแบบในการสอนครับ

ง่ายๆ แต่ได้ผลกับคนทุกระดับ (เสียด้วย)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท