หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ (๔๔) : มิติประชาธิปไตย - เบญจสดมภ์


กระบวนการพัฒนาทางการเมืองเป็นการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ความสำเร็จของการเลือกตั้งคือหลังเลือกตั้ง ประชาชนดีกันเหมือนเดิม

ในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ถือว่าเป็นครั้งแรกของฉันที่ได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆที่ฮอตอยู่ในด้านวิชาการด้านการเมืองอีกแล้ว แต่ก่อนที่จะเล่าไปถึงเรื่องศัพท์นั้น ขอเล่าเรื่องที่อาจารย์วุฒิสาร ตันไชยแบ่งปันความรู้ให้ก่อนนะคะ

อาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่า มิติของประชาธิปไตยมี ๓ มิติ คือ สถาบันหรือองค์กรต่างๆ กระบวนการ การเคลื่อนไหว และ คุณค่า 

เรื่องราวที่อาจารย์ขยายความให้เข้าใจพัฒนาการของสังคมเกี่ยวกับมิติเหล่านี้อย่างนี้ค่ะ

ประเด็นของสถาบัน(องค์กรต่างๆ)  ความเห็นและเข้าใจประชาธิปไตยของไทย ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มาก แต่ก็ยังมีคำถามว่าเมื่อให้ความสำคัญกับมิตินี้เยอะและทำงานไปแล้ว มีผลทำให้ระบบการเมืองประชาธิปไตยดีขึ้นจริงไหม 

ประเด็นของกระบวนการ การเคลื่อนไหว เช่น การเลือกตั้ง ประชาพิจารณ์ มีการทำเยอะและที่มีการทำการเยอะนั้น วันนี้ให้คุณแก่คุณค่าของประชาธิปไตยแค่ไหน

อาจารย์ถามว่าเดี๋ยวนี้มีที่ไหนที่สอนมิติเรื่องคุณค่าซึ่งเป็นการพูดเรื่องวิถีชีวิต (Way of life) ที่พื้นฐานคนไม่รู้สึกต่างกัน รู้สึกเท่ากัน มองคนเท่ากันบ้าง แต่ไม่มีใครตอบ

อาจารย์ป้อนคำถามว่าหลายเรื่องของประชาธิปไตยแบบฝรั่งเหมาะกับสังคมไทยหรือเปล่า ประชาธิปไตยที่ต้องการการมีความสัมพันธ์แบบแนวระนาบทำอย่างไร ในขณะที่สังคมไทยมีความสัมพันธ์กันแบบแนวดิ่ง

แล้วจะทำอย่างไรให้กลายเป็นแนวระนาบ ถ้าแม้แต่การใช้คำพูดก็แตกต่างกันแล้ว และบอกชนชั้นแล้ว เช่น คำสรรพนามที่ใช้เรียกบุคคลที่ ๒ ที่มีมากกว่า ๕ คำและแต่ละคำบอกระดับของคน

อาจารย์ยกตัวอย่างการสร้างความสัมพันธ์แบบแนวระนาบ ด้วยการสร้างการศึกษาความเป็นพลเมือง ที่มีทั้งป้อนข้อเท็จจริง ความรู้และหลักปฏิบัติว่า ความสำเร็จเล็กๆในโรงเรียนแค่ทำให้นักเรียนเข้าคิวและไม่ยอมให้ใครละเมิดสิทธิลัดคิวถือว่าสำเร็จแล้วเล็กๆในการทำให้เรียนรู้การเคารพสิทธิและการรักษาสิทธิของตน

อาจารย์เน้นว่าการให้คุณค่าถ้าไม่ทำ ไม่ทำทุกคน ไม่รับผิดชอบทำ ความยั่งยืนจะไม่เกิด แก้กติกาเลือกตั้งอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ถ้าคนไม่รู้สึกถึงอำนาจนั้นจริง

อาจารย์ชี้ว่าความเป็นอุดมคติเป็นการอ้างอิงเพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมายไม่มีทางเป็นจริง แต่ทำได้ด้วยหลักการคือถ้าพบแล้วออกนอกเส้นก็ให้รีบๆเข้ามาใกล้

อาจารย์ตั้งคำถามว่าถ้าการให้คุณค่าไม่สามารถทำให้เกิดความเข้มแข็งได้ ยิ่งเลือกตั้งยิ่งทะเลาะกัน ไม่พูดกัน เกิดจากภูมิต้านทานอ่อน  มีอะไรเกิดขึ้น แล้วพูดถึงความสำเร็จของการเลือกตั้งว่า ไม่ได้อยู่ที่การไปลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ความสำเร็จคือหลังเลือกตั้ง ประชาชนดีกันเหมือนเดิม

อาจารย์ชี้ว่าใน ๓ มิตินี้ สังคมไทยผลักดันไปในทาง ๒ มิติ คือ สถาบันและกระบวนการมากแต่ขาดเรื่องมิติคุณค่า 

แล้วอาจารย์ก็เล่าเรื่องความคิดของอาจารย์ประเวศให้ฟังว่า อาจารย์ประเวศให้น้ำหนักกับการสร้างเบญจสดมภ์ของระบบประชาธิปไตย : 

-การเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียม

-อธิปไตยเป็นของปวงชนมีสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างคืออธิปไตยของท้องถิ่น เจตนาจริงๆของการปกครองท้องถิ่นคือต้องการให้เป็นโรงเรียนประชาธิปไตย

-เงื่อนไขสำคัญของประชาธิปไตยท้องถิ่นคือความรู้สึกเป็นเจ้าของ อำนาจการตัดสินใจอยู่ใกล้ปัญหาที่สุด ให้โอกาสตัดสินใจเลือกคนเข้ามาช่วยแก้ปัญหา แก้ปัญหาเอง ร่วมกันแก้ปัญหาเอง  เมื่อความเป็นเจ้าของเกิดขึ้น การมีส่วนร่วมก็จะเกิดเอง

การไม่ได้มีส่วนรู้ว่างบประมาณมาอย่างไรจากภาษีของตัวและมาตอนไหน ทำให้ชาวบ้านไม่รู้สึกว่าเขาจ่ายอะไร จึงไม่รู้สึกว่าตัวเป็นเจ้าของ

-ประชาสังคม คือ การมีส่วนรับผิดชอบ รู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างร่วมกัน มีส่วนเกี่ยวข้องกัน แม้แต่คนแปลกหน้าก็ร่วมได้ถ้ามีเป้าหมายร่วม  แต่วิธีคิดเรื่องคนแปลกหน้านี้ไม่เหมาะกับวิธีคิดของคนไทย ต้องมีความสัมพันธ์อะไรก็ได้สักอย่างจึงจะเกิดความไว้ใจ  ประชาสังคมเมืองไทยจึงเกิดลำบากในสังคมไทย

-การพัฒนาจิตและปัญญา 

หลังจากนั้นก็ชวนไตร่ตรองเรื่องการสร้างคุณค่าประชาธิปไตย ว่าต้องสร้างความคิดอย่างไรบ้าง

ที่อาจารย์ให้ความรู้ไว้ก็เป็นเรื่องการสร้างจิตสำนึกในหลายๆเรื่องค่ะ จิตสำนึกพวกนี้มีอย่างนี้ค่ะ :

-จิตสำนึกที่ศรัทธาและเชื่อต่อประชาธิปไตย

-จิตสำนึกเรื่องสิทธิเสรีภาพ  หมวดหน้าที่ปวงชนชาวไทยเป็นอะไรที่เขียนยากที่สุด เพราะขัดไปหมดกับสิทธิ   ระหว่างดุล ระหว่างสิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ไม่ใคร่มีดุล การทำหน้าที่ของพลเมืองที่ถูกต้องก่อนจึงได้สิทธิมาถ้าไม่ทำไม่ได้สิทธิจากรัฐ ไม่ทำหน้าที่ทางการเมืองตัดสิทธิอะไรได้บ้าง เช่น การไม่ได้รับสิทธิได้รับบริการจากรัฐ คนก็บอกไม่ได้เพราะเป็นสิทธิพื้นฐาน วันนี้ไม่มีดุลระหว่างการทำหน้าที่ประชาชนกับการเรียกร้องสิทธิประชาชนจากรัฐ 

-จิตสำนึกในการดูแลสิทธิตัวเองและเคารพสิทธิคนอื่น

-จิตสำนึกในการเคารพเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย

-จิตสำนึกความเสมอภาค

-จิตสำนึกความยุติธรรม  ความยุติธรรมกับความเป็นธรรมที่ไม่ไปด้วยกัน เพราะเป็นเรื่องของการยุติทำ เช่น การเสียค่าปรับ มีก็จ่าย ไม่มีก็ไม่ต้องจ่าย

-จิตสำนึกประโยชน์คนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ไม่ใช่สาธารณะประโยชน์ ไม่ใช่ mass สาธารณะประโยชน์หมายถึงคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อย หลายเรื่องจึงเป็นทั้งเรื่องของคนส่วนใหญ่ และคนส่วนน้อย ถ้าเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องมีเรื่องกม.คนพิการ เพราะคนพิการเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ 

สาธารณะหรือส่วนรวมจึงหมายถึงทั้งส่วนใหญ่ และ marginal  

Fair แปลว่า รู้สึกว่าอยู่ร่วมกันได้ ไม่ได้หมายถึงต้องเท่ากัน

-จิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อการเคารพกฎ ระเบียบวินัย กฎหมาย  ความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง

อาจารย์สรุปว่าหลักยุติธรรมเป็นเรื่องทั่วไปของระบอบประชาธิปไตย

ในระหว่างการยกตัวอย่างให้เข้าใจ อาจารย์ชวนคุยเรื่องการถ่ายทอดการประชุมสภาด้วยค่ะ

ในประสบการณ์ส่วนตัว อาจารย์เห็นว่าการถ่ายทอดการทำงานของคนให้คนอื่นเห็นเยอะๆนี่ดี เพราะจะควบคุมหรือกดดันให้คนทำให้ดี ระบบการเฝ้าดูทำให้คนละลายพฤติกรรม

อาจารย์จึงเห็นด้วยที่ในทางการเมืองสร้างระบบให้รู้สึกว่ามีการเฝ้าดู เป็นการสอนการเรียนรู้ให้กับประชาชน เป็นบทเรียนที่ประชาชนเรียนรู้เอง

เมื่ออาจารย์เล่าภาพว่าการถ่ายทอดการประชุมสภาไปเรื่อยๆจะทำให้คนได้รู้เองว่าใครเป็นอย่างไร  กระบวนการพัฒนาทางการเมืองเป็นการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งคนจะรู้เองว่าไม่ควรเลือกใคร ควรเลือกใคร คนไหนมีเหตุมีผล มันทำให้ัฉันเห็นมุมมองของความเชื่อมั่นในความสามารถในการเรียนรู้ของคนอื่นขึ้นมาเลยเชียว ขอบคุณนะคะสำหรับมุมมองนี้

หมายเลขบันทึก: 387183เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท