ฟิสิกส์เบื้องหลัง 'ภาพวงกลมจตุคามฯ'


บทความนี้ไขปริศนา รูปร่าง ขนาด และลวดลาย ใน "ภาพวงกลมจตุคาม" พร้อมให้ขั้นตอนที่สามารถทำได้เอง ;-)

ที่มาของบันทึกนี้

บันทึกนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่

  • ในปัจจุบัน มีความสนใจเกี่ยวกับจตุคามฯ กันมาก และในบางแง่มุม จะมีปรากฏการณ์ที่มีแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่การอธิบายยังขาดรายละเอียดที่สำคัญบางประการ เช่น กรณีภาพถ่ายวงกลมประหลาด ที่ตีความกันว่าเป็นภาพจตุคามฯ เป็นต้น

  • ราววันอังคารที่ 19 หรือพุธที่ 20 มิถุนายน 2550 ผมได้รับคำถามทางโทรศัพท์จากคุณบอย โพรดิวเซอร์ของรายการ "มันแปลกดีนะ" เกี่ยวกับภาพถ่ายวงกลมประหลาด โดยผมได้ชี้แจงไปตามมุมมองทางวิทยาศาสตร์ แต่ต่อมาปรากฏว่า มีข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันพฤหัสที่ 21 มิถุนายน 2550 ซึ่งกล่าวถึงการทดลองถ่ายภาพในรายการนี้ และอ้างคำอธิบายของผมประกอบไว้  [อย่างไรก็ดี คำอธิบายและคำศัพท์ที่ปรากฏใน นสพ. ไทยรัฐ มีความคลาดเคลื่อนไปจากหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดได้เป็นปกติในกระบวนการนำเสนอข่าวผ่านสื่อสารมวลชน ผมจึงต้องการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องไว้ ณ ที่นี้]
  • เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2550 ผมได้รับการติดต่อจาก TITV โดยคุณพรรณประวีร์ (เจี๊ยบ) ให้ช่วยอธิบายและทำการทดลองสาธิตปรากฏการณ์ภาพวงกลมจตุคาม ต่อมาในวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2550 ผมจึงได้เดินทางไปที่ TITV ในช่วง 1pm-3:30pm เพื่อให้สัมภาษณ์และทำการทดลองดังกล่าว โดยการสัมภาษณ์ได้ออกอากาศในวันเดียวกันในช่วงข่าวเวลาประมาณ 1 ทุ่มครึ่ง [อย่างไรก็ดี การนำเสนอผ่าน TV มีเวลาจำกัด ทำให้ขาดรายละเอียดที่สำคัญ ผมจึงให้รายละเอียดค่อนข้างมากไว้ในบันทึกนี้]

ความเข้าใจพื้นฐาน 

ในปัจจุบันพบว่า มีภาพถ่ายหลายภาพทีมีภาพวงกลมๆ สีขาว (หรือสีเทา) ปรากฏอยู่บนภาพ ในภาพถ่ายหนึ่งภาพ อาจมีภาพวงกลมนี้เพียงวงเดียว หรือหลายวง โดยในกรณีที่มีหลายวง แต่ละวงอาจจะมีขนาดพอๆ กัน หรือแตกต่างกันมากก็ได้

สำหรับวงกลมที่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร หากขยายดูจะเห็น

  • รายละเอียดคล้ายภาพของผิวขรุขระ
  • อาจจะมีวงกลมซ้อนๆ กันอยู่ร่วมด้วยอีกหลายวง

ด้วยลักษณะเช่นนี้เองทำให้ผู้มีศรัทธาในจตุคามฯ ตีความว่า ภาพที่เห็นเป็นภาพที่เกิดจากฏิหาริย์ของจตุคามรามเทพ

อย่างไรก็ดี หากเราดูภาพกว้างจะพบว่า ในต่างประเทศก็พบปรากฏการณ์วงแสงประหลาดนี้เช่นกัน โดยเรียกว่า ปรากฏการณ์ออร์บ (orb phenomenon) คำว่า ออร์บ (orb) หมายถึง วงกลมแต่ละวง และมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคือ orbis ซึ่งหมายถึง orbit (วงโคจร) ที่มีลักษณะเป็นวงนั่นเอง 

ตัววงแสงออร์บ (orb) นี้ ฝรั่งยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น globes, globules, balls of light และ hovering round balls เป็นต้น

ในต่างประเทศก็มีการตีความปรากฏการณ์นี้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

กลุ่มแรก : เชื่อว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยสามารถอธิบาย & ทำให้ซ้ำให้เห็นจริงได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กล่าวโดยย่อก็คือ ภาพที่เห็นเป็นแสงที่สะท้อนออกมาจากฝุ่น หรือละอองน้ำที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ

กลุ่มที่สอง : บอกว่าแม้ภาพจำนวนหนึ่งจะอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีภาพอีกจำนวนหนึ่งที่อธิบายไม่ได้ และเชื่อว่านี่คือ ภาพถ่ายของวิญญาณ ซึ่งมักจะปรากฏในสถานที่บางแห่งมากเป็นพิเศษ (เช่น ในบ้านผีสิง) หรือมักจะเกิดรอบๆ ตัวบางคน เพราะวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วยังผูกพันอยู่กับคนๆ นี้มาก

 

 

ที่มาของภาพ : http://www.angelsghosts.com/recital_orb_ghost_picture.html


 ในบันทึกนี้จะทดสอบและอธิบายปรากฏการณ์ออร์บตามแนวคิดของกลุ่มแรก (แนววิทยาศาสตร์) ดังต่อไปนี้


การทดลอง 

อุปกรณ์และเงื่อนไขที่ต้องการ

  1. กล้องดิจิทัล (มีแฟลชอัตโนมัติ)
  2. แป้งฝุ่น เช่น แป้งโรยตัว และ/หรือ สเปรย์ฉีดพ่นน้ำ
  3. สถานที่มีฉากหลังเป็นสีเข้ม

 

 

ในการทดลอง ให้โฟกัสภาพที่ฉากหลังระยะไกลออกไปแล้วทำให้เกิดฝุ่นแป้ง (หรือฉีดละอองน้ำ) บริเวณหน้ากล้อง ห่างประมาณ 1 ฟุต ลองถ่ายหลายๆ ภาพ จะเห็นว่าบางภาพมีภาพวงกลมประหลาดขนาดใหญ่ ลองซูมเข้าไปดู

ตัวอย่างภาพปรากฏที่ถ่ายทำที่ TITV 

ภาพผงแป้ง (แป้งโรยตัวเด็กยี่ห้อหนึ่ง) ซ้าย : ภาพรวม  ขวา : ภาพขยาย

 

ภาพละอองน้ำจากที่ฉีดสเปรย์ ซ้าย : ภาพรวม  ขวา : ภาพขยาย

 

ทำไมจึงมีรูปเป็นวงกลมๆ?

คำอธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ ผงฝุ่นและเม็ดน้ำมีขนาดเล็กมาก ซึ่งอาจคิดได้ว่าเป็นจุดกำเนิดแสง (point source) แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ภาพผงฝุ่น หรือเม็ดน้ำ ไม่โฟกัส

ในภาพข้างบนนี้ ภาพตรงกลางแสดงภาพของจุดที่โฟกัสชัดเจน ซึ่งจะปรากฏเป็นจุดคมชัดขนาดเล็ก ส่วนภาพบนและล่างไม่โฟกัสทำให้ภาพเบลอมีรูปร่างเป็นวงกลม (ภาษาทางทัศนศาสตร์เรียกว่า circle of confusion หรือ disc of confusion)

ภาพเคลื่อนไหวข้างบนนี้ แสดงรูปร่างและขนาดปรากฏของเม็ดฝุ่นที่ระยะต่างๆ

เส้นแนวดิ่งหน้ากล้องแสดงบริเวณที่ภาพโฟกัสชัดเจน (ภาษาวิชาการเรียกว่า depth of field หรือ depth of focus) เส้นแนวดิ่งนี้จริงๆ มีความหนาระดับดับหนึ่ง หมายความว่า หากวัตถุอยู่ในแถบความหนานี้ก็จะถ่ายภาพออกมาดูชัดเจนเหมือนกัน

คุณอาจทดลองเองได้โดยใช้นิ้วมือแตะเม็ดฝุ่นที่มีรูปร่างไม่เป็นทรงกลม เช่น ฝุ่นแป้ง ฝุ่นเม็ดทราย หรือผงซีเมนต์ แล้วมองเข้าไปใกล้ๆ เรื่อยๆ จนภาพไม่ชัด เม็ดฝุ่นจะปรากฏเป็นขอบเบลอๆ คล้ายวงกลม

ลวดลายที่เกิดขึ้นมาอย่างไร?

แล้วลวดลาย "วงกลม" หลายวง และภาพ "ผิวขรุขระ" มาจากไหน?

ฟิสิกส์เบื้องหลังคำตอบค่อนข้างซับซ้อน แต่สามารถเข้าใจง่ายๆ ได้จากสมบัติความเป็นคลื่นของแสง 

คลื่นทุกชนิด ไม่ว่าคลื่นน้ำ คลื่นเสียง คลื่นแสง หรือคลื่นใดๆ ก็ตาม สามารถเมื่อพบกับสิ่งกีดขวางในบางบริเวณ ก็จะสามารถเปลี่ยนทิศทางเฉไปจากเดิมได้ เรียกว่า การเลี้ยวเบน หรือ ดิฟแฟรกชัน (diffraction - ออกเสียงว่า ดิ๊ฟ-แฟร็ก-ชั่น)

สมมติว่าคุณยืนอยู่หน้าห้องๆ หนึ่ง ซึ่งเปิดประตูอยู่ และในห้องมีคนคุยกันอยู่เสียงดังพอสมควร แม้คุณจะอยู่ในตำแหน่งที่มองไม่เห็นคนที่คุยกันนั้น คุณก็อาจจะได้ยินเสียงคุยกันได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเสียงสะท้อนจากผนังของอาคาร แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเสียงสามารถเลี้ยวเบน (diffraction) อ้อมออกจากประตูมาเข้าหูคุณได้

สำหรับแสง ลองพิจารณากรณีอุดมคติ (ideal case) เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานกันก่อน

สมมติว่ามีแสงสีเดียว (monochromatic light) ตกกระทบ หรือสะท้อนออกจากอนุภาคทรงกลม (ภาพซ้าย) อนุภาคทรงกลมนี้อาจจะเป็นของแข็ง (เช่น ผงฝุ่น) หรือของเหลว (เช่น เม็ดน้ำฝน) แสงที่ตกกระทบจะเลี้ยวเบนออกจากแนวเดิมไปในทิศทางต่างๆ ไปตกกระทบฉากรับ 

 

ที่แต่ละตำแหน่งของฉาก จะมีแสงที่เดินทางมาจากทิศทางต่างๆ แสงเหล่านี้จะมารวมกันแบบคลื่น ซึ่งนักฟิสิกส์เรียกว่า การแทรกสอด (interference) ผลที่ได้คือ ภาพรวมของรูปแบบการแทรกสอดจะมีลักษณะเป็นจุดสว่างตรงกลาง และมีวงสว่าง-วงมืดสลับล้อมรอบอยู่ในระยะใกล้ๆ ส่วนที่ระยะไกลออกไปจะไม่มีแสงตกกระทบ

จากทฤษฎีและการทดลองจำนวนมากพบว่า

  • หากอนุภาคทรงกลมมีขนาดเล็ก (small particle - ภาพซ้าย) จะได้วงขนาดใหญ่ตรงกลาง ล้อมด้วยเส้นวงที่หนาจำนวนเส้นไม่มาก
  • หากอนุภาคทรงกลมมีขนาดใหญ่ (large particle - ภาพขวา) จะได้วงขนาดเล็กตรงกลาง ล้อมด้วยเส้นบางและถี่กว่า

 

ประเด็นที่น่าสนใจที่ตามมาก็คือ

จะเกิดอะไรขึ้นหากอนุภาคมีรูปทรงเรขาคณิตแบบอื่น?

ลองดูตัวอย่างรูปแบบการเลี้ยวเบนจากอนุภาครูปร่างต่างๆ

โดยสังเกตลักษณะสมมาตรของรูปแบบการเลี้ยวเบนกับสมมาตรของอนุภาค

เช่น อนุภาคสี่เหลี่ยมจะให้สมมาตรแบบสี่พับ (4-fold symmetry) ในภาพแรกซ้ายบนสุด เป็นต้น

   

     

 

จุดที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ หากพื้นผิวของอนุภาคมีลักษณะไม่ปกติ (เช่น ขรุขระ) รูปแบบการเลี้ยวเบนก็จะมีลวดลายตะปุ่มตะป่ำด้วยเช่นกัน


 
ลวดลายที่เกิดขึ้นนี้สามารถเทียบเคียงได้กับลวดลายของ "ผิวขรุขระ" บน "ภาพจตุคามฯ"

 
  
ที่มาของภาพ : http://www.rense.com/general49/Orb12.jpg

สังเกตลักษณะเด่นที่น่าสนใจ 2 อย่าง ได้แก่
หนึ่ง - วงกลมซ้อนๆ ในภาพมาจากรูปแบบการเลี้ยวเบนจากอนุภาคที่มีสัณฐานเป็น (หรือใกล้เคียง) ทรงกลม
สอง - รายละเอียดผิวขรุขระที่เกิดขึ้นในภาพ ซึ่งมาจากรูปร่างของอนุภาค
 

นอกจากลักษณะเด่นทั้งสองอย่างนี้แล้ว สำหรับภาพที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เราอาจจะเห็นวงแสงโคโรนา (corona) รอบขอบภาพเป็นสีรุ้งอีกด้วย

 
เมื่อได้เห็นภาพตัวอย่าง & เข้าใจทฤษฎีพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังกันไปแล้ว
ถ้าเกิดคันไม้คันมือขึ้นมา ก็คว้าอุปกรณ์ที่จำเป็นไปลองกันได้เลย


ได้ผลอย่างไร ลองบันทึกภาพไว้ส่งมาให้ดูกันบ้างครับ ;-)


กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา, รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ออร์บ (Orb phenomena) ที่เป็นคำสำคัญในการสืบค้นหลักการและรายละเอียดของปรากฏการณ์นี้


ขุมทรัพย์ทางปัญญา


ประวัติของบทความ

  • บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน GotoKnow ^__^
  • ได้รับการติดต่อจาก วิชาการด็อทคอม เพื่อขออนุญาตนำไปเผยแพร่ที่  http://www.vcharkarn.com/include/article/showarticle.php?aid=1118
  • ดัดแปลงเพื่อนำลงใน นสพ. Post Today ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2550 ในคอลัมน์ นวัตกรรม ตามความร่วมมือระหว่าง สวทช.-นสพ. Post Today
  • เพิ่มเติมข้อมูล & ภาพให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แล้วนำไปตีพิมพ์ในหนังสือ สารคดี ฉบับที่ 270 เดือนสิงหาคม 2550 หน้า 170 - 176

สนใจเรื่องที่เกี่ยวข้อง?


คำสำคัญ (Tags): #ภาพจตุคาม
หมายเลขบันทึก: 105819เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2007 07:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

ขอบคุณมากครับอาจารย์ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ

ที่ได้ศึกษาค้นคว้า นำข้อมูลดีๆมาอธิบายให้ทราบ

ข้อมูลมีประโยชน์มากครับ

เป็นข้อมูลที่มีประโยช์มากค่ะ

hi my brother p' chew

   Long time no see you. Ya. I can't type in thai, cause now i stay in Austria, in Zalburg. I'll back home today, Yah !

   See you soon, hope you have a nice day,too.

                                           Deux

พี่ชิว ไปอยุธยามาค่ะ รู้สึกว่าคนไทยจะเห่อ fever กับองค์จตุคาม ไปวัดไหนก็มีแต่องค์จตุคามฯ เห้อ....ไม่ได้เบื่อท่านนะคะ แต่กระแสแรงจริงๆ

สวัสดีค่ะ โอ้โห ข้อมูลดีมีประโยชน์มากมาย...ขอบคุณมากๆ นะคะ

อยากให้คนเห่อทำความดี  แห่แหนทำความดี  หลั่งไหลทำความดี เป็นกระแสแห่งความดี  เป็นกระแสแห่งศีลห้า กระแสแห่งศีลธรรม

กระแสวัตถุ+กระแสแห่งศีลธรรม = ความสุขร่มเย็น

เฮ้อ... คงเป็นแค่ความฝัน

 

 

 

 

สวัสดีครับ เพื่อนๆ ชาว G2K ทุกท่าน

         ยินดีที่ได้รู้ว่าข้อมูลเป็นประโยชน์นะครับ ^__^

         งานนี้เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน เพราะโดนตามไปให้ข้อมูลตอนอยู่ที่เชียงใหม่ กลับมากรุงเทพ ก็เลยต้องมาค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติม

         ถ้าสนใจก็ลองค้นคำว่า orb หรือ orb phenomenon ในอินเทอร์เน็ตดูได้ครับ

 

พี่ชิวครับ นี่ผมก็เพิ่งไปเป็นวิทยากรเรื่องการเขียนเรื่องวิทย์ฯ ที่อยุธยากับพี่จุ๋มมาเหมือนกันครับ ทีแรกเราก็กะว่าจะพูดถึงเรื่องปรากฏการณ์จตุตามฯ สักหน่อยด้วยตอนบรรยาย ที่ไหนได้ พอดีก่อนบรรยายเขาดันให้ของที่ระลึกวิทยากรเป็นจตุคามฯ คนละองค์นี่สิครับ... หุๆ ทีนี้พูดไม่ออกเลย ...ขืนพูดไปกลัวจะกลับกรุงเทพฯ ไม่ได้ครับ 555

ปล. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ มีประโยชน์ครับ :-) 

สวัสดีครับ ถั่ว

        แหม! เกือบจะไม่ได้กลับกรุงเทพฯ ซะแล้ว..โล่งใจไปทีครับ

       เคยได้ยินมาว่า งานประชุมประจำปีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อไม่นานมานี จัดที่ ม. วลัยลักษณ์ (จ. นครศรีธรรมราช) ปรากฏว่าในงานนี้ ก็มีแจกจตุคามฯ ด้วยเช่นกัน

       สมเป็นวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ ดีครับ เข้ากับสภาพสังคมจัง ;-)

ไม่มาพักเดียว พี่ชิวดังกว่าเดิมอีกนะครับ เย้ๆๆ

   ว่าแต่ออกทีวีไม่บอกน้องให้ตามดูซักคำ อิอิ หนุกมั้ยครับพี่ชิว

Hello เดอ

         ทาง TiTV นี่ ถ่ายทำทีเดียว เอาไปออก 2 ครั้ง คือ คืนวันเสาร์ กับเช้าวันอาทิตย์ครับ

         แต่ด้วยความที่เป็นข่าวทีวี ทำให้น่าเสียดายที่ให้เวลาน้อยไปหน่อย คือ พี่ไปให้รายละเอียดราว 10 นาที แต่ตัดต่อไปมาเหลือแค่ 4 นาที และทำส่วนสำคัญหายไปเรื่องหนึ่งคือ ทำไมภาพจึงมีลวดลายคล้ายจตุคามฯ (ก็เลยมาเขียนลง blog นี้ไงครับ)

 ดิฉันไปเยี่ยมชมสังเวชนียสถานที่อินเดีย ถ่ายภาพจากกล้องดิจิตอล ประมาณ 800 ภาพ มี "ภาพปริศนาวงกลม บนภาพถ่าย" ประมาณ 30 ภาพ
 ดิฉันไปงานเททองหล่อพระ ถ่ายภาพจากกล้องดิจิตอล ประมาณ 50 ภาพ มี "ภาพปริศนาวงกลม บนภาพถ่าย" รวม 3 ภาพ
 ดิฉันไปงานฉลองพระ ถ่ายภาพจากกล้องดิจิตอล ประมาณ 100 ภาพ มี "ภาพปริศนาวงกลม บนภาพถ่าย" ประมาณ 20 ภาพ
ซึ่งแต่ละภาพนั้นจะเกิดจากฉากหลังมืด หรือฉากหลังเป็นพระพุทธรูป หรือฉากหลังเป็นพระสงฆ์กำลังสวด  หรือในสถานที่พุทธศาสนา
(มีเพียงบางภาพเท่านั้น ที่ถ่ายในอินเดีย ที่มี "ภาพปริศนาวงกลมบนภาพถ่าย" เป็นภาพที่ถ่ายในโรงแรม ในสนามบิน และกลางแจ้ง)
ส่วนใหญ่ภาพเหล่านี้จะใช้เฟลช แต่มีบางภาพที่ไม่ใช้เฟลช ก็เกิดภาพวงกลม เช่นกัน
และดิฉันก็ได้ทดลองด้วยการใช้ฝุ่นแป้งแล้วก็ปรากฎว่า มีภาพวงกลม เกิดขึ้นจริง
และกล้องนี้ดิฉันใช้ถ่ายภาพทะเล งานแต่งงาน สถานที่ทำงาน โรงงานอุตสหกรรม ภาพคนปกติทั่วๆ ไปและอื่นๆ ทั้งๆ ที่ใช้เฟลช และไม่ใช้เฟลช มากกว่า 10,000 ภาพแล้วก็ไม่มีปรากฎภาพวงกลมขึ้น
ในความคิดของดิฉัน ดิฉันเชื่อว่าน่าจะเกิดจาก ทั้งโลกวิทยาศาสตร์ และโลกวิญญาณ  เป็นเฉพาะภาพๆ ไป การอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วย เลนส์  การตกกระทบของแสง ฝุ่น ละอองน้ำ ฯลฯ นั้นถูกต้องทั้งหมด เพียงแต่ว่ามันไม่ใช้ทั้งหมดที่ถูกต้อง โลกวิทยาศาสตร์ มีการอธิบายได้ชัดเจน สมเหตุ สมผล แต่โลกวิญญาณ ยังไม่มีใครออกมาอธิบายเพราะมันมองไม่เห็น หรือสัมผัสได้ด้วยตาเปล่า เหมือนโลกทางวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น "ปริศนาวงกลมบนภาพถ่าย" นี้น่าจะมีเหตุปัจจัยที่ต่างกันทำให้เกิดภาพวงกลม เพียงแต่ภาพที่ปรากฎออกมาเหมือนกันคือเป็นวงกลม เช่นบางภาพเกิดจากฝุ่น บางภาพเกิดจากการตกกระทบของแสง บางภาพเกิดจากละอองน้ำ บางภาพเกิดจากจังหวะการใช้เฟลชหรือคุณสมบัติเฉพาะของกล้องนั้นๆ แต่บางภาพอาจเกิดจากโลกวิญญาณ (ซึ่งทางวิทยาศาสตร์บอกว่าไม่มีจริง แต่พิสูจน์ได้ไหมว่าไม่มีจริง ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งศํกดิ์สิทธิ์ และเหล่าท้วยเทพมีจริง สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะเป็นพลังงาน หรืออณู หรือรังสีต่างๆ ตามศัพท์วิทยาศาสตร์ หรือบารมีแห่งแสงธรรมซึ่งวิวัฒนาการสมัยใหม่ อย่างกล้องดิจิตอล ก็จับภาพได้เช่นกัน เพียงแต่ภาพที่ปรากฎลักษณะเป็นวงกลมเหมือนกันเท่านั้น) 

ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรค่ะ กรุณาช่วยชี้แนะด้วย เพื่อแบ่งปันความรู้ให้กันและกัน

นับถือ
รจิต

ขอบคุณมากนะคะ เป็นครูฟิสิกส์ อ่านแล้วได้ความรู้มากเลยค่ะ

สวัสดีครับ คุณครู...รถตุ๊ก...ตุ๊ก

       บันทึกนี้เหมาะกับคนชอบฟิสิกส์ครับ ผมก็จบ ป.ตรี ฟิสิกส์ เหมือนกัน

 

ปล. วันเสาร์ที่ 21 มิ.ย. นี้จะไปพูดเรื่อง ถอดรหัสอัจฉริยะ : อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ รร. สุรนารีวิทยา จ.โคราช ด้วยครับ

สวัสดีค่ะ อ. พี่ชิว

  • ตามมาอ่าน กระจ่างขึ้นมากเลยค่ะ จะได้มีข้อเท็จจริง+การทดลองไปยืนยันพวกขี้ตกใจทั้งหลายด้วยค่ะ
  • แต่เสียดายภาพตั้งหลายภาพที่ เลอะเทอะไปด้วยฝุ่นละออง ย้อนเวลากลับไปถ่ายใหม่ก็ไม่ได้นะคะ
  • แต่..เอาแต่มาอีกแล้ว อย่างที่คุณรจิตเขียนล่ะคะ และอย่างที่มีคนถ่ายภาพติดเงาต่างๆ อีกล่ะคะ วิทยาศาสตร์ตอบคำถามนี้อย่างไรคะ
  • ว้าว..เดี๋ยวได้หลุดไปอีกมิติหนึ่งแน่ๆ เลย

สวัสดีครับ พี่ดาว

       ก่อนอื่นเลย วิทยาศาสตร์ที่แท้จริง ไม่ได้บอกว่าโลกวิญญาณมี หรือไม่มี นะครับ เพียงแต่บอกว่า ขอหลักฐานที่ทำซ้ำได้ให้ดูหน่อยได้ไหม 

       ถ้ามี ก็จะสืบค้นต่อจนได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วจึงนำข้อเท็จจริงที่ได้ไปสร้างเป็นสมมติฐาน ทฤษฎี ฯลฯ เพื่อค้นหาความจริงที่อยู่เบื้องหลังต่อไป

       ส่วนเรื่องความเชื่อที่ว่า กล้องดิจิทัล (หรือเทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม) ไปบังเอิญถ่ายภาพในอีกมิติหนึ่ง (เช่น โลกวิญญาณ) อะไรนี่ ผมขอเสนอให้ผู้ที่เชื่อว่าเป็นไปได้ ลองไปศึกษาดูก่อนว่า กล้องดิจิทัล (หรือเทคโนโลยีที่จับสัญญาณใดๆ ก็ตาม) มีหลักการทำงานอย่างไรก่อน - เพื่อให้การพูดคุยอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันครับ ^__^

แสงที่เกิดเป็นดวงๆ รจิต สงสัยนั้น ไม่ได้เกิดจาก ออร์บ อย่างเดียวครับ มีอีกอย่างที่เรียกว่าแสงแฟร์ ซึ่งเกิดจากการสะท้อนแสงภายในชิ้นเลนส์ซึ่งอยู่ในตัวชุดเลนส์ จึงไม่จำเป็นจะต้องมีแสงจากไฟแฟรช เพียงแต่มีแหล่งกำเนิดแสงและมุมที่เหมะสมก็เกิดได้ครับ ที่พบกันบ่อยๆก็พวกหลอดไฟฟ้าไงครับ

http://en.wikipedia.org/wiki/Lens_flare

ประวัติของบทความ

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน GotoKnow ^__^

ได้รับการติดต่อจาก วิชาการด็อทคอม เพื่อขออนุญาตนำไปเผยแพร่ที่ http://www.vcharkarn.com/include/article/showarticle.php?aid=1118

ดัดแปลงเพื่อนำลงใน นสพ. Post Today ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2550 ในคอลัมน์ นวัตกรรม ตามความร่วมมือระหว่าง สวทช.-นสพ. Post Today

เพิ่มเติมข้อมูล & ภาพให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แล้วนำไปตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี (กำลังสืบค้นว่าเป็นฉบับใด)

ตีพิมพ์ในหนังสือ สารคดี ฉบับที่ 270 เดือนสิงหาคม 2550 หน้า 170 - 176 ครับ

สวัสดีครับ คุณ love is blue (blue จริงอ้ะเปล่า?...อิอิ)

       ขอบคุณมากเลยครับที่ช่วยเพิ่มเติมข้อมูลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

       พอมีเวลาว่างเขียนเป็นบทความสั้นๆ ไหมล่ะครับ จะได้มีคนไทยเข้าใจเรื่องนี้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก

       พอดีตอนนี้ผมกำลังมึนๆ กับอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องหนังสือเจ้าปัญหาของ ทพ. คนดัง นั่นล่ะครับ ;-)

สวัดีครับ อาจารย์บัญชา

มุมคืดของผมเอง ผมคิดกับ ปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้น ว่า เป็น ปรากฏการณ์ ที่ พิเศษ คือ หมายถึง เกิดขึ้นได้ จาก สิ่งที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นี้ ที่ ไม่ได้เกิด แบบประจํา แต่ พบได้ (ไม่ใช่ไม่อาจพบได้ ก็ต่อเมื่อ มี สาเหตุ ที่ทําให้ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นี้ ครบ สําหรับ ปรากฏการณ์ เช่นนี้ ) เช่น ฝนดาวตก ฯลฯ

มุมคิด ของ ผม มึ สมมุติฐาน ที่เป็นไปได้ใหมครับ อาจารย์

ขอขอบตุณเวที่แห่งปัญญา

สวัสดีครับ คุณสมชาย

          แน่นอนครับว่า หากมีสาเหตุ และเงื่อนไขต่างๆ เหมือนกัน ก็ย่อมจะเกิดปรากฏการณ์ทางกายภาพได้ในลักษณะเดียวกันครับ

          แต่หากพูดถึงฟิิสิกส์ควอนตัม ก็จะพบว่า สาเหตุ และเงื่อนไขต่างๆ เหมือนกัน อาจจะบอกไม่ได้แน่ๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่บอกได้ว่าโอกาส หรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดแต่ละเหตุการณ์เป็นเท่าไรครับ

อ่านบทความนี้มานานแล้ว พอดีนึกขึ้นได้ว่าเคยเจอเรื่องแปลกๆ ของกล้องผมใช้อย่คือ ขณะที่ผมกำลังถ่ายภาพสินค้าในห้องที่มีการจัดไฟส่องสินค้ารวมกับแสงจากธรรมชาติอยู่ แต่มีอยู่มุมหนึ่งเกิดภาพวงกลมจางๆ ลอยไปลอยมาในจอแอลซีดีของกล้อง ใช่ครับถ้าเป็นคนเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติก็จะสรุปทันทีเลยว่าเป็น ดวงจิต อะไรประมาณนั้น แต่ภาพนี้เวลาถ่ายออกมาก็ไม่เห็นวงกลมนั้น

เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นผมเองมองว่าเป็นจังหวะที่มุมและปริมาณแสงที่เข้าไปกระทบซีซีดี ทำให้การประมวลผลของโพรเซสเซอร์ในกล้องผิดปกติไป ซึ่งอาจจะเกิดจากพฤติกรรมบางอย่างของอิเลคตรอนที่เกิดบนผิวซีซีดีทำให้การอ่านข้อมูลหรือส่งข้อมูลผิดปกติไป

สำหรับเรื่องภาพแปลกๆที่เกิดจากซีซีดีนั้น ยังมีอีกหลายอย่างเช่น การส่องดูดวงอาทิตย์โดยซูมเข้าไปที่ใกล้ขอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์ที่เป็นเหมือนมียานบินหรือวัตถุบินผ่านไปมาแถวๆดวงอาทิตย์ (จำไม่ได้ว่าเรียกว่าอะไร) หรือการส่องหน้ากล้องเข้าหาดวงอาทิตย์ตรงๆ ก็จะเกิดอาการเป็นแถบสีเข้มๆขึ้นบนจอ แอลซีดี ซึ่งถ้ากดบันทึกภาพไปก็จะไม่เห็นแถบดำๆนั้น ซึ่งการเห็นหรือไม่เห็นภาพหรือบันทึกได้หรือไม่ได้นั้น คงต้องศึกษาลึกเข้าไปถึงขั้นตอนการทำงานของกล้องตัวนั้นๆว่า โพรเซสเซอร์และโปรแกรมที่กล้องนั้นทำงานแบบไหน เช่นกล้องบางรุ่นจะมีขั้นตอนการแปลงภาพบีบอัดภาพ หรือการลบสัญญาณรบกวนที่ซีซีดีได้รับมา ออกจากภาพด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์ที่ต่างกัน ผลก็จะออกมาไม่เหมือนกัน แม้แต่จุดที่ถ่ายภาพมีสภาพแวดล้อมที่เหมือนกันทุกอย่าง แต่กล้องคนละตัวกันก็ถ่ายภาพออกมาได้ไม่เหมือนกัน

การถ่ายภาพแต่ละภาพสำหรับเรามันช่างรวดเร็วเสียเหลือเกิน แค่กดชัทเตอร์ก็ได้ภาพมาเชยชมกันแล้ว แต่กว่าที่กล้องจะบันทึกภาพให้เราได้นั้นมันต้องผ่านการประมวลผลข้อมูลภาพด้วยกระบวนการมากมาย เพียงแต่กระบวนการทั้งหมดมันรวดเร็วในเสี้ยววินาทีเท่านนั้นเอง ดังนันอย่าคิดว่าสิ่งที่กล้องบันทึกมานั้นคือความจริงทุกอย่าง บางอย่างที่เห็นในภาพก็อาจจะเป็นเพียงแค่การประมวลผลที่ผิดพลาดเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามเรื่องเกี่ยวกับซีซีดีนี้ทางผู้ผลิตกล้องทั้งหลายน่าจะมีข้อมูลอยู่อย่างมากมาย สุดแต่ว่าเขาจะเห็นเป็นเรื่องที่ต้องเปิดเผยกันหรือเปล่าเพระส่วนหนึ่งมันก็เป็นความลับทางธุรกิจของเขาเหมือนกัน

ใครมีข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ฝากเอามาแบ่งปันกันด้วยนะครับ

สนุกมากๆครับอ.ชิว ไล่อ่านมาตั้งแต่รุ้งกินน้ำ เมฆสีรุ้ง ทรงกลด โคโรนา จนมาจบที่วงกลมจตุคาม ซึ่งก็สงสัยมานานแล้ว เฉลยก็คือเป็นเรื่องของ diffraction เหมือนกัน ขอบพระคุณมากครับ
.. เลยนึกสงสัยต่อไปว่า ขนาดของวง ใหญ่เล็กนี่ขึ้นอยู่กับอะไร ขนาดของแหล่งกำเนิดแสง (ดวงอาทิตย์ หรือหลอดไฟ) ขนาดของอนุภาคน้ำ หรือว่ามุมจากจุดกำเนิดแสง-อนุภาคน้ำ-ผู้สังเกต หรือว่าทั้งสามอย่างรวมกัน 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท