สินรินทร์สเตชั่น
อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

เส้นทางสู่ดินแดนเมืองปะเกือมโบราณ


ปะเกือม เครื่องเงินทรงคุณค่าเขวาสินรินทร์




"เขวาสินรินทร์ ดินแดนหัตถกรรม เลิศล้ำภูมิปัญญา ตระการตาผ้าไหม ระบือไกลประคำสวย
ร่ำรวยประเพณีมีปราสาทโบราณ สืบสานเพลงกันตรึม”


 
                คือคำขวัญของอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ดินแดนแห่งหัตถกรรมเครื่องเงินที่มีชื่อเสียง ได้รับการถ่ายทอด ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน อันเป็นวิถีชีวิตที่ใช้เลี้ยงชีพของชาวเขวาสินรินทร์จนถึงปัจจุบันเส้นทางมุ่งสู่ดินแดนแห่งนี้ เริ่มต้นออกจากตัวเมืองสุรินทร์ไปตามเส้นทาง ทางหลวงหมายเลข 214สายสุรินทร์ – ร้อยเอ็ด ถึงกิโลเมตรที่ 14 เลี้ยวขวาใช้เส้นทาง ถนนรพช. นาตัง – ศีขรภูมิเดินทางมาประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงหมู่บ้านนาโพธิ์ ผ่านบ้านผู้ใหญ่ลม เหลือล้นมีตลาดกลางสินค้าประคำและผ้าไหม ชาวบ้านที่กำลังขะมักเขม้นกับการร้อยสร้อย เม็ดเงินหลากหลายรูปทรงเข้าด้วยกันเป็นสายสร้อยคอ ต่างหู เข็มขัด ฯลฯ



               ซึ่งกลุ่มของบ้านนาโพธิ์จะมีกลุ่มที่เร่ขายผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ตามงานต่างๆมากเป็นพิเศษไม่ว่าจะขายในตัวจังหวัด งานเทศกาล งานกาชาด จะพบมากก็เป็นกลุ่มนี้ ซึ่งมีประมาณ 30 ราย
จากนั้นเดินทางมุ่งสู่ทิศตะวันออกประมาณ 3 กิโลเมตร ก่อนเข้าตัวหมู่บ้านเขวาสินรินทร์ซ้ายมือจะพบวัดโบราณศิลปะกึ่งขอมกึ่งรัตนโกสินทร์ ชื่อว่าวัดโพธิ์รินทร์วิเวกที่มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ในบริเวณวัดให้ความร่มรื่นและเงียบสงัด ศูนย์รวมจิตใจของชาวเขวาสินรินทร์

 

 
คือพระครูปิยะธรรมมาภรณ์ หรือรู้จักกันในนาม “หลวงพ่อเปี่ยม” ท่านเป็นนักเทศน์ ที่สามารถถ่ายทอดหลักธรรมให้ชาวบ้าน จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในทุกพื้นที่ เมื่อถึงสี่แยกป้อมยามตำรวจในบ้านเขวาสินรินทร์จะพบเห็นร้านค้าตลาดสหกรณ์ของชาวบ้านเขวาสินรินทร์ ในบริเวณนี้ก็จะจัดร้านแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องเงินผ้าไหม ที่มีชื่อของที่นี่จะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาชมอย่างต่อเนื่องตลอดริมถนนตามแนวยาวมีให้เลือกชมผลิตภัณฑ์มากมายหลายร้าน สำหรับการซื้อขายก็สามารถต่อรองราคากันเองได้ซื้อแบบมือต่อมือ โดยมิได้ผ่านพ่อค้าคนกลางถือได้ว่าถ้าใครมาเที่ยวสุรินทร์ไม่ได้แวะมาซื้อประคำหรือเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ติดมือกลับไปบ้านก็ถือได้ว่าไม่ได้มาเที่ยวสุรินทร์ เหมือนมาสุรินทร์แล้วไม่ได้ดูช้างเช่นกันผ่านหมู่บ้านเขวาสินรินทร์ 1 กิโลเมตรก็เป็นหมู่บ้านโชค ที่มีประวัติการทำประคำหรือเครื่องเงินภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาเผยแพร่ซึ่งมีช่างที่มีฝีมือดีระดับครูภูมิปัญญา คือ ลุงป่วน เจียวทอง และผ่านไปอีก 2กิโลเมตรก็เป็นหมู่บ้านสดอซึ่งตามรายทางของหมู่บ้านทั้งหมดนี้ก็จะทำเครื่องเงินกันมากหลากหลายหาดูได้ทั่วไปมีทั้งผู้ที่ทำเม็ดเงิน ประเกือม รวมทั้งกลุ่มที่ร้อยสร้อย เป็นสร้อยประยุกต์กับหินสีที่พบมากในปัจจุบันทั้งนี้ก็เพื่อให้เข้ากับแฟชั่นในสมัยใหม่



สำหรับความหมายของประเกือมในหนังสือสุรินทร์มรดกโลก ให้ความหมายว่า “คำว่า ประเกือม เป็นภาษาเขมรตรงกับภาษาไทยว่า ประคำ เป็นการเรียกเม็ดเงิน เงินทองชนิดกลมที่นำมาร้อยเป็นเครื่องประดับถ้าหินกลมเขาเรียกว่าลูกปัด ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษ คำเดียวกันว่า beads ถ้าทำด้วยเงิน เขาเรียกว่าประคำเงิน (Silver beads) ถ้าทำด้วยทองเขาเรียกว่า ประคำทอง (Gold beads) ดังนั้นประเกือมจึงใช้เฉพาะเม็ดกลมที่ทำด้วยเงินหรือทองเท่านั้น” เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ประเกือม ประคำก็คือสิ่งเดียวกัน จากหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า เมืองสุรินทร์ เจริญมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟูนันดูจากลักษณะประคำที่คล้ายคลึงกับเม็ดประคำเงินของเนปาลซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมในสมัยนั้นส่วนประเกือม หรือประคำของ
ชาวเขวาสินรินทร์นั้นมีประวัติความเป็นมา





โดยเมื่อประมาณ 270ปีมาแล้วในกรุงพนมเปญประเทศกัมพูชา เกิดกรณีพิพาทกับญวนครั้งประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเบื่อหน่ายสงครามที่ยืดยาวครอบครัวตาทวดซึ่งเป็นตระกูลผู้มีฐานะดีในกัมพูชา ได้พาครอบครัวอพยพข้ามภูเขาบรรทัดเข้ามาอยู่บ้านแนงมุด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ปัจจุบัน ต่อมาได้สืบเสาะพื้นที่ตั้งภูมิลำเนาใหม่มาที่บ้านโคกเมือง ประทายสมันต์ คือบริเวณที่ตั้งของจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน ตาทวดมีความรู้ความสามารถทางฝีมือช่างตีทอง ตีเงิน เป็นเครื่องประดับ ที่ติดตัวมาจากภูมิลำเนาเดิม เมื่อมาอยู่ที่ใหม่  ยามว่างท่านก็จะทำอยู่ประจำตาทวดมีบุตร 3 คน บุตรคนที่ 3 ชื่อตาแก้ว เป็นบุคคลที่มีความสนใจ ในด้านการตีเงินตีทองเป็นพิเศษกว่าคนอื่น ตาทวดจึงถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งหมดให้กับตาแก้วและได้สืบทอดมรดกมาจนมีความชำนาญ ต่อมาตาแก้วแต่งงานมีบุตรหลายคน คนสุดท้องชื่อตาเป็ดซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ร่ำลือในด้านการตีทอง ตีเงินมาก จนมาแต่งงานกับนางซ็อม ชาวบ้านโชคตำบลเขวาสินรินทร์ ได้ย้ายมาอยู่บ้านโชคกับภรรยาและยึดอาชีพการทำเครื่องเงินหาเลี้ยงครอบครัวจนมีบุตรด้วยกัน 5 คน ทุกคนมีความรู้สืบทอดช่างตีเงินและตีทองแต่ที่มีฝีมือปราณีตมากที่สุดคือ ตาเกิด มุตตะโสภา อดีตกำนันตำบลเขวาสินรินทร์ และตาตุ่ม มุตตะโสภาทั้งสองท่านได้ถ่ายทอดฝีมือช่างให้กับลูกหลาน และชาวบ้านอย่างจริงใจโดยไม่มีการปิดบังทำให้ช่างเครื่องเงินเครื่องทองแพร่หลายไปยังเพื่อนบ้านใกล้เคียงขึ้น ต่อมาทองมีราคาสูงขึ้นมากจึงได้หันมาทำเครื่องเงินเป็นอย่างเดียว โดยดัดแปลงรูปแบบและลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่แปลกตากลายเป็นสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง และเป็นที่นิยมกว้างขวางทั่วไปในจังหวัดต่างจังหวัดและต่างประเทศ หมู่บ้านเครื่องเงินเป็นหมู่บ้านที่นักท่องเที่ยวสนใจเข้าไปศึกษาและซื้อหาเครื่องเงินมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีงานทำตลอดปี มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานไปขายแรงงานในกรุงเทพฯการแกะสลักบนเครื่องเงินนั้น นับว่าเป็นศิลปะที่ปราณีตละเอียดอ่อนมากจะงดงามขึ้นอยู่กับรูปทรงและฝีมือการแกะสลักเป็นสำคัญ ลุงสวาส มุตตะโสภา ช่างเครื่องเงินอวุโสและมีผลงานยอดเยี่ยมได้เล่าให้ฟังว่า

ลายเครื่องเงิน จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกลายโบราณคือการแกะสลักที่เคยทำมาแต่โบราณ เช่น กลีบบัว ดอกพิกุล  เป็นลายที่เก่าแก่ที่มีความงดงามสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ นอกจากนี้ยังมีลายดอกจัน ลายไทย ข้ามหลามตัดเป็นต้น ประเภทสอง ลายปัจจุบัน เป็นลายที่คิดขึ้นเองตามใจชอบ เช่น ลายใบไม้ ลายพระอาทิตย์ ลายฟักทองเป็นต้น” 


                     ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องเงินในสมัยก่อนนั้น ชาวบ้านมักนิยมใส่สร้อยเงิน ที่ร้อยลูกประคำ  สลับกับตะกรุดลงยันต์ ลงเวทย์มนต์คาถาถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์เมื่อมีไว้กับตัวทำให้เกิดความสบายใจเป็นสิริมงคลกับตนเอง มีความสุขความเจริญซึ่งถือว่าเป็นเครื่องรางของขลัง แตกต่างกับปัจจุบันซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับที่ใส่เพียงดูสวยงามแต่บางคนก็ยังมีความเชื่อส่วนนี้อยู่บ้าง เมื่อใส่แล้วถูกโฉลกกับหินประยุกต์ หินสีต่างๆที่กำลังเป็นแฟชั่นยุคนี้ ช่างเครื่องเงิน มีความภาคภูมิใจในอาชีพหัตกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่า หัตถกรรมที่ไม่ต้องอาศัยโรงงานในการผลิต มีเพียงครอบครัว พ่อแม่ลูกเป็นความผูกพันกันมาแต่อดีตที่ควรอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมนี้ไว้ เป็นอาชีพที่สร้างเสริมรายได้ทางหนึ่งที่ไม่ต้องไปดิ้นรนหาแสวงหาในเมืองหลวง ผลงานทุกชิ้นที่นี่ คือ“
คุณค่าทางวัฒนธรรมที่ยังคงได้รับการสืบทอดสู่ลูกหลานรุ่นต่อรุ่นที่ควรอนุรักษ์ไว้อยู่คู่เมืองสุรินทร์สืบไป” หัตถกรรมเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ยังได้ยกเป็นผลงาน หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย หากท่านใดสนใจ
สามารถเดินทางมาชมได้ทุกวัน ตาม “เส้นทางสู่ดินแดนหัตถกรรม ประคำสวย “ งกล่าวมาข้างต้นหรือสามารถติดต่อ
คุณบุญราม  ภูมิสุข ผอ.กศน.เขวาสินรินทร์ โทร 0-1976-5010 ทุกวัน

 

 

8  พฤษภาคม  2551  เวลา  18.19.53 น.

              จากเส้นทางของดินแดนหัตถกรรมถือว่าเป็นเส้นทางเดินอารยธรรมจากขอม  และผ่านมาหลายชั่วอายุคน  กลิ่นไอของอารยธรรมเหนือสิ่งอื่นใด  จากหัตถกรรมที่อดีตผ่านมาเป็นของขลัง  ทรงคุณค่า กาลเวลาที่ผ่านไป กลายเป็นสิ่งสวยงาม  ประดับตกแต่งตามวิถีของยุค  จากสิ่งที่ทำด้วยมือธรรมชาติมาประยุกต์กับแฟชั่นยุคใหม่ เครื่องเงินบวก หิน สิ่งล้ำค่า  ที่ต้องติดตามมาชมกันได้ ณดินแดนแห่งนี้      เส้นทางดินแดนหัตถกรรมที่รอการสืบทอดชั่วอายุคน 

        จากบทความได้รับความสนใจ และคุณณัชชา  ธัชธรรม์ อายุ 33 ปี จากอำเภอวิเชียรบุรี   จังหวัดเพชรบูรณ์  หญิงแกร่งที่เดินทางมาคนเดียวเพื่อรับการถ่ายทอดวิชา จากภูมิปัญญาท้องถิ่น หลักสูตรที่ไม่มีรุ่น  ไม่มีรอบโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นในดินแดนแห่งนี้  คุณลุงปัญญา  บุตรชาติ  บ้านนาตัง  อำเภอเขวาสินรินทร์ อีกหนึ่งครูเครื่องเงินที่ความชำนาญ ณ  ดินแดนแห่งนี้

      ลุงปัญญา  บุตรชาติ  ถาม คุณณัชชา ว่า  "หนูคิดอย่างไรถึงได้เดินทางมาไกลแสนไกลเพื่อมาเรียน"

คุณณัชชา ตอบอย่างชื่นใจว่า  "เครื่องประดับ  เป็นสินค้าที่อยู่คู่คนเราตั้งแต่โบราณ แม้สิ้นรุ่นหนูไปก็ยังคงอยู่คู่มนุษย์เราต่อไป"

ได้ฟังอย่างนี้แล้วชื่นใจ  ที่คนรุ่นใหม่อย่างมีความคิดอนุรักษ์ ให้คุณค่าของหัตถกรรมดินแดนแห่งนี้  ยินดีต้อนรับผู้มาเยือน

 

         
     กศน.เขวาสินรินทร์  ดำเนินงานตามพันธกิจของการศึกษานอกโรงเรียน บทบาทหน้าที่ที่ต้องดูแลประชาชนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน  ถึงแม้ว่าวันนี้ชื่อหน่วยงาน ต้องเปลี่ยนเป็น "ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเขวาสินรินทร์"  ก็ตามแต่ บทบาทหน้าที่ที่ต้องเดินหน้าต่อไป  การศึกษาที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีความรู้ ความคิด  แม้จากกลุ่มเป้าหมายจะหลากหลาย  จากพ่อค้า  แม่ค้า  ประชาชน  ชาวไร่ชาวนา  ฯลฯ  ให้อยู่ในองค์ความรู้การศึกษาตลอดชีวิตอยู่บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ติดตามข้อมูลชุมชนเขวาสินรินทร์ได้คลิกที่นี่

หมายเลขบันทึก: 130222เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2007 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ครับ ขอบคุณครับ

อยากให้ใส่ข้อมูลขั้นตอนในการทำปะเกือม ผ้าไหม ผ้าไหมโฮล หรือ สินค้าOTOP ที่เป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน ของชาวตำบลเขวาสินรินทร์เป็นผู้ผลิตขึ้นมา จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านอย่างมากเลยครับ ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้า นะครับ แล้วจะแวะมาใหม่

ขอบคุณครับ สำหรับขั้นตอนการทำเครื่องเงิน มีไว้ที่ www.kawesinarin.tkc.go.th แล้วครับ

อยากจะได้ตะเกาว์งามๆๆๆสักคู่

ราคาราไม่แพงมากมีไหมครับ

เพราะว่าหลานไม่มีเงิน

เพราะช่วงนี้เรียนอยู่

ราคาประมาณ400-5000กว่าได้ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท