รับมือ 'แผ่นดินไหว' อย่างไรให้ถูกหลักการ?


 

 


 ดาวน์โหลด 

 กฎความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว สำหรับผู้อาศัยอยู่ในอาคารสูง

ของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์

เพื่อนำไปพิมพ์ติดไว้ในอาคารของคุณ



คู่มือการรับมือแผ่นดินไหว ฉบับย่อ : ดาวนโหลด pdf


 

 

ในปัจจุบัน ภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัวของพวกเราคนไทยอีกต่อไป

ดังนั้น จึงน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยหากได้เรียนรู้วิธีการที่ถูกต้องที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออันตรายในขณะเกิดและหลังการเกิดแผ่นดินไหว

 

 

หากคุณอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เช่น แถบภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ ก็ยิ่งต้องรู้ไว้

แต่หากไม่ได้อยู่ในบริเวณดังกล่าว ก็อาจจะส่งข้อมูลนี้ให้ญาติหรือเพื่อนๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตดังกล่าวได้เช่นกัน

 

ดูภาพ แผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ความละเอียดสูง 

 


 

คุณควรทำตัวอย่างไร ขณะเกิดแผ่นดินไหว?

เมื่อเกิดแผ่นดินไหว คุณควรตั้งสติไว้ให้ดี อย่าตกใจ และพยายามปลอบคนข้างเคียงให้อยู่ในความสงบ

ส่วนควรจะทำตัวอย่างไรให้เหมาะสม ก็แล้วแต่ว่าคุณอยู่ที่ไหน เช่น

  • ถ้าคุณอยู่ในอาคาร : ให้ระวังสิ่งของที่อยู่สูงจะตกใส่ศีรษะ เช่น โคมไฟ ชิ้นส่วนของอาคาร เศษอิฐเศษปูนที่แตกออกจากเพดาน และระวังตูหนังสือ ตู้โชว์ ชั้นวางของ โต๊ะ ทีวี ตู้เย็น และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ จะเลื่อนมาชนหรือล้มทับ คุณควรพยายามอยู่ห่างหน้าต่าง ประตู และกระจก

 

 

ถ้าการสั่นไหวรุนแรง ก็ควรหลบอยู่ใต้โต๊ะ ใต้เตียง หรือมุมห้อง ซึ่งห่างจากหน้าต่าง อย่าวิ่งออกมานอกอาคาร

  • ถ้าคุณอยู่ในอาคารสูง : ให้หลบอยู่ใต้โต๊ะ อย่าวิ่งลงทางออกฉุกเฉิน เพราะบันไดอาจจะหักไปแล้ว หรือมีคนจำนวนมากแย่งกันลง

ที่สำคัญคืออย่าใช้ลิฟต์ เพราะลิฟต์อาจจะเสีย เนื่องจากไฟฟ้าดับ หรืออุปกรณ์บางส่วนได้รับความเสียหาย

  • ถ้าคุณอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีคนจำนวนมาก : อย่าแย่งกันออกจากอาคาร เพราะคนจำนวนมากจะมีความคิดอย่างเดียวกัน คือ รีบหนีออกจากอาคาร

แต่หากเกิดไฟไหม้ หรืออาคารพัง ให้หาทางออกที่สะดวกและปลอดภัยที่สุด

 

  • ถ้าคุณอยู่นอกอาคาร : ควรอยู่ในที่โล่งแจ้ง ห่างจากอาคารสูง กำแพง เสาไฟฟ้า และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่อาจจะโค่นล้มลงมาได้ อย่าวิ่งไปตามถนน


        แต่ถ้าคุณอยู่ในรถ ให้หยุดรถในที่ปลอดภัย (ไม่มีสิ่งใดที่ล้มลงมาทับ) และอยู่ภายในรถจนกระทั่งการสั่นสะเทือนหยุดลง

        อย่าจอดรถใต้สะพาน ต้นไม้ เสาไฟ หรืออะไรก็ตามที่อาจล้มทับใส่รถของคุณ

  • ถ้าคุณอยู่ในเขตภูเขา : ให้ระวังก้อนหินและดินถล่ม รวมทั้งต้นไม้ซึ่งอาจล้มลงมาทำอันตรายได้

  • ถ้าคุณอยู่ใกล้ชายทะเล และแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในทะเล : ให้ออกจากชายฝั่ง เพราะอาจมีคลื่นยักษ์สึนามิซัดเข้าหาฝั่งได้

 

 



คุณควรทำตัวอย่างไร หลังเกิดแผ่นดินไหว?

 


หลังจากนาทีวิกฤติแล้ว คุณควรปฏิบัติตนดังนี้

  • ออกสำรวจโดยรอบ เพื่อสำรวจดูว่ามีใครได้รับบาดเจ็บบ้างหรือไม่ ถ้ามีคนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ก็อย่ารีบเคลื่อนย้าย (นอกจากจำเป็นต้องหนีภัยฉุกเฉิน)
  • ระวังสิ่งต่อไปนี้เป็นพิเศษ ได้แก่
    • เศษวัสดุมีคม : คุณควรสวมถุงมือ หรือรองเท้าเพื่อป้องกันเศษวัสดุมีคมต่างๆ เช่น เศษแก้ว
    • สายไฟ : อยู่ห่างจากบริเวณที่สายไฟขาดและวัตถุที่สายไฟพาดถึง
    • ท่อแก๊ส : หากแก๊สรั่ว ก็ต้องปิดถังแก๊ส และอย่าจุดไฟจนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว
    • สารเคมี : หากบริเวณไหนมีสารเคมี (เช่น ยาฆ่าแมลง) หกเลอะเทอะอยู่ ก็ควรทำความสะอาดให้เรียบร้อย
    • อาหาร & เครื่องดื่ม : หากไม่มีฝาปิดมิดชิด ก็ไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากอาจมีเศษวัสดุตกลงไปปะปนได้
  • อย่าเป็น ‘ไทยมุง’ หรือเข้าไปในอาคารหรือบริเวณที่มีความเสียหายมาก ๆ
  • เตรียมตัวเตรียมใจกับแผ่นดินไหวตาม (aftershock - อาฟเตอร์ช็อค) ที่อาจเกิดขึ้นอีกหลังจากนั้น
  • อย่าปล่อยข่าวลือซ้ำเติมเหตุการณ์ (เช่น ข่าวลือที่ว่าเขื่อนแตก ดังเช่นที่เคยปรากฏมาแล้ว)

 

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับแผ่นดินไหว และการรับมือธรณีพิบัติภัยรูปแบบอื่นๆ (ได้แก่ ดินถล่ม-โคลนถล่ม หลุมยุบ คลื่นยักษ์สึนามิ) จะนำมาเสนอหากมีเพื่อนๆ ชาว GotoKnow สนใจครับ



ประวัติของบทความ 

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Know How & Know Why นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
  • ตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ รับมือธรณีพิบัติภัย เขียนโดย บัญชา ธนบุญสมบัติ, สนพ. ร่วมด้วยช่วยกัน
  • ดัดแปลงและนำลงใน GotoKnow.org เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ข้อมูล & บันทึกที่เกี่ยวข้องกับธรณีพิบัติภัย

 


หมายเลขบันทึก: 92203เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

ขอบคุณสำหรับวิธีการรับมือนะครับ  ทั่วโลกมีแผ่นดินไหวตลอดเลย ผมชอบเข้าไปดูข้อมูลใน เวปนี้ครับ

ขอบคุณคุณเจษฎาสำหรับเว็บที่ให้มานะครับ

ผมขอเพิ่มเติมเว็บของ USGS ที่นี่ครับ http://earthquake.usgs.gov/

 

เคยดูสารคดี ที่ญี่ปุ่นมีหลักสูตรการหลบภัยแผ่นดินไหว ที่ต้องสอนกันตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาล-ประถมกัยเลยทีเดียว แถมมีบ้านจำลองสำหรับจำลองการเกิดแผ่นดินไหวให้ได้ทดลองหลบภัยซะด้วยครับ

     

ใช่แล้วครับ เดอ...ลองดูที่ต่างประเทศเขาสอนเด็กๆ กันสิครับว่า ระหว่างเกิดแผ่นดินไหวควรทำตัวอย่างไร

 

 แล้วเมื่อไหร่เมืองไทยจะสอนหล่ะครับ แผ่นดินไหวไม่ได้ไกลตัวเราเลยนะครับทุกวันนี้ อย่างน้อยก็สอนการหลบภัยจากฟ้าผ่าก่อนก็ยังดีครับ เพราะใกล้หน้าฝนแล้ว สงสัยต้องให้เด็กๆมาอ่านบันทึกเรื่องฟ้าผ่าของพี่ชิวซะแล้วครับ อิอิ

 

ในเรื่องไฟไหม้ในห้างสรรพสินค้านะคะ พ่อเคยสอนไว้ว่า ถ้าห้างไฟไหม้ คนส่วนใหญ่จะหนีไปตามทางหนีไฟ แต่ถ้าเราทำได้ ให้หนีทางลานจอดรถค่ะ (ตอนนั้นพ่อยกตัวอย่าง อาคารของห้างมาบุญครอง ลานจอดรถจะอยู่ข้างตึก ไม่ใช่ใต้ดิน) ไม่น่าเชื่อว่า แล้ววันหนึ่งมาบุญครองก็มีไฟไหม้จริงๆ ด้วย

สวัสดีครับ คุณ minisiam

          ใช่แล้วครับ ในห้างสรรพสินค้านี่ ต้องหาทางหนีทีไล่ให้ดี และเห็นด้วยว่า หากไฟไหม้ขึ้นมา ลานจอดรถน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง

          ห้าง 'มาบุญครอง' นี่เคยไหม้ไปอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนหน้านี้แล้วครับ หลายปีมาแล้ว เข้าใจว่าในส่วนตลาดนัดติดแอร์หรือไงนี่ละครับ

สวัสดีค่ะ ^_^

เพิ่งอ่านเรื่องนี้จบจากในหนังสือ พอเปิดบล็อกก็มาเจอเรื่องนี้พอดี เลยอ่านอีกรอบ  รูปภาพเปลี่ยนไป ^_^

 

ยังจำเหตุการณ์เมื่อ 26 ธค. วันที่เกิดสึนามิ  วันนั้นก็เปิดแผ่นดินไหวขึ้น  k-jira ไม่ได้เข้าเวรค่ะ นอนอยู่ที่ห้อง คนที่เข้าเวรเช้าเล่าให้ฟังว่า เห็นชัดเลยว่าตึกมันเอียง (ตอนนั้นวอร์ดอยู่ชั้น 11 ค่ะ) แล้วเอนไปเอนมา เจ้าหน้าที่อยู่บนตึกงงกันค่ะ จนได้ยินเสียงบอกว่าแผ่นดินไหว ตอนนั้นกลัวมันจะไหวมากขึ้น จึงไปดูคนไข้กันเพื่อจะย้ายลงข้างล่าง ปรากฏว่าหลายห้องหนีลงไปอยู่ชั้นล่างตอนไหนไม่ทราบ เร็วกว่าพยาบาลซะอีก  อิอิ

k-jira มาเข้าเวรเวรบ่าย เลยเพิ่งรู้ว่าแผ่นดินไหว (ประมาณว่านอนไม่รู้เรื่องเล้ย พ่อโทรมาบอกเรื่องคลื่นยักษ์ ก็นึกว่าคลื่นโตๆในทะเล แบบที่ตอนเกิดพายุ  ตอนนั้นไม่รู้จักสึนามิเลย)

แต่แผ่นดินไหวที่เจอเข้าจังๆ คืออีกครั้งเมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นย้ายมาอยู่ชั้น 4 แล้ว กำลังเข้าเวรบ่าย  อยู่ๆก็รู้สึกหวิวๆ เหมือนเก้าอี้มันจะเอียงได้ แล้วมันก็สั่นๆบอกไม่ถูก ลุกเดินมันรู้สึกแปลกๆ ตอนนั้นบอกกับตัวเองทันทีเลยว่า ...แผ่นดินไหวแน่ๆ

ญาติคนไข้ที่นอนอยู่ในห้อง บางคนเปิดประตูออกมาข้างนอกถามว่าเกิดแผ่นดินไหวใช่ไหม  แต่บางคนนอนนิ่งอยู่ในห้อง ซึ่งคนที่อยู่ในห้องไม่รู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว แต่เข้าใจว่าโดน "ผีผลัก" เขาเล่าว่า นอนๆอยู่ที่เตียงญาติ แล้วเหมือนถูกผลักจนกลิ้งเกือบตกเตียง  ทีนี้พอมาอยู่ รพ.ก็เลยกลัว เข้าใจว่าเป็นเรื่องอย่างนั้น เลยนอนตัวแข็งไม่กล้าลุก เพิ่งมาเล่าให้พยาบาลฟังตอนเช้า ทีนี้พอรู่ว่าแผ่นดินไหว ค่อยโล่งใจ  ( หุหุ นัยว่ากลัวผี ยิ่งกว่าแผ่นดินไหวไง)

คืนนั้นลงเวรกลับถึงห้องตอนตีหนึ่ง ก็เปิดทีวีรอฟังข่าว ถึงรู้ว่าเกิดแผ่นดินไหวที่อิยโดนีเซีย หวั่นๆสึนามิมาก แต่โชคดีที่มันไม่เกิดขึ้นอีก

พูดถึงการดูแลคนไข้สึนามิ เป็นอะไรที่เหมือนฝันร้ายจริงๆ  จริงอยู่..ผู้ประสบภัยล้วนต่างน่าสงสาร แต่ในฐานะคนทำงาน ก็เป็นอะไรที่กดดันมากๆ เพราะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเรื่องการดูแลคนไข้ประสบเหตุจำนวนมากเลย แต่แล้วอยู่ๆที่วอร์ดก็ถูกสั่งให้ย้ายคนไข้ "จากสึนามิ" ชาวต่างชาติ ที่ refer มา เพื่อจะเอามารอส่งกลับประเทศที่นี่  ห้องพิเศษหนึ่งห้อง บางห้องรับไว้ทั้งครอบครัว จากเดิมที่เปิดห้อง (เพราะตอนนั้นเพิ่งเปิดวอร์ด) เพียง 13 ห้อง รับคนไข้ไม่เกิน 13 คน ก็เปิดรับทันทีถึง 30 กว่าคน ในขณะที่คนทำงานเท่าเดิม (หนึ่งเวรมีพยาบาล 2 คน)  คนไข้แต่ละคนก็ล่วนมีบาดแผลเต็มตัว เดี๋ยวคนโน้นกดออดเรียก เดี๋ยวห้องนี้เรียก วิ่งกันให้พล่านไปเลย

ประการสำคัญ.. ภาษาอังกฤษข้าพเจ้าก็หาได้คล่องไม่ ยิ่งบางคนเยอรมันบ้าง เนเธอแลนด์บ้าง อังกฤษบ้างสวีเดนมีมากที่สุด ฯลฯ

ดีที่ต่อมามีล่ามหนุ่มชาวไทยคนหนึ่ง ที่มาเฝ้าแฟนสาวชาวอังกฤษ (ใครที่ติดตามข่าวรักข้ามฟ้า หนุ่มไทย-กับสาวน้อยอังกฤษ นาม "นาโอมิ"  น้องสาวคนนั้นก็มา admit อยู่ที่วอร์ดของ k-jira เองล่ะ  ได้ยินมาว่าออกข่าวสัมภาษณ์ในทีวีรายการตีสิบ หรือ เจาะใจ นี่แหล่ะด้วย แต่เสียดายไม่ได้ดู ^_^

ตอนนั้นก็ได้ล่ามหนุ่มคนนี้ ช่วยสื่อภาษาให้บ้าง

แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่มัน "ทุกข์ เหนื่อยยาก แสนสาหัส" ตอนกำลังเกิดเรื่อง แต่หลังจากที่เรื่องมันผ่านไปแล้ว ก็ได้อะไรๆจากเหตุการณ์นี้เยอะเลยนะ  ได้เรียนรู้อะไรมากมาย

อีกทั้งยังได้รู้ซึ้งถึงภาษิตที่ว่า "เรือเมื่อถึงร่องน้ำ ย่อมมีทางไป" ( เอ..ไม่รู้เขียนถูกมั้ยนะ ถ้าจำมาผิดพลาด รบกวนช่วยบอกเล่าแก้ไขด้วยนะคะ แต่ k-jira จำมาแบบนี้) นั่นคือปัญหา และความทุกข์ยากลำบากทุกอย่าง  มันย่อมมีทางออกและทางไปของมัน เพียงแค่ประคองเรือไว้ ประคองตนเองไว้อย่าให้ล้ม อย่าท้อแท้ แล้วเราก็ต้องผ่านมันไปได้

ขอบคุณที่ยกเรื่อง "แผ่นดินไหว" ขึ้นมาค่ะ ทำให้มีเรื่องคุยเยอะอีกแล้ว  แหะๆๆ.. เจ้าของบันทึก (อ.ชิว) จะค้อนที่ k-jira พูดมากไหมเนี่ย 5555

ขอขอบคุณอาจารย์ ดร.บัญชา...

  • บันทึกนี้มีประโยชน์มากๆ เลยครับ มีภาพ + คำแนะนำดีๆ

กาชาด..

  • หน่วยงานกาชาดอเมริกันแนะนำไว้ดีอย่างหนึ่งคือ...
  1. ไม่ควรเตรียมเทียนไข + ไม้ขีดไฟไว้เผื่อฉุกเฉิน เพราะมักจะเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ซ้ำ
  2. ควรเตรียมไฟฉายให้พร้อมเสมอ

เรียนเสนอให้มีเรื่อง "รับแผ่นดินไหวจากผู้บริหารหน่วยงาน" ครับ...

สวัสดีครับ คุณ k-jira

         ประสบการณ์การดูแลผู้ประสบภัยสึนามิของคุณ k-jira เป็นประสบการณ์ตรงที่มีค่ามากครับ น่าจะหาโอกาสบันทึกเอาไว้ ในมุมที่คนอื่นอาจจะยังไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง

         แอบขำเล็กๆ เรื่อง "กลัวผียิ่งกว่ากลัวแผ่นดินไหว" ครับ :-)

         ชอบคำพูดที่ว่า "เรือเมื่อถึงร่องน้ำ ย่อมมีทางไป" เพราะตรงกับชีวิตจริง เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม สถานการณ์ต่างๆ จะคลึ่คลายไป (ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ดีหรือร้าย) ตามหลักอนิจจัง

 

สวัสดีครับ อาจารย์หมอวัลลภ

        ขอบคุณอาจารย์มากครับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม เดี๋ยวผมขอคิดวิธีการปรับปรุงบันทึกนี้ให้ละเอียดขึ้นอีกครับ :-)

  • สวัสดีครับพี่ชิว
  • ตอนเชียงใหม่เกิดแผ่นดินไหวผมอยู่ที่นั้นพอดีครับ แต่กำลังปิดตาสระผมเลยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย เพื่อนมาตะโกนบอกว่าแผ่นดินไหวถึงรู้เรื่องกับเค้า
  • ถ้าเกิดแรง ๆ ที่ประเทศไทยคงวุ่นวายน่าดูเพราะดูเหมือนเราจะไม่ได้เตรียมความพร้อมเรื่องแผ่นดินไหวไว้เลยครับ
  • ขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนครับ

สวัสดีครับ อาจารย์เก๋

       ใช่แล้วครับ บ้านเรานี่เขย่าทีก็ตื่นขึ้นมาให้ข้อมูลกันที แถมยังชอบมีพวกนักกวนเมืองคอยหาผลประโยชน์ด้วย

       ที่กล้าพูดอย่างนี้เพราะพี่เกาะติดเรื่องนี้มาระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างดีกว่า:

       ก่อนเกิดสึนามิราว 1 สัปดาห์ นสพ. ฉบับหนึ่งลงข่าวหน้า 1 ว่า นักการเมืองของบ 3 พันล้าน เพื่อทำให้อันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยว

       หลังสึนามิราว 1 สัปดาห์เช่นกัน คราวนี้ นสพ.ฉบัลเดียวกันลงว่า นักการเมือง ของบฟื้นฟูอันดามันหลายพันล้าน

       พี่ยังเก็บ นสพ. 2 ฉบับนี้ ไว้เลย ดูแล้ว "ขำปนขม" ครับ :-P

ดิฉันอยู่ไต้หวันค่ะ..

 ตอนมาใหม่ๆ เจอแผ่นดินไหว.. ก็นั่งหันซ้ายหันขวา ล่อกแล่ก.. เพราะก็เคยได้ยินมาว่าถ้าแผ่นดินไหว..ให้ปฏิบัติตัวอย่างงี้ๆๆ.. แต่เห็นคนอื่นเค้าก็ทำงานกันต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น..ฮ่าฮ่า..

อยู่ๆ ไป.. ก็เลิกตื่นเต้นค่ะ.. เหมือนว่ามันชินไปเอง.. ไหวบ่อยเหลือเกิน.. ไหวครั้งนึงก็ไม่ถึงหนึ่งนาที.. บางทียังงงๆ ว่าแผ่นดินไหว หรือเราเวียนหัวอยู่กันแน่.. ต้องมองคนรอบข้างว่าเค้ามีปฏิกิริยาหรือเปล่า..

 เคยไหวแรงๆ แบบมีของหล่นลงมา.. ยังไม่ทันวิ่งไปหลบไต้โต๊ะ..มันก็หยุดแล้วค่ะ -_-"

สรุปแล้ว.. ยังไม่เคยได้ใช้วิชาหลบภัยเสียที (และหวังว่าคงไม่ต้องใช้..)

สวัสดีครับ คุณแม่น้องธรรม์

        ใช่แล้วครับ ไต้หวันนี่เจอแผ่นดินไหวเยอะ (ไม่แพ้ญี่ปุ่น) คนที่นั่นอาจจะเคยชิน

        เคยดูสารคดีเรื่องหนึ่งบอกว่า การออกแบบตึก Taiwan 101 (ชื่อถูก?) ที่สูงที่สุดในโลกขณะนี้ มีการใส่ลูกตุ้มไว้ชั้นบนสุด เพื่อให้ลูกตุ้มคอยหน่วงการสั่นไหว น่าทึ่งดีครับ :-)

       ตอนเด็กๆ ผมเคยเจอแผ่นดินไหวตอนกำลังอาบน้ำอยู่ นึกว่าเวียนหัวเหมือนกันครับ พอลงมาข้างล่าง แม่ก็บอกว่า แผ่นดินไหว ถึงได้อ๋อ! เราไม่ได้เวียนหัวนี่นา ;-)

       อย่างไรก็ดีวิชาหลบภัยนี่ ก็น่าจะรู้ไว้ครับ เพราะบางครั้งอาจจะได้ใช้ และอาจจะช่วยลดความเสี่ยงได้

เคยเจอแผ่นดินไหวด้วยตัวเองตอนอยู่ญี่ปุ่นค่ะ พบว่าคนญี่ปุ่นตื่นตัวที่จะรับรู้ถึงแผ่นดินไหว แต่ไม่ตื่นตระหนกกันค่ะ คงเป็นเพราะว่าที่ญี่ปุ่นเรียนรู้วิธีการรับมือกันตั้งแต่เด็ก เพราะคนญี่ปุ่นรู้ว่าไม่สามารถหนีภัยธรรมชาติได้ แต่หาวิธีที่จะช่วยลดความเสียหายให้น้อยลงได้

บ้านเราเองก็น่าจะมีการเรียนรู้เรื่องภัยธรรมชาติจากรอบโลกนะคะ (ใครจะไปคิดว่าเมืองไทยจะมีสึนามิและกรุงเทพจะรับรู้ถึงแผ่นดินไหว...ใช่ไหมค่ะ) จะได้เรียนรู้และรู้วิธีป้องกันตนเอง ไม่ตื่นกลัวจนเกินไป

สวัสดีครับคุณยิ้ม (บก. Science World)

       ใช่แล้วครับ บ้านเราก็มีภัยธรรมชาติหลายอย่าง แต่ดูเหมือนคนไทยจะตื่นตัวกันก็ต่อเมื่อเจอเหตุการณ์จริงๆ พอเวลาผ่านไป ก็ลืมๆ กันไป เพราะมีเรื่องวุ่นๆ มาให้ปวดหมองอยู่เรื่อยครับ ;-)

       อย่างไรก็ดี ผมว่าช่วงที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นนี่ ก็น่าจะเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ เป็นการเตรียมพร้อม เพราะภัยอย่างเช่น แผ่นดินไหวนี่ แม้จะทำนายไม่ได้ แต่ก็อาจจะพอรู้ว่าที่ไหนมีโอกาสเกิดได้มาก

น่าสนใจครับ

ผมว่าเรื่องนี้ใกล้ตัวมากเลยนะครับ

จะลองศึกษาไปเรื่อยๆ ครับ

สวัสดีครับ

       ใช่แล้วครับ เรื่องแผ่นดินไหว นี่ใกล้ตัวคนไทยมากทีเดียว

นับตั้งแต่เหตุการณ์สึนามินี่ คนไทยตื่นตัวขึ้นมากเลยครับ

เมื่อดวงดาวบาปเคราะห์มาถึง ย่อมต้องรับกรรมที่สั่งสมกันมา แล้วแต่บุญเวรกรรม ของแต่ละบุคคล

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้(ภายใน3-5ปีนี้)

ขอบคุณที่แวะมาเติมเต็มความรู้ครับ

คำกล่าวที่ว่ามานี่เข้าข่าย Pseudoscience ครับ เพราะกำกวม

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

สนใจ...แวะเข้ามาอ่าน...ตอนนี้ทุกคนก็เตรียมตัวรับมือกับภัยอันตรายจากธรรมชาติ นอกเหนือจากภัยอันตรายที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเอง คนที่รอดในครั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะปลอดภัย... บางประเทศคนของเขาก็คุ้นเคยกับการเกิดแผ่นดินไหว และภัยธรรมชาติต่างๆเช่น ไฟไหม้ป่า น้ำท่วม หิมะถล่ม พายุถล่ม ฯลฯ แต่มนุษย์ก็พยายามที่จะเอาชนะอันตรายเหล่านั้น ในโลกนี้มีพื้นที่มากมายที่ไม่เกิดภัยธรรมชาติ แต่แปลก...ตรงไหนมีภัยธรรมชาติมนุษย์ชอบไปอยู่...เลยไม่ใช่ต้องเตรียมตัวป้องกันอย่างเดียว.

ขอบคุณค่ะน้อง อ.ชิว ทันเหตุการณ์มากเลย พี่ขออนุญาตใช้อ้างอิงในงานของพี่ด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะ..อ.บัญชา

อ่านเรื่อง "เตรียมรับแแผ่นดินไหวอย่างไรให้ถูกหลักการ"

ดีมากๆค่ะ เพราะไม่เคยคิดว่าจะต้องรับมือกับปรากฏการณ์นี้ซะที

แต่เหตุการณ์เหล่านี้ก็ใกล้ตัวเราขึ้นมาทุกขณะ

บ้านที่ต่างจังหวัดติดทะเลอ่าวไทย (ประจวบฯ)

นอนกลางคืนได้ยินเสียงคลื่นดังๆยังระแวงแอบมาดูทางช่องลมว่าคลื่นจะมาถึงบ้านหรือเปล่า555

ก่อนเกิดสึนามิสัก 2 ชั่วโมง ที่บ้านเล่าให้ฟังว่า มีคนเห็นน้ำในบ่อกุ้งขนาดใหญ่เทไปอยู่ด้านหนึ่ง

แต่เหมือนชั่วพริบตาเดียวก็หายไป นึกว่าตนเองตาฝาด ปรากฏว่าอีก 2 ชั่วโมงผ่านไปก็มีข่าวสึนามิเกิดที่ฝั่งอันดามัน

หลานชายทำงานอยู่ที่รีสอร์ทบนเกาะพีพี ย้ายตนเองขึ้นไปอยู่บนยอดเขา หมดเนื้อหมดตัว ฮอต้องขึ้นไปรับกลับลงมา

บอกว่าจะไม่ไปชั่วชีวิต แต่ตอนนี้กลับไปอยู่เกาะสมุยอีกแล้ว555

หลานอีกคน อยู่ระนอง ออกเรืออยู่ในฝั่งอันดามัน พอเกิดเหตุเรืออยู่ไกลจากฝั่งมาก กลับเข้าฝั่งไม่ทัน

ติดต่อโดยวิทยุได้ช่วงแรกและหายไปเลย ประมาณเกือบ 10 วัน ทุกคนคิดว่าเสียชีวิตแน่นอน ปรากฏว่ารอด

หากพยายามกลับเข้าฝั่งมาคงไม่รอด

เพื่อนสนิทเป็นตำรวจอยู่ที่ภูเก็ต หาดป่าตอง กำลังตรวจชายหาด รถเก๋งฮอนด้า ไปกับคลื่นยักษ์ทั้งคัน โชคดีที่ตนเองรอด

เพื่อนเล่าว่าก่อนเกิดคลื่นยักษ์ มีเด็กชาวญี่ปุ่น หรือไงนี่แหละบอกให้คนที่อยู่ใกล้ๆ หนี เพราะจะเกิดซึนามิ แต่ฟังไม่เข้าใจ

มีบางคนเท่านั้นที่คาดเดาได้จากการทำไม้ทำมือ ก็รีบหนีไป แต่คนจำนวนมากมายก็ไม่สามารถบอกได้ทัน

และไม่คาดคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นกันแน่

ส่วนเพื่อนก็ยังทำงานอยู่ที่เดิม แต่มีความพร้อมในการรับมือมากขึ้น

มีการซักซ้อมการส่งสัญญาณและการหนีภัย

เล่ามาซะยาว จากเรื่องเล่าประสบการณ์ของคนใกล้ตัวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท