บึงบูรณาการ NKM5: ชุมชนลดเสี่ยง ลดโรค บ้านคำกลาง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร (1)


เราเรียนรู้แบบพบกันครึ่งทาง ไม่รู้มากแต่ไม่รู้น้อย เราเข้าไปเติมในส่วนที่เขาขาด เข้าไปรับในส่วนที่เขาเกิน และเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

ช่วงบ่ายของวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปนั่งอยู่บริเวณ “บึงบูรณาการ” ภายในงาน “มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 5” ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลพล่าซ่า ลาดพร้าว เพื่อร่วมเรียนรู้ประสบการณ์การบูรณาการ KM สู่การมีสุขภาพดีแบบวิถีไทยของชุมชนบ้านคำกลาง ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

     

ผู้เขียนมาถึงบริเวณบึงบูรณาการประมาณเที่ยงกว่าๆ เห็นพี่ๆ ที่สวมใส่ชุดผ้าไหมหลากสีสวยงาม 5 คน กำลังกุลีกุจอช่วยกันจัดเตรียมซุ้มเรียนรู้อาหารพื้นบ้าน ซุ้มเรียนรู้การออกกำลังกาย และมุมนิทรรศการ “ชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคภัยเงียบ” จึงได้อาสาเข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน และได้รับการเชิญชวนให้ชิมอาหารที่พี่ๆ นำมาเพื่อสาธิตในกิจกรรมวันนี้ อันประกอบด้วย “ข้าวแต๋นน้ำแตงโม” ที่กลุ่มแม่บ้านในชุมชนบ้านคำกลางผลิตเองจากข้าวพันธุ์ดีและแตงโมที่มีปลูกอยู่มากมายในพื้นที่ “ถั่วปุ้มปุ้ย” ซึ่งเป็นถั่วลิสงพันธุ์เฉพาะของจังหวัดยโสธร (เมล็ดป้อมๆ อวบๆ ดูปุ้มปุ้ยสมชื่อจริงๆ) รวมไปถึง “เมี่ยง” สูตรเฉพาะของชุมชนบ้านคำกลาง ที่ประกอบด้วยส่วนผสมของพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านนานาชนิด ที่มากไปกว่านั้นคือ ผู้เขียนได้รับเกร็ดความรู้มากมายเกี่ยวกับ “วิถีการกินและอยู่” อย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ ผ่านคำบอกเล่าด้วยความตั้งใจของพี่ๆ ทั้ง 5 คน

     

ระหว่างจัดเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเวทีอยู่นี้เอง มีผู้ที่สนใจเดินเลียบๆ เคียงๆ ด้อมๆ มองๆ อยู่รอบๆ บริเวณบึง “พี่ส่งศรี” หนึ่งในสาวสวยจากทีมชุมชนบ้านคำกลาง ได้คว้าไมค์มากล่าวเชิญชวน จึงมีผู้คนทะยอยเข้ามารุมล้อมที่ซุ้มเรียนรู้อาหารพื้นบ้านและการออกกำลังกายกว่า 10 คน ต่างสอบถามเกี่ยวกับชื่อและสรรพคุณของผักสมุนไพรต่างๆ และการทำเครื่องมือออกกำลังกายที่นำมาสาธิตในวันนี้ ผู้เขียนค่อยๆ ถอยออกมาสังเกตการณ์อยู่รอบนอก ทำให้ได้เห็นถึงบรรยายกาศอันงดงามของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันของคนที่มาจากต่างถิ่นต่างที่ บางคนก็ชิมอาหารไปพลาง ซักถาม พูดคุย แลกเปลี่ยนกับพี่ๆ ทั้ง 5 คน ซึ่งตอนนี้กระจายตัวออกไปเพื่อช่วยกันอธิบายในแต่ละเรื่องที่ตนเองถนัด ผู้สนใจบางคนก็หันหน้ามาจับกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเองเกี่ยวกับสิ่งที่ได้สัมผัสอยู่ตรงหน้า ดูแล้วได้ความรู้สึกว่าทุกคนล้วนตั้งใจเข้ามาชิม ซักถาม แลกเปลี่ยน ถ่ายภาพ และชื่นชม เท่าที่ผู้เขียนจำได้หนึ่งในนั้นมี "นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล" รวมอยู่ด้วย สังเกตเห็นว่าท่านซักถามไปพลาง ถ่ายคลิปวีดีโอไปพลาง อีกมือที่ว่างอยู่ก็หยิบถั่วปุ้มปุ้ยชิมไปพลางด้วยความเพลิดเพลิน

 

เมื่อถึงเวลาบ่ายโมงครึ่งซึ่งเป็นเวลาของการเปิดเวทีพูดคุยอย่างเป็นทางการเพื่อบอกเล่ารูปแบบการบูรณาการ KM ในการดำเนินงาน “ชุมชนต้นแบบการจัดการความรู้แบบบูรณาการเพื่อลดเสี่ยง ลดโรคภัยเงียบ” โดย session นี้จัดอยู่ในช่วงสุดท้ายของการจัดงานครั้งนี้ ผู้เขียนคำนวณด้วยสายตาเห็นว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คนเห็นจะได้

   

เมื่อได้เวลาอันสมควร พี่ๆ ทั้ง 5 คนได้เดินขึ้นสู่เวที เปิดตัวด้วยการสาธิตออกกำลังกายแบบผสมผสาน “เซิ้งฮูลา ฮูป” และ “ก้าว step” ประกอบเพลงจังหวะพื้นบ้านของภาคอีสาน ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อกระตุ้นส่งเสริมการออกกำลังกายของคนในชุมชน ส่วนอุปกรณ์ออกกำลังกายคือ ห่วงฮูลาฮูป ก็ทำขึ้นเองภายในชุมชนโดยการประยุกต์ใช้วัสดุง่ายๆ ใกล้ตัวได้แก่ ไม้ไผ่ ทราย และสายยาง ส่วนเก้าอี้ไม้ที่ใช้สำหรับการออกกำลังกายแบบเซิ้งก้าว step ก็เป็นเก้าอี้ที่ทุกบ้านมีใช้กันอยู่แล้ว พี่ๆ ทุกคนตั้งใจแสดงกันมาก ลีลาพริ้วไหว สวยงาม จังหวะดนตรีก็เร้าใจ ท่วงทำนองฟังง่ายและคุ้นเคย ช่วยกระตุ้นความรู้สึกสนุกสนานบิกบานใจ ผู้เข้าร่วมฟังในลานบึงบูรณาการต่างพร้อมใจกับปรบมือตามจังหวะดนตรี มีใบหน้าเปื้อนยิ้ม และสายตาชื่นชมให้กำลังใจส่งผ่านไปสู่คนที่อยู่บนเวที

หลังการแสดงเปิดตัวจบลง พี่ๆ ทั้ง 5 คน จึงได้แนะนำตัว อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย คุณเนาวรัตน์ ค้าข้าว จากโรงพยาบาลป่าติ้ว จ.ยโสธร คุณกาญจนี แก่นก่อ จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองชุม อ.ป่าติ้ว คุณมลิวรรณ ธนาไสย์ อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเชี่ยวชาญ (อสมช.) บ้านคำกลาง คุณพิมนพรรณ คุณสัตย์ บุคคลต้นแบบ และแกนนำชุมชนบ้านคำกลางด้านการออกกำลังกาย และ คุณส่งศรี มูลสาร จากกลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ

จากนั้นเป็นการฉายวีดีทัศน์นำเสนอการดำเนินงานชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคภัยเงียบ ของบ้านคำกลาง ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ประมาณ 15 นาที Key word ที่ผู้เขียนประมวลได้จากการชมวีดีทัศน์ ซึ่งทำให้สามารถจินตนาการได้ว่าความสำเร็จของการดำเนินงานครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดย Key word ดังกล่าวประกอบด้วยคำว่า “กระบวนการที่ชุมชนเลือกเอง” “คิดร่วมกัน” “เห็นพ้องต้องกัน” “ทุกฝ่ายร่วมมือกัน” “ถักทอเครือข่าย” “กำลังใจ” และ “ความสามัคคี

“พี่เนาวรัตน์” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากโรงพยาบาลป่าติ้ว เป็นคนแรกที่มาบอกเล่าประสบการณ์การทำงาน “ชุมชนจัดการความรู้แบบบูรณาการสู่การลดเสี่ยง ลดโรคฯ” โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการที่ได้เห็นชาวบ้านจากชุมชนบ้านคำกลางซึ่งเป็นหมู่บ้าน “ไกลปืนเที่ยง” ตั้งอยู่บริเวณสุดชายขอบของอำเภอป่าติ้ว มีความยากลำบากในการเดินทางเข้า – ออกหมู่บ้านอย่างมาก เพราะในแต่ละวันจะมีรถสองแถวเก่าๆ รับส่งคนออกจากหมู่บ้านและกลับเข้าสู่หมู่บ้านเพียง 1 รอบเท่านั้น ส่วนการติดต่อสื่อสารก็เป็นไปด้วยความยากลำบากเช่นกัน เพราะถึงจะมีโทรศัพท์ใช้แต่ก็ไม่มีคลื่น วิธีการติดต่อสื่อสารกันระหว่างโรงพยาบาลกับหมู่บ้านคือการใช้วิทยุสื่อสารติดต่อไปที่สถานีอนามัย ชาวบ้านที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานในชุมชนบ้านคำกลางซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยกว่าชีวิตต้องเดินทางมารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลป่าติ้ว โดยออกมากับรถขายผักตั้งแต่เที่ยงคืน แล้วมานั่งรอที่โรงพยาบาลเพื่อที่จะได้พบหมอเพียงแค่ประมาณ 5 นาที แล้วรับยากลับบ้าน ปัญหาที่พบซ้ำซากมาตลอดในประสบการณ์การทำงานของ “พี่เนาวรัตน์” คือ คนไข้ตกรถกลับเข้าหมู่บ้านไม่ได้ บางครั้งต้องไปขอร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจให้พาเข้าไปส่ง จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นในทีมพยาบาลว่า “ทำอย่างไรจึงจะช่วยผู้ป่วยเบาหวานจากบ้านคำกลางเหล่านี้ได้” และด้วยจำนวนผู้ป่วยเบาหวานของบ้านคำกลางที่มีมากถึงร้อยกว่าคนกับปัญหาที่เกิดขึ้นวนเวียนซ้ำซากนี้เอง ที่ทำให้ “พี่เนาวรัตน์” บอกกับตัวเองว่า “มันถึงเวลาแล้วที่ทีมโรงพยาบาลจะต้องลงไปดูในพื้นที่” กอปรกับช่วงเวลาเดียวกันนี้เองได้มี “โครงการชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคฯ” เข้ามา ก็เลย “โดนใจ” เพราะอยากลงไปดูอยู่แล้วว่าเป็นเพราะอะไรผู้ป่วยเบาหวานบ้านคำกลางจึงมีปัญหามากกว่าผู้ป่วยเบาหวานจากตำบลอื่นๆ จึงตัดสินใจเข้าร่วมดำเนินงานโครงการฯดังกล่าว เพราะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เข้าไปเห็นสภาพปัญหาที่แท้จริงในชุมชนบ้านคำกลาง

“พี่เนาวรัตน์” เล่าต่อว่า ก่อนเข้าไปในชุมชนได้เตรียมการกันว่าจะนำความรู้เรื่องโน้น นี้ นั้น เข้าไปสอนคนในชุมชน แต่พอเข้าไปจริงๆ กลับพบว่า มันไม่ใช่” - “เราต้องไปเรียนรู้ใหม่หมด เราจะไปแบบเป็นนักวิชาการน้ำเต็มแก้วไม่ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วเราไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับชุมชนเลย เราต้องไปเรียนรู้ใหม่ ต้องหาทักษะการเข้าสู่ชุมชน ต้องเป็นคนอ่อนน้อม ก่อนหน้านี้ชอบใส่ชุดผ้าไหมสวยงาม ก็ต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่เป็นใส่กางเกงวอร์มกับเสื้อยืดเข้าไป ไปเดินพูดคุยกับเขาตามบ้าน ถือโอกาสไปเยี่ยมบ้านคนไข้เบาหวาน และไปถามปัญหาที่แท้จริง”

พอเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจวิถีชีวิตและบริบทแวดล้อมในชุมชนแล้ว “พี่เนาวรัตน์” ก็กลับมา “สร้างทีม - สร้างเครือข่าย” โดยบอกว่าแม้จะรู้จักชุมชนแล้วแต่ถ้าไม่มี “ทีม” ไม่มี “เครือข่าย” ก็ทำงานไม่ได้ จึงได้ไปพูดคุยชักชวนน้องๆ จากสถานีอนามัย เพื่อร่วมมือกันในการประสานส่งต่อผู้ป่วยเบาหวานเข้าไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลป่าติ้ว ร่วมมือกันในการอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องการเดินทาง การนัดหมายและการจัดคิวเข้ารับการรักษาให้กับผู้ป่วยเบาหวานอย่างเป็นระบบ เพื่อลดปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น จนผู้ป่วยเกิดการยอมรับ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเข้าไปให้ความรู้ในชุมชนก็ได้รับความร่วมมือมากขึ้น

ส่วนการเข้าไปให้ความรู้ในชุมชนนั้น “พี่เนาวรัตน์” เล่าว่า ใช้วิธีการแทรกซึม เพราะถ้าจะนำความรู้ตามหลักสาธารณสุขเข้าไปสอนชาวบ้านในบทบาทของนักวิชาการ เช่น สอนให้ปรุงอาหารให้สะอาด รสชาติพอดี (ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม) มีสัดส่วนครบหมู่ “ชาวบ้านเขาไม่ทำ เพราะเขามีอะไร เขาก็กินอย่างที่มี” แต่ถ้าอาศัยความสนิทสนมคุ้มเคย เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนแล้วค่อยๆ แทรกซึมความรู้และเทคนิควิธีการประกอบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยการให้คำแนะนำง่ายๆ แบบค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปทีละเล็กละน้อยจะได้ผลมากกว่า หรือบางทีก็อาศัยเครือข่ายที่ชาวบ้านให้ความเชื่อถือ เช่น “ทีมทหาร” เข้าไปให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัวซึ่งเป็นพันธ์ผักพื้นบ้านที่มีประโยชน์และสรรพคุณทางยาไว้รับประทานเอง แทนการซื้อผักจากรถพุ่มพวงที่เข้ามาเร่ขายในชุมชน หรือเชิญ “ทีมตำรวจ” เข้าไปให้ความรู้เรื่องสารเสพติด ทำให้ชุมชนเกิดความคึกคักขึ้นเพราะได้เรียนรู้ผ่านทีมงานจากหลายๆ เครือข่าย

นอกจากนี้ “พี่เนาวรัตน์” ยังได้โน้มน้าวชักจูงใจให้ ผอ.โรงพยาบาลป่าติ้ว เข้าไปร่วมให้ความรู้กับชาวบ้านในชุมชนด้วย เพราะอยากให้ ผอ.ได้เข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของคนในชุนชน โดยบอกว่าชาวบ้านให้ความเคารพเชื่อถือ ผอ.โรงพยาบาล เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้า ผอ. เข้าไปให้ความรู้หรือคำแนะนำกับชาวบ้านด้วยตนเอง ชาวบ้านก็จะเชื่อถือและปฏิบัติตาม เพียงแต่ ผอ. ต้องเปลี่ยนจากการให้ความรู้แบบ “ภาษาเทพเป็นภาษาชาวบ้าน” ซึ่งเมื่อ ผอ. เข้าไปในชุมชนก็ประสบความสำเร็จมาก เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้เยอะและสามารถแปลงความรู้ที่เป็นวิชาการเป็นภาษาชาวบ้านที่ทำให้เข้าใจกันได้ง่าย “พี่เนาวรัตน์” บอกด้วยว่า ในการจัดทีมลงชุมชนแต่ละครั้งนั้นจะไม่มีการบังคับ แต่จะใช้วิธีเชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมด้วยความสมัครใจเพราะจะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนางานได้ดีกว่า

“พี่เนาวรัตน์” สรุป KM ในแบบที่ตนเองและทีมทำร่วมกับชาวบ้านชุมชนบ้านคำกลางว่า “เราเรียนรู้แบบพบกันครึ่งทาง ไม่รู้มากแต่ไม่รู้น้อย เราเข้าไปเติมในส่วนที่เขาขาด และเข้าไปรับในส่วนที่เขาเกิน และเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ จริงๆ เราไม่รู้หรอกว่า KM ภาคทฤษฎีมันเป็นอย่างไร เรารู้แต่สิ่งที่เราปฏิบัติ พอไปเล่าให้ใครๆ ฟัง เขาก็บอกว่านี่แหละคือ KM”

ตอน 2

ปลาทูแม่กลอง
25 พฤศจิกายน 2553

หมายเลขบันทึก: 410341เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2010 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอร่วมชื่นชมกิจกรรมและองค์ความรู้เพื่อสุขภาวะที่นำมาแบ่งปันกันนะคะ..ห่วงHullahoop เคยส่ายสะเอวเล่นเมื่อเด็ก..คงต้องไปลอง swing ใหม่แล้ว..เห็นตัวอย่างแสดงบนเวทีน่าลองมากค่ะ..

  • ชื่นชมการถอดบทเรียนค่ะเยี่ยมจริงๆๆๆ

รออ่านต่อตอนต่อไปค่ะ

ขอบคุณทั้ง 2 ท่านนะคะ ที่แวะมาเยี่ยมชม และกรุณาเติมรูปให้ด้วย :>

ขอบคุณนะค่ะ ที่นำเรื่องดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง ได้อ่านเรื่องราวดีๆ เช้าวันนี้ดูสดใสขึ้นมากทีเดียว จะติดตามตอนต่อไปนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท