เครือข่าย KM ลดเสี่ยง NCD (8) : OM Workshop - 4


ตอน 3

หลังผ่านพ้นวันหยุดพักผ่อนยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้เขียนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทบทวนกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน OM Workshop อีกครั้ง โดยการนั่งฟังเทปเสียงและดูภาพถ่ายกิจกรรมที่บันทึกไว้ทั้งหมดอย่างละเอียด เพื่อเตรียมตัวพูดคุยหารือกับ คุณหมอฉายศรี เกี่ยวกับการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปของโครงการ KM- NCD Network

 

ผู้เขียนพบว่า มีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละช่วงกิจกรรมที่ยังไม่ได้บันทึกรายละเอียดไว้ใน blog ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดเรื่อง ปัจจัยความสำเร็จ ของการดำเนินงานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อในชุมชน ที่สะกัดได้จาก เรื่องเล่าความสำเร็จ

 

เรื่องเล่าความสำเร็จ (Success Story Telling – SST) เป็นหนึ่งในกิจกรรมของ OM Workshop ครั้งนี้ โดยคุณธวัช หมัดเต๊ะ บอกว่า ก่อนที่เราจะวางแผนการทำงานร่วมกันด้วย OM น่าจะมีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ของแต่ละคนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และถ้าผู้เข้าร่วม ws ทุกคนนำประสบการณ์การทำงานของตนเองมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน ก็จะได้ ความรู้จากการปฏิบัติ เกิดขึ้นมากมาย

 

ช่วงกิจกรรมนี้เราแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 8-10 คน โจทย์ คือ ให้ทุกคน เล่าเรื่องความสำเร็จ จากประสบการณ์การทำงานในมุมของการป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยง ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อในชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรม/เหตการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยให้เล่าว่า ทำอะไร ทำไมจึงทำ ทำอย่างไร สำเร็จอย่างไร และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง

 

กติกาของกิจกรรมนี้ คือ “One Meeting: 1 คนเล่า คนที่เหลือฟัง ฟังด้วยสมองและหัวใจ สบตา สังเกตอารมณ์ของผู้เล่า ไม่แนะนำ ไม่ตัดสิน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว เมื่อเล่าครบทุกคนแล้วให้ช่วยกันสรุปว่า หัวใจของความสำเร็จ หรือ คุณค่า ของเรื่องเล่าทุกเรื่องที่ได้ฟังในกลุ่มคืออะไร  

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ของการดำเนินงานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อในชุมชน ที่สะกัดได้จาก เรื่องเล่าความสำเร็จที่ทุกคนร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน มีดังนี้

 

1.        ผู้บริหารมี วิสัยทัศน์ และให้การสนับสนุน

2.        การทำงานเป็นทีม ด้วยทีมงานที่เข้มแข็ง ทำงานด้วยใจ และมีเป้าหมายร่วมกัน

3.        เข้าใจ เข้าถึงปัญหา บนหลักฐานวิชาการและสถานการณ์ของพื้นที่

4.        มีหลักฐานข้อมูลของพื้นที่ในการนำเสนอเพื่อผลักดันนโยบาย

5.        แรงบันดาลใจ / แรงจูงใจ  / ความคิด ความฝัน

6.        การประสานงานเชิงรุกในแนวราบ

7.        ความร่วมมือของภาคีเครือข่าย

8.        การแลกเปลี่ยนเรียนรู้

9.        กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อให้ชุมชนเกิดความตระหนัก เน้นการสื่อสารเรื่องผลกระทบต่อบุคคลและชุมชน

10.    การมีส่วนร่วมของชุมชน / ชุมชนเป็นเจ้าของ

·        ได้ใจชุมชน

·        ชุมชนตระหนักว่าเป็นปัญหาของชุมชนเอง

·        เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าร่วมแก้ปัญหา

·        เสริมพลัง/เพิ่มศักยภาพชุมชน

·        มีข้อมูลของชุมชน

·        มีข้อตกลงร่วมที่เป็น มาตรการ ของชุมชน

·        ชุมชนมีกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

·        มีการติดตามประเมินการเรียนรู้ของชุมชน โดยชุมชนเอง

11.    การให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชา

12.    ต้นแบบที่ดี

13.    เชื่อมโยงกับตัวชี้วัดของท้องถิ่น

14.    การติดตามสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

 

จาก ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่สะกัดได้จาก เรื่องเล่า เป็นจุดตั้งต้นที่นำมาสู่โจทย์ต่อไป คือ การวาด ภาพฝัน เกี่ยวกับงานลดเสี่ยง ลดโรค ชุมชนจัดการตนเองของสังคมไทยว่าควรเป็นอย่างไร โดยเริ่มต้นด้วยประเด็นที่สะกัดจาก เรื่องเล่าความสำเร็จ แล้วต่อยอดด้วยภาพฝันของสมาชิกทุกคนในกลุ่ม เพื่อเติมเต็มให้เป็นภาพฝันของงานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อในชุมชนที่สมบูรณ์ ดังนี้

 

กลุ่ม 1 : ใจประสานงาน

ชุมชม ประกอบด้วย บ้าน วัด โรงเรียน เทศบาล/อบต. ผู้นำและคนในชุมชน ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาล ตำรวจ ฯลฯ มีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานเพื่อลดเสี่ยง ลดโรค โดยทุกคนต้องเอา ใจ มาประสานงาน ประสานความร่วมมือกันทั้งชุมชน จึงจะเกิดเป็นภาพชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคที่สวยงามตามที่ฝันได้

 

กลุ่ม 2 : ชุมชนตระหนัก คนทำงานมีแรงบันดาลใจ

ทำอย่างไรถึงจะลดเสี่ยง ลดโรคในชุมชนได้ ?

·        ชุมชน/คนที่อยู่ในชุมชนต้องเกิดความตระหนักด้วยตนเองก่อนว่ามันเป็นปัญหาที่เขาควรจะใส่ใจ

·        คนทำงานเกิดแรงบันดาลใจ

เช่น ชุมชนของเรา มีคนอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า นักซิ่ง/สิงห์มอเตอร์ไซด์ พอเกิดปัญหาตรงนี้ ก็นำปัญหาเข้าสู่ เวทีประชาคม แล้วก็มานั่งคุยหารือกันว่าจากปัญหาเหล่านี้ ควรจะต้องมีการกำหนดมาตรการในชุมชนขึ้นมาว่าจะทำอย่างไรให้เป็นชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีหน่วยงานสนับสนุนในลักษณะของ เครือข่าย ที่วาดภาพไว้เป็นใยแมงมุมเพื่อให้เห็นว่ามันจะเกิด Node ขึ้นมาเยอะมาก แสดงว่าเครือข่ายของเราจะต้องมีอยู่ทั่วประเทศ

 

เมื่อเกิดมาตรการหรือข้อกำหนดขึ้นมา ก็นำสู่การปฏิบัติ เช่น มีชมรมออกกำลังกาย/กีฬาต่างๆ ชมรมปลูกผักปลอดสารพิษ ฯลฯ เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับการที่จะทำให้ชุมชนลดเสี่ยงและลดโรคได้

 

กลุ่ม 3 : “อยู่ดีมีสุข บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ฝันอยากให้ประชาชนในชุมชน อยู่ดีมีสุข บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะมีผู้สนับสนุนทุกระดับตั้งแต่ระดับกระทรวง กรม เขต จังหวัด จนถึงพื้นที่ ร่วมกันผลักดันนโยบายลงไปเพื่อที่จะให้ประชาชนทุกคนเป็น เจ้าของ สุขภาพด้วยตนเอง ให้ชุมชนคิดและแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้ มีมาตรการหรือกฎระเบียบของชุมชน เช่น มาตรการรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านซื้อกับข้าวจาก รถพุ่มพวง ให้ทำกับข้าวกินเอง มีการจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ และมี แกนนำ ในการดำเนินงานเรื่องนี้ โดยใช้วัฒนธรรมของชุมชนเป็นฐานในการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของชุมชน

 

กลุ่ม 4 : ร้อยหัวใจ ร่วมมือ รวมพลัง สร้างเครือข่าย

ความคาดหวัง คือ ชุมชนที่เราจะไปทำงานจะต้องมีการร่วมกันสร้างเครือข่าย รวมพลังในชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะลดโรคเรื้อรังต่างๆ ให้หมู่บ้าน/ชุมชนปลอดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด

 

วิธีการ คือ รวมพลังคนจากทุกภาคส่วนที่อยู่ในชุมชนไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน วัด โรงเรียน อบต. ฯลฯ โดยการ จับมือกัน ใช้ หัวใจร้อยกัน ร่วมมือกันทำงานโดยใช้ หัวใจนำ แล้วก็นำวิธีการ กลยุทธ์ต่างๆ เช่น KM หรือ OM ฯลฯ เข้าไปปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้ชาวบ้านมีพลังเพิ่มขึ้น ให้เขาเกิดแนวคิดว่า ทำอย่างไร เขาจะลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในหมู่บ้าน/ชุมชนของเขาได้ เช่น เริ่มตั้งแต่เด็กแบเบาะต้องให้กินนมแม่ ปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินในหมู่บ้าน ร้านค้าต้องตระหนักในการที่จะไม่ขายเหล้า บุหรี่ให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจช่วยให้ชาวบ้านไม่เครียด ในขณะที่ชาวบ้านก็ทำบุญตักบาตรโดยเพิ่มผักผลไม้ให้มากขึ้นเพื่อที่ พระ จะได้ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันฯ

 

ผลลัพธ์ คือ หมู่บ้านนี้จะเป็น หมู่บ้านสีเขียว ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ พืชผัก ผลไม้ มีการรณรงค์ให้กินปลา กินผักผลไม้ให้มากที่สุด คนในชุมชนก็จะปลอดภัยไม่มีโรคเรื้อรัง

OM Workshop - เก็บตก

 

 

ปลาทูแม่กลอง

28 เมษายน 2552

หมายเลขบันทึก: 258063เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2009 01:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท