ประสบการณ์ใช้เครื่องดำนาครั้งแรกในชีวิต


           ได้ฤกษ์ลงเครื่องดำนา ๑๓-๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  หลังจากเพาะกล้าไว้  กล้าอายุได้ ๘ วัน น้ำท่วมใหญ่ พายุดีเปรสชั่นถล่ม น้ำท่วม ถาดกล้าลอยน้ำหายไปร่วม ๗๐ ถาด  เก็บถาดคืนมาได้ประมาณ ๓๐ ถาด  กล้าเหลืออยู่ประมาณ ๑๓๐ ถาด  ในจำนวนนี้มีถาดกล้าที่ไม่สมบูรณ์อยู่ประมาณ ๓๐ ถาด  เนื่องจากน้ำท่วม ต้นกล้างอกไม่สม่ำเสมอ  แต่ก็ฝืนดำไป เพราะว่ารอไม่ได้แล้ว  เดี๋ยวจะหมดฤดูทำนาเพราะทางเข้าออกไม่สะดวก  ดูสภาพถาดกล้าที่เหลือจากวิดีโอนะครับ

           อ้อ !  ลืมบอก  นาที่พูดถึงนี่ไม่ใช่ทรัพย์สินของผมหรอกครับ เป็นที่นาร้างของชาวบ้าน(ลุงผิน-อายุ 80 ปีเศษ) แกทำเองไม่ไหว  ลูกหลานไปอยู่ต่างจังหวัดหมด  เห็นร้างอยู่เป็นสิบๆ ปี เลยขอทำ  ข้างๆ มีที่ว่างอีกหลายเจ้า  จะค่อยๆ ทำวิธีเดียวกันครับ

            เช้าวันเสาร์ ๑๓ พ.ย. ๕๓  ตื่นแต่ตี ๔  เอาเครื่องดำนาออกจากบ้านสู่ทุ่ง ระยะทางประมาณ ๑ ก.ม.  ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ช.ม.  ถึงที่นาก็สว่างพอดี  ระหว่างการเดินทาง พบปัญหาเล็กน้อยเพราะรถดำนาขึ้นคันนาไม่ไหว  ดับตั้ง ๓ ครั้ง  พึ่งมารู้ทีหลังว่าเราใช้เกียร์ผิดเอง  เพราะเราใช้เกียร์เดินทาง เดินเร็ว แต่อัตราทดน้อย รถเลยปีนคันนาไม่ไหว

            ไปถึงที่จัดแจงลงเทือกเลย ที่อยากรู้คือจะดูว่าเครื่องลากตัวเองไหวไหม? หรือว่าต้องออกแรงช่วย  โอ้ ! ไม่ต้องเลย  แรงรถเหลือเฟือ  ทดลองดำดูประมาณ ๑ งาน  ท่าทางจะไม่ไหว เพราะเทือกแข็งไปหน่อย  ไถดะ แปรไว้เมื่อประมาณ ๑ เดือนที่แล้ว  หญ้าเริ่มงอกเขียวพอประมาณแล้ว  ถ้ารอให้ต้นข้าวโต มีหวังหญ้าแซงหน้า  ตัดสินใจพักเครืองดำนาไว้แค่นั้น  เดินลัดทุ่งกลับบ้านกินข้าวกินปลาก่อน  แล้วเอาแทรคเตอร์พร้อมจอบหมุนออกไปอีกรอบ  ทางที่ผ่าน  เจ้าของบ้านที่ผ่านทางเขากั้นรั้วชั่วคราวแล้วเพื่อกันวัวออก  ทุกๆ ปีเราจะเกรงใจไม่กล้าผ่าน  ปีนี้ทำไม่รู้ไม่ชี้ รื้อวัสดุกั้นทางชั่วคราวออก แล้วเอาแทรคเตอร์ผ่านไป  ลงจอบหมุนประมาณ ๓ ชั่วโมง เสร็จประมาณ ๒ ไร่เศษ

             ทดลองดำทั้งที่เทือกใหม่ๆ  พบว่าไม่ค่อยจะดี ดินเหลวไปหน่อย ต้นกล้าปักไม่ติดดิน  พอเครื่องดำนาผ่าน น้ำเป็นคลื่นต้นกล้าลอยซะนี่  ตัดสินใจค่อยว่ากันใหม่วันรุ่งขึ้น(อาทิตย์)  ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาเรื่องระดับน้ำสูงประมาณ ๑๐ นิ้วฟุตด้วย

              ไปเจรจากับนายแป๊ะ ขอซื้อเครื่องสูบน้ำที่นายแป๊ะดัดแปลงจากเครื่องเรือหางยาวเก่า เป็นปั้มน้ำแบบหางจุ่มขนาด ๒ นิ้ว  นายแป๊ะยอมขายให้แต่ยังไม่บอกราคา  เช้าวันอาทิตย์  ในขณะที่ชาวบ้านเขาหยุดงานนากันหมด เพราะมีงานทอดกฐินที่วัดโรงวาส วัดประจำหมู่บ้าน  เราต้องดำนาให้เสร็จเสาร์-อาทิตย์นี้  เพราะวันจันทร์ติดประชุมหาดใหญ่ วันอังคาร ๑๖ พ.ย. ๕๓ หยุดรายอฮัจยี (ตรุษอีดิลอัจฮา ของมุสลิม) พุธ ๑๗- ศุกร์ ๑๙ พ.ย. ๕๓ ไปประชุมภูเก็ต  จะต้องเสร็จให้ได้

               จัดแจงสูบน้ำออก  ใช้เวลาประมาณ ๒ ช.ม. น้ำก็แห้ง จึงลงเครื่องดำนา  ดีขึ้นกว่าการดำขณะน้ำมาก  ดำง่ายกว่าตอนทำเทือกใหม่ๆ  เห็นเขาบอกว่าถ้าจะให้ดีต้องทิ้งให้เทือกตกตะกอน ๓ วัน  แต่ผมรอไม่ได้แล้ว  ต้องให้เสร็จ  ต้นกล้าอายุครบ ๒๐ วันในวันอาทิตย์ ๑๔ พ.ย. ถ้าเลยกว่านี้ก็จะเกินอายุที่เขาแนะนำ เห็นว่ารากกล้าจะเหนียวเกินไป

              ช่วงเช้าดำนาเสร็จไปประมาณ๖๐ % กลับไปกินข้าวกลางวัน  รีบมาทำงานต่อ พอเดินกลับถึงนาฝนทำท่าจะตก มีฟ้าร้องฟ้าผ่า  ชักปอด กลับดีกว่า  ไปนั่งโม้อยู่บ้านพี่สาวประมาณชั่วโมงเศษ  ฟ้าเงียบจึงออกไปลุยต่ออีก ๔๐% เสร็จประมาณเกือบทุ่มแน่ะ  มืดแล้วขับแทรคเตอร์กลับบ้าน  กินข้าวกินปลาแล้ว 3 ทุ่ม จึงเดินลัดทุ่งไปเอาเครื่องดำนากลับบ้านอีกรอบ กลับถึงบ้าน 4 ทุ่มพอดี  ต้องล้างขี้โคลนตอนเช้าก่อนไปทำงาน

             ระหว่างเดินตามรถดำนา  ได้ประสบการณ์วิธีเดินตามไม่ให้เหยียบต้นข้าวกล้าที่เครื่องปักดำไว้  คือให้เดินแถวที่ติดกับแถวที่ดำไปแล้วเพื่อประโยชน์ในการเล็งรถดำนาให้เดินตรง  เพราะการไม่ควบคุมทิศทางรถให้ดี  ทำให้ดำยาก  การบีบเบรคเพื่อหมุน/เลี้ยวรถ ทำให้สกีกวาดเทือกทำให้ต้นกล้าเสียหาย   ขณะเดินตาม เพื่อกันเหยียบต้นกล้า ให้ใช้เท้าแตะที่ปลายสกีของเครื่องดำ เพราะตำแหน่งทางเดินของสกี เป็นตำแหน่งระหว่างแถว ทำให้ไม่เหยียบต้นกล้า

             การเลี้ยวประมาณ ๙๐ องศา สามารถดำต่อเนื่องได้ แต่หากจะยูเทอร์น ต้องปลดเกียร์ก่อน เข้าเกียร์ยกรถขึ้น(รถดำนามีลิฟท์ยกตัวเองหนีเทือกได้) แล้วค่อยเลี้ยว  เมื่อเข้าที่แล้วจึงลงลิฟท์+เข้าเกียร์ทำงานปักดำต่อ ถึงตอนนี้เพิ่งรู้ว่าเกียร์ทำงานเป็นเกียร์ที่ต่ำกว่าเกียร์เดินทาง รถช้ากว่าแต่แรงดีกว่า

            คืนนั้นหลับเป็นตายเลย

หมายเลขบันทึก: 408721เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2010 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

 

ทำนาดำเสร็จแล้ว ยินดีด้วยครับ ต่อไปก็เป็นการดูแลเรื่องหญ้า (ใช้แรงงานคน /เป็ด/เครืองมือกล) และการจัดการน้ำในเเปลงนา ถ้าเป็นไปได้ ก็ น้ำ 3 วัน เเห้ง 7 วัน ช่วงที่ข้าวกำลังแตกกอ ครับ เพื่อให้ระบบรากข้าวทำงานได้อย่างเต็มที่ ประหยัดปุ๋ยด้วยครับ  

หรือผสมผสานด้วยการเลี้ยงเป็ดในนาข้าว เพื่อช่วยกำจัดเเมลง พรวนดินในร่องนาดำ

แถมยังได้ขี้เป็ด+ไข่เป็ด ด้วยครับ 

 

 

 

 

ขอบคุณครับ ผมกำลังลุ้นว่าอย่าให้น้ำท่วม(รอบ2) ครับ ปัญหาของนาผมตอนนี้คือระดับนาที่ไม่เสมอ มีมุมหนึ่งที่ต่ำสุดน้ำท่วมเต็มทั้งแปลง แต่มุมนี้จะลึกกว่าประมาณ 20 ซ.ม. ครับ ปีหน้าค่อยปรับอีกครับ

วันเสาร์ ที่ 20 พ.ย. 53 เวลา 8.00-12.00 ไปซ่อมข้าวในนาได้ 7 ถาด ยังไม่เต็มเลย จะต้องทะยอยซ่อมต่อไปอีก ที่ต้องซ่อมเยอะเนื่องจากถาดกล้าไม่เต็ม เพราะน้ำท่วม และอีกอย่างที่สำคัญเลยเพราะพึ่งหัดดำด้วยเครื่องดำนา บางจุดเกิดจากการที่เราไม่ชำนาญในการควบคุมเครื่อง ต่อไปคงชำนาญไปเองแหละ

ตอบคำถาม:

Q:อยากทราบว่า พื้นที่ 1 ไร่ เลี้ยงเป็ดได้กี่ตัวครับ ลดต้นทุนค่าอาหารเป็ดได้กี่เปอร์เซ็นต์ครับ ถ้าในนามีงูเห่าเยอะ งูเห่าจะกินเป็ด ???

A:ใช้ประมาณไร่ละ 20 ตัวครับ ไม่มีสูตรตายตัวครับ ลองจากน้อยๆ ก่อน แต่ต้องเป็น เป็ดเด็ก อายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก่อนปล่อยลงนา ก็ปล่อยให้ เป็ดอดอาหาร หนึ่งวัน (แกล้งเป็ด) พอลงนา เป็ดก็จะ หิวโซ ก็จะกิน หอย กินเเมลง กินหญ้า ช่วยพรวนดิน แล้วก็ได้ขี้เป็ดเป็นปุ๋ย การเลี้ยงก็ไล่วนไปแต่ละเเปลง มีคอกไว้ขังตอนกลางคืนด้วยครับ  

ลงทุนเพิ่มด้วยตาข่าย รอบเเปลงนาครับ ไล่ไปที่ละเเปลง  

 

สำหรับงูเห่า .......มีความเป็นไปได้ ที่จะกินเป็ดตอนหลับ-ตอนกลางคืน  

ตอนกลางวัน

เป็ดอยู่เป็นหมู่ ใช้เสียงเป็นสัญญาณบอกให้เพื่อนๆได้รับรู้อ้นตรายได้ครับ  

เอาเป็ดขึ้นจากนา ช่วงข้าวตั้งท้องครับ จะลงอีกทีก็หลังเก็บเกี่ยวครับ

 

ต้องทดลองดูก่อนครับ  ได้ผลอย่างไรมา share กันครับ  

สวัสดีครับคุณชนันท์ นานเหมือนกันที่ไม่ได้ทักทายครับ

นี่แหละสิ่งที่เกษตรกรเกรงกลัวและควบคุมไม่ได้ก็คือ ธรรมชาติ นี้ฝนตกน้ำท่วม มาอีกแล้วภัยแล้งและจะแล้งมากด้วย

ผมเคยไปดำน้ำ(ไม่ใช่ควายทะเลน้อยนะครับ)ไปเก็บถาดที่จม และดำนาที่พัทลุงมาแล้ว ผมพอรู้ว่าฤทธิ์มันเป็นอย่างไร

แต่เชื่ออย่างคือข้าวที่ดำไปแล้วประมาณ 1 เดือนท่วมพอยอดพ้นน้ำ 1 คืบมันทนทานได้ 10~15 วัน แต่ผลผลิตก็จะตกบ้าง

เป็นกำลังใจให้ก้าวผ่านแบบลุ้นๆ นั่งฟังเพลงศรัทธาของหินเหล็กไฟ และผู้ชนะของเสก โลโซ แล้วอะไรๆก็ทำให้ใจมันยังสู้

23 พ.ย. 53

      วันนี้ตื่นแต่ตี 5 แบกจอบเอามอเตอร์ไซค์ออก ไปทุ่งครับ มีกล้าเหลืออีกประมาณ 15 ถาด กับที่ดำแนาแหว่งๆ ไว้ เพราะถาดกล้าไม่เต็ม+คนดำมือใหม่ จัดแจงออกแรงซ่อมต้นกล้าที่ไม่เต็ม ตั้งใจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์นี้ซ่อมให้เต็ม ใชเวลาที่ทุ่งประมาณ 1 ชั่วโมง ครึ่ง พรุ่งนี้ค่อยมาต่อ

       ต้นกล้าเริ่มโตขึ้นมาแล้ว  แตกยอดงามเชียว  วันนี้เริ่มปิดยกระดับน้ำขึ้นประมาณ 10 ซ.ม.

      เมื่อ 23 พ.ย. 53 แกล้งขังน้ำให้ท่วมยอดข้าวนิดหน่อย เพื่อดูปฏิกริยาของต้นข้าว ตามคำแนะนำของ"คุณต้นกล้า" เพื่อให้ข้าวออกยอดแผ่ใบ ยืดลำต้นหนีน้ำ ได้ผลครับ ต้นข้าวโตไวกว่าปกติ แล้ววันนี้ผมก็ลดน้ำลงเพื่อซ่อมข้าวที่ขาดหายไปจากการดำด้วยเครื่องที่ไม่เต็ม

      23- 24-25 พ.ย ออกทำนาวันละ90 นาที ทุกวันต่อเนื่อง ได้งานเยอะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท