บึงบูรณาการ NKM5: ชุมชนลดเสี่ยง ลดโรค บ้านคำกลาง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร (2)


เราพยายามจะทำงานเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายเพื่อให้ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน และคิดร่วมกันในการหาแนวทางแก้ไข

จาก ตอนที่แล้ว เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ในมุมของ “พี่เนาวรัตน์” ในฐานะตัวแทนภาครัฐ ภายใต้บทบาทของโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นภาคีหลักในการริเริ่มดำเนินงาน “ชุมชนการจัดการความรู้แบบบูรณาการเพื่อลดเสี่ยง ลดโรคภัยเงียบ” ของชุมชนบ้านคำกลาง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

ในตอนนี้ “พี่ส่งศรี” ได้ส่งต่อพวกเราให้เข้าใกล้ “ชุมชนบ้านคำกลาง” เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน ณ จุดเชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน ผ่านการบอกเล่าของ “พี่กาญจนี แก่นก่อ” เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน ตัวแทนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองชุม ซึ่งได้เล่าเสริมถึงความยากลำบากในการเดินทางเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยบางคนถึงกับไม่อยากเข้าไปโรงพยาบาล ว่า “รถเข้าออกหมู่บ้านมีแค่รอบเดียว คือ ออกตอนเช้า แล้วกลับตอนเที่ยง คนไข้เบาหวานที่ต้องรอรับยาก็กลับไม่ทัน กองรอกันอยู่ที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็จะประสานต่อมาที่สถานีอนามัย เราก็คิดว่าจะมีใครมาช่วยเราได้บ้างมั้ยในเรื่องนี้ ก็เลยติดต่อไปที่ นายก อบต. เล่าปัญหาให้ฟัง ครั้งแรกก็ยังเฉยกันอยู่ ครั้งที่สองพอดีมีปัญหาเกิดขึ้น คือ มีลูกสาวเขามาถามที่สถานีอนามัยว่า แม่เขาไปหาหมอที่โรงพยาบาลแล้วยังไม่กลับ เราประสานไปที่โรงพยาบาลแล้วก็ไม่มี ก็เลยไปเล่าให้ท่าน อบต. ฟังและชวนกันออกไปขับรถตามหาว่าคนไข้อยู่ที่ไหน ตอนนั้นเกือบจะทุ่มหนึ่งแล้ว ไปเจอคุณยายเดินอยู่ข้างทาง ก็จอดรถลงไปถามปรากฎว่าเป็นคนไข้ที่เรากำลังตามหา แกไม่มีรถกลับ จะโทรศัพท์หาลูกๆ ก็ไม่มีโทรศัพท์ ถึงมีโทรศัพท์ในหมู่บ้านก็ไม่มีคลื่น คุณยายเลยเดินกลับ เดินมาเกินครึ่งทางแล้วกว่าที่เราจะไปเจอ ซึ่งระยะทางจากโรงพยาบาลมาถึงสถานีอนามัยก็ประมาณ 22 กิโลเมตร

“พี่กาญจนี” บอกว่าจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทาง อบต. มองเห็นและเข้าใจปัญหามากขึ้น เห็นว่าผู้ป่วยที่ได้รับความยากลำบากเหล่านั้นไม่ใช่ใครอื่นไกล เป็นญาติพี่น้อง เป็นพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ในหมู่บ้านของเราทั้งนั้น ก็เลยจัดให้มีบริการรถรับ-ส่งผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งช่วยลดปัญหาและทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ผลจากการทำแบบนี้ก็มีการบอกเล่ากันแบบปากต่อปาก ทาง อบต. อื่นๆ ก็เลยจัดให้มีบริการแบบเดียวกันบ้าง นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอปัญหานี้เข้าไปสู่ คปสอ. (คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขอำเภอ) เพื่อให้มีการจัดคิวและเพิ่มวันในการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานจาก 1 วัน เป็น 2 วัน ต่อสัปดาห์

จากปัญหาของผู้ป่วยเบาหวานดังกล่าว บวกกับการที่ “บ้านคำกลาง” ตั้งอยู่ห่างจากสถานีอนามัยประมาณ 5 กิโลเมตร แถมจากหมู่บ้านถึงสถานีอนามัยยังต้องเดินทางข้ามเนินเขา ซึ่งก็เป็นความลำบากทั้งในส่วนของชาวบ้านที่ต้องออกมารับบริการในยามเจ็บป่วย และในส่วนของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่ต้องเดินทางเข้าไปให้บริการในหมู่บ้าน ทำให้ “พี่กาญจนี” มองว่าถ้าเราทำให้ชาวบ้านมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลตนเองได้ด้วยศักยภาพของพวกเขาเองน่าจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงได้อีก แต่การแก้ไขปัญหาสุขภาวะที่มีความซับซ้อนในกลุ่มโรคภัยเงียบนั้นคงทำคนเดียวไม่ได้ ขับเคลื่อนไม่ไหว จึงได้เข้าไปปรึกษากับ “พี่เนาวรัตน์” ทีมโรงพยาบาลป่าติ้ว และได้ร่วมมือกันในการดำเนินงานชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคฯ โดยหัวใจสำคัญของการทำงานครั้งนี้คือ “การสร้างเครือข่าย” ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีการแบ่งบทบาทหน้าที่กัน คือ “พี่เนาวรัตน์” ในบทบาทของโรงพยาบาลชุมชนก็จะประสานเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับอำเภอ ส่วน “พี่กาญจนี” รับผิดชอบเครือข่ายในระดับตำบล คือ กลุ่ม “แกนนำชุมชน” มีผู้นำหัวเรือใหญ่ คือ ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งโชคดีที่บ้านคำกลางมีผู้ใหญ่บ้านที่มองการณ์ไกลอยากพัฒนาหมู่บ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเลยเข้ามาร่วมมือกัน ส่วนแกนนำหลักที่เป็นทางการ คือ อสมช. มีอยู่ทั้งหมด 9 คน จะดูว่าแต่ละคนเก่งด้านไหน เช่น การออกกำลังกาย เกษตรอินทรีย์ สมุนไพร อาหารพื้นบ้าน ฯลฯ แล้วก็ให้เลือกรับผิดชอบดูแลในด้านนั้น และกลุ่มแกนนำที่ทรงพลัง นั่นก็คือ ผู้สูงอายุ ที่ยึดไว้เป็นหลักเลยก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุตุลาการ เพราะในบริบทและวัฒนธรรมของหมู่บ้านให้ความเคารพกับผู้สูงอายุอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีแกนนำจากชมรมต่างๆ เช่น ชมรมออกกำลังกายเข้ามาช่วยดูแลในส่วนของการออกกำลังกายด้วย

“พี่กาญจนี” กล่าวทิ้งท้ายถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนการดำเนินงานชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคฯ ของบ้านคำกลางว่า “เราพยายามจะทำงานเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายเพื่อให้ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน และคิดร่วมกันในการหาแนวทางแก้ไข

ตอนที่ 3

ปลาทูแม่กลอง
27 พฤศจิกายน 2553

หมายเลขบันทึก: 410741เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2010 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ถอดบทเรียนได้ยอดเยี่ยมจริงๆๆ ตามมาเรียนรู้

 

ขอตามมาเรียนรู้ด้วยเช่นกันค่ะ :)

เยี่ยมมากๆ ค่ะ อ่านแล้วได้เรียนรู้การทำงานชุมชน ด้วย "ใจ" ก็จะได้ "ใจ" เป็นอย่างยิ่งค่ะ กำลังรอชมตอนต่อไปอย่างใจจดจ่ออยู่นะค่ะ

ร่วมชื่นชมกิจกรรมดีๆที่เป็นแบบอย่างค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท