ชีวิตจิตอาสา (๒) : ความไว้วางใจ


"การสร้างความมั่นใจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความไว้วางใจ ภาษา ท่าที สีหน้า ที่เราแสดงออกไปนั้นสำคัญที่สุด .."

สมัยเด็กๆ เคยเล่นตุ๊กตาล้มลุกกันไหม ในช่วงวัยนั้นเราคงเล่นเพียงเพราะความสนุกสนานมิได้รู้ความหมาย หรืออีกนัยนึงว่าเพิ่งจะค้นหาความหมายที่ลึกซึ้งให้ได้ออกมาจากตัวกิจกรรม ในทุกกิจกรรมต้องมีเหตุและผลของมัน ..

เมื่อหลายปีก่อนได้เข้าร่วมโครงการบัณฑิตอาสาสมัครเพื่อป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ในกรุงเทพมหานคร (โครงการ บอก.) ของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ช่วยสร้างสมบ่มเพาะจิตวิญญานให้กลายเป็นคนจิตอาสา ชีวิตจิตอาสา (๑) [คลิ๊ก] ได้ทำงานใช้ชีวิตคลุกคลีกับผู้คนมากมาย ทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้ง GO และ NGO ที่สำคัญได้ใช้ชีวิตคลุกคลีจริงๆ จนได้รับความไว้วางใจจากผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ..

การได้รับความไว้วางใจจากใครสักคนที่น่าจะอึดอัดใจกับการให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ความลับ หรือเรื่องราวที่ไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับบุคคลที่ยังมีข้อจำกัดบางอย่างเช่นผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ..

กิจกรรมบางกิจกรรมในโครงการฯ ที่ทำให้เราต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียกว่า ความไว้วางใจ เช่น กิจกรรม ตุ๊กตาล้มลุก ที่ใช้ตัวบุคคลเล่น ไม่ใช่เพียงแค่ตุ๊กตาพลาสติกที่ล้มไปล้มมาเมื่อเราไปตีมัน ..

กำหนดให้ ๓ คนเป็น ๑ กลุ่ม คนนึงต้องเล่นเป็นตุ๊กตา อีก ๒ คนจะต้องรองรับตัวเพื่อนที่เป็นตุ๊กตาทั้งทางด้านซ้าย และด้านขวา ยืนห่างพอประมาณ อยู่ที่ข้อตกลงของกลุ่มว่าใครจะเป็นตุ๊กตา ใครจะเป็นคนรองรับ จะยืนห่างแค่ไหน จะทำท่า(ยืน)อย่างไรที่จะรับตุ๊กตาไม่ให้ล้ม ..

ตุ๊กตาก็เปรียบเสมือนผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี การก้าวออกสู่สังคมที่ยังคงแสดงความรังเกียจ ทำให้ชีวิตอาจจะต้องเผชิญกับอะไรมากมาย ที่ต้องมีล้ม มีลุกบ้าง (ก็เหมือนชีวิตเราๆ) แต่เมื่อก้าวออกมาแล้วประสบปัญหา ใครหล่ะที่จะเข้ามาช่วยเหลือเป็นที่พักพิงด้านจิตใจให้กับเค้าได้บ้าง ..

ผู้รองรับประคับประคองตุ๊กตา จะแสดงท่าทีอย่างไรให้ตุ๊กตามั่นใจว่าเราจะสามารถรับน้ำหนักที่เค้าจะต้องทุ่มทั้งตัวมาที่เราอย่างที่ไม่ทำให้ตุ๊กตาล้มลงไปหรือไม่ก็ล้มไปด้วยกันทั้งคู่ การสร้างความมั่นใจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความไว้วางใจ ภาษา ท่าที สีหน้า ที่เราแสดงออกไปนั้นสำคัญที่สุด ..

สำคัญ สำคัญสำหรับบุคคลที่ทำหน้าที่ Cousellor หรือ Care Taker แต่ความไว้วางใจคงไม่ได้จำกัดอยู่ในวงการให้คำปรึกษาอย่างมีรูปแบบเท่านั้น การพูดคุยกันระหว่าง พ่อ-แม่-ลูก, พี่-น้อง, ครู-ศิษย์, เพื่อน-เพื่อน ฯลฯ เรื่องบางเรื่องเราก็ไม่สามารถที่จะเล่าสู่กันฟังให้กับทุกคนได้ เราก็คงอยากเลือกบางเรื่องเพื่อที่จะเล่าให้กับเพื่อนคนนี้ฟัง เล่าเรื่องนั้นกับพี่คนนี้ ..

เรื่องเล่าสู่กันฟังในเวที km ผู้ที่ทำหน้าที่ fa ก็คงต้องมีทักษะนี้ไว้ใช้บ้าง มิฉะนั้นคงจะถอดบทเรียนลึกๆ จริงๆ จากเวทีได้ไม่สุดใจ ..

คนจิตอาสา เช่น พี่น้อง อสม. เท่าที่สังเกตจะมีทักษะ ท่าทีเป็นผู้ประสาน ประณีประนอม ช่วยเหลือ รับฟังคนอื่นมากเป็นพิเศษ ..

คนจิตอาสา บางครั้งอาจเผชิญปัญหาเสียเองกลายเป็นตุ๊กตาที่ต้องการผู้ประคับประคองได้เหมือนกัน .. ให้เค้าบ้าง รับมาบ้าง (Give & Take) คนเราอาจมีโอกาสเอียงๆ แบบตุ๊กตาล้มลุก แต่ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วหล่ะ ว่า ล้ม แล้ว ลุก ..

 

หมายเลขบันทึก: 387043เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2010 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านณัฐพัชร์

   แวะมาทักทายและเรียนรู้ด้วยคนนะคะ ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณคุณยาย : ขอบคุณค่ะที่แวะเข้ามาร่วมเรียนรู้กัน แล้วแวะมาอีกนะคะ =)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท