เทคนิคการนำเสนอข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ


     สวัสดีครับทุก ๆ ท่าน  หลังจากที่ห่างหายจาก blog ไปนานแสนนาน  น้าน.....นาน  (ไม่ใช่โปรโมชั่นมือถือของบางเครือข่ายนะครับท่านผู้ชม!)  บัดนี้  ก็ได้เวลาอันสมควรที่จะกลับมาส่อง blog ของตัวเองซะบ้าง (ก่อนที่หยากไย่+เชื้อรา+ปลวก+เห็บ+หมัด เอ้ย! ไม่ใช่ จะขึ้นจนทำความสะอาดไม่ไหวซะก่อน)  ผมก็นั่งคิด ๆ คิด ๆ คิด ๆ อยู่น้าน....นานทีเดียว ว่าจะเอาเรื่องอะไรมาลงดี  มองซ้าย  มองขวา  มองข้างหน้า  มองข้างหลัง  มองโต๊ะข้าง (ว่ามีอะไรให้ขโมยได้มั่งมั้ย) ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย  ทำไงดี จนปัญญาแล้ว  และทันใดนั้น......

     ปิ๊ง!.... เอาเรื่องที่ตัวเองไปอบรมมานำเสนอดีกว่า  ท่าจะไม่ยาก และดูดีทีเดียว  อีกอย่าง  file ก็ทำเตรียมไว้แล้วด้วย (เพราะต้องทำสรุปส่ง ผอ.)  อย่ากระนั้นเลย  เอาเรื่องนี้แหละมาลงดีกว่า  (อึม คิดได้นะเนี่ย!)

 

---------------อ่านมาตั้งนาน  ยังไม่เข้าเนื้อหาซักที  น้ำเยอะจนจะจมน้ำตายอยู่แล้ว 555-------------

หมายเลขบันทึก: 192659เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2008 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เอาล่ะครับ นอกเรื่องไปซะนาน เข้าเรื่องแบบเป็นเรื่องเป็นราวจริง ๆ จัง ๆ กันดีกว่า (เด๋วจะหาผมเป็นคนไม่มีสาระ!)

การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ณ โรงแรม THE RICH จ.นนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขีดความรู้และความสามารถของบุคลากรกรมอนามัยในการนำเสนอข้อมูล ผลการดำเนินงาน ผลงานวิชาการ อีกทั้งข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น รายงานสรุปสำหรับผู้มาศึกษาดูงานจากต่างประเทศ การนำเสนอผลงานศึกษาวิจัย การเข้าร่วมประชุมนานาชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในวันที่ 24, 25 และ 26 ช่วงเช้า เป็นการบรรยายเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับหลักการและเทคนิคการนำเสนอข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษโดย อ.อุสนา วงษ์นาคเพ็ชร์ จากสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ สำหรับช่วงบ่ายของวันที่ 26 เป็นการให้เวลาเตรียมตัวสำหรับ workshop การนำเสนอข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษจริง โดยให้ใช้เวลาดังกล่าวเตรียมและแก้ไข powerpoint presentation โดยมี อ.อุสนาคอยให้คำแนะนำ และในวันที่ 27 เป็นการนำเสนอข้อมูลโดยสมมติสถานการณ์ให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนต้องนำเสนอข้อมูลในการประชุมนานาชาติโดยอาศัยความรู้ที่ได้เรียนมาในวันที่ 24, 25 และ 26 มีทั้งการนำเสนอเดี่ยว และการนำเสนอเป็น panel presentation มีผู้วิพากษ์และให้คำแนะนำ 3 ท่าน คือ อ.อุสนา วงษ์นาคเพ็ชร์ อ.ทวีสุข พันธุ์เพ็ง และ อ.ทรรศนีย์ โรจนสกุล

สำหรับเนื้อหาในวันที่ 24, 25 และ 26 เช้า สามารถสรุปได้ดังนี้

การนำเสนอข้อมูล

     การนำเสนอข้อมูล คือ การสนทนาอย่างเป็นทางการเพื่อนำเสนอข้อมูลที่ได้รับการจัดเตรียมไว้เป็นอย่างดีและชัดเจน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ Introduction, Body of Presentation และ Conclusion

1. Introduction

     ในส่วนนี้ ผู้นำเสนอข้อมูลควร
     • กล่าวต้อนรับผู้ฟัง
     • แนะนำประเด็นที่จะนำเสนอ
     • บอก outline ของข้อมูลที่จะนำเสนอ
     • บอกนโยบายเกี่ยวกับการตั้งคำถามของผู้ฟัง (เช่น อนุญาตให้ถามแทรกได้ระหว่างการนำเสนอ หรือให้ถามตอน Q&A section)

2. Body of Presentation

     ส่วนนี้จะใช้เวลาประมาณ 80% ของการเวลาการนำเสนอข้อมูลทั้งหมด ผู้นำเสนอควรนำเสนออย่างไม่เร่งรีบ มีความกระตือรือล้นตลอดเวลา ให้เวลากับสื่อประกอบการนำเสนออย่างเพียงพอ มี eye contact ใช้น้ำเสียงอย่างเหมาะสมและดูเป็นมิตร ใช้ signpost เพื่อให้การนำเสนอมีความต่อเนื่องและรื่นไหล และสุภาพตลอดเวลาแม้จะต้องตอบคำถามที่ยาก

3. Conclusion

     ประกอบด้วย
     • การสรุปเนื้อหา
     • การขอบคุณบุคคลต่าง ๆ (หากจำเป็น)
     • การขอบคุณผู้ฟัง
     • การตอบคำถามจากผู้ฟัง

ข้อควรจำ
     • ในช่วงแรก ผู้ฟังจะประทับใจผู้นำเสนอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ การแต่งตัว สีหน้า ท่าทางการยืน และ eye contact ของผู้นำเสนอในช่วงประโยคแรก ๆ
     • ในช่วงแรก ผู้นำเสนอควรพูดช้า ๆ เพราะความตื่นเต้นจะทำให้พูดเร็วและรัว
     • ควรเริ่มนำเสนอข้อมูลด้วยการให้กำลังใจและรอยยิ้ม
     • หน้าที่ของผู้นำเสนอข้อมูลคือ การทำให้ข้อมูลนั้นเข้าใจง่ายขึ้น ดังนั้น ถ้าในระหว่างการนำเสนอเกิดความผิดพลาดที่ไม่ร้ายแรง ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวขอโทษ
     • ผู้นำเสนอมีหน้าที่ต้องเตรียมการนำเสนอให้ดีที่สุด หากผู้นำเสนอไม่มีเวลาเตรียมตัวที่ดีพอ ก็ไม่ควรขอโทษและแก้ตัวกับผู้ฟัง เพราะจะทำให้ผู้ฟังขาดความเชื่อถือในตัวผู้พูดและเนื้อหาที่จะพูด
     • ควรนำเสนอข้อมูลให้ตรงประเด็น ไม่ควรออกนอกประเด็นโดยไม่จำเป็น
     • หากเป็นการนำเสนอกลุ่มย่อย ควรอนุญาตให้ผู้ฟังถามคำถามได้ระหว่างที่ผู้พูดกำลังนำเสนอข้อมูล เพราะจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง และทำให้การนำเสนอข้อมูลเป็นไปอย่างชัดเจนและสามารถอธิบายข้อสงสัยได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที แต่หากเป็นการประชุมขนาดใหญ่ ผู้พูดอาจมีความจำเป็นต้องขอให้ผู้ฟังเก็บคำถามไว้จนถึงช่วง Q&A section
     • การเล่า joke บางครั้งก็เสี่ยงเนื่องด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม
     • ควรระบุเวลาโดยประมาณของการนำเสนอข้อมูลนั้นอย่างชัดแจ้งในช่วง introduction ผู้ฟังมักต้องการทราบว่า ตนเองจะต้องนั่งฟังเรื่องนี้นานเท่าใด
     • หากเป็นไปได้ ควรมีการแจก hand out หลังจากบรรยายเสร็จ และควรแจ้งให้ผู้ฟังทราบด้วยว่าจะมีการแจก มิเช่นนั้น ผู้ฟังมักจะตั้งใจจดเนื้อหาใน presentation มากกว่าฟังสิ่งที่ผู้พูดพูด

โสตทัศนูปกรณ์สำหรับการนำเสนอข้อมูล

     โสตทัศนูปกรณ์สำหรับการนำเสนอข้อมูลอาจเป็นได้ทั้ง
     • ตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้พูด เสื้อผ้า การแต่งตัว กิริยาท่าทาง เสียง และการแสดงออกทางสีหน้า
     • ภาพวาด
     • แผนที่
     • กราฟ
     • แผนภูมิ
     • รูปถ่าย
     • โปสเตอร์
     • วัตถุสิ่งของ
     • สื่อทางภาพและเสียง
     • Handout
     • ฟิล์ม เทป แผ่นซีดี

คำแนะนำสำหรับการใช้สื่อนำเสนอข้อมูล (Powerpoint)

     • เลือกใช้ให้เหมาะสม
     • มีการ backup ข้อมูลไว้ในรูปแผ่นใสหรือ handout
     • ทดสอบการใช้งานของสื่อก่อนการใช้งานจริง

การออกแบบสื่อนำเสนอข้อมูล (Powerpoint)

     • ใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่ อ่านได้ง่าย
     • ใช้ slide ง่าย ๆ หลาย ๆ แผ่น แทนที่จะใช้ slide ที่ซับซ้อนเพียงแผ่นเดียว
     • จัดเรียง slide ให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
     • ใช้ slide โดยวางแนวนอน (landscape mode)
     • อย่าทวนคำซ้ำไปมา
     • ใช้ bullet หน้าหัวข้อในแต่ละบรรทัด
     • ข้อความในแต่ละ bullet ไม่ควรยาวเกิน 15 คำ และในแต่ละ slide ไม่ควรมี bullet เกิน 7 อัน
     • ไม่ควรใช้ background สีฉูดฉาด ดูยุ่งเหยิง
     • ไม่ควรทำ slide ให้ดูแน่น อ่านลำบาก
     • ใช้เฉพาะ key words เท่านั้น
     • ใช้ตารางเมื่อจำเป็นต้องแสดงตัวเลขเท่านั้น และควรทำตารางให้อ่านง่าย โดยใส่เฉพาะข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้น
     • ไม่ควรใช้ภาพเคลื่อนไหวมากจนไป เพราะจะรำคาญสายตาและอาจเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ฟังได้ (ถ้าเป็นภาพเคลื่อนไหว ควรให้ปรากฏอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วหายไป)
     • ใช้สี แต่ไม่มากจนเกินไป
     • ตรวจสอบคำผิดและไวยกรณ์ให้ถูกต้อง
     • ไม่เน้นคำด้วยการขีดเส้นใต้ แต่ให้ใช้วิธีการทำเป็นตัวหนาหรือตัวเอียงแทน
     • ไม่เขียนคำโดยใช้เป็นอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้ง slide เพราะจะอ่านยาก แต่สามารถใช้การเน้นคำด้วยการใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทุกตัวเป็นคำ ๆ ได้
     • ต้องมั่นใจว่า สามารถใช้อุปกรณ์ประกอบการนำเสนอเป็น
     • ไม่แสดง slide จนกว่าจะมั่นใจว่าพร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลแล้ว
     • ไม่นำเสนอข้อมูลโดยการอ่านจาก powerpoint
     • ไม่ยืนบัง slide
     • วางเครื่องชี้ตำแหน่งต่าง ๆ ลงเมื่อไม่ใช้ เพราะจะเป็นการรบกวนสายตาผู้ฟัง
     • ไม่ควรหยุดอยู่ที่ slide ใด slide หนึ่งนานจนเกินไป
     • ไม่แจก handout ขณะกำลังบรรยาย

Body Language

     • Eye contact ควรมองตรง และมองผู้ฟังรอบห้อง ไม่จ้องมองเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
     • การแสดงออกทางสีหน้า ควรแสดงออกในทางบวก (เช่น ยิ้ม) เท่านั้น
     • ท่าทาง ควรใช้การเคลื่อนไหวของมือและแขนประกอบการนำเสนออย่างเหมาะสม ไม่ควรเอามือล้วงกระเป๋า (เพราะในบางวัฒนธรรม จะมองว่าเป็นการไม่สุภาพ) หรือเขย่าเหรียญในกระเป๋าเล่น ไม่ควรเอามือเล่นหรือม้วนผมไปมา สามารถถือปากกาหรือ pointer ในมือได้ แต่ต้องไม่เล่น (เพราะจะเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ฟัง)
     • การเคลื่อนไหว ไม่ควรยืนนิ่ง ควรมีการเคลื่อนไหวบ้างอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ก็ไม่ควรเคลื่อนไหวมากจนเกินไป เพราะผู้ฟังอาจสนใจในการเคลื่อนไหวมากกว่าเนื้อหาได้
     • บุคลิกภาพ ยืนตรงในท่าสบาย หลังตรง ควรกระจายแรงการยืนไปที่เท้าทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน ไม่ควรยืนติด podium หรือยืนพิงโต๊ะ

Conclusion

     อาจจบด้วย
     • Quotation
     • Poetry
     • Song
     • Picture/poster
     • Proverb
     • Expression
     • Mottle
     • Story
     • Rhetorical question
     • A call for action

การจบการนำเสนอ

     ควรประกอบด้วย
     • สัญญาณที่แสดงว่าจะจบ
     • สรุปเนื้อหาที่นำเสนอ
     • วิธีการติดต่อกับผู้นำเสนอ (อาจเป็นหมายเลขโทรศัพท์หรือ e-mail address โดยไม่ควรพูดออกมา เพียงแค่ใส่ไว้ใน slide หรือ handout แล้วแค่แจ้งว่ามีก็เพียงพอแล้ว)
     • การตอบคำถามจากผู้ฟัง
     • กล่าวขอบคุณผู้ฟัง (ไม่ควรกล่าวในเชิงว่า ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนเองจะเป็นประโยชน์กับผู้ฟังหรือไม่)

วิธีการรับมือกับคำถามจากผู้ฟัง

     • ต้องมี eye contact ตลอดเวลา และไม่มองแต่เพียงผู้ถามคำถามนั้นเท่านั้น แต่ให้มองผู้ฟังทุกคนด้วย (สัดส่วนประมาณ 20:80) เพราะคำตอบที่ผู้นำเสนอจะตอบ เป็นการตอบให้ผู้ฟังทุกคน
     • ไม่ปฎิเสธการตอบคำถามโดยตรง แต่ให้ใช้วาทศิลป์ในการหลีกเลี่ยงการตอบแทน
     • ไม่ขัดจังหวะการถามของผู้ถาม โดยเฉพาะในกรณีที่สถานการณ์ตึงเครียด แต่ในบางสถานการณ์ เช่น ผู้ฟังพูดว่า จะถามหลายคำถาม ให้รีบหยุด แล้วขอทีละคำถาม เพราะถ้าให้ถามทีเดียวทั้งหมด อาจจะลืมประเด็นในบางคำถามได้
     • คิดก่อนตอบ
     • กล่าวซ้ำ หรือทวนคำถามของผู้ฟัง เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติม (ในกรณีที่ไม่เข้าใจประเด็นคำถาม)
     • ตอบคำถาม หรือคำวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์

ข้อควรจำ

     • คำถามไม่สร้างสรรค์หรือลองเชิงมักมีน้อย คำถามส่วนใหญ่เป็นคำถามเพื่อขอคำอธิบายหรือข้อมูลเพิ่มเติม
     • คำถามเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้นำเสนอประสบความสำเร็จในการนำเสนอข้อมูล
     • คำถามระหว่างการนำเสนอข้อมูลเป็นสิ่งที่แสดง feedback จากผู้ฟังที่ดี ดังนั้น หากเป็นไปได้ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ฟังสามารถถามคำถามได้ระหว่างการนำเสนอข้อมูล
     • ผู้นำเสนอต้องไม่ต่อว่าหรือวิพากษ์วิจารณ์คำถามของผู้ฟัง

ยังไม่จบเลยนะครับเนี่ย ยาววววววววววววววววววววว...มากกกกกกกกกกกกกกกกกกก...มายยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยย จริง ๆ อย่าเพิ่งเบื่อกันไปก่อนนะครับ

(ว่าแต่...มันพอมีสาระบ้างมั้ยครับเนี่ย)

Panel Presentation

     ใน panel presentation จะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องดังนี้

     • Panel Leader เป็นผู้แนะนำ panel members การกล่าวนำและการนำเสนอข้อมูล และควบคุมเวลาการนำเสนอของ members แต่ละคน
     • Supporting Speakers เป็นสมาชิกใน panel presentation ที่นำเสนอข้อมูลในส่วนที่ตนได้รับมอบหมาย

Moderator

     มีหน้าที่ควบคุมการประชุมใน panel presentation ดังนั้นจึงมีความหมายใกล้เคียงกับ Panel Leader

คุณสมบัติของ Moderator ที่ดี

     • พูดชัดเจน
     • มีความมั่นใจในตัวเอง
     • มีความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ตัดสินข้อมูลใด ๆ แทนผู้ฟัง
     • คุ้นเคยกับเรื่องที่นำเสนอ
     • มีความอดทนและรับผิดชอบสูง
     • ตรงเวลา

Master of Ceremony (MC)

     เป็นผู้นำการประชุมหรือการสัมมนา มีหน้าที่ดำเนินการประชุมให้ไปอย่างราบรื่น ตรงเวลาตามโปรแกรมการประชุม

บทบาทหน้าที่ของ MC

     ก่อนการประชุม
          • เตรียมตัวและศึกษาโปรแกรมการประชุมอย่างละเอียด
          • ถ้าเป็นไปได้ ให้ติดต่อพูดคุยกับผู้พูดแต่ละคนเพื่อซักซ้อมความเข้าใจก่อน ณ งานประชุม
          • มาถึงสถานที่จัดงานก่อนเวลาการประชุม
          • ซักซ้อมความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเป็นครั้งสุดท้าย 
          • ศึกษาโปรแกรมการประชุมให้เข้าใจอย่างละเอียด
          • เริ่มการประชุมตรงเวลา

     ระหว่างการประชุม
          • แนะนำผู้พูดแต่ละคน
          • เป็นผู้นำการปรบมือ และปรบมือต่อเนื่องจนกระทั่งผู้พูดถึง podium
          • เป็นผู้รักษาเวลาการพูดและการประชุม
          • เมื่อผู้พูดพูดจบ เป็นผู้นำการปรบมือ และปรบมือต่อเนื่องจนกระทั่งผู้พูดถึงที่นั่ง
          • กล่าวขอบคุณผู้พูด

     หลังการประชุม
          • กล่าวปิดการประชุม
          • กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

     และแล้วก็มาถึงวันที่ 27 ที่ผู้เข้าอบรมแต่ละท่านจะต้องขึ้นเขียงให้ อ. และ commentator อีก 2 ท่านชำแระ (ว่าไปนู่น) ไม่ใช่หรอกครับ จริง ๆ ก็เป็น workshop ที่ให้ผู้เข้าอบรมได้งัดกระบวนยุทธ์ ลีลา ท่าทาง และการไหลลื่นอย่างปลาไหลมาใช้ในการนำเสนอข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษจริง มีเวลาคนละ 20 นาที โดยให้ present ประมาณ 12-15 นาที ที่เหลือเป็น Q&A section และการให้คำแนะนำจาก อ.ทั้งสามท่าน ในช่วงเช้าของวันนั้นจะเห็นอาการอิดโรยของผู้เข้าอบรมอย่างเห็นได้ชัด (หรือเป็นที่ผมคนเดียว อันนี้ก็มิอาจทราบได้) แต่ละคนต่างซุ่มซ้อมกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ตาโบ๋กันเป็นแถบ (บางคนถึงขั้นท่อง script ภาษาอังกฤษกันมาเลยทีเดียว ไม่รู้จำกันได้ยังไง)

     ผมได้ถูก (ยัดเยียด เพราะลงเป็นคนสุดท้าย) ให้พูดเป็นคนที่ 7 ในช่วงก่อนหน้านั้น ผมแทบไม่ได้ฟังเรื่องของชาวบ้านเลย เอาแต่จ้อง ๆ ๆ และจ้อง บวกกับพยายามจำ outline ของเรื่องที่ตัวเองจะพูดตลอด เลยไม่ค่อยได้ถามผู้นำเสนอแต่ละท่านในช่อง Q&A เลย เมื่อลำดับคิวที่ 7 มาถึง (ตอน 11.30 น.) ผมก็เดินขาสั่น หูตูบ น้ำลายไหลย้อยขึ้นไปบนเวที และเริ่มนำเสนอข้อมูลเรื่อง "Paragraph Writing Technique" ด้วยอาการเบลอ ๆ เอ๋อ ๆ ไอ้ที่พยายามต้มข้อมูลและกลืนกินมาหายไปในพริบตา เลยต้องพูดแบบ no script นึกอะไรได้ก็พูด ๆ ไป พูด ๆ ไปซักพัก พี่ผู้จัดยกป้าย "2 minutes left" อ้าว! ตายละซิ ยังเหลือเนื้อหาอีกเพียบ ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าพูดอะไรไปเนี่ย ไม่ได้ ๆ ต้องรีบซะแล้ว หลังจากนั้นผมเริ่มเพิ่ม speed การพูดขึ้นตามอัตราการเต้นของหัวใจ (อันนี้อาจจะเวอร์ไปซักหน่อย) แต่สุดท้ายก็ยังจบ late ไปนิดหน่อยอยู่ดี (ว้า....แย่จัง)

     โดยรวม ก็ถือว่าผ่านไปได้ด้วยดีครับ เป็นการขึ้นเขียงที่เสียเลือดน้อยอยู่ครับ 555

 

PS. ยังเสียดายอยู่ครับเลยว่า ผมน่าจะ present เรื่อง "ภัตตาคารอาหารขึ้นชื่อตามโรงแรมต่าง ๆ" แล้วเอารูปอาหารที่น่ากินมาโชว์ ยิ่งใกล้ ๆ เที่ยงอยู่ด้วย เอาให้น้ำลายไหล ท้องร้องกันไปเลยก็น่าจะดี (จริง ๆ คิดไว้แล้วด้วยครับว่าจะ present เรื่องนี้ แต่ไม่รู้มีเส้นผมของผู้ใดมาบังความคิดนี้เข้า จึงเป็นอันตกไป)

  • เอาแบบนั้นเชียวหรือคะ
  • "ผมก็เดินขาสั่น หูตูบ น้ำลายไหลย้อย ขึ้นไปบนเวที"
  • แต่ก็สรุปว่า ประสบผลสำเร็จ ใช่ไหมคะเนี่ยะ ... มีครั้งแรก ก็ต้องมีครั้งที่ 2 ละนะ คิดว่า ประสบการณ์เพียบ
  • ครั้งหน้า เอาเวทีจริงเลยนะคะ
  • เชียร์ เชียร์ จากใจจริง และจริงใจค่ะ

บทบาทหน้าที่ของบุคลากรในการผลิตละครโทรทัศน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท