เครือข่าย KM ลดเสี่ยง NCD (7) : OM Workshop - 3


ตอน 2

วิทยากรเริ่มต้นเช้าวันที่สามของ ws (3 เมย.52) ด้วยการชวนผู้เข้าร่วมทุกคนล้อมวงเล่นเกมส์เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนให้แยกย้ายกันเข้ากลุ่มเพื่อเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ ขั้นตอนที่ 7 คือ การเขียนแนวปฏิบัติขององค์กร (Organizational Practices) โจทย์ที่ต้องทำในขั้นตอนนี้ คือ โครงการของเรามีแนวทาง / การปฏิบัติอะไรที่จะทำให้ Strategy ที่วางไว้นั้นสามารถดำเนินไปได้ เมื่อเสร็จแล้วจึงให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมานำเสนอแผนภาพรวมทั้งหมดที่ได้ร่วมกันเขียนขึ้น

   

     

     

ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ คือ ขั้นตอนที่ 8 การออกแบบการติดตามประเมินผล (Monitoring & Evaluation) ที่วิทยากรทุกท่านย้ำเสมอๆ ว่า M&E ในแบบของ OM นั้น เป็นการติดตามประเมินที่เน้นเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนา เป็นการประเมินแบบที่เสริมแรง เสริมกำลังใจให้คนทำงาน ไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสินหรือเพื่อส่งรายงานเท่านั้น

วิทยากรให้แต่ละกลุ่มร่วมกันออกแบบวิธีการประเมินที่คิดว่าเหมาะสมได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบหรือวิธีการประเมินแบบเดิมๆ ที่เคยทำ จากนั้นให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมานำเสนอ

   



กิจกรรมสุดท้ายของ ws คือ After Action Review หรือ AAR ผู้เขียนได้รวบรวมบางส่วนของเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วม ws มานำเสนอดังนี้ 

  • คาดหวังว่าจะได้เครื่องมือกลับไปทำงาน เข้ามาก็ได้เครื่องมือใหม่ๆ จริงๆ จะนำเครื่องนี้ไปแนะนำให้กับองค์กรในชุมชนได้รู้เกี่ยวกับเรื่องการทำ OM บ้าง เพื่อจะได้สร้างภาคีเครือข่ายให้เยอะขึ้น ได้เรียนรู้ว่าเทคนิคการทำ OM นี้ ไม่ใช่ทำอยู่คนเดียว ต้องทำแบบมีส่วนร่วม และจะต้องมีน้ำใจต่อกันด้วย เพราะว่าบางทีความเห็นบางอย่างมันขัดแย้งได้ แต่เราต้องยอมรับของส่วนรวม
  • จากเดิมที่ตั้งความหวังคือ จะมาเรียนรู้กระบวนการและก็การนำไปใช้ สิ่งที่ได้เกินคือได้รู้จักเพื่อนร่วมทีมมากขึ้น สัมพันธภาพที่เคยห่างๆ ก็ดูจะใกล้ชิดกันมากขึ้น เกินคาดจริงๆ ที่จะต้องกลับไปทำคือ คงต้องไปทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น ที่สำคัญคือต้องไปทบทวนตัวเองด้วย เพราะว่าตัวเองเขียนไว้ว่า ต้องตั้งใจ รู้สึกว่า 3 วันนี้ตัวเองไม่ตั้งใจหลายที ก็คงต้องไปทบทวนตัวเองเหมือนกัน
  • คิดว่ากระบวนการของ OM ทำให้ค่อยๆ ตะล่อมความคิด คือสมมติตัวเองว่าต้องถอดหมวกของตัวเองออกไปเลย แล้วมองในภาพว่าถ้าเป็นคนที่ต้องคิดในเรื่องนี้ทั้งหมดจะต้องมองจุดไหน อะไรบ้าง คือได้แค่คิดนะคะ แต่ไม่ได้รับประกันว่าตัวเองทำได้แล้ว แต่รู้ว่ามันต้องคิดแบบเป็นคนอื่น มันต้องคิดแบบให้คนอื่นทำด้วย ไม่ใช่เราทำคนเดียวแล้วพุ่งไปที่เป้าของตัวเองคนเดียว
  • ก็คิดว่าน่าจะได้แนวทาง OM ไปปรับใช้เรื่องทำแผนงาน/โครงการ เนื่องจากว่างานโรคเรื้อรังมันเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน แล้วเดิมๆ เราก็ทำแผนงาน/โครงการเฉพาะบทบาทหน้าที่เรา คือคิดถึงเขา แต่มันยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงประสานงานกัน ตรงนี้ก็คิดว่าในอนาคตเราน่าจะได้แนวร่วมที่จะมาทำงานร่วมกัน แล้วก็จะเอาแนวคิดของ OM ไปเสนอในทีมที่จะมาร่วมดำเนินการกับเราในการทำแผนงาน/โครงการร่วมต่อไป
  • ก็ได้รู้จักเครื่องมือหลายๆ อย่าง แต่ว่าเวลาจะนำไปใช้ก็ต้องเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ เหมือนกับเรารู้จัก ฆ้อน แต่เวลาใช้มันทีไรเจ็บทุกทีเลย ก็คือ ตอกตะปูทีไรก็โดนเล็บทุกที เพราะฉะนั้นก็คงต้องขอเวลาศึกษาเรื่อง OM อีกซักนิด ก่อนจะนำไปประยุกต์ใช้

      
  • ที่มานี่ก็ยังไม่เคยรู้จัก OM ก็คิดเหมือนกันว่ามันต่างกับ Strategy Map อย่างไร ได้มาก็ทำให้รู้จัก OM แล้วก็คิดว่ามีประโยชน์มากเลย เพราะว่างาน NCD เราไม่ได้ทำงานคนเดียว เราต้องทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายมากมายเลย ก็จะนำเทคนิคนี้ไปปรับใช้กับแผนงาน/โครงการที่เราเคยทำเดิมๆ ไว้แล้ว ก็จะเอาเทคนิคนี้ไปปรับใช้แล้วก็พัฒนาให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในการดำเนินงานกับพื้นที่
  • รู้สึกว่าเกินความคาดหวัง เพราะว่าอาจจะได้เห็น OM มาบ้าง แต่ว่าไม่ได้ลงลึก แล้วก็ไม่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้อย่างจริงจัง ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาพอเห็นอาจารย์เปรียบเทียบระหว่าง OM กับการทำแผนในรูปแบบเดิม เราก็เลยเข้าใจพื้นฐาน OM ระดับหนึ่ง แล้วยิ่งได้มีเวลาฝึกลงมือทำมากขึ้น ก็เข้าใจขั้นตอนของ OM ในแต่ละขั้นได้ในระดับหนึ่ง คงยังไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็ดีใจมากเลยเพราะว่าในภารกิจที่ทำอยู่ต้องทำงานกับเครือข่าย ก็ยังไม่ได้คิดจัดระบบ เลยได้แล้วว่า OM จะทำให้เรากลับไปทำงานกับเครือข่ายได้อย่างเป็นระบบ
  • สิ่งที่ได้คือ อย่างน้อยมันเป็นลักษณะการเขียนแผนที่ใกล้เคียงกับการทำโครงร่างการวิจัยมากเลย คือตรงนี้มันเป็นผลดี หมายถึงว่าโครงการอะไรก็ตามที่เราทำหยาบเราจะทุกข์เยอะ ถ้าเราวางแผนให้ละเอียดเราจะทุกข์น้อยลง อันนี้เป็นจริงเพราะประสบมาเอง คือมันต้องไปคิดอะไรอีกเยอะ แต่ถ้าเราคิดไว้เยอะมันจะลดความทุกข์ได้ ก็คิดว่าถ้าปีหน้าทางสำนักโรคไม่ติดต่อจะให้เขียนโครงการในลักษณะนี้ก็จะดี แต่ถ้ายังไม่ถึงลักษณะนั้นก็คิดว่าจะทำเป็นโครงการคู่ขนานกับงานชุมชนลดเสี่ยงไปก่อนไม่งั้นเดี๋ยวเราจะลืม
  • พอดีได้มีโอกาสทำงานกับ สสส. เขาบอกว่าเรื่องของ OM สำคัญมาก น่าสนใจ มีความชัดเจน แล้วก็ให้พยายามศึกษา พอเห็นก็รีบมาเลย แล้วก็เกินความคาดหวังมาก ต้องขอขอบคุณทางอาจารย์ที่พาฝึกทำตั้งแต่กระบวนการแรก ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญซึ่งเราสามารถนำประสบการณ์ครั้งนี้ไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย พอดีทาง สคร. 5 ทำเรื่องลดเสี่ยงอยู่ 10 ชุมชน ก็จะนำเทคนิคนี้ไปใช้ในกระบวนการทั้งหมด อีกภารกิจหนึ่งก็คือต้องการไปขยายต่อในองค์กรของเรา
  • สำหรับตัวเองไม่ได้มาด้วยความคาดหวังอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าจุดหนึ่งที่มาก็คือ ในกำหนดการรู้สึกเบาหวิวมาก รู้สึกว่าเราคงได้มาพักผ่อนกายใจ เพื่อที่จะได้กลับไปให้เกิดแรงบันดาลใจต่อ คิดแค่นั้นนะ ไม่ได้คิดอย่างอื่นเลย พอได้เข้าร่วมกระบวนการตัวเองพบอย่างหนึ่งที่เกินคาดคือ เสน่ห์ของการประชุมแบบนี้ คือทำให้รู้สึกว่าศรัทธาในเรื่องของกระบวนการกลุ่ม อีกอย่างหนึ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ก็คือว่าทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ได้แบ่งพรรคแบ่งพวกว่าที่มาของพวกเราเป็นใคร แต่ว่าเรามีจุดหมายปลายทางไปด้วยกัน ...ซึ่งรู้สึกว่าเวลาเรากลับไปที่หน่วยงานเรา บรรยากาศแบบนี้เรามักจะไม่ค่อยเจอ พอออกนอกห้องประชุมมันจะเป็นอีกเรื่อง เพราะฉะนั้นก็คิดว่าจะจดจำในสิ่งเหล่านี้ ประการที่สองที่คิดว่าได้ประโยชน์ก็คือว่า นอกเหนือจากทีมวิทยากรที่ต้องบอกว่าน่ารักมาก ส่วนหนึ่งคือเราได้จากเพื่อนของเราด้วยเพราะว่าองค์ความรู้ใดก็ไม่ประเสริฐเท่ากับประสบการณ์ของคนที่มีอยู่ แล้วก็ได้เปิดโอกาสให้มาแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน สิ่งสำคัญที่อยากจะสะท้อนกลับว่า ครั้งนี้น่าจะต้องทำ "ทำเนียบ" เกิดขึ้น เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนกันว่าต่อไป ใครไปทำอะไรแล้วก้าวหน้า หรือใครมีปัญหาที่กำลังใจหมดไปก็ได้ตรงนี้ช่วยกัน คิดว่าอันนี้คงเป็นประโยชน์มาก แล้วก็อีกประการหนึ่งที่วิทยากรพูดวันแรกเหมือนหลักทางพุทธศาสนาคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือมาด้วยอุเบกขา มาอย่างแก้วไม่มีน้ำ แล้วเรามาด้วยการที่เราเรียนรู้อยากให้สังคมมันดีขึ้น อันนี้คือที่สุดของการพัฒนา 

     
      
  • ในกระบวนการทั้ง 7 ของ OM คิดว่ากระบวนการทำงานทั่วไปมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า OM เป็นการจัดระบบการรู้เท่าทันความคิดคน แต่ว่าการจัดหมวดหมู่ความคิดให้เป็นระบบบางทีมันกระจัดกระจาย เราอาจจะมีระบบของความคิดแบบอื่นๆ อาจจะเป็น balance score card หรือเป็น QC หรือว่าเป็นอะไรต่างๆ ที่เข้ามาหลายระบบ ระบบนี้เป็นระบบหนึ่งที่เข้าใจความคิดมนุษย์ก็ว่าได้ ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของงาน เป็นกลุ่มก้อนเดียวกับงานนั้น ทำให้เกิดความรับผิดชอบ แล้วก็รู้สึกว่าไม่ยากจนเกินไปที่เราจะปฏิบัติได้
  • ชอบกระบวนการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ตัวเองประทับใจมากและคิดว่าลักษณะเช่นนี้สามารถจะใช้ได้กับทุกๆ งาน ทุกๆ การประชุม คิดว่าการประชุมแบบนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ดึงผู้ร่วมประชุมอยู่กับการประชุม แล้วก็ได้สิ่งที่เอาไปสรุปให้กับผู้บริหารได้ อีกอย่างที่เราได้คือกระบวนการจัดการความรู้ในเรื่องการทำงานโรคเรื้อรัง จากสิ่งที่อาจารย์บอกว่าเราจะดึงความรู้ภายในออกมาจากผู้มีประสบการณ์โดยไม่รู้ตัว อันนี้เราสามารถทำ km ในเวทีต่อไปของหน่วยงานเราได้
  • ได้รับหนังสือเชิญ เห็นชื่อ "อ.ประพนธ์" แล้วโอเคเลย เพราะเราเคยตามอ่านในเว็บ เราก็สนใจ KM ที่อาจารย์เคยทำไว้ ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสดี อยากรู้ว่า OM มันคืออะไร พอมาแล้วก็ไม่ผิดหวัง อาจารย์เก่งจริงเหมือนที่เราอ่านในเว็บ แต่ก็ยังเสียดายว่าอาจารย์ไม่ได้อยู่ตลอด แล้วอาจารย์ส่งทีมมา 2 คน ก็ดูเด็กๆ แล้วจะสอนดีเท่าอาจารย์มั้ย เพราะว่าส่วนมากวิทยากรที่เราเจอจะแก่ๆ พอมาเจอเด็กๆ ก็คิดว่าเด็กจะสอนได้หรือเปล่า ก็คิดไป แต่ปรากฏว่าเทคนิคของน้องทั้งคู่ดีมากเลย ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินตลอดระยะเวลาของการสอน แล้วเราก็ได้เก็บเกี่ยวตรงนั้นไว้ ตั้งใจว่ากลับไป โครงการที่เราจะไปทำกับชุมชนเราจะเอาบางส่วนเข้าไปปรับแล้วจะลองเขียนดู โดยภาพรวมแล้วมีความสุขที่ได้มาเรียนรู้ตรงนี้ แล้วที่ชื่นชมอีกอย่างหนึ่งคือ ไปชวนหน่วยงานอื่นเข้ามาประชุมร่วมกับเรา เพราะทุกทีมาก็เจอแต่ สคร. ก็จะไม่ได้เพื่อนจากหน่วยงานอื่นๆ พอเรามาเจอ มาคุยกัน ก็ได้รู้ว่าตรงนี้ทำงานคล้ายเรา แล้วทำไมเราไม่มาจับมือทำงานกับเขานะ ก็เลยจีบๆ ขอเบอร์กันไว้แล้ว
  • เรื่องของ OM เคยผ่านกับ สสส.มาครั้งหนึ่ง ก็มีความรู้สึกว่าเขาตัดเสื้อให้เราใส่อยู่ แต่มันคับ อึดอัดมากเลย แต่มาวันนี้บอกได้เลยว่าด้วยความสามารถของอาจารย์ที่เรียกว่าเยี่ยมยอดในการเป็น facilitator ที่ดี ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ตรงนี้อย่างเบาๆ แล้วก็ง่ายๆ ทำให้รู้สึกว่าอาจารย์มาเลาะตะเคร็บเสื้อให้พี่ไปเปราะหนึ่งแล้ว ทำให้พี่รู้สึกว่ามันหายใจคล่องขึ้น ถ้ามีโอกาสที่จะไปช่วยใครต่อใครก็จะได้ใช้ความรู้หรือว่าสิ่งที่เข้าใจในเรื่อง OM ไปปรับใช้ในกระบวนการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม หรือการทำแผนแบบมีส่วนร่วมต่อไป
  • OM ในความเชื่อของผมตอนนี้คือ การสร้างความสัมพันธ์กับตัว partner ให้เป็นเครือข่าย พยายามคิดเครือข่ายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะเราก็รู้อยู่ว่า NCD ทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องมีเครือข่ายเข้ามาเสริม ตรงนี้เรามีโอกาสดีว่าเราจะทำให้เป็นระบบได้อย่างไร พวกเรามีความคิดเรื่องแผนอยู่แล้วเพราะเราทำแผนกันมานาน แล้วก็กระบวนการทำแผนเราเรียนรู้มาหลายชื่อ หลายแบบ แต่ถามว่ามันต่างตรงไหนกับเรื่องวิธีคิดเชิงระบบของการทำแผน จริงๆ แล้วไม่ต่างกันเลย เพียงแต่เราเพิ่มตัวละครขึ้นมาอีกหลายตัว ให้ความสำคัญมากขึ้น แล้วก็เชื่อมโยงให้เห็น ร้อยต่อให้เห็นเป็นรูปธรรม นั่นคือข้อที่ดีของ OM
  • เราเลือกเครื่องมือ OM เพราะเราอยากเห็น ปลาทู ว่ายน้ำไปด้วยกันเป็นฝูงปลาทู เพราะงาน NCD มีทั้งเรื่องหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งเชิงที่มันใช้สมองด้านซ้ายและขวามารวมกันจึงจะเกิดผล ก็เลยคิดว่าเครื่องนี้มันจะช่วยให้การรวมซ้ายและขวาดีขึ้น นอกจากการเรียนรู้ร่วมกันแล้ว เราก็หวังอยากให้เกิดเครือข่ายขึ้น และจากการเรียนรู้ในลักษณะที่มีความสุข ทำให้วันนี้เห็นแล้วว่าเครือข่ายเกิด แต่ว่าวิธีการทำงานร่วมกันในรายละเอียดคงต้องเอามากางแล้วก็ link ให้แน่นอนอีกนิดหนึ่งในเรื่องของการสนับสนุน ก็คิดว่าได้ไม่น้อยกว่าที่คาด ส่วนตัวคิดว่า OM ทำให้เกิดการคิดเชิงระบบและเชื่อมโยงได้ชัดเจน แล้วก็ต่อจิ๊กซอว์บางอย่างที่เราไปเจอะเจอมา เชื่อมโยงความซับซ้อนของเราให้ครบวงจร ที่ได้มากๆ นอกจาก สคร.ซึ่งทำเรื่องนี้อยู่แล้ว คือ ความเข้มข้นมากขึ้นของการเชื่อมโยงระหว่างกรม แล้วก็มหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้งานบูรณาการในพื้นที่มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น

    

ท้ายที่สุด วิทยากรฝากข้อแนะนำสำหรับการนำ OM ไปใช้ในการวางแผนทำงานจริงว่า อย่าติดอยู่กับรูปแบบที่เราเรียนรู้ร่วมกันใน 2-3 วันนี้ เช่น การสร้างฝันร่วม หรือการชวนให้คนที่จะมาร่วมทำโครงการกับเรามีจิตวิญญาณ ร่วมเขียนแผนที่มีจิตวิญญาณได้นั้น ถ้ามีเทคนิคหรือวิธีการอื่นๆ ที่จะทำเพื่อให้ได้อย่างนั้น ก็ทำเลย อย่าไปห่วงกังวลว่าจะต้องเดินตาม step แบบ OM หากมีวิธีไหนที่คิดว่ามีพลัง สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้มากที่สุด ก็เลือกใช้วิธีนั้น


เดิมผู้เขียนคาดหวังไว้ว่า ถ้า ws ครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้หลายๆ คน จากหลายๆ หน่วยงาน ได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานร่วมกัน แล้วนำกลับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้บ้าง ก็คิดว่าน่าจะคุ้มแล้ว ซึ่งความคาดหวังนี้ก็บรรลุผลตั้งแต่วันแรกของ ws เมื่อผู้เขียนได้เข้าไปร่วมอยู่ในกลุ่มช่วง SST ได้ฟังเรื่องเล่าความสำเร็จจากการทำงาน NCD หลากหลายรูปแบบของหลายหน่วยงาน และได้ยินว่าพี่จาก สคร.แห่งหนึ่งบอกว่า ในพื้นที่ของตนเองประสบปัญหาคล้ายๆ กับที่พี่อีก สคร. หนึ่งเล่า และจะทดลองนำรูปแบบการทำงานที่ได้เรียนรู้ในวงกลับไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองบ้าง

 

ws ครั้งนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นในเรื่องที่ว่าในพื้นที่ต่างๆ มีเรื่องราวความสำเร็จของการทำงาน NCD อยู่มากมายหลายรูปแบบชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีก และเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ได้เชื่อมโยงให้แต่ละพื้นที่นำประสบการณ์เหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน แล้วนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีทิศทางมากขึ้น

ด้วยการเตรียมงานและอำนวยการเรียนรู้อย่างตั้งใจของทีมวิทยากร ด้วยกระบวนการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติที่ยืดหยุ่นและผ่อนคลาย ด้วยเครื่องมือ OM ที่เราเลือกนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเชื่อมโยงและกระชับความสัมพันธ์ของเครือข่าย โดยเชิญชวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือวางแผนการดำเนินงานตั้งแต่ต้น ทั้งหมดนี้ ช่วยเสริมสร้างพลังและแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นในการที่จะจับมือกันทำงานของหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างสมความคาดหวัง

สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจใน ws ทั้ง 3 วันนี้คือ ความตั้งใจ และการให้ "ใจ" กับกระบวนการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติรวมไปถึงการร่วมมือกันเขียนแผนที่จะนำไปใช้งานจริงในโครงการฯ ของผู้เข้าร่วม ws ทุกคน ซึ่งอยู่ร่วมในกระบวนการอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ผู้เขียนคิดว่า แม้เราจะเตรียมการจัด ws อย่างดี เชิญวิทยากรที่มากด้วยประสบการณ์และความสามารถมาอำนวยการเรียนรู้ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือหรือการมีส่วนร่วมอย่างตั้งใจจริงจาก "ผู้เข้าร่วม" ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน ความสำเร็จคงไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

OM Workshop - ตอน 4

ปลาทูแม่กลอง

7 เมษายน 2552

 

 

หมายเลขบันทึก: 253961เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2009 06:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะแวะมารับความรู้ค่ะ

อ่านแล้วคงต้องขอเวลาคิดเพราะเป็นเรื่งอใหม่ยังไม่มีพื้นความรูค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท