วิทยาศาสตร์ที่ถูกบิดเบือน : กรณี "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น"


ผู้บันทึกมีความหวังว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยให้ความสำคัญกับความถูกต้องทางวิชาการ ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพของเด็ก เยาวชน และคนไทยโดยรวม

 

 

 


สถานภาพล่าสุดของประเด็นนี้


 

เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมานี้

ผมมีโอกาสได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ คุณเมตตา อุทกะพันธุ์

ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

โดยมีประเด็นสำคัญได้แก่

การแจ้งให้ทางบริษัทฯ ทราบว่า หนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น ซึ่งเขียนโดย ทันตแพทย์สม สุจีรา

มีเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาด & คลาดเคลื่อน อย่างมาก

(หากพูดแรงๆ ก็คือ แม้การบิดเบือนข้อมูลต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ

แต่ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้างไปแล้ว

และเนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง

จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทักท้วงและทำให้ผู้ที่สนใจทั่วไปตระหนักในประเด็นนี้)

ทั้งนี้คุณเมตตาได้กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้ทักท้วง

เพราะในราว 1 ปีที่หนังสือเล่มนี้ออกมา ไม่มีใครแจ้งมาว่าหนังสือมีข้อผิดพลาด

คุณเมตตายังกล่าวด้วยว่า บ.อมรินทร์ให้ความสำคัญกับความถูกต้องทางวิชาการเป็นอย่างสูง

 

ผมจึงเรียนคุณเมตตาไปว่า ในช่วงที่หนังสือเล่มนี้พิมพ์ซ้ำได้สัก 3-4 ครั้งนั้น

ผมได้รับการติดต่อจากบรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ (คุณเทวัญกานต์ มุ่งปั่นกลาง)

ทั้งทางโทรศัพท์และทางจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการ

เพื่อให้ทำการแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ

แต่ในขณะนั้น ผมได้แจ้งบรรณาธิการไปว่า หนังสือเล่มนี้มีข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาสตร์ผิดพลาดมาก

หากจะมีการแปล จำเป็นต้องแก้ไขความผิดพลาดเสียก่อน

มิฉะนั้น ทั้งผู้เขียน & สำนักพิมพ์ จะสูญเสียความน่าเชื่อถือในระดับสากล

ทั้งนี้ ได้ย้ำเตือนบรรณาธิการไปอย่างน้อย 2 ครั้ง

 

ต่อมา ผมได้มีโอกาสสนทนากับผู้เขียน (คือ ทพ.สม) ทางโทรศัพท์

และได้บอกไปว่า มีประเด็นที่ต้องแก้ไขหลายประเด็น และอยากใช้การพบกันเพื่อพูดคุยชี้แจง

แต่ ทพ. สม บอกว่าให้ผมแจ้งไปว่าประเด็นใดบ้าง เขาจะได้ไปเตรียมตัวมาก่อน...


ราว 1 ปีผ่านไป ประเด็นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง

ผมจึงขอนำตัวอย่างความผิดพลาด (บางส่วน) ในหนังสือเล่มนี้มาบันทึกไว้เป็นหล้กฐาน

เพื่อใช้ในการเรียนรู้ & อ้างอิงได้ต่อไป


 


1) ตัวอย่างความผิดพลาดที่ตรงไปตรงมา (ซึ่งแก้ไขได้ไม่ยากนัก)

ในกรณีที่เป็นข้อเท็จจริงในเชิงประวัติศาสตร์ (เช่น ใครค้นพบอะไร) หรือแนวคิดพื้นฐานที่มีนิยามชัดเจน ก็มักจะสามารถพบเห็นความคลาดเคลื่อนได้ง่าย ทำให้ชี้แจงและแก้ไขได้ไม่ลำบากนัก เช่น

1-A) “มักซ์ พลังค์ (Max Planck) เป็นผู้ค้นพบทฤษฎีควอนตัมและเทอร์โมไดนามิก” (หน้า 16):

ข้อชี้แจง :

ที่ถูกต้องคือ มักซ์ พลังค์ เป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์ที่นำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีควอนตัมยุคเก่า (the old quantum theory)

สำหรับเทอร์โมไดนามิกส์ (thermodynamics) หรือวิชาอุณหพลศาสตร์ นั้นมีพัฒนาการมายาวตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1650 แล้ว โดยต่อมามีทั้งนักทฤษฎีและนักทดลองจำนวนมากช่วยกันเติมเต็มความรู้ในแง่มุมต่างๆ ส่วนชื่อ thermodynamics เสนอโดย เจมส์ จูล (James Joule) ในปี ค.ศ. 1858

 
มักซ์ พลังค์

 

 


 

1-B) “...ไอน์สไตน์ได้เรียกควอนตัมของแสงว่าโฟตอน..” (หน้า 22) :

ข้อชี้แจง :

ผู้ที่เสนอคำว่า โฟตอน (photon) ได้แก่ นักเคมีเชิงฟิสิกส์ (physical chemist) ชื่อ กิลเบิร์ต เอ็น ลิวอิส (Gilbert N. Lewis) โดยเสนอในปี ค.ศ. 1926

ส่วนไอน์สไตน์นั้นใช้คำว่า  das Lichtquant ในภาษาเยอรมัน ซึ่งแปลว่า ควอนตัมของแสง (light quantum)


กิลเบิร์ต เอ็น ลิวอิส

 



1-C) “...เมื่อมีการค้นพบ Chaos Theory (ทฤษฎีแห่งความยุ่งเหยิง) จากทฤษฎีนี้ทำให้เกิดปัญญาว่า โมเลกุลของน้ำมีสภาพของความสับสนอลหม่านยุ่งเหยิงเสียดสีกันอยู่ภายในตลอดเวลา” (หน้า 128):
 
ข้อชี้แจง :

ทฤษฎีที่พูดถึงโมเลกุลของน้ำซึ่งสั่นไหวและเคลื่อนที่เสียดสีกันอยู่ตลอดเวลานั้น ได้แก่ กลศาสตร์เชิงสถิติ (statistical mechanics)


ส่วนทฤษฎีเคออสนั้นแม้ชื่อจะแปลว่า โกลาหล หรือยุ่งเหยิงสับสน (chaos) แต่ไม่ได้มีความหมายในทางวิทยาศาสตร์อย่างที่กล่าวอ้างถึง

 

 



1-D)  “ทางเดียวที่จะพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพด้วยตัวเองได้คือการพิสูจน์ทางจิต…เมื่อจิตละเอียดถึงจุดจะพบกับความมหัศจรรย์ของเวลาตามทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์” (หน้า 174) :

ข้อชี้แจง :

การตรวจสอบผลทำนายจากทฤษฎีสัมพัทธภาพในเรื่องเวลานั้น มีการทดลองทางกายภาพหลายการทดลองและได้ทำมานานแล้ว เช่น การตรวจวัดอายุขัยของอนุภาคต่างๆ และการใช้ผลการคำนวณเวลาในระบบบอกพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS, Global Positioning System) เป็นต้น ข้อความดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง

สำหรับข้อกล่าวอ้างที่ว่า เรื่องเกี่ยวกับเวลาในทฤษฎีสัมพัทธภาพสามารถพิสูจน์ได้ด้วยจิตได้นั้น คงต้องตรวจสอบก่อนว่า นิยามของคำว่า “เวลา” ที่ผู้ที่กล่าวอ้างมีประสบการณ์ตรงทางจิตนั้นตรงกับนิยามของ “เวลา” ที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพกล่าวถึงหรือไม่


ภาพจากหนังสือ An Illustrated A Brief History of Time โดย Stephen Hawking

เพราะแม้แต่ในทางวิทยาศาสตร์เอง เวลาก็มีได้หลายแบบแล้วแต่ว่าจะอิงกับทิศทางของอะไร เช่น อิงกับทิศทางของปรากฏการณ์ตามกฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์ (thermodynamic arrow) อิงกับทิศทางการขยายตัวของเอกภพ (cosmological arrow) หรือ อิงกับความรู้สึกหรือการรับรู้ในทางจิตวิทยาว่าเวลาผ่านไปอย่างไร  (psychological arrow) เป็นต้น

 

 




2) ตัวอย่างความผิดพลาดที่มีประเด็นซับซ้อน (ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการแก้ไขมาก)
          
แนวคิด สมมติฐาน ทฤษฎี หรือผลการสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างมีความซับซ้อน และจำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานที่เกี่ยวข้องมาก่อนเป็นอย่างดี หากผู้ที่นำไปกล่าวถึงไม่เข้าใจเงื่อนไขการใช้งานโดยแจ่มแจ้ง ก็ย่อมจะสุ่มเสี่ยงต่อการผิดพลาดได้โดยง่าย

การแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวต้องใช้ความพยามยามและเวลาอย่างมากทั้งในส่วนของผู้ที่อธิบายและผู้ที่ต้องทำความเข้าใจ

ในตัวอย่างต่อไปนี้จะให้คำอธิบายไว้เพียงเบื้องต้น เพราะประเด็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้องมีความซับซ้อนเกินกว่าจะนำมาขยายความได้ทั้งหมดไว้ในบทความนี้ ทั้งนี้ ผู้เขียนจะหาโอกาสขยายความในโอกาสต่อไป หากมีผู้สนใจ

 

 


 

2-A) “ทุกๆ สิ่งในจักรวาลหลังการระเบิดครั้งใหญ่ (บิ๊กแบง) จะมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะที่ยุ่งเหยิงมากขึ้นเสมอ” (หน้า 73-74):

ข้อชี้แจงเบื้องต้น :

ข้อความนี้ถูกบิดเบือนมาจากกฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์ที่ว่า

“เอนโทรปี (entropy) ของระบบโดดเดี่ยว (isolated system) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นหรือคงที่”

โดยระบบโดดเดี่ยวในทางเทอร์โมไดนามิกส์หมายถึง ระบบที่ไม่แลกเปลี่ยนทั้งมวลสารและพลังงานกับสิ่งแวดล้อม

ในทางเทอร์โมไดนามิกส์ ระบบเปิด (open system) ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนมวลสารและพลังงานกับสิ่งแวดล้อมได้สามารถมีความเป็นระเบียบเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ 
     



2-B) “พระพุทธองค์ตรัสว่า “อัตตา (ตัวตน) ของคนเรานั้นไม่เคยมีอยู่จริง สรรพสิ่งในโลกเป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ (อิทัปปัจยตา)” ไอน์สไตน์ยืนยันซ้ำพร้อมสูตรทางวิทยาศาสตร์ว่า “ยิ่งเรียนรู้ความลับของธรรมชาติ ยิ่งทำให้มนุษย์เราต้องถ่อมตนและสันโดษ สรรพสิ่งสัมพัทธ์กันไปหมด”....” (หน้า 162) :

ข้อชี้แจงเบื้องต้น :

ประเด็นนี้น่าสนใจทีเดียว เพราะชื่อทฤษฎีสัมพัทธภาพ (theory of relativity) นั้นชวนให้เข้าใจผิดพลาดไปได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัมพัทธ์ (คือแล้วแต่ว่าสังเกตเทียบกับใครหรืออะไร) แต่จริงๆ แล้วนั้น ในทฤษฎีนี้ มีแนวคิดหรือปริมาณที่ตรงกันข้ามกับสภาพสัมพัทธ์อยู่ด้วย นั่นคือ ความไม่แปรเปลี่ยน (invariance)

ที่น่าสนใจก็คือ สมมติฐาน 2 ข้อที่ใช้ในการพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (special relativity) ก็คือ ความไม่แปรเปลี่ยนนี้  ผู้ที่สนใจโปรดดูแหล่งข้อมูลอ้างอิง [แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์]



ตัวอย่างความเข้าใจที่ผิดพลาดที่ยกมานี้
หากปรากฏในหนังสือ หรือแหล่งข้อมูลใดเป็นจำนวนมาก
ก็ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า เหตุใดผู้ที่ให้ข้อมูลจึงแสดงข้อมูลและทัศนะที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แม้แต่ข้อมูลบางอย่างที่ตรวจสอบได้ไม่ยาก

สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ เช่น

  • หนังสือหรือเอกสารที่ใช้อ้างอิงส่วนใหญ่ไม่ใช่หนังสือแนววิชาการที่เน้นความแม่นยำ แต่เป็นหนังสือแนววิทยาศาสตร์อ่านสนุกสำหรับทั่วไป (popular science) ซึ่งทำให้เรื่องราวต่างๆ ง่าย (simplified) แต่หากง่ายจนเกินไป (over-simplified) ก็ย่อมทำให้ผู้อ่านที่ขาดพื้นฐานที่ดีเพียงพอเข้าใจไขว้เขวไปได้โดยง่าย
  • แม้หนังสือหรือเอกสารที่ใช้ในการอ้างอิงจะมีความถูกต้องในทางวิชาการ แต่หากผู้ใช้ขาดพื้นฐานที่ดีเพียงพอ (โดยเฉพาะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ซึ่งมีความจำเป็นพอสมควรสำหรับวิชาฟิสิกส์) ก็อาจจะทำให้ผู้ที่นำข้อมูลไปใช้มีแนวโน้มที่จะเลือกนำข้อความบางอย่างมาสนับสนุนความเชื่อของตน โดยละเลยบริบท (context) ในการใช้งานข้อความที่ยกมานั้น ลักษณะเช่นนี้ก็ย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดได้เช่นกัน

 



แหล่งข้อมูลอ้างอิง

[Chaos-1] James Gleick, Chaos : Making a New Science (ISBN  0-14009-250-1)
[Chaos-2] Ian Steward, Does God Play Dice? The Mathematics of Chaos (ISBN 0-631-16847-8)
[เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว] บัญชา ธนบุญสมบัติ, , Know How & Know Why : กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง, สนพ. สารคดี, หน้า 128-137 เรื่อง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หมายความว่าอย่างไร
[แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์ ] บัญชา ธนบุญสมบัติ, แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์, บ. ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

 


 


ทีมงานวิชาการ.คอม ได้ให้ความช่วยเหลือในการเผยแพร่บันทึกนี้

โดยนำไป โพสต์ไว้ที่นี่

หากใครสนใจ comments ที่ผู้อ่านแสดงไว้ในเว็บของวิชาการ.คอม

ก็ตามไปอ่านได้ครับ

 



ข้อคิดเห็นจากคนที่เคยอ่าน


 

บันทึกความรู้สึก (อังคาร 5 มกราคม 2552) :

         หลังจากเปิดประเด็นนี้มาได้กว่า 1 ปี ทำให้มั่นใจว่า....

         มีคนไทยที่นอกจากจะ "ไม่รักความรู้" ยังชอบ (เผลอ?) ปรักปรำคนที่มาทักท้วงเพื่อความถูกต้อง ซ้ำร้ายยัง(อวดดี)เข้าข้างคนที่(อ้างว่า)ปฏิบัติธรรมจนมีความคิดผิดเพี้ยนวิปริตอีกด้วย

         น่าเป็นห่วงลูกหลานของเราจริงๆ เพราะสังคมแบบนี้ หากจะแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะต้องใช้เวลากว่า 1 รุ่นคน....


หมายเลขบันทึก: 192799เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2008 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (219)
  • มีหลายประเด็นจริงๆๆด้วย
  • เอแล้วผู้เขียน
  • ไม่ปรับแก้ไขหรือครับพี่ชิว
  • มาทักทายพี่ก่อน
  • สบายดีไหมครับ

สวัสดีครับพี่ชิว

แปลกจังที่เขาเพิ่งได้รับแจ้งเรื่องความคลาดเคลื่อน แต่ผมว่า ถึงจะแก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีประเด็นใหญ่เกี่ยวกับการเปรียบเทียบกับพุทธศาสนาอีก

เคยมีหนังสือของ T. Lobsang Rampa เล่าเรื่องศาสนาพุทธในทิเบตไว้อย่างน่าอ่าน มีคนแปลเป็นภาษาไทยอย่างน้อยสองคน ผมไปปรึกษาผู้รู้ด้านพุทธศาสนาของทิเบต ท่านว่าเรื่องนี้เป็นเพียงนิยาย หลังจากนั้นก็ได้อ่านบทความยืนยันเรื่องที่ท่านว่าแต่นิยายเรื่องนี้ก็ตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นสิบครั้ง

จะว่าไปก็อ่านสนุกดีครับ

สวัสดีครับ

      อ.แอ๊ด : นี่แค่เสี้ยวเล็กๆ ครับ พี่เจอที่ผิดเกือบทุกหน้า ทำให้สงสัยเหมือนกันว่า บางที....

      อ.หมู : พี่แจ้งทางอัมรินทร์ไปว่า คนไทยไม่มีวัฒนธรรมที่ทำให้คนรู้จักกันเสียหน้าครับ :-P ทพ.สม ไล่ไปไล่มาเป็นรุ่นน้องพี่ที่ รร.เตรียม 2 ปีอีกต่างหาก...เฮ้อ

      คุณ พี่หนุ่มคนตานี : ด้วยความยินดีครับ

 

  • สงสัยผิดมากเลย
  • สรุปว่า
  • ทพ.สม ไล่ไปไล่มาเป็นรุ่นน้องพี่ที่ รร.เตรียม 2 ปีอีกต่างหาก...เฮ้อๆๆๆๆ
  • มาเฮ้อๆๆๆๆด้วยคน ฮ่าๆๆๆ

อย่างนี้ก็น่าดีนะครับ คุยกันง่าย

ชาวพุทธแท้ ไม่ก้าวร้าวอยู่แล้ว ;) แต่อาจจะหัวแข็ง อิๆ

ประเด็นนี้อาจจุดชนวนให้คนหันไปอ่านหนังสือเล่มนี้มากขึ้นนะครับ ว่า เอ.. คลาดเคลื่อนตรงไหนหว่า...

  • เห็นในร้านหนังสือค่ะ แต่จับแล้ววาง
  • เพราะช่วงนี้อ่านเป็นเล่มๆไม่ไหว
  • ต้องอ่านเป็นประเด็นเล็กๆน้อยๆ
  • ขอบคุณที่ทำให้ได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นค่ะ

สวัสดีครับ

      อ.แอ๊ด ขจิต ฝอยทอง & อ.หมู ธ.วั ช ชั ย : ผิดเยอะจริงๆ ครับ และด้วยความที่ขายดีมากนี่ ทำให้สิ่งผิดๆ กระจายออกไปในวงกว้างมากแล้ว พี่เลยต้องไปทักท้วง บ.อัมรินทร์ ซะหน่อย

      เรื่องคุยกับผู้เขียนนี่ มีความเสี่ยงเยอะครับ ต้องระวังเรื่อง ego ของคนอยู่เหมือนกัน 

      เห็นท่านผู้บริหารบอกว่า จะให้นักฟิสิกส์มาช่วยตรวจ ยังหวั่นๆ อยู่ว่า นักฟิสิกส์ก็มีหลายแขนง ถ้าจะตรวจได้ต้องรู้ theoretical physics โดยเฉพาะ spacetime physics ดีๆ ครับ

      คุณ naree suwan : ดีแล้วครับ แต่ถ้าได้อ่าน ก็คิดว่าอ่านเพลินๆ เพราะข้อมูลวิทย์นี่จับแพะชนแกะมั่วไปหมด แบบเนียนๆ

มั่วแบบเนียน...เฮ่อๆๆๆ  ขอมาแอบหัวเราะด้วยคนนะครับอาจารย์บัญชา ธนบุญสมบัติ

อ่านๆ ไป ก็นึกถึงนิยายของ (.........) ซึ่งชอบนำเอาคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิปัสสนามาอธิบาย... อาตมาอ่านแล้วก็รู้สึกเบื่อทุกครั้ง จึงนำเรื่องนี้ไปปรารภกับเพื่อนสหธัมมิกรูปหนึ่งซึ่งจัดเป็นพวกหนอนหนังสือ เค้าว่า...

  • อย่างนั้นแหละ ! อะไรที่เราอ่านแล้ว เรารู้สึกว่ารู้มากกว่าคนเขียน เราจะรู้สึกเบื่อ...

เจริญพร

 

 

สวสัดีค่ะ ขออนุญาตแสดงความเห็น (ส่วนตัว) ค่ะ

  • กรณีที่หนังสือมีข้อมูลคลาดเคลื่อน มองในแง่ผู้ให้บริการ (ห้องสมุด) ควรต้องดึงหนังสือกลับออกจากชั้นเพื่อป้องกันและปกป้องการรับรู้ของผู้ใช้บริการด้วยนะคะ (หมดสมัยที่จะปล่อยให้ผู้อ่านพิจารณาโดยใช้วิจารณญาณของตนเองแล้วมั้ยคะ)
  • อย่างน้อยอาจมีผู้ใช้ที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง ถึงศึกษาตำราหลายเล่มหลายผู้เขียน ก็อาจยึดเอากรณีหนังสือได้รับการต้อนรับด้วยการพิมพ์ซ้ำหลายๆ ครั้ง น่าห่วงเหมือนไม่น้อยค่ะ
  • ถ้าห้องสมุดทราบความเคลื่อนไหวเช่นนี้ ต้องมาคุยกันแล้วมีวิธีการแก้ปัญหาเพื่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ แล้วร้านหนังสือมิต้องพิจารณาการเรียกคืนสินค้า เหมือนยาบางตัวที่ไม่ผ่าน อย. ...โอ้ อาจไปกันใหญ่เลยค่ะ
  • และจะทำอย่างไรกับอีกหลายเล่มในมือผู้บริโภค...ทิ้งคำถามค่ะ ^^
  • สวัสดีครับพี่ชิว
  • [เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว] บัญชา ธนบุญสมบัติ, , Know How & Know Why : กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง, สนพ. สารคดี, หน้า 128-137 เรื่อง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หมายความว่าอย่างไร
  • อยากอ่าน ทฤษฎีเฉาส์ เอ้ย ทฤษฏีเคออส (Chaos Theory)  ที่พี่เขียนไว้ 
  • มีรุ่นพี่ที่เรียนโท ด้านรัฐศาสตร์แนะนำให้อ่าน Chaos Theory ผมก็เลยลองหามาอ่าน และลองจับแพะชนแกะ เขียนสรุป ย่อๆ ไว้เป็นบทความเรื่อง Introduction to Chaos Theory ครับ ดำหนิดำเนียน (ติเตียน) ได้นะครับ
  • ปล. หนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น ซึ่งเขียนโดย ทันตแพทย์สม สุจีรา ผมอ่านจบแล้วครับ
  • ส่วนตัวคิดว่าถ้ามีการแก้ไข ก็น่าจะทำให้หนังสือมีคุณค่าขึ้นมาอีกเยอะเลยนะครับ 
  • การร่วมมือกันระหว่าง สองผู้รู้ เพื่อเขียนหนังสือ นี่ทำให้นึกถึง เสถียรโกเศศ+นาคประทีป นะครับ :)

กราบนมัสการหลวงพี่ BM.chaiwut ครับ

        สำหรับกรณีที่กล่าวถึงในบันทึกนี้นั้น มีเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้เขียนอาจจะฝึกจิตไปผิดทิศผิดทาง จนทำให้ไม่สามารถจับประเด็นต่างๆ จากเอกสารอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง แต่ด้วยความที่เป็นนักสื่อสารชั้นยอด ทำให้ "เลือก" เอาเฉพาะบางคำ บางข้อความ มาสนับสนุนความเชื่อที่ตนเองได้ปักธงเอาไว้แล้ว โดยละเลยบริบท (context) ที่ใช้งานได้ครับ

        คล้ายกับที่มีคนเคยตั้งข้อสงสัยว่า พุทธศาสนาสอนเรื่อง "อนัตตา" แต่เหตุไฉนจึงมีพุทธภาษิต "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" (ซึ่งฟังแล้วเหมือนมีตัวมีตน มีอัตตา) อะไรทำนองนั้นครับ

        กราบขอบพระคุณหลวงพี่ฯ อีกครั้งที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ 

สวัสดีครับ

      คุณ สะ-มะ-นึก : หัวเราะนี่ต้องแอบด้วยหรือครับ 5555

      คุณ ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี : ผมคิดว่า ต้องสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ได้ครับ เพราะจะเป็นทั้งภูมิคุ้มกันและเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารทที่ดี

            กรณีหนังสือพิมพ์ซ้ำหลายๆ ครั้งนี่ต้องระวังครับ ผมเคยเจอย่างน้อย 2 กรณี

            - กรณีแรกเป็นตำราเรียนของเด็กอาชีวะครับ พิมพ์ซ้ำกว่า 10 ครั้ง ได้รางวัล "หนังสือยอดนิยม"...แต่จากความรู้และประสบการณ์ของผม ตำราเล่มนี้เขียนผิดๆ เพี้ยนๆ แทบทุกหน้า เช่น การใช้ศัพท์ นิยาม ความรัดกุมของภาษา การลำดับความ ฯลฯ (การที่ได้พิมพ์หลายครั้งเป็นเพราะ ผู้สอนใช้เป็นตำราเรียนใน course ของตนเอง!)

            - อีกกรณีหนึ่งก็เล่มที่กล่าวถึงนี้ครับ : พิมพ์ไปกว่า 30 ครั้ง เพราะสังคมไทย "อ่อน" วิทยาศาสตร์ จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้เขียนรู้จริง หรือ มั่วนิ่ม และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ดึงเอาพระพุทธเจ้าลงมา ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่า นี่! ถ้าเขาไม่มั่นใจ ก็คงไม่อ้างถึงพระพุทธองค์หรอก

               แต่ลืมคิดไปว่าพระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่อง กาลามสูตร เตือนเอาไว้นานแล้ว....

        กวิน : เดี๋ยวพี่ลองไปค้นไฟล์ดู ไม่แน่ใจว่าจะนำมาโพสต์ไว้เลย หรือจัดหน้าให้อ่านง่ายๆ ดี รอเดี๋ยวนะครับ

 

สวัสดีค่ะพี่ชิว

ตามมาอ่านบทวิเคราะห์ด้วยคนค่ะ ยังไม่เคยได้อ่านหนังสือเล่มนี้เลยค่ะ แต่รู้ว่าคนพูดถึงเยอะมาก ขนาดในสังคม g2k นี้ก็พูดกันบ่อย ..นี่ขนาดฟังพี่ชิวอธิบายยังคิดตามและงงๆ เลยค่ะ.. ถ้าไม่แตกฉานจริงๆ ก็ยากที่จะเปรียบเทียบนะคะ..คนละมุมมองจริงๆค่ะ..หรือว่าคนที่รู้เข้าใจวิทยาศาสตร์แตกฉานจริงๆนั้นมีน้อยมากในประเทศ..หรืออาจเป็นที่คนที่เค๊ารู้จริงทั้งสองด้าน..ไม่ได้มาอ่านหนังสือเล่มนี้...

ถ้ามีคนเตือนว่าสิ่งที่เราเขียนนั้นไม่ถูก..ก็ควรน่าที่จะรีบแก้ไขนะคะ..เพราะเป็นความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง..นอกจาก..จะไม่อยากรับผิดชอบต่อสังคม..เพราะหนังสือติดตลาดแล้ว..จะเสียผลประโยชน์ทุกฝ่ายหรือเปล่าคะ...หรือเค๊าคิดว่าเป็นเพียงนิยายอ่านสนุกๆมังคะ ..อุ๊บส์

  • แวะมาเรียนรู้ครับ
  • ขอบคุณครับ

มารับทราบข้อมูลค่ะ ...เป็นหนังสือแนะนำในวงกว้างที่เกือบจะซื้อมาอยู่ครั้งแล้วละค่ะ ...เพราะอย่างอ่านเชิงเปรียบเทียบพุทธ-วิทย์อย่างนี้บ้าง ...แต่ความที่กลัวว่าจะหนัก (สมอง) เกินไป ก็เลยยังไม่ได้ซื้อ-หา มาอ่านซะที ...ก็รอดตัวไป

เล่มนี้เป็นหนังสือขายดีไปแล้วซะด้วยซิคะ ....ถ้าเกิดการแก้ไขขึ้นมา เห็นที่จะเป็นเรื่องใหญ่เชียวล่ะ ....เคสนี้ต้องติดตามต่อไปซินะคะ

ประเด็นนี้น่าสนใจทีเดียวครับ

สวัสดีครับ น้องอุ๊  a l i n_x a n a =) 

        การที่มีคนพูดถึงเยอะมาก และการที่หนังสือเล่มนี้ขายดีมาก (พิมพ์ไปแล้วกว่า 35 ครั้ง) ย่อมหมายถึงว่า ประเด็นทำนองนี้มีคนไทยสนใจมาก...แต่...ไม่สามารถสรุปได้ว่าหนังสือมีคุณภาพในแง่ที่ว่า ให้ข้อมูลและแสดงทัศนะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการครับ

        ในประเทศไทยนี่ พี่เชื่อว่ามีผู้ที่สามารถอ่านอย่างเข้าใจจริงๆ ได้ครับ แต่ประเด็นก็คือ ผู้ที่สามารถเช่นนี่... 

         1) ได้อ่านแล้วหรือยัง 
         2) ได้อ่านแล้ว และแม้จะรู้ว่าหนังสือมีข้อบกพร่องมากมาย แต่จะมีเวลาประมวลความคิด เพื่อแจ้งไปยังสำนักพิมพ์ และผู้เขียนหรือไม่
         3) ได้อ่านแล้ว และอาจพอมีเวลา แต่...ภายใต้วัฒนธรรมไทยๆ นี่ เราไม่ค่อยแสดงการวิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ ด้วยเกรงว่าผู้เขียนจะเสียหน้า และจะเป็นการไปขัดประโยชน์ของสำนักพิมพ์ครับ

        เรื่องนี้พี่เองคิดอยู่นานทีเดียว แต่จริงๆ แล้วก็ถือว่าได้แจ้งผู้เขียนและบรรณาธิการไปตั้งแต่ปีก่อนแล้ว แต่พอมาถึงตอนนี้ คิดว่าการเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาดสมควรจะชะลอหรือหยุดได้แล้วครับ

        เอาไว้จะหาโอกาสขยายความแบบค่อยเป็นค่อยไปครับ ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นนะครับ ^__^

 

 

สวัสดีครับ  ^__^

      คุณ อำนวย สุดสวาสดิ์ : หากมีคำถาม หรือข้อคิดเห็นใดๆ ก็ยินดีนะครับ

      คุณ นัทธ์ : ผมกำลังติดตามอยู่ครับว่า บริษัทฯ จะจัดการอย่างมืออาชีพอย่างไร ให้ได้ทั้งเงิน (ของขายได้) ได้ทั้งกล่อง (ข้อมูลได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง)

      ที่คิดอย่างนี้ เพราะผู้บริหารสูงสุด (คุณเมตตา) ได้รับทราบเรื่องแล้วนั่นเอง

      คุณ panik : ขอบคุณครับ ลองมาดูต่อกันดีกว่าว่า เรื่องนี้บริษัท และสังคมไทยจะทำอย่างไร

 

สวัสดีครับ อาจารย์ครับ

 

ผมเห็นที่ร้านเมื่อหลายเดือนก่อนก็คว้ามาสองเล่ม ส่งให้น้อง นก เชียงรายเล่มหนึ่ง เอาไว้อ่านเล่มหนึ่ง ชอบเพราะชอบอ่านหนังสือทำนองนี้ ตั้งแต่ ฟริจอบ คับปรา ที่เขียน เต๋าออฟ ฟิสิกส์  อ่านรวดเดียวจบยันสว่างเลย สมัยโน้นนะครับ

มาเล่มนี้ก็อ่าน แต่ไม่ทราบว่ามีข้อบกพร่อง เพราะผมไม่เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่อาจารย์อธิบายมานั้นครับ

เอ ทางสำนักพิมพ์ จะทำอย่างไรต่อไปในฐานะผู้รับผิดชอบ.... เอาไปแก้ไขแล้วพิมพ์ใหม่

รถญี่ปุ่นบกพร่อง เมื่อพบเขาเรียกคืนหมดเป็นหมื่นๆ แสนๆคันเพื่อแก้ไขใหม่

หนังสือสำคัญหากผิดจะเรียกคืนแล้วแก้ไข อย่างที่ควรจะรับผิดชอบไหม...?

หนังสือเป็นอาหารสมอง หากหนังสือผิด สมองก็เรียนรู้ จดจำในสิ่งที่ผิด อันตรายนะครับ...? หากเรื่องเหล่านี้มีผลต่อการต่อยอดความรู้ของคนรุ่นต่อไป มิผิดพลาดไปหมดรึเปล่า.... โอยไม่อยากคิดว่าผลกระทบจะมากมายแค่ไหนในระยะยาว หากไม่แก้ไขและปรับให้ถูกต้อง

บ้านเรามีกฏหมายในส่วนผู้บริโภตของเรื่องเหล่านรี้หรือเปล่าหนอ

สำนักพิมพ์ต้องรับผิดชอบครับ...???

ขอบคุณครับอาจารย์ครับ

  • ธุค่ะ..

หลายๆ ครั้งที่ต้อมมองหาหนังสือเล่มนี้  แต่แล้วก็จับวางๆ ไม่ได้ซื้อเสียที   อยากอ่านก็อยากอ่าน แต่กลัวอ่านแล้วจะรู้สึกว่าหนักเกินไป   ตกลงก็เลยยังไม่ได้อ่านเสียที

 

สวัสดีครับ พี่ บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

        หนังสือ The Tao of Physics นี่ก็เป็นหนังสือเล่มโปรดของผมเหมือนกันครับ ตอนนั้นจำได้ว่าอยู่สักปี 4 เรียนฟิสิกส์ด้วย ก็เลยอ่านแบบมันส์เอามั่กๆ (รวดเดียวจบเหมือนกันเลย ^__^)

        แต่ตอนนี้ แว่บๆ กลับไปดูอีกที...อ้าว! Fritjof Capra นี่บางทีก็ "บิด" ข้อมูลเพื่อให้ดูสอดคล้องเหมือนกันนะครับ อย่างเช่น แผนภาพ "โป๊ยกัก" (สะกดถูก?) ที่เป็นแผนภาพ 8 เหลี่ยมของเต๋านั่น ก็โดนสลับที่ซะใหม่ เพื่อให้ดูคล้ายกับแผนภาพของทางด้านฟิสิกส์ของอนุภาค (particle physics)

        ก็เลยเสียศรัทธาไปเล็กน้อย...

        สำหรับกรณี "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" นี่ หากประกาศตัวตั้งแต่ต้นว่าเป็นนิยาย ก็คงจะไม่เป็นไร เพราะว่าจินตนาการคนเขียนนี่เยอะดีเหมือนกัน

        แต่นี่เล่นไปยกข้อความในหนังสือเล่มนั้นที เล่มนี้ที โดยไม่รู้จริง แถมยังมั่ว (แบบไม่รู้ตัว) อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า wild speculation (การคาดเดาตามอำเภอใจ) ย่อมทำให้ผู้อ่านที่ไม่รู้เท่าทัน เข้าใจไปว่า ผู้เขียนมั่นใจมาก

        อีกอย่างคือ คำนิยมจาก อาจารย์ระวี ภาวิไล ด้วยครับ อันนี้ต้องขอวิจารณ์ด้วยความเคารพว่า หากท่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด และพิจารณาโดยแยบคายแล้วไซร้ ท่านก็คงจะไม่เขียนคำนิยมในลักษณะสนับสนุนออกมาเป็นแน่แท้

        ตามความเข้าใจของผมนั้น พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับความจริง หรือ สัจจะ อย่างสูงครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ ^__^

ปล. ผมกำลังจับตาดูต่อไปว่า สำนักพิมพ์ที่ตั้งมาตรฐานของตนเองเอาไว้สูงมากเช่นนี้ จะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพื่อรักษาคุณงามความดีที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องครับ

สวัสดีครับ น้องต้อม เนปาลี

       หนังสือเล่มนี้หากมองในแง่การนำเสนอแล้ว ไม่หนักหรอกครับ เพราะคนเขียน "พลิ้วลื่นไหล" ได้ดีทีเดียวครับ

ได้รับหนังสือเล่มนี้ในวันเกิดจากเจ้านาย ก็อ่านเกือบจะเชื่อตามหนังสือแล้ว เพราะอ่อนวิทยาศาสตร์ สงสัยต้องตั้งสติอ่านใหม่

เกือยซื้อแล้วครับ หนังสือเรื่องนี้ เพราะน่าจะต่อจาก Secret, และ The Key คือเป็นหนังสือขายดีทั้ง 3 เล่ม แต่เพื่อสนับสนุนความเชื่อ... โดย นำคำสอนของ พระพุทธเจ้ามาเปรียบเทียบกับ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ จึงรู้สึกว่า เกินไปกับหนังสือประเภทนี้ เพราะ THE Key ทั้ง 2 เล่ม ก็เพียงพอแล้วครับ

สวัสดีครับ

       คุณคนผ่านมา : ถ้าอ่านแบบเพลินๆ ดูจินตนาการของผู้เขียน ก็สนุกดีเหมือนกัน ส่วนข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาสตร์นี่ ถ้าสนใจก็ต้องไปหาหนังสืออ่านสนุกๆ แนววิทยาศาสตร์ที่เขียนได้ถูกต้องกว่านี้ครับ

        คุณ Naret : หนังสือแนวนี้ส่วนใหญ่เป็นการแสดงทัศนะและประสบการณ์ชองผู้เขียนน่ะครับ แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ แล้ว ต้องแสดงทัศนะของวิทยาศาสตร์กระแสหลัก (mainstream science) โดยอาจเสริมทัศนะกระแสรองลงไปด้วย

        แต่ถ้าพูดถึงวิทยาศาสตร์ด้วยทัศนะของผู้เขียนแทบจะล้วนๆ แล้ว ถ้าผู้เขียนไม่มีพื้นฐานที่ดีเพียงพอ ก็จะมีข้อมูลและข้อความที่ผิดเพี้ยนได้มากทีเดียวครับ

 

แปลกที่คนไม่ค่อยใช้หลัก กาลามสูตร

ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาครับ ก็เป็นแค่หนังสือเล่มหนึ่งในล้านๆเล่มในโลก

คนที่อ่านแล้วเชื่อ พอได้ข้อมูลใหม่ก็จะเปลี่ยนความเชื่อไปเอง

แต่ก็ดีที่ มีคนเขียนแย้ง แต่อย่าไปเป็นทุกข์กับมันละกัน

ปฏิจสมุปบาท นิพพานที่นี่เดี๋ยวนี้

2-A) “ทุกๆ สิ่งในจักรวาลหลังการระเบิดครั้งใหญ่ (บิ๊กแบง) จะมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะที่ยุ่งเหยิงมากขึ้นเสมอ”

ข้อความนี้ ดร.บัญชา ไม่น่าตีความว่าผิด หรือคลาดเคลื่อน

เพราะ ใช่คำว่าแนวโน้ม ถูกต้องแล้ว

การที่มันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

แปลว่า มันเพิ่มๆลดๆ ได้ รอบๆแนวโน้ม

หนูอ่านแล้วที่ห้องสมุด ร.ร แปลกๆอย่างไงไม่รู้ เรียนถามด.รบัญชา ธนบุญสมบัติ

ให้ช่วยแนะนำหนังสือเกี่ยวฟิสิกกส์หน่อย อยากรู้พวกทฤษฏีต่างๆของฟิสิกส์แต่ไม่ใช้แบบแบบเรียนกลัวเจอหนังสืออย่างนี้อีก ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

สวัสดีครับ ทุกๆ ท่าน

        คุณ wacky (ข้อคิดเห็น #28) : ขอบคุณมากๆ เลยครับสำหรับคำแนะนำ และข้อคิดเห็น ^__^

        ยอมรับว่าเป็นทุกข์อยู่บ้าง ในแง่ที่ว่า ขนาดวิทยาศาสตร์ที่มีความแม่นยำ ยังโดนเอาไปตีความได้เละเทะขนาดนี้ (โดยคนที่มีสติปัญญาสูงพอสมควร!) แล้วเรื่องต่างๆ ที่ซับซ้อนกว่านี้จะเสี่ยงต่อการผิดพลาดขนาดไหน

        จริงด้วยครับที่ว่า "คนที่อ่านแล้วเชื่อ พอได้ข้อมูลใหม่ก็จะเปลี่ยนความเชื่อไปเอง" 
         นี่แหละที่ทำให้คิดได้ว่า คงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง โดยให้เป็นหลักฐานที่ใช้อ้างอิงได้ในอนาคต (ผมจะนำประเด็นนี้ไปตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี เดือนสิงหาคม 2551 ครับ)

        คุณ SB*star (ข้อคิดเห็นที่ #29) : ผมเห็นด้วยกับที่เขียนมาครับว่า 

        "การที่มันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แปลว่า มันเพิ่มๆลดๆ ได้ รอบๆแนวโน้ม"

        ข้อความนี้เป็นจริงครับ ในทางฟิสิกส์เรียกว่า fluctuation ซึ่งผมมักจะแปลว่า การกระเพื่อม (ของปริมาณอะไรก็ตามที่เรากำลังสนใจรอบๆ แนวโน้ม) <-- บอกตามตรงว่า ชอบคำว่า 'รอบๆ แนวโน้มของคุณ SB*star จัง

        อย่างไรก็ดีการกล่าวว่า "ทุกๆ สิ่งในจักรวาล....จะมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะยุ่งเหยิงขึ้นเสมอ" นั้นทำให้ไม่ละเอียดอ่อนต่อเงื่อนไขในทางเทอร์โมไดนามิกส์ครับ
        หากเราเชื่อว่า จักรวาลเป็นระบบโดดเดี่ยว (isolated system) แล้วปรับคำกล่าวนี้เป็น "จักรวาล (เมื่อมองโดยรวม) จะมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะยุ่งเหยิงขึ้นเสมอ" ผมคิดว่านักฟิสิกส์จะรับได้ทันที เพราะเป็นไปตามกฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์

        คำว่า "ทุกๆ สิ่งในจักรวาล" นั้น เมื่อคิดต่อไปอีก 1 ขั้นแล้ว ย่อมเป็นได้ทั้ง
        - ระบบโดดเดี่ยว (isolated system) : ไม่แลกเปลี่ยนทั้ง mass และ energy กับสิ่งแวดล้อม
        - ระบบปิด (closed system) : แลกเปลี่ยนเฉพาะพลังงาน ไม่แลกเปลี่ยนมวลสาร (ข้อนี้หากใครคิดลึกๆ ไปอีก 1 ขั้น ก็จะบอกว่าไม่น่าจะถูกต้อง เพราะถึงที่สุดแล้ว มวลสารสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ แต่ในทางปฏิบัติ เรามักจะนับปริมาณมวลสาร โดยนับจำนวนอนุภาคองค์ประกอบครับ)
        - ระบบเปิด (open system) : แลกเปลี่ยนได้ทั้งมวลสารและพลังงานกับสิ่งแวดล้อม

         เจ้าระบบเปิดนี่เองที่อาจมีเอนโทรปี (entropy) ลดลงได้ แต่ทำให้สิ่งแวดล้อมมีเอนโทรปีเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าครับ

 

สวัสดีครับ คุณ SB*star

        (เมื่อกี้เจ้าคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้มีอาการแปลกๆ ก็เลยรีบโพสต์ไปก่อน...มาต่อกันอีกนิดครับ)

        นี่เองครับที่ทำให้ผมทักท้วง เพราะหากปล่อยประโยคเหล่านี้ออกไป ก็จะทำให้เราไม่แยกแยะระหว่างระบบแบบต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนได้ว่า เอ๊ะ! แล้วอย่าง ชีวิต (life) ทำไมจึงเกิดขึ้นมาได้ คำตอบเบื้องต้นก็คือ ชีวิตเป็นระบบเปิดนั่นเองครับ

        ขอขอบคุณคุณ SB*star อีกครั้งนะครับที่แสดงความคิดเห็นมา การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยบรรยากาศฉันท์มิตรและให้เกียรติกันเช่นนี้ ไม่ว่าใครก็คงจะมีกำลังใจในการตอบคำถาม และต่อยอดความรู้ครับ ^__^

-----------------------------------------------------------------

สวัสดีครับ น้อง lhrr

        หนังสือทุกเล่มอ่านได้ครับ แต่ต้องอ่านด้วยความพินิจพิจารณา และโดยไม่ด่วนปักใจเชื่อ หรือไม่เชื่อ ในทันที (ในทางพุทธศาสนาจะกล่าวถึง หลักกาลามสูตรนั่นเอง)

       เกี่ยวกับที่ถามมาว่า "ให้ช่วยแนะนำหนังสือเกี่ยวฟิสิกส์หน่อย อยากรู้พวกทฤษฏีต่างๆของฟิสิกส์ แต่ไม่ใช้แบบแบบเรียน กลัวเจอหนังสืออย่างนี้อีก ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ"

       ผมขอตีความให้กว้างออกไปอีกนิดว่าเป็นหนังสือที่ใช้ความรู้ทางฟิสิกส์อธิบายก็แล้วกันครับ จะได้รวมการประยุกต์ทฤษฎีทางฟิสิกส์ไปด้วย

       บางเล่ม ผมไปหา link มาให้แล้ว ลองตามไปดูหน้าปกได้เลย

       1. หนังสือชุด "Introducing..." จัดพิมพ์โดย สนพ.มูลนิธิเด็ก
           หนังสือชุดนี้เป็นหนังสือแปลที่ดีมากครับ คือ คนทำอยากให้คนที่สนใจเรื่องหนึ่งๆ มีหนังสือเบื้องต้นที่ครอบคลุม และอ่านง่าย นำเสนอในรูปของการ์ตูน + เนื้อหา + คำพูด
           เล่มเกี่ยวกับฟิสิกส์ที่มีอยู่ในท้องตลาดตอนนี้ เช่น
           - Introducing Quantum Theory : กำเนิดควอนตัม
           - Introducing Stephen Hawking : สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง
           - Introducing Universe : ประวัติเอกภพ

       2. หนังสือของ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน 

           ท่านอาจารย์ ดร.สุทัศน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยม และนักเขียนฝีมือดีครับ ท่านมีความระมัดระวังในการให้ข้อมูล และมีศิลปะในการนำเสนอ
           ผมพบว่าหนังสือของท่านทุกเล่มมีความน่าเชื่อถือสูง และขอแนะนำให้อ่านได้เลย (หากจะมีข้อบกพร่อง ก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้ในหนังสือแทบทุกเล่ม)

       3. หนังสือฟิสิกส์เล่มอื่นๆ

           - ฟิสิกส์นอกตำรา (ผู้เขียน : ศ.วิชัย หโยดม) สนพ.สารคดี
           - แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์ (ผมเขียนเอง) บ.SE-ED [เล่มนี้ให้พื้นฐานและรายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพค่อนข้างมาก ผู้อ่านถ้ามีพื้นฐานระดับ ม.ปลาย น่าจะเหมาะ)
           - ไอน์สไตน์ ฉบับการ์ตูน (รังสิมา ลี้เจริญชัย แปล) เล่มนี้คลาสสิคมาก แต่ข้อมูลพื้นฐานยังใช้ได้ดีเป็นส่วนใหญ่ อาจจะอ่านยากนิดหนึ่ง เพราะแทรกอารมณ์ขันแบบฝรั่งเอาไว้

       4. บทความเกี่ยวกับฟิสิกส์ในบางแง่มุม
            - หากสนใจ ทฤษฎีเคออส (chaos theory) ผมมีบทความ "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวหมายความว่าอย่างไร" ซึ่งสามารถส่งเป็น e-mail ให้ได้ หรือจะไปหาอ่านในหนังสือ Know How & Know Why กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง ก็ได้ครับ

(ที่แนะนำเรื่องทฤษฎีเคออสนี้ เพราะว่ามีคนสนใจและพูดถึงกันมาก แต่ความเข้าใจคลาดเคลื่อนมีเยอะเหลือเกิน และหาหนังสือที่ดีอ่านยากจริงๆ)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ไม่ได้เข้ามานานเลยค่ะ เพราะเปลี่ยนคอมพิวเตอร์แล้วงมหาทางเข้าไม่เจอ พวก favourite website ที่เซฟไว้ตามกาลเวลาหายเกลี้ยง ต้องค่อยๆ มางมหาทีละอันตามแต่ที่จะนึกได้ค่ะ

เรื่องหนังสือเกี่ยวกับไอน์สไตน์ที่เอาไปใช้อ้างอิงทางด้านศาสนา ดิฉันก็ลองได้ซื้ออ่านมาบ้างเหมือนกัน นอกจากเล่มนี้แล้ว ยังมีอีกเล่มที่ชื่อคล้ายๆ กันคือ ไอน์สไตน์เห็น พระพุทธเจ้าเป็น.. หรืออะไรซักอย่างของคุณศุภวรรณ กรีน ค่ะ (ไม่แน่ใจว่าอ้างอิงชื่อหนังสือถูกหรือเปล่านะคะ เพราะทิ้งหนังสือไว้ที่เมืองไทย)

พอเอามาอ่านแล้วก็อ่านไม่จบค่ะ รู้สึกเหมือนกันว่ามีหลายอย่างที่ถูกบิดเบือน และพยายามโน้มน้าวให้คนอ่านเชื่อไปในจุดที่ผู้เขียนอยากจะให้เชื่อ ทำให้มีความรู้สึกแหม่งๆ ยังไงบอกไม่ถูกค่ะ ได้เข้ามาอ่านหน้านี้ของอาจารย์แล้ว อยากปรบมือให้ดังๆ เลยค่ะ

สวัสดีครับ คุณ แม่น้องธรรม์

     ดีใจจังที่ได้คุยกันอีกครับ และขอขอบคุณสำหรับ "ดอกไม้" (เสียงปรบมือดังๆ ในช่วงท้าย) เพราะงานนี้ เลี่ยง "ก้อนหิน" ไม่ได้แน่ๆ  ^___^ 

     1) อีกเล่มหนึ่งชื่อ "ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ" ครับ มีวิทยาศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากเท่าเล่มของ ทพ.สม เพราะเล่มนั้นจะเน้นไปในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมซะเป็นส่วนใหญ่

     2) ผมมีความเห็นว่า สำหรับหนังสือทั้งสองเล่มนี้ จริงๆ แล้วผู้เขียนทั้งคู่มีความหวังดี คือ อยากให้คนหันมาสนใจในการปฏิบัติธรรม
         แต่มีข้อสังเกตบางอย่างครับ

         2.1) ผู้เขียนหนังสือทั้งสองเล่มนี้น่าจะเป็นนักอ่าน และมีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์พอสมควร แต่ว่าพื้นฐานเกี่ยวกับฟิสิกส์ยุคใหม่ (modern physics) และวิทยาศาสตร์กายภาพ (physical science) อื่นๆหลายอย่าง ยังไม่ดีเพียงพอ ทำให้การตีความและการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปเทียบเคียงผิดมากหน่อย ถูกน้อยหน่อย

         2.2) ในกรณีของคุณศุภวรรณนั้น เธอประกาศชัดว่า

         "จุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้คือ [หมายถึง ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ ที่เธอเขียน] ความรู้ทางฟิสิกส์ที่ดิฉันไม่สามารถเข้าใจได้หมดและถ่องแท้ แต่ถึงแม้ความรู้ทางฟิสิกส์ของหนังสือเล่มนี้จะผิดหมด ก็ยังไม่เป็นไร ไม่น่าห่วงมากเท่ากับการสรุปสภาวะพระนิพพานอย่างผิดๆ..." (หน้า18 ย่อหน้าแรก)

          อ่านแล้วคิดอย่างไรครับ? สำหรับผมนั้น เกิดข้อกังขาว่า เออ! ในเมื่อรู้ว่าตนเองไม่รู้จริง แล้วจะนำไอน์สไตน์มาอ้างตั้งแต่ต้นทำไมหนอ? (ไอน์สไตน์ ในที่นี้ หมายถึง ทั้งทฤษฎีของไอน์สไตน์ และฟิสิกส์ยุคใหม่ที่อ้างถึงในเล่ม)

          2.3) หากใครได้อ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้แล้ว อาจจะตั้งคำถามคล้ายๆ ว่า "การปฏิบัติธรรม" ที่แต่ละท่านกล่าวถึงนั้น น่าจะหมายถึง การปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่แต่ละท่านเชื่อมั่นและมั่นใจอย่างยิ่งว่า ปฏิบัติแล้วได้ผล (ซึ่งจะได้ผลอย่างไร คงต้องไปพิสูจน์กันเอง หากสนใจ)

          แต่ทั้งหมดนี้ทำให้ตั้งคำถามได้มากมาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า แล้วทำไมถึงได้เป็นอย่างนี้เล่า?


ไว้คุยกันใหม่ครับ 

ปล. ตอนนี้ผมมีบล็อกอื่นๆ อีกที่อาจจะสนใจด้วย

        ชายผู้หลงรักมวลเมฆ : http://gotoknow.org/blog/weather/toc 

        วิธีดูเมฆแบบต่างๆ การฟังพยากรณ์อากาศ ฯลฯ และที่สำคัญที่สุด คือ มีเพื่อนๆ นำภาพที่เคยถ่ายไว้มาแลกเปลี่ยนกันชมครับ ^__^)

        

ดีใจมากเลยครับที่ได้อ่าน บทความนี้ของพี่ชิวครับ

ผมและเพื่อนซึ่งเรียนสาขาฟิสิกส์ เถียงเรื่องนี้กันคอขึ้นเอ็นเลยครับ

บุคคลากรสาย วิทยาศาสตร์สุขภาพส่วนใหญ่จะเออ ออ ห่อหมกไปกับ ทพ ท่านนี้ด้วย

ถึงแม้ว่าจะพยายามอธิบายแล้วก็ตามแต่ด้วยความที่ด้วยคุณวุฒิ และการเลือกใช้คำในอธิบายที่ดีพอ

ยังไม่สามารถทำให้ บุคคลากรท่านนั้นเข้าใจเป็นอันว่าต้อง เงียบหุบปากไป

แต่ตอนนี้ดีใจครับ ไม่เสียใจ อย่างน้อยก็ทราบว่า ผมและเพื่อนเข้าใจฟิสิกส์ อย่างถูกต้อง

ขอบคุณพี่ชิวมากครับ

ต้นน้ำ 18

สวัสดีครับ น้อง พสวท 18 ต้นน้ำ

       ด้วยความยินดีครับ คงต้องมีใครเริ่มสักคนล่ะครับ ไม่งั้นปล่อยไว้นานๆ วิทยาศาสตร์เสียหายหมด

       น่าสงสัยไหมล่ะครับ ที่ขนาดวิทยาศาสตร์อย่างฟิสิกส์ซึ่งเป็นศาสตร์ที่แม่นยำ วัดได้ ตรวจสอบได้ ยังสามารถถูกบิดเบือนได้ขนาดนี้ แล้วศาสตร์อื่นๆ ที่ตรวจสอบยากกว่าจะอยู่ในสภาพไหน (ใครอ้างอะไรก็ได้)

       น้องเรียนอยู่ปีไหนแล้วครับนี่ พี่กำลังอยากจะเสนอให้อาจารย์และพวกเรา (นิสิตฟิสิกส์จุฬา) ที่ภาคฟิสิกส์ จัดสัมมนาภายในเกี่ยวกับเรื่องนี้สักหน่อยว่า เพราะเหตุใดกันหนอ ฟิสิกส์จึงได้ถูกบิดเบือนได้ขนาดนี้ (เป็นเพราะว่ายาก & ซับซ้อนเกินไป?) และที่สำคัญคือ จะช่วยกันแก้ไขอย่างไร

      สิ่งที่ต้องระวังไว้ก็คือ คนที่อ้างว่านับถือพระพุทธศาสนา แต่ละเลยคำสอนพื้นฐานอย่างหลักกาลามสูตรนั่นล่ะครับ (มิน่าเล่าพระพุทธองค์ถึงได้ตรัสหลักนี้ไว้อย่างชัดเจน)

      ไว้คุยกันใหม่ครับ ^__^

 

เกือบซื้อมาอ่านแล้วเชียว แต่ถึงซื้อมาก็อาจจะไม่รู้ เพราะวิทยาศาสตร์คืนครูไปเกือบหมดแล้วค่ะ

สวัสดีครับ ซูซาน

      กรณีที่กล่าวถึงนี้ โดยสรุปก็คือ ผู้เขียนพยายามโน้มน้าวผู้อ่านให้เชื่อว่า พุทธศาสนาตามการตีความที่ผู้เขียนเชื่อ (ย้ำตรงขีดเส้นใต้ครับ) เป็นศาสตร์ที่สูงส่ง ถูกต้อง ส่วนวิทยาศาสตร์สนับสนุนความเชื่อนั้น

      หมายความว่า พุทธศาสนาตามการตีความที่ผู้เขียนเชื่อและพยายามชี้นำนั้น อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมดหากยึดถือตามหลักการก็เป็นได้

      ในการทำเช่นนี้ ผู้เขียนใช้วิธี...

           - ยกข้อสรุปบางอย่างในวิทยาศาสร์มาสนับสนุนความเชื่อทางศาสนาของเขา โดยละเลยบริบท (context) ในการใช้งานข้อสรุปนั้น

           - ตีความบางแง่มุมของศาสนาเสียใหม่ให้ดูเหมือนกับสอดคล้องกับข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์

      อย่างไรก็ดี พี่คิดว่าเขาคงไม่ได้ทำแบบตั้งใจ แต่เกิดจากความเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่ผิวเผิน ประกอบกับการ "ปักธง" เอาไว้แล้วว่า พุทธศาสนานั้นเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ ทำให้ได้ข้อสรุปแบบ (ผิดๆ) ว่าเรื่องที่ไอน์สไตน์พบนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้มานานแล้ว

      แต่จริงๆ แล้วหลายเรื่องที่ผู้เขียนกล่าวอ้าง พี่ต้องขอบอกว่าในทางพุทธศาสนาไม่เคยกล่าวถึงเลย (เช่น พุทธศาสนาไม่เคยกล่าวถึงเรื่อง การเคลื่อนที่ และความโน้มถ่วง อย่างที่ฟิสิกส์ของไอน์สไตน์กล่าวถึง เป็นต้น)

      การทำเช่นนี้ทำให้เกิดผลต่อคนต่างๆ กันไป

          - คนที่ไม่รู้เท่าทัน คือ ไม่รู้วิทยาศาสตร์ดีเพียงพอ ก็อาจจะคล้อยตามได้โดยง่าย

          - คนที่มีแนวโน้มจะใช้ศรัทธานำ คือ มีความคิดอยู่ในใจว่า พุทธศาสนาเหนือกว่าวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ก็แทบจะเชื่อและสนับสนุนความคิดของผู้เขียนโดยทันที

          - แต่คนที่รู้ทัน คือรู้วิทยาศาสตร์ค่อนข้างดี และเข้าใจพื้นฐานทางพุทธศาสนาพอสมควร ก็อาจจะรู้สึกว่า เอาอีกแล้ว มั่วอีกแล้ว....

       นอกจากนี้ยังมีบางประเด็นที่พี่ไม่สามารถเขียนบันทึกได้ในขณะนี้ เนื่องจากหลักฐานยังไม่ชัดเปรี๊ยะ แต่ถ้าประเด็นนี้ขยายผลออกมา ก็จะกลายเป็นลัทธิใหม่ที่ทำให้คนส่วนหนึ่งเพี้ยนได้ครับ

       ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมตรงนี้ ^___^

ขอบคุณค่ะอาจารย์

อ่านบันทึกของอาจารย์ทำให้ได้ความรู้ไปด้วยค่ะ หนังสือเล่มนี้มีคนแนะนำให้อ่านเยอะมากพอๆกับเล่มอื่นๆของผู้เขียนคนเดียวกันด้วย แต่ยังไม่เคยอ่านเลยค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์ จันทรรัตน์

        ใช่แล้วครับ ที่ผ่านมาเป็นขาขึ้นครับ กระแสกำลังแรง

        ผมคิดว่าถ้าผู้เขียนและสำนักพิมพ์ให้ความสำคัญกับความถูกต้องของเนื้อหา และทำการปรับปรุงครั้งใหญ่ รวมทั้งยอมรับความผิดพลาดต่อสาธารณชน ก็น่าจะเกิดผลดีต่อสังคมไทยครับ

        อย่างไรก็ดี สำหรับหนังสือที่มีอยู่นี้ หากท่านอาจารย์ได้อ่าน ผมก็อยากรับฟังความคิดเห็นด้วยครับ จะได้มีมุมมองอื่นๆ ที่กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ขอบคุณครับ ^__^

      

ผมก็อ่านแล้ว และพอจะมองเห็นความต้องการของผู้เขียนที่ต้องการจะสื่อสารให้ผู้อ่านได้เข้าใจบ้างว่า สิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบโดยผ่านทางวัตถุวิสัย กับสิ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมมีประสบการณ์ผ่านทางจิตวิสัย เป็นสิ่งที่เทียบเคียงกัน (ค้นพบสิ่งเดียวกันแต่วิธีการเข้าถึงต่างกัน)

ทุกท่านพยายามเปิดใจให้กว้าง ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้แน่นอน ผู้เขียนไม่ใช่นักฟิสิกส์ ,เข้าใจว่าผู้อ่านส่วนหนึ่งรับกันไม่ได้เพราะผู้เขียนอ้างอิงตำรามากมายแต่กลับให้ความจริงที่คลาดเคลื่อนบ้าง ผู้อ่านคงต้องเสียดายเงิน แต่ถ้าต้องการรู้ลึกจริงๆ ก็ต้องค้นคว้าเพิ่มเติมเอาเอง อย่ารอให้ใครมาป้อนอย่างเดียว ด้วยเหตุที่ผู้เขียนอาจจะแปลผิดหรือเข้าใจผิดก็อาจเกิดขึ้นได้

หนังสือถูกเขียนขึ้นมามีไว้ให้อ่านนะครับแต่ไม่ได้ให้เชื่อโดยไม่ได้คิด

อยากให้มีนักเขียนมากๆและควรจะมีมากกว่านักวิจารณ์ คนทำงานกับคนนั่งดูมันต่างกัน

ถ้าไม่ลองทำก็จะไม่รู้ว่าถูกหรือผิด คนนั่งดูจะคอยบอกได้ถ้าได้อ่านและวิเคราะห์ไปด้วย ก็ถือว่าเป็นประโยชน์เช่นกัน

แนะนำผู้เขียนทำได้แต่อย่าดูหมิ่นหรือถางถาง ดูจากเว็ป คนส่วนใหญ่ถางถางตามคนอื่นโดยยังไม่ได้อ่านเลย หนังสือเล่มนี้เนื้อหาที่ดีก็มีมาก ไม่เห็นได้พูดคุยกัน มีแต่จับประเด็นผิดอย่างเดียว น่าเสียดายจริงๆ

สวัสดีครับ คุณสมพร

       ขอบคุณมากครับ สำหรับความคิดเห็น

       อย่างไรก็ดี สถานภาพปัจจุบันก็คือ บ. อมรินทร์ ระงับการพิมพ์เพิ่มหนังสือ (บางเล่ม) ของ ทพ.สม เพราะมีข้อผิดพลาดมาก ซึ่งน่าจะพอบอกอะไรบางอย่างได้ดีทีเดียวครับ

       บันทึกนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ & ความจริงทั้งหมดเท่านั้นครับ ข้อเท็จจริงก็คือ ผมเคยได้ให้คำแนะนำที่สร้างสรรค์กับนักเขียน สำนักพิมพ์ ทั้งโดยตรง และผ่านสื่อสารมวลชนไปแล้ว (ในส่วนที่ผ่านสื่อสารมวลชน กำลังจะตีพิมพ์ในวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. นี้ครับ)

       ส่วนเรื่อง 'การถากถาง' นั้น หากมีข้อความใดที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ก็ช่วยโปรดระบุมาด้วยครับ จะได้ปรับให้นุ่มนวลขึ้น เพราะบันทึกนี้พยายามเขียนแบบกลางๆ ให้เรียบที่สุดแล้ว

       สำหรับเรื่องที่บอกว่า "มีผิดบ้าง" นั้น ขอให้ข้อเท็จจริงว่า หากผู้อ่านมีความรู้วิทยาศาสตร์มากเพียงพอ ก็จะพบว่ามีที่ผิดมากมาย แต่มิได้หมายความว่า ผู้เขียนไม่ฉลาดนะครับ ตรงกันข้าม ผู้เขียนมีจินตนาการสูงมาก แต่ยังขาดความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้อง ทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า "จับแพะชนแกะ" ซึ่งอ่านเผินๆ จะเหมือนไม่มีอะไรน่าสงสัย

       ดังนั้น ข้อมูลและความคิดเห็นในส่วนวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพราะทางสำนักพิมพ์จัดหนังสือเล่มนี้อยู่ในหมวด 'ธรรมะวิทยาศาสตร์' ครับ

       ส่วนข้อมูลและความคิดเห็นทางศาสนาที่นำเสนอเอาไว้นั้น ก็ควรได้รับการตรวจสอบจากผู้รู้ในทางศาสนาและปรัชญาเช่นกัน

       การตรวจสอบทั้งหมดที่เสนอให้มีนี้ เป็นไปเพื่อการควบคุมคุณภาพของหนังสือนั่นเอง

       ขอเรียนเพิ่มอีกนิดว่า ที่ว่าเขียนยาก วิจารณ์ง่าย อาจจะใช้ได้ในกรณีอื่นๆ แต่ในกรณีนี้อาจจะมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะการวิจารณ์เรื่องทางเทคนิคให้ถูกต้อง รัดกุม ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงอย่างสร้างสรรค์นั้น ต้องการคนที่มีความรู้มากเพียงพอ อีกทั้งยังต้องใช้เวลา และความอดทนอย่างสูงอีกด้วยครับ

       ที่กล่าวเช่นนี้ได้ ก็เพราะได้ทดลองแก้ไขความผิดพลาดคลาดเคลื่อนบางอย่างแล้ว พบว่า การแก้ไขทำได้ แต่ยากกว่าการเขียนโดยไม่รู้จริงอีกด้วยซ้ำครับ (จะนำมาให้อ่านในราวสัปดาห์หน้า)

       หากเราเปิดใจให้กว้าง รับฟังข้อเสนอและข้อชี้แนะต่างๆ ก็จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ความจริงในมิติอื่นๆ ที่อาจจะไม่เคยเห็นนั้นเป็นเช่นไร

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน และสละเวลาอันมีค่าแสดงความคิดเห็นครับ

สวัสดีครับพี่ชิว

ผมไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่เป็นประเด็นทั้งสองเล่มเลยครับ เพราะไม่มีสตังค์ซื้อ อิอิ แต่พอได้อ่านเรื่องราวจากที่พี่ชิวได้ให้ความรู้ และผู้รู้ท่านอื่นๆได้แลกเปลี่ยนมา เป็นเรื่องที่ทำให้ผมได้คิดอะไรหลายๆอย่างเลยครับ

อย่างแรกคือ คนเรามักมีอัตตาที่เป็นของตนเอง ซึ่งผมเองก็เป็นครับ มักคิดว่าสิ่งที่เราคิดเราทำ และเราเลือกเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และถือสิ่งนั้นเป็นของเราเป็นแนวทางของเรา ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้นเลย ประมาณว่าเราคิดแบบนี้น่าจะใช่ แล้วยึดติดกับมันเรื่อยมา ตอนนี้คิดได้แล้วครับว่ามันอันตรายจริงๆๆ

อย่างที่สอง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่รู้จริงในทุกศาสตร์จริงๆครับ ท่านจึงสอนเราว่าอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ แม้แต่สิ่งที่เราเห็น หรือเราได้ประสบกับตนเอง เพราะอะไรเหรอครับ มันอาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด เพราะเราเอาจิตไปกำหนดแล้วว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คิดเอาเองนะเนี่ย เหมือนวิทยาศาสตร์ไงครับ เรื่องบางอย่างอาจเป็นจริง แต่อาจไม่จริงเมื่อเราได้ค้นพบความจริงที่ยิ่งกว่า ทุกสิ่งมันไม่เที่ยงจริงๆด้วย

อ่าน blog นี้ของพี่ชิว ได้อะไรเยอะเลยครับ เหมือนเรื่องวิชาการที่ผมเรียนมา บางทีตอนนี้มันอาจล้าสมัยไปหมดแล้ว มิน่าอะไรๆก็ต้องมีหลักฐานทางวิชาการรองรับทั้งนั้น ไม่งั้นไม่น่าเชื่อถือ สงสัยต้องกลับไปนั่งศึกษาตัวเองใหม่ซะแล้วครับ อิอิ

ขอบคุณพี่ชิวที่สอนอะไรมากมายในหัวข้อนี้ครับ ยกนิ้วให้เลย (แต่ผมไม่เก่ง physics เท่าไหร่ครับ อ่านแล้วงงบ้าง แต่ได้ concept ที่น่าสนใจมากมายครับ) ขอบคุณครับ

เรื่องหนังสือที่เป็นประเด็ด ผมสรุปได้จากประสบการณ์ที่ผ่ามมาในชีวิตอันไม่นานนัก อิอิ (แบบว่ายังเด็กอยู่ครับ) ได้ว่า เปลี่ยนคนอื่นมันยากครับ เปลี่ยนตัวเองง่ายกว่า จริงมั้ยครับพี่ชิว

Hello เดอ!

         ก่อนอื่นเลย...ภาพเท่สุดๆ ครับ ชักอยากเจอตัวจริงซะแล้ว 555

         หลักกาลามสูตรของพระพุทธองค์นั้นเป็นหลักธรรมที่พี่คิดว่าเยี่ยมจริงๆ และจำเป็นต้องใช้อย่างยิ่ง ในทุกยุคทุกสมัย

         แต่ในทางกลับกัน เหตุไฉนคนที่เรียกต้วเองว่า ชาวพุทธ ถึงได้ละเลยหลักพื้นฐานนี้กันมากมาย ทำให้ตกอยู่ในกระแสการตลาดที่ต้องการชี้นำเราอยู่ตลอดเวลา

         ดีมากเลยที่ว่า แม้จะไม่เข้าใจในรายละเอียด แต่หากจับแก่นสาระหลักๆ ได้ว่า ผู้สื่อสารต้องการจะบอกอะไร ก็เพียงพอแล้วครับ เพราะแก่นสาระนี้ สามารถนำไปประยุกต์ได้ในกรณีอื่นๆ อีกมากมาย

          ไว้คุยกันใหม่ครับ ^__^

ถึงพี่ชิว ครับ

เนื่องจาก ตอนนี้มีกระแสในเรื่อง การเปรียบเทียบ พุทธรรม กับ วิทยาศาสตร์ อยู่มากมาย ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นว่า แนวความคิดนี้ อาจจะเป็นการตลาดแบบหนึ่งที่จะทำให้ บุคคลที่เชื่อในความมีเหตุมีผล และ สิ่งที่พิสูจน์ได้ ให้หันมาสนใจ พุทธรรมมากขึ้น (ซึ่งก็แอบ น้อยใจ อยู่นิด ๆ ว่า เอ ทำไม ตัวพุทธรรมเองไม่มีความน่าสนใจถึงเพียงนั้นเลยเหรอ เลย จำเป็น ต้องอาศัยเครื่องมือบางอย่างมาช่วย :) ) แต่เรื่องนี้ก็สนุกดี และ ผมก็มีคำถามบางข้อที่อยากขอคำแนะนำบางอย่างในสิ่งที่ผมสรุปเอาเองว่าถูกต้อง แต่ มาตอนนี้ชักไม่แน่ใจว่า ถูกต้องหรือไม่ หากพี่ชิวจะว่างตอบ หรือ แสดงความคิดเห็น ก็จะเป็นการกรุณามากครับ ข้อสงสัยผมมีดังนี้

1. ในมุมเรื่อง invariance ใน ทฏษฏี สัมพัทธภาพ นั้น หากมองในมุมของ พุทธรรม เชิงเปรียบเทียบ ผมจะมองเป็น ไตรลักษณ์ ก็เห็นจะไม่ผิด ใช่หรือไม่ครับ เพราะ หาก บริบท เรื่อง invariance นั้น หมายถึง สิ่งที่จะได้ค่า เหมือนกัน ไม่ว่า จะวัดอย่างไร หรือ วัดโดยใคร หากจะเปรียบเที่ยบกับหลัก ไตรลักษณ์ ก็จะเหมือนกันตรงที่ ทุกสิ่งล้วนไม่อาจหนีพ้นจากหลักการ นี้ ไม่ว่า จะมองด้วย มุมไหน ก็ตาม

2. เรื่อง ความว่าง ในทุกสิ่งนั้น มักจะถูกหยิกยกขึ้นมาพูดในพุทธศาสนา แต่ จะมีใครที่เขัาใจ เรื่องนี้ อย่างลึกซึ้ง ซึ่ง หาก เป็น คนธรรมดาอย่าง ผม นั้น เวลาพูดถึงเรื่องนี้ ก็จะสะดุด เอ แล้ว ไอ้ความว่างเนี่ยคือ อะไร ก็เห็นๆ อยู่ว่า มันจับต้องได้ มี เนื้อมีหนัง ตีแล้วมันเจ็บ แต่หาก เรา ลองใช้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาทำความเข้าใจใน ความว่าง ว่า จริง ๆ แล้ว ทุกสิ่งที่เราเห็นเนีย มันก็ประกอบ ด้วย อะตอม มายึดเหนี่ยวกัน ใน แง่มุมต่าง ๆ เป็น โมเลกุล และ จาก หลาย ๆ โมเลกุล ก็จะประกอบกันเป็น ธาตุ ทีนี้ ใน แต่ละ อะตอม ก็รับรู้มาว่า ระหว่าง อิเล็กตรอน กับ นิวเคลียส นั้น ก็เต็มไปด้วย ความว่างทั้งนั้น ที่มีอยู่เป็นอะตอม ก็ เนื่องมาจาก แรง ระหว่าง อิเล็กตรอน ที่หมุนรอบ นิวเคลียส นั่นแหละ ซึ่ง หาก พิจารณาในแง่นี้แล้ว ก็พอ จะ อนุมานได้ว่า เออหนอ จริงๆ แล้ว ทุกอย่าง ประกอบ ด้วยความว่าง ทั้งนั้น ความอ่อน ความแข็ง รูปร่าง สี กลิ่น อะไรต่าง ๆ หาก พิจารณากันแล้ว ก็เกิดจาก การปรุงแต่งของจิตของเราทั้งนั้น (หรือ อีกนัย หนึ่ง คือ เมื่อสิ่งเร้าต่างๆ มาสัมผัส ประสาทสัมผัส ทั้ง 5 ผ่านการตีความของสมอง ก็จะทำให้เราเห็นอย่างที่เราเห็นอยู่ ) ซึ่งความจริง แล้ว สิ่งที่เราเห็น เราได้ยิน ที่แท้เป็นอย่างไร ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่า หากมองในระดับ เล็ก ๆ ย่อย ๆ ลงไปแล้ว มีแต่ความว่าง และ แรงที่กระทำระหว่างกันทั้งนั้น พอผมคิดแบบนี้ ก็ทำให้ผมพอเข้าใจในบริบท ของความว่าง ความไม่มีตัวตน ความไม่เที่ยง ใน พุทธรรมได้ บ้างจาก พื้นฐานที่ผมได้เรียน วิทยาศาสตร์ มา

ยังมีอีกหลายข้อที่ผมคิด ในเชิงเปรียบเที่ยบ ระหว่าง วิทยาศาสตร์ กับ พุทธรรม เหมือนกัน แต่ ก็ไม่รู้ว่า จะเป็นการ จับแพะชนแกะ หรือ เปล่า ก็เห็นจะต้องรบกวนพี่ชิว ช่วย เล่าแจ้งแถลงไข ในความถูกต้อง ด้วย ครับ

นับถือ

ตื่น

สวัสดีครับ ตื่น

        ยอดเยี่ยมๆๆ พี่ว่าตื่นเข้าใจประเด็นนี้ดีกว่าพี่ซะอีกนะ ^__^

        เห็นด้วยมากทีเดียวว่า "....ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นว่า แนวความคิดนี้ อาจจะเป็นการตลาดแบบหนึ่งที่จะทำให้ บุคคลที่เชื่อในความมีเหตุมีผล และ สิ่งที่พิสูจน์ได้ ให้หันมาสนใจ พุทธรรมมากขึ้น..."

        นี่แหละครับ ถึงยก "ไอน์สไตน์" มาอ้างกันนักหนา ลองคิดให้ลึกไปอีกขั้น คำว่า "ไอน์สไตน์" นี่ไม่ได้หมายถึงแค่ ตัวไอน์สไตน์ (ที่เป็นนักฟิสิกส์) เท่านั้น แต่ยังหมายถึง

            - ทฤษฎีของไอน์สไตน์ หรือประเด็นที่ไอน์สไตน์เข้าไปเกี่ยวข้อง (เช่น ทฤษฎควอนตัม หรือคำพูดเช่น "พระเจ้าไม่ทอดลูกเต๋า" หรือ "ไอน์สไตน์ยกย่องพุทธศาสนา" - อันหลังสุดนี้ สารานุกรม Wikipedia บอกว่า หาแหล่งที่มาแรกสุดไม่พบครับ!)

            - ฟิสิกส์ โดยเฉพาะ ฟิสิกส์ยุคใหม่ (modern physics)

            - วิทยาศาสตร์ยุคใหม่โดยรวม (modern science)

        จริงหรือไม่ ลองไปดูสิครับ อ้างถึง Chaos Theory, String Theory, Cosmology, etc. (แต่ไม่ยักพูดถึง จิตวิทยาสมัยใหม่ที่ศึกษา NeuroScience แฮะ)

        ตอบข้อ 1 ก่อนนะครับ

        1) เรื่อง invariance นี่เต็มๆ คือ invariance under coordinate transformation คือ อยู่คนละกรอบ แต่เห็นค่า invariance ตรงกัน หรือใช้กฎทางฟิสิกส์เดียวกัน

            นั่นคือ invariance เป็นหลักยึดครับ! ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity) ซึ่งมีหลักการพื้นฐาน 2 ข้อ ได้แก่

           1. กฎทางฟิสิกส์มีรูปแบบเดียวกันในทุกกรอบเฉื่อย -> กฎเป็น invariance!

           2. อัตราเร็วแสงมีค่าเท่ากับในทุกกรอบเฉื่อย -> อัตราเร็วแสง c เป็น invariance!

           ที่น้องตื่นเทียบเคียงว่า คล้ายกับหลักไตรลักษณ์ในแง่ที่ว่าทุกสิ่งล้วนไม่พ้นหลักการนี้ นั้นพอได้สำหรับบางอย่างครับ คือ ไม่ทุกสิ่ง แต่มีบางสิ่งเช่น กฎทางฟิสิกส์ (ข้อ 1) และ อัตราเร็วแสง (ข้อ 2) ไม่พ้นหลักการนี้

           เป็นการเปรียบเทียบที่น่าสนใจมากครับ

ปล. มีคนกล่าวหาพี่เรื่องนี้ เขาหาว่า พี่กำลังบอกว่า invariance เป็นอัตตา! พี่เลยไม่คุยด้วย เพราะเขากล่าวหาต่อว่า "พี่หาว่างั้นพระพุทธเจ้าก็โกหกน่ะสิ ที่สอนเรื่องอนัตตา" ไปกันใหญ่เลยครับ ;-)

สำหรับอีกข้อหนึ่งขอติดไว้ก่อนครับ ^__^

พี่ชิว

ผมขอเพิ่ม อีก เหตุผล หนึ่งว่า ทำไมต้อง ไอน์สไตน์ คือ ไอน์สไตน์ คือ ตัวแทน ของ ความฉลาดของมนุษย์ ครับ นั่นคือ เหตุผลที่หากมีใครสามารถ เชื่อมโยง ไอน์สไตน์ เข้ากับสิ่งใด สิ่งนั้น จะดู ฉลาด ไปด้วย (เป็นไปตามคุณสมบัติ ถ่ายทอด A=B ,B=C -> A=C แหะ ๆ ) แต่หากมานึก อีกที ทำให้ผมพาลไป นึกได้ว่า มี รุ่นพี่คนนึง ที่เค้า ศึกษา พุทธธรรม เคย บอกผมว่า จุดประสงค์ เวลา เรา กราบ พระรัตนตรัย นั้น เรา กราบเพื่ออะไร และ ที่สำคัญคือ เรา กราบ พระพุทธ เพื่อ ให้เรา ระลึก ว่า พระพุทธเจ้า เป็น คนธรรมดา ที่ตรัสรู้ หรือ รู้แจ้งได้ นั่นหมายถึงว่า คนเราธรรมดา ก็สามารถ เป็นอย่างพระพุทธเจ้าได้ เช่นกัน หาก เรา มีความตั้งใจ ความ เพียร และ มี อิทธิบาท 4 เพียงพอ พอผมได้ฟังแล้ว ก็คิดว่า มีเหตุผลครับ และ ทำให้มุมมองผมที่มีต่อ พุทธศาสนา เปลี่ยนเป็น พุทธธรรม มากขึ้น แต่ที่น่าเสียดาย คือ การศึกษาบ้านเรา ยังไม่สามารถ ทำให้ คนศึกษา นั้น เข้าใจ ใน พุทธศาสนา ในแง่มุมของ ปรัชญา มากกว่า ใน เรื่อง ของ สิ่งเหนือธรรมชาติ อภินิหาร etc..

ทีนี้ คิดต่อว่า ดีหรือไม่กับแนวความคิดนี้(การถูกใช้เป็นเครื่องทางการตลาด) ในส่วนตัว ผมคิดว่า เป็นเรื่องดี ที่จะทำให้ คนที่มีความชอบ ใน หลัก เหตุผล และ วิทยาศาสตร์ จะ เริ่มเข้ามาเรียนรู้ ในหลัก พุทธรรม มากขึ้น เพราะ ผมเชือว่า คนอย่างพี่ชิว หรือ คนที่ศึกษา ใน วิทยาศาสตร์ มาก ๆ จะเข้าถึง พุทธรรม ในเชิงทฤษฎี ได้ลึกซึ้งกว่า และอาจถ่ายทอดให้คนทั่ว ๆ ไป ในอีกแง่มุมหนึ่ง (ในแง่ ทฤษฎี การเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลว่า เราสามารถ ประยุกต์ หลัก พุทธธรรมได้มุมที่ต่างจากพระสงฆ์ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเทศน์ ในลักษณะ ศีล และ การใช้ ศีล หรือ หลักธรรม มาประยุกต์ กับ ปัญหา ประจำวัน ) เอาเป็นว่า จะเป็นเครื่องมือ หนึ่ง ที่สามารถ เผยแพร่ ให้ คนมีความสนใจในการศึกษา พุทธธรรม ในวงกว้างมากขึ้น

ปัญหาที่น่าจะคิดต่อ คือ คนเหล่านี้ จำเป็น ต้องใช้หนังสือ ประเภทนี้สำหรับจุดประกายให้มาสนใจ พุทธธรรม หรือไม่ (ผมไม่ห่วงคนเหล่านี้ เนื่องจาก คนเหล่านี้ มี หลัก กาลามสูตร อยู่แล้ว (วิทยาศาสตร์ สอนให้เป็นแบบนี้อยู่แล้ว) )

และ หาก กลุ่มคนที่ต้องใช้ หนังสือนี้ ในการจุดประกาย โดย ไม่เข้าใจในหลัก กาลามสูตร เลย ก็จะไม่มีภูมิคุ้มกัน และ พากัน เข้าใจผิด กันใหญ่โต (เหมือน คน ที่พูด ว่า invariance คือ อัตตา )

ทีนี้ หาก เราบรรจุ สิ่งอ้างอิง เพื่อ ความสมบูรณ์ของข้อมูลลงในหนังสือ ประเภทนี้ มีมากขึ้น ก็จะทำให้ หนังสือ อ่านยากขึ้น ขาดความสนใจ มากขึ้นด้วย (เหรียญ สองด้าน) ก็ต้องลอง Trade-off กันดูว่า จุดไหน คือ จุดที่พอเพียง

ทางออกอีกทางหนึ่งที่ผมคิดได้ในตอนนี้ คือ หนังสือประเภทนี้ ควร จะมี คำนำ หรือ บทนำอะไรสั้น ๆ ที่ บอกว่า เนื้อหาทั้งหมดนั้น มี ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนสอดแทรกอยู่ด้วย และ ย้ำเตือนผู้อ่านให้ คิดพิจารณา ขณะอ่าน ด้วย ก็จะเป็นการดี และ เปิดโอกาสให้กับ คนอ่านได้พิจารณาเองว่า เป็นอย่างไร

ผมเห็นด้วยกับทางออก ของ พี่ที่ให้สัมภาษณ์ ใน จุดประกายวรรณกรรม ฉบับอาทิตย์นี้นะ ที่น่าจะมี ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งสองฝ่าย ได้ตรวจสอบความถูกต้องของ หนังสือก่อน (แต่ ต้นทุน ทั้งในแง่เวลา และ เงิน ก็จะมีมากขึ้น จะตอบโจทย์ทางธุรกิจได้มั้ย ยังเป็นปัญหา)

ปล หากมีการเสวนา เรื่องที่พี่เกร่นไว้ในบทสัมภาษณ์ เมื่อไหร่ รบกวนแจ้งผมด้วยนะครับ คือ ผมอยากให้เวลา และ โอกาส ไปรับฟังครับ

นับถือ

ตื่น

ง่า

พี่ชิว ผมก็ยังไม่เข้าใจในคำตอบข้อ 1 อยู่ดี :( ง่ะ ครับ (คิดว่า ยังมีความรู้น้อยเกินไปในเรื่อง ทฤษฎี สัมพัทธภาพ) ขอผมไป หา แฟนพันธุ์แท้ ไอส์นไตน์ อ่านก่อนครับ :)

ว่าแต่ จริง ๆแล้ว เราน่าจะมี blog ที่ สนทนากันเรื่อง พุทธธรรม กับ วิทยาศาสตร์ เชิงเปรียบเทียบนะครับ ผมว่า เป็นเรื่องที่สนุก และ น่ารู้ มากเลย

ตื่น

สวัสดีครับ ตื่น

        จริงด้วย "ไอน์สไตน์ = ความฉลาด (ทางโลก) ของมนุษย์" ยอดเยี่ยมๆ (พี่ลืมไปจริงๆ)

         เรื่องอื่นๆ เดี๋ยวพี่แว่บมาตอบใหม่

         ส่วนเรื่องให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจนั้น ต้นทุนไม่สูงหรอกครับ (อย่างตอนนี้พี่ก็กำลังตรวจหนังสือให้ National Geographic บางเล่มอยู่ เขาให้ค่าตรวจเท่าไร ก็รับไป ไม่ได้คิดอะไร ถือว่าได้อ่านหนังสือหนุกๆ ได้ความรู้ด้วย)

        

สวัสดีค่ะคุณชิว

เตยอ่านไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็นไปได้แค่สามสิบกว่าหน้าก็มาเจอบทความในพันพิพเรื่องข้อมูลที่ผิดพลาดของหนังสือเล่มนี้เสียก่อน.. รอดไป เพราะเตยไม่มีพื้นฐานทางฟิสิกส์เลยค่ะ ขอบคุณมากที่ช่วยกันออกมารีวิวทำให้เราไม่หลงทาง

โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าไม่มีความรู้ด้านฟิสิกส์พอ ไม่ควรเขียนหนังสือแบบนี้เลยเพราะทำให้คนอื่นที่ไม่มีความรู้เหมือนกันพลอยสับสนไปด้วย.. เพราะจริงๆแล้วคิดว่าคุณหมอเขาไม่ได้มีเจตนาไม่ดีนะคะ แต่คิดว่าเขาตีความทฤษฎีหลายๆทฤษฎีพลาดเสียมากกว่า เพราะจากที่อ่านมานี่ หลายข้อมูลคล้ายกัยที่อยู่ในหนังสือ the Tao of Physics (Fritjof Capra) มาก เพียงแต่แทนที่จะคัดของเขามาก็เอาของเขามาตีความตามความเข้าใจอันผิดพลาดเพราะเกิดจากพื้นฐานที่ไม่แน่นพอของตัวคุณหมอเอง น่าเสียดายจริง

เตยไม่มีความสามารถจะแสดงความเห็นทางฟิสิกส์ได้เพราะไม่มีความรู้ แต่เห็นด้วยกับฟริจจอฟ คัปปราค่ะว่า

the inaccuracy and ambiguity of our language is essential for poets who work largely with its subconscious layers and association. science, on the other hand, aims for clear definitions and unambiguous connections, and therefore it abstracts language further by limiting the meaning of its words and by standardizing its structure, in accordance with the rules of logic. the ultimate abstraction takes place in mathematics where words are replaced by symbols and where the operations of connecting the symbols are rigorously defined. in this way scientists can condense information into one equation, ie into one single line of symbols, for which they would need servral pages of ordinary writing.

คุณหมอแกตีความผิด แต่เขียนออกมาได้ดี เลยทำให้ ordinary writing ที่เขียนมาบิดเบือนไปจากสมการที่นักวิทยาศาสตร์หลายท่านตั้งขึ้น น่าเสียดายความสามารถทางการเขียนของแกนะคะ

สวัสดีครับ คุณเตย

      ใช่แล้วครับ ทพ.สม มีจุดประสงค์ดี คือ ต้องการโน้มนำให้คนมีศรัทธาในพุทธศาสนา โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นสื่อนำร่อง

      แต่ปัญหาก็คือ เมื่อวิทยาศาสตร์ผิดเพี้ยน & คลาดเคลื่อนมากอย่างมากมาย ทำให้คุณค่าของหนังสือในแง่การให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อการต้ดสินใจด้อยลงไปมาก

      เพราะว่า ไม่ใช่ทุกคนหรอกครับที่จะอ่านเอาสนุก หรือแม้แต่คนที่คิดว่าตนเองมีความคิด มีวิจารณญาณที่ดี แต่หากพื้นฐานไม่ดีเพียงพอแล้ว จะตัดสินใจได้อย่างไรว่า ข้อความหนึ่งๆ หรือความคิดชุดหนึ่งๆ น่าเชื่อถือเพียงไร

      ผมชอบ quote ที่ส่งมาให้จริงๆ ครับ จะหาโอกาสถอดความออกมาเป็นภาษาไทย  นำมาจากหนังสือเล่มไหนหรือครับ (The Tao of Physics?)

การที่พระพุทธองค์เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็ยังไม่มีศาสตร์ใดๆๆ มาหักล้างได้ เรียกว่า 18 ดร. เรียนไม่จบหรอกนะ  บรรดาผู้รู็ ้ทั้งหลาย พึงสังวรณ์ให้มากๆๆ  จะได้ไม่ผิดเพี้ยน จากความเป็นจริง  แต่เคยศึกษางาน ดร.พนม เมืองแมน  ทราบว่าเรียนมามาก  เอาแต่เวลาไปติดต่อ มนุษย์ต่างดาว  ไม่ทำงานทางโลกเลย  เป็นสิ่งที่ควรศึกษานะ อย่างไร ฝากใว้เป็นข้อคิดทาง  ........................................................

สวัสดีครับ คุณชายใหญ่

        ขอบคุณมากครับ แต่น่าจะเป็นคนละประเด็นกันนะครับ

        สมมตินะครับ...สมมติผมบอกคุณชายใหญ่ว่า มีใครสักคนกำลังบิดเบือนพระพุทธศาสนาอยู่ โดยหากอ่านอย่างไม่รู้เท่าทัน ก็จะคิดว่าเป็นคำสอนของพระพุทธองค์

        ในกรณีเช่นนี้ ควรจะมีผู้รู้ทางพุทธศาสนา เช่น พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ออกมาทักท้วง และอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไหม

        ลองคิดดูนะครับว่า ประเด็นที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้นั้น ไม่ได้บอกสักคำเลยว่า คำสอนของพระพุทธองค์ด้อยกว่าศาสตร์อื่นๆ หรือไม่ อย่างไร

        ในทางกลับกัน ผมกำลังบอกว่า อย่างน้อยให้ใช้ หลักกาลามสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้ว ในกรณีเช่นนี้ครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน

พี่ชิวครับ

เมื่อคืน กลับไปอ่าน เรื่อง "แฟนพันธุ์แท้ ไอส์นไตน์" ก็เลย เข้าใจความหมายของ invariance ขึ้นมานิดหน่อย (ตอนนี้อ่านถึง บทที่ 3 ) พี่ชิว ครับ จริง ๆ แล้ว ใน ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ทั่วไป ยังมี invariance หรือ เปล่า ครับ (พอดียังอ่านไม่ถึงบทหลัง ๆ ) เนื่องจาก ทั้ง ความเร็วแสง ก็ดี ,กฎทางฟิสิกส์ ก็ดี จะ เป็น invariance ใน กรอบ เฉื่อย เท่านั้น (หากเราเชื่อในทฤษฎี สัมพัทธภาพพิเศษ) ซึ่งคงไม่สามารถ สะท้อนภาพองค์รวมทั้งหมด จึงตอบยังตอบไม่ได้ใช่มั้ยว่า จริง ๆ แล้ว มี หลัก invariance จริงแท้ ใน จักรวาล หรือไม่(เพราะตอนนี้ รับแล้วว่า มีอยู่ครึ่งหนึ่ง คือ ในกรอบที่ไม่มีความเร่ง) จนกว่า เราจะทราบว่า ในสภาพที่มีแรงโน้มถ่วง หรือ มีความเร่งแล้ว ยังมีสิ่งที่เป็น invariance อีกหรือเปล่า

หากพิจารณาดู ดี ๆ แล้ว ผมคิดว่า invariance นั้น อาจก็เป็นสภาวะสมมุติ (ทางธรรม) อีก แบบหนึ่ง ก็ได้

ปล เห็นด้วย กับ สิ่งที่ คุณเตย quote มา ว่า ภาษามีข้อจำกัดของมันอยู่จริงๆ ในการถ่ายทอด ประสบการณ์ และ ความรู้ ครับ

สวัสดีค่ะคุณชิว

ใช่แล้วค่ะ The Tao of Physics โดย Fritjof Capra ค่ะ เป็นสุดยอดหนังสือเลยค่ะ ดีมากๆ ทำเรื่องฟิสิกส์ยากๆให้.. เข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย รู้สึกว่าจะมีแปลเป็นภาษาไทยแล้วด้วยนะคะ

สวัสดีครับ ตื่น

      เดี๋ยวพี่ลองไปค้นดูก่อนนะครับ ว่า General Relativity ว่าไง?

      เรื่องภาษานี่น่าสนใจครับ มีทฤษฎีทางภาษาศาสตร์เสนอว่า ความซับซ้อนของภาษาที่คนๆ หนึ่งใช้เป็นปัจจัยที่กำหนดว่า คนๆ นั้นสามารถคิดได้ซับซ้อนแค่ไหน เข้าใจว่าเรียกว่า The Principle of Linguistic Relativity (ถ้ามีผู้รู้ท่านใดมาพบเข้า โปรดช่วยแก้ไขความเข้าใจที่อาจจะผิด หรือคลาดเคลื่อนด้วยครับ)

สวัสดีครับ คุณเตย

       ขอบคุณมากครับ ผมมีทั้งเล่มภาษาอังกฤษ และเล่มแปลเลย ชอบอ่านมากตอนที่เรียนอยู่ประมาณปี 4 ครับ 

       หนังสือ The Tao of Physics นำเสนอฟิสิกส์ได้สนุก เพราะผู้เขียนเป็น particle physicists แต่เรื่องปรัชญา-ศาสนานี่ บางทีก็โดนลากเข้าความอยู่เหมือนกันนะครับ อย่างแผนภาพ "ปากั้ว" (แปดเหลี่ยม) นี่โดนดัดแปลงให้เทียบได้กับแผนภาพใน particle physics ครับ

สำหรับอ่านแล้วก้รู้สึกแปลกๆ บ้าง แต่ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่

แล้ว ผมอยากถามเกี่ยวกับหนังสือของ นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ และ นพ. ประสาน ต่างใจ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยส่วนตัวผมชื่นชม 2 ท่านนี้

http://jitwiwat.blogspot.com/search/label/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%20%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%88

สวัสดีค่ะคุณชิว

นั่นสิคะ รู้สึกเหมือนกันว่าผู้เขียนตีความปรัชญาเข้าข้างทบ.ตัวเองบ้างอยู่เหมือนกันในหลายข้อ แต่อัันนี้แอบเข้าใจเค้านะคะ เพราะเขาเริ่มเขียนหนังสือด้วยสมมุติฐานที่ว่าวิทยาศาสตร์กับศาสนาสายพุทธ เซน เต๋า สอดคล้องกันในด้านการพิสูจน์(อธิบาย)ธรรมชาติ เพราะฉนั้นตอนเขาตีความหลักคำสอนทางพุทธศาสนา (อย่างน้อยเขาก็ไม่ตีความทฤษฎีฟิสิกส์ที่เขียนเป็นสมการคณิตศาสตร์ค่ะเพราะสมการคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่จะตีความเป็นอื่นได้นอกจากมีการทดลองอันพิสูจน์ได้ด้วยค่าสมการณ์อื่นมารองรับ.. คอมเมนท์ตรงนี้คุณชิวไม่เห็นด้วยรบกวนอธิบายหน่อยนะคะ เพราะเตยไม่ได้เรียนสายวิทย์ล่ะ แค่ชอบอ่านหนังสือเท่านั้นเอง)

จริงๆแล้วคุณสมก็แอบคล้ายคัปปร้าเล็กน้อยตรงตีความตามความเชื่อของตนนะคะ (คิดว่านะ) ผิดกันตรงฟริจจอฟ คัปปรา มีพื้นฐานทางฟิสิกส์แน่นกว่า(มาก)เท่านั้นเอง

สวัสดีครับ คุณ 'ผู้ไม่รู้'

       เข้าใจว่า นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ อยู่ในกลุ่มจิตวิวัฒน์ ใช่ไหมครับ ส่วน นพ. ประสาน ต่างใจ ก็ได้นำเสนอประเด็นแนวจิต-ควอนตัมออกมาเรื่อยๆ

       มองในแง่ดี : ทั้งสองท่านได้เปิดประเด็นให้กับสังคมไทย เพื่อนำไปเจาะลึกต่อ เนื่องจากทั้งสองท่านเป็นผู้ใฝ่รู้ อ่านมาก จึงมีเรื่องราวใหม่ๆ มานำเสนออยู่เป็นระยะ

       มองในแง่ระวัง : เนื่องจากทั้งสองท่านเป็นแพทย์ ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำงานวิจัยทางด้านฟิสิกส์ยุคใหม่มาโดยตรง แต่อาศัยจากการอ่านงานแนว Popular Science ซึ่งหนังสือแบบนี้มีคุณภาพของงานแตกต่างกันไป

          ดังนั้น ผู้อ่านจึงควรเสาะหา หนังสือ หรือผู้รู้ในทางสายวิทยาศาสตร์กายภาพ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงที่ใช้ในการตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อตรวจสอบข้อมูลและการตีความต่างๆ ว่าเป็นไปตามวิทยาศาสตร์กระแสหลัก กระแสรอง หรือเป็นเพียงการคาดเดาของใคร และสถานภาพปัจจุบันของเรื่องหนึ่งๆ เป็นอย่างไรครับ

สวัสดีครับ คุณเตย

      ต้องขอแสดงความชื่นชมความเป็นนักอ่านของคุณจริงๆ ครับ ที่แม้จะไม่ได้เรียนสายวิทย์ แต่มีความสนใจในเรื่องราวอื่นๆ ที่เป็นสาระความรู้ (ที่แม้แต่เด็กสายวิทย์หลายคนก็ไม่ได้สนใจ)

      เห็นด้วยในแง่ที่ว่า Capra ก็ตีความตามที่ตนเองตั้งสมมติฐานเอาไว้ แต่ Capra เป็นนักวิจัยด้านฟิสิกส์จริงๆ จึงทำให้ข้อมูลวิทยาศาสตร์มีพลัง และจับผิดได้ยาก (หมายความว่า เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้บางอย่างอาจจะล้าสมัยไปแล้ว)

      ส่วนคนที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางนี้นั้น แม้จะอ่านมาก แต่หากอ่านงานเฉพาะ Popular Science คือ ไม่ได้อ่าน Textbook หรือผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบ (peer review) ก็จะหาคนที่เข้าใจจริงๆ ได้ยาก หรืออาจจะคิดว่าเข้าใจ แต่จริงๆ ไม่เข้าใจครับ

ผมเป็นคนที่เรียนสายศิลป์ (รัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) แต่ก็สนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เดี๋ยวนี้ก็ยังสนอยู่ (และกำลังพยายามอ่าน Universe in a Nutshell รอบที่สาม ให้เข้าใจขึ้นอีกหน่อย เพราะอ่านๆ ไปแล้วหัวจะระเบิด)

พอหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" ออกมา ผมก็อุตส่าห์ดีใจ ว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ลองพยายามอธิบายศาสนาโดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เลยรีบซื้อมา แบบไม่ได้คิดอะไร (แม้ผมจะไม่นับถือศาสนาเป็นตัวเป็นตนก็ตามที)

อยากจะบอกว่า "ตั้งแต่ส่วนบทนำ" แล้วครับ ที่บ่งบอกว่าหนังสือเล่มนี้ "แย่" เพราะผู้เขียน พยายามบ่งอย่างไม่เป็นกลางแต่แรกอยู่แล้วว่า "พระพุทธเจ้า เหนือกว่าไอนสไตน์"

การอธิบายแบบนี้ นับว่าทุเรศสิ้นดี (ผมขอบ่น ประสาคนเสียดายตังค์เถอะนะครับ)

การที่คุณจะพยายามทำหนังสือที่เปรียบเทียบความรู้ในเชิงศาสนา กับวิทยาศาสตร์ "โดยคุณลำเอียง" แต่แรกอยู่แล้ว นั่นเท่ากับคนเขียนไม่มีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวแต่ต้น (แต่เสร่อจะเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์)

หากนักวิทยาศาสตร์คนไหนที่ ลำเอียงแต่ต้นว่า "การทดลองนี้ ยังไงๆ ก็จะต้องให้ผลการทดลองออกมาเป็นแบบนั้น แบบนี้" ย่อมไม่อาจเรียกว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ฉันใด ผู้เขียนหนังสือนี้ ก็แย่พอๆ กันฉันนั้น

ด้วยความเคารพ

กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช

เรียนคุณบัญชา (อีกรอบ)

ตอนแรกผมอ่านแต่เนื้อหาของบล็อกแล้วตอบไปเลย ทีนี้พอมาอ่านในส่วนการแลกเปลี่ยน มีประเด็นหนึ่งที่ผมค่อนข้างจะสนใจเป็นพิเศษ นั่นก็คือ ใน คห. 36 ที่ คุณบัญชา แลกเปลี่ยนกับคุณต้นน้ำ

ผมมองว่า เหตุสำคัญที่ฟิสิกส์ (หรือวิทยาศาสตร์โดยทั่วๆ ไป) นั้นนอกจากจะเพราะยากแล้ว อาจเป็นเพราะ

1. ระบบการศึกษาแบบ Essentialism ของไทย ที่ "บังคับกรอบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในวงจำกัดเกินไป"...จริงๆ กรณีนี้เกิดขึ้นกับทุกวิชา ทำให้เรื่องวิชาการเป็นเรื่อง "แหยง" คนเด็กโดยมาก

ผมมองว่า การบังคับให้ "ต้องเรียนรู้ทฤษฎีนั่นนี่ [b]ตามที่กระทรวงศึกษาต้องการให้เรียน ไม่ใช่เด็กต้องการรู้เอง[/b]" เป็นเครื่องลดทอนที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อความใคร่รู้สนใจในเรื่องทางวิชาการ ซึ่งฟิสิกส์ก็หนีไม่พ้นจากบ่วงนี้

ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการนั้น โดยมากเราก็จะได้เรียนแต่พวกดาร์วินๆๆๆๆๆๆๆ (จนสมองจะวิ่น) มันเป็นการ force เด็กให้เห็นแต่ ดาร์วินครับ เด็กแทบไม่เคยเห็นแง่คิดอื่นๆ เลยของทฤษฎีกลุ่มนี้ เช่น Missing Link Virus Theory ที่เสนอถึง "ไวรัสวิวัฒนาการในร่างกายคน"

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็มีฐานสนับสนุน และเหตุผลทางวิชาการที่รับได้ แต่เราไม่เคยได้เรียนกันครับ อย่างผม รู้จักกับแนวคิดนี้ครั้งแรกจากการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น (manga) แล้วเห็นว่าน่าสนใจดี เลยลองค้นต่อ

แต่ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเด็กต้อง follow argument เพียงแบบเดียว (ที่กระทรวงบังคับมา) มันทำให้เกิดภาวะ Undebatable ขึ้น...ซึ่งน่าเบื่อมากๆ

ฉะนั้นแนวทางที่น่าจะเหมาะจึงควรเป็น การกำหนด Theme เช่นว่า วันนี้จะคุยกันเรื่อง "ทฤษฎีวิวัฒนาการ" กันนะ...ให้เด็กไปลองหาๆ แนวคิดต่างๆ ที่ตนเชื่อดู หรือลองคิดดูเองก็ได้ แล้วมา Debate กัน อาจจะมีครูเป็นคนกลาง (เผลอๆ ครูจะได้เรียนเรื่องใหม่ๆ ไปด้วย) ไม่ใช่สักแต่เป็นควายให้กระทรวงศึกษาจูง...คือ ความรู้ชุดที่จำเป็นต้องเรียนน่ะมีแน่ครับ แต่เรา force เค้าเฉพาะพื้นฐานที่จำเป็นจริงๆ "ไม่ใช่จับยัดกะโหลกทุกเรื่องที่อยากให้รู้"

2. (อันนี้ฟิสิกส์ตรงๆ หน่อย) บอกตรงๆ นะครับว่าผมค่อนข้างจะชอบฟิสิกส์พอสมควรทีเดียว (แม้จะไม่ชอบคณิตศาสตร์เท่าไหร่นัก T-T) แต่ข้อเสียที่สำคัญมากๆ ของฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ ที่เหนือกว่าวิชาอื่นๆ (คือวิชาอื่นๆ ก็มีข้อเสียส่วนนี้ แต่ไม่มากเท่าฟิสิกส์ และคณิตฯ โดยเฉพาะตัวหลัง)

นั่นเพราะ วิชาทั้งสองนี้ "พูดด้วยภาษาที่คนทั่วไปไม่ค่อยคุ้นเคย" ครับ ภาษาหลักที่ใช้สื่อคือ ตัวเลข และสมการ คือ วิชาทั้งสองนี้เป็นวิชาที่ "มีความเป็นเหตุเป็นผลสูงที่สุดในสายวิทย์ฯ แล้ว แต่เพราะความที่มันเป็นวิชาที่มีเหตุผลสูง มันจึงใช้ภาษาทั่วๆ ไปอธิบายได้ยาก แต่ใช้ตัวเลข และสมการเป็นสื่อกลางทางความคิดแทน"

แต่การใช้ตัวเลข และสมการ เป็นสื่อกลางทางความคิดมากๆ ก็มักจะเกิดปัญหาว่า "คนทั่วไปเข้าไม่ถึง หรือไม่กล้าจะเข้าถึง" ครับ

และนั่นก็เป็นคำตอบกับเราด้วยว่า "ทำไมหนังสือวิทยาศาสตร์อ่านโคตรยากอย่าง A Brief History of Time หรือ Universe in a Nutshell ของ Hawking ถึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า?"

นั่นก็เพราะว่า "มันแทบไม่มีตัวเลข หรือชุดสมการใดๆ เลยครับ" คนทั่วๆ ไปรู้สึก "ปลอดภัย" มากกว่ากับหนังสือของ Hawking ที่ตัวหนังสือมาก เลข และสมการโหดๆ น้อยๆ (ทั้งๆ ที่เข้าใจยากมาก ลึกซึ้งมากๆ) ในขณะที่หนังสือฟิสิกส์อื่นๆ ที่ตัวเลขโหดๆ สมการยาวๆ โผล่มาเยอะ (แต่อาจจะเข้าใจง่ายกว่าของ Hawking ลึกซึ้งน้อยกว่า ฯลฯ) กลับขายไม่ออก เพราะคนกลัวที่จะเข้าถึงครับ

ฉะนั้น ผมคิดว่าเรื่องที่น่าจะลองนำไปพิจารณาก็คือ "ทำให้หนังสือฟิสิกส์มีตัวเลข และสมการน้อยที่สุด (อย่างฮอว์กิ้ง) แต่สามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุด (เท่าที่จะทำได้)"...ผมว่าน่าจะเป็นหนทางหนึ่ง

3. ปกติเนื้อหาของวิชาฟิสิกส์นั้น ก็ยากมากอยู่แล้ว ฉะนั้น "อย่าเขียนให้อ่านยากขึ้นครับ" ยิ่งวิชาที่เนื้อหายากเท่าไหร่ ต้องเขียนด้วยภาษาที่ง่ายและใกล้ตัวขึ้นเท่านั้น เพื่อความเข้าใจง่าย

ไม่ใช่ "อ่านชื่อแล้วงง" --> "อ่านนิยาม...งงกว่าเดิม"

ภาษาสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารครับ เพื่อให้ผู้รับสาร เข้าใจ "สาร" ของผู้ส่ง ฉะนั้น ภาาาหยาบบ้าง ทุเรศบ้าง ผมว่าใช้ๆ มันไปเถอะครับ หากทำให้เค้าเข้าใจได้ ดีกว่าภาษาผู้ดีสุดกู่ สมองทู่กว่ากว่า...อย่างนั้นคงไม่ได้อะไรขึ้นมา

ภาษาราชการ ลดๆ มันลงบ้างก็ได้ครับ ช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นเยอะจริงๆ

4. ภาควิชาทางสายวิทย์ฯ ต้อง take action กับสังคมให้บ่อยกว่าที่เป็นอยู่

คือ จริงๆ ตะโทษฝ่ายวิทย์ฯ ว่า take action น้อยอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่สังคมไทย มีลักษณะ ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา" อยู่มาก (บางพวก เห็นโลงศพ มันก็ยังไม่หลั่งน้ำตา)ทำให้ เมื่อไม่เกิดปรากฏการณ์ที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์อธิบาย ก็ไม่สน ไม่ยุ่ง ไม่เกี่ยว กันเสียมาก

แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องถามด้วยว่า "ฝ่ายวิทย์ฯ take action กันอย่างมากพอแล้วหรือ???" หรือว่าโดยมากมักจะคุดคู้อยู่แต่ในอาณาจักรของตน วงการของตนเสียมากกว่า???

นี่คือคำถามที่ผมว่า ต้องลองคิดกันดู

...ผมขอแลกเปลี่ยนเท่านี้ก่อนนะครับ (จริงๆ ยังมีอีก 2-3 ประเด็น แต่ตอนนี้ก็ยาวมากๆ แล้ว)

ด้วยความเคารพ

กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช

ดร.บัญชา, คุณกฤดิกร

สำหรับงานทางสายวิทย์ที่สื่อกับ "สังคมภายนอก" ผมเห็นด้วยว่าการลดสมการและ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์สามารถทำให้คนทั่วไปสบายใจได้มากขึ้น แม้ว่ามันจะทำให้ 'เห็นภาพพจน์'ได้ดี(ถ้าคุณอ่านมันได้เข้าใจ)ดูเหมือนว่าผมเคยอ่านบทนำของหนังสือแนว popular science บางเล่ม (อาจจะเป็น A Short History of Nearly Everything ของ Bill Bryson) ซึ่งผู้เขียนพยายามบอกว่าคนทั่วไปอย่างเขา หวาดกลัวตัวเลข(คณิตศาสตร์) ซึ่งแน่นอนว่ามันคงเป็นการยากที่จะทำให้คนทั่วไปที่กลัวอยู่เกิดชอบคณิตศาสตร์ขึ้นมา จริงๆ หนังสือวิทยาศาสตร์โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการให้ "นักวิทย์อ่านได้ คนทั่วไปอ่านดี" ที่เป็นแบบนี้ก็มีหลายเล่ม ทั้งของ ดร.บัญชา หรือ ดร.ชัยวัฒน์

สำหรับหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" ผมได้ทราบว่า ดร.บัญชา เขียนบทความขึ้นชี้แจงก็รู้สึกดีใจมาก เพราะก่อนหน้านี้รู้สึก "เซ็ง" กับการเขียน"ลากความ" ของผู้เขียนหนังสือมาก แต่ว่าด้วยที่ผมนั้นไม่ถนัดทาง Quantum หรือ Cosmology ก็เลยไม่กล้าทักท้วงไป ได้แต่บ่นว่าเมื่อไรใครที่ถนัดจะทำสักที

ปล. รู้สึกว่าวันอาทิตย์สัปดาห์นี้ผมจะได้เจอกับ ดร.บัญชา ในงาน workshop ของ BrandsGen ซึ่งผมไม่ชอบวิธีการในการคัดคนของเขาสักเท่าไร คือใช้วิธีการ Vote

และส่ง SMS มันพอๆกับ AF คือธุรกิจบนผลงานทางวิชาการของพวกผม -_-"

แต่ก็ประทับใจกับ ดร. บัญชา ที่ทำให้วิทยาศาสตร์มันถูกใช้จริงๆ ตั้งแต่เรื่องพิสูจน์ภาพถ่ายจตุคามแล้ว

ผมอ่าน เอนทรี้นี้นานแต่ว่า ผมไม่ได้คอมเม้นกลับไว้ครับ

ยังไงผมอยากจะขอบคุณอาจารย์ครับที่ได้ทำการทักท้วงครับ

ผมก็ไม่รู้ว่า ในหัวผมมีข้อมูลผิดๆจากหนังสือบ้างไหมเนี่ย

ขอบคุณอาจารย์อีกทีครับ

สวัสดีครับ คุณ fallingangels

         รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รู้จักคนที่ "รักวิทยาศาสตร์" อย่างแท้จริงๆ นะครับ

         ที่กล้ากล่าวเช่นนี้เพราะเมื่ออ่านจากข้อคิดเห็นของคุณแล้ว ก็รู้สึกได้ทันทีว่า คุณเข้าใจและเข้าถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง และมีมุมมองเกี่ยวกับการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ในบ้านเราที่น่าคิดมากทีเดียว

         เรื่อง การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชน (Public Understanding of Science) นั้น เป็นเรื่องใหญ่ และผมจะหาโอกาสเขียนถึงเรื่องนี้โดยละเอียดอีกทีครับ

         สำหรับกรณีที่เรากำลังประสบอยู่นี้ ทำให้คนที่สนใจวิทยาศาสตร์ต้องมาทบทวนว่า ในขณะที่เรากำลังทำ

         Public Understanding of Science

         อยู่นี้

         เราต้องทำเรื่อง

         Public Awareness of PseudoScience

         ควบคู่กันไปด้วย!!!

         PseudoScience นี่น่ากลัวกว่าไสยศาสตร์นะครับ เพราะไสยศาสตร์นั้นมาแบบตรงๆ ดูง่ายว่าไม่ใช่วิทยาศาสตร์แน่ๆ

         แต่ PseduScience หรือ วิทยาศาสตร์เทียม นั้นดูเหมือนวิทยาศาสตร์ เพราะใช้คำแบบวิทยาศาสตร์ การให้เหตุผลก็ฟังเผินๆ เหมือนวิทยาศาสตร์

         แต่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่แท้จริง เพราะพิสูจน์ไม่ได้ว่าถูกหรือผิด!

ปล. เอาไว้ผมจะหาโอกาสตอบข้อคิดเห็นของคุณในบันทึกอื่นๆ อีกทีนะครับ เพราะยังมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจมากทีเดียว เช่น จริงไหมที่สมการทำให้หนังสือไม่น่าอ่าน (เรื่องนี้อย่าเพิ่งด่วนสรุปเชียวว่าจริง เพราะผมมีตัวอย่างคัดง้างเหมือนกันนะครับ ;-))

ขอบคุณครับ ^__^

    

สวัสดีครับ คุณอติเทพ ไชยสิทธิ์

         ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นครับ เป็นกำลังใจมากทีเดียว ^__^

         บทความสั้นๆ นี้เพียงยกตัวอย่างจำนวนน้อยนิดในบรรดาข้อผิดพลาดทั้งแบบ "จังๆ" และแบบ "ลากความ" ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งเล่ม แทบทุกหน้า หน้าละหลายๆ ที่!

         ทำเอาคนที่รู้ทัน "เซ็ง" เหมือนคุณไปไม่น้อยเลย (ผมฟังมาหลายคนมากแล้ว)

         ส่วนคนที่เขาอ่านแล้วบอกว่าสนุกหรือเพลิดเพลิน ก็เพราะมันเป็นจินตนาการออกแนวแฟนตาซีครับ แต่ไม่รู้ว่าคุณภาพของข้อมูลพื้นฐานนี่ต่ำมากๆ

ปล. ไว้เจอกันใน WorkShop BrandGen วันอาทิตย์นี้ครับ คงจะได้คุยกันสนุกแน่ๆ ^__^

สวัสดีครับ ibbz.net

         ด้วยความยินดีครับ เรื่องข้อมูลผิดนี่ไม่เป็นไร แต่ถ้าวิธีคิดผิด แต่ดันนึกว่าถูกนี่ แย่กว่าครับ

         ผมมองว่า กรณีนี้เกิดขึ้นก็ดีเหมือนกัน เป็นการทดสอบสังคมไทยแบบหนึ่งครับ

ครับผม...ด้วยความยินดีแลกเปลี่ยนครับ

ส่วนเรื่องหนังสือที่คุณบัญชาพูดถึงว่า "พอนึกเอามาคัดง้างได้" นั้น น่าจะจริงครับ เพราะผมเองก็อ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เต็มๆ ไม่มากเสียด้วย (555+) เลยอาจจะไม่รู้จักเล่มที่คุณบัญชาพูดถึง

แต่ผมว่าน่าสนใจมากนะครับ หากมีหนังสือที่สามารถอธิบายด้วยสมการได้ และเรียกร้องให้คนอ่านอยู่อีก...ผมคงต้องหามาอ่านดูบ้างแล้ว

คือ ผมลองสังเกต กลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจาก "สายวิทย์ฯ แท้ๆ" ด้วย อย่างในคณะของผม (รัฐศาสตร์) นั้น พวกผมจะได้เรียนวิชา "เศรษฐศาสตร์" กันด้วย (ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นวิชาที่ "เป็นเหตุเป็นผล" ที่สุดในสายสังคมศาสตร์) โดยวิชา econ นี้ก็ (แน่นอน) ว่า สมการโผล่มาตรึม...เด็กรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ที่ "ไม่คุ้นเคยกับคณิตศาสตร์" ก็จะผวาไว้ก่อน ทั้งๆ ที่หลักการทาง เศรษฐศาสตร์มันมีเหตุผลที่เป็นรูปธรรม (concrete) มากกว่าทางสายรัฐศาสตร์ที่อุดมไปด้วยนามธรรม (abstract) ตั้งมากมาย

...แต่บังเอิญผมเป็นพวก ชอบทั้งสาย concrete และ abstract ก็เลยอยู่ได้น่ะครับ

(จริงๆ ผมยังไม่ค่อยชินกับระบบของบล็อกนี้เท่าไหร่อ่ะนะครับ)

จริงๆแล้ว บริษัทอมรินทร์ควรรับผิดชอบด้วยการเก็บหนังสือที่ค้างอยู่ตามร้านหนังสือทั้งหมดด้วย โดยเฉพาะเล่มที่ให้เด็กนักเรียนอ่าน ตอนนี้ตามแผงหนังสือยังขึ้นหนังสือ 2 เล่มนี้เป็น bestseller อยู่เลย

สวัสดีครับ คุณ fallingangels

        หนังสือเล่มที่กล่าวถึงนั้น ผมเขียนเองครับ ชื่อ แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์ เต็มไปด้วยสมการยุ่บยั่บ แต่ติดอันดับ 12 ของ SE-ED ด้วย

        เกี่ยวกับเรื่องนี้ยาวหน่อย เพราะหนังสือว่าด้วยไอน์สไตน์ที่มีอยู่ทั้งหมดในท้องตลาด เป็นแบบอ่านเพลินๆ ไม่มีใครเอาจริงซะที ทำให้เด็กไทยไม่มีโอกาสได้เรียนรู้พื้นฐานจริงๆ จังๆ 

สวัสดีครับ คุณมันทนา

       สิ่งที่ปรากฏย่อมสะท้อนนโยบายของบริษัทฯ ว่าจะคงคุณภาพไว้ที่ระดับใดครับ

สวัสดีครับพี่ชิว

ผมอ่านหลายๆ comments แล้วพบว่าหัวข้อนี้ของพี่ชิวน่าจะไปอยู่ในหมวด จุดประกาย แทนครับ เพราะช่วยจุดประกายให้หลายๆคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่อาจเก็บไว้กับตัว ไม่ได้แลกเปลี่ยนกับใคร

ในที่สุดก็มีผู้กล้าออกมานำขบวนจนได้ อิอิ (จะใครซะอีกใช่มั้ยครับ) ทำให้หลายความคิด หลายๆความเห็นออกมาแสดงพลัง ให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมของการปล่อยผ่านอีกต่อไป ต่อไปจะเป็นสังคมของการตรวจสอบ ความถูกต้อง และให้ข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา (เอ้ จะเกี่ยวกับการเมืองมั้ยเนี้ย) น่าชื่นชมทุกคนเลยครับ ต่อไปเด็กๆที่โตขึ้นจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และจำเอาไปใช้ได้อย่างเหมาะสม

ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มีการใส่ความรู้ที่ผิดๆ หรือบิดเบือนอะไรบางอย่าง เพราะเหตุผลบางประการ ตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ เช่น แถวบ้านผมผู้ใหญ่มักจะสอนเด็กเสมอๆว่า กินตับกินไตของสัตว์ต่างๆ (หมู ไก่ ) เป็นสิ่งไม่ดี ให้โทษต่อร่างกาย แต่ความจริงผมวิเคราะห์ได้ว่า ผู้ใหญ่หลอกเด็กๆเพราะจะเก็บไว้กินเอง เพราะมันมีน้อยและอร่อย อิอิ เด็กสมัยก่อนก็เลยขาดวิตามินตั้งหลายตัว เพราะเครื่องในสัตว์มีวิตามินตั้งหลายอย่าง อีกอย่างเด็กคงไม่เป็น เก๊าท์ กระมังครับ ข้ออ้างเรื่องเก๊าท์น่าจะตกไป

อืมมม ดู ดู๊ ดู ดูเค้าทำ เค้าทำกับเด็กๆอย่างเราได้ อิอิ ขอบคุณครับพี่ชิวที่ช่วยจุดประกายในสังคมไทย แม้เพียงจุดเล็กๆก็จะยิ่งใหญ่ขยายวงกว้างไปในทุกๆทางครับ

สวัสดีคร้บ เดอ

      พอดีประเด็นนี้มีเรื่องทางเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้องกับ เลยอยู่หมวดวิทยาศาสตร์

      คงต้องมาจับตาดูกันต่อไปครับเรื่องนี้ เพราะมีทั้งธุรกิจ (ระดับหลายสิบล้าน/ปี) เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเชื่อที่อาจนำไปสู่ลัทธิใหม่ก็เป็นได้!

ผมอ่านหนังสือดูแล้ว ผมมีความเห็นว่า หนังสือดังกล่าว เป็ฯตัวจุดประกายให้ คนไทยหันมาสนใจการอ่าน มากขึ้น จริงอยู่ อาจจะมีส่วนที่บาง่านมีความเห็นแตกต่างกัน ก็ก่อให้เกิดการถกเถียงทางวิชาการ สร้างความแตกฉานของปัญญาให้เกิดขึ้น

ท่านที่มีความรู้สูงทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ ลองเขียนหนังสือแนวนี้ ให้คนทั่วไปอ่านบ้างก็ดีนะครับ ผมอยากอ่านเหมือนกัน

สวัสดีครับ คุณมงคล

        ปัญหาของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่แค่ฟิสิกส์ (หรือวิทยาศาสตร์) ที่ผิดเพี้ยนอย่างมาก (นับเป็นชั้นที่ 1) เท่านั้นครับ แต่ยังมีเรื่องที่ซ่อนอยู่อีก 2 ชั้น

        ชั้นที่ 2 คือ พุทธธรรมที่ถูกตีความตามอำเภอใจ และอาจเข้าข่ายสัทธรรมปฏิรูป (ลองไปคุยกับผู้รู้ด้านศาสนา-ปรัชญาดูสิครับ)

        ชั้นที่ 3 อันนี้มองยากนิดหนึ่ง คือ ลัทธิความเชื่อบางอย่างที่ถูกซ่อนไว้ และเด่นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงท้าย รวมทั้งหนังสือเล่มอื่นที่ตามมาครับ

แล้วเขาเอาไงกันครับ

คิดว่า ถ้าแก้ไขจะเกิดอะไรขึ้นไหม

สวัสดีครับ

        ทราบจากทางผู้บริหารอมรินทร์ว่า ผู้เขียนพยายามแก้ไขอยู่ ทั้งเล่ม "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" และ "ฟิสิกส์นิวตัน"

         แต่พูดตรงๆ คือ ผมหวั่นใจครับ....

         ส่วนเล่มตอนนี้ที่ผิดเยอะแยะมากมาย....ก็ขายต่อครับ....ลองไปดูตามร้านหนังสือได้

ผมเพิ่งได้ข่าวมาว่า เมื่อไม่กี่สันนี้ที่ผ่านมานี้

ทพ.สม เพิ่งเปิดตัวหนังสือใหม่อีกเริ่มนะครับ...เข้าใจว่าจนถึงตอนนี้เจ้าตัวยังไม่ค่อยจะรับรู้อะไรกระมัง

เล่มล่าสุดนี้เข้าใจว่าเป็นหนังสือลักษณะ How to นะครับ (จุดนี้ผมไม่แน่ใจเดาเอาจากชื่อหนังสือ กับคำโปรย...ผมจำชื่อหนังสือไม่ได้แล้ว หากค้นเจอจะเอามาแปะไว้ให้ครับ)

ด้วยความเคารพ

สวัสดีครับ

         คิดว่าเห็นแล้วครับ ปกสีชมพูๆ คือ ดูเหมือนจะเป็นแนวจิตวิทยาที่ท่านถนัด

          ถ้าไม่มายุ่งกับฟิสิกส์ก็คงไม่เป็นไรครับ แต่ถ้ามี "พุทธศาสนา" อยู่ด้วยนี่ ก็ต้องระมัดระวังหน่อย ยึดหลักกาลามสูตรเอาไว้ก็ดีครับ เพราะเคยทำเพี้ยนมาเยอะขนาดนี้นี่...น่าห่วงเหมือนกัน

ชื่อหนังสือ ตอบปัญหาวิชาใจ ครับ กำลังจะมีตอบปัญหาวิชาโลกออกมาด้วย

ตามจริงแล้วผมไม่เห็นด้วยกับหนังสือเล่มนี้แต่แรก แต่ไม่รู้ทำไมทางสนพ.ถึงละเลยคุณภาพ เยินยอผู้เขียนมากมายเช่นนี้ เขาจัดกิจกรรม Training มากมาย เหมือนจะเปลี่ยนอาชีพจากหมอฟัน ปิดคลินิคมาเดินสายเป็นวิทยากรอย่างเดียว...

ตอนที่ผมทราบจากวงในว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นนอกจากระงับการพิมพ์ ผมก็เซ็งครับ...

ในฐานะคนอ่านหนังสือรู้สึกโดนเอาเปรียบ หนังสือไม่ถูกมาบอกว่าดี สร้างความเข้าใจผิดๆให้กับคนที่ไม่ได้มีความรู้...

น่าเป็นห่วงด้วยคนนะครับ

เหมือนว่าทางสนพ.ก็พยายามนิ่งๆปล่อยให้เรื่องเงียบไปเอง

เศร้าใจครับ

สวัสดีครับ

         ได้เห็นแล้วครับ คิดว่าถ้าอยู่ในสาขาที่ผู้เขียนถนัดก็แล้วไปครับ แต่ไม่รู้ว่าจะใส่ความคิด + จินตนาการเข้าไปมากมาย (แบบคิดเอง เออเอง) เหมือนเล่มอื่นๆ หรือเปล่าเท่านั้น ท่าทางจะขายดีเช่นเคยครับ -> สะท้อนสุขภาวะในการอ่านของคนไทยกลุ่มหนึ่งได้ดีทีเดียว

         เรื่องคุณภาพนี่ ผมก็ชักจะไม่ค่อยมั่นใจแล้วล่ะครับ แต่ทางฝั่ง National Geographic นี่ยังดีอยู่นะครับ ล่าสุดตอนนี้ผมยังไปช่วย edit หนังสือบางเล่มอยู่เลย (ส่วนอื่นไม่รู้ว่าเข้มข้นกับความถูกต้องทางวิชาการแค่ไหน...แต่หวังว่าจะไม่เหมือนกับหนังสือชุดขายดีของผู้เขียนท่านนี้...)

       

ขอลอกมาไว้ที่ Entry นี้ดีกว่าครับ

----------------------------

สวัสดีครับ

พอดีเมื่อวันก่อนมีมี ผู้ใหญ่นำหนังสือ ไอน์สไตน์พบฯ มาให้ผม โดยความเห็นของผมแล้วไม่ยินดีกับความพยายามเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์กับ พุทธศาสนา ด้วยเห็นว่ามีความเหลื่อมกันอยู่จนไม่น่านำมาเทียบกัน เลยไม่คิดว่าจะหามาอ่าน แต่เนื่องจากว่าผู้ใหญ่ท่านนั้นเห็นว่าผมทำงานด้านเทคโนโลยีและสนใจพุทธ ศาสนา ก็คงเห็นว่าผมคงจะสนใจ ผมเลยฉลองศรัทธา

เมื่อได้อ่านเนื้อหา แล้วพบความคลาดเคลื่อนทั้งด้านความเข้าใจวิทยาศาสตร์ทั้งด้านของพุทธศาสนา ก็รู้สึกไม่สบายใจเพราะผู้เขียนก็เขียนด้วยเจตนาดี ตั้งใจดี ประกอบกับหนังสือมีคำนิยมที่น่าเชื่อถือ จำนวนพิมพ์น่าจะมากเพราะอย่างน้อยเล่มที่ผมได้มาก็เป็นเล่มที่พิมพ์ครั้งที่ 25 เกรงว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนกว้างขวางออกไป จากนั้นในวันเดียวกันก็ทราบจากเพื่อนๆใน Internet ว่าหนังสือเล่มนี้หยุดพิมพ์แล้ว ผมจึงค้นต่อไปถึงคำวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ จึงได้พบแหล่งสำคัญๆรวมทั้งของ อ.บัญชา ที่นี่ด้วย พอดีว่าผมก็เป็นสมาชิกของ G2K ก็เลยคิดว่าจะขอเขียนวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ื่ๆอีกเล็กน้อยไว้ที่ G2K ครับ โดยการวิจารณ์นี้นอกจากจะอยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังอยู่บนพื้นฐานของความเคารพในเจตนาดีของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยครับ

สวัสดีครับ อาจารย์อังกุศ

           ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในบล็อกของอาจารย์แล้วครับ

เรียนคุณบัญชา

จริงๆแล้วสังคมไทยต้องการผู้รู้ซึ่งสามารถออกมาเป็นสื่อแสดงความคิดเห็นอย่างคุณเป็นอย่างมากค่ะ

ดิฉันขอชื่นชมจากใจ อย่างไรก็ดีเมื่อครั้งที่หนังสือเล่มนี้ออกมา...หากมองในแง่มุมหนังสือธรรมะ

ดิฉันรู้สึกปิติยินดีที่ในที่สุดมีผู้เขียนที่สามารถความเป็นพุทธศาสน์ที่สามารถพิสูจน์ได้ โดยการใช้

ตัวของผู้ปฏิบัติเองเป็นผู้ทดลอง บุคคลจำนวนไม่น้อยระดับผู้นำประเทศ ด๊อกเตอร์ที่ครั้งหนึ่ง

ไม่เชื่อในหลักธรรมะแห่งพุทธศาสนาแต่เมื่อได้ลองเข้ามาค้นปฏิบัติจริงจังจนค้นพบสัจธรรมและเกิด

ปัญญาญาณกับตัวของเขาเอง(สัมมาทิฐิ) พวกเขาเหล่านั้นจึงมิอาจทิ้งวิถีทางการปฏิบัตินี้ได้ ดิฉันจึงเข้าใจ

ว่า ทพ.สม คงมีเจตนาดี แม้ยังไม่มีการแก้ไขต้นฉบับให้ถูกต้อง(ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรกระทำ) ดิฉันว่าเป็นเรื่องดี

ที่จะปลุกกระแสการตื่นตัวในการรับรู้ข่าวสาร เจตนาดีของคุณบัญชาเป็นไปเพื่อ “การติเพื่อก่อ” ดิฉันจึง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณบัญชาจะยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลในเชิงวิชาการให้นักอ่านอย่างพวกเรา

และมิใช่เป็นการโต้แย้งดุเด็ดเผ็ดมันระหว่างวิทยาศาสตร์และพุทธศาสน์เลย มีคุณประโยชน์เชิงการพัฒนาจิต

และแนวทางการปฏิบัติที่น่าสนใจอยู่หลายประการในหนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น ดิฉันหวังเป็น

อย่างยิ่งว่าหากมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความชำนาญและได้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางสัมมาทิฐิอย่างแท้จริง

ท่านผู้นั้นคงจะได้นำความเป็นพุทธศาสน์มาอธิบายเชิงวิทย์ได้เป็นอย่างดี และอาจเป็นคุณบัญชานะคะ(ด้วยความเคารพ) ดิฉันรู้สึกเสียใจที่ผู้ post บางท่านใช้วาจาเสียดสีและอาจเป็นการดูหมิ่นศาสนาโดยไม่ได้ตั้งใจ ศาสนาพุทธที่แท้มิเคยสอน ให้คนเชื่อหรือลุ่มหลงนะคะ แต่สอนให้ปฏิบัติด้วยตนเองก่อนว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ วิถีทางแห่งความหลุดพ้นคือการเรียนรู้เพื่อละ....เพื่อให้เกิดตาปัญญาขึ้นภายใน เป็นการเรียนรู้เข้าไปภายในตัวเองทั้งสิ้น

จตุคามรามเทพฯจึงมิใช่วิถีแห่งศาสนาพุทธ ประเด็นเดียวตรงนี้คือหากผู้ที่ไม่เคยศึกษาการปฏิบัติธรรมหรือหลักธรรมมาก่อนเขาผู้นั้นก็มิควรกล่าวอ้างใดๆ ที่อาจเป็นการลบหลู่หรือเป็นผลลบแก่ผู้พูดเอง อันนี้ด้วยความปรารถนาดีจากใจจริงค่ะ และหากจะมีการโต้แย้งในลักษณะข้อมูลที่เนื่องกันระหว่างพุทธศาสน์และวิทยาศาสตร์คงต้องเปิดใจกว้างและหาบุคคลที่ศึกษาศาสตร์ทั้งสองอย่างจริงจังมาให้คำแนะนำ

*ดิฉันก็อาจเหมือนคุณบัญชาคือไม่อยากให้ใครเข้าใจพุทธศาสนาผิดเหมือนที่คุณบัญชาเป็นกระบอกเสียงในเรื่องที่ข้อมูลในหนังสืออาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนทางวิทยาศาสตร์ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณบัญชาจะมีโอกาสช่วยแก้ไขและผลักดันให้หนังสือดีๆออกสู่สายตาชาวโลกด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ขอบคุณมากค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง

พอดี

หมายเหตุ หากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาและทดลองปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นและลักษณะกายภาพ การวิจัยธรรมก็เป็นการศึกษาปรากฎการณ์ทางนามธรรมของจิตใจมนุษย์เช่นกัน

สวัสดีครับ คุณพอดี

        ขอบคุณมากครับที่ได้แสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ และตรงไปตรงมา

        เรียนให้ทราบตามตรงครับว่า ผมคิดว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือ ทพ.สม นั้นมีเจตนาดี และมีความสามารถในการสื่อสาร

        อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักก็คือ

            1) ผู้เขียนมีจินตนาการสูงเกินพอดี ทำให้เกิดอาการ "จับแพะชนแกะ"

             ผลก็คือ แทนที่ข้อมูลทั้งวิทย์และพุทธจะน่าเชื่อถือ กลับกลายไปเป็นไม่น่าเชื่อถือ เพราะแม้แต่ข้อมูลพื้นฐานยังผิดเป็นจำนวนมาก อย่างไม่น่าเชื่อ (กล่าวคือ ผิดแทบทุกหน้า และหน้าละหลายๆ จุด)

             2) ผู้เขียนดูเสมือนหนึ่งยกย่องวิทยาศาสตร์ในตอนต้น แต่เขียนไปเขียนมา กลับเหยียบย่ำวิทยาศาสตร์อย่างไม่มีเหตุผลที่ดี

               เพื่ออะไร? ก็เพื่อยกเอาความเชื่อของตนให้สูงกว่า อ่านดีๆ นะครับ "ความเชื่อของตน"

             3) ผู้เขียนดูประหนึ่งยกย่องพุทธศาสนา แต่เอาเข้าจริงแล้ว ได้ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือครับ เพราะมีการตีความใหม่ที่ฟังเผินๆ เหมือนจะไม่มีอะไร แต่คิดดูดีๆ นี่อาจจะเข้าข่าย สัทธรรมปฏิรูป

                ลองไปดูตัวอย่างเช่น

                - แสงสว่างเสมอปัญญาไม่มี ก็ได้ ซึ่งผู้เขียนตีความว่า พระพุทธองค์ค้นพบความลับของแสงในทางกายภาพ!

                - เรื่องเวทนาย้อนกลับได้

                - เรื่องรอบพระพุทธบาท กับ graviton (อันนี้หลุดโลกไปเลย...ไว้จะหาโอกาสขยายความอีกที หากสนใจนะครับ)

         สำหรับบางท่านที่ใช้วาจาที่อาจจะไม่รื่นหูนั้น ผมคิดว่าท่านไม่ได้ต่อว่าพุทธศานาหรอกครับ แต่ท่นต่อว่า ผู้ที่นำพุทธศาสนาไปบิดเบือนเพื่อประโยชน์แห่งตน โดยจับจริตของคนไทยส่วนหนึ่ง (ที่มีจำนวนมาก) ซึ่งชอบอะไรก็ตามที่ออกแนวปาฏิหาริย์ & ส่งเสริมกิเลส (ที่มาภายใต้หน้ากากของธรรมะ)

         ผมมีความศรัทธาในพระพุทธองค์ โดยในกรณีนี้คงต้องยึดถือหลักกาลามสูตรเอาไว้ หากใครบิดเบือนสัจจะ ก็จำเป็นต้องชี้แจง และแจ้งให้ผู้อื่นทราบ เพื่อให้ไปพิจารณากันเองครับ

ขอบคุณมากครับ

บัญชา

มุ้งมิ้งค์ นักฟิสิกส์หนุ่ม

หวัดดีครับพี่ชิว (ผมเคยไปดักเจอพี่ตอนไปบรรยายที่ ม ศิลปากร ทับแก้ว) ผมเป็นคนนึงที่เรียนฟิสิกส์ตั้งเเต่ ตรี โท เอก แต่ส่วนใหญ่ก็เน้นไปด้าน experimental ทางด้าน Glass Materials ครับ แต่ก็ยังถือว่าขาดความมั่นใจในบางสาขา เช่นสาขาที่มันไม่มีในคอร์สเวิร์คปกติ  เช่น General Relativity เพราะเคยเรียนเเต่ Special relativity มา หรือเเม้กระทั้งพวก เคออส ทฤษฎีสตริง ก็ตาม ทำให้ไม่กล้าที่จะวิจารณ์ตัวเนื้อหาหนังสือมาก เพราะเราเป็นนักวิชาการ ต้องระวังเรื่องความเห็นให้มาก ไม่เช่นนั้นลูกศิษย์ลูกหามันจำไปใช้จะบาปเปล่าๆ (ถึงเป็นเเค่วจีกรรมที่เกิดด้วยความโง่ก็เถอะ)  สำหรับตัวผมมีสติปัญญาอันน้อยนิดแต่ก็ฝากความเห็นบางเรื่องไวให้นะครับ

(ผมมีหนังสือหมอแกครบทุกเล่มเลย 555 เเต่มีหนังสือพี่ไม่ครบทุกล่ม เพราะบางเล่มหาซื้อไม่ได้เเล้ว)

1. ผมเชื่อว่าคุณหมอ เจตนาดีจริง และตรงนี้ถือว่าเป็นกรรมดีอย่างที่เเกบอกในหนังสือของแก ขออนุโมทนาด้วย เเต่ฟิสิกส์ที่เเกผิดหลายๆที่ผม คงไม่ต้องบอกว่าที่ไหน นักฟิสิกส์ทุกท่านอย่างผมและเพื่อนๆ ปรายตาปร๊าดเดียวเห็นทันทีมองว่าผิด อันนี้ก็เป็นกรรมเหมือนกันเพราะเกิดจากความประมาท ไม่ใช่ความไม่รู้ อันนี้มาจากหนังสือทวารหก ของแกเลยนะครับ

อย่างไรก็ตาม ผมว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเรา ไม่ค่อยมีความถ่องเเท้ทั้งฟิสิกส์และพุทธศาสนา ทำให้สนุกกับจินตนาการของคุณหมอมาก (อันนี้ขอยอมรับผมด้วยในบางโอกาส) ทำให้มองข้ามข้อเท็จจริงไป

2. ข้อดีของหนังสือคือได้เรียนรู้ศาสนา หลักคำสอน ซึ่งผมเองก็ไม่รู้หรอกว่ามันถูกหรือไม่ เเต่พระไตรปิฏกยากเกินไปสำหรับผม(และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านพระไตรปิฎก) แต่ผมถือว่าคุณหมอเขียนเเล้วอ่านง่ายกว่าหนังสือทำนองนี้ในตลาดเยอะ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือของ คาปร้า หรือ คุณหมอประสาน แต่ก็ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น จุดประกายที่ดีมาก เพื่อที่จะ เกรงกลัวต่อบาป และเเสวงหาความจริง ทางพุทธศาสนา มาเพิ่มเติมความรู้ด้วยตนเอง เพื่อพิสูจน์ตามหลักกาลามสูตร แต่อย่างว่า หมอควรจะไปแก้ฟิสิกส์ให้ถูกซะก่อน ที่ตัวเองจะบาปมากกว่านี้นะครับ

3. การตีความเปรียบเทียบ สำหรับผมสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นความเห็น ไม่ใฃ่ข้อเท็จจริง วัฒนธรรมการอ่านของคนบ้านเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเเยกข้อเขียนเหล่านี้ให้ออก เปรียบเสมือน paper จาก journal ต่างประเทศ งานเขียนด้านการเปรียบเทียบของคุณหมอมันเป็นส่วน discussion มากกว่า (เพียงแต่ งานท่าน repeat ซ้ำเพื่อตรวจสอบยากเหลือเกินว่าจริงหรือไม่ เราจึงทำได้เเค่ตรวจสอบทฤษฎีทางฟิสิกส์ของท่านซึ่งง่ายกว่าส่วน discussion ซึ่งท่านคงได้มาจากการทดลอง-ในที่นี้คือนั่งวิปัสสนากรรมฐานครับ

แต่ท่านก็ต้องยอมรับว่ามีคนในวงการนี้จำนวนมากกำลังตรวจสอบท่านอยู่ และอาจจะตีพิมพ์เเนวคิดที่ขัดเเย้งกับท่านได้ ขอให้นักอ่านทุกคนใจกว้างกับส่วน discussion นี้นะครับ ผิดก็ถือว่าเราได้เรียนรู้ ให้วงการนักวิชาการ ผู้รู้ ช่วยกันแก้ไข เพื่อสร้างสรรค์ต่อไป (อย่างที่พวกเรากำลังทำอยู่ครับ) ซักพักมันจะเข้าที่เข้าทาง วอนผู้วิจารณ์อย่าไปใช้คำพูดดูเเคลนแก ผมว่าเสียเจตนาดีเเกหมด บอกแกไปตรงๆว่าแกผิดตรงไหน ผมว่าแกไม่โกรธ เพราะหนังสือแกเขียนไว้เองว่าความโกรธเกิดจากความกลัวนะครับ วิงวอนคุณหมออย่ากลัวที่จะแก้ข้อบกพร่องของตัวเอง อย่ากลัวที่จะเสียหน้า จับมือกันดีกว่า ผมเองเป็นนักฟิสิกส์ เรียนฟิสิกส์มาตั้งสามปริญญา ยังผิดฟิสิกส์อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจตาม เนหือฟ้ายังมีฟ้า ไม่มีอะไรที่เรารู้ไปหมดครับ

4. อันนีไม่เกี่ยวเเต่อยากจะเล่าให้ฟังครับ เพื่อนผมคนนึง สมัยเรียนเคยอยู่หอด้วยกัน เรียนฟิสิกส์ ตรี โท เอก เหมือนกัน เค้านั่งกรรมฐานเป็นประจำทุกวัน เข้าวัดประตำ จิตใจดีมาก นิสัยก็ดี ที่สำคัญเรียนเก่งสุดๆ นิสัยก็เข้ากับสังคมได้ ไปคาราโอเกะกับพวกคนบาปอย่างผมก็ได้ ชวนไปกินบียร์ก็ไป (แต่เค้าไม่กินนะ ไปนังด้วย) เรียนแทบจะ 4.00 ทุกปริญญา เรียกได้ว่าเกิดมาผม ไม่เคยเจอใครเก่งอย่างนี้มาก่อน หนังสือไม่เคยอ่าน เพราะผมอยู่หอด้วย รู้ดี น้อยครั้งมากที่จะเห็นมันหยิบหนังสือมาอ่าน

ที่พูดมาทั้งหมดนี่เพราะผมอยากจะบอกว่า มันน่าจะเกี่ยวกับกรรมฐาน วิปัสสนาครับ และการมีสติรู้ตลอดเวลาครับ  ทำให้เรียนรู้เร็ว ความจำดี วิเคราะห์เก่ง ผูกโยงปัญหาเป็นภาพได้ง่าย (ซึ่งสำคัญมาก สำหรับผู้เรียนฟิสิกส์คงรู้ดี ว่าการคิดเป็นภาพสำคัญอย่างไร) ผมจึงขอยกเจตนาดีชองหนังสือเล่มนี้ที่อยากให้พวกเราเน้นกรรมฐานให้เกิดสมาธิ ตัดกิเลส ออกจากจิตใจ เป็นที่ตั้งไว้ก่อน แต่ส่วนเนื้อหาที่ผิดต้องแก้นะ ไม่งั้นวงการฟิสิกส์เละเป็นโจ๊ก เพราะเด็กอ่านเยอะครับ

สุดท้ายนี้ ผมเห็นที่ท้ายหนังสือ ตอบปัญหาวิชา ... ..สามเล่มล่าสุดของคุณหมอ ซึ่งผมอ่านจบเเล้วเช่นเคย มีเปิดสอนกวดวิชาฟิสิกนิวตัน เเละหลายๆเรื่อง (แต่ไม่ยักกะมีฟิสิกส์แผนใหม่ของ ม 6 แฮะ)

ขอร้องคุณหมอ อย่าเปิดเลยครับ ดูจากวิธีคิดทางฟิสิกส์ของคุณหมอเเล้ว เป็นบาปแก่ตัวคุณหมออย่างเเรง ที่จะถ่านทอดวิธีคิด concept ผิดๆ ทางฟิสิกส์แก่เยาวชน ผมรู้ว่าการคิดด้วยภาพทางฟิสิกส์มันดีต่อการเรียนรู้แน่นอน เเต่จากหนังสือของคุณหมอ หลายๆภาพรวมไปถึงหลักการ เเละภาษา มันผิดมหันต์

คุณหมอควรจะเปิดอบรมเรื่อง

- การนั่งกรรมฐานขั้นต้น

- เทคนิคการทำสมาธิให้เรียนเก่ง

- การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขตามหลักพุทธเเละหลักจิตวิทยา...

ส่วนคอร์สฟิสิกส์ ให้ผมไปสอนให้ฟรีเลยก็ได้ครับ แต่คุณหมอต้องสอนกรรมฐานผมคืนด้วยนะ ผมจะไปเรียนคนเเรกเลย (พูดจริงนะครับเนี่ย)

ชอบคุณมากครับ ว่างๆจะเข้ามาเสนอความเห็นใหม่ ชอบมาก blog นี้

จักรพงษ์ แก้วขาว

หน่วยวิจัยแก้วเเละวัสดุศาสตร์

โปรแกรมวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

Email / MSN : [email protected]

สวัสดีครับ มุ้งมิ้งค์

        ขอบคุณมากเลยครับสำหรับความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา และสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

        พูดตามตรงเลยนะครับ พี่มีข้อสงสัยว่า หากการปฏิธรรมตามแนวนักเขียนท่านนี้ดีจริง เหตุไฉนวิธีคิดของเขาจึงได้บิดเบือนแม้แต่ตรรกศาสตร์เบื้องต้นเช่นนี้

        ยังไม่ได้พูดถึงฟิสิกส์เลยนะครับ เอาแค่วิธีคิดแบบพื้นฐาน!

        ลองไปอ่านดีๆ นะครับ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ผู้เขียนพยายามใช้วิทยาศาสตร์เป็นแค่เครื่องมือปูทางไปสู่ลัทธิความเชื่อของตนเอง โดยเอาพุทธศาสนามารองรับ คนจะได้ไม่กล้าเถียง

        ผู้เขียนไม่ได้ฟังอะไรจริงๆ หรอกครับ พี่เคยคุยกับเขาแล้ว อย่างกรณี quote ของไอน์สไตน์เกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่งพี่บอกเขาไปว่า quote นี้หาที่มายังไม่ได้ เขาก็ว่าเพิ่งรู้

        แต่พอไปออกรายการ TV ก็พูดเป็นตุเป็นตะ ตอกย้ำความเชื่อที่ไม่ได้รับการยืนยัน ทำให้คนไทยฉลาดเท่าเดิม หรือน้อยลงไปอีก

        ที่ว่ามาดูเหมือนมีอคติ แต่บอกมิ้งค์ไว้ได้เลยว่า มีคนที่เกิดอาการทางจิตในแง่ลบ โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือชุดนี้แล้ว

        เรื่องที่ผู้เขียนไม่เขียนฟิสิกส์ ม.6 ก็อย่าได้แปลกใจไปเลยครับ ขนาดฟิสิกส์ ม.4 ยังเละเทะ แบบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ถึงขนาดนั้น....ถ้ายังกล้าเขียนฟิสิกส์ ม.6 ออกมา ก็เป็นการแสดงความ.....(เติมเอง).....ของตนออกมา

        คนที่กำลัง "หลง" หรืออยู่ใน "โมหะ" นี่เขาไม่สนหรอกครับ ยิ่งหนังสือขายดีมาก เพราะสังคมไทยไม่สนใจวิชาการ ไม่สนใจความถูกต้อง กลัวทักแล้วเสียหน้า ฯลฯ เขาก็ยิ่งไปกันใหญ่ ส่วนรอบๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เงินก็พอ เรื่องอื่น ไว้ไปแก้ไขเอาดาบหน้า

        โดยสรุปพี่ไม่เชื่อว่าคนๆ นี้ฝึกจิตใจมาดีครับ มิฉะนั้นจะปล่อยให้ข้อมูลอันเป็นเท็จยังขายอยู่ได้อย่างไร

มุ้งมิ้งค์ นักฟิสิกส์หนุ่ม

ขอบคุณที่ให้ความเห็นครับพี่

ส่วนไอ้ตัวกระผมเองไม่กล้าที่จะไปวิพากวิจารย์งานของคุณหมอเค้าเกี่ยวกับศาสนาเลย อันเนื่องมาจากความรู้ด้านศาสนาเเบบงูงู ปลาปลาของผม

ทำให้ผมมองไปที่เจตนาของแกที่อยากจะให้คนนั่งกรรมฐาน ฝึกจิตใจให้เข้มเเข็ง ต่อสู้กับสิ่งยั่วยุ หรือการมีสมาธิก็ยังดี (พยายามมองในเเง่ดีแก่เพื่อนมนุษย์ไว้ก่อน)

ส่วนเรื่องที่จะพบความลับจักรวาล แบบ ไอสไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น ในเเง่ต่างๆที่แกบอกในหนังสือนั้น ไม่น่าจะเป็นสาระแก่คนส่วนใหญ่เท่าใดนัก นอกเสียจากเพิ่มอรรถรสความสนุกในจินตนาการเเละความบันเทิงโดยการผูกเรื่องทางฟิสิกส์ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ เข้ากับ ศาสนา (ซึ่งก็คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเช่นกัน-รวมทั้งผมด้วย) เลยไปกันใหญ่

สิ่งที่กล่าวมาทำให้คนทั่วไปชอบอ่านซีรี่ของคุณหมอแกนี้น่าดู ยกตัวอย่าง่ายๆ เช่น ญาติผู้ใหญ่ผมหลายท่าน ซึ่งมีความรู้สูง เป็นครูอาจารย์ที่เกษียณเเล้วบ้าง ผู้ที่ออกจากงานประจำมาพักผ่อนในช่วงสูงวัยบ้าง มาเเนะนำให้ผมอ่าน เพราะเห็นลูกหลานเรียนฟิสิกส์มา พอผมอ่านปั๊บนี่ โอวว คุณหมอชอบมั่วนิ่มหลายเรื่อง เเต่เราก็ยัง เอาวะ มองจุดดีของแกหน่อย (ตามประสาผม เวลาอ่านหนังสือครับ) ก็เลยสรุปจุดดีมาเป็นเจตนาของแกในการนั่งกรรมฐาน เพื่อฝึกตนน่ะครับ เเต่ไม่อยากให้ไป "พบ" หรือ "เห็น" แบบที่เเกเห็นหรอกนะ เเค่มองว่าจิตใจดี มีสมาธิ ก็น่าจะมีประโยชน์แก่ตัวเราเเละสังคมก็ยังพอรับได้

แต่หากปรากฏการณ์เดียวกันนี้ไปเกิดที่บ้านอื่น ที่มีเด็กๆ หรือผู้ที่ไม่มีวิจาณญาณในการอ่านดีพอ ซึ่งอันตรายนะครับ เพราะผู้ที่ถูกเเนะนำนั้นจะเชื่ออย่างเเรง ด้วยสไตล์การเขียนอย่างฟันธง บวกกับ สิ่งที่เราไม่ค่อยรู้เเละไม่ค่อยกล้าเถียงสองศาสตร์มารวมกัน

แต่อย่างว่าครับ สำนักพิมพ์ หรือ ตัวเเก เองไม่รู้ใครกันเเน่มีอำนาจที่จะหยุดการขายไว้ซักครู่ (แต่ค่าตอบแทนคงสูงน่าดูนะครับ ยอดขายขนาดนี้) เพื่อที่จะเเก้ให้ถูกต้องอย่างก่อน น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับตัวเเกเองด้วย ผมว่าคนจะยกย่องแกเยอะเลย

หากปล่อยไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนกับว่าเเกไม่ได้ทำตามหนังสือที่แกเขียนสอนคนอื่นน่ะครับ

สร้างกรรมเพิ่มน๊ะ อิอิ

ปล. ผมมีหนังสือที่ชอบอยู่สองเล่ม คือ

1. "เหนือมิติที่สี่ของไอน์สไตน์ [Beyond Einstein]"

โดย มิชิโอะ คากุ - แต่ง, สว่าง พงศ์ศิริพัฒน์ ของสำนักพิมพ์คบไฟ

และ

2. มิชิโอะ คากุ - แต่ง, สว่าง พงศ์ศิริพัฒน์ - แปล. จักรวาลของไอน์สไตน์: วิสัยทัศน์ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เปลี่ยนแปลงความเข้าใจเรื่องสเปซและเวลาอย่างไร. สำนักพิมพ์คบไฟ .

ผมว่าสองเล่มนี้อ่านเข้าใจง่ายกว่าของมติชน

และของอาจารย์ชัยวัฒน์เยอะเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคุณรอฮีม ปรามาส ผมอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง

พี่มีความเห็นเกี่ยวกับสองเล่มนี้อย่างไรครับ

สวัสดีครับ มุ้งมิ้งค์ นักฟิสิกส์หนุ่ม

      ช่วงนี้พี่ 'งานเข้า' ครับ เลยตอบยาวๆ ไม่ได้

      ขอตอบสั้นๆ ก่อนว่ายังไม่ได้อ่านหนังสือ 2 เล่มที่ว่ามาเลย แต่มีตัวต้นฉบับอยู่เล่มหนึ่งครับ

      วันอังคารที่ 7 ตุลาคม จะมีสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ สวทช. เป็นการจัดภายในครับ ถ้าสนใจ เขียนมาถามพี่ได้ที่ [email protected] นะครับ

อมรินหการดาผาวือต้นไหมจะหำให้ไหมครับ

แหะ..แหะ...อ่านไม่ออกครับ

แต่เดาว่า อมรินทร์คงไม่ออกมาป่าวประกาศเรื่องนี้ครับ ส่วนการเก็บคือนั้น ความหวัง -> 0

^__^

สวัสดีค่ะอาจารย์

มีข้อคำถามเกี่ยวกับคำที่ใช้โดยอ้างอิงถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพค่ะ

ข้อความในหนังสือเล่มหนึ่งเมื่ออ่านแล้วเกิดความไม่แน่ใจว่าควรต้องใช้คำว่า สัมพันธ์ หรือ สัมพัทธ์ค่ะ ตัวอย่างข้อความ (ก่อนหน้านี้ในหนังสือได้อ้างถึงทฤษฏีสัมพัทธภาพ)

เมื่อเอาลิ้นแตะไปที่น้ำตาลเรารู้สึกหวาน ความหวานเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดจากค่า"สัมพัทธ์"ของช่วงเวลาหนึ่ง แต่สัจจะไม่ได้อยู่ที่ปรากฏการณ์ ชีวิตกายและจิตนี้เป็นปรากฏการณ์ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราเข้าไป"สัมพัทธ์"กับมันนั้น เราสัมพัทธ์ด้วยอายตนะที่เป็นเช่นนั้น เราหาได้"สัมพัทธ์"กับสัจจะของมันไม่

สมมติว่าท่านทั้งหลายไปนั่งฟังเสียงของน้ำตกในป่าหรือที่ไหนก็ตาม ก่อนหน้าที่เสียงจะเกิดหรือก่อนหน้าที่เสียงจะเดินทางเข้าถึงหู เสียงนั้นไม่ใช่เสียง เป็นเพียงคลื่นชนิดหนึ่ง และก่อนที่หูจะปะทะกับเสียง หูนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ของหู ครั้นเมื่อกระทบกับหู จึงเกิดค่า"สัมพัทธ์"ระหว่างหูกับเสียง เรียกว่า โสตวิญญาณ

อย่างกรณีที่ท่านทั้งหลายเอาไม้อันหนึ่งตีระฆัง เราจะพบความจริงว่าเสียงนั้นไม่ใช่เสียงระฆัง แต่เป็นเสียงค่า"สัมพัทธ์"ระหว่างไม้ตีกับระฆังต่างหาก

ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณนฤชา โศภิษฐกลม

        ผมคิดว่าประโยคต่อไปนี้

        สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราเข้าไป"สัมพัทธ์"กับมันนั้น เราสัมพัทธ์ด้วยอายตนะที่เป็นเช่นนั้น เราหาได้"สัมพัทธ์"กับสัจจะของมันไม่

        ควรจะใช้คำว่า "มีปฏิสัมพันธ์" แทนคำว่า "สัมพัทธ์" ครับ

        จะเห็นว่าผู้เขียนพยายามจะลากคำว่า "สัมพัทธ์" เข้ากับเรื่องที่ต้องการอธิบาย โดยตีความคำว่า "สัมพัทธ์" เสียใหม่

        วิธีการนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในหนังสือเล่มนี้ครับ กล่าวคือ ผู้เขียน "ไม่แม่น" กับนิยามของคำที่ใช้ในวงการวิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็เสนอความหมายของคำขึ้นมาใหม่ (อย่างหลังนี่ อาจจะยอมได้ หากระบุชัดเจนว่า กำลังเสนอความหมายใหม่นะ)

        คำว่า "สัมพัทธ์" (relative) และ "สัมพัทธภาพ" (relativity) ในทางฟิสิกส์มีความหมายเฉพาะครับ คือ กล่าวถึง การที่ผู้สังเกตสองคน ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขทางกายภาพที่แตกต่างกัน (เช่น คนหนึ่งอยู่นิ่ง ส่วนอีกคนเคลื่อนที่ เมื่อเทียบกับอะไรสักอย่าง เช่น ถนน หรือ คนหนึ่งอยู่ในบริเวณที่มีสนามความโน้มถ่วงอ่อนๆ ส่วนอีกคนอยู่ในบริเวณที่มีสนามความโน้มถ่วงสูงๆ) แล้วสองคนนี้วัดค่าของปริมาณทางฟิสิกส์ได้แตกต่างกันครับ

        ถ้ามีประเด็นอะไรที่ต้องการให้ตอบละเอียดกว่านี้ ก็ส่ง e-mail มาได้ที่ buncht (at) mtec.or.th นะครับ [หมายเหตุ: ตัว (at) คือ @ โดยที่ต้องเขียนในรูปแบบนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ robot มาอ่านเจอ แล้วส่ง spam mail มาครับ]

 

2-B) “พระพุทธองค์ตรัสว่า “อัตตา (ตัวตน) ของคนเรานั้นไม่เคยมีอยู่จริง สรรพสิ่งในโลกเป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ (อิทัปปัจยตา)” ไอน์สไตน์ยืนยันซ้ำพร้อมสูตรทางวิทยาศาสตร์ว่า “ยิ่งเรียนรู้ความลับของธรรมชาติ ยิ่งทำให้มนุษย์เราต้องถ่อมตนและสันโดษ สรรพสิ่งสัมพัทธ์กันไปหมด”....” (หน้า 162) :

ข้อชี้แจงเบื้องต้น :

ประเด็นนี้น่าสนใจทีเดียว เพราะชื่อทฤษฎีสัมพัทธภาพ (theory of relativity) นั้นชวนให้เข้าใจผิดพลาดไปได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัมพัทธ์ (คือแล้วแต่ว่าสังเกตเทียบกับใครหรืออะไร) แต่จริงๆ แล้วนั้น ในทฤษฎีนี้ มีแนวคิดหรือปริมาณที่ตรงกันข้ามกับสภาพสัมพัทธ์อยู่ด้วย นั่นคือ ความไม่แปรเปลี่ยน (invariance)

ที่น่าสนใจก็คือ สมมติฐาน 2 ข้อที่ใช้ในการพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (special relativity) ก็คือ ความไม่แปรเปลี่ยนนี้ ผู้ที่สนใจโปรดดูแหล่งข้อมูลอ้างอิง [แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์]

หรือว่าตัวเรามีอยู่จิงคับ ตายไปเอาไรไปได้คับ

จะแย้งเรื่องอื่นไม่รู้เรื่องหรอกคับ อ่านไม่ออก แต่แย้งเรื่องนี้ เหมือนเอาสีข้างเขาถูคับ

สวัสดีครับ

       1. อ่านไม่ออก แสดงว่าความรู้พื้นฐานยังไม่ดีพอครับ เพราะผมเจอคนที่อ่านเข้าใจมากมาย เพราะพื้นฐานดี + ทัศนคติถูกต้องครับ

       2. การที่ทักว่า "แย้งเรื่องนี้เหมือนเอาสีข้างเข้าถู" แสดงว่า ผู้ทักไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้โดยตลอดครับ เพราะผู้เขียนพยายามบิดความหมายของคำว่า สัมพัทธ์ ให้เป็นไปตามที่ต้องการตลอดเวลา

       ผมจะทิ้งประเด็นที่ทักมาไว้สักพักนะครับ เพราะน่าจะมีคนได้ประโยชน์อยู่บ้างครับ

ปล. ความรู้น้อย ก็อย่าเสียดสีคนอื่นครับ คนดีๆ ที่อยากทำในสิ่งที่ถูกต้องเขารำคาญนิดๆ แต่ไม่ถึงกับเสียกำลังใจนะครับ (ยังดี)

ขอบคุณค่ะ อาจารย์บัญชา คะ

ที่ช่วย อธิบาย ข้อผิดพลาดของ ทพ. สม

ให้กระจ่างขึ้นค่ะ เพราะว่า หนูเองก็ชอบอ่านหนังสือทุกๆเล่มของ ทพ. สม ค่ะ

ถ้า หนังสือของ ทพ. สม มีข้อผิดพลาดเล่มไหนอีก ก็กรุณาเขียนบอกด้วยนะคะ

หนูจะได้เข้าใจในสิ่งที่ถูกค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณ PasSaRa

      ชอบอ่านหนังสือของผู้เขียนท่านนี้เป็นเรื่องธรรมดาครับ เพราะเขาเขียนเอาเองตามความรู้สึก

      แต่ต้องระวังการชี้นำที่ผิดพลาดให้มาก เพราะปรากฏอยู่ทั่วไปแทบทุกหน้าครับ!

ขอบพระคุณมากครับที่ท่านอาจารย์บัญชาได้ออกมาทักท้วง หลังจากที่ผมได้อ่าน ไอน์สไตน์พบ ฯ

ความจริงผมได้ติดตามหนังสือของ ทพ.สม มาอ่านหลายเล่ม รู้สึกชอบแนวการเขียน

เช่น เกิดเพราะกรรมหรือความซวย , ทวาร 6 ฯ , เดอะท็อปซีเคร็ต , เจาะตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แม้กระทั่งฟิสิกส์นิวตัน และล่าสุด หนังสือชื่อตอบปัญหาชีวิต

เนื่องจากชอบอ่านหนังสือแนวธรรม แต่ยิ่งอ่านไปอ่านไป มีความรู้สึกว่า ทพ.สม ท่านยังมีความเข้าใจแก่นพุทธศาสนาคลาดเคลื่อนไป (ในความรู้สึกของผม ) แน่นอนมันไม่อาจอ้างทฤษฎีใด ๆ ขึ้นมาหักล้าง หรือพิสูจน์ เนื่องจากเป็นลักษณะนามธรรม แต่ผมก็มีบางอย่างที่อยากจะให้ตรวจสอบจากหลักฐานที่พออ้างอิงได้อยู่บ้างเช่นจากในพระไตรปิฎกเองหรือจากพระอาจารย์ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่นท่านพุทธทาส , พระพรหมคุณาภรณ์ (ปอ.ปยุตโต ) เป็นต้น

แต่ก่อนที่จะเข้าถึงหลักธรรมล้วน ๆ นั้นอยากจะย้อนกลับมาในส่วนที่ ว่า

2-B) “พระพุทธองค์ตรัสว่า “อัตตา (ตัวตน) ของคนเรานั้นไม่เคยมีอยู่จริง สรรพสิ่งในโลกเป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ (อิทัปปัจยตา)” ไอน์สไตน์ยืนยันซ้ำพร้อมสูตรทางวิทยาศาสตร์ว่า “ยิ่งเรียนรู้ความลับของธรรมชาติ ยิ่งทำให้มนุษย์เราต้องถ่อมตนและสันโดษ สรรพสิ่งสัมพัทธ์กันไปหมด”....” (หน้า 162) :

คำว่าสัมพัทธ์ ที่ท่านอาจารย์ช่วยยกมา "สัมพัทธ์" = relative และ "สัมพัทธภาพ" =relativity สองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคำว่า อิทัปปัจยตา ที่ ทพ.สม นำมาเปรียบเทียบกัน คำว่า อิทัปปัจยตา ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ ได้ให้ความหมายภาษาอังกฤษว่า conditionality หมายถึงการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน ๆ จึงเกิดมี หรือคำว่า ปฏิจจสมุปบาท = dependent origination ( อ้างอิง หนังสือพุทธธรรม ฉบับเดิม หน้าที่ 78)

ท่านอาจารย์พุทธทาส ได้เขียนไว้ในหนังสือ ชุด ธรรมโฆษณ์ : อิทัปปัจยตา (หน้าที่ 26) ว่า การที่จะเข้าใจความหมายของอิทัปปัจยตา อย่างลึกซึ้งทั่วถึง ต้องศึกษาความหมายของคำว่า ตถตา : ความเป็นอย่างนั้น อวิตถตา : ความไม่ผิดจากความเป็นอย่างนั้น อนัญถตา : ความไม่เป็นโดยประการอื่น ท่านยังย้ำว่าอิทัปปัจยตาคือหัวใจของพระพุทธศาสนาที่สุดแต่ก็ถูกมองข้ามเสีย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ปอ.ปยุตโต ) ได้ให้ความหมายเป็นภาษาอังกฤษว่า ตถตา = objectivity , อวิตถตา = necessity และอีกคำหนึ่งครับที่น่าสนใจ อนัญญถตา = invariability คำนี้น่าจะตรงกับคำว่า ความไม่แปรเปลี่ยน invariance นะครับ

การที่การแปลความหมายของ สิ่งสัมพัทธ์ = อิทัปปัจยตา จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องโดยประการทั้งปวง ดังนั้นการที่ท่าน ทพ.สม ท่านเข้าใจหลักอิทัปปัจยาที่คลาดเคลื่อนไปทำให้การอธิบายหลักธรรมในหนังสือหลายเล่มของท่านผิดเพี้ยนไปจากคำสอน รวมจนไปถึงการอธิบายกฎแห่งกรรม ในหนังสือหลาย ๆ เล่มที่ท่านเขียน

ผมจะยกตัวอย่างความเข้าใจผิดในหลักอิทัปปจยาแล้วนำมาสู่คำอธิบายหลักธรรมที่ผิดพลาด

จากหนังสือ ตอบปัญหาวิชาชีวิต (สิงหาคม 2551 ) หน้า 35 ท่านตอบคำถามว่า

“ ข้อสงสัยที่ว่า ถ้าไปทำร้ายพระอรหันต์จะมีเจ้ากรรมนายเวรหรือไม่ ” ทพ.สม ตอบว่า พระอรหันต์ท่านสกัดผัสสะได้ทันก่อนที่จะเกิดเป็นเวทนา กิเลส ตัณหา อุปาทาน ดังนั้นแน่นอนว่า พระอรหันต์ไม่มีความรู้สึกทางลบจากการถูกระทำ ”

ผมไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านทั้งหลายเข้าใจนิยามของคำในหลักอิทัปปจยาตามากน้อยเพียงใด แต่ผู้ที่ศึกษาพุทธศาสนามาพอประมาณจะพึงเข้าใจได้ (หรือหากสนใจลองศึกษา พุทธธรรม ที่ผมยากมาเป็นอ้างอิงได้) แต่ก่อนที่ผมจะชี้ข้อผิดพลาดผมของยกพระสูตรจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ใน มหาวรรคที่ ๗

๑. อัสสุตวตาสูตรที่ ๑ หน้าที่ ๑๐๔ - ๑๐๕

ซึ่งกล่าวถึงหลักอทัปปจยาตาปฏิจจสมุปบาทว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับ ย่อมใส่ใจโดยแยบคาย

ด้วยดีถึงปฏิจจสมุปบาทธรรม ในร่างกายและจิตที่ตถาคตกล่าวมานั้นว่า เพราะเหตุ

ดังนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี

สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะ

ตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพ

เป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกข-

*โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

อนึ่ง เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ

วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

นี้คือกระบวนการเกิดขึ้นของทุกข์ หากมีอวิชชาเป็นปัจจัย เรื่อยไปจนถึงชาติ ..ชรามรณ..เป็นปัจจัย ในขณะเดียวกันกระบวนการดับไปแห่งทุกข์คือ อวิชชาดับ วิญญาณจึงดับ .... เรื่อยไปจน ชาติ ชรา มรณดับ

ทุกข์ย่อมไม่เกิด กระบวนการนี้เรียกว่าสังสารวัฎ

ที่นี้มาถึงความเข้าใจผิดของ ทพ.สม คือว่า พระอรหันต์ท่านมีสติไวมากท่านจึงสกัดผัสสะได้ทัน นี่เป็นความเห็นผิดอย่างชัดเจนในหลักปฏิจจสมุปบาท ตามหลักที่ยกมาแล้ว พระอรหันต์ท่านดับได้ตั้งแต่อวิชชา (อวิชชาสำรอกโดยไม่เหลือ ) เมื่อไม่มีอวิชชา สังขารจึงดับ วิญญาณดับ ..... สฬายตนะดับ เมื่อเหตุปัจจัยดับ จะมีผัสสะที่ไหนมาให้สกัดได้ทันเล่า พระอรหันต์ท่านพ้นจากสังสารวัฎได้แล้ว แต่ ทพ.สม ยังจะดึงท่านเข้ามาในสังสารวัฏ ให้มีผัสสะได้อีก ความเข้าใจผิดเช่นนี้ทำให้การอธิบายหลักธรรมเพื่อให้เข้าถึงนิพพานของ ทพ.สม จึงยกมาเน้นย้ำอยู่เพียงการฝึกสติปัฎฐาน 4 ในหนังสือทุก ๆ เล่มที่ท่านเขียน (แน่นอนหนทางนี้เป็นหนทางเอก) แต่ทั้งที่จริงหนทางสู่นิพพานนั้นคือ อริยมรรคมีองค์ 8 ที่ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ต้องมีความเห็นที่ถูกต้องก่อนแล้วการปฏิบัติจึงจะถูกทาง เมื่อเข้าผิดคลาดเคลื่อนเช่นนี้ การอธิบายหลักกรรม การอธิบายเรื่อง บาป บุญ จึงคลาดเคลื่อนไปด้วย

แน่นอนข้อเขียนของท่าน ทพ.สม มีเจตนาชักชวนให้ผู้คนได้มาสนใจหลักธรรม ซึ่งก็นับเป็นอานิสงส์อย่างยิ่ง แต่การเข้าถึงหลักธรรมที่คลาดเคลื่อนก็จากความเป็นจริง ก็อาจหาประโยชน์อันใดไม่ได้กับการเอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิต

ผมคิดว่านอกจากจะตรวจสอบความถูกต้องทางด้านฟิสิกส์และยังจำเป็นต้องช่วยกันตรวจสอบหลักพุทธธรรมกันด้วยนะครับและหากจะแก้ไขต้นฉบับผมคิดว่าน่าจะวงเล็บไว้ก็ได้ว่าเป็นความเห็นของผู้เขียน มิฉะนั้นผู้อ่านจะเข้าใจว่าเป็นคำสอนของพระพุทธองค์

และสุดท้ายอย่าไปเสียดายเลยครับที่ไอน์สไตน์ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธหรือมาเรียนวิปัสสนากรรมฐาน (ไม่อย่างนั้นเราเหาะเหินเดินอากาศได้แล้ว) สิ่งที่น่าเสียดายกว่า ก็คือว่าพวกเราในฐานะชาวพุทธ แต่กลับไม่ค่อยสนใจศึกษา หรือ สิกขา จนได้ประโยชน์จากพุทธธรรม ต้องรอให้มีฝรั่งมังค่ามายืนยันเสียก่อนเราถึงจะเชื่อ ทั้งที่สัจจธรรมนั้นอยู่กับเรานี่แล้ว ไม่ต้องไปรอให้ใครมายืนยัน อีก และหากไอน์สไตน์ จะนับถือศาสนาพุทธจนบรรลุอรหันต์ได้จิรง ผมเชื่อว่าสมการที่ไอน์สไตน์จะนำเสนอต่อชาวโลก จะต้องเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ว่า

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะ

ตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพ

เป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกข-

*โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

สวัสดีค่ะ ทุกท่าน

ได้อ่านงานของ ทพ.สม เล่มแรกก็เล่มนี้ละค่ะ "ไอนสไตน์พบ พระพทุธเจ้าเห็น" ทพ.สม ได้สร้างภาพของการทำสมาธิ ฝึกสติปัฎฐาน 4 ราวกับเพื่อสามารถวิ่งเล่นไปมากับมิติของกาลอวกาศได้ดังใจ เขาเล่าเรื่องพุทธศาสนาราวกับนิยายวิทยาศาสตร์ คล้ายๆ กับอ่านเรื่องราวของมหายาน เลยนะคะอ่านเพลินค่ะแต่ความที่ฉันเองไม่แม่นกับเรื่องราวของทฤษฎีและเจ้าทฤษฎีทั้งหลายรวมทั้งคัมภีร์ต่างๆของพระไตรปิฎกจึงได้แต่ทึ่งในการจับเรื่องราวมาร้อยเรียงและอธิบายได้ฟุ้งเฟื่องมากจนทำให้อยากฝึกสติปัฏฐาน 4 เพื่อเหาะเหินเดินอากาศได้อย่างพระอรหันต์ และพระโพธิสัตว์ทั้งหลายบ้าง...เหตุผลเช่นนี้อันที่จริงจะว่าดีก็ดีเพราะจะดึงคนให้มาสนใจพุทธศาสนาได้มาก...แต่ก็อาจทำให้แก่นของศาสนาเพี้ยนไปได้ อีกหน่อยอาจจะมีนิกายใหม่ๆ หรือสำนักปฏิบัติแบบสันติอโศกเกิดขึ้นมาอีกก็ได้ คิดแล้วก็สมควรต้องแจ้งให้สำนักพิมพ์รีบแก้ไขนะคะ

ได้เข้าไปอ่านบันทึกอื่นที่ใหม่กว่าแล้วค่ะ..รู้สึกขอบคุณความรู้ที่ได้รับจากบล็อกนี้ค่ะ..แม้จะเข้ามารู้ช้าไปหลายเดือน(อายจัง)

สวัสดีครับ คุณ dhanitar

        ขอตอบสั้นๆ นะครับ

        ทพ.สม เขาไม่เข้าใจฟิสิกส์ที่เขาอ้างถึงครับ สิ่งที่เขานำมาเทียบกับพุทธศาสนาจึงเป็นการจับแพะชนแกะอย่างมโหฬาร

        ส่วนเรื่องทางพุทธศาสนานั้น เป็นไปได้ว่ามีหลายประเด็นที่เขาตีความตามความเข้าใจของตนเอง และมีบางเรื่องที่เขาเข้าใจผิดอย่างไม่น่าเชื่อ (ว่าจะเป็นคนที่ศึกษาธรรมะ) อย่างเช่นเรื่อง อนิจจัง

        สังคมไทยน่าเป็นห่วงทีเดียวครับ เจอใครพูดเก่ง เขียนคล่องหน่อย ก็มีแนวโน้มที่จะคล้อยตามไป

สวัสดีค่ะ

หนูเป็นนักเรียนม.ต้นที่จะขึ้นม.ปลายในปีการศึกษาหน้า เข้ามาเห็นบทความนี้รู้สึกตกใจมากเพราะได้อ่านหนังสือทั้ง2เล่มแล้วค่ะ อ่านแล้วรู้สึกดี พอดีเป็นคนสนใจพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก "ไอนสไตน์พบ พระพทุธเจ้าเห็น"ได้ซื้อมาอ่านประมาณปลายปี50 รู้สึกว่าสนุกและลึกซึ้งไปกับทั้ง2ศาสตร์ ส่วน"ฟิสิกส์ นิวตัน" นั้น ไปเปิดอ่านที่ซีเอ็ดแล้วสนุกดีเลยซื้อมาอ่าน มีประโยชน์มากในบางส่วนกับการใช้ประกอบการเรียนฟิสิกส์ในค่าย สอวน.ค่ะ(ความเห็นส่วนตัว)ผู้เขียนทำให้อ่านฟิสิกส์แล้วสนุกไม่รู้สึกเบื่อเข้าใจง่าย ในบางกรณีที่ผิดพลาดในหนังสือทั้ง2เล่มนั้นต้องขอบคุณดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ เป็นอย่างมากค่ะ ที่ช่วยแนะนำให้เข้าใจ ในส่วนที่ถูกต้อง หนังสือเล่มไหนที่เหมาะสำหรับการเรียนฟิสิกส์ม.ปลาย ขอความกรุณา อ.ช่วยแนะนำด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ มณฑกานต์ คล้ายดี

        ยินดีที่ได้รู้จักนะครับ ^__^

        ความสนใจในพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องดีงามและน่าส่งเสริมอย่างยิ่งครับ

        อย่างไรก็ดี ทั้งพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับสัมมาทิฐิ หรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะความจริงเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ซึ่งจะทำให้สามารถปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสมครับ

        หนังสือดีๆ ทางวิทยาศาสตร์มีหลายเล่มครับ

        ถ้าเป็นดาราศาสตร์ ก็เช่น เอกภพ : เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของจักรวาล เขียนโดย คุณวิภู รุโจปการ

        ถ้าเป็นหนังสือแนวแนะนำความรู้เบื้องต้น ก็เช่น ชุด Introducing ที่จัดพิมพ์โดย สนพ.มูลนิธิเด็ก

        ถ้าเป็นหนังสือที่อ้างอิงได้ (แต่อาจจะอ่านยากบ้างบางเรื่อง เพราะเขียนแบบรัดกุม) ก็เช่น หนังสือที่ผลิตโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

        ส่วนหนังสือของ ทพ.สม สุจีรา นั้น แม้จะอ่านสนุก แต่ปัญหาก็คือ ผู้เขียนสำคัญตนผิด คิดว่าตนเองเข้าใจพื้นฐานทางฟิสิกส์ดีแล้ว ผนวกกับการใช้จินตนาการ (แบบเตลิดเปิดเปิง) ผสมเข้าไป ทำให้หนังสืออ่านเพลิน แต่ปัญหาใหญ่คือ ผิดพลาดมาก นอกจากนี้ ยังสอดแทรกทัศนคติที่น่าสงสัยและน่าตรวจสอบไว้มากมาย

        ถ้าน้องได้มีโอกาสเรียนฟิสิกส์ในชั้น ม.ปลาย ถึงระดับหนึ่งแล้ว ลองย้อนกลับไปอ่าน "ฟิสิกส์นิวตัน" ดูสิครับ จะพบว่า ทพ.สม ผิดพลาดอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น แนวคิดเกี่ยวกับแรงปฏิกิริยา หรือแม้แต่นิยามของ "มวล" และ "น้ำหนัก"

        ส่วนเรื่องทางพุทธศาสนาที่ผู้เขียนสร้างภาพว่าปฏิบัติธรรมมาจนน่าจะเข้าใจลึกซึ้งนั้น ก็น่าสงสัยยิ่งนัก ว่าเหตุใดจึงอธิบายเรื่องพื้นฐานมากๆ เช่น อนิจจัง ไม่ครบถ้วน นี่ยังไม่นับเรื่องที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีกอย่างเช่น วงจรปฏิจสมุปบาท ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย

        พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์นั้นงดงามโดยตัวเองอยู่แล้วครับ และหากจะเชื่อมโยงให้เห็นทั้งความสอดคล้องและความแตกต่าง ก็สามารถทำได้ แต่ต้องรู้จริงทั้งสองเรื่อง

        โดยสรุปก็คือ เรื่องทางฟิสิกส์นั้น ทพ.สม ผิดพลาดในเรื่องพื้นฐานจำนวนมาก จนไม่สามารถเชื่อถือได้ ส่วนเรื่องทางพุทธศาสนา ก็มีข้อกล่าวอ้างน่าสงสัยมากมาย และน่าจะมีผู้รู้มาตรวจสอบครับ

        ขอให้กำลังใจให้น้องมณฑกานต์ สนุกกับการเรียนรู้ และสามารถแยกแยะสิ่งที่ผิด ออกจากสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยตนเองครับ

สวัสดีค่ะ

ไปด่อมๆมองๆหนังสือเล่มนี้หลายรอบค่ะ

เมื่อวานก็ไปดูมา แต่ก็ยังไม่ได้ซื้อ อิอิ

เอาเล่มอื่นมาก่อน...ขอบคุณค่ะ

สำหรับคำชี้แจง ^_^

สวัสดีครับ

      ด้วยความยินดีครับ อ่านได้ แต่ต้องระวังสติปัญญาได้รับความเสียหายครับ ;-)

ศาสนาพุทธนั้น ไม่ใช่ทั้งปรัชญา และไม่ใช่ทั้งวิทยาศาสตร์

แต่มีความเป้นศาสตร์ในตัวเอง (ผมไม่ใช้คำว่า "ศาสน์" นะ)
มีจุดมุ่งหมาย หลักการ และวิธีการของตัวเอง

ความพยามในการเอาวิทยาศาสตร์มาผสมกับพุทธศาสตร์มีมามานแล้ว
เช่นการวัดพลังจิตด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์
การตรวจจับวิญญานด้วยเสียง เทอโมมิเตอร์ ฯลฯ

แต่ไม่มีควรอธิบายว่า พระหลาบรูปอ่านใจคนได้อย่างไร
ไม่มีใครอธิบายได้ปรากฏการณ์กลับชาติมาเกิดของผู้คนในทุกภูมิภาคทั่วโลก

ในโลกของพุทธศาสตร์แบบพระพุทธเจ้านั้น
แบ่งโลกออกเป็นสองอย่าง คือ รูป และ นาม

ถ้าจะอธิบายพอทำเนาให้คนที่ยังไม่คุ้นเคยกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
ก็อาจจะพออนุโลมให้คำว่า รูป คือ Tangible  นามคือ Intangible
แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า คำว่ารูป และ นาม ในแบบพระพุทธเจ้า ยังไม่หมดแค่นี้
เพียงแต่ต้องการอธิบายเป็นเบื้องต้นพอให้เห็นประเด็นเท่านั้นครับ


ส่วนในโลกวิทยาศาสตร์นั้น เป็นโลกของรูป ล้วนๆ

หรือที่ทราบว่าเป้นเรื่องของสสารและพลังงาน

หากสิ่งใดไม่มีคุณสมบัติเป้นรูป ก้จะไม่ถูกจัดว่าเป็นวิทยาศาสตร์
(ผมเข้าใจว่าต้องใช้คำว่า วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ใช่ไหมครับ ผมไม่แน่ใจ)

 

เหมือนเราพยามเอาความรักไปชั่งกิโล หรือหามวลปริมาตรของความรัก
ไม่ว่าเราพยามเท่าไหร่ ก็จะไม่สามารถทำให้มันเป้นวิทยาศาสรตืขึ้นมาได้
แต่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่า ความรักนี้มีอยู่จริง
แถมทราบดีว่า ความรักนี้มีความมาก ความน้อย  มีการถ่ายเท เสียอีกด้วย
ความรักเป็นนามครับ นามด้วยกันเช่นจิต สามารถรับรู้ถึงกันได้

ถ้าถามว่าจิตเป้นสสาร หรือ พลังงาน
นักวิทยาศาสตร์คงทราบดีว่า ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง แต่มันคืออะไรล่ะ?

รูปกับนาม ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
เพราะในปรมัตถธรรม 4 ของพระพุทธเจ้า หรือความจริงอันเป็นจริงที่สุดในจักรวาล มี 4 อย่าง คือ
1. รูป
2. เจตสิก
3.จิต
4. นิพพาน

ข้อแรกเป็นรูป
3 ข้อหลังเป้นนาม
รูปกับนามแยกกันเด็ดขาด

ผู้ยังหลงเข้าใจว่ารูปกับนามเป็นอันเดียวกัน พุทธเราจัดว่าเป้นมิจฉาทิฐิ
เห้นเห็นว่ากายนี้เป้นของเรา มีตัวกู ของกู อยู่ จัดเป้นมิจฉาทิฐิทั้งสิ้น

ถ้าใครอยากรู้ว่ารูป กับบนาม ในพระพุทธเจ้าศาสนาคืออะไร
ลองค้นหาคำว่า รูปปรมัตถ์ กับ นามปรมัตถ์ ก็จะช่วยให้เข้าใจพุทธศาสตร์มากขึ้น

 

ปัญหาของหนังสือเล่มนี้คือผู้เขียนอาจจะไม่ทราบว่า
ในศาสตร์แบบพระพุทธเจ้า ท่านมี รูปกับนามอยู่

เมื่อไม่เข้าใจสิ่งนี้ ก้เป้นธรรมดาที่อาศัยประสาทสัมผัสทั้ง 5 บวกกับ 1 ใจ
ในการน้อมใจเชื่อข้อมูลต่างๆ เห็นอย่างไร คิดอย่างไร เชื่อไปอย่างนั้น
ใช้ตรรกะบ้าง อ้างอิงตำราบ้าง เรียกว่ากาลามะสูตรม 10 ข้อ
ก้ติ๊กใช้ไปครึ่งหนึ่งเห้นจะได้

ความเข้าใจสิ่งต่างๆด้วยวิธีทั้งหลายในกาลามะสูตร
เป้นปัญญาระดับกลาง ปัญญาของโลก คือจินตมัยปัญญา
คือปัญญาได้จากการได้รับทราบมา แล้วเอามาขบคิดใครครวญเอา ไมไ่ด้ประสบพบกับความจริงนั้นๆด้วยตนเอง อย่างมีสมาธิ
ย่อมคลาดเคลื่อนเป้นนิจ

แต่ปัญญาที่ชื่อว่าภาวนามัยปัญญานั้น ต้องฝึกฝนจนมีอำนาจพลังอย่างเพียงพอ
จึงจะแยกแยะของจริงออกจากสิง่ที่ถูกอำพรางได้




 

 

 

สวัสดีครับ คุณขมิ้นทำ

          ขอบคุณมากเลยครับที่สละเวลามาให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้ที่สนใจประเด็นนี้

          ในส่วนของวิทยาศาสตร์นั้น ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วิทยาศาสตร์มิได้สนใจเฉพาะ สสาร (matter) และ พลังงาน (energy) เท่านั้น แต่ในปัจจุบันก็สนใจสิ่งที่เรียกว่า การผุดบังเกิด (emergence) ด้วย ครับ

 

ศาสนาเปรียบเทียบ

เป็นที่น่ายินดีที่ ดร. สม ได้นำเอาพระพุทธศาสนามาอธิบายทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และทำให้เยาวชนและผู้สนใจตื่นตัวในพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ไปพร้อม ๆ กัน

ปกติผมจะพบว่าศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามพยายามอธิบายการสร้างโลกของพระเจ้าโดยใช้วิทยาศาสตร์ ผมเองก็มีหนังสือที่พิมพ์ในมาเลเซีย ที่อธิบายการว่าการสร้างโลกของพระเจ้าของศาสนาอิสลามสร้างโลกเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าพระเจ้าของศาสนาคริสต์

ในกรณีของ ดร. สม เป็นการรุกกลับของศาสนาที่มีต่อวงการวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญเป็นศาสนาพุทธที่เรานับถือกันส่วนใหญ่ในประเทศไทย

ด้วยความรู้ Physics ม. ปลายที่ผมมีอยู่ ผมก็อ่านคำอธิบายทฤษฎีต่าง ๆ ของ ดร. สม ได้เข้าใจพอสมควร โดยผมไม่ได้ใส่ใจมากนักว่าเจ้าของทฤษฎีนั้น ๆ เป็นใคร เพราะยังไงเสียผมก็จำไม่ได้แล้ว แต่ยังเข้าใจทฤษฎีอยู่ (ผมเห็นว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ เราต้องเรียนด้วยความเข้าใจ การปฏิบัติมากกว่า ถ้าเน้นการจำการเรียนวิทยาศาสตก็จะไม่ได้ผล)

ผมดีใจที่ ดร. สม ได้อธิบายการปฏิบัติกรรมฐานอย่างนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค้างคาใจผมมานาน ถึงแม้การอธิบายจะเป็นการจับแพะชนแกะในสายตาของหลาย ๆ ท่าน แต่ผมก็เชื่อว่านี่เป็นสมมติฐานที่ควรค่าต่อการพิสูจน์ ในเมื่อ ดร. สม เชื่อว่าตนเองได้ปฏิบัติจนได้ข้าพิสูจน์นี้ ผมก็เชื่อว่าจะมีท่านอื่น ๆ อีกหลายท่านที่สามารถพิสูจน์สมมติฐานนี้ได้ถ้าสมมติฐานนี้เป็นจริง

อย่างน้อยที่สุดผมก็ได้มุมมองใหม่ที่มีพระพุทธศาสนาและผมก็เชื่อว่าวงการวิทยาศาสตร์ยังสามารถพัฒนาได้อีกมากหากนักวิทยาศาสตร์ใช้จินตนาการ สมาธิ และปัญญาฌานมาช่วย

ใครจะไปรู้ว่าประเทศอาจมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลในอนาคตก็เป็นได้ (ตัวอย่างของนักวิทยาศาสตร์ที่นั่งสมาธิแล้วได้ความคิดใหม่ ๆ ที่เราคุ้นเคยกัน คือ ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา)

สวัสดีครับ คุณศาสนาเปรียบเทียบ

         ขอบคุณที่แวะมาแสดงความคิดเห็นครับ

         ผมให้ข้อมูลคุณสั้นๆ ตรงๆ อย่างนี้ดีกว่า : เนื้อหางทางวิทยาศาสตร์ที่ ทพ.สม (ไม่ใช่ ดร.สม) เขียนถึงนั้น มีทั้งระดับ

         - จับแพะชนแกะ  (เช่น กรณี 'กราวิตอน')       

         - อ้างถึงโดยที่ไม่ได้เข้าใจในเรื่องนั้นๆ (เช่น กรณี 'ทฤษฎีเคออส)

         - กล่าวหาวิทยาศาสตร์ด้วยทัศนคติที่น่ารังเกียจ (เช่น กรณี 'ปืนกล')

         หากใครก็ตามที่มีความรู้ที่มากกว่า ม.ปลาย หรือ มีข้อสงสัยในลักษณะ sketic ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ทพ.สม มิใช่ผู้ที่ค้นพบว่า ศาสนาพุทธไปกันได้กับวิทยาศาสตร์ แต่กลับเป็นผู้ที่บิดเบือน (โดยไม่ตั้งใจ?) อย่างน้อยๆ ก็วิทยาศาสตร์ครับ

         ส่วนพุทธศาสนานั้น อาจจะเข้าข่าย สัทธรรมปฏิรูป ครับ

ขอเพิ่มเติมความคิดเห็นอีกเล็กน้อยครับ

          การเรียนวิทยาศาสตร์ที่ดีนั้น ต้องเข้าใจทั้งทฤษฎี การปฏิบัติ และการคำนวณครับ

          เพียงแค่การปฏิบัติอย่างเดียว - ไม่เพียงพอ นะครับ

ศาสนาเปรียบเทียบ

สวัสดีครับ ดร. บัญชา

ขออภัยที่เรียก ทพ. สม เป็น ดร. (แป้นพิมพ์พาไป)

ผมเองก็เข้าใจว่าเนื้อหาหลักที่ ทพ. สม ต้องการสื่อคืออะไร เพียงแต่ในการเขียนออกเป็นหนังสือ และอ้างอิงเนื้อหาประกอบมากไป ก็ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนไปได้จริง ๆ อย่างที่ ดร. บัญชา ชี้ให้เห็น

สำหรับผู้ีที่อ่านหนังสือนี้เพื่อเป็นนิยาย หรือเพื่อแสวงหาความรู้หรือแนวคิดใหม่ ก็คงไม่ถึงกับเสียหายอะไร แต่หากจะใช้ในการอ้างอิงกับการเรียน Physics ระดับปริญญาก็คงไม่ได้แน่นอน การเรียนระดับนั้นจะลงลึกเกินกว่าที่จะอ้างอิงหนังสือที่มิได้เขียนขึ้นเพื่อจุดประสงค์ทางวิชาการ

ในด้านหนึ่ง ผมก็ดีใจที่มีกระแสความสนใจให้เรากลับมาสนใจในพระพุทะศาสนาซึ่งคนรุ่นใหม่จะมองว่าเป็นเรื่องของคนมีอายุแล้วเท่านั้น ในขณะที่การติดตามพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ชั้นสูงเช่นทฤษฏีสัมพันธภาพ Quantum Physics, A brief history of time โดย Stephen Hawking ก็ดูจะไกลตัวคนรุ่นใหม่แม้จะเป็นคนที่เรียนสายวิทย์มาตลอดจนถึงระดับปริญญาตรี หนังสือนี้จึงเป็นโอกาสที่ให้คนสนใจ Physics ในแขนงที่น้อยคนจะเข้าใจ

ผมก็มองว่าเป็นโอกาสของเยาวชนไทยที่ได้มีเวทีให้สัมผัสกับนักวิทยศาสตร์ระดับอาจารย์ ได้แลกเปลี่ยนทัศนะ และความรู้ ได้รับคำชี้แนะที่ถูกต้อง ผมเห็นว่าเยาวชนไทยได้ประโยชน์จาก Free marketing นี้อย่างมากและจะสนใจเรียน Quantum Physics และอยากเป็นนัก Physics มากขึ้น

ผมเชื่อว่าทุกคนคงได้เห็นปรากฎการณ์ Davinci Code และ Angel and Demon ที่ได้รับการต่อต้านอย่างแรงจากศาสนจักร ด้วยการพยายามแบนการฉายภาพยนตร์ในหลาย ๆ ประเทศ แต่สุดท้ายก็ำได้ฉายในเกือบทุกประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นนครวาติกันที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็อำนวยความสะดวกให้ใช้สถานที่ในการถ่ายทำฉายภาพยนตร์ Angel and Demon เป็นอย่างดี เพราะเล็งเห็นว่านึีเป็นโอกาสอันดีที่จะให้ประชาชนเข้าใกล้ศาสนจักร

หากผมเป็นอาจารย์ในแขนงวิชา Quantum Physics ผมจะดีใจมากที่มีกระแสนี้และจะขอบคุณ ทพ. สม อย่างสูงที่ได้ปลุกกระแสความสนใจนี้ และผมจะใช้โอกาสนี้ชัีกชวนเยาวชนให้มาสนใจเรียน Physics มากขึ้น แล้วเราควรจะเห็นนักเรียนเก่ง ๆ แย่งกันเรียนวิทยาศาสตร์ แทนที่จะแย่งกันเรียนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (แพทย์ วิศวกรรม) เช่นเดียวกับที่ผมและเพื่อน ๆ เป็น ประเทศที่เจริญต้องการนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากในการสร้างความรู้ใหม่ นวัิตกรรมใหม่ ซึ่งสำคัญกว่าการสร้างวิศวกรที่เพียงแต่การนำเข้าเทคโนโลยี

ในฐานะที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ ผมเข้าใจดีว่าการตลาดที่ได้ผลและสามารถสร้างกระแสไปยังกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากนั้นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากและใช้เวลาและความพยายามมาก ซึ่งผมก็เชื่อว่า ดร. บัญชา ก็พยายามทำด้านอยู่จากการเขียนหนังสือ แต่การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างและจำนวนมากคงเป็นข้อจำกัดของ ดร. ยัญชา อย่างแน่นอน

ในเมื่อ ทพ. สม ได้ทำการตลาดนำร่องไปให้อย่างดีแล้วนั้น ทำไมนักวิทยาศาสตร์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จะไม่เกาะกระแสนี้เพื่อให้เราได้บรรลุเป้าหมายที่เราต้องการ

สาธุคุณบัญชาด้วยนะครับ

ผิดถูกช่วยกันท้วงติงอย่างสร้างสรรค์ด้วยจิตอนุเคราะห์

เช่นที่คุณบัญชาทำนี้ดีแล้ว ชอบแล้ว

..........

เว้นเสียแต่แจ้งในสัจจธรรม ในภุมิพระอรหันต์

ธรรมมะจึงจะไม่มีคลาดเคลื่อน ไม่เกิดสัทธรรมปฏิรูป

เรามันปุถุชน ย่อมมีความคลาดเคลื่อนในธรรมได้ ผิดพลาดกันได้

้เห็นความผิดพลาดแล้วท้วงติง ผิดแล้วแก้ไขตัวเอง ก้เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ

ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในความรู้ของตนเกินไป ไม่ประมาทในธรรม

เป็นความประเสริฐ พระพุทธเจ้าก้สั่งเสียว่าอย่าประมาท

ธรรมทาน วิทยาทาน

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะครับ

"ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"

สวัสดีครับ คุณศาสนาเปรียบเทียบ

         ขอบคุณมากครับที่ชี้แนะแนวทางที่สร้างสรรค์ และเป็นการมองในเชิงบวกมากๆ

         อย่างไรก็ดี กรณีหนังสือของ ทพ.สม นี้ หลังจากที่ผมเฝ้าติดตามอยู่เป็นเวลากว่า 1 ปี โดยที่

         - ได้มีโอกาสสนทนากับผู้บริหารระดับสูงของอมรินทร์ คือ คุณเมตตา และคุณสุภาวดี

         - ผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ และตัวผู้เขียนเอง

         - ผู้อ่านที่ไม่รู้เท่าทันจำนวนมาก

         - ผู้อ่านที่รู้เท่าทัน (และรำคาญอย่างมาก)

         ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ถึง ณ ปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ (รวมทั้ง ฟิสิกส์นิวตัน) ได้สร้างความเสียหายแก่สติปัญญาต่อคนอ่าน (มองภาพรวม) มากกว่าสร้างสิ่งดีๆ

        กล่าวคือ ทำให้ผู้อ่านส่วนหนึ่งเข้าใจและมีทัศนคติต่อวิทยาศาสตร์ (และอาจรวมทั้งพุทธศาสนาด้วย) ผิดพลาด อย่างแนบเนียน

        มีผู้อ่านบางคนได้รับผลกระทบทางจิตไปแล้วด้วย (ขณะนี้กำลังได้รับการรักษาจากจิตแพทย์อยู่)

        ส่วนที่ว่าอาจารย์ทางฟิสิกส์จะดีใจที่มีคนจุดกระแสนั้น ขอเรียนให้ทราบว่าในความเป็นจริงแล้วกลับกันครับ!

        กล่าวคือ หากเป็นการจุดกระแสโดยนำเอาสิ่งที่ถูกต้องและน่าสนใจมานำเสนอ ก็จะเป็นเรื่องน่ายินดี (และสามารถทำได้)

        แต่กรณีนี้เป็นการจุดกระแสโดยการบิดเบือนและตีความตามอำเภอใจ (มากจนไม่น่าเชื่อ) ทำให้นักวิชาการที่ได้อ่านไปสักบทสองบท ก็เกิดความรำคาญ หรือบางท่านถึงกับรังเกียจ (จริงๆ นะครับ)

        อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังพอมีทางออกที่สร้างสรรค์อยู่บ้าง คือ นำเอาประเด็นต่างๆ มาวิเคราะห์อย่างละเอียด (คล้ายๆ กับกรณีที่มีผู้อ้างว่า "นิพพานเป็นอัตตา" แล้วท่านพระธรรมปิฎกได้เขียนหนังสือชี้แจงเป็นเล่ม หนามาก นั่นเองครับ) - แต่ถ้าจะทำแบบนี้ต้องลงแรง ลงพลังสมอง มากมายจริงๆ ครับ

        ลองคิดดูเล่นๆ นะครับว่า หากมีใครสักคนมาบิดเบือนข้อมูลส่วนตัวของท่าน (เช่น ประวัติครอบครัว หรือประวัติการทำงาน) อย่างมาก พอท่านไม่พอใจ ก็มีคำอธิบายว่า น่าจะเป็นการดีเพราะเป็นการจุดกระแสทำให้คนสนใจท่าน.... - นี่เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นนะครับว่า ใครก็ตามที่รักในความรู้ที่ถูกต้อง ก็ไม่น่าจะชอบในในวิธีการเช่นนี้นักครับ

        ขอบคุณอีกครั้งครับที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

สวัสดีครับ คุณขมิ้นท่า

        ขอบคุณอีกครั้งครับ

        พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับ สัมมาทิฐิ อย่างสูงใช่ไหมครับ?

สวัสดีครับ คุณบัญชา

มีเรื่องทิ้งไว้ให้คุย :-)

่คำว่าสัมมาทิฐิในแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

กับแบบที่เป็นความหมายของพระพุทธเจ้านี้ต่างกัน

ในแบบของคนทั่วไปก็ในลักษณะทำนองที่ว่า

เป็นความถูกต้องของข้อมูล หรือ ความถูกต้องตามหลักวิชาการต่างๆ

เรายืมคำว่าสัมมาทิฐิของบาลี มาใช้จนคุ้นเคยกันนั้น

สัมมาทิฐิที่แท้ หรือคำว่าสัมมาทิฐิที่ปรากฏอริยมรรคนั้น

หมายถึงความรู้แจ้งในอริยสัจ แบ่งปัน 4 ภูมิระดับซึ่งคุณบัญชาคงทราบ

ต้องภูมิอรหัตมรรคเท่านั้น จึงจะเรียกได้ว่า สัมมาทิฐิจริงๆ แท้ๆ

ส่วนพวกเราทั่วไปนี่ หรือประเด็นความถูกผิดของหนังสือ

ก็ไำม่อาจจะเรียกว่าเป็นสัมมาทิฐิได้ (ถ้าเอานิยามแบบอริยมรรคนะครับ)

ใกล้เคียงที่สุด เท่าที่ผมทราบ น่าจะใช้คำว่า "วิมังสา"

คือทำความเห็นของตนให้ตรง (ตามหลักต่างๆ)

เช่นหลักการทำต้มยำ ก้ต้องมีพริกแกงต้มยำ

จะได้เอาพริกเขียวหวานมาใช้ นี่เรียกว่าผิดหลักวิชา

ให้ข้อมูลเรื่องคำศัพท์นะครับ

แต่ผมเข้าใจคุณบัญชขาว่าหมายถึงบริบทที่ว่า "สัมมาทิฐิหมายถึงถูกต้องตามหลัก (อะไรก็ว่าไป)"

ยินดีที่ได้สนทนาด้วยครับ

ปล. หาเรื่องผุดกำเนิดไม่ค่อยเจอ

หากมีผู้นำมาเผยแพ่เป็นวิทยาทาน ให้เข้าใจกันง่ายๆ คงจะดีไม่น้อยนะครับ (ขออ้อมๆนะ)

สาธุครับ

สวัสดีครับ คุณขมิ้นทำ

       ขอบคุณมากครับสำหรับความรู้ในทางพระพุทธศาสนา

       คำว่า 'สัมมาทิฐิ' ที่ผมใช้นั้น มีความหมายทั้ง 2 แง่มุมอย่างที่อธิบายมานั่นแหละครับ

       ในแบบชาวบ้าน : คำนี้หมายถึงว่า ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ แบบชาวบ้านทั่วๆ ไป) ทำให้การนำไปเทียบเคียง ต่อยอด หรือตีความ ผิดเพี้ยนไปหมด ไม่น่าเชื่อถือ

       ในแบบพุทธศาสนา : การที่เขาอ้างว่าตนเองฝึกจิตมาดีแล้ว จนมาเขียนหนังสือสอนคนนั้น ผมก็ไม่เชื่อครับ เพราะหากฝึกจิตมาดีแล้ว เหตุไฉนจึงอ่านหนังสือไม่แตก แถมยังกล่าวร้ายต่อวิทยาศาสตร์โดยไม่มีเหตุผลที่ดีรองรับ (เช่น กรณีปืนกล) อีกทั้งยังเข้าใจเรื่องพื้นฐานทางพุทธศาสนาอย่างเช่น อนิจจัง ไม่ถูกต้องอีกด้วย (ลองไปอ่านหนังสือ 'ฟิสิกส์นิวตัน' ดูสิครับ)

       ลองไปอ่านความคิดของผู้เขียนดูนะครับ แล้วจะเข้าใจว่าผมหมายถึงอะไร

       ผมเชื่อว่าที่ฝึกฝนจิตมาอย่างถูกต้องตามหลักการทางพุทธศาสนา ไม่น่าจะมีพฤติกรรมเช่นผู้เขียนคนนี้ (ยังมีอีกหลายเรื่องครับ ไว้จะค่อยๆ ทยอยเขียนถึง)

สวัสดีครับคุณบัญชา ยินดีที่ได้สนทนานะครับ

 

ประเด็นที่ว่า ทำไมฝึกจิตมาดี ศึกษามาดี จึงมีความคลาดเคลื่อนในธรรม
หรือประเด็นทำนองที่ว่า รู้ไม่จริง แล้วชอบเอาไปพูด


ในการศึกษาพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านวางหลักสูตรมาแล้วว่า
ต้อง ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ

 

โดยเฉพาะว่าผู้เขียนก็เป็นนักวิทยาศาสตร์
การเรียนวิทยาศาสตร์ มันก็เป้นปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ ในตัวอยู่แล้ว
กล่าวคือ หนังสือเรียนนั้นเขาก็แจกแจงความรู้ที่ถูกต้องเอาไว้หมดแล้ว
แต่ก็้ยังบังคับให้เราเข้าห้องแล็บเพื่อทดลองดู ว่าที่หนังสือพูด มันจริงไหม
เมื่อทดลองแล้ว มาสอบทานเทียบกับหนังสือ ก้จะมีความเข้าใจอย่างแตกฉานในที่สุด


ความรู้ประเภท"ประสบการณ์ตรง"นี้เอง คือ ความรู้ขั้นปฏิเวธ
หรือที่เรียกว่า สันทิฐิโก , ปัตจัตตัง

แต่ปัญหาของหนังสือนี้ คงจะเป็นว่า ปริยัติก็ไม่แตก แต่ด่วนเข้าห้องแล็บก่อน
หรือไม่เข้าห้องแล็บเลยแล้วนั่งนึกๆเอา
ผลการทดลองเลยเพี้ยนๆไป ปฏิเวธไม่จริง

คนสมัยนี้ ที่ธรรมะกำลังบูม แต่ว่ากลับ"พูด"กันมากกว่า"ทำ"
หลวงพ่อ"ชยสาโร" ท่านเรียกตลกดี ท่านเรียก"ชาวพุทธ"พวกนี้ว่า "ชาวพูด"
คือพูดกันมาก พูดกันเก่ง แต่หาคนปฏิบัติให้รู้จริงจริงนั้นมีน้อย
อาศัยจำ-แล้วคิด-แล้วพูด  ่ไม่ใช่ จำแล้ว-เอามาปฏิบัติ-จนรู้จริง-แล้วค่อยพูด

เมื่อแรกผมหันมาสนใจศาสนาพุทธ ผมก็เหมือนผู้เขียนนี่แหละครับ
พิมพ์เดียวกัน ชาวพูดเหมือนกัน และก็สังเกตุว่าคนประเภทเดียวกันนี้มีมาก

 

สังเกตุต่อไปอีกว่า พอเข้ามาศึกษาใหม่ พบเห็นอะไรแปลกประหลาดเยอะ พระพุทธศาสนานี้มีอะไรเหนือเหตุผลเยอะ
เราที่คุ้นเคยในโลกของเหตุผล พอมาเจอแล้วเราพยามจะโยงมันให้เป็นเหตุผล

ราเคยชิน Perception  แบบวิทยาศาสตร์มาอย่างนั้นทั้งชีวิต
พอมาเจอคำว่า นรก สวรรค์ นิพพาน และเื่รื่องพิศดารทั้งหลายในพระคัมภีร์ปั๊บ
เราก้จะเอาวิญญานนักวิทยาศาสตร์มาเลย เอามาพิสูจน์

แต่ปรากฏว่าไม่ได้ ไม่ใช่  ยิ่งพยามกดให้มันเข้าล็อกวิทยาศาสตร์
ยิ่งขัดแย้ง ยิ่งวิปลาสไปใหญ่

คุณบัญชาลองนึกดูสิครับ ว่า เราจะหา existance ของ จิต ได้อย่างไร
จิตเป็นพลังงานหรือสสาร หรือถ้ามันเป็น "ผุดกำเนิด" เราจะพิสูจน์อย่างไรในแบบของวิทยาศาสตร์

สุดท้ายเราก็ไปใช้วิธีในกาลามสุตร เช่นเทียบเคียง คะเน ตรรกะ
ซึ่งไม่มีวิธีใดพิสูจน์ความมีอยู่ของจิตได้

แต่ปรากฏว่า นั่งสมาธินี่แหละ ถึงจะเข้าถึงจิตได้ ศึกษาปรากฏการณ์ของจิตได้
ซึ่งมันหลุดกรอบวิทยาศาสตร์ไปเลย

ถ้าคุณบัญชาอยากจะทดลองว่า ปรากฏการณ์ทางจิต
ที่ override วิทยาศาสตร์ไปเลย เช่น "การอ่านใจคน" มีอยู่จริงไหม
ลองไปที่วัดสวนสันติธรรม ศรีราชา ชลบุรี ไปปฏิเวธให้เห็นจริงๆเลยว่า
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโชนี้ อ่านใจคนได้จริงไหม อ่านได้แค่ไหน
อ่านเป้นภาพ อ่านเป้นคำๆ หรืออย่างไร

ไปปัตจัตตัง สันทิฐิโกกับตัวเองเลยว่า
กระบวนวิธีในการศึุกษาจิตของพระพุทธเจ้านี้ มีจริงไหม
ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าสักแต่พูดคนเดียว แล้วไม่มีคนทำตามได้ ไปดูเลยสักตัวอย่างหนึ่งของเรื่องพิศดารเช่นว่า จิตมีสมรรถนะในการอ่านจิตผุ้อื่นได้นั้น มันมีจริงไหม มาได้ยังไง เป้นอย่างไร

เนียะครับ ผมถึงเล่าให้ฟังแต่แรกว่า ความรู้แบบพระพุทธเจ้านี่มันไม่ใช่"เพียงแค่"วิทยาศาสตร์"
แต่มีความเป้นศาสตร์อย่างมีระบบแบบแผนเฉพาะของตน

หนังสือนี้ก็เป้นความพยามที่จะ ทำให้พระพุทธศาสนา = วิทยาศาสตร์
มันเลยมีแต่ข้อผิดพลาดเต็มไปหมด

แล้วโดยเฉพาะว่า ไม่เข้าใจอย่างแท้จริงในศาสตร์ทั้งสอง
แล้วพยามจะผสมกันให้มันลงบล๊อกเดียวกันให้ได้ มันเลยมีแต่ความผิดพลาด

ผมอยากจะพูดว่า วิทยาศาสตร์เป้น sub set ของพระพุทธศาสนา แต่มันก็ไม่ใช่อีก
มันแค่มีกระบวนการบางอย่างที่ intersect กันเท่านั้น

ใช้เครื่องหมาย = ไม่ได้เลย

..............

เวลาเราจะเรียนหนังสือนะครับคุณบัญชา เรามักจะได้รับการชี้แจงเรื่อง outline ของการศึกษาก่อน ว่าจะศึกษาเรื่องอะไร มีโครงสร้างอย่างไร "มีขอบเขตอย่างไร"

พระพุทธศาสนาในกำมือของสังคมเรานี้ ก็มีจุดอ่อนตรงนี้แหละครับ
คือไม่มี outline

 

ตามมีตามเกิด ตาดีได้ ตาร้ายเสีย

คนที่หันมาศึกษาพุทธศาสนาใหม่ๆ เลยต้องงมตั้งนาน กว่าจะจับต้นชนปลายถูก จึงมีผู้พลาดอยู่บ่อยๆ

กว่าจะรู้ว่าที่ตัวศึกษาอยู่นี้ มันเป็นใบไม้นอกกำมือพระพุทธเจ้า
นอก course outline

แม้ว่ามันจะอยู่ใน universe แต่มันอยู่นอก set ที่ชื่อว่า"พุทธธรรม"
เรื่องที่่ผู้เขียนพยามเข้าใจเรื่องโลก จักรวาล อะไรทำนองนี้

ใครพยามอธิบายเรื่องโลก จักรวาล ด้วยพระพุทธศาสนานี้
ก็พึงทราบว่า "ไม่ใช่ขอบเขตของพุทธศาสนา"


ในอจินไตยสูตร หรือ เรื่องที่(มนุษย์)ไม่ควรขบคิด บอกไว้ชัดว่า "โลกวิสัย"
หรือขยายความว่า พุทธธรรมนั้น ไม่สนใจเรื่องที่มาของโลก จักรวาล อะไรทำนองนั้น


เพราะศาสนาพุทธเรา มีจุดประสงค์เดียวคือ "ทำให้เราพ้นทุกข์"
นอกเหนือจากนี้ เราไม่สนใจตอบ


แต่คนเขียนเขาอาจจะไม่ทราบ course outline เลยพลาดไป

 

ถ้าเขาคิดแก้ไขก็น่าอนุโมทนานะครับ
และเพราะมีกัลยาณมิตรอย่างคุณบัญชา ช่วยแยกแยะให้ชัดเจน
ยิ่งน่าอนุโมทนาขึ้นไปอีก


ควมเข้าใจผิด ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเสียประโยชน์แต่อย่างเดียว
เพราะถ้าเราชำระกันให้บริสุทธิ์แล้ว
ผู้ที่เขาจะเผอิญซ้ำรอยประวัติศาสตร์เดิมก็จะได้ทราบว่าตนนั้นเข้าใจผิด
และมีคนเข้าใจผิดไปก่อนหน้านี้แล้ว แล้วได้รับการชำระแล้ว
ก็ช่วยให้เขาประหยัดเวลา ไม่เปลืองตัว เปลืองใจ

บุญใหญ่นะครับคุณบัญชา ผมยินดีมากที่คุณบัญชาช่วยเสียสละเรื่องนี้
แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท อาศัยศีลเป้นอาภรณ์
พยามให้บริสุทธิ์ แล้วทานบารมีนี้จะช่วยให้คุณบัญชาชื่นใจทีหลัง
อานิสงค์ของศ๊ลบริสุทธิ์นี่เหลือเชื่อจริงๆครับ แต่ก้เป็นเหตุเป้นผลให้เข้าใจได้



สาธุอนุโมทนาครับ

 

 

 

ผมว่าเรื่องนี้ควรเอาขึ้นโต๊ะนั่งเถียงกันนะ..จะให้ข้อยุติเพราะเป็นเรื่องสำคัญทางศาสนาด้วย ผิดพลาดหรือไม่ผิดพลาดอย่างไร ความจริงอยู่ตรงไหน จะได้เข้าใจกัน ผมว่าพุทธก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์แน่นอน ขึ้นอยูู่กับการอธิบาย ต้องมีความรู้ทั้งสองด้านคือวิทยาศาสตร์และพุทธ

สวัสดีครับ ผมเพิ่งมาอ่านครับพอดีกำลังสนใจเรื่องพระพุทศาสนาครับ จึงขออนุญาติเรียนถามท่าน. ขมิ้นทำ ว่าผมจะเริ่มศึกษาธรรมอย่างไรดี คือขอ outline ในการเรียนพระพุทธศาสนาครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ จากการอ่านข้อความที่แสดงความคิดเห็นทั้งหมด เห็นด้วยกะ คุณ ขมิ้นทำ ค่ะ โดยปกติ เคยปฎิบัติธรรมและเข้าใจคนที่ปฏิบัติที่รู้เห็นได้ด้วยตนเอง บางครั้งก็ไม่สามารถอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรได้ทั้งหมด เพราะมีบางอย่างที่อธิบายไม่ได้จริง ๆ

โดยส่วนตัวชื่นชมงานเขียนของคุณหมอสม ที่พยายามจะอธิบายให้ได้มากที่สุด อาจจะไม่ตรงทั้งหมด แต่ดิฉันอ่านแล้วก็ไม่ได้ใส่ใจกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์มากมายนัก เพราะไม่ได้คิดจะเอาไปอ้างอิงกับงานทางวิชาการอยู่แล้ว ซึ่งงานระดับนั้นคงต้องหาแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้และมาจากต้นฉบับอยู่แล้ว

เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่จุดประกายธรรมะในใจ ทำให้อยากศึกษาค้นคว้ามากกว่านี้ สนใจในพระพุทธศาสนา และคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น

สวัสดีครับ คุณ Cateye

        ยินดีด้วยครับที่คุณพบข้อดีของหนังสือเล่มนี้

        ขออวยพรให้ประสบความเจริญในธรรมนะครับ

        อย่างไรก็ดี ข้อเสียควรจะได้รับการทักท้วงและแก้ไขครับ เพราะแต่ละคนนั้นมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ และจริต แตกต่างกันครับ

ผมก็เพิ่งอ่านจบ

หนังสือเขาก็ดีนะ

หมวดศาสนา /ธรรมะประยุคต์ เขียนว่าวิทยาศาสตร์ตรงไหน

พระพุธทเจ้าทรงเห็นมา2000กว่าปี คำสอนต่างๆก็ยังเป็นความจริงของมนุษย์เหมือนเดิม

วิทยาศาสตร์เพิ่งจะมาก้าวหน้าแค่ไม่กี่ร้อยปี ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด

มีกฏของ นิวตัน ต่อมา ไอไสตก็พบกฏใหม่เปลี่ยนความเชื่อเดิมๆได้

ถ้าวันนึงมีใครพิสูจอะไรได้ใหม่โดยสามารถลบล้างอะไรที่คุนรู้หรือเชื่อมาโดยตลอด คุนจะคิดว่าตัวเองผิดมั้ย

ถ้ายึดติดกับอะไรมากไปมันจะกลายเป็นทุกข์

ผ้าผมไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมก็คงไม่อยากเรียนฟิสิก และไม่คิดฝึกสมาธิ

หลายคนคงรู้สึกแบบเดียวกับผม

คุณไม่แสดงตน

         ขอบคุณครับที่แสดงความคิดเห็น

         'หนังสือดี' ของผมมีมาตรฐานว่า

             - ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ (หากจะมีผิดพลาดบ้าง ก็ถือเป็นปกติวิสัยของการทำหนังสือ)

             - มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อสิ่งต่างๆ ที่อ้างถึง ที่สำคัญคือ ไม่เหยียบย่ำภูมิปัญญาของมนุษย์

             - ไม่ยกตนข่มท่าน อวดอ้างความวิเศษของตน (ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม)

         ตามเกณฑ์ดังกล่าวนี้ หนังสือที่กล่าวถึงไม่ผ่านเลยสักข้อเดียวครับ

 

สวัสดีครับ

         พุทธศาสนามีส่วนเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์แน่นอนครับ เพราะทั้งคู่สนใจโลกและชีวิต

         แต่หนังสือเล่มนี้ บิดเบือนวิทยาศาสตร์ในระดับที่ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า ผู้เขียนปฏิบัติธรรมมาถูกทางแล้วจริงหรือ ทำไมจึงสูญเสียความสามารถในการอ่านจับประเด็นพื้นฐานไปอย่างมาก จนนำเสนอผิดเพี้ยนได้เพียงนี้?

สวัสดีครับพี่ชิว

อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งเนื้อความและความเห็น...เดย์รู้น้อยมากๆในเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่ชอบที่เรามีความเห็นต่างกันครับ ^^ และยินดีเอามาแลกเปลี่ยนกันอย่างปัญญาชนเช่นนี้

^_^ เข้าใจจากคำถามนั้นแล้วครับพี่ชิว ที่แท้ก็เรื่องนี้นี่เอง อิอิ

เดย์ 1980

       จริงๆ ไม่ได้มีเวลาพูดเท่าไรครับ เอาไว้แฉในงานอื่นดีกว่า

       เรื่องที่ผู้เขียน & สนพ. นี้ทำไปและทำอยู่นี่น่ารังเกียจมากครับ (ถ้าหากเข้าใจประเด็นทางวิชาการ) และไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ขนาดนี้

       พี่สงสัยเหลือเกินว่า บางคนที่อ้างว่าปฏิบัติธรรมจนบรรลุ (อะไรสักอย่าง) ทำไมถึงได้เพี้ยนขนาดนี้....

       ไม่อยากมายุ่งกับเรื่องลวงโลกเท่าไรครับ - ชีวิตนี้ เลี้ยงลูกให้ดี ดูแลครอบครัว + ดูเมฆ + พับกระดาษ + คุยกับคนที่คุยถูกคอ ก็น่าจะพอไปไหวแล้ว ^__^

555 พี่ชายครับ ประโยคสุดท้ายนี่แหละพี่ชิว Family man ตัวจริง ^^

อยู่ก๊วนเรามีความสุข อารมณ์ดีไปวันๆ สร้างสรรค์เสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กันและกัน :-P

พี่ชิวเสนอเรื่องราวแย้งไปนั้นน่ะเจ๋งแล้วครับพี่ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่รักความจริง ;)

ถ้าเดย์รู้เรื่องมากกว่านี้ต้องคุยสนุกแน่ๆเลยครับ แต่เท่านี้ก็ทำให้เผื่อใจได้กับหลายๆเรื่อง และไม่เชื่อตามที่เค้าชวนไปก่อน อิอิ

ขอบพระคุณมากๆครับพี่ชิว

เดย์ 1980 - หนุ่มผู้หลงใหลอาทิตย์อัสดง (ชื่อยาวจริงวุ้ย...)

       ไว้ถ้าเจอกัน พี่จะ "แฉ" ให้ฟังก็แล้วกันครับ ทั้งคนเขียน ทั้ง สนพ. นี้ด้วย

       "คุน-นะ-พาบ" เปี่ยมล้นจริงๆ นะเออ หนังสือชุดนี้

สวัสดีครับ

ผมใคร่ขอเสนอความคิดเห็นเล้กน้อย ผมว่าเรายึดติดให้วิทยาศาสตร์มากไปไหม เพราะวิทยาศาสตร์ก็สร้างมาจากพื้นฐานต้นแบบ บางคนวิจัย ทำการทดลองออกมากก็ผิดบ้างถุกบ้างไม่ตามเรื่องเราก็รับเอาของเขามาสอน ผมเป็นคนหนึ่งที่อ่านหนังสือตะวันตกมาก็มาก คร.ที่เก่งๆในเมืองไทย ที่อวดอ้างตนที่แท้ก็เอาแนวคิดจากหนังสือที่เขาเขียนมาแปลเป็นภาษาไทยและเขียนขึ้นอีกต่อหนึ่ง อย่างนักวิทยาศาตร์ในไทยก็จับเอาทฤษฎีของเขามาทำการทดลองและยืนยันในตัวทฤษฎี แต่อันที่จริงแล้วเราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าทฤษฎีที่เรากำลังงมหาอยู่นั้น มีจุดประสงค์อันใด ตอบง่ายๆ คือ เราไม่ใช่เจ้าของทฤษฎี และผู้ทดสอบเองก็ไม่ใช่เจ้าของทฤษฎีตัวจริง ความคลาดเดลื่อนนั่นมีสูงมาก ด้วยเหตุนี้อย่าไปยึดติดในทฤษฎี ควรยึดในสิ่งที่เราเห็นด้วยปัญญาของเราเอง

วิทยาศาสตร์เป็นการแก้ปัญหาที่เป็นหนทางของการเกิดทุกข์โดยแท้ (ยิ่งดิ้นยิ่งรัด) มนุษย์พยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติ เพื่อสวัสดิภาพในการดำรงชีวิตบนโลกใบนี้ เท่านั้น เมื่อตายไปลูกหลานเหลน ดหลน ก็ต้องมารับชะตากรรม แก้ปัญหาไปไม่มีวันหยุด ผมคนหนึ่งที่ไม่เชื่อในเรื่องวิทยาศาสตร์เท่าไรหนัก ว่ามันให้ประโยชน์เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติได้อย่างแท้จริง คำสอนของพระพุทธองค์ต่างหากคือหนทางที่ถ่องแท้

(ต่อ) เฉพาะเราจึงไม่ควรว่าใครถูกใครผิด เพราะสิ่งที่คุณรู้มาจาก ข้อมูลมือสอง ไม่ใช่สิ มือล้าน (ที่ไม่ใช่เจ้าของทฤษฎี) อาจจะผิดก็ได้ ที่ข้อมูลผิดเพราะเราเอาตัวเองไปจับ เหมือนฝรั่งคนหนึ่ง(เรื่องจริง) มาศึกษาดนตรีพื้นบ้านอีสาน และมาบอกว่าแคนมีเสียงที่เพื้ยน ผมอยู่ในเหตุการณ์นั้นเลยบอกไปว่า คุณใช่อะไรมาจับว่าแคนเพี้ยน เขาก็เอาเครื่องวัดเสียง ที่ผลิดจากบ้านเขานั่นล่ะมาจับวัด ผมเลยบอกไปว่า แคนบ้านเราเสียงก็เป็นเช่นนี้ล่ะ เครื่องวัดเสียงของคุณนั้นล่ะที่เพี้ยน คือ เพี้ยนจากเสียงแคนของเรา รวมถึงเครื่องดนตรีในวัฒนธรรมของคุณด้วยเพี้ยนจากเสียงของเรา

เพราะเฉพาะอย่าเชื่อในตำราฝรั่งมากนัก ควรใช้วิจารญานด้วยปัญญา

สวัสดีครับ คุณ sno

         ขอเรียนตามตรงว่า คุณกำลังจับประเด็นผิดครับ

         สมมตินะครับว่า มีใครสักคนอยากจะเปรียบเทียบพุทธศาสนา กับ องค์ความรู้อะไรสักอย่าง (ไม่จำเป็นต้องเป็นวิทยาศาสตร์) โดยอ้างว่า

                                "นิพพานเป็นอัตตา"

          คุณคิดว่า ผู้รู้ทางพุทธศาสนาควรจะเข้ามาแก้ไขไหมครับ?

          หรือจะอ้างว่า ไม่เห็นเป็นไร เขามีสิทธิตีความพุทธศาสนาอย่างไรก็ได้....

ลองคิดดูนะครับ

สวัสดีครับทุกท่าน

            เพื่อให้ชัดเจนนะครับ

            บันทึกนี้ไม่ได้บอกว่า วิทยาศาสตร์ถูกต้องเสมอ

            แต่ต้องการบอกว่า หากใครก็ตามจะนำความรู้ของผู้อื่น (ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิด) ไปอ้างอิง ไปใช้ หรือแม้แต่ไปดัดแปลง ก็ควรเคารพความคิดตั้งต้นของผู้นั้น

            ไม่ใช่คิดเอง เออเอง ตามอำเภอใจ เช่น อ้างว่า ไอน์สไตน์บอกว่า "........" หรือ ทฤษฎีนั้นบอกว่า ".........." โดยไม่เคยเข้าใจประเด็นจริงๆ

            หากใครคิดว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ ก็ลองคิดถึงว่า ถ้ามีใครสักคน นำความคิด หรือคำพูดของตนเอง ไปใส่พระโอษฐ์ของพระพุทธองค์ โดยอ้างว่า

            พระพุทธองค์สอนว่า "........." หรือ พุทธศาสนากล่าวว่า "........." ซึ่งไม่เป็นเรื่องจริง

            คนที่เป็นชาวพุทธจะยอมไหมครับ?

 

            หากบาปกรรมมีจริง การบิดเบือนความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม อันจะทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อผิดๆ เพี้ยนๆ ไป โดยที่เจ้าตัวและผู้สนับสนุนรู้ตัวแล้ว....น่าจะเป็นบาปไหมครับ?

           

สวัสดีครับ

ข้อความ 134. ชัดเจนครับ เป็นบาปแน่ๆ ครับ ผิดศีลข้อที่ 4 และยิ่งทำให้ผู้อื่นเดือนร้อนยิ่งบาปหนักไปอีก ผมต้องขอโทษด้วยที่ผมอาจจะจับประเด็นผิดไป ผมไม่มีอคติกับแนวคิดนี้เลย ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า การเข้าใจผิดนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพียงคำประโยคเดียวสั้น แต่สามารถตีความได้หลายใจความ ขึ้นอยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ตีความ เพราะฉะนั้น การสรุปประเด็นให้ชัดเจนแบบนี้ ก็คงไม่มีใครตีความผิดๆ แบบผมอีก

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ sno

        ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียนอีกครั้ง ^__^

        กรณีที่กล่าวถึงในบันทึกนี้ ผมถือว่าเป็นประเด็นสำคัญสำหรับสังคมไทยครับ เพราะผู้เขียนและสำนักพิมพ์ กำลังชี้นำคนเป็นจำนวนมากให้เข้าใจผิดอย่างมห้นต์

        ไม่ได้หมายความว่า พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ไปด้วยกันไม่ได้นะครับ

        แต่หมายความว่า หากจะเปรียบเทียบ 2 เรื่องนี้ ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่บิดเบือนแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งครับ

ขอบคุณครับ

สุดยอดเลยครับพี่ชิว

ขอคารวะ และมอบตัวเป็นศิษย์ครับ...

น้องหนานเกียรติ

         กรณี 'ไอนสไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น' นี่ ทำเอาพี่เหนื่อยใจมากๆ ครับ

         เพราะเจอ "ความด้าน" และ "ความดื้อด้าน" (ที่เข้าใจได้...เพราะผลประโยชน์เยอะ)  

         ทำให้ได้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า

         "บางคนสร้างภาพต่อสังคมว่าปฏิบัติธรรม แต่เอาเข้าจริงแล้ว....กิเลสหนาไม่ต่างจากคนปกติครับ"

         สังคมไทย....ขนาดคนที่รักการอ่าน....ยังน่าห่วงเลยนะครับเนี่ย!

สวัสดีครับ อาจารย์

ผมก็เป็นอีกคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบนานแ้ล้วเหมือนกันครับ

พอมาเจออย่างนี้ก็ตกใจครับ

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ

แต่สงสัยว่าตอนนี้ผมยังเห็นวางขายอยู่เลยครับ ติดอันดับขายดีด้วยครับ (อิอิ)

สวัสดีค่ะพี่ชิว...

ตามมาอ่านเก็บประเด็นที่ยังสงสัยค่ะ...

ความคิดเห็นของดาว ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์หรือพุทธศาสนา ก็ล้วนแต่พยายามที่จะอธิบาย "ธรรมชาติ" ....การจับสองอย่างมาชนกันก็เป็นสิ่งดี แต่ข้อมูลควรที่จะถูกต้อง แม่นยำ และไม่บิดเบือนค่ะ

ขอบคุณนะคะ...แล้วจะตามอ่านบันทึกอื่นๆ ต่อค่ะ

กอล์ฟ

          หนังสือเล่มนี้ถ้าอ่านแบบไม่คิดอะไร (หรือไม่รู้อะไร) ก็จะเพลินๆ ไปครับ

          แต่ถ้าอ่านแบบรู้ทัน จะน่าตกใจและน่ารังเกียจมาก เพราะผู้เขียน "ดูถูก" และ "เหยียบย่ำ" ความรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาด้วยความเพียรพยายามต่อเนื่องกันมานานนับร้อยนับพันปี

          น่าเป็นห่วงสังคมไทยจริงๆ ครับ

น้องดาวฟ้า

          ไว้มีโอกาสคุยกันยาวๆ คราวหน้า จะเล่ารายละเอียดให้ฟังแล้วกันครับ มีแง่มุมที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ (ไม่เฉพาะพุทธ วิทย์ แต่รวมไปถึงการตลาด และจริตของคนที่สร้างภาพต่อสังคมว่า "ปฏิบัติธรรม" ด้วยนะเออ....)

สวัสดีครับ ดร.บัญชา ยินดีที่ได้รู้จักนะครับ

ผมรู้จัก ดร.บัญชา จากงานเขียนหลายชิ้น แต่ไม่ได้ซื้อมาอ่านซักทีครับ เพราะไม่ค่อยมีเวลาด้วย ได้แต่ยืนเปิดอ่านบ้างบนแผงหนังสือ ^^"

คือ ผมได้อ่านความเห็นของคุณ fallingangels แล้วนึกถึงปัญหาในการเข้าถึงวิชาวิทยาศาสตร์ อย่าง ฟิสิกส์ กับ คณิตศาสตร์ ขึ้นมาได้ครับ เนื่องจากผมเองก็คิดถึงปัญหาแบบนี้มานานแล้ว (จริงๆแล้ว ศาสตร์ที่มีปัญหาในการเข้าถึงมีหลายวิชาเหมือนกันนะครับ เช่น เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา นิติศาสตร์ ก็ถูกคนเข้าใจผิด และเอาไปอ้างผิดๆเหมือนกัน) อยากแนะนำอะไรบางอย่างนิดหน่อยนะครับ แต่ผมอยากจะเน้นไปที่ระดับโรงเรียน ซึ่งเป็นระดับเริ่มต้นของทั้งคณิตศาสตร์และฟิสิกส์

1. สำหรับวิชาฟิสิกส์ ผมว่า นอกจากปัญหาในการเข้าถึงจะเป็นเพราะภาษาแล้ว ผมคิดว่า อาจเกิดจาก"การยกตัวอย่าง"และ"ความน่าสนใจหรือความน่าสนุกในการเรียนของวิชา"ก็เป็นได้ครับ

สำหรับ ตัวอย่างที่ใช้ในการอธิบายกฎ ทฤษฎี หรือแนวคิดต่างๆ มัน"นำเข้า"มากไปนะครับ หนังสือเรียนน่าจะยกตัวอย่างใกล้ๆตัวเด็กให้มากขึ้นหน่อย ให้ตรงกับชีวิตประจำวันของคนไทยให้มากขึ้นนะครับ ผู้เรียนอาจจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

สำหรับประเด็นความน่าสนใจหรือความสนุกสนานในการเรียนนี่ ผมว่าเป็นสำคัญกับทุกวิชา การเรียนวิทย์ก็เหมือนกัน วิชาวิทยาศาสตร์ควรเน้นความสนุกที่ได้จากการทดลองหรือการพิสูจน์ทฤษฎี ผมจบโรงเรียนประจำจังหวัดแห่งหนึ่งครับ ผมไม่ทราบว่า โรงเรียนใหญ่ๆในกรุงเทพฯมีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร อุปกรณ์ดี แล้วทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานกับการเรียนวิชาเหล่านี้บ้างไหม? แต่รูปแบบการเรียนการสอน หรือ "ระบบ" ในการเรียนการสอนวิชาวิทย์ในโรงเรียนผม มันไม่ชวนให้เด็กสนใจวิชาเหล่านี้เลย นั่นคือ ถ้าครูใจดี มีอารมณ์ขัน อธิบายดี เด็กก็เข้าใจ ถ้าครูไม่เล่นด้วย หรือมีบุคลิกแข็งๆ ก็เรียนกันไปแบบแกนๆ ยิ่งถ้าครูไม่เตรียมการสอน หรือเตรียมการสอนมาไม่ดี นั่นยิ่งแล้วใหญ่เลย จะเป็นไปได้ไหมที่จะพัฒนา"ระบบ"หรือ"รูปแบบ"การเรียนการสอนให้วิชาเหล่านี้น่าสนใจมากขึ้น จะได้ไม่ต้องพึ่งความสามารถด้าน Entertainment ของครูผู้สอนให้มากจนเกินไป เพราะผมเข้าใจนะครับ ว่าคนเราไม่สามารถอารมณ์ดี หรือสอนสนุก หรือเอนเตอร์เทนเก่งได้ทุกคน :D (แต่เรื่องจะพัฒนารูปแบบ หรือระบบกันอย่างไรนั้น ตอนนี้ ผมคิดไม่ออกนะครับ ขออภัย แฮ่ๆ)

อย่างไรก็ตาม ผมเองก็จบ ม.ปลายมานานมากแล้ว กลับไปโรงเรียนเก่าทีนึงก็ไปปั่นจักรยานเล่น ไม่ก็ขับมอเตอร์ไซค์ชมโรงเรียนเล่นๆ ยังไม่ได้ถามน้องนุ่งเลยว่า การเรียนการสอนเป็นยังไงบ้าง แต่ก็เห็นว่า มีการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทย์อยู่นะครับ น่าจะไปได้ไกลกว่าสมัยผมพอสมควร :)

2. สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่มีเหตุมีผลนั้น ถูกแล้วครับ แต่ปัญหาก็คือ มีไม่กี่คนเท่านั้นเองที่ทราบว่า เราจะใช้เหตุผลแบบนี้ไปเพื่ออะไร ในขณะที่เราสามารถใช้เหตุผลด้วยวิธีต่างๆที่ง่ายกว่านี้ได้ อาทิเช่น การอธิบายด้วยภาษาพูด เช่น "ฉันถูกแม่ตี ฉันเลยเจ็บก้น" เป็นต้น ผมคิดว่า คำถามหลักของเด็กหลายๆคนที่เรียนคณิตศาสตร์ก็คือ จะเรียนไปทำไม และ ถ้ามันเป็นวิชาที่มีเหตุผลจริงๆ จะใช้เหตุผลแบบนี้ทำไม แล้ว"เหตุผล"ที่เราจะใช้"เหตุผล"เหล่านี้ล่ะ คืออะไร อยู่ตรงไหน?

ในความเห็นของผม ผมว่าปัญหาตรงนี้ เกิดจากการที่คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เป็นนามธรรม ซึ่งถึงแม้คณิตศาสตร์จะสามารถประยุกต์ใช้กับศาสตร์หลายสาขาได้ (แม้กระทั่งสายสังคมศาสตร์อย่างเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น) แต่ด้วยการที่เป็นวิชานามธรรม จึงทำให้การสอนคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ เป็นเรื่องที่ยากแก่การอธิบาย ว่าจะใช้เหตุผลที่ดีแต่เข้าถึงยากโคตรๆแบบนี้ไปทำไม ในเมื่อมนุษย์สามารถแสดงเหตุผลได้หลายวิธี?

แต่ผมคิดว่าแก้ได้ โดยการยกตัวอย่างให้เด็กฟัง ว่าทฤษฎีคณิตศาสตร์ที่จะเรียนจะสอนกันต่อไปนี้ มีประโยชน์กับวิชาใดได้บ้าง หรือจะนำไปประยุกต์ใช้กับงานอาชีพด้านใดได้บ้าง หรือนำมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไรบ้าง นอกจากงานบวกเลข ลบเลข? เพราะเด็กส่วนใหญ่ อาจจะจินตนาการไม่ออก เพราะหลายๆทฤษฎี ดูยากและลึกลับมาก อย่างวงกลม 1 หน่วยนี่ตัวดีเลย ผมงงกะมันมากตั้งกะ ม.ปลายแล้ว (หรือผมคิดไปเองก็ไม่รู้นะ :D) เพิ่งจะมาเข้าใจตอนเรียน ป.ตรี นี่เอง (ผมจบ ป.ตรี เศรษฐศาสตร์ ครับ ตอนนี้ กำลังเรียน ป.โท ด้านสิ่งแวดล้อม)

นอกจากนี้ ผมว่าควรจะต้องมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ด้วยนะครับ เราน่าจะต้องเรียนรู้ความหมาย รวมไปถึงการทำงานของสัญลักษณ์แต่ละประเภท และข้อจำกัดของมันด้วยนะครับ เช่น differential ใช้ทำอะไร ไอ้ diff นี่ ผมว่าเด็กมัธยมหลายคนที่เริ่มเรียน จะงง ว่าจะเรียนทำไม หารเอาไม่ได้เหรอ ลบเอาไม่ได้เหรอ เพราะตามความเข้าใจของผม ผมว่า differential ก็สำคัญไม่แพ้การบวกลบคูณหารธรรมดา แต่ดันเข้าใจยากกว่า (ในสายวิชาเศรษฐศาสตร์ เราใช้ diff เยอะมากครับ ไม่แพ้การใช้กราฟเลยทีเดียว อันที่จริง เราจะใช้คู่กันครับ โดยการคำนวณหาความชันของ slope หรือการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรที่ต้องการศึกษา ว่ามันจะเปลี่ยนแปลง (เพิ่มหรือลด) ไปกี่หน่วย ฯลฯ) ถ้าเด็กเข้าใจได้ ว่าใช้สัญลักษณ์เหล่านี้ไปทำไม ทำไมไม่ใช้สัญลักษณ์เหล่านี้แทนล่ะ หรือจะเอาวิธีการคำนวณแบบนี้ ด้วยสัญลักษณ์แบบนี้ไปใช้กับงานไหนได้บ้าง ผมว่ามันน่าจะดีมาก อาจทำให้เด็กเข้าใจคณิตศาสตร์ได้มากขึ้น แล้วคณิตศาสตร์ก็อาจไม่เป็นยาขมอีกต่อไป เหนือสิ่งอื่นใด! ต้องทำให้เด็กทำใจให้สบายๆด้วย ประมาณว่า ทำใจให้สบายๆ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ไม่ใช่ของยาก มันก็แค่ตัวย่อ! (ผมคิดอย่างนี้ บ่อยมากเลยครับ ตอนเรียนเศรษฐศาสตร์ตอน ป.ตรี ทำให้เรียนจบออกมาได้ ^^ เนื่องจากเหตุผลหนึ่ง ที่นักเศรษฐศาสตร์เอาคณิตศาสตร์มาใช้ในวิชา Econ ก็เพราะ มันสามารถลดเวลาในการอธิบายทฤษฎีต่างๆได้ เพราะทฤษฎีและการอธิบายทฤษฎีแบบเศรษฐศาสตร์ ก็มีวิธีอธิบายแบบเดียวกับคณิตศาสตร์นั่นเอง - มันเหมือนกับ ลักษณะการบรรยายในคัมภีร์อะไรซักอย่างของอินเดียโบราณนี่แหละครับ ที่เค้าพบว่า มีลักษณะคล้ายกับวิธีการอธิบายสูตรทางคณิตศาสตร์น่ะ ผมจำชื่อคัมภีร์เล่มนั้นไม่ได้ซะแล้ว)

โดยผมเสนอให้แยกออกมาเป็นวิชาหลักต่างหากไปเลยนะครับ เช่น อาจจะเป็นรายวิชาคณิตศาสตร์เสริม เป็นต้น อาจจะเริ่มสอนกันตอน ม.4 เทอม 1 อ่ะครับ ไม่รู้จะเสียเวลาเกินไปไหม แต่ผมว่า มันมีค่าต่อการเรียนรู้ครับ

อีกประเด็นหนึ่งนะครับ ผมว่า ในการสอนคณิตศาสตร์ในระดับชั้นต้นๆ (เช่น ประถม ม.ต้น) เราน่าจะเน้นที่โจทย์ปัญหามากกว่าโจทย์นามธรรมนะครับ โดยเฉพาะไอ้ที่ยากๆอย่างวงกลม 1 หน่วย differential หรือเรื่องกราฟ เส้น ฯลฯ ถ้าฝึกให้เด็กคิด หรือทำการเรียนรู้ทำความเข้าใจทฤษฎียากๆเหล่านี้จากโจทย์ปัญหา เด็กอาจจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น อาจจะทำได้ด้วยการ ฝึกวิเคราะห์โจทย์ ให้ตีความคำศัพท์ในโจทย์ ออกมาเป็นเครื่องหมายคณิตศาสตร์ แล้วให้เด็กทำความเข้าใจให้ได้ ว่าสัญลักษณ์ทางคณิต หรือทฤษฎีเหล่านี้ ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

หรือถ้าเอาให้สุดๆไปเลย ผมว่า น่าจะให้เด็กลองประดิษฐ์อะไรง่ายๆขึ้นมาสักอย่าง โดยใช้วิธีคำนวณเหล่านี้เป็นเครื่องมือนะครับ เด็กน่าจะสนุกมากขึ้น ผมว่า เด็กจะเรียนรู้อะไรต่างๆได้ดี ก็เพราะความสนใจ หรือความสนุกในการเรียนนั่นเอง อย่างผมนี่ ยอมรับว่า เมื่อก่อน ไม่ชอบคณิตศาสตร์เลย เพราะไม่รู้จะเรียนไปทำไม ไม่รู้มันใช้อะไรได้ แต่พอมาเรียน Econ แล้ว ตาสว่างเลยครับ รู้เลยว่าเอามาใช้อะไรได้ คือ ผมไม่เก่งคณิตศาสตร์ไง ดังนั้น อ่านทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้คณิตศาสตร์มาอธิบายแล้ว ผมต้องคิดแล้วคิดอีกเลยนะ ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมไม่อธิบายด้วยทฤษฎีอื่น เอาไอ้นี่มาใช้ทำไม ทำไมต้อง diff ทำไมไม่ลบหรือบวก ทำไมต้องคูณ ทำไมต้องหาร ทำไมกราฟต้องเป็นรูประฆังคว่ำ ทำไมต้องเป็นพาราโบล่า ฯลฯ คิดไปคิดมา อ่านไปอ่านมา ชอบไปเลยครับ ^^ สาเหตุที่ต้องใช้ความคิดมากหน่อย เพราะตำราเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียน อาจารย์แกเขียนแบบรวบรัดมาก เพราะมีหลายทฤษฎีที่จะต้องอธิบาย :D

ป.ล.1 สำหรับหนังสือเล่มนั้น ผมเห็นวางขายทั่วไปตามร้านหนังสือ แต่ไม่เคยเปิดอ่านสักที แล้วถ้าจำไม่ผิด รู้สึกว่าเคยเห็นคุณหมอคนเขียนด้วยนะครับ ไม่รู้ว่าเคยมาแจกลายเซ็นต์ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหรือเปล่า :)

ป.ล.2 อาจารย์ครับ ถ้าอาจารย์มีหนังสือหรือตำราฟิสิกส์ระดับมหาลัย ที่เขียนเข้าใจง่าย อ่านรู้เรื่อง ช่วยแนะนำกันบ้างนะครับ ว่างๆจะหามาอ่าน เป็นงานวิจัยก็ยิ่งดีครับ ^^ ตอนนี้ ผมสนใจด้าน cosmology แล้วก็พวก ดาราศาสตร์ อ่ะครับ (แต่ไม่รู้ว่างอ่านเมื่อไหร่นะครับ ตอนนี้เริ่มทำวิทยานิพนธ์แล้ว 555+) เคยอ่านประวัติย่อของกาลเวลา แล้วก็ จักรวาลในเปลือกนัท เหมือนกัน แต่ยอมรับเลย ว่าอ่านไม่รู้เรื่องงงง T___T

เพิ่มเติมนิดหน่อยนะครับ

ประเด็นไอน์สไตน์ และหนังสือว่าด้วยทฤษฎีของไอน์สไตน์ ผมเห็นด้วยกับความเห็นหนึ่งของ ดร.บัญชานะครับ ที่ว่าหนังสือไทยไม่ค่อยมีหนังสือว่าด้วยทฤษฎีไอน์สไตน์แบบเจาะลึกจริงจังเลย ส่วนใหญ่จะแค่อ้างถึงเล็กๆน้อยๆ นอกนั้นจะไปยุ่งกับประวัติส่วนตัวของไอน์สไตน์มากกว่า ผมเคยอ่านวิธีการพิสูจน์ E=mcกำลังสอง ในวารสารแม็ค เมื่อนานมาแล้ว เท่านั้นเองครับ นอกนั้นก็แทบไม่ได้เห็นอีกเลย ผมไม่แน่ใจว่า ในห้องเรียนตอน ม.ปลาย ได้เรียนหรือเปล่า อืมมมม น่าจะได้เรียนอยู่แต่ค่อนข้างน้อย ในห้องเรียนก็อ้างถึงไอน์สไตน์น้อยมั่กๆครับ

อยากเรียนทฤษฎีของแกจริงๆจังๆจริงๆเลย :D สงสัยต้องหาอ่านจากตำราฟิสิกส์หรือ textbook เอาเองซะแล้ว 555+

สวัสดีครับ pump

       คงต้องอ่าน 2 แนวควบคู่กันไปครับ คือ

             - ตำราพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ได้มาตรฐาน อาจเริ่มจากหนังสือแนว modern physics ก่อนก็ได้

             - หนังสือแนว Popular Science ที่เขียนโดยนักฟิสิกส์ และลงรายละเอียดพอสมควร (ผมเขียนไว้เล่มหนึ่งคือ สัมพัทธภาพ ลองหาอ่านประกอบกับเล่มอื่นๆ เพื่อให้มีมุมมองที่กว้างและลึกนะครับ)

 

แปลกเหลือเกิน ที่ ดร.บัญชา ต้องลบความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับตนเองครับ

ไม่แน่ใจว่านี่เป็นคุณสมบัติหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ที่ดี?

คุณ J2ME ครับ

      ว้า! นี่ขนาดไม่เคยไปยกตัวเองกับใครว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีซะหน่อย...ยังโดนถามแบบนี้ (อิอิ) เป็นไปได้ว่าคนถามไม่ได้ถามจริง แต่กำลังต่อว่าเพราะรู้สึกน้อยใจที่ความคิดเห็นโดนลบ เหมือนไม่ให้ความสำคัญซะอย่างนั้น

      เอา Facts ไปแล้วกันครับว่าทำไมจึงโดนลบ?

      มี 2 ข้อหลักๆ ครับ

      1) ท่าทางที่เข้ามาดูไม่ค่อยเป็นมิตรน่ะครับ แถมเป็นใครก็ไม่รู้ ยิ่งแล้วใหญ่

      2) ข้อความที่โพสต์มาทำให้เข้าใจไปว่าไม่สนใจประเด็นหลัก (วิทยาศาสตร์ที่ถูกบิดเบือน) ที่บันทึกนี้ชวนถกเถียง

      หากลองดู comments ย้อนกลับไป จะเห็นว่ามีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับผมหลายข้อ แต่ผมไม่ได้ลบครับ เพราะไม่ได้มีทีท่าเหมือนข้อ 1) หรืออย่างน้อยๆ ก็แสดงความสนใจในประเด็นหลัก คือ ไม่ได้ตรงกับ 2)

      ที่นี่คือ GotoKnow ครับ มีวัฒนธรรมการเปิดเผยตนเองที่ชัดเจน (หรืออย่างน้อยแม้จะไม่เปิดเผย แต่ก็ดูไม่คุกคาม) อีกทั้งยังมีการต่อยอดความรู้ ที่ไม่ได้มุ่งโจมตีตัวบุคคลอย่างเดียว

ผมก็เป็นคนหนึ่งครับที่เคยอ่านหนังสือเ่ล่มนี้

และผมก็เป็นเยาวชนคนหนึ่งที่หันมาสนใจธรรม ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นหนังสือเล่มนี้ครับ

เมื่ออ่านเล่มนี้จบ ก็มี "ความงุนงงสงสัย" และ "ความสนใจในธรรม" เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน

ต่อมาเมื่อผมมีโอกาสปฏิบัติธรรมก็ทำให้รู้สึกเหมือนค้นพบขุมทรัพย์มหาศาลของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์

ที่จริงต้องชม ทพ.สม ที่มีความตั้งใจที่ดีในการเผยแพร่ธรรม ชวนคนมาปฏิบัติธรรม

แต่ก็เห็นใจว่า ทพ.สมมิได้เป็นผู้ที่เรียนด้าน pure physic มาโดยตรง

ผมหวังอยู่ลึก ๆ ว่าวันหนึ่งจะมีนักวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาโดยตรงมาปฏิบัติธรรม

และลองช่วย ๆ กันเขียนหนังสือธรรมและวิทยาศาสตร์ให้สมบูรณ์ขึ้นมากกว่าที่จะมานั่งทะเลาะหรือเถียงกัน

อนึ่งผมมองว่าปัจจุบันคนเราส่วนใหญ่เมาไปด้วยความรู้ ข้อมูลข่าวสาร

แต่มิได้รู้เลยว่าความรู้อะไรที่เป็นประโยชน์ เป็นสาระ

ความรู้อะไรที่ทำให้ใจมีความสุข มีความสงบ สามารถจัดการทุกข์ที่เกิดกับตนเองได้

สวัสดีครับ คุณ bobotravel

         ขอบคุณที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ครับ ขอตอบและแสดงความคิดเห็นเป็นประเด็นๆ ไปนะครับ

         1) การที่คุณอ่านหนังสือเล่มนี้ (หรือเล่มใดๆ ก็ตาม) แล้วเกิดความสงสัย พร้อมๆ กับความสนใจธรรมะย่อมนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ

             เพราะความสงสัย จะนำไปสู่การตั้งคำถาม และอาจจะถึงขั้นไปหาคำตอบหรือตรวจสอบหาความจริง

             ส่วนความสนใจในธรรมะนั้นก็ย่อมจะทำให้ได้พบกับสิ่งที่ดีๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือเคยได้ยิน แต่ไม่ซึ้ง

             อย่างไรก็ดี ก็ต้องคอยตรวจสอบอยู่เสมอทั้งเรื่องคำตอบและผลจากการปฏิบัติธรรม - ใช่ไหมครับ

          2) การที่ผมออกมาทักท้วงประเด็นนี้มีหลายสาเหตุครับ

              - ความผิดพลาด ความคลาดเคลื่อน ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งในแง่ข้อเท็จจริง การนำไปใช้ในบริบทต่างๆ และการตีความ

              - แต่ที่ร้ายแรงและน่ารังเกียจมากๆ คือ ทัศนคติที่ดูหมิ่นความรู้ของมนุษย์ครับ ลองอ่านดูดีๆ สิครับ แกล้งชื่นชมนิดๆ หน่อยๆ ก็เพื่อนำเอาสิ่งที่ตนเองเชื่อมาเทีบบ มาข่ม เพื่อเหยียบย่ำทีหลัง

              - (อันนี้ยังไม่มีคนทราบมากนัก) คือ มีผู้ได้รับผลกระทบทางจิตจากหนังสือเล่มนี้ไปแล้วครับ (จนต้องไปพึ่งจิตแพทย์)

         3. อีกมุมหนึ่งที่น่าเตือนสติได้ก็คือ อย่างน้อยทำให้เห็นว่า มีคนที่มีสติปัญญาดี พูดจารู้เรื่อง & (อ้างว่า) ปฏิบัติธรรม แต่กลับมีความคิดวิปริตผิดเพี้ยนได้แม้แต่ตรรกะพื้นฐาน! ซึ่งเห็นได้จากการที่อ่านหนังสือไม่แตก แต่มาเขียนเป็นตุเป็นตะครับ

             แสดงว่า น่าจะมีอะไรผิดปกติกับคนผู้นั้น หรือการปฏิบัติธรรมของคนผู้นั้น - ใช่ไหมครับ?

         ขอบคุณอีกครั้งที่แวะเวียนมาแสดงความคิดเห็นนะครับ 

สวัสดีครับ คุณบัญชา ธนบุญสมบัติ

ต้องขอขอบคุณอย่างมาก ที่คุณบัญชา ได้ออกมาทักท้วงหนังสือเล่มนี้ ในประเด็นเรื่องความถูกต้องของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ผมเองได้หลงกลซื้อหนังสือเล่มนี้มาเมื่อ 13 สิงหาคม 2552 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 58

อ่านแล้วก็ได้พบข้อมูลหลายอย่างทางศาสนาพุทธที่ขัดแย้งกับข้อมูลทางศาสนาพุทธเล่มอื่น เช่น ข้อมูลจาก หลวงพ่อจรัญ(พระราชสุทธิญาณมงคล) เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ฯลฯ

ขอยกตัวอย่าง

ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น หน้า 140 บรรทัดที่ 1-3

"ในภพภูมิต่อไป ดังนั้น การที่มีผู้บอกว่ามีวิญญาณล่องลอยกำลังหา

ที่เกิดภายหลังการตายนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด คนเราตายแล้วเกิด

ทันที วิญญาณกลับมาหาญาติพี่น้องไม่ได้ "ผี" ไม่มีจริง"

กฎแห่งกรรม - ธรรมปฏิบัติ เล่ม 2 หน้า 49 ย่อหน้าแรก

เขียนโดย พระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ)

จัดจำหน่ายโดย หจก.บุ๊คเอเธนส์

69/66 ถนนพญาไท ราชเทวี กรุงเทพ 10400

กลับให้ข้อมูลว่า

"อาตมามีเรื่องวิญญาณจะเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องวิญญาณมารายงานตัวเพื่อเจริญกรรมฐานที่วัดอัมพวัน..."

ส่วนตัวผมไม่มีความรู้ว่า ข้อมูลทางศาสนาไหนจริง หรือเท็จ แต่กลับเป็นที่น่าตกใจว่า ทางสำนักพิมพ์และผู้เขียน กลับเขียนและพิมพ์ขายอย่างไม่มีการให้ข้อมูลสองทาง ซ้ำกลับยังพิมพ์ขายอย่างต่อเนื่อง

ผมเห็นด้วยกับการกระทำของคุณบัญชา 100 เปอร์เซ็น

ผมขอเป็นกำลังใจให้คุณบัญชาเดินหน้าต่อไปในการตีแผ่ความไม่ถูกต้องของข้อมูลของหนังสือเล่มนี้

ที่ผมสนับสนุนนี้ ไม่ใช่เพื่อให้เห็นว่า ข้อมูลไหนผิด ข้อมูลไหนถูก แต่ผมอยากเห็นความรับผิดชอบของบุคคลชั้นปัญญาชนที่ปฏิบัติธรรม และสำนักพิมพ์ชั้นแนวหน้าในการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณชนมากกว่านี้

ด้วยความเคารพ

RED

ขอบคุณ อ.บัญชามากๆครับที่แนะนำ ผมไม่ได้แวะเข้ามาซะนานเลย ^^"

เพิ่งอ่านจบค่ะ ก็พบว่า ผู้เขียนเขียนจนสับสนเองหรือเปล่า เอาตรรกง่ายๆ ไม่ยากอย่างของคุณบัญชา ยกตัวอย่าง2แบบก็ค้านกันเอง เช่น ผู้เขียนกบเหมือนกับว่าเดินทางไปในอนาคตได้เพราะจำศีล ลดการทำงานของร่างกายให้ช้าลง เวลาจึงของกบจึงเดินช้าลงกว่าปกติ เอาแบบโลจิคเบสิค เด็กเล็กมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าคนปกติ เวลาของเด็กย่อมต้องเร็วกว่าปกติ ทำมั๊ยคนเขียนถึงบอกว่าเวลาของเด็กจะช้าลงกว่าปกติคะ ?????? หรือเข้าใจผิดเอง

นาวิน จิวไว้วรณ์ เด็กม.6

ผมว่าการที่เราจะไปจับผิดข้อความในหนังสือแต่ละเล่มนั้น...

เราควรที่จะมาสำรวจตัวตนของเราว่ามันเป็นไปตามข้อความจริงจากความหมายของข้อความในหนังสือนั้นหรือไม่...

หากเป็นจริงดังที่ว่าแล้ว...คุณจะทำอย่างไรต่อไป...

แม้ว่าไม่รู้นิพพานจะมีจริงหรือไม่

***แต่ผมว่า "การรู้ตัวว่าเรานั้นเป็นเพียงสารประกอบ และใช้สารประกอบที่ก่อเป็นตัวเรา(อัตตา)ให่เกิดประโยชน์ที่สุดน่าจะเป็นสิ่งสำคัญ และจงรู้ว่าสักวันหนึ่งมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางสารประกอบของร่างกาย"***

*****หมายเหตุ หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้นะที่นี้ด้วย*****

สวัสดีครับ

มาพูดคุยต่อนะครับ....

ผมเคยเดินไปห้องสมุด เห็นหนังสือเยอะแยะเต็มไปหมด

ก็เกิดความสงสัยว่า

"เอ๊ะ ความรู้มันมีตั้งเยอะแยะ หนังสือมีตั้งมากมาย เราควรจะรู้อะไร ไม่ควรรู้อะไรดีนะ

ชีวิตนี้เกิดมาคงอยู่ไม่ถึง 100 ปีก็ตายละ จะให้ไปสนใจใคร่รู้ทุกเรื่องก็คงจะไม่ไหว"

ทั้งวิทย์และพุทธ ต่างก็เป็นศาสตร์ที่สนใจ "สัจจธรรม"

แต่ต่างกันตรงที่จุดมุ่งหมายนะ (ตามความคิดของผมอ่ะครับ)

ผมชอบเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งมากเลย ขออนุญาตเล่าต่อละกัน

--------------------------------------------------------------------------

ในสมัยพุทธกาลนั้น

มีภิกษุรูปหนึ่งมาทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้า

ด้วยปัญหาเป็นต้นว่า

โลกนี้เที่ยง หรือไม่เที่ยง โลกนี้มีที่สิ้นสุด หรือไม่สิ้นสุด

และบอกพระองค์ว่า หากไม่ทรงตอบ

เขาจะเลิกปฏิบัติธรรม

เขาจะเลิกดับทุกข์

เขาจะละเพศแห่งสมณะเสีย !

----------------------------------------------------------

( แน่ะ คล้าย ๆ ปัญหาของนักฟิสิกส์เหมือนกันนะ

เอ๊ะ ที่สุดของขอบจักวาลเป็นไงนะ ?

เกิดขึ้นได้ไง ดำเนินไปไง แล้วดับลงยังไง ดับแล้วยังไงต่อ เอ๊ะ ๆ ๆ )

---------------------------------------------------------

พระองค์ ตรัสตอบภิกษุรูปนี้ว่า

อย่า ว่าแต่เธอจะละจากเพศสมณะเลย

ต่อ ให้เธอจะตายต่อหน้าเราบัดนี้

เรา ก็หาแก้ปัญหาให้แก่เธอไม่

ภิกษุรูปนี้อุปมาเหมือนมีไฟลุกไหม้อยู่บนศีรษะ

แทนที่จะพยายามดับไฟนั้นเสีย

กลับคอยไปตามหาว่า

ไฟนั้นลุกขึ้นไหม้ได้อย่างไร

ใครเป็นคนจุด

จุดได้อย่างไร

ใช้อะไรเป็นเชื้อเพลิง

บรรดาผู้รู้ทั้งหลายต่างตะโกนบอกเขาว่า

รีบดับไฟนั้นก่อนเสียเถิด มิฉะนั้นท่านต้องตายแน่ ๆ

แทนที่ภิกษุรูปนั้นจะฟังกลับตอบไปว่า

หากเขาไม่รู้คำตอบที่เขาต้องการ เขาจะไม่ยอมดับไฟบนหัว !

เป็นที่มั่นใจได้ว่า

ภิกษุรูปนี้ต้องตายก่อนที่จะไ้ด้รู้คำตอบแน่นอน

-----------------------------------------------------

ผมคิดว่า

คนเราทุกคนล้วนโดยไฟแห่งความอยาก ความทะเยอทะยาน

ไฟแห่งโกรธ ไฟแห่งความไม่รู้(สิ่งที่ควรรู้) ไฟแห่งความแก่

ไฟแห่งโรคภัยไข้เจ็บ ไฟแห่งความตายแผดเผาอยู่ทุกวัน

ผมเสนอว่าดับไฟเหล่านี้ก่อนดีกว่า อย่างอื่นค่อยว่ากันดีกว่านะครับ ^.^

ธรรมชาติของใจ ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น สุดยอดอย่าบอกใครเชียว

ทำแล้วทุกข์ดับ ก็แปลว่าทำถูกทางแล้ว --------

ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ ^.^

สวัสดีครับ

ผมเพิ่งเข้าเวปนี้เป็นครั้งแรก โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับที่อาจารย์เขียนครับ แต่มีประเด็นนึงที่ผมไม่ค่อยเข้าใจที่อาจารย์พูดเท่าไหร่ในข้อ 2-A) “ทุกๆ สิ่งในจักรวาลหลังการระเบิดครั้งใหญ่ (บิ๊กแบง) จะมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะที่ยุ่งเหยิงมากขึ้นเสมอ” (หน้า 73-74):

ผมเห็นว่าประโยคนี้ก็ถูกต้องดีแล้ว เหตุผลของผมมีดังนี้ครับ ขออนุญาติพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษนะครับ

This statement is a statistical statement. The universe tends to evolve into a configuration with more entropy. This is what give us the "arrow of time" which we can use to distinguish yesterday from today and from tomorrow even though the law of physics "obeys" time reversal symmetry (I use "obeys" because we know there is a small CP, and hence T, violation in the Standard Model of particle physics). The statement does not say that we cannot have a fluctuation in entropy that the entropy decrease at some instants (as I understand, this is your objection for this statement 2-A). Moreover, if we take a viewpoint that entropy is related to energy (even though the total energy of the universe is not well define), we know that as the universe expand we get more and more vacuum energy.

หากผมมีข้อผิดพลาดประการณ์ได้ ขอความกรุณาอาจารย์ชี้แจงด้วยครับ

ความคิดของมนุษย์เดินดินด้วยกัน ย่อมอยู่ในระดับหนึ่ง ที่ต้องอาศัยกาลเวลาพิสูจน์เป็นเรื่องๆไป แต่ถ้าเป็นผู้เหนือมนุษย์หรือเรียกว่าวิญญาณช้นสูง ย่อมรู้ในทันทีแต่จะบอกให้มนุษย์รู้ได้แค่ไหน แล้วแต่เหตุผลของเขา ฉนั้นมนุษย์ในโลกนี้ยังอยู่ในฐานะ......เตี้ยอุ้มค่อม

ขอเพิ่มหมายเหตุส่วนหัวข้อ chaos ครับ

  • chaos เป็นแนวคิดทางคณิตศาสตร์ว่า หากแก้สมการเชิงอนุพันธ์บางรูปแบบที่เป็น nonlinear โดยวิธีเชิงตัวเลขแล้ว ผลจากการคำนวณปัดเศษไม่ว่าจะดูเหมือนเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ในที่สุดจะเกิดผลทบทวีบานปลายจนทำให้คำนวณผิดไปได้มากอย่างมหาศาล

 

ขอตอบ คุณ eehua ก่อนนะครับ

        ขอบคุณมากครับสำหรับข้อคิดเห็น และข้อมูลที่นำมาอ้างอิง

        คือประโยคดังกล่าวนั้นตีขลุมเกินไปครับ และใช้ไดกับ time scale ที่ยาวนานเพียงพอ

        คำว่า "ทุกๆ สิ่ง" นี่ หากคิดถึง วัตถุที่มีโครงสร้างชัดเจน ตั้งแต่ของเล็กอย่างโมเลกุล ไปจนถึงผลึก หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิต จะเห็นว่า ภายใต้กรอบเวลา หรือ time scale ที่เหมาะสม เอนโทรปี หรือความยุ่งเหยิงของระบบอาจจะลดลงได้ครับ

        ประเด็นก็คือ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีความเข้าใจที่ผิวเผินเกี่ยวกับสิ่งที่เขานำมาอ้าง และจะเลือกใช้แต่แง่มุมที่สนับสนุนสิ่งที่เขาปักธงไว้เท่านั้น และทำในลักษณะเช่นนี้โดยตลอดทั้งเล่มครับ

ขอบคุณ อ.wwibul สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ Chaos Theory ครับ

สำหรับท่านอื่นๆ ก็ขอขอบคุณที่มาแสดงทัศนะต่างๆ ไว้ ณ ที่นี้

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง มาถึงปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธ ข้อนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่พุทธองค์ทรงสอนว่าอย่าเชื่อเพราะเป็นพ่อแม่ อย่าเชื่อเพราะเป็นครู อย่าเชื่อเพราะ..... ต้องพิสูจน์ด้วยตนเองนั้นคงใช้ได้จริง ความรู้เก่าๆบางครั้งก็ถูกหักล้างด้วยข้อมูลใหม่ๆ จริงบางเท็จบาง ก็ว่ากันตามยุคสมัย ผมคิดว่าทั้งสองท่านก็จะมีข้อมูลที่จริงและต้องแก้ไข เป็นเรื่องธรรมดา สุดท้ายก็อยู่ที่คนที่รับข่าวสารหรือคนที่ศึกษาด้านนั้นๆต้องค้นหาความจริงด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง แต่ผมก็เห็นด้วยกับ rep 155 bobotravel อยู่อย่างครับ

พระองค์ ตรัสตอบภิกษุรูปนี้ว่า

อย่า ว่าแต่เธอจะละจากเพศสมณะเลย

ต่อ ให้เธอจะตายต่อหน้าเราบัดนี้

เรา ก็หาแก้ปัญหาให้แก่เธอไม่

ภิกษุรูปนี้อุปมาเหมือนมีไฟลุกไหม้อยู่บนศีรษะ

แทนที่จะพยายามดับไฟนั้นเสีย

กลับคอยไปตามหาว่า

ไฟนั้นลุกขึ้นไหม้ได้อย่างไร

ใครเป็นคนจุด

จุดได้อย่างไร

ใช้อะไรเป็นเชื้อเพลิง

บรรดาผู้รู้ทั้งหลายต่างตะโกนบอกเขาว่า

รีบดับไฟนั้นก่อนเสียเถิด มิฉะนั้นท่านต้องตายแน่ ๆ

แทนที่ภิกษุรูปนั้นจะฟังกลับตอบไปว่า

หากเขาไม่รู้คำตอบที่เขาต้องการ เขาจะไม่ยอมดับไฟบนหัว !

เป็นที่มั่นใจได้ว่า

ภิกษุรูปนี้ต้องตายก่อนที่จะไ้ด้รู้คำตอบแน่นอน

กรณีหนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น

นั้น ถ้ามองเป็นนิยายก็เป็นนิยาย ถ้ามองเป็นวิทยาศาสตร์ก็เป็นวิทยาศาสตร์

แต่ผมคิดว่าผู้แต่งพยายามจะสื่อบางสิ่งบางอย่างจากหนังสือเล่มนั้นออกมา โดยที่ผู้อ่านคงต้องเลือกที่จะรับรู้จากหนังสือเล่มนั้น

ส่วนผู้ท้วงติงก็พยายามจะสื่อบางอย่างออกมาเช่นกัน

ผมไม่ค่อยเก่งวิทยาศาสตร์บางครั้งอ่านๆไปก็ไม่เข้าใจหลักการอะไรมาก จะเข้าใจก็แต่ความพยายามสื่อออกมาของผู้เขียนมากกว่า

ว่าเค้าพยายามบอกอะไร

ผมว่าดีครับที่มีคนท้วงติงบ้างเพราะไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้เลยว่าข้อมูลเดียวนั้นเป็นอย่างไร มีข้อมูลหลายๆแหล่งให้พิจารณาเพิ่ม

ขอบคุณที่แวะมาครับ

ปัญหาก็คือ สนพ.อมรินทร์ ระบุว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ในหมวด "ธรรมะวิทยาศาสตร์" ครับ

ถ้าเขาจัดให้อยู่ในหมวด "นิยาย" หรือเขียนโปรยหน้าปกว่า "เนื้อหาทั้งหมดในเล่มนี้เป็นจินตนาการเพ้อฝันของผู้เขียน" ก็จะไม่มีนักวิชาการที่ไหนท้วงติง

พูดง่ายๆ คือ เป็น 'ของปลอม' ครับ ข้อมูลเท็จซะมาก ชี้นำไปในทิศทางผิดๆ เยอะ แถมยังเหยียบย่ำวิทยาศาสตร์อย่างน่ารังเกียจครับ

พี่ชิวครับ

ไม่ใช่ผู้จัดการเท่านั้นครับที่ "เปี๊ยนไป๋"

อมรินทร์ก็ "เปี๊ยนไป๋" ด้วยครับ

ฮิ ฮิ...

ตามมาให้กำลังใจครับพี่...

ขอให้กำลังใจทันตพทย์สมมากๆนะครับ ตอนนี้ผมกำลังอ่านเล่มสองอยู่

ในประเทศเรายังต้องการบุคคลากรที่มีความรู้และความคิดสร้างสรรแบบนี้เยอะๆครับ

ปัจจุบันมีแต่หนังสือแปลเต็มไปหมด หาคนไทยที่นำเสนอสิ่งใหม่ๆน้อยมาก

ถ้าผิดจริงก็สมควรได้รับการแก้ไขนะครับ ไม่ใช่ปล่อยให้มันผิดอยู่แบบนี้

แต่จากการที่ได้อ่านมาก็คิดว่ายังไม่ได้รับการแก้ไขครับ เพราะเล่มที่ผมอ่านนั้น(พิมพ์ครั้งที่68) มันก็ยังมีข้อมูลที่เป็นประเด็นกันอยู่ก็ไม่แน่ใจว่า อะไรเป็นอะไร แล้วทำไมยังมีการตีพิมพ์โดยไม่ได้มีการแก้ไขแบบนี้ได้อีก

โดยส่วนตัว ผู้เขียนก็เขียนนำเสนอได้น่าสนใจดี แต่ถ้ามันผิดจริง? ผมในฐานะคนอ่านก็รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ของจริง

ซึ่งผมก็เป็นอีกคนที่ชอบหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ อยู่แล้ว

***** สุดท้ายนี้ก็ก็ฝากท่านผู้อ่านควรตรวจสอบข้อมูลที่ท่านได้รับมาอย่างถี่ถ้วน ไม่ควรเชื่อโดยที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรเป็นอะไร(ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า คนเขียนกับคนที่ออกมาทักท้วง ควรจะเชื่อใคร??) เพราะถ้าเราไม่รู้อะไรที่แน่ชัดก็ยังไม่อาจด่วนตัดสินใจได้ว่าใครผิด ใครถูก อิอิ

---หากผิดพลาดประการใดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ขออภัย ณ ที่นี้ด้วยครับ--- ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

ขอขอบคุณ ที่มีข้อคิดดี ๆ มาให้ได้รับรู้

คุณ #163 ครับ

        ถ้าคุณให้ความสำคัญกับความถูกต้องและความรู้อันแท้จริงที่มนุษย์ช่วยกันสร้างขึ้นมา คุณคงจะไม่เขียนเช่นนี้ออกมา

        สำหรับคำแนะนำที่ให้ไว้ ก็แสดงว่าคุณไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

        ไม่เปิดเผยตัวเอง แล้วเที่ยวว่าคนอื่นนี่ คำกล่าวไม่มีน้ำหนักครับ 

        ผมออกไปวิพากษ์โดยใช้เหตุผล หลักฐานทางวิชาการ และใช้ชื่อจริงครับ

        ถ้ายังไม่คุยกันด้วยความสุภาพ ก็คงต้องลบออกไปนะครับ แถวนี้ต้อนรับเฉพาะผู้ที่ใฝ่หาปัญญาที่แท้จริง

น้องหนาน

         ขอบคุณมากครับ ไว้มีเรื่องที่น่าทึ่งจะเล่าให้ฟัง โดยสรุปก็คือ ปราชญ์อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว อยากเขวี้ยงทิ้งออกนอกหน้าต่างเครื่องบินครับ

คุณสมชายครับ

      การให้กำลังใจคนที่นำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์นั้นผมเห็นด้วยครับ

      แต่การให้กำลังใจคนที่นำเสนอข้อมูลที่ผิดเพี้ยน แล้วไม่แก้ไข แต่ใช้วิธีการเอา "คนที่ดูน่าเชื่อถือ" (แต่ที่แท้นั้นมีความคิดแบบ Pseudo-science มารับประกัน) ผมไม่เห็นด้วยครับ

คุณ #167 ครับ

        ลองหาโอกาสศึกษารายละเอียดดูครับ จะพบว่า

           1) สังคมไทยมีคนเขียนหนังสือแบบไม่รับผิดชอบ

           2) (ที่น่าตกใจกว่านั้น) มีคนชอบอ่านหนังสือที่ (1) เขียนจำนวนไม่น้อย และไม่สามารถรับฟังความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลได้ เหตุเพราะความรู้อ่อนด้อย และทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อวิชาการ

        ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

เหอะๆ มีคนคิดเหมือนกันแฮะ หมอสมแกมั่วหลายที่เลย แระสบโอกาสจะโยงเข้าทางแกตลอดโดยตัดรายละเอียดอื่นที่ไม่ตรงทิ้งหมด ทำให้คนอ่านได้รับสารแค่ด้านเดียว

เป็นกำลังใจให้นะครับ ^ ^

ถูกที่สุดครับแม้แต่พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ให้เชื่อในคำสอนของท่านเลยครับ

แต่ว่าท่านตรัสไว้ว่าควรปฎิบัติให้เห็นผลก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อครับ

เอาใจช่วยครับคุณหมอที่กล้าเขียนเรื่องไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้าเห็น

ไม่มีบุรุษใดในโลกที่จะไม่ถูกติเตียนผู้ไม่ผิดคือผู้ที่ไม่ได้ทำ

เป็นกระทู้ที่เปิดมานานแล้วแต่ก็ยังทันสมัย เพราะว่าเมื่อวันก่อนผมเพิ่งไปเห็นเล่ม2 (ไอสไตน์) ที่วางแผง และผมเองก็มีและอ่านเล่ม1จบไปนานแล้ว

ผมเปิดอ่านผ่านๆ คือดูแต่หน้าแรกของแต่ละบท ก็รู้สึกสนใจหนังสือเล่มนี้อยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่ตัดสินใจซื้อ เพราะ... (ไม่อธิบายดีกว่า เสียเวลา หลงประเด็น เรื่องส่วนตัว)

ทีแรกวันนี้ผมก็แค่จะเปิดกูเกิลดูคำว่า "ไอสไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น เล่ม 2" แต่พอเห็นประเด็นเรื่องข้อผิดพลาดและระงับการพิมพ์เล่ม1 และเปิดอ่านทั้งต้นเรื่องตลอดจนเห็นการตอบโต้ในกระทู้นี้ แวบแรกในหัวผมเกิดคำว่า "ถิ่นกาขาว" ขึ้นมา (ยังสงสัยอยู่ว่ามันมาจากสัญญาความจำ หรืออย่างอื่น)

[ปกติ อีกาสีดำ แต่ใช้คำว่า “ถิ่น” นำหน้า แสดงว่ามีจำนวนมาก หรือเกือบทั้งหมด]

สรุปประเด็นคือ ผมแค่อยากแสดงความเห็นถึงคำทำนายที่เคยได้อ่านมาว่า "ถิ่นกาขาว" (แล้วแต่ความเชื่อนะ ผมแค่คิดว่าคำพูดก็คล้ายกับลายแทงหาขุมสมบัติ แต่ผมยังอ่านลายแทงไม่ออก) ซึ่งแรกๆอ่านเจอว่าหมายถึงพวกฝรั่งต่างชาติ ต่อมาก็อ่านเจออีกว่าหมายถึงคนทำผิดกลายเป็นคนถูก ตรงจุดนั้นเองทำให้ผมรู้สึกสะดุดใจและคิดใหม่ว่าความหมายของคำทำนายที่ใกล้เคียงถูกต้องที่สุดมันควรจะเป็นอะไร (ตีความแบบอื่นๆก็มีอีก)

พอถึงปัจจุบันวันนี้ ผมคิดได้อีกอย่างหนึ่ง (แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าถูกรึเปล่า) แล้วว่า มันน่าจะหมายถึง สภาพแวดล้อมทางความคิดของสังคมแบบค่อนข้างชัดเจนที่ตอบไม่ได้ว่า อะไรผิดอะไรถูก หรืออะไรจริงหรืออะไรไม่จริง ทั้งๆที่เป็นยุคไอที นั่นคือภาพสะท้อนว่า ถึงจำนวนข้อมูลมากขึ้นเท่าใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีจำนวนคนรู้มากขึ้น ในอัตราใกล้เคียงกันทั้งหมด จึงใช้ตรรกะกับเรื่องนี้ทั้งหมดไม่ได้ แสดงว่ามีกาลามสูตรอยู่ข้อหนึ่งที่น่าจะจริง

ทำไม???? คนที่อ่านหนังสือ"ไอสไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" จำนวนมากจึงคล้อยตามผู้เขียน (รวมทั้งตัวผมด้วย) และก็มีหลายคนที่ตอบกระทู้แบบไม่เชื่อนักวิชาการ ทั้งๆที่รู้ว่านักวิชาการน่าจะรู้มากกว่าคนอื่นๆ

คำถามนี้เอาไว้ตั้งกระทู้ใหม่ดีกว่า...

[ผมประเมินเองว่าจำนวนมาก แค่เพราะว่าเห็นพิมพ์ออกขาย 70 ครั้ง (แต่ก็ไม่รู้จำนวนจริงๆ) และที่ประเมินว่าคล้อยตาม เพราะว่าตอนนี้เล่ม2วางแผงแล้ว และใช้คำนี้เพราะคิดว่ายังไม่มีใครเชื่ออย่างจริงแท้แน่นอน]

ชื่อหนังสือ ไม่เหมาะเอา บุคคลเคียงกัน เหมือนเอาของสูงกว่ามาเล่น

คุณถ้าคุณชอบไอสไตน์ จะใช้คำว่า ศรัทธาหรือ ชื่นชม

แล้วพุทธเจ้าล่ะ จะใช้คำไหน

คุณไม่เข้าใจศาสนาพุทธอย่างแท้จริง ก็อย่าเอามาเขียน

มันคนละเรื่องกัน ... รู้ตัวรึเปล่า ทำอะไรลงไป

รึว่า ถึงคราวศาสนาจะเสื่อม

สวัสดีค่ะ

คนที่อ่านหนังสือ"ไอสไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" จำนวนมากจึงคล้อยตามผู้เขียน (รวมทั้งตัวผมด้วย) และก็มีหลายคนที่ตอบกระทู้แบบไม่เชื่อนักวิชาการ ทั้งๆที่รู้ว่านักวิชาการน่าจะรู้มากกว่าคนอื่นๆ....จริงค่ะเห็นด้วย  เป็นหนังสือดีในดวงใจเสียด้วยนะคะ

เมื่อได้ฟังอาจารย์อธิบายแล้วเข้าใจค่ะ

ศาสนาไม่มีวันเสื่อมหรอกคุณ

คนต่างหากที่มันเสื่อม

เพราะอะไรเพราะคนไม่มีศีลธรรม

การที่จะชนะใจตนเองยังทำไม่ได้เลย

ในการที่จะเห็นธรรมมันลำบากมากๆ

ต้องอดทนต่อความลำบากแต่ผมว่าหลักของ

ศาสนาพุทธสอนให้รู้จักทุกข์และหนทางแห่งการดับทุกข์

พึ่งชนะความเกลียดด้วยความรัก จงชนะความอิจฉาด้วยความยินดี

สุดท้ายนี้ว่างๆหาหนังสือหลวงปู่ฝากไว้มาอ่านน่ะครับ

ขอบคุณที่พี่ชิวออกมาท้วงติงให้สังคมไทย เห็นข้อบกพร่องของหนังสือเล่มนี้ เพราะกระแสความดัง ที่ซ่อนข้อมูลที่คลาดเคลื่อน มักจะโน้มน้าวให้เกิดความเชื่อและเคลิ้มในสิ่งที่อ่านได้ง่ายจนทำให้ ละเลยการค้นหาข้อเท็จจริง

ว่าแต่ว่า แล้วเราจะทำไงดีล่ะครับ กับหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ยอดเผยแพร่ออกไป ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนเล่มอยู่ในมือเยาวชน และห้องสมุด?

ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์บัญชาครับ ว่าอาจารย์เคยอ่านหนังสือชื่อคล้ายกัน คือ "ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ" หรือไม่ครับ

อยากทราบว่า มีเนื้อหาตรงไหน ที่ผิดไปจากหลักวิทยาศาสตร์หรือไม่

แต่หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้กล่าวถึงหลักฟิสิกส์มาก เพียงแต่ใช้การตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่คำตอบอันอมตะ

ผมชอบหนังสือเล่มนี้มาก อ่านแล้ว ได้ความรู้เยอะ

จึงอยากทราบความคิดเห็นของอาจารย์ด้วยครับ

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์นะครับ

ตอบคุณ I am nothing กรณี "ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ" : กรณีนี้มีทั้งความคล้ายคลึงและแตกต่างจากกรณีที่เราคุยกันอยู่ครับ

         คล้ายตรงที่ว่า : ปักธงเชื่อไปก่อนแล้วว่า พุทธเหนือวิทย์

         แต่ต่างอย่างสำคัญตรงที่ว่า : ผู้เขียนตระหนักดีว่าตนเองอาจไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์อย่างแจ่มแจ้ง ดูหน้า 18 ซึ่งเขียนไว้ว่า

         “จุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้คือ ความรู้ทางฟิสิกส์ที่ดิฉันไม่สามารถเข้าใจได้หมดและถ่องแท้ แต่ถึงแม้ความรู้ทางฟิสิกส์ของหนังสือเล่มนี้จะผิดหมดก็ยังไม่เป็นไร ไม่น่าห่วงมากเท่ากับการสรุปภาวะพระนิพพานอย่างผิดๆ"

        ในกรณีเช่นนี้ ผมถือว่าผู้เขียน (คุณศุภวรรณ) รู้ตัวเป็นอย่างดี และได้ *เตือนผู้อ่านแล้ว* ดังนั้น ผมจึงถือว่าผู้เขียนทำไปด้วยความเชื่อและจิตใจที่ดีงามจริงๆ (ข้อผิดพลาดทางวิชาการ เกิดจากการที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีเพียงพอ แต่แก้ไขได้)

.....มีต่อ..... 

 

               ส่วนกรณีของผู้เขียนหนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น นั้น แตกต่างมาก เพราะเดิมที ดูเหมือนว่าเขาจะเชื่อมั่นว่ารู้วิทย์ดีแล้ว จึงได้เขียนหนังสือออกมามากมาย (บทสัมภาษณ์ก็ชี้ไปในทิศทางนั้น)

               แต่เมื่อแสดงความไม่รู้ รู้ผิด รู้งูๆปลาๆ มั่วแหลก อย่างหนัก ในกรณีหนังสือ "ฟิสิกส์นิวตัน" ผมเชื่อว่าเขารู้ตัวแล้วว่า เขาผิดพลาดไปมาก เพราะขนาดเรื่องพื้นฐานสุดๆ อย่าง แรงกิริยา-แรงปฏิกิริยา ยังเข้าใจผิดเลย (คงจะคิดต่อได้ว่า ขนาดฟิสิกส์ที่ค่อนข้างง่ายยังเละขนาดนี้ แล้วฟิสิกส์ที่ซับซ้อนขึ้นไป จะโดนปู้ยี่ปู้ยำขนาดไหน)

              ปัญหาของ นักเขียน(มั่ว) คนนี้จึงเป็นประเด็นทางจริยธรรม นั่นคือ แม้รู้ว่าผิด แต่ไม่แก้ไข ยังดันทุรัง เนื่องจาก "ตลาด" ยังโตอยู่

              น่าคิดนะครับ

              "อ้างว่า....ปฏิบัติธรรม แต่...เหตุใดจึงไม่ซื่อตรงต่อข้อเท็จจริง"

แถมอีกนิด....

กรณี เล่ม 2 ยังทำให้หลายคนตาสว่างอีกด้วยว่า "มีคนที่ใช้วิชาการ โดยเฉพาะฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ หากินและสร้างชื่อเสียงมาหลายสิบปี แต่กลับแสดงจุดยืนสนับสนุน วิทยาศาสตร์จอมปลอม"

ดุเหมือนของปลอมจะมีพลังมากกว่าของจริง...สำหรับกรณีนี้ครับ

ได้เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งมาแล้ว ก่อนจะเริ่มภาวนาตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์ได้สอนมาอย่างจริงจังหลายปี

ได้พบว่าที่คุณหมอเขียนในเล่มหนึ่งนั้น ยังห่างไกลจากสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นมา

และทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์นั้น ไปคนละขั้วกับจิตสิกขา

ผมอยากรู้ว่าพระพุทธองค์ค้นพบหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร โดยไม่มีการทดลองสักครั้ง

ผมอยากรู้ว่าพระพุทธองค์ค้นพบหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร โดยไม่มีการทดลองสักครั้ง

ผมเห็นด้วยกับ อจ บัญชา ที่ออกมาชี้แจงครับ ต้องขอขอบคุณมากๆ

ผมรักวิชาวิทยาศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ มาตั้งแต่เด็ก จนปัจจุบัน

แต่ปัจจุบันผมเห็นคุณค่าของคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย

คำสอนทางพุทธ กับ วิทยาศาสตร์/คณิตศาสตร์ เป็นคนละเรื่องกันครับ ไม่จำเป็นต้องโยงเข้าหากัน

พระพุทธเจ้าท่านมีเป้าหมายที่จะสอนวิธีที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้พ้นจากความทุกข์ทั้งมวลเท่านั้น ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนไร้การศึกษา หรือ เป็นนักวิชาการ ก็สามารถได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน

เรื่องหนังสือคุณหมอสม นั้นในฐานะผู้ศึกษาแนวพุทธแท้ๆ รู้สึกอึดอัดมานานแล้วครับ ดีแล้วครับที่ อจ บัญชา ออกมาพูด คงทำให้คนที่คล้อยตามได้ยั้งคิด ผมเกรงแต่ว่า ผู้อ่านเหล่านั้นจะเหมารวมว่า พุทธศาสนา เป็นคำสอนจอมปลอมไปด้วย และพลาดคำสอนที่แท้จริงซึ่งลึกซึ้งและมีประโยชน์มหาศาลไป

กรณีนี้ทำให้น่าทบทวนมากว่า ชาวไทยที่เป็น "ชาวพุทธ" เป็นส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้เข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์มากพอ ที่จริงแก่นของคำสอนมีไม่มาก และสามารถปฏิบัติให้เห็นผลในเวลาไม่นานเลย คือ สติปัฏฐาน 4 ซึึ่งเน้นการสังเกตุธรรมชาติแท้ๆ คือ กาย และใจ ของเราเอง อย่างเป็นกลาง ไม่มี bias จนเข้าใจความจริง และปล่อยวางได้ ทำให้กิเลสลดลง หรือ ขาดไปโดยสิ้นเชิง เป็นผลให้ ลดความทุกข์ของตนเอง และผู้อื่นได้

การสอนวิชาพุทธศาสนา ควรเน้นตรงนี้มากกว่า จะไปเกาะกระแสนิยมวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลย ดังที่กล่าวไว้แต่แรกครับ

แต่ถ้ามีผู้พยายามบิดเบือนอย่างกรณีที่ อจ ออกมาพูด ก็ควรโต้แย้ง เพื่อชาวพุทธเองจะได้รับประโยชน์จากของจริงครับ

ขอขอบคุณอีกครั้งครับ ผมคิดว่า อจ ได้ทำประโยชน์ให้กับพุทธศาสนามากครับ

 

 

ขอโทษนะครับ ขอ "แก้" ที่เขียนไปเมื่อครู่เล็กน้อยครับ

ที่บอกว่า การปฏิบัติสติปัฏฐานแล้ว ทำให้กิเลสลดลง แล้วจะทำให้ "ลดความทุกข์ของตนเอง และผู้อื่นได้" นั้น สำหรับ "ผู้อื่น" มีความทุกข์น้อยลง เพียงเพราะเราเป็นคนดีขึ้นแล้ว ทำให้คนอืนๆ ไม่เดือดร้อน หรือ ได้รับประโยชน์จากเรา (ที่เป็นคนดีขึ้น) เท่านั้นนะครับ

การปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่อาจทำแทนใครได้ครับ

ขออนุญาตตอบคุณ "ถาม" สักนิดนะครับ ที่ถามว่า

"ผมอยากรู้ว่าพระพุทธองค์ค้นพบหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร โดยไม่มีการทดลองสักครั้ง"

ก่อนจะตอบ ต้องขอชี้แจง คำถามของคุณก่อนนะครับ

พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงค้นพบหลักการทางวิทยาศาสตร์ นะครับ ขณะนั้น วิทยาศาสตร์แบบที่เรารู้จักยังไม่เกิดเลยครับ

พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญวิชาการทางโลก เพราะไม่มีประโยชน์อย่างแท้จริง เนื่องจากไม่ว่าเราจะค้นพบเทคนิค เทคโนโลยีใด เมื่อถูกใช้โดยผู้ที่มีกิเลส ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าเทคโนโลยีนั้นจะสูงเพียงใด

ท่านจึงเน้น วิธีดับกิเลส ซึ่งท่านทรงค้นพบ ด้วยความพยายามอย่างยิ่ง

แต่ถ้าจะอนุโลม มองในแง่ของหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เราจะเห็นได้อย่างง่ายดายว่า ท่านทรงทำการทดลอง อย่างชัดแจ้งครับ

เรื่องนี้ผมคิดว่า เราทุกคนเรียนมาอยู่แล้วในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาตั้งแต่เด็กๆ (ผมไม่ทราบว่า สมัยที่คุณ ถาม เรียนมาเค้าตัดไปหรือยัง ผมเรียนมาเกือบ 40 ปีแล้วครับ)

ยังจำได้ว่า สมัยท่านออกบวชใหม่ๆ ก่อนตรัสรู้ ท่าน ทดลอง จากการเรียนวิชาการทำสมาธิจิต กับ อุทกกดาบศ และอาฬารดาบส ซึ่งทำสมาธิได้ถึงระดับลึกสุดแล้ว แต่ท่านเห็นว่า ไม่พ้นทุกข์จริง จึงหลีกออกมา แล้วค้นหาวิธีพ้นทุกข์ต่อไป

จากนั้น ท่านได้ ทดลอง วิธีที่นิยมกันในสมัยนั้น คือการทรมานกาย ทรงทำอย่างหลากหลาย และเข้าขั้นวิกฤต แต่พบว่า ไม่พ้นทุกข์ จึงได้เปลี่ยนวิธี

ที่น่าสังเกตุคือ วิธีที่ท่านค้นพบ ที่เรียกว่า การทำวิปัสสนา ซึ่งแปลคร่าวๆ ว่า การเห็นอย่างพิเศษ นั้น ถ้าคนที่ชอบวิทยาศาสตร์อย่างผม ไปศึกษาแล้ว จะพอใจมาก เพราะเป็นการ สังเกตุธรรมชาติของตนเองอย่างไม่มีอคติ นั้นเอง

(ตามหลักที่ว่า การปฏิบัติสติปัฏฐาน คือ การมีสติ รู้กาย รู้ใจ ลงปัจจุบัน ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง)

การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ก็มีความคล้ายกันในแง่นี้ คือต้องศึกษาเรื่องที่ต้องการทราบอย่างละเอียด เป็นระบบ และเป็นกลาง

ความคล้ายกันนี้ มักจะถูกผู้ที่มีทัศนะว่า พุทธเหนือวิทย์ และวิทย์เหนือพุทธ นำไปอ้างอิงเทียบกันไปมาอยู่เสมอ แต่ผมคิดว่า ไม่จำเป็นครับ เพราะเป็นคนละเรื่อง คนละวัตถุประสงค์ เพียงแต่นำมาชี้แจง เพื่อความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด คิดว่า พระพุทธเจ้าท่าน "มั่ว" ขึ้นมา อยู่ๆ นั่งหลับตานิ่งๆ ไปคืนนึง แล้วก็มาสอนเป็นตุเป็นตะ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอกนะครับ

ที่สำคัญ สิ่งที่ท่านสอน มีผู้ปฏิบัติเห็นผลมาแล้วตลอดสองพันกว่าปีมานี้ ถึงได้สืบต่อพระศาสนามาได้ พุทธแท้ๆ ไม่ได้เป็นไปเืพื่อผลประโยชน์ ชื่อเสียง หรือ ความเด่นกว่าใคร แต่มีไว้เพื่อให้ห่างไกลจากทุกข์ ห่างจากความเห็นแก่ตัว เมื่อมีความเห็นแก่ตัวน้อยลง แล้วมีความสามารถในศาสตร์ใดๆ ไม่ว่าจะเ็ป็นวิทยาศาสตร์ หรือ เศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ ถึงจะใช้ความสามารถนั้นเป็นประโยชน์ได้จริงกับตนเองและสังคมครับ

คือผมได้อ่านข้อความที่พวกท่านชี้แจงมา ผมอยากพูดอย่างนี้ครับ

ส่วนตัวนะครับ ไม่เคยสนใจทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา แต่มีอยู่วันนึงผมได้อ่านบทความของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผมชอบข้อความอยู่ข้อความนึง เขียนประมาณว่า "ถ้าจะมีศาสนาใดในโลกที่จะเข้ากับวิทยาศาสตร์ได้ ศาสนานั้นคือศาสนาพุทธ" ผมก็เลยลองอ่านๆดูว่าเพราะอะไร เขาเขียนประมาณว่าเปรียบเทียบคำสอนของพระพุทธเจ้ากับสิ่งที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ค้นพบว่าตรงกัน และคนที่ค้นพบว่าตรงกันนั่นก็คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผมก็เลยสนใจศึกษาว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ค้นพบอะไรที่ตรงกับคำสอนบ้าง

พวกท่านเห็นอะไรใหมครับ...

ผม ไม่เคยคิดจะศึกษาหรืออยากรู้ทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา แต่เมื่อผมได้ลองอ่านข้อความเชิืงวิทยาศาสตร์ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แล้วผมกลับอยากอ่าน อยากรู้ ทั้งวิทยาศาสตร์ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และคำสอนของ พระพุทธเจ้า พวกท่านเห็นหรือยังครับ

อย่างน้อย ก็ยังมีผมคนนึง จากคนที่ใหว้พระ สวดมนต์ เพราะแค่รู้ว่าตัวเองนับถือศาสนาพุทธก็เลยต้องทำ เปลี่ยนมาเป็นอยากรู้อยากทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแค่ผมเจอทฤษฎีเมื่อหลายทศวรรษก่อน ของคนที่ชื่อว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

ตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าพวกท่านจะคิดยังไงกับประเด็นที่พวกท่านชี้แจงกันว่า "พุทธศาสนา กับ วิทยาศาตร์ เกี่ยวข้องกันยังไง"

เอางี้ดีกว่า ผมตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อเปิดช่าง 9 ดูพระพระเทศน์อ่ะ

ผมก็คิดว่าคำพูดของคุณpaul ก็มีเหตุผลดี เเต่ทำไมหนังสือของ หมอสม ถึงบอกว่าพระพุทธองค์ค้นพบ อะตอมล่ะ การหยืด-หด ของเวลา เเละอีกหลายอย่างล่ะ เเล้วมันจริงไหม

ผมพึ่งขึ้นปี 1 วิทย์เคมี ไม่รู้เรื่องเมื่อ 40 ปีก่อนหรอก

(บอกตรงๆ ผมศรัทธาในวิทยาศาสร์ เเละผมไม่มีศาสนา)

ผมเป็นคนที่ชอบเรียนฟิสิกมากมาตั้งแต่เด็ก และก็ชอบการปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่เด็กด้วยครับ ถึงตอนนนี้ผมทำมา 10 กว่าปีผมยังนั่งสมาธิทุกคืน หาหนังสือฟิสิกส์มาอ่านทุกคืน จนเชี่ยวชาญทั้งสองด้าน วิทยาศาสนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มากนะครับ มันแสดงถึงข้อเท็จจริงของธรรมชาติได้หลายอย่าง ถ้าผู้ที่ได้ศึกษาจริงๆแล้ว ในโลกของฟิสิก วิทยาศาสนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้เหมือนกับว่าทุกอย่างบนโลก กฏทุกข้อที่ตั้งขึ้นมาไม่มีข้อตายตัว ไม่มั่นคง ไม่ได้เป็นสเตบ ไม่ได้เป็นขั้นตอน มีความอ่อนไหวและลึกซึ้ง เข้าใจได้อยาก แต่เป็นเหตุเป็นผลกัน มันเป็นอะไรที่แข็งๆแต่มีความเหลว เหมือนไข่ที่แข็งจากเปลือกแต่เหลวในๆ การนั่งสมาธิทำให้เกิดความรู้สึกมีความสุข ความสงบซึ้งคำว่าสงบคำนี้ไม่ได้หมายถึงสงบที่ใช้กันบนโลกจากความสงบจะทำให้เกิดความรู้ ความรู้สึกหลายอย่างที่รู้ได้เฉพาะตน(คนที่ปฏิบัติเท่านั้น)มันจะคล้ายกันกับวิทก็ตรงนี้แหละคือ เป็นสิ่งที่เข้าใจได้อยากเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีความอ่อนไหวและลึกซึ้ง ไม่ตายตัวและไม่มั้นคง แต่เป็นเหตุผลซึ้งกันและกัน เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ถึงแม้ว่าวิทและพุทธ มันมีความเกี่ยวพันกันในหลายด้าน แต่ผมคิดว่าวิทและพุทธ มันเป็นคนละเรื่องกันเลยนะครับ อยากให้ทุกคนลองนั่งสมาธิดูลองเอาหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ไม่เรียกว่านั่งสมาธิก็ได้ครับลองนั่งเฉยๆไม่ต้องทำอะไรแล้วไม่ต้องคิดอะไร ทำใจให้สงบ แล้วคุณจะรู้ว่าทำไมศาสนาต้องมีมาก่อนวิทยาศาสตร์

ไม่ว่าจะเป็นวิทหรือพุทธ ทั้งสองอย่างนี้มันต้องทำการทดลอง ต้องเจอด้วยตนเอง ต้องพบด้วยตนเอง ต้องเห็นด้วยตนเอง ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง  เมื่อถึงจุดไหนึ่งแล้วมันเป็นสิ่งที่อธิบายอยากมากหรืออธิบายไม่ได้ จนหลายคนอาจคิดว่า คุณเพ้อเจ้อ คุณมั่ว รึ ป่าว แต่ถึงตอนนั้นเอง คุณก็จะอุทานคำว่า  อ๋อ ออกมา

อ่านแล้วครับ ทั้งเล่ม 1 และ 2

พอดีว่าเรียนฟิสิกส์แค่ ม.ปลายเลยไม่กล้าท้วงอะไรมากเพราะคิดว่าวันเวลาผ่านไปที่เราเรียนมาอาจผิดก็ได้

แต่ถึงขนาดนั้นยังรู้สึกแปลกว่ามันผิดหรือเปล่าหว่า...เพราะรู้สึกว่ามันมั่วมากๆ

เห็นเพื่อนอ่านกันหลายคน บอกว่าดี คือมันก็ดีจริงๆในแง่ของการที่ให้คนศรัทธาและหันมาปฏิบัติธรรมมากขึ้น

แต่ข้อมูลหลายๆอย่าง ทางพุทธศาสนาถือว่าผิดและมั่วเยอะมากๆครับ

ใครที่อ่านโปรดใช้วิจารณญาณให้ดีด้วย

อ่านแล้วครับทั้ง เล่ม 1 และ 2  ดีมากๆ ครับ  ดีในแง่ที่ว่า ความจริงทางวิทยาศาสตร์ + ความจริงทางพุทธศาสตร์ศาสนา

ผม(ความ)เชื่อว่า(ความจริง)  พุทธรรมเป็นวิทยาศาสตร์ของทั้งรูปและนาม

พุทธธรรม เป็นวิทยาศาสตร์ - คือเป็นความรู้ที่เกีี่ี่ยวกับความจริงของธรรมชาติซึ่งมีทั้งรูป(สสาร - พลังงาน) และนาม

มันไปด้วยกันได้คับ    แต่ขอให้ผู้เขียนหนังสือ ปรับข้อเท็จจริงทาง พุทธ - วิทย์ ให้ถูกต้อง

 

ดีมาก คับ ที่มีผู้รู้ออกมา ทักท้วง จะได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ส่วนตัวผมพอเข้าใจทฤษฏี ของไอน์สไตน์ และพุทธธรรมพอสมควร ในระดับหนึ่ง

เรื่อง แบบนี้ต้องศึกษากันให้ลึกซึ้งหน่อย คับ ทั้งทางด้าน วิทย์ และ พุทธ เพราะวิธีการได้มาซึ่งความรู้คล้ายกัน

พุทธได้มาทางจิต (การทดลองทางจิต) ไม่ได้ใช้คณิต

วิทย์ต้องผ่านการทดลอง ใช้คณิตศาสตร์

รูป(สสาร-พลังงาน) มองเห็นเข้าใจง่าย

จิต(นาม) มองไม่เห็นเลยเข้าใจยาก

ตอนนี้กำลังทำความเข้าใจอยู่เหมือนกันว่า พุทธธรรม กับ วิทยศาสตร์ มีความเหมือนกัน แต่ การแสดงผลต่างกัน

วิทย์ แก้ทุกข์ได้แค่ปัจจุบันชาติ

พุทธแก้ทุกข์ได้สิ้นเชิง

บทความ (อ่านเล่นเพลินๆ คับ)(ความจริง)(ความเชื่อ)

ให้ใช้ปัญญา นำหน้าความเชื่อและศัทธานะคับ คือ มีเหตุมีผลเพียงพอก่อนนะคับ ค่อยเชื่อ ค่อย สัทธา

เป็น บทความสนับสนุนที่ว่า พุทธธรรมเป็นวิทยาศาสตร์ที่ทนต่อการพิสูจน์ทุก(กาลเวลา - อวกาศ)

ผมจะใ้ช้วิธีศึกษาและปฏิบัติ ในการเดิน ตามรอยพระบาทองค์พระศาสดา(เป็นชื่อบทความและจุดมุ่งหมายในความเข้าใจ บทความ)

จากคำสอนและวิธีการสอนขององค์พุทธะ พอจะประมวลได้ว่า " พุทธธรรม " นั้นเป็นวิทยาศาสตร์ - คือเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งรูป (สสาร - พลังงาน ) และ นาม ดังนั้น พุทธธรรมจึงเป็นวิทยาศาสตร์ของทั้งรูปและนาม ซึ่งปรากฎอย่างชัดเจนเป็นหลักอยู่ในพระอภิธรรมปิฎก ที่องค์พุทธะได้พบความจริงจากการ ตรัสรู้ และได้รวบรวมประมวลความรอบรู้เหล่านั้น (ทั้งรูปและนาม) และนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ทุกข์ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของทุกชีวิต ทั้ง 3 ระดับ คือ ทิฎฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตตะ และสุดท้าย ปรมัตถะ เช่นเดียวกับที่วิทยาศาสตร์กายภาพ(Physical Science) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ศึกษาจนรบรู้ในหลักการและกฎเกณฑ์ต่างๆของสสารและพลังงาน และนำไปประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งยังยังผลอำนวยเป็นความสะดวกสบาย - ความสุขของมวลมนุษย์ในปัจจุบัน(ชาตินี้) หากแต่ผิดกันที่ว่า วิทยาศาสตร์กายภาพสามารถแก้ทุกข์ให้แก่มวลมนุษย์ชาติได้เฉพาะแต่ในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น แต่พุทธธรรมเป็นหลักวิชา - ความรอบรู้ - กฎเกณฑ์ ของทั้งรูปและนามประมวลเข้ากันแล้ว " กำหนดเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ - มรรค " ยังให้เกิดผลประโยชน์ทั้ง 3 ระดับแก่ผู้ปฏิบัติ คือ พ้นจากความทุกข์ ทั้งในปัจจุบันชาติ(ชาตินี้) ในอนาคต (ชาติหน้า - ต่อๆ ไป ) และเบ็ดเสร็จสิ้นเชิง (พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง - มีความสุขอย่างยิ่งตลอดกาล) อีกด้วย

ผมมีจิตใจเปิดกว้างเพื่อรองรับ สัจธรรมที่ "สมเหตุสมผล" และไม่ค้านกับกาลามสูตรและโคตมีสูตรเสมอ ข้อเขียน - ความคิด

ผมได้พยายามศึกษาและปฏิบัติพุทธธรรมตามแนวคิดเห็นของผมเองที่ว่า " พุทธธรรมเป็นวิทยาศาสตร์ของทั้งรูปและนาม

ดังนั้น จึงสมควรหรือน่าจะใช้กรรมวิธีเดียวกันกับการศึกษาและปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์กายภาพ ซึ่ง ผมมีประสบการณ์มาตั้งแต่การศึกษาในชั้นอุดมศึกษา ที่ว่า เราจะต้องศึกษาทฤษฎี - คือปริยัติ ให้เข้าใจและอย่างสมเหตุสมผลด้วยจินตามยปัญญาก่อน แลัวจึงเข้าห้องปฏิบัติการ เพื่อทดสอบทฤษฎีที่ได้ศึกษามาแล้วอย่างเข้าใจและถูกต้องด้วยเหตุและผลนั้นต่อไป ตามแนวทาง เทคนิค และขั้นตอนที่ผู้เคยทำมาแล้ว คืออาจารย์ผู้สอนเขียนกรรมวิธีในการปฏิบัติ (Procedure) ไว้แล้วนั้นต่อไป เมื่อผลของการปฏิบัติในห้องทดลองและทฤษฎีตรงกันก็สามารถนำผลนั้นไปประยุกต์ในเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ต่อไป เพื่อให้เกิดความสะดวกและผาสุกของการดำเนินชีวิตของมวลมนุษยชาติเป้นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งเป็นขั้นปฏิเวธธรรมจะไหลอกมาอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นตอน ไม่ต้องผ่านขั้นตอนใดๆ อีกเลย ซึ่งไม่เหมือน(ต่าง)กับวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนของเทคโนโลยีอีกชั้นหนึ่ง กระบวนวิธีการและขั้นตอนของการปฏิบัติทางกายภาพมีความจำเป็นและสำคัญยิ่งต่อผลที่ถูกต้องแม่นยำตามที่ต้องการปรากฎในทฤษฎีฉันใด กระบวนวิธีการและขั้นตอนของการปฏิบัติพุทธธรรมก็ย่อมมีผลต่อความถูกต้องแม่นยำสมบูรณ์ของ ปฏิเวธธรรมที่จะได้ออกมาฉันนั้นเช่นกัน แต่ต้องการความมละเอียด สุขุม และแยบคายอย่างยิ่ง เหตุเพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับนามธรรมซึ่งไม่มีตัวตนอีก

ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยที่ยากแก่การทำความเข้าใจ ศาสตร์(พุทธ + วิทย์) ทั้ง สอง

จาก เด็กวิทย์ แต่ศัทธาในพุทธศาสตร์ศาสนา (ปัญญา ต้อง นำ สัทธา ).....

พุทธธรรมเป็นวิทยาศาสตร์ทั้ง(รูป สสาร -พลังงาน )และนาม(จิต)

มหากัปป์ มีค่า ประมาณ 4 * 10 ยกกำลัง 23 ปี

อนันตัง = ไม่มีที่สุด -นับไม่ถ้วน = infinitely - infinity

โลก มีเกิดขึ้นจากขั้นตอนการก่อกำเกิด - พัฒนาของเอกภพ - จักรวาล และดับพร้อมกับการสิ้นไปของจักรวาล เมื่อสิ้นสุด มหากัปป์

แล้วก็เกิด - พัฒนาขึ้นมาใหม่ เป็นอย่างนี้กลับไปกลับมา หาที่สุดมิได้ ทางวงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เรียกว่า เรียกว่า คาบ หรือ วงรอบ หรือ period มี ค่า 4 * 10 ยกกำลัง 23 ปี(พุทธพจน์กล่าวไว้ว่ามี ค่าประมาณ หน่วยปี )

สรรพสิ่งล้วนเป็นวัฏฏะ โลกหมุนรอบตัวเอง โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ กาแลกซี่ดาวฤกษ์ เคลื่อนที่รอบกันเป็นรูปคล้ายวงล้อเกวียน มี เส้น ผ่านศูนย์กลาง 1 แสน ปีแสง(1 ปี แสง = 14,608 * 10 ยกกำลัง 8 กิโลเมตร = ระยะทางที่แสงเดินทางไปได้ใน 1 ปี ด้วยความเร็ววินาทีละ 300,000 กิโลเมตร ใช้ เวลา ประมาณ 200 ล้านปี) ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางกาแลกซี่ประมาณ 33,000 ปีแสง

วัฏฏะของสิ่งที่ใหญ่โตมากๆขึ้นจะมีระยะเวลามากขึ้น แต่สำหรับในสเกลของธรรมชาติแล้วเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงแป๊บเดียว แว่บเดียวในธรรมชาติเท่านั้นเอง

อะตอม - ปรมาณูมีอิเล็กตรอนที่หมุนรอบๆ นิวเคลียส คือ แก่นปรมาณู 1 รอบ ใช้เวลาเพียงแค่ 100 uuu second เท่านั้นเอง คือ 10 ยกกำลัง ลบ 16 วินาที (วัดโดยนักวิทยาศาตร์กายภาพ)

คาบการหมุนรอบกาแลกซี่ของเราและของดวงอาทิตย์ 200 ล้านปี หรือ น้อยเหลือเกิน 10 ยกกำลัง ลบ 16 วินาที ซึ่งเป็นการหมุนรอบของอิเล็กตรอนรอบนิวเคลียสของอะตอม มันเป็นไปได้ มันเป็นจริงใน เรื่องของ ธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการพิสูจน์และยืนยันความจริงเหล่านี้แล้ว (มันไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ)

บางสิ่งบางอย่างในธรรมชาติที่แม้นักวิทยาศาสตร์กายภาพปัจจุบันยังก้าวเข้าไปยังไม่ถึง แต่พระพุทธองค์ซึ่งเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์กายภาพ(รูป) และนักวิทยาศาสตร์นามภาวะ(นาม) ทรงรอบรู้แล้วทรงตรัสไว้สั่งสอนเวไนยสัตว์ ตรัสไว้ตามความจำเป็นประกอบคำสอนสู่ความพ้นทุกข์ทั้งโอกาสโลกที่เป็น สสาร - พลังงาน ตั้งแต่ที่มีขนาดเล็ก - microspic world เช่น ปรมาณูและอนุภาคที่เล็กกว่า และที่มีขนาดใหญ่ - astronomical world จำพวกดาราศาสตร์ทั้งหลาย การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของสรรพสิ่งธรรมชาติเหล่านี้ คือ โลกวิสัย 3 ไ้ด้แก่ 1 โอกาสโลก 2 โลกคือหมู่สัตว์ 3 โลกคือขันธ์ 5 ตลอดจนสามัญลักษณะโดยละเอียด พระพุทธองค์ได้ตรัสว่าอย่าได้เข้าไปคิดค้นหาตำตอบที่ถูกต้องแท้จริง เพราะมิใช่วิสัยของผู้ใดจะทำได้นอกจาก องค์พุทธะ ไม่มีทางที่จะคิดค้นหาได้สำเร็จอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ถ้ายิ่งพยายามทำต่อๆ ไป ผลสุดท้าย คือ เป็น บ้า หาประโยชน์ใดๆ ในการแก้ทุกข์ไม่ได้เลย

อาจินไตย 3 1 พุทธวิสัย 2 ณานวิสัย 3 วิบากวิสัย

ระยะเวลาอันยาวนานในการบำเพ็ญสั่งสมบารมีขององค์พุทธะ เป็น อสงไขย ๆ มหากัปป์ จากคุณสมบัติของ จิต(เรื่อง จิตปรมัตถ์) บารมีทางด้านดีถูกสั่งสมใว้ใน จิตสันดานตลอดเวลา(การเชื่อมต่อ) บุญญาบารมี ความรู้ความสามารถ ด้วยจำนวนเป็น อสงไขย ๆ มหากัปป์ เมื่อบารมีเต็มแล้ว เมื่อลง มาตรัสรู้เป็นองค์พุทธะในโลก จิตพ้นจากกิเลส ขณะบรลุเป็นพระอรหันต์ตสัมมาสัมพุทะเจ้านั้น อินทรีย์และพละซึ่งเป็นคุณสมบัติของจิตของท่าน จึงมีพลังอำนาจ(energy)ดึงเอาความรู้และความสามารถ คือ บารมีที่ถูกสั่งสมเอาไว้ในจิต ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ในระดับพุทธะวิสัย การสั่งสมพลังงาน บารมีเข้าไว้ในจิตในสภาวะนี้แบบนี้ ก็มี ให้เห็นในแม้ ปุถุชนซึ่งยังมีกิเลสยังไม่หมดจด เช่น วิชชา 3 วิชชา 6 และอภิญญา และวิชชาด้านต่างๆ อื่นๆ ก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งยังเป็น โลกียะ

ซึ่งก็ยังเทียบกันไม่ได้กับ วิชชาและญาณที่ปรากฏแก่องค์พุทธะในระดับ พุทธวิสัย

ไอน์สไตน์น้อย หัวใจพุทธ

1 อสงไขย เป็นจำนวนนับ = 10 ยกกำลัง 146 มันมากไปนะ มัน น่าจะ ประมาณ 20 ล้าน

จำนวนอสงไขยเป็นจำนวนนับที่เป็นปีของการวนครบ 1 รอบของอายุกัปป์ของมนุษย์ที่เพิ่มลด 1 ปี ทุกช่วงเวลาที่ผ่านไป 100 ปี

ใน พุทธกาล อายุกัปป์ของมนุษย์ = 100 ปี ปัจจุบันผ่านมา 25 พุทธศตวรรษ อายุกัปป์ของมนุษย์ขณะนี้ 74 ปี

เมื่อเวลาผ่านไป 2500 ปี การคิดคำนวณแบบนี้ คำว่า (อสงไขย ซึ่งเป็นจำนวนนับ น่าจะมีค่า ประมาณ 20 ล้าน)

องค์พุทธะทรงบำเพ็ญบารมี 3 ประเภท

1 ปัญญาธิกพุทธะ ใช้เวลา 4 อสงไขย กับ อีก 1 แสนมหากัปป์

2 วิริยาธิกพุทธะ 2 เท่า ของ ข้อที่ 1 คือ 8 อสงไขย กับ อีก 2 แสนมหากัปป์

3ศรัทธาธิกพุทธะ ใช้เวลา ในการ บำเพ็ญ 2 เท่า ของ ข้อที่ 2 คือ 16 อสงไขย กับ อีก 4 แสน มหากัปป์

ผมได้ พิจารณาดูแล้วว่าระยะเวลาของการสั่งสมบารมีขององค์พุทธะแต่ละประเภทแล้ว เกิดความรู้สึกรู้ซึ่งแล้วเข้าใจทันทีเลยว่าทำไมถึงได้มีความรอบรู้ เก่งกล้าสามารถอะไรแบบนี้ ไม่มีผู้ไดเสมอเหมือน และเป็นความเสียสละอันใหญ่หลวงเพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์ หากไม่มีองค์พุทธะแล้วสัตว์ทั้งหลายคงจะไม่มีโอกาสพ้นทุกข์ได้เลย

จงมีจิตใจเปิดแบบจิตใจของนักวิทยาศาสตร์ (scientific Mind) พระพุทธศาสนาไม่กลัวคนผู้มีปัญญามาศึกษา

เช่น นักวิทยาศาสตร์

สรุป คือ พุทธศาสตร์ - เป็นความจริง(ปรมัตถ์)ละเอียดกว่า

วิทยาศาตร์ - เป็นได้แค่ระดับ ทิฏฐธัมมิกัตถะความจริงตามธรรมชาติหยาบกว่าศาสตร์ทางพุทธ

สรุปความรู้ทั้งหมดในธรรมชาติ

ความรู้ทางพุทธศาสตร์ แยกเป็น 2 สาขา

1 วิทยาศาสตร์กายภาพ - แค่ รูปปรมัตถ์ 2. วิทยาศาสตร์นามธรรม เป็นนามปรมัตถ์

ไอน์สไตน์น้อย หัวใจพุทธ

เรืองของ ความเข้าใจ ถูกต้อง พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์คับ ดังนั้น เพราะว่าผู้ใดก็ตามที่จะหาผลประโยชน์จากพุทธศาสตร์สู่ความพ้นทุกข์ ผู้นั้นจะต้องศึกษาคำสอนขององค์พุทธะ ให้เกิดความรอบรู้และเข้าใจ เช่น เดียวกับ วิทยาศาสตร์กายภาพซึ่งเป็นความจริงที่เกี่ยวกับรูปคือ สสารและพลังงาน ซึ่งหยาบกว่า พุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นความจริงตามธรรมชาติเช่นกัน แต่มีทั้งส่วนที่เป็นรูปและส่วนที่เป็นนาม เป็นความจริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิต - ก้อนทุกข์ ซึ่งประกอบด้วยทั้งรูปและนาม

การไหลของธรรมชาติจริงๆ คือ Flow of nature

คำสอนแบบวิทย์ขององค์พุทธะ "ธรรมเหล่าาใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับสิ้นเชิงแห่งธรรมเหล่านั้นเมื่อหมดเหตุ พระมหาสมณเจ้ามีปกติก็สอนเอาไว้อย่างนี้" เป็นคำพูดของ พระอัสสชิตอบคำถามว่าใครเป็นศาสดาและสอนว่าอย่างไร

เป็นการแสดงเหตุและผลซึ่งลงรอยกันกับปัญหาทางวิทยาศาสตร์ H2O เกิดขึ้นมาจาก ออกซิเจน 1 อะตอม+ ไฮโดรเจน 2 อะตอม คือ ผลเกิด จาก เหตุ นั้นเอง

ไอน์สไตน์น้อย หัวใจพุทธ

พุทธศาสน์ = วิทยาศาสตร์ องค์ศาสดาเป็นนักวิทยาศาสตร์

พุทธศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานของเหตุและผล ไม่ใช่อยู่บน ความเชื่อ ศัทธา งมงาย

ไม่มีสิ่งใดในพุทธศาสนาอธิบายไม่ได้ เป็นศาสนาที่ให้ข้อคิด ให้ ใคร่ครวญ พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล ปัญหาทุกปัญหา ต้องตอบได้ และก็จะสามารถ เข้าใจ ได้ ไม่เว้น แม้แต่ เรื่องของ อาจินไตย 4 ไม่มีข้อยกเว้น

สาเหตุที่ ทำไม อาจินไตยทั้ง 4 จึงเป็นสิ่งที่ ปุถุชนผู้มีกิเลสหนา ไม่ควรไปคบคิด ถ้าจะคิดหาคำตอบที่ถูกต้อง ตอบให้ได้ ผลก็คือ บ้า

จะเปรียบเทียบปัญหาอาจินไตยกับปัญหาง่ายๆ ที่มีอยู่จริงๆ ในโลกใบนี้ คือ ถ้าเ็ป็นผู้ที่มีพื้นความรู้ไม่พอเพียงก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ แม้จะอธิบายอย่างไร ๆ เช่น ปัญหาการหาพื้นที่ของ วงกลม วงรี พาราโบล่า *** การคำนวณหาความโค้งของ กาล-อวกาศ โดยใช้ สมการสนามของไอน์สไตน์ การอธิบายเทหวัตถุบนฟากฟ้า(จักรวาลวิทยา) ผู้มีความรู้แบบชาวบ้าน ประถมศึกษา มัธยม และ อุดมศึกษา จะมีทัศนะเกี่ยวกับปัญหาลักษณะนี้แตกต่างกัน ผู้มีความรู้ทางคณิตศาสตร์ชั้นสูงจะเป็นเรื่องที่ง่ายนิดเดียว ถ้าผู้มีความรู้แค่ประถมศึกษาจะคิดให้ได้ คือ ดันทุรังคิด จะมีผลก็คือ เป็น บ้า หากไม่ทำการศึกษาให้ถึงขั้นเสียก่อน อย่างนี้เป็นต้น ในส่วนของปัญหาสัจธรรมในพระพุทธศาสนา - ในธรรมชาติก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เนื่องจากพุทธศาสน์ต้องพิจารณาใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผลก่อน เพราะองค์ศาสดาเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของผู้มีระดับสติปัญญาสูงพอสมควร จึงจะสามารถหาประโยชน์จากคำสอนขององค์พระพุทธเจ้าได้อย่างแท้จริง สู่ความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงเบ็ดเสร็จได้ และประโยชน์ที่พึงจะได้รับนั้น ก็มีความมากน้อยลดหลั่นกันไปตามระดับกำลังของ สติและปัญญาของผู้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติด้วย ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ เอาปัญญา นำ หน้า ไม่ใช้ ศัทธ า และ ความเชื่อ งมงายนำ

ไอน์สไตน์น้อย หัวใจพุทธ

พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์ พุทธศาสน์อยู่เหนือวิทยาศาสตร์(ไอน์สไตน์)

โลกในปัจจุบันได้ก้าวหน้าไปไกลมากเกี่ยวกับรูปซึ่งได้แก่ สสาร และ พลังงาน ที่เราเรียกกันว่า วิทยาศาสตร์กายภาพ พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจในเรื่องของทฤษฎี(พิเศษ)(ทั่วไป)ของ ไอน์สไตน์ เอาไว้บ้างตามสมควร

จากความจริงที่ปรากฎในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอภิธรรมปิฎกที่ แสดงให้เห็นถึงความรอบรู้ขององค์พุทธะอย่างกว้างขวาง ในเรื่องของรูปปรมัตถ์(สสารและพลังงาน)E = mc2 สามารถสัมพันธ์กันได้โดยตรงกับความรู้ในทางวิทยาศาสตร์กายภาพที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำอย่างไอน์ไตน์ค้นพบและนำมาใช้ประโยชน์ ในพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับโลกและจักรวาล สัมพันธ์ได้กับดาราศาสตร์ พระภิกษุจำเป็นจะต้องศึกษา - เปิดหู - เปิดตาให้กว้างพอสมควร เพื่อความเป็นผู้ไม่ล้าหลังและสามารถใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสัมพันธ์กับพุทธศาสน์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจของพุทธศาสนิกชนที่เป็นเยาวชนและผู้ได้รับการศึกษาสูงทางวิททยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ แม้ว่าเรื่องของวิทยาศาตร์นามธรรมในทางพุทธศาสนาในนามปรมัตถ์นั้้นจะพูดอธิบายกันให้รู้เรื่องได้ยาก เพราะทางโลกวิทยาศาสตร์ต้องใช้ คำว่า เขาก้าวเข้าไปไม่ถึง แต่ถ้าสามารถชี้ให้เห็นได้ว่า วิทยาศาสตร์กายภาพที่ไอน์สไตน์นั้นค้นพบ กับ รูปปรมัตถ์ในทางพุทธศาสนามันลงรอยกันได้ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนขององค์พุทธและเป็นการสำทับลงไปว่าองค์พุทธะนั้นเหนือชั้นกว่า นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกอย่าง แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แม้เฉพาะเพียงเรื่องของ รูป คือ สสาร(metter)และพลังงาน(energy)อย่างเดียว ยังไม่ต้องกล่าวไปถึงเรื่องของ นาม(จิต) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิต ที่เกี่ยวข้องกับความสุข - ความทุกข์ ซึ่งพวกนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งๆ ทั้งหลาย ยังมืดบอด แต่พระพุทธองค์สามารถใช้หรือนำเอาหลักการของ นามปรมัตถ์ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์นามธรรมกรุยทางสู่ความพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงและชี้แนะให้้เวไนยสัตว์ทุกรูปแบบของชีวิต ได้เดินตาม เพื่อความสุขอันเป็นนิรันดรและเป็นสิ่งปรารถนาสูงสุดของทุกรูปแบบของชีวิตได้ในอดีตที่นานมาแล้วกว่า 2,500 ปีมาแล้ว

แม้กระทั่งตัวไอน์สไตน์เองยัง บอกว่า สิ่งที่เข้าค้นพบ องค์พุทธได้ค้นพบมา ก่อน ไอน์สไตน์ เป็น พันปี (ผ่านมาแล้วก็ 2554 เช่น การก่อกำเนิด - พัฒนาการของเอกภพและจักรวาล การเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ และ แปรปรวนในท่ามกลาง และแตกดับพร้อมกับการสิ้นไปของจักรวาล(จุดจบของเอกภพ ในที่สุด)เมื่อสิ้นสุดมหากัปป์ แล้วก็เกิด - พัฒนาขึ้นมาใหม่)เป็นอย่างนี้กลับไปกลับมา หาที่สิ้นสุดมิได้

ไอน์สไตน์น้อย หัวใจพุทธ

เจอกันใหม่ โอกาสหน้ากับ กับ บทความ พุทธศาสน์ อยู่ เหนือ วิทยาศาตร์ แต่มีความสัมพันธ์กันในหลักการของเหตุและผล............

หนูก็ออ่นหนังสือเล่มนี้ คิดว่าก็ได้ความรู็ แต่ติดอยู่ที่ว่า เหมือน ท่านผู็เขียน จะเหมือนหลงตัวเองนิดหน่อย และข็อมูลที่อาจไม่เป็นจริง แต่ท่านยืนยังว่าจริง เช่น วิญยานไม่มีจริงจิตดับ แล้วเกิดทันที จริงหรือเปล่า แล้วคนที่เห็นวิญานไปนี่คืออะไร หนูมีประสบการณ์มากลับตัว หรือ จินตนาการไปเอง งง และท่านพูดเรื่องภพ แลว้ท่านไม่ได้พูดถึงภพของวิิญญานซึ่งก็อาจมีจริง

สวัสดีครับ ผมก็เป็นหนึ่งคนที่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือของ ทพ.สม สุจีรา ...ก่อนหน้านี้ ผมก็เป็นชาวพุทธ(ตามทะเบียนราษฎร์)มิได้เข้าใจลึกซึ้งในธรรม ของพระพุทธองค์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของผมมีมากกว่าความรู้ทางพุทธศาสตร์เสียอีก แต่ด้วยความที่ผมเกิดและเติบโตมาจากสังคมชนบท ซึ่งก็ซึมซับพุทธศาสตร์(ที่ผสมกับฮินดู)มาแต่เล็กแต่น้อย ตอนเด็กๆจึงกลัวผีจนอุจาระขึ้นลิฟท์ไปบนสมองได้ง่ายๆตามแบบฉบับความเชื่อแถวสังคมชนบท พอเติบใหญ่ได้เรียนรู้เรื่องของวิทยาศาสตร์ ก็เริ่มคลายความกลัวในเรื่องที่วิทย์พิสูจน์ไม่ได้ จนในที่สุดแทบจะหมดความกลัวไปเสียสิ้น เห็นเรื่องผี วิญญาณเป็นเรื่องที่เหลวไหลไปในที่สุด ด้วยความที่เติบโตมาจากหลังกุฏิ ก็พอจะรู้และเรียงศีลห้าถูกต้อง(ซึ่งผมก็มาแปลกใจภายหลังเมื่อรู้ว่าวัยรุ่นสมัยนี้แทบไม่รู้เรื่องศีลห้า เรียงข้อไม่ถูก) แต่ผมก็แค่รู้แล้วเรียงข้อได้ถูก แต่..ทำไม่ได้ทำไม่ถูกซักข้อ !! ผมทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ให้ความรู้กับชาวต่างชาติ(ซีกตะวันตก หรือที่เราเรียกว่า ฝรั่ง นั่นแหละครับ) ในเรื่องศิลปะ-วัฒนธรรม ของเรา ซึ่งก็คงไม่พ้นเรื่องของศาสนา ซึ่งผมก็ให้ความรู้ตามตัวหนังสือที่เขียนๆกันในพุทธประวัติแบบนั้นทุกครั้งที่ชาวต่างชาติถาม เชื่อไหมครับ กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของชาวต่างชาติที่ผมพบเจอมา ไม่รู้จักศาสนาพุทธหรือรู้แค่ชื่อของศาสนานี้ว่ามีอยู่บนโลก ไม่ค่อยมีความสนใจกับศาสนาพุทธ พอถ้าเราให้ข้อมูลตามตัวหนังสือ ชาวต่างชาติแทบจะหมดความสนใจในศาสนาพุทธ ง่วงหงวาวหาวนอน ในพุทธประวัติ(ซึ่งผมก็เล่าไปได้ละเอียดพอสมควร) ส่วนใหญ่มองเป็นความเชื่ออย่างงมงาย(แต่ก็มิกล้ากล่าววาจาล่วงเกินอันใด) ณ ตอนนั้น ผมนึกไม่ออกจริงๆครับ ว่าจะทำให้ศาสนาพุทธเราน่าสนใจสำหรับฝรั่งยังไง(อาจเป็นเพราะผม ไม่รู้วิธีโยงศาสนาพุทธให้สามารถเทียบเคียงกับวิทยาศาสตร์ยังไง? ควรจะยกตัวอย่างอธิบายแบบไหน?) จนกระทั่งผมได้มีโอกาสไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า"ไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้าเห็น" ไม่ได้สนใจว่าใครเขียน แต่ก็ได้ยืนอ่านดูเนื้อหารวมๆ เห็นวิธีการโยงเรื่องของผู้เขียน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจของผมเป็นอย่างมาก จึงซื้อมาอ่าน แล้วก็เกิดอาการสนใจในทฤษฏีของไอน์สไตน์ขึ้นมาจึงได้มีโอกาสเลือกซื้อหนังสือในเรื่องนี้มาอ่านเสริมความรู้อีก(ซึ่งของเป็นของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นั่นเองครับ) ซึ่งจุดประสงค์ของผมก็เพื่อเอาไว้อ้างอิงกับการค้นพบของพระศาสดาของเรา ให้ได้พอเข้าใจแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั่นเอง ซึ่งท่านดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ก็ได้เขียนให้ความรู้อย่างละเอียดเป็นอย่างดี ในที่สุดเล่มที่สอง(ของ ทพ.สม)ก็ตามมาในชื่อว่า "เกิดเพราะกรรมหรือความซวย" ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นโยงเรื่อง อธิบายเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ได้เห็นภาพเป็นอย่างดี นี่เป็นจุดแรกที่จุดประกายให้ผมก้าวเข้ามาศึกษาพระธรรมอย่างจริงจัง ตลอดจนศึกษาชีวประวัติของพระอริยสงฆ์หลายๆพระองค์(ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่เคยรู้ว่ามีผู้ไปถึงฝั่งนิพพานจริงๆดังที่พระพุทธองค์ถึงมาก่อนแล้ว) อาทิเช้น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต , หลวงปู่ฝั้น อาจาโร , หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ฯลฯ ทำให้เห็นแล้วรู้จัก การวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฎฐาน๔ คืออะไร ตลอดจนคำสอนของพระพุทธองค์อย่างซึ้งจิตซึ้งใจของผม เปลี่ยนวิธีการคิด การดำเนินชีวิตของผมไปอย่างสิ้นเชิง รู้จักการจัดการอารมณ์ของตนเอง กำจัดทุกข์ในใจได้อย่างรวดเร็ว การยึดมั่นถือมั่นน้อยลงอย่างน่าแปลกใจสำหรับการเปรียบเทียบตัวผมสมัยหนึ่ง จนกระทั่งพอมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แห่งวงล้อสังสารวัฏฏ์ที่มืดมิดนี้ลิบๆแม้น้อยนิดก็ยังพอมี จะกล่าวได้ว่าอานิสงค์ที่ผมได้รับนี้ เป็นเพราะหนังสือของ ทพ.สม สุจีรา ก็ไม่ผิด ที่จุดประกายความอยากรู้ จนนำไปถึงการรับรู้ที่สมควรแก่วาระกรรมของผม ผมมองถึงจุดประสงค์ของผู้เขียนไปในทางที่ดีที่จะนำพาเหล่าพุทศาสนิกชน(ตามทะเบียนราษฎ์แบบผม ซึ่งก็น่าจะมีอยู่หลายท่านอยู่ดอก)ให้เริ่มหันเข้ามาศึกษาแนวทางของพระพุทธองค์อย่างจริงจัง เพื่อให้เราได้รู้จุดหมายจริงๆของการเกิดขึ้นมาของมนุษย์นั้นคืออะไร(บางท่านคิดว่าเกิดมาแล้วทำงาน ทำงาน ทำงาน แต่งงาน มีลูก ก็ยังทำงาน เก็บเงิน สะสมทรัพย์ ซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกบำเรอกิเลส จนกระทั่งตายจึงไม่ต้องทำงาน<เหมือนผมเมื่อก่อน>อาจจะรอเกิดใหม่แล้วมาทำงานอีก) ซึ่งพิจารณาดูแล้ว น่าเป็นห่วงอย่างมาก.. ต้องขออภัยมา ณ ทีนี้ด้วย ที่ผมมิได้ใส่ใจในรายละเอียดของวิทยาศาสตร์ หรือทฤษฎีต่างๆของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายอย่างละเอียดจนแยกข้อผิดพลาดในศาสตร์ที่ท่านว่าอย่างนี้ผิดอย่างนี้ถูก เพราะไม่ได้ทำให้ผมหยุดความว้าวุ่นในใจ สลัดความทุกข์ที่สุมอยู่ในใจ ไปได้เรย แต่ก็เข้าใจดีในประการหนึ่งที่ว่า ผิดก็ต้องแก้ตามผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆไปอย่างที่ควรจะเป็น ที่ผมมองแล้วรู้สึกไปในทางที่ดีกับหนังสือของ ทพ.ท่านนี้ เพราะได้จุดประกายเริ่มต้นที่จะศึกษาธรรมของผมโดยแท้ จนกระทั่งรู้จักวิธีการจัดการอารมณ์ต่างๆของตน ละความยึดมั่นถือมั่นได้ลงเป็นอย่างดี ซึ่งก็อาจจะมิได้จากหนังสือไม่กี่เล่มนี้มาทั้งหมด แต่ก็ถือได้ว่าเป็นชนวนจุดประกายได้ไม่ผิด ผมได้เห็นคอมเม้นท์ที่ว่า มีคนเชื่อและทำตามหนังสือของ ทพ.ท่านนี้แล้วเสียสติหรือฟั่นเฟือนวิกลจริตไป ก็เกิดความสงสัยขึ้นว่าเพราะอะไร? อาจเป็นเพราะเขาไปฝึกวิปัสสนากรรมฐาณที่ผิดแนวทางมาหรือ? (เพราะสำนักวิปัสสนากรรมฐาณในปัจจุบันนี้มีแพร่หลาย บางที่ก็จัดตั้งขึ้นเพราะความเข้าใจของตนว่าตนนั้นมาถูกทาง จึงจัดตั้งสำนักวิปัสสนาขึ้น มีหลากหลาย..โดยส่วนตัวผมนั้น เลือกที่จะปฏิบัติตามสายของ หลวงปู่มัน ภูริทัตตเถระ อย่างแน่วแน่ครับ) เพราะถ้าผิด แล้วไม่มีอาจารย์คอยชี้แนะ ก็อาจจะเลยเถิดไปถึงขั้นเสียสติได้ จึงอยากฝากคอมเม้นท์น้อยๆมาเพียงแค่นี้

สิ่งที่ดีดีจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่รู้จักใช้ประโยชน์ของสิ่งที่ดีดีเท่านั้น.

ผมสนใจมากทั้งฟิสิกส์และพุทธศาสนา ได้อ่านหนังสือสัมพัทธภาพของ อ.บัญชาแล้วและอ่านไอน์สไตน์พบ ของ ทต. สม แล้ว และเกิดแรงบัลดาลใจ ให้ผมอยากจะเขียนบ้าง โดยใช้หลักการศึกษาเข้าสู่ภายในแบบพุทธประยุกต์กับหลักการทางฟิสิกส์ แล้วได้ทฤษฎีใหม่ออกมา และยากให้อ.บัญชา ตรวจสอบให้นะครับ

               หลังจากที่ผมอ่านหนังสือของ ของ ทต.สม ผมว่าก็เข้าใจง่ายในลักษณะของคนที่       ต้องการคำตอบว่า ศาสนาคืออะไร ทำไมเราต้องทำตามที่คนอื่นบอกทั้งๆที่ไม่บอกเหตุและผลมาด้วย พ่อสอนผมไหว้พระ แต่ไม่สอนว่า ไหว้เพื่ออะไร พอเราไม่ทำตามก็จะมีคนดุว่าไม่มีความเคารพศาสนา แล้วจึงสงใสต่อว่าแล้วเราจะเคารพทำไมเพื่ออะไรอีกละ แต่เมื่อได้อ่านหนังสือของ ทต. สม ก็เกิดความสนใจว่าจริงไหม เพราะสิ่งที่ผมยึดมั่นคือ ไม่เชื่อโดยไม่มีเหตุและผล ซึ่งในหนังสือดังกล่าวก็ได้พิมพ์ถึง คำสอนดั่งกล่าวด้วย  ส่วนอันอื่นที่เป็นความคิดของผู้เขียนนั้นแล้วแต่บุคคลจะพิจารณา 

                ดังนั้นในความคิดเห็นผม ไม่ใช้แค่คนเขียนที่ผิด แต่คนอ่านก็ผิดด้วยถ้าไม่มีสติในการอ่าน ถ้าคนเรามีสติก็จะไม่หลงยึดถืออยู่ว่าสิ่งที่เรามีนั้นถูกต้อง    ในความคิดผมอาจไม่ถูกสำหรับคนอื่น แต่มันถูกสำหรับตัวผม ในความคิดผมต่อให้ หนังสือเรียนทุกคนบอกว่าถูก แต่ผมอาจมองว่ามันผิด ผมก็มั่นใจในความคิดดั่งกล่าว เพราะเรายังไม่พิสูตร ที่ผมเขี่ยนมายืดยาวตังนานนี้ก็ไม่ได้จะถกเถียงกับใคร เพียงจะแสดงคาวมคิดเห็นอีกมุมนึงว่า คนที่อ่านควรมีสติในการอ่าน หนังสือทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าเราไม่เอาใส่สมอง จริงหรือเท็จ อยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่หนังสือ หรือ ศาสนา 

 

  ผิดพลาดประการใดก็ขอโทษเอาไว้ทีนี้ด้วย เนื่องจากผมอายุยังน้อย

เป็นประเด็นที่ดีมาก สามารถถามตอบได้ข้ามปีและผ่านมาก็หลายปีแล้ว ยังมีคนพูดถึงอยู่ ขนาดอาจารย์ไม่ได้นับถือพุทธ ยังเป็นห่วงหลักธรรมคำสอนจะผิดเพี้ยนขนาดนี้ สาธุครับ

หนังสือเขาดีนะ  ผมก้อไม่มั่นใจ  ว่ามันจริงหรือไม่

แต่ไม่แน่ บัญชา ธนบุญสมบัติ อาจเป็นคนที่เชื่อว่าโลกกลมเมื่อก่อนก้อได้

นักฟิสิกส์คนหนึ่ง

เห้ออออออ.....เข้ามาอ่านแล้วเพลีย


คนโง่งมงายนี่มันก็โง่งมงายอยู่วันยังค่ำ ยังพยายามยัดเยียดว่าศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์อีก

ส่วนเจ้าหมอฟันนี่ก็ได้เงินบนความโง่งมงายของคน คนโง่นี่มันก็โง่จริงๆ

สิ่งหนึ่งในโลกนี้ที่แถหัวชนฝาอ้างข้างๆคูๆเถียงชนะให้ได้ก็คือความเชื่อความงมงายเนี่ยแหละ

ไหนลองสิว่าหมอฟันและคนงมงายทั้งหลายลองเขียนสมการง่ายๆอย่างเวฟฟังก์ชันหรืออธิบายฮิกส์โบซอนหรือคัลเลอร์ออฟคาว์กให้หน่อย

พร้อมเขียนสมการทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ประกอบการคำนวณและอธิบายด้วย

ไม่ใช่เอาแต่แถหรือพูดเป็นภาษาคำพูดแต่งเอาเอง บิดเบือนจับแพะชนแกะแบบหมอฟัน

หรืออ้างพระอ้างเจ้าเพื่อเอามาแถความเชื่อและความงมงายชนะให้ได้แบบนี้ไม่เอานะ


เฮ้อ...คนโง่นี่มันก็โง่จริงๆ

คนที่ออกมาเขียนข้อผิดพลาดของหนังสือ หลงตัวเองไปหน่อยนะที่บอกว่ามีสภาพที่ตรงข้ามกับความสัมพัทธอยู่คือความไม่แปรเปลี่ยนน่ะ คือความไม่แปรเปลี่ยนมันก็ต้องอาศัยสิ่งที่มันจะไม่แปรเปลี่ยนด้วยไม่ใช่หรือไง เช่นความไม่เที่ยงไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น จะเห็นได้ว่าความไม่เที่ยงอาศัยความไม่แปรเปลี่ยน ความไม่แปรเปลี่ยนอาศัยความไม่เที่ยง โหๆ แค่นี้ยังดูไม่ออก เราก็รู้ว่านายอยากจะอวดฉลาด แต่บางครั้ง มันเสื่อมเสียนักเขียน ที่นายดันเอาความถูกต้องของเค้ามาประจาน ความจริงของธรรมลึกซึ้งมาก นายศึกษา 10 ปีก็ไม่เข้าใจถ่องแท้ นายอย่าเอาตัวเองขึ้นวัดเลยดีกว่าแล้วก็หนังสือเล่มนี้ ถ้าเป็นสากล เราก็คิดว่า ควรจะให้ทุกเพศทุกวันอ่านสนุก ไม่ต้องถึงขนาดมาบอกเจาะลึกต้นตอเหตุว่าทฤษฎีนี้มันมาจากแบบนี้ๆ ให้เค้างงกันหลอก หนังสือเชิงหลักการมีเยอะแยะ เดี๋ยวเค้าไปเจาะเอาเอง แล้วโดยรวมเล่มนี้ดีอยู่แล้ว อ่านสนุก ไอเรื่องทฤษฎีที่นายบอก มักซ์ พังค์ ไม่ได้คิดค้น ถามหน่อยเหอะ นายเข้าใจคำว่าเจ้าของทฤษฎีมากพอหรือยัง เค้านี่แหละคือผู้ค้นพบ และเป็นเจ้าของทฤษฎีนี้ เหมือนกลับคนสร้างปรามานูถามว่า ไอสไตล์สร้างหรอ ป่าวเลย เพราะเค้าค้นพบปรากฏการณ์ที่นำไปสู่การสร้างปรามาณูไงล่ะ เลยได้ชื่อว่าคนสร้างปรามาณู แล้วที่เราไม่ชอบที่สุดคือ นายเอานักเขียนมาประจานแบบนี้ ถึงจะเป็นการบอกตักเตือนให้แก้ไข เราว่ามันก็เหมือนการประจานนั่นแหละ เพราะคนอ่านนักล้านก็รู้สึกเหมือนเรา เราไม่ชอบเลย เรารักคนเขียน เขียนได้สนุกมาก แล้วมันก็เป็นหนังสืออ่านหนุก วิชาการมีให้เข้าใจบ้าง ไม่เชิงลึกซึ้ง ชอบๆ

ถ้าจะทักท้วงข้อผิดพลาด ให้ทักท้วงแบบนายน้อย เช่นความสัมพัทธ กับ อธิปัจยตา ไม่ใช่ตัวเดียวกัน แต่นายกับตั้งคำถามซะเองว่า สิ่งที่ตรงข้ามกับความสัมพัทธคือ ความไม่แปรเปลี่ยน อันนี้ไม่ถูกนะ

เรื่องศาสนา มั่นใจว่า เรามีมาก แต่ไม่ลึกซึ้งถึงจะลึกซึ้ง ก็ไม่ลึกซึ้งมาก ถึงจะลึกซึ้งมากก็ไม่มากนัก เอาง่ายๆนะ นิพพานแค่คำเดียวพระองค์ยังตรีสว่าลึกซึ้งยิ่ง ผู้ไม่บรรลุนิพพาน จะสอนผู้อื่นให้บรรลุตามไม่ได้ นี่ขนาดนิพพานอย่างเดียวนะ อย่าให้ถึงระดับ จำแนกทางนิพพาน จำแนกกรรมเลย แว๊กกกกกกกกกกกกกก !! เสื่อมใสมากธรรม 

เราชอบธรรม เพราะคิดว่าเป็นจริงเสมอ เราเคยอ่านพระไตรปิฎก ตอนที่พระพุทธเจ้าตรีสว่าโลกมีที่สุด มีทรงกลม และโลกไม่มีที่สุ ไม่ได้มีทรงกลม สุดยอด ที่พระองค์รู้ว่าโลกทรงกลมมาก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะคิดค้น ต่อๆ ที่พระองค์ตรัสว่าโลกกลมเหมือนมะขามป้อมเพราะถ้าพวกเราขึ้นไปนอกโลกบนอวกาศ ก็จะเห็นเป็นทรงกลมโดยรวม แต่ไม่ถึงกับกลมนะ เพราะมีภูเขามีเหวเลยทำให้ไม่เรยบเสมอกัน เหมือนมะขามป้อมโดยรวมเป็นทรงกลมแต่ก็ยังมีรอยตะปุ๋มตะปั๋มบ้าง บางลูกถึงกับมี เอิ่ม..เค้าเรียกว่าไรนะ สนิมมะขามละกัน 555555+ (นิยามศัพท์ใหม่) นั่นแหละเลยทำให้มันเป็นทรงกลมแต่ไม่ถึงกับกลมบ๋องเหมือนลูกปิงปองเ แล้วพระองค์ก็ตรีอีกว่าโลกไม่ได้กลม และไม่มีที่สุด อันนี้เพราะไม่มีอุปาทานเป็นเหตุอ่ะ อันนี้แนวทางบรรลุเลย พวกนายๆเชื่อกันหรอว่าโลกกลม แล้วมั่นใจหรอว่าคำว่ากลม มันมีอยู่จริง และรู้หรอว่าที่สุดโลกอยู่ไหน บนโลกที่สิ่งเยอะแยะมากมายจะรู้หรอว่าที่สุดของโลกคืออะไร ไม่มีใครรู้เลย แล้วก็ไม่มีใครรู้หมดทุกสิ่งบนโลกด้วย เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่าโลกไม่มีที่สุด

จุดประสงค์ที่มนุษย์ ต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คืออะไร เพื่อพัฒนา ศักยภาพ มนุษยชาติ หรือครับ

ขออภัยที่คำถามอาจดูด้อยปัญญา 

ผมได้ทำสมาธิมานานหลายปี สัปดาห์ละหลายครั้ง แต่ยากมาก ส่วนตัวผมกล้าพูดว่า "ผมเข้าใจสาขาวิทยาศาสตร์ที่ผมศึกษาได้ดีกว่าการทำสมาธิ" ในเวลาไม่กี่ปีผมศึกษาจบ แต่การทำสมาธิผมเคยทำตั้งแต่ประถม มันยากมากและไม่ก้าวหน้า

ผมใช้เวลาทั้งชีวิตในการทำสมาธิ...อาจจะนะแต่ปัจจุบันก็ยังทำ

แต่ผมใช้เวลาไม่กี่ปีที่จะศึกษาวิทยาศาสตร์ ระดับความยากง่ายมันต่างกัน ผมจะเข้าใจพูทธให้ได้ก่อนนะจะวิจารณ์วิทยาศาสตร์ ส่วนตัวยังไม่มีใครในนี้ตรัจสรู้ได้เลย ถ้ามีแล้วคน ๆ จะมองวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร ????


พึ่งมาอ่านกระทู้นี้ปี 2558 ส่วนตัวไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่เรียนจบวิทยาศาสตร์และปฏิบัติธรรม บอกเลยว่าสิ่งที่คุณบัญชาแย้งมาในหนังสือเป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยแก้ไขให้ถูกต้องแต่...

ไม่รู้ผมคิดไปเองป่าวนะ แต่...

คุณบัญชา คุณมีอัตราแรงกล้ามากนะ และยึดติดกับความถูกต้องมากไปสังเกตุได้จากจะแย้งทุกความเห็นที่เข้ามาตำหนิคุณ ยังไงก็วางลงบ้างนะครับเพราะสุดท้ายสิ่งที่ผิดหรือถูกมันไม่มีหรอก มันมีแต่ว่า สิ่งใดจะช่วยให้เราพ้นทุกข์นะ

ถ้าวิทยาศาสตร์ช่วยพ้นทุกข์ได้ หรือแม้กระทั่งศาสนาคริสต์ อิสลาม ช่วยพ้นทุกข์ได้ก็ทำตามนั้นเลย แต่ถ้าไม่ได้ก็มาทางพุทธ แล้วถ้าไม่ได้ก็เป็นคนไร้ศาสนาไปเล้ยย เพราะความทุกข์มันอยู่กับเราเราต้องดับเองไม่ใช่ให้ใครมาช่วยดับนะครับ

ผมว่า คุณบัญชา ยึดมั่นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์อะไรของแกเกินไปหรือเปล่า ผมรู้แต่ว่า ทฤษฎีอะไร ณ วันนี้ยังพิสูจน์ความจริงไม่ได้หมด สิ่งที่ว่า วันนี้จริง วันหน้าอาจไม่จริงก็ได้ ขนาดตัวของตัวมนุษย์เองยังไม่รู้เลยว่าเป็นมาอย่างไร .....หนังสือดังกล่าว ไม่ใช่หนังสือวิชาการ

ผมอ่านจบภายใน1 วัน ผมจำไม่ได้ว่าเนื้อหาเชิงลึกทั้งฝั่งศาสนา หรือ วิทย์ ระบุอะไรชัดเจนเป๊ะๆผมจำอะไรไม่ได้เลยเกี่ยวกับทฤษฎีรายละเอียดตรงจุดนั้นผมไม่เสียดายที่จำมันไม่ได้ หรือจำได้แล้วไม่เป๊ะตามตำราในมุมของคนที่เรียนมาน้อย ผมดีใจนะที่ว่าไม่มีพื้นฐานลึกซึ้งทั้งสองทางมันทำให้ผมเข้าใจบางอย่างมากขึ้น และทำให้สนใจกับจุดบรรจบของทั้งสองศาสตร์ง่ายขึ้นคำว่าปัญญา คำว่าความเชื่อ หรือ ยึดมั่นถือมั่น คำว่าเหตุผล คำว่าสุข หรือทุกข์มันไม่ใช่แค่ท่องจำ สุดท้าย ไม่ว่า ทฤษฎีอะไร ถ้ามันไม่นำพา หรือทำให้มองไม่เห็นตัวเอง

กระดาษ A4 แผ่นนึง มีจุดดำๆ อยู่ สัก 10 จุด กระดาษแผ่นนั้นอาจจะเป็นกระดาษที่สกปรกมากของบางคนมากจนกระทั้ง ผ่านไป ปีนคงก็แล้ว 2ปีก็แล้ว 3 ปี 4 ปี ก็แล้วมันก็ยังคงความสกปรกอยู่อย่างนั้นและสิ่งเดียวที่ต้องการคือ ต้องทำให้จุดสกปรกนั้นหายไปในมุมมองแบบ perfectionist มันมีเพียงหนทางเดียวไปสู่ทางที่ใช่ที่สุดผมอาจจะไม่สามารถเข้าใจทฤษฎีฟิสิกส์ยากๆ แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่าการเป็นสายพิณที่ตึงเปรี๊ยะ คือแนวทางของวิทย์หรือ พุทธ

น่าเสียดายที่หลายปี นอกจากความผิดที่อภัยไม่ได้ก็ยังหาข้อดีอะไรอื่นของเขามาเสนอไม่ได้ วางก็ไม่ได้ จนเขาเขียนอะไรต่อมิอะไรที่มีทั้งถูกทั้งผิดออกมาอีกก็ไม่น้อยแต่ผมก็ยินดีที่จะมีส่วนร่วมกับมหากาพย์นี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท