การส่งต่อภาวะฉุกเฉินที่ ER ( Referral System )


“คุณพยาบาล ! ช่วยดูทีค่ะ ไม่ทราบคุณพ่อเป็นอะไร เมื่อเช้าบ่นเวียนหัวแล้วอยู่ๆก็เกร็งนิ่งไปเลย ”

คุณลุงหล่อ อายุ 83 ปี ประวัติเป็นโรคเบาหวาน จาก EKG พบว่าคลื่นหัวใจลุงเต้นช้ามากหลังให้การรักษาภาวะวิกฤติแพทย์ลงความเห็นพิจารณาส่งต่อไป รพ. พุทธชินราช เพื่อใส่ Pace Maker

                    “ คุณน้าเป็นลูกใช่ไหมคะ ตอนนี้คุณลุงมีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ คุณหมอได้ให้การช่วยเหลือและให้ยากระตุ้นหัวใจแล้วและจำเป็นต้องส่งไปรักษาต่อ........” ข้าพเจ้าให้ข้อมูลคร่าวๆแก่ญาติของลุงซึ่งมาเพียงคนเดียว

                  “ ค่ะได้ค่ะ ถ้ามีวิธีไหนจะช่วยคุณพ่อได้เชิญคุณหมอทำไปเลยค่ะ”  ตอนนี้ฉันจะคิดจะหรือตัดสินใจก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร   หากพ่อเป็นอะไรไปพี่ น้องคนอื่นๆจะว่าฉันดูแลพ่อไม่ดีแน่ๆเลย

                   “ คุณพยาบาลช่วยบอกอาการของพ่อให้ลูกสาวฉันฟังหน่อยได้ไหม แกอยู่กรุงเทพโทรมาถามว่าคุณตาเป็นอะไร ดิฉันจะเล่าก็เล่าไม่ถูก ใจคอก็ไม่ค่อยจะดีด้วย ” พูดพลางเธอก็ยื่นโทรศัพท์ให้ข้าพเจ้าพูด

                  ชีวิตจริงในการทำงานเราต้องดูแลทั้งผู้ป่วยและดูแลทั้งญาติที่มากับผู้ป่วยด้วย การที่ญาติบางคนต้องเผชิญกับสภาพความเจ็บป่วยวิกฤติของคนใกล้ชิดอาจเกิดความเครียด  สับสน ไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจ ว่าจะต้องทำอย่างไร  เราเองต้องเป็นคนที่ให้คำปรึกษาให้ทางเลือกในการรักษาให้กับทั้งผู้ป่วยและญาติไปพร้อมๆกัน

                   หนึ่งอาทิตย์ต่อมาข้าพเจ้าก็ได้พบกับคุณน้าคนเดิม     “ คุณพยาบาลเจอกันอีกแล้ว ” 

                 ข้าพเจ้าหันไปเห็นชายชราที่นอนอยู่บนรถเข็น “อ้าวลุงหล่อ! กลับมาแล้วเหรอแล้วหายดีแล้วเหรอ ”

 ลุงยิ้มอายๆ สายตาคุณลุงดูมีความสุขไม่เหมือนคนป่วยเลย  “  ดีแล้วครับ หายแล้ว ” ข้าพเจ้าบีบมือลุงเบาๆ

                 ข้าพเจ้านึกถึงวันที่ลุงมาE.R อาการหนักทีเดียว    คุณน้าเล่าว่าตอนที่พ่อถูกส่งไปอยู่ CCUพ่อดื้อมากๆทั้งดิ้นทั้งดึงอุปกรณ์ทุกอย่างสายน้ำเกลือ สายสวนหัวใจ ฉันกับน้องๆกลุ้มใจมาก  คุณพ่อคงฝังใจตอนที่แม่ป่วยหนักต้องนอนใส่เครื่องช่วยหายใจ  มีสายน้ำเกลือและสายยางเต็มไปหมด  พ่อเลยบอกว่า ถ้าพ่อเป็นอะไรไป ไม่ต้องใส่ท่ออะไรให้เลย   แล้วพ่อก็ดึงทุกอย่างออกหมดจริงๆ   หมอและญาติก็เลยต้องยอมตามใจผู้ป่วยงดใส่เครื่องกระตุกหัวใจ และส่งกลับมา    ปกติพ่อไม่เคยแสดงว่าตัวเองป่วย พ่อจะไปไหนมาไหนเองตลอด พ่อเคยเป็นครูใหญ่ เพื่อนฝูงมีเยอะ  แกเลยไม่เหงา  ดิฉันเองอยู่ไกลจะมาอยู่ดูแลพ่อเป็นระยะๆ  วันนั้นที่เห็นแกเป็นหนักคิดว่าคงไม่รอดแน่ๆ แล้วฉันจะทำยังไงเพราะพ่อดื้อไม่ยอมใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจนั่น

                   ข้าพเจ้าบอกกับคุณน้าว่าจริงๆแล้วลุงมีสิทธิที่จะเลือกและตัดสินใจในการที่จะรับหรือไม่รับการรักษาจากแพทย์ บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าทำไมพ่อไม่ทำตามที่เราคิดหรือไม่เลือกอย่างที่เราเลือกแต่ในความคิดของข้าพเจ้าลุงหล่อเป็นคนแก่ที่มีบุญมากๆคนนึงนะ  ลุงมีความสุขกับชีวิตบั้นปลายแม้ตัวแกจะเจ็บป่วยหลายโรค  ดูสิ วันนี้แกนอนยิ้ม  มีความสุขดี  จะว่าไปแล้วถ้า เทียบกับบางคนที่ถึงแม้จะไม่ได้เจ็บป่วยอะไรแต่ก็มีเรื่องทุกข์ใจและไม่มีความสุขเท่าลุงเลยนะ       แค่วันนี้ลุงมีลูกอย่างคุณน้าที่คอยรักห่วงใยดูแลพ่ออย่างดี  ฉันว่าลุงคงดีใจที่สุดแล้ว

                 
หมายเลขบันทึก: 426693เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท