ภาพแปรพักตร์ - หลอกตาเราได้อย่างไร?



คุณ ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี ได้มีน้ำใจนำภาพข้างล่างนี้มาฝากผมใน บันทึกนี้


เพื่อเป็นการขอบคุณ ผมจึงขอขยายผลโดยนำบทความที่ผมเคยเขียนไว้
มาเผยแพร่ให้เพื่อนๆ ใน GotoKnow ได้สนุกในการเรียนรู้ร่วมกันครับ ^__^



"ภาพแปรพักตร์"
หลอกตาเราได้อย่างไร?

เมื่อพูดถึงภาพลวงตา คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพ ๆ เดียวที่มองได้ 2 แง่มุม
อย่างเช่น ภาพ “เป็นคนอยู่ดีๆ พลิกอีกทีกลายเป็นม้า”
 

 

หรือภาพ All is Vanity อันน่าพิศวงของชาร์สส์ แอลเลน กิลเบิร์ต (Charles Allen Gilber) (ค.ศ.1873-1929) ซึ่งจะมองให้เป็นหัวกระโหลก หรือเป็นหญิงสาวกำลังนั่งอยู่ที่โต๊ะเครื่องแป้งก็ได้ เป็นต้น


แต่ภาพลวงตาที่นำมาให้ชมในครั้งนี้ไม่เหมือนภาพลวงตาคลาสสิคที่ว่ามา
ลองดูภาพ ‘หญิงหน้าตาย’ และ ‘ชายหน้ายัวะ’ ตามคำแนะนำที่ให้ไว้

ดูดี ๆ สองภาพนี้แปรพักตร์ได้!

 

ลองมองภาพ “หญิงหน้าตาย (ซ้าย) & ชายหน้ายัวะ (ขวา)”
ที่ระยะห่างปกติ สังเกตเพศ สีหน้า ริ้วรอยต่าง ๆ และอื่น ๆ

จากนั้นมองภาพทั้งคู่ที่ระยะห่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (จนห่างราว 2-3 เมตร)
สังเกตการเปลี่ยนแปลง


ใครที่เพิ่งเคยเห็นภาพลักษณะนี้เป็นครั้งแรกคงจะรู้สึกฉงน
และถ้ามีเพื่อนอยู่ใกล้ ๆ ก็คงจะชวนมาดูด้วย

โดยจะเห็นตรงกันว่าภาพหญิงหน้าตายทางซ้ายนั้นพอดูที่ระยะไกลออกไป
จะกลับกลายเป็นชายซึ่งมีใบหน้าละม้ายคล้ายภาพขวา
(แต่ดูหนุ่มกว่าและอารมณ์เย็นกว่าเล็กน้อย เพราะไม่มีริ้วรอยย่น)

ส่วนภาพขวาซึ่งเดิมเป็นหน้าชายสูงอายุขี้ยัวะนั้นกลับกัน
เพราะกลายเป็นหน้าหญิงสาวสุดแสนเฉยเมยเหมือนภาพทางซ้ายมือแต่เดิม!


ภาพใบหน้าแสนพิศวงคู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของ
ดร.ฟิลิปป์ จี ไชนส์ (Philippe G. Schyns) (ซ้าย) และ ดร.โอเดอ โอลิวา (Aude Oliva) (ขวา)
ในบทความวิชาการชื่อ Dr. Angry and Mr. Smile: when categorization flexibly modifies the perception of faces in rapid visual presentations
ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในวารสาร Cognition ในปี ค.ศ. 1999

 
     

ทำไมภาพถึงแปรพักตร์ได้?

อธิบายอย่างง่ายๆได้ว่า ถ้านำภาพใบหน้าสีขาวดำมาภาพหนึ่ง (จริง ๆ แล้ว อาจเป็นภาพอะไรก็ได้)

จากนั้นใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า การแปลงแบบฟูเรียร์ (Fourier transform) แยกภาพดังกล่าวออกเป็นข้อมูลสองส่วน

ข้อมูลส่วนแรกเป็นข้อมูลสเกลหยาบ (coarse scale) ซึ่งแทนบริเวณที่ดูเรียบเนียน เช่น หน้าผากเรียบ ๆ หรือแก้มเนียน ๆ

ข้อมูลส่วนที่สองเป็นข้อมูลสเกลละเอียด (fine scale) ซึ่งแทนบริเวณที่เป็นเส้นเป็นขอบ เช่น ขอบตา ริมฝีปาก สันจมูก ตีนกาและรอยย่นต่าง ๆ บนใบหน้า


เบื้องหลังภาพแปรพักตร์ก็คือ ภาพผู้หญิงหน้าตายทางซ้ายมือนี้ แท้จริงแล้วเป็นภาพหน้าลูกผสม (hybrid face) ระหว่างภาพหน้าผู้หญิงแบบละเอียดปนอยู่กับภาพหน้าผู้ชายแบบหยาบ

ซึ่งถ้ามองใกล้ ๆ ภาพละเอียดจะข่มภาพหยาบ เราก็เลยเห็นหญิงสาวหน้าตาย แต่ถ้ามองไกล ๆ ภาพหยาบจะกลืนภาพละเอียด เราก็เลยเห็นเป็นผู้ชายหน้ายัวะที่ซ่อนอยู่แทน

ส่วนภาพผู้ชายหน้ายัวะทางขวามือนั้นก็กลับกัน (กลับยังไง ลองคิดดูเองสิครับ)

 

ข้อมูลสเกลหยาบ (เช่น แก้มเนียน ๆ) นั้น ภาษาวิชาการเรียกว่า ข้อมูลความถี่เชิงระยะทางต่ำ (low spatial frequencies หรือ LSF) ส่วนข้อมูลสเกลละเอียด (เช่น ลายเส้นต่าง ๆ บนใบหน้า) เรียกว่า ข้อมูลความถี่เชิงระยะทางสูง (high spatial frequencies หรือ HSF)

ภาษาวิชาการที่ฟังยากยุ่งเหยิงนี้ อาจเข้าใจได้ง่ายขึ้น ถ้าคิดถึงแถบริ้วแนวดิ่งสีขาวดำที่มีขนาดความกว้างของแต่ละแถบค่อนข้างใหญ่ทางซ้าย และค่อย ๆ ลดแคบลงไปเรื่อย ๆ ทางขวา ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ความถี่เชิงระยะทาง (spatial frequency) ของแถบริ้วขาว-ดำ เพิ่มขึ้นจากซ้ายไปขวา

ความถี่เชิงระยะทางยังขึ้นกับระยะทางที่เรามองภาพ (หรือวัตถุ) นั้นอีกด้วย
โดยจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับระยะทาง 

 

ลองคิดง่าย ๆ ว่า แถบริ้วสีขาว-ดำ ทางด้านซ้ายนั้น ถ้าดูใกล้ ๆ จะดูหยาบ (กว้างมากหน่อย)
แต่ถ้ามองที่ยะห่างออกไป ก็จะดูละเอียดขึ้น (แคบลง)
ทั้งนี้เพราะภาพที่ปรากฏบนเรตินาในตาของเราจะลดลงเป็นส่วนกลับกับระยะห่างของภาพ (หรือวัตถุ) ที่เพิ่มขึ้น


ขนาดของภาพบนเรตินาเป็นส่วนกลับของระยะห่างของวัตถุ ทำให้ความถี่เชิงระยะทางเพิ่มขึ้นตามระยะทาง

นั่นคือ ภาพใกล้ ๆ ที่ดูหยาบ จะกลายเป็นภาพละเอียดเมื่อดูไกล ๆ สอดคล้องกับปรากฏการณ์แปรพักตร์ที่เห็นนั่นเอง

    

จริง ๆ แล้ว ภาพลูกผสมยังแปรพักตร์ได้ด้วยเงื่อนไขอื่น เช่น

  • มองผ่านแค่แว่บเดียว
  • หรี่ตามอง
  • กระพริบตาเร็ว ๆ
  • ใช้แผ่นพลาสติกขุ่น ๆ ปิดทับแล้วขยับให้ห่างออกมาเล็กน้อย

(มีวิธีการมองแบบอื่นอีกไหมหนอ? ใครคิดได้ช่วยบอกทีเถิด ^__^)


ภาพลูกผสมแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ใบหน้าคน ยังใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับการมองเห็นและการรับรู้อีกด้วย
เช่น ภาพตัวอักษร C ที่ซ้อนอยู่กับภาพตัว F
ซึ่งจริง ๆ แล้วต่างก็ประกอบด้วยตัวอักษร L ขนาดเล็กหลายตัว
 
โดยถ้ามองใกล้ ๆ เราจะเห็นหมดทุกตัว ไม่ว่า C และ F ตัวใหญ่ หรือ L ตัวเล็ก
แต่ถ้ามองไกล ๆ จะเห็นแค่ตัว C อย่างเดียว (ลองดูสิครับ)

ภาพลูกผสมที่เป็นตัวอักษร โดยตัว C ย่อมาจาก Coarse (หยาบ)
F คือ Fine (ละเอียด) และ L คือ Local (เฉพาะแห่ง)



ตัวอย่างนี้ นักจิตวิทยาใช้ในการแยกแยะความแตกต่างระหว่าง
การมองภาพรวม-การมองภาพเฉพาะแห่ง (global vs. local processing) 
กับ การมองภาพหยาบ-การมองภาพละเอียด (coarse vs. fine scale processing)

 

 

ส่วนภาพสถานที่หรือฉากเหตุการณ์ก็ใช้ในการศึกษาว่า
จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนที่จะสรุปว่าภาพรวมคืออะไร
เช่น สำหรับภาพละเอียดที่ให้ไว้นี้ เมื่อเห็นรถ ถนน ป้าย และเสา
ก็พอบอกได้ว่าน่าจะเป็นภาพบนทางด่วน เป็นอาทิ

 

แต่สำหรับภาพหยาบที่ดูเบลอ ๆ นั้น ถ้ามองที่ระยะห่างออกไปหรือหรี่ตาดู
ก็จะเห็นภาพเมืองโดยรวมก่อนที่จะเห็นเป็นอาคารต่าง ๆ เป็นต้น

ภาพลูกผสมแสดงความอัศจรรย์ของคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
แต่นอกจากจะมีประโยชน์ในงานวิจัยทางด้านการมองเห็นและจิตวิทยาอย่างลึกซึ้งแล้ว
ผมว่ายังมีบทเรียนง่าย ๆ อีกอย่าง
นั่นคือ

ภายใต้รอยหน้าที่ดูสดชื่นยิ้มแย้มอยู่นั้น อาจจะซ่อนอารมณ์อื่นเอาไว้ก็เป็นได้

ไม่เชื่อลองดูภาพนี้สิครับ!

 


แนะนำขุมทรัพย์ทางปัญญา


ประวัติของบทความ

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สารคดี (* กำลังค้นว่าฉบับไหน *)
  • ตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือชุด Know How & Know Why เล่ม กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง (พิมพ์ครั้งที่ 3), สำนักพิมพ์สารคดี

    ดูข้อมูลในร้านหนังสือ SE-ED


หมายเลขบันทึก: 191613เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2008 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)

สวัสดีค่ะ

น่าสนใจมากค่ะดร.ชิว ทีแรกที่ยังอ่านไม่หมด ในตอนแรกเดาค่ะ นึกว่าเกี่ยวกับแสงเงา ที่แท้เป็นเรื่องสเกลหยาบกับละเอียด..ดีจังค่ะได้รู้ที่มา ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล

ขอบคุณครับ

เคยเห็นภาพที่มองฝาผนังแล้วกลับมามองที่ภาพจะเห็นเป็นพราะเยซู ด้วยค่ะ แต่ช่วง 11 กันยายน มีการโน้มน้าวว่ามองเห็นเป็นบินลาเดน

ทำไมมีเรื่องลึกลับ แปลกตาแปลกใจได้คะ เค้าคิดกันได้อย่างไร อยากคิดเป็นทำเป็นบ้างจังค่ะ

สวัสดีครับ ทุกๆ ท่าน ^__^

       คุณ a l i n_x a n a =) : จะว่าไปแล้ว ก็เกี่ยวกับแสง-เงาเหมือนกันนะครับ เพราะเท่าที่ทราบต้องเป็นภาพขาว-ดำ (ถ้าใครมีข้อมูลอื่น เช่น เป็นภาพสีได้ ช่วยนำมาต่อยอดหน่อยครับ)

       คุณ อำนวย สุดสวาสดิ์ : ด้วยความยินดีครับ

       คุณ ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี : ภาพแบบ hybrid face นี่ไฮเทคทีเดียวครับ เป็นงานวิจัยของพวกนักจิตวิทยาที่ศึกษา การรู้คิด (cognition) กล่าวคือ สมองรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสได้อย่างไร โดย hybrid face นี่เป็นงานชิ้นหนึ่งที่ต้องใช้ จิตวิทยาเชิงคำนวณ (computational psychology) ด้วย

        น่าแปลกไหมล่ะครับที่ จิตวิทยา + การคำนวณทางคณิตศาสตร์ ได้ด้วย นี่กระมังที่พูดกันว่า เป็นการผนึกพลัง (synergy) ของความรู้สองอย่างขึ้นไป

กลับมาเรียนรู้ต่อค่ะ

  • หลังจากได้รับคำอธิบายแล้ว เสียดายอยากกลับไปเป็นเด็กใหม่ค่ะ (ไม่เอาถึงขั้นไปเกิดใหม่นะคะ...แบบนั้นสงสัยจะเหนื่อยเกินไป ^^55)
  • วิชาวิทยาศาสตร์จะต้องน่าเรียน และติดหนึบเป็นแน่ แล้วชีวิตคงจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้
  • คิดแล้วเสียดายค่ะ ตั้งแต่เข้ามาใช้เวลาและความคิดในพื้นที่ G2K นี้ หลายอย่างในตัวเองเปลี่ยนไปในทางที่กระตือรือร้นยิ่งขึ้น เข้าใจคำว่า เล่นปนเรียน เรียนปนเล่น ที่นักวิชาการยุคใหม่ให้ความสำคัญค่ะ

สวัสดีครับ

        ใช่แล้วครับ Play + Learn = Plearn (เพลิน) ของ อ.ชัยอนันต์ นี่ใช้ได้ในหลายกรณีทีเดียว แต่ต้องใช้อย่างมีศิลปะครับ ^__^

เป็นข้อมูลที่ดีเยี่ยมมากครับ

ขออนุญาตส่งต่อให้เพื่อนๆ อ่านนะครับ

มีหลายคนที่อยากรู้เรื่องนี้พอดี

สวัสดีครับ ไป๋

        เอาเลยครับ พี่ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี และรวมเล่มไปแล้ว ถือว่าทำหน้าที่เสร็จแล้วครับ

       ที่น่าสนใจคือ จะมีคนไทยเอาไปต่อยอดหรือเปล่าหนอ?

ยอดมากครับ ...

ตามมาแอบอ่านให้กำลังใจครับ

  • ว้าว น่าทึ่งจริงๆค่ะ
  • คนที่ทำภาพได้แบบนี้มีความคิดสร้างสรรค์จริงๆนะคะ

สวัสดีครับ

     ป๋วย : แหม! ต้องแอบเข้ามาอ่านด้วยรึ? :-P

     คุณ naree suwan : คนทำเป็นทั้งนักวิชาการและศิลปินในคนๆ เดียวกันจริงๆ ครับ

 

ขอบคุณที่เข้าไปเม้นบล็อกดานะคะ

แต่ของคุณนี่ เยี่ยมไปเลย!!

สวัสดีครับ ดา

        นำไปเผยแพร่ต่อได้นะครับ อ้างถึงบันทึกในบล็อกนี้ซะหน่อย

พี่ชิวสุดยอดเลยครับ อ่านแล้วยังงง แต่พอวิ่งออกไปสามเมตร ก็อึ้งไปเลย โดยเฉพาะรูปสุดท้าย อิอิ

ขอบคุณครับ ได้ความบันเทิง สาระ และความรู้ พร้อมกันในคราวเดียว สุดยอดจริงๆครับ

ดีครับ เดอ จริงๆ แล้ว เซฟภาพไปพิมพ์บนกระดาษ A4 ก็ยังใช้ได้นะครับ ลองดูสิ! 

บนกระดาษนี่ยิ่งน่าทึ่งเข้าไปใหญ่

เคยยกลิงค์ของบล็อกนี้ไปลงใน บล็อกของตัวเอง ใน windowslive พี่สาวชอบมากค่ะ

ขออนุญาตไปเผยแพร่ต่ออีกครั้งนะคะ เพราะอยากให้ผู้คนสนุกกับวิทยาศาสตร์มาก ๆ

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่มอบให้นะคะ

สวัสดีครับ คุณ dhanitar

         ด้วยความยินดีอย่างยิ่งครับ

         และหากต้องการดูภาพรวมงานของผมที่เก็บไว้บนเว็บ ก็ไปที่นี่ได้เลย

               http://portal.in.th/buncha

         ได้จัดเรื่องไว้เป็นกลุ่มๆ เช่น

             - จิตมนุษย์สุดอัศจรรย์
             - ไอน์สไตน์ & กรณีที่เกี่ยวข้อง
             - วิทยาศาสตร์ในข่าวเด่นประเด็นดัง
             - Play & Learn - วิทย์เพื่อเด็กๆ ของเรา
             - ชมรมคนรักมวลเมฆ
             - โอริงามิ - พับกระดาษ 

นำไปลงใน oknation คนนิยมอ่านกันมากค่ะ

http://www.oknation.net/blog/mettapc/2009/05/25/entry-4

ขออนุญาตนำลงใน favourite เลยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

อาจารย์คือครูที่สมบูรณ์แบบ จริงๆครับ

ขอขอบพระคุณ ความรู้ทีครูนํามาเสนอให้เกิดประโยชน์ต่อการดํารงชีวิต

สวัสดีครับ คุณสมชาย อิ่มโพธิ์

         ขอรับคำชมไว้ 10% ครับ เพราะมีครูดีที่สมบูรณ์แบบกว่าผมอีกมากมายครับ เพียงแต่ว่าท่านกำลังทำหน้าที่อยู่อย่างเต็มที่ เราก็เลยไม่ค่อยได้เห็นท่านเท่านั้นเอง

         ชวนไปชมภาพรวมของงานที่ผมนำขึ้นเว็บที่นี่

                  http://portal.in.th/buncha

         อาจจะมีอะไรบางอย่างที่สนใจและเป็นประโยชน์อยู่บ้าง

สวัสดีค่ะ พี่ชิว

ว่าแล้วเชียว ว่าพี่ชิวต้องใช่ ไสยศาสตร์เชิงซ้อน อิอิ ... ไม่ใช่กุมารทองเหรอค่ะ พี่ชิว ...

มาเก็บความรู้ค่ะ แต่ต้องอาศัยอ่านอีกหลายรอบถึงจะจำเก็บไว้ หลอกน้องธอมส์ได้ .. เป็นไรไม่รู้ค่ะพอเริ่มแอ่ ..ความจำเริ่มทดถ้อย ...  น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งค่ะ

หนังสือเล่มนี้ ตอนไปซื้อ หมดค่ะ พี่ชิว

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ ค่ะพี่ชิว

พี่ชิวครับ

เข้ามาอ่านคำเฉลย กระจ่างมากเลยครับ...

เย้! ในที่สุดก็ค้นพบบันทึกลึกลับนี้จนได้

น้องหนุ่ย & น้องหนานเกียรติ นำไปหลอกต่อๆ ได้นะครับ ^__^

พี่ชิวครับ

ผมได้รับเมลส่งต่อมา น่าจะเข้ากันได้กับเรื่องนี้ (หรือเปล่าไม่รู้)

เลยส่งมาแลกเปลี่ยนในนี้

และ... ขอคำอธิบายหน่อยครับว่ามันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ?

 

 

ถอยหลังไปดูจนถึงประตูห้องแล้วค่ะ

ว้าวววววววววววว

หน้ามันสลับกันใช่มั้ยค่ะ เอ้...

นี่ไงที่กอตามหามาตั้งนานแล้ว

เรื่องภาพพระเยซู หรือภาพใคร ๆ ที่เค้าเอามาทำ

แล้วให้เราดูฝาพนังค่ะ มันใช่เทคนิคเดี๋ยวกันมั้ย

น้องหนานเกียรติ

        ภาพไม่ขึ้นครับ ต้อง upload ใหม่

        เป็นภาพแนวกลับสีหรือเปล่าครับ ถ้าใช่เรียกว่า AfterImage พี่เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง

        แต่เดี๋ยวรอดูภาพก่อน....

น้องกอ-สุดสายป่าน

        ขอชมภาพพระเยซูที่กล่าวถึงด้วยครับ ใช่ภาพขาวดำหรือเปล่า ถ้าใช่อาจเป็นเรื่อง AfterImage ครับ

น้องหนานเกียรติ สวัสดีครับ

         เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ภาพติดตา" หรือที่ฝรั่งเรียกว่า "AfterImage" ครับ เป็นสีก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพขาวดำ

         พี่เคยเขียนเรื่องนี้ลง นสพ. และตีพิมพ์รวมเล่มไปแล้วในชื่อหนังสือ จิตพิกล คนพิลึก (สนพ. สารคดี) ไว้จะลองปรับมาลงใน G2K นี่เพื่อตอบคำถามนะครับ

ภาพนี้ขอเตือนใครเป็นโรคหัวใจห้ามดูเด็ดขาด

ภาพนี้นะมองที่ภาพประมาณ20-30วินาทีแล้วคุณจะเห็นมันอย่างชัดเจน

เห็นหน้าในหลวงเลยอ่ะ สุดยอด

ภาพติดตาที่เสมือนจริง

goodๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆดีมาก

แถมยังสนุกมาก

แหะๆๆ

ชอบตลกดี

ครายเครียดด้วย[>_^]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท