สุนทรียสนทนา (Dialogue) กับ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ... (Secret)


"การดูจิตขณะสนทนานี่แหละคือการปฏิบัติธรรม การเฝ้าระวังความคิด (พิพากษา เพ่งโทษ อคติ ฯลฯ) ที่เป็นเสียงภายในนี่แหละคือ การฝึกสติ"

เมื่อวานในบันทึก "ไร้กรอบ" ของ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ... (หนุ่มเมืองจันท์) ... ผมเล่าให้ฟังว่า ด้วยความบังเอิญที่ผมซื้อหนังสือ 1 เล่ม และ นิตยสาร 1 เล่ม ด้านในมีเรื่องราวของอาจารย์ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ทั้งสองเล่ม อย่างไม่น่าเชื่อ

บันทึก "ไร้กรอบ" ของ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ... (หนุ่มเมืองจันท์) ที่ผมได้เล่าวิธีคิด "ไร้กรอบ" ตามที่หนุ่มเมืองจันท์เล่าไว้ได้สนุกมากครับ

ดังนั้น บันทึกนี้จึงขอเล่าถึงอีกบทความในนิตยสาร Secret เรื่อง "สุนทรียสนทนา กับ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ"

 

 

 

"การดูจิตขณะสนทนานี่แหละคือการปฏิบัติธรรม การเฝ้าระวังความคิด
(พิพากษา เพ่งโทษ อคติ ฯลฯ) ที่เป็นเสียงภายในนี่แหละคือ การฝึกสติ"


จากหนังสือ Learn How to Learn ... ให้ความรักก่อนให้ความรู้ ของ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

 

 

คงไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับ ถ้าคุณจะไม่รู้จักผมเลย แม้แต่นิด และหากคุณมีคำถามว่า ผมเป็นใคร ทำอะไร ผมก็จะมีคำตอบกวน ๆ กลับไปว่า "ถ้าอยากรู้จักฉัน หาตัวเธอให้เจอก่อน" ครับ

แต่ถ้าให้ตอบจริง ๆ ในโลกสมัยสมมตินี้ผมคือ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ผู้เคยนับถือศาสนาคริสต์มา 39 ปี ก่อนจะมาเพิ่มศาสนาเป็นพุทธ และต่อไปก็คิดว่าจะเพิ่มศาสนาไปเรื่อย ๆ จนไม่มีศาสนาเลย เพราะความจริงแล้วไม่มีศาสนาอะไรทั้งนั้น เราอยู่กับความไม่มี แต่เราไปบอกว่ามีเท่านั้นเอง

ผมเคยทำงานกับองค์การนาซา (NASA) วิจัยเกี่ยวกับการแตกหักของวัสดุจนได้รับรางวัล หลังจากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์สอนนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน บูรณาการศาสนากับชีวิตการทำงาน เพื่อพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนและพอเพียง

หลังจากลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมได้ไปบวชที่วัดป่าเขาน้อย อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ซึ่งมี หลวงปู่จันทา ถาวโร เป็นหัวหน้าสงฆ์ เมื่อบวชผมก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติธรรม หลวงปู่สอนอะไรก็ทำตาม ท่านให้วางตำราและให้กำหนดพุท-โธให้มาก ๆ บวชได้ 13 วันผมก็เข้าใจเรื่องของการทำสมาธิ

หลังจากนั้นผมไปศึกษาธรรมกับ หลวงพ่อสำราญ ธัมมธุโร (หลวงพ่อกล้วย) วัดธรรมอุทยาน จังหวัดขอนแก่น ท่านสอนไม่ให้ติดในภาษาสมมติ ไม่ให้ติดว่าเป็นนักปฏิบัติ ท่านให้นำกายมาปฏิบัติ มาปล่อยวางไม่ให้ยึดแม้แต่ครูบาอาจารย์ ท่านสอนให้ฝึกสติด้วยการไปนั่งสมาธิในป่าช้า เพราะที่ป่าช้าจะมีความคิดแบบเดียวผุดมาให้ฝึก ทำให้แยกได้ทันทีว่า นี่สัญญาหนอ นี่สังขารหนอ จิตเกิดแล้วหนอ

หลายคบอกว่าผมสอนธรรมะแบบนอกกรอบ ที่ต้องนอกกรอบเพราะแบบเดิม ๆ นั่นไม่มีคนอยากฟัง หน้าที่การงานของผมอย่างหนึ่ง คือ การไปบรรยายให้ผู้บริหารที่มีการศึกษาสูง ๆ ฟัง และท่านเหล่านี้ส่วนหนึ่งเบือนหน้าหนีทันทีที่ได้ยินว่า ศีลห้า นรก สวรรค์ ผมเลยต้องหาวิธีหารอื่นมาหลอกล่อ อย่างเช่น เมื่อสอนเรื่องการบริหารจัดการให้ผู้บริหารฟัง ในระหว่างสอนผมก็สอดแทรกธรรมะไปเรื่อย ๆ แบบ "แนบเนียนนุ่มลึก" โดยที่เขาไม่รู้ตัว หลังจากนั้นให้เขาฟังตามไปเรื่อย ๆ จนตอนท้ายจะขมวดให้ฟังว่า ทั้งหมดที่สอนมาอยู่ในพระไตรปิฏก ฟังอย่างนี้เขาก็จะ "ปิ๊ง" ได้เอง และไม่ตั้งแง่ปฏิเสธตั้งแต่แรก

ทุกวันนี้ผมสอนธรรมะแบบ "ไดอะล็อก" (Dialogue) หรือเรียกเป็นไทยว่า "สุนทรียสนทนา" สอนธรรมะแบบล้อมวงคุยกันในระหว่างคุยกันก็เป็นเจริญวิปัสสนาแบบหนึ่ง สนทนาไปด้วย ดูจิตไปด้วย เป็นการสนทนากันแบบฟังเชิงลึก (Deep Listensing) ที่เรียกได้ว่าต้อง open mind, open heart, open will เพื่อให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเราเอง ฟังเพื่อเก็บเกี่ยว ฟังเพื่อให้เกิดความไว้วางใจกัน ฟังเพื่อให้เกิดความเคารพในความแตกต่างกัน ทั้งทางความคิดและจิตใจ บางทีเราก็เรียกการพูดคุยแบบนี้ว่า "วงเล่าเร้าพลัง" คือมาคุยกัน เปิดหู เปิดตา เปิดใจ รับฟังกัน อย่าเพิ่งไปเถียงกัน อย่ารีบร้อน "สวน" หรือ "สอดแทรก" ซึ่งเป็นการสอนให้เราฟังอย่างมีสติ อย่าไปเพิ่งโทษ อคติ ลำเอียง คิดเอาเอง ซึ่งการฟังเชิงลึกได้ดีต้องฝึกฟังเสียงภายใน (Inner Voice) ของตัวเองให้ได้เสียก่อน เสียงที่ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ หมั่นไส้ อิจฉา ด่าทอ ยินดี กังวล นึกไปถึงเรื่องอื่น ไปนอกเรื่อง ฯลฯ เมื่อมีเสียงภายในหรือความคิดแทรกแซงก็หัดดับ หัดระงับ หัดข่ม แล้วมาจดจ่อ มีสมาธิ น้อมใจเข้าไปฟังคนพูดพูดต่อไป

เราอาจจะนั่งล้อมวงกันในสถานที่สบาย ๆ นั่งสบาย ๆ ปูเสื่อแจกหมอน นอนเอนหลังก็ได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องใด หรือวิ่งเข้าวิ่งออกจนพลังของวงเสียสมดุลไป "พลัง" ในที่นี้คือ พลังที่ดีในการกระตุ้นต่อมความคิด เป็นพลังที่จะสร้างงาน สร้างปีติ สร้างสติ เรียนรู้ด้วยในที่เป็นกลาง ฯลฯ

หลักการดูจิตขณะสนทนาของผมคือ ถ้าจิตของเราเกิดอาการ กายจะเปลี่ยนแปลง เลือดลมจะวิ่ง กล้ามเนื้อน้อยใหญ่จะเกร็งกลางอกจะหด ๆ หู่ ๆ เต้น ๆ เสียว ๆ เราก็หายใจลึก ๆ ดึงกำลังสติขึ้นมาคิดในแง่ดี ๆ เข้าไว้ หากจิตยังไม่ปกติ พึงสังวรว่า "อย่าได้ออกอาการทางวาจาทางกาย" นะครับ สมมติว่าเป็นสุนัข เวลาที่จิตเกิดอาการเราจะเห็นชัด คือกายจะฟ้อง เช่น กระดิกหางหรือหดหาง สำหรับเราซึ่งเป็นคน ก็ควรจะดูกายของเราให้ทันด้วย จะได้รู้ว่าจิตเกิดหนอ ดังนั้น ถ้าเราสนทนากับใคร ก็ฟังเขาพูดไป สำเหนียกไปที่จิตด้วย จะเห็นความคิด "วิตก" (ขึ้นขบวนรถไฟความคิดแห่งอนาคต) "วิจารณ์" (ขึ้นขบวนรถไฟความคิดแห่งอดีต) ผุดขึ้น ขอให้รู้เท่าทัน วิตกหนอ วิจารณ์หนอ

อย่างไรก็ตาม ในการพูดคุยผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นอาจารย์ แต่ผมเป็นกระบวนการนำพาผู้ร่วมเรียนรู้ไปเข้ากระบวนการ ไปเจอประสบการณ์ ไปค้นพบด้วยตนเอง ไปพิสูจน์ความเชื่อกัน ผมมิบังอาจไปสั่งสอนใครนะครับ แต่ยั่วให้คิด ตั้งคำถามให้คิด แหย่ ๆ เพราะถ้าไม่แบ่งแยก นั่นผู้เรียน ฉันผู้สอน เจ้าตัว "อัตตา" จะแทรกได้ง่าย ๆ

นอกจากนั้นผมยังมีกติกาว่า จะไม่บรรยายแบบที่มีผู้ฟังเยอะ ๆ แต่จะให้การพูดคุยแบบสุนทรียสนทนาร่วมกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เดินป่า เยี่ยมบ้านพักคนชรา เยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้าย นั่งคุยกันที่สวนสาธารณะ นั่งดูหนังด้วยกัน แล้วมาคุยกันในบรรยากาศสบาย ๆ ฯลฯ

สุดท้ายแล้วการศึกษาธรรมะคือ การศึกษาใจของตน ศึกษาว่า ทำไม เมื่อไร อย่างไร ใจของเราจึงเกิดอาการ และอาการของใจนั้น หายไป ดับไป ได้อย่างไร

ดังนั้น ต่อให้อ่านตำราเป็นล้าน ๆ เล่ม ท่องพระไตรปิฏกได้ทั้งหมด ก็สู้ตามรู้ ตามดู ตามวางที่ใจไม่ได้ครับ

 

.....................................................................................................................................

ในเรื่องของ สุนทรียสนทนา (Dialogue) นั้น อาจารย์ ดร.วรภัทร ได้กล่าวถึงบ่อย ๆ ในระยะหลังนี้

ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้จากบล็อก Free Rider และ Living company ครับ

เชื่อเหลือเกินว่า สุนทรียสนทนา (Dialogue) สามารถนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันและการทำงานของท่านทั้งหลายได้เป็นอย่างดี

คิดดี พูดดี ทำดี ย่อมได้รับกรรมดี

ขออนุโมทนาบุญกุศลให้กับอาจารย์ด้วยครับ

บุญรักษา ทุกท่าน :)

.....................................................................................................................................


แหล่งอ้างอิง

เสาวลักษณ์  ศรีสุวรรณ, ผู้เรียบเรียง.  สุนทรียสนทนา กับ ดร.วรภัทร์  ภู่เจริญ.  ซีเคร็ต Secret. 1, 18 
           (26 มีนาคม 2552) : 64 - 65.

 

หมายเลขบันทึก: 253599เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2009 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (38)

สวัสดีครับท่านอาจารย์ ดร.วรภัทร (หนุ่มเมืองจันทร์) คนเดียวกันหรือเปล่าครับ กับหนุ่มเมืองจันทร์ที่เขียนในมติชน เพราะหนุ่มเมืองจันทร์ ในมติชนติดใจนผลงานครับขำดีมีสาระได้ประโยชน์ครับอาจารย์

เรียนท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า :)

อาจารย์ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ กับ หนุ่มเมืองจันท์ เป็นคนละคน ครับผม

อาจารย์ ดร.วรภัทร อยู่ http://gotoknow.org/profile/worapat ครับ

ส่วน หนุ่มเมืองจันท์ เป็นนักเขียนของมติชน ครับ

ขอบคุณครับ

อาจารย์ลงทุนพิมพ์เองเลยเหรอครับ สุดยอด

ขอขอบคุณในความพยายามนำสิ่งดีๆ มาแบ่งปันครับ : )

พ่อหนุ่ม ต้นกล้า เอ๋ย ...

สงสัยผมจะลงทุนพิมพ์เองไปแล้ว ... 484 บันทึกครับ :)

ถ้าไม่มีอ้างอิงในอินเทอร์เน็ต หากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ผมพิมพ์เองทุกตัวอักษรครับ

ขอบคุณมากที่แวะมาเยี่ยมเยียน :)

หลวงพ่อสำราญ ธัมมธุโร (หลวงพ่อกล้วย) วัดธรรมอุทยาน จังหวัดขอนแก่น อาจารย์คะรู้จักและเคยไปกราบค่ะ แต่นานแล้วตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาค่ะ

คงหลายสิบปีแล้วนะครับ คุณครู ทรายชล :)

ชอบวิธีการสอนของอาจารย์ ดร.วรภัทร์ค่ะ

สอนให้มีสติ และมันก็จะต่อยอดของมันเอง ใช่ไหมค่ะ

ลองนำไปใช้กับลูกศิษย์ดูนะครับ คุณ ครูเอ :)

ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์หนอนเสือ

จะเก็บไปเป็นการบ้านตอนปิดเทอมค่ะ

 

ยินดีครับ คุณ ครูเอ :) ... เหอ เหอ หนอน+เสือ

ขอบคุณค่ะอาจารย์สำหรับแหล่งเรียนรู้ดีๆที่มีค่าทางความคิด ^_^

อ้าวไหนว่า คร๊อกฟี่ ๆ ไปแล้วไงครับ น้องคุณครู เทียนน้อย :)

โอ้ ไม่นะ .. ซาร่า ...

นอนได้แล้วครับ อิ อิ :)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์Wasawat Deemarn

  • แวะมาเก็บเกี่ยวความรู้การฝึกจิตค่ะ...
  • หากจิตยังไม่ปกติ พึงสังวรว่า "อย่าได้ออกอาการทางวาจาทางกาย"...
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ คุณพยาบาล สีตะวัน ที่แวะมาเยี่ยม ครับ :)

มาแล้วค่ะอาจารย์

นั่งอ่านข้อความของอาจารย์ด้วยจิตนิ่งที่สุด เมื่ออ่านจบความคิดเดียวที่ผุดขึ้นมาคือ ไปร้านหนังสือดีกว่า

ขอบคุณสิ่งดีๆ ที่นำมาแบ่งปันค่ะ

ได้อาจารย์ดี ย่อมมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต

ปล. อาจารย์ค่ะ สี่ยังไม่ได้เห็นหน้าอาจารย์เลยค่ะ วันก่อนเห็นบันทึกพี่เอก ก็ไม่เห็นหน้าเลยค่ะ แย่จัง อาจารย์ไม่โชว์รูปหน่อยเหรอค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีคะ ท่านอาจารย์

ระลึกถึงท่านอาจารยื เสมอนะคะ

จะฝึกตามที่ได้เรียนรู้มาคะ

 

สวัสดีค่ะ

ไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาแล้ว

เป็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงลึก เข้าใจถึงแก่นแท้ ที่ทำให้มนุษย์เกิดความเข้าใจกันค่ะ

happy songkran day ka

น้อง สี่ซี่ ครับ ... หน้าตาไม่หล่อครับ ... ศรัทธาในวิธีคิดมากกว่าหน้าตาดีกว่านะครับ ... อีกทั้งโจทก์และเจ้ากรรมนายเวรเยอะเกินไปครับ ... แบบนี้ดีกว่านะครับ

ขอบคุณครับ :)

ขอบคุณครับ คุณ แม่ต้อย ... ที่ให้เกียรติระลึกถึงนะครับ :)

ขอบคุณนะครับ คุณ berger0123 ... สุขสันต์วันปี๋ใหม่เมือง ครับ :)

สวัสดีค่ะอ.เสือ

 โชคดีที่ได้อ่านก่อนลาไปนอน ขอบคุณที่นำสิ่งดีงามมาแบ่งปัน

ขอกุศลบุญนำพาไปสู่ความสุขและโชคดีค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับพรอันประเสริฐของคุณ krutoi ครับ

มีความสุขมาก ๆ ครับ :)

สวัสดีค่ะอาจารย์ พี่ได้อ่านหนังสือLearn How to Learn ... ให้ความรักก่อนให้ความรู้ แล้วค่ะ เผอิญพี่สาวซึ่งเป็นครูอยู่โรงเรียนมงฟอร์ต มีอยู่ ทีแรกก็เอามาเปิดผ่านๆ แต่ต้องนั่งลงอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนจบค่ะ เป็นหนังสือที่ให้มุมมองในการพัฒนาการศึกษาได้ดีมาก พี่ว่าครูบาอาจารย์ทุกคนควรได้อ่านค่ะ

ตอนนี้พี่กำลังว่าจะเป็นสมาชิกนิตยสาร The Secret หลังจากที่ซื้อบ้างบางเล่มเมื่อเห็นตอนได้เข้าเมือง

เห็นด้วยครับ พี่อาจารย์ คุณนายดอกเตอร์ ... Learn How to Learn เป็นหนังสือที่ครูอาจารย์ควรอ่าน

ยกมือสูง ๆ ว่า นิตยสาร Secret ดีจริง ๆ ครับ สำหรับคนชอบธรรมะเย็น ๆ

ผมไม่ได้เป็นสมาชิกครับ แต่...ตามซื้อทุกเล่ม :)

ขอบคุณครับ

อ่านแล้วโดน!!

ดังนั้นต้องหาอ่านเพิ่ม อิอิ

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ

อย่างนั้นเลยหรือน้องอาจารย์ หัวใจติดปีก :)

Learn How to Learn ... ให้ความรักก่อนให้ความรู้

เล่มนี้มีขายในร้านหนังสือชั้นนำครับ

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีปี๋ใหม่เมืองครับอาจารย์

อาจารย์สบายดีนะครับ

ท่านอาจารย์วรภัทร์ออกเล่มใหม่แล้วนะครับ ...

"Dialogue คิดลงสู่ใจ ไหลเป็นปัญญา"

http://www.managerroom.com/forums/forum_posts.asp?TID=6745&PN=1

อีกเล่มก็เป็น "Productivity วิถีพุทธ" จัดพิมพ์โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติครับ เล่มนี้หน้าปกเป็นรูปใบโพธิ์ครับ

ขอบคุณมากครับสำหรับข่าวสารหนังสือใหม่ .. :)

ผมจะแวะไปดูที่ร้านหนังสือประจำตัวครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

  • ตามอ่านด้วยความสนใจ
  • ดีใจที่ได้รู้จัก และสัมผัสตัวเป็นๆของดร.วรภัทร์มาแล้วหลายครั้ง
  • อาจารย์น่ารัก เป็นกันเอง เรียบง่าย  นั่งกับพื้นห้องกินกล้วยน้ำว้าหวีเดียวกัน ขณะวางแผนทำงานร่วมกับท่านครูบาสุทธินันท์ .. และอีกหลายรายการที่ได้พบปะพูดคุย  อาจารย์เป็นเหมือนญาติสนิทของทุกคนที่ได้สัมผัส .. ผมรู้สึกเช่นนั้นครับ
  • ครั้งหนึ่งจำได้ดี .. ที่ ม.นเรศวร .. ครูบาสุทธินันท์อยู่บนเวที .. โยนไมค์ใส่ผมเป็นคนแรกให้พูดเรื่องการจัดการความรู้ ต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย รวมทั้งอ.หมอวิจารณ์ด้วย .. ผมพูดจบ อ.วรภัทร์อาจถูกใจจึงลุกขึ้นและบอกว่า "ขอกอดหน่อย อ.Handy".. ว่าแล้วก็ตรงรี่มากอดผมจริงๆ .. ตอนหลังได้พบว่ามีรูปอาจารย์กอดคอกับผมลงในหนังสือขายดีอีกเล่มหนึ่งด้วยล่ะครับ .. ชื่อ "บันทึกไม่ลับของคนไร้กรอบ"

 

ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ Handy ครับ ... ทำให้ผมจินตนาการถึงท่านอาจารย์ ดร.วรภัทร ได้เห็นภาพชัดเจน :)

ตั้งแต่เกิดยังไม่รู้เลยว่าเกิดมาเพื่ออะไร รู้สึกว่าอาการหนัก

ดร.พอแนะนำได้ใหม่ว่าคนอย่างหนู ต้องเริ่มต้นตรงใหน

ลองหาทางติดต่ออาจารย์ดูนะครับ คุณชฎาภรณ์ ;)

ชอบครับ อยากติดต่ออาจารย์มาคุยให้เด็กนักศึกษาฟัง ติดต่อได้ที่ไหน

ใครรู้ตอบด้วยครับ

ท่านอาจารย์ โสภณ เปียสนิท ครับ

นี่คือ Profile ของอาจารย์ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ครับ

http://www.gotoknow.org/profiles/users/worapat

ผมเห็นอาจารย์เขาโลดแล่นใน facebook ด้วยนะครับ

อาจารย์โสภณอาจจะเจออาจารย์ ดร.วรภัทร ได้ครับ ;)...

มาเจอบันทึกนี้ สิ่งที่อาจารย์นำมาถ่ายทอดเป็นประโยชน์มากคะ

ผู้เคยนับถือศาสนาคริสต์มา 39 ปี ก่อนจะมาเพิ่มศาสนาเป็นพุทธ และต่อไปก็คิดว่าจะเพิ่มศาสนาไปเรื่อย ๆ จนไม่มีศาสนาเลย เพราะความจริงแล้วไม่มีศาสนาอะไรทั้งนั้น เราอยู่กับความไม่มี แต่เราไปบอกว่ามีเท่านั้นเอง

รู้สึกถึงการเป็นผู้รู้ dialogue โดยแท้
"รู้สึก" ได้จากคำพูด 

บันทึกนี้ครบรอบ ๒ ปี ;)...

ขอบคุณ คุณหมอบางเวลา CMUpal แวะเข้ามาพรวนบันทึกให้นะครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท