หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๔๖) : อินเดีย - เชื่อแล้วว่าอยู่ใกล้


ภายใต้ความสัมพันธ์ในอาเซียน มีเส้นทางที่จะตัดเพื่อเพิ่มความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกันของประเทศในอาเซียนอยู่ ๗ เส้นทางสำคัญ ทุกๆเส้นมีประเทศไทยและพม่าไปเกี่ยวข้อง

หันกลับไปดูบ้านเราหลังฟังเรื่องเล่าจากเชียงใหม่ แล้วก็ทึ่งประวัติศาสตร์ของบ้านเราเหมือนกัน ทีแรกที่ฟังเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชเคยเสด็จมาในดินแดนบ้านเรา ฉันไม่อยากเชื่อเลย แต่เมื่อไปอ่านบันทึกของท่านทูตพลเดช พูดเรื่องอินเดียอยู่ใกล้เรา ก็เปลี่ยนใจ

ยิ่งได้เห็นระยะทางการเชื่อมถนนไทย-พม่า-อินเดียในโครงการ BIMSTEC ก็เชื่อแล้วค่ะว่าประเทศไทยกับอินเดียอยู่ใกล้กันมาก มีแค่พม่าเป็นฉากกั้นอยู่เท่านั้นเองจริงๆ  พูดถึงถนนเส้นนี้แล้วก็ขอเอาข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนมาบอกกันไว้ที่นี่ซะเลย

ภายใต้ความสัมพันธ์ในอาเซียน มีเส้นทางที่จะตัดเพื่อเพิ่มความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกันของประเทศในอาเซียนอยู่ ๗ เส้นทางสำคัญ ทุกๆเส้นมีประเทศไทยและพม่าไปเกี่ยวข้อง

เส้นทางโครงการ BIMSTEC เชื่อมโยงไทย-พม่า-อินเดีย

๓ ใน ๗ เส้นเป็นเส้นที่เชื่อมไทย-พม่า-อินเดีย ได้แก่

ทางหลวงอาเซียน( ASEAN highway) : รัฐบาลพม่ากำลังปรับปรุงเส้นทางทางหลวงอาเซียนภายในประเทศ ๔ เส้นทางซึ่งเป็นเส้นทางหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงอาเซียน ๔,๕๐๐ กิโลเมตร อันมีีเส้นทางชายแดนพม่า-อินเดียถึงชายแดนพม่า-ไทย  ขยายเส้นทางจากชายแดนพม่า-จีนถึงชายแดนพม่า-ไทย  เส้นทางจากเมืองท่าตอน(ในรัฐกะเหรี่ยง)-เมืองเมาะละแหม่ง-เมืองทวาย-เมือง มะริด-เมืองเกาะสองในตะนาวศรี และเส้นทางจากเมืองทวาย-ซินผิ่วตอง-โมนตี่ ในภาคตะนาวศรี

เส้นทางเหล่านี้จะถูกปรับให้เป็น “มาตรฐานชั้น ๓” หรือ “ถนนลาดยาง ๒ ช่องทางจราจร” ครอบคลุมพื้นที่ ๖ รัฐและภาคต่าง ๆ ของพม่า ตามแผนการช่วยเหลือของอาเซียน+๓  มีประเทศเกาหลีใต้ให้ความช่วยเหลือปรับปรุงถนน ๑ เส้นทาง ไทยช่วยเหลืออีก ๑ เส้นทาง

ทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-พม่า-ไทย (India-Myanmar-Thai Tripartite Highway) : ถนนสายนี้มีการลงนามความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงคมนาคมระหว่าง ประเทศสมาชิกให้มีการขยายตัวด้านการค้า การท่องเที่ยวให้มากขึ้น ในการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๖ ที่ภูเก็ต ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ เส้นทางจะตัดผ่านเมืองมอเร ประเทศอินเดีย - แม่สอด ประเทศไทย - พุกาม สหภาพพม่า

ทางหลวง BIMSTEC : ถนนสายนี้เชื่อมโยงไทย-พม่า-อินเดียและเชื่อมไทย-พม่า-บังกลาเทศ ช่วยลดระยะการเดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่บังกลาเทศและอินเดีย มีถนนตัดผ่านประเทศไทยจากอ่าวเบงกอลไปยังทะเลจีนใต้ และมีถนนสู่สหภาพพม่า ๒ เส้นทาง

BIMSTEC ที่เชื่อมอินเดีย-พม่า ยาวราวๆ ๖๐๔ กิโลเมตร รัฐบาลอินเดียสนับสนุนทั้งหมด เริ่มเส้นทางจากฝั่งชายแดนตะวันตกพม่า-จีนจากตามูถึงเมืองมัณฑะเลย์  เป็นถนนลาดยางสองช่องทาง ต่อด้วยถนนลาดยางหนึ่งช่องทาง ถนนลูกรัง และถนนคอนกรีตสองช่องทางเชื่อมมัณฑะเลย์-Monywa-Pale-Gangaw-Kalemyo-ตามู  เส้นทางนี้เปิดใช้แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔

เส้นทางบังกลาเทศ-พม่า ตัดผ่าน Chittagong Hill Tracts

BIMSTEC ที่เชื่อมบังกลาเทศ-พม่า ตัดตรงจากเมือง Darka สู่กรุงย่างกุ้ง โดยตัดผ่าน เขต Gundum ใน Chittagong Hill tracts-ข้ามแม่น้ำ Naaf-เข้าสู่รัฐยะไข่ สหภาพพม่า และมีถนนเชื่อมต่อกรุงย่างกุ้ง-สิตตวี เมืองหลวงของรัฐยะไข่ โดยตัดถนนผ่านเมือง Kyauktaw และ Buthidaung และมีเส้นทางเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่รัฐบาลบังกลา เทศเล็งเห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างถนนเชื่อมโยงเมืองการค้าชายแดนระหว่าง Gundum กับ Taungbro ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันและห่างกันเพียง ๔๓ กิโลเมตรและ Taungbro ก็อยู่ห่างจากเมือง Buthidaung เพียง ๘๐ กม.เท่านั้น

นอกจากเส้นทาง BIMSTEC อินเดียฝันจะสร้างเส้นทางรถไฟสายอินเดีย-พม่า-ไทย สายตรงจาก Kolkata สู่กรุงเทพฯด้วย แต่โครงการนี้ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในขณะที่เส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ อินเดีย - พม่ายังขาดช่วงกันเป็นระยะทางกว่า ๓๑๕ กิโลเมตรและยังขาดช่วงที่สายด่านเจดีย์สามองค์กว่า ๒๖๓ กิโลเมตรด้วย

การสร้างทางรถไฟสายนี้ยังมีอุปสรรคอยู่ที่มาตรวัดสร้างทางรถไฟที่ต่างกัน บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ใช้มาตรแบบสากลซึ่งใกล้เคียงกัน แต่ไทยและพม่าใช้หน่วยวัดเป็นเมตรด้วย

เส้นทางรถไฟที่ขาดช่วงระหว่างประเทศไทยและพม่า

เห็นระยะทางของถนนแล้วเชื่อหรือยังว่าเมื่อเส้นพรมแดนของประเทศเริ่มถูก ปลดออกให้เหลือแต่เส้นเขตแดนเพียงหนึ่งเดียวของโลกเท่านั้น อินเดียอยู่ใกล้ไทยแค่ปลายจมูกก็ว่าได้

อินเดียยอมลงทุน ๑๖,๖๖๐ ล้านรูปีหรือ ๓๕๗ ล้านดอลลาร์พัฒนาทางหลวงในรัฐตรีปุระ (Tripura) ที่ไร้ทางออกสู่ทะเลในดินแดนห่างไกลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเชื่อมกับ ทางหลวงในบังกลาเทศ ขณะเดียวกันก็เริ่มตัดทางหลวงอีกสายหนึ่งเข้าพม่าซึ่งจะทำให้สามารถไปใช้ท่า เรืออ่าวเบงกอลได้ มีการขยายทางหลวงสาย ๔๔ เป็นถนนที่มีสี่ช่องทางจราจรจากเมืองชิลลอง (Chillong) ไปยังชายแดนภาคใต้ของรัฐตรีปะรุ จากปลายทางหลวงสายเส้นนี้จะมีระยะทางเพียง ๗๕ กิโลเมตรเท่านั้นจากเมืองซาบรูม (Sabroom) ไปยังท่าเรือจิตตะกอง (Chittagong) ในบังกลาเทศ

แล้วยังมีการพัฒนาและตัดถนนสายใหม่อีกสายหนึ่งในรัฐมิซอรัม (Mizorum)ไปยังพรมแดนพม่าด้วยยาวราว ๑๐๐ กม. เพื่อให้เชื่อมต่อไปยังท่าเรือที่เมืองสิตต่วย (Sittwe) ในรัฐยะไข่ (Rakhine) ได้ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว ๑๔๐ ล้านดอลลาร์

รัฐบาลอินเดียได้เซ็นสัญญาช่วยรัฐบาลพม่าก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่บริเวณ ปากแม่น้ำกาลาดัน (Kaladan) ในพม่า แม่น้ำสายนี้ต่อไปถึงรัฐมิซอรัมซึ่งจะทำให้รัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ อินเดียทั้งหมดออกสู่ทะเลเบงกอลได้

ก่อนเส้นทางเหล่านี้จะแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๔๙ อินเดียเคยลงมือทำให้เห็นว่าเขากับอาเซียนอยู่ไม่ไกลกันเลย ก็แค่ ๖,๐๐๐ กว่ากิโลเมตรจากมาเลเซียและสิงคโปร์แค่นั้นเอง พิสูจน์โดยกองคาราวานรถยนต์รัฐบาลร่วมเอกชนเดินทางจากมิซอรัมผ่านดินแดน อันทุระกันดารของพม่าเข้าประเทศไทยทางด่านแม่สอด จ.ตากไปยังนครเวียงจันทน์ของลาว ต่อไปยังเวียดนาม เข้ากัมพูชา ก่อนจะวกมายังประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งและหยุดพักที่โรงแรมพลาซาอะธีนีใน กรุงเทพฯก่อนจะออกเดินทางต่อไปยังมาเลเซียกับสิงคโปร์

ทั้งหมดที่เล่ามานี้เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลอินเดียที่นำโดยรัฐบาลนายก รัฐมนตรีมันโมหินซิง (Manmohan Singh) พรรคคองเกรส (Congress Party) ได้พยายามมาหลายปีในการหาทางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East Policy)

ได้รู้ ได้เห็น ทำให้ฉันเห็นด้วยว่า อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่โบร๊าณโบราณนั้นควรถูกเรียกว่า “ยักษ์ที่ไม่เคยหลับเลย” มากกว่ายักษ์ที่เพิ่งเกิดใหม่

๗ สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 407469เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2010 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท