การพัฒนาเครื่องมือประเภทมาตรประมาณค่า(Rating Scale) ในงานวิจัย


มาตรประมาณค่า เป็นเครื่องมือที่ใช้มากในงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ ซึ่งได้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือ หาข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการสร้างเครื่องมือประเภทนี้ให้มีคุณภาพ หลายลักษณะ เป็นสิ่งที่นักวิจัยควรรู้ ก่อนตัดสินใจสร้างเครื่องมือประเภทนี้

        ระหว่างวันที่ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2552 ได้ไปสัมมนาเสริมในการสอนวิชา 24703 การพัฒนาเครื่องมือเพื่อการวิจัยและประเมิน ในหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการประเมินการศึกษา ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ณ โรงแรมโฆษิต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  ในการสัมมนาดังกล่าว นักศึกษาได้นำเสนอตัวอย่างการใช้เครื่องมือเพื่อการวิจัยและประเมิน อย่างหลากหลาย ซึ่งพบว่า มาตรประมาณค่า(Rating Scale) เป็นระบบตัวเลข(มาตร) ที่นิยมใช้กันมากรายการหนึ่งในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะนำมาพัฒนาเป็นแบบสอบถาม  แบบสัมภาษณ์   แบบวัดเจตคติ/แบบวัดคุณลักษณะต่าง ๆ

        ในการสัมมนา ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่นักศึกษาที่เป็นบทเรียนที่ควรระวังในการพัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้เทคนิคมาตรประมาณค่า ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ได้มาจากงานวิจัย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

        1) มาตรประมาณค่า เป็นมาตรในระดับ “อันดับ”(Ordinal Scale) ในการเลือกใช้วิธีการทางสถิติ หรือการแปลผลการวิจัยจะต้องระมัดระวัง

        2) การพัฒนามาตรประมาณค่าเพื่อใช้ในการวัดเจตคติ ประเภทที่ใช้ข้อความเป็นสิ่งเร้า แล้วให้ผู้ตอบแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับข้อความนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด  ซึ่งมีทั้งข้อความเชิงบวก(ให้คะแนนแบบ 5  4  3  2  และ 1 ในกรณีที่ผู้ตอบเห็นด้วยมากที่สุด จนถึง เห็นด้วยน้อยที่สุด)  และ ให้คะแนนแบบกลับทิศ( 1  2  3  4  และ 5 )ในกรณีที่เป็นข้อความเชิงลบ....คำถามที่มักจะถูกถามคือ ในแบบประเมินฉบับนั้น ๆ ควรมีข้อความเชิงลบสักกี่ข้อ หรือกี่เปอร์เซ็นต์ของข้อความทั้งหมด....ตำตอบ คือ  มีผู้วิจัยแล้ว โดยทดลองบรรจุข้อคำถามเชิงลบไว้ 10  20   30   40   60  และ 60 %...ผลการวิจัย พบว่า   “มีคุณภาพในด้าน “ความเที่ยง(Reliability) ไม่แตกต่างกัน”  แต่ผู้วิจัยได้สรุปอย่างชัดเจนว่า  “ควรมีข้อความเชิงลบคละไว้ส่วนหนึ่ง”  และในการแปลผล จะต้องเน้นการแปลผลคะแนนรวม  มากกว่าการแปลผลเป็นรายข้อ

        3) ในเรื่องจำนวนช่อง/จำนวนระดับของมาตร   เช่น  มี 5 ช่อง  คือ มากที่สุด   มาก   ปานกลาง  น้อย  น้อยที่สุด(อาจจะเปลี่ยนคำคุณศัพท์เป็นอย่างอื่น)   หรือจะทำเป็น 6 ช่อง   มากที่สุด   มาก   ค่อนข้างมาก   ค่อนข้างน้อย  น้อย   น้อยที่สุด    หรือ  7  ช่อง/ระดับ   หรือ 4 ช่อง    หรือ 3 ช่อง....จำนวนระดับมาตร/ช่องระดับการประเมินเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมที่สุด   “ช่องจำนวนคู่ คือ 4  หรือ 6”      หรือ “ช่องจำนวนคี่ 3   5    หรือ 7 ช่อง”....อย่างใดเหมาะสมมากกว่ากัน....ผลการวิจัย ยืนยันว่า  จำนวนช่องที่เป็นคู่(4  หรือ 6) มีแนวโน้มให้ค่าความเที่ยงมากกว่า จำนวนช่องเลข คี่  ...แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

        4) ในเรื่อง การกำหนดสัญลักษณ์ หรือให้ความหมายระดับมาตร   5=มากที่สุด  4 = มาก   3= ปานกลาง  2=   น้อย  1=  น้อยที่สุด    หรือจะ กลับเลขเป็น 1= มากเป็นอันดับหนึ่งหรือมากที่สุด   จนถึง 5= มากเป็นอันดับที่ 5(หรือน้อยที่สุด)    หรือ  ให้สัญลักษณ์เป็น              และ จ  แทนมากที่สุด ถึง น้อยที่สุด   หรือ การใช้คำคุณศัพท์ประเภท Bipolar  ( 2 ขั้ว    เช่น   ชัดเจน----------คลุมเครือ,   มาก----------น้อย,  ดี----------เลว) จัดทำเป็นมาตรประมาณค่าแบบ กราฟิก(Graphic Rating Scale)......ผลการวิจัย พบว่า  มาตรแบบกราฟิก มีแนวโน้มให้ค่าความเที่ยงสูงสุด  สำหรับการกำหนดแบบอื่น ๆ ไม่แตกต่างกัน....ในกรณีที่ปรับเป็นมาตรประมาณค่าเชิงพฤติกรรม(Behaviorally-Anchored Rating  Rating  Scale)  ก็จะให้ค่าความเที่ยง และความตรงมากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

        ในการสร้างเครื่องมือประเภทมาตรประมาณค่า ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกหลายประการ ที่ผู้พัฒนาเครื่องมือ ควรศึกษาธรรมชาติของเครื่องมือประเภทนี้ให้ดี ก่อนการสร้างเครื่องมือในงานวิจัยของตนเอง เพื่อให้ได้เครื่องมือที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 238980เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2009 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (33)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • ครูอ้อย  กำลัง  ทำงานวิจัยของตนเองอยู่ค่ะ
  • อาจารยมาเขียน เรื่องนี้ เลยได้ทบทวนไปอีกครั้งค่ะ
  • อาจารย์คงไม่ว่างจะอ่านงานของครูอ้อย  ครูอ้อยก็...ไม่กล้าด้วย  กลัวอาจารย์จังเลย..

อาจารย์สบายดีนะคะ

สวัสดีวันที่ 1 ก.พ. ค่ะ

  • อ่านแล้วตรงกับความสงสัยลึก ๆ พอดีเลยค่ะ
  • อาจารย์คะ แล้วถ้า เป็น"แบบสังเกต" โดยให้ผู้อื่นสังเกต
  • ผู้ถูกสังเกตไม่ได้รายงานตนเอง
  • จำเป็นที่ต้องใช้ข้อความเชิงลบด้วยหรือเปล่าคะ
  • ในความเข้าใจน่าจะไม่ต้อง ผู้สังเกตไม่ bias เพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ถูกสังเกตอยู่แล้ว ?

สวัสดีครับ ครูอ้อย

  • สรุปว่าไม่กล้าส่งไปให้อ่านใช่ไหมครับ
  • ส่งไปได้นะครับ แต่อาจจะอ่านช้าบ้าง อย่าเร่งมากก็แล้วกัน

คุณ wijitta

  • ปีใหม่ เปลี่ยนชื่อใหม่ หรือครับ
  • ข้อความเชิงบวก  เชิงลบ ใช้กรณี การสร้างแบบวัดเจตคติ
  • ถ้าเป็น "แบบสังเกต"  ก็มีสิทธิ์ที่จะสังเกตพฤติกรรมทั้งด้านดีและไม่ดี(ทั้งพฤติกรรมด้านบวก-ต้องการให้เกิด   และ พฤติกรรมด้านลบ-ไม่อยากให้เกิด)  แต่คงจะไม่เกี่ยวกับผลการวิจัยข้างต้นนะครับ   กรณีแบบสังเกต คงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการวิจัยว่า เราสนใจจะศึกษาพฤติกรรมเชิงบวก หรือเชิงลบ

- ตั้งใจจะวัดพฤติกรรมบวกค่ะ (=> ต้อง คิดต่อไป)

- อาจารย์เรียกจิด้าเหมือนเดิม ดีแล้วค่ะ

ถึงจะเปลี่ยนชื่อ เล่นยังไง หนูก็ลูกศิษย์คนเดิม

- มีเรื่องเยอะ ฯลฯ

"คนเราทำพฤติกรรมคล้ายคลึงกันได้ แต่ผลที่ออกมา ย่อมมีความแตกต่างกันเสมอ เพราะออกมาจากจิตใจที่ไม่เหมือนกัน by individual difference"

รำพึงรำพัน, ไม่เกี่ยวกับ บันทึกของอาจารย์นะคะ

rating scale แบบ 4 กับ 6 ใช้ต่างกันยังไงครับ

คุณจุฑาภัทร

  • อธิบายความหมายช่องสเกลต่างกัน
  • ใช้วัดจุดประสงค์เดียวกันได้ แต่กำหนดน้ำหนักคะแนนที่มีช่วงการกระจายแตกต่างกัน

เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

ดิฉันกำลังมีความสงสัยว่าทำไมการใช้มาตราส่วนประมาณค่า 4 ระดับ ถึงทำให้ใคร ๆ งง เสมอ

และดิฉันจะขออนุญาตรบกวนถามอาจารย์ว่า....ที่ดิฉันใช้ในการสอบถามความคิดเห็นต่อความพึงพอใจโดยใช้มาตราส่วนประมาณค่า 4 ระดับ ดังนี้

มากที่สุด มาก น้อย ปรับปรุง ในการใช้ระบบเทคโนโลยีในวิทยาลัย...... ได้หรือไม่คะ

กราบขอพระคุณอาจารย์ล่วงหน้า....ที่กรุณารักษาอาการปวดศีรษะให้ค่ะ

ภณิชญา ชมสุวรรณ

ช่วยด้วยค่ะ ครูเอ๋ต้องการคำตอบด่วน!(จะส่งผลงานแล้วเดี๋ยวไม่ทัน)

- ทำแบบสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติท่ารำของนักเรียนป.5 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ คือ ดีมาก ปานกลาง ปรับปรุง มีการกำหนด RUBRIC ไว้อย่างชัดเจน ขอถาม อ.สุพักตร์ ดังนี้

1 แบบสังเกตนี้ใช้ได้หรือไม่

2 ถ้าใช้ได้ จะอ้างอิงว่าเป็นของใครกำหนดขึ้น หรือค้นคว้าจากหนังสือของใครค่ะ

เช่น ถ้าใช้มาตราส่วน 5 อันดับ (บุญชม ศรีสะอาด 2535: 99-100)

หาข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เลยค่ะ

  • ดีมาก  ปานกลาง  ควรปรับปรุง ไม่น่าจะเหมาะสม
  • ถ้า  ดี  ปานกลาง  ควรปรับปรุง  พอจะมีที่อ้าง คือ สมศ.  หรือหนังสือหลายเล่ม น่าจะหาไม่ยาก

ขอบคุณนะคะที่กรุณาตอบให้ด่วน!จริง จริง ครูเอ๋จะปฏิบัติตามที่ อ.สุพักตร์แนะนำค่ะ

คือเปลี่ยนเป็น 3 อันดับคือ ดี ปานกลาง ปรับปรุง แต่ว่า!

1. สมศ.คืออะไรค่ะ!

2. หนังสือหลายเล่มที่หาไม่ยาก มีเล่มไหนบ้างอ.ช่วยบอกหน่อยได้ไหม

ขอความกรุณาอ.สุพักตร์ อีกสักครั้งเถอะคะ

นับเป็นข้อมูลที่ดี ขอบคุณมาก

ผมรู้จักG2K เพราะเคยเข้ารับการอบรมจากอาจารย์ที่มธ. ครับ

เทอมหน้าผมสอนงานวิจัยและวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาของมจร. เชียงราย

มีอะไรสงสัยผมอาจสอบถามอาจารย์บ้างนะครับ

ครูเอ๋

  • ระดับคุณภาพ   ดี  ปานกลาง  ควรปรับปรุง ครูเอ๋ อย่าทำตกหล่น
  • สมศ. คืออะไร   ไม่บอก  ถ้าเป็นครูจริง  ลองถามเพื่อนครูสัก 10 คน ผมคิดว่า น่าจะตอบได้ ไม่ต่ำกว่า 6-7 คน   หรือไม่ ถ้าหมดหนทางจริง ๆ ลองใส่คำ สมศ เข้าไปใน Google ก็ได้...ถ้ายังหาไม่เจอ ค่อยถามมาอีกครั้ง(นี่ ถ้าผมเป็นกรรมการ ในการตรวจผลงานของครูเอ๋...ผมให้ตก แล้วน่ะนี่)

แหม่!อ.ใจร้ายจัง!

ไม่คิดว่าจะเป็น สมศ.เดียวกันค่ะ (คิดไม่ถึง จริง จริง) ขอความกรุณาอ.อีก 2 อย่างได้ไหมค่ะ!(คาดว่าน่าจะได้)คือ

1 ถ้าอ.ได้ตรวจผลงานของครูเอ๋ ก็อย่าให้ถึงขนาดขั้นตกเลยนะคะ(ขยันหาข้อมูลขนาดนี้)

2 นอกจากแบบประเมินของสมศ.ที่เห็นกันว่าประเมินคุณภาพ 3 ระดับแล้ว ยังมีหนังสือที่เกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือวิจัยหรือวัดผล 3 ระดับที่เราสามารถอ้างอิงได้อีกไหมค่ะ!

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ ดร.สุพักตร์

  • อาจารย์สบายดีนะคะ
  • อยากเรียนถาม 2 ข้อค่ะ
  • 1. มาตรประมาณค่าแบบ กราฟิก(Graphic Rating Scale)......เป็นอย่างไรคะ ใช่อย่างนี้ไหม เช่น การประเมินความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังผ่าตัด โดยใช้แถบวัดระดับความเจ็บปวด 1 2 3 5 6 7 8 9 10
  • 2. การแปลผลคะแนนรวม แล้วแบ่งเป็นระดับอีกครั้งใช้เกณฑ์วัดอย่างไรคะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดร.สุพักตร์

  • ดีใจมากที่ได้พบบล๊อกของอาจารย์
  • จะค่อย ๆ ศึกษาและพัฒนาไปค่ะ

 

 

อาจารย์ครับ ไปตอบคำถามที่ การศึกษา และสังคม หน่อยครับกำลังรอครับ

อาจารย์ครับผมสงสัย มาตราส่วนประเมินค่า แบบ Likert Scale กับ มาตรประมาณค่าแบบ Rating Scale และแบบ RUBRIC มีที่มาหรือความต่างกันอย่างไร ผมอ่านที่ไรในงานวัจัยต่างๆ ก็ยังไม่เคียร์ ช่วยกรุณาให้ความกระจ่างด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ กำลังช่วยเพื่อนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ Rating Scale เพื่อการวิจัยครับ มีคำถามว่า มาตรประมาณค่าแบบ Rating Scale แบบมีตัวเลขกำกับในแต่ละข้อของคำตอบ ดีกว่าไม่มีตัวเลขกำกับคำตอบหรือไม่อย่างไรครับ ???

..มีงานวิจัยไหนที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการใช้หรือไม่ใช่ตัวเลขกำกับคำตอบในแต่ละข้อถามหรือไม่ครับ ???

..จึงเรียนมาเพื่อสอบถามครับ ขอบคุณมากครับ

1) มัลลิกา ยุวนะเตมีย์....2526

2) สุพักตร์ พิบูลย์ (ดุษฎีนิพนธ์ 2532)

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

เรียน อาจารย์ ดร.สุพักตร์ ที่เคารพ

ดีใจมากที่พบบล็อคของอาจารย์ เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ค่ะ ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์เหมือนความเห็นที่ 18 ค่ะ

ขอความเห็นจากอาจารย์ เป็นวิทยาทานเพื่อนำไปใช้ประกอบวิทยานิพนธ์ด้วยนะคะ

ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

Kroomom'

  • มาตรประมาณค่า(Rating Scale) เป็นวิธีการวัดที่ให้ผู้ตอบอธิบายหรือตีค่าความคิดเห็น ความรู้สึก หรือระดับคุณภาพในเรื่องใด ๆ ออกมาเป็นตัวเลข(Scale) ซึ่งผู้วิจัยได้กำหนดความหมายของตัวเลขไว้ล่วงหน้าแล้ว  อาจจำแนกเป็น 3 ช่อง 4 ช่อง หรือ 5 ช่อง(ระดับคุณภาพ)
  • Likert Scale คิดโดย ลิเคิร์ต มีการกำหนดค่าตัวเลขเป็น 5 ระดับ เป็นลักษณะหนึ่งของมาตรประมาณค่า(หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ลิเคิร์ตใช้เทคนิคมาตรประมาณค่าในการสร้างเครื่องมือ โดยกำหนด Scale เป็น 5 ระดับ ใช้มากในการสร้างมาตรวัดเจตคติ โดยให้บุคคลแสดงความคิดเห็นต่อข้อความที่สะท้อนถึงเจตคติ)
  • Rubric เป็นลักษณะหนึ่งของมาตรประมาณค่าที่มีคำอธิบายระดับความหมายของตัวเลขอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน  กลุ่มนี้ ในการสร้างเครื่องมือวัดพฤติกรรม จัดอยู่ในกลุ่มมาตรประมาณค่าเชิงพฤติกรรม(Behaviorally-Anchored Rating Scale) เครื่องมือที่ทำในลักษณะนี้ มุ่งแก้จุดอ่อนของมาตรประมาณค่าแบบกราฟฟิก(หรือแบบตัวเลขล้วน ๆ) ช่วยให้การประมาณค่ามีความเป็นปรนัยมากขึ้น สามารถลดความคลาดเคลื่อนได้ดี

เรียน อาจารย์ ดร.สุพักตร์ ที่เคารพ

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะคะที่กรุณาให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ อาจารย์ได้ช่วยเติมเต็มความข้องใจในเรื่องนี้ให้ดิฉันได้มากที่เดียวค่ะ และจะใช้ข้อมูลจากคำตอบของอาจารย์ไปอ้างอิงในงานที่กำลังศึกษาอยู่ คือดิฉันกำลังปรับงานวิทยานิพนธ์จากข้อคิดเห็นของคณะกรรมการฯ อยู่ค่ะ เรื่องที่คลุมเครือสำหรับตัวเองคือเรื่องที่เรียนถามอาจารย์นี่ล่ะค่ะ

ขออนุญาตฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์ ดร.สุพักตร์ ด้วยสักคนนะคะ ไว้โอกาสหน้าจะเข้ามารบกวนอาจารย์อีกค่ะ

ด้วยความเคารพ

Kroomom'

เรียนอาจารย์ ดร.สุพักตร์ ที่เคารพ

มีเรื่องจะรบกวนเรียนถามอาจารย์อีกแล้วค่ะ คือ ในการนำเสนอเค้าโครงวิทยานิพนธ์ คณะกรรมการ(บางท่าน)ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดค่า ไอ.โอ.ซี ว่า ควรจะเป็น .50 ไม่ใช่ .60 (ผู้เชี่ยวชาญ 5 คน) และ แบบทดสอบอัตนัย ควรจะมีการหาความยาก และ อำนาจจำแนกด้วย (ซึ่งดิฉันหาเฉพาะค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า) จึงอยากเรียนถามความคิดเห็นจากอาจารย์ว่า

1. ค่าไอ.โอ.ซี ที่เหมาะสมในการเสนอเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ควรจะเป็นเท่าไหร่

2. ข้อสอบแบบอัตนัย สามารถวิเคราะห์หาประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง นอกจากการวิเคราะห์ความเชื่อมั่นทั้งฉบับ

3. ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าที่เหมาะสมสำหรับข้อสอบแบบอัตนัย ควรเป็นเท่าไหร่ อ้างอิงได้จากที่ใดเพิ่มเติมได้บ้างคะ

รบกวนอาจารย์มากทีเดียวค่ะ กราบขอบพระคุณล่วงหน้านะคะ

kroomom'

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ดีใจที่เจอblogนี้

กำลังทำรายงานคะ

rating scale 3 ระดับ

ทำให้เป็นระดับความคิดเห็นเป็น3 ด้วย

เกณฑ์พิจารณาคะแนนอย่างไรคะ

ตำราเล่มไหนด้วย

ขอบคุณคะ

ศิษย์เก่าดั่งเดิม

เรียน อ. ดร.สุพักตร์ ที่เคารพ

ผมขอความอนุเคราะห์จากท่าน กรุณาอธิบาย ข้อไม่เข้าใจต่อไปนี้

ด้วยการประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อคุณภาพการสอนของผู้สอน ได้กำหนด rating scale 5 ระดับ แต่เกณฑ์การตัดสินการประเมินใช้ 3 ระดับ

1.00-3.49 ปรับปรุง

3.50-3.99 พอใช้

4.00-5.00 ดี

กรุณาอธิบายการประเมินจาก 5 ระดับ เป็น 3 ระดับ

ขอบคุณครับ

บัญญัติ ลาชโรจน์

เรียน อาจารย์ ดร.สุพักตร์ หนูเป็นครูโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ มีนบุรี ได้รับการอบรมได้รับความรู้เรื่องการวัดประเมินผล การการวิจัย เรื่องอื่น ๆ เยอะแยะมากมาย โดยเฉพาะข้อคิดว่า เรียนให้หนัก ทำงานให้หนักชีวิตจะเปลี่ยน อ่านหนังสือเยอะ ๆ อย่างน้อยวันละ 50 หน้า เมื่อต้นเดือน วันนี้หนูได้ลองทำตามที่อาจารย์บอก เพราะหนูกำลังทำผลงานซึ่งจะส่งเพื่อการเยียวยา หนูยังงง ว่าถ้าหนูจะอ้างอิงที่มา ตรงเรื่องสเกลการวัดการแสดงความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาพฤติกรรมกล้าแสดงออก ซึ่งหนูใช้ระดับความคิดเห็นดังนี้ ( 5 4 3 2 1 )

ระดับความคิดเห็นระหว่าง 4.50 - 5.00 หมายถึง มากที่สุด

3.50 - 4.49 หมายถึง มาก

2.50 - 3.49 หมายถึง ปานกลาง

1.50 - 2.49 หมายถึง น้อย

0.00 - 1.49 หมายถึง น้อยที่สุด

ถ้าหนูอ้างอิง ว่าใช้มารตราส่วนประมาณค่าของ Likert Scale ได้ไหมคะ แต่เป็นหนังสืออะไร พ.ศ.อะไร เปิดหาอ่านในเว็ปจนเจออาจารย์ค่ะดีใจมากรบกวนด้วยนะคะ หากอาจารย์กรุณาแนะนำและอ้างชื่ออาจารย์จะอ้างว่าอย่างไรคะ คงจะขลังและเป็นมงคลดีค่ะ

ด้วยความเคารพ วิลาสินี..

อ.วิลาสินี

        ถ้าสเกลของอาจารย์เป็น  5-มากที่สุด  4-มาก ........1-น้อยที่สุด  ดังนั้น การแปลผลที่สมเหตุสมผล  คือ  ถ้ามีคนตอบ 5 ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบทั้งหมด และตอบ 4 อีกครึ่งหนึ่ง ค่าเฉลี่ยจะเท่ากับ 4.50 พอดี (ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลาง)  แต่ถ้าเปลี่ยนไป คือ 51 % ตอบ 5  และ  49 % ตอบ 4  ค่าเฉลี่ยจะเกิน หรือ > 4.50  นี่คือข้อเท็จจริง  ดังนั้นในการแปลผลของอจารย์ เมื่อพิจารณาเป็นช่วง ก็จะแปลผล ดังที่อาจารย์จัดช่วงข้างต้น เหมาะสมแล้ว โดยไม่ต้องอ้างอิงใด ๆ ก็ได้(เป็นไปตามสเกล หรือมาตรวัด)

อยากทราบว่าแบบวัดประมาณค่าควรใช้ระบบตัวเลขหรือตัวอักษรจึงจะเหมาะสม ถูกต้องที่สุด เพราะเหตุใด

คุณบงกช

-ลองอ่าน ผลงานวิจัยของ มัลลิกา ยุวนะเตมีย์(จุฬาฯ 2526)

เรียนอาจารย์ค่ะ

เป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ หนูกำลังมีปัญหาเรื่องการใช้มาตราส่วนประมาณค่าพอดีค่ะ

อยากเรียนถามอาจารย์เพิ่มค่ะ กรณีที่รวมคะแนนเป็นรายฉบับและหารจำนวนข้อแล้ว จะได้ค่าตัวเลขเป็น Interval scale (มีทศนิยม) เราถือว่าเป็น Inyerval ได้ไหมคะ ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกสถิติที่ใช้วิเคราะห์ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สุขสำราญ สุขอร่าม

เรียน อาจารย์ ดร.สุพักตร์ ครับ ผมนายสุขสำราญ สุขอร่าม ผมต้องการใช้เกณฑ์ มาตราส่วนประมาณค่าแบบได้กำหนด rating scale 4 ระดับ ผมจะอ้างถึงใครได้ครับ ผมหาตามเวป มา 3 วันแล้วครับไม่ได้ มาพบบ๊อคนี้ดีใจมากครับ ช่วยแนะนำผมด้วยครับ

4 หมายถึง ระดับมาก
3 หมายถึง ระดับปานกลาง
2 หมายถึง ระดับน้อย
1 หมายถึง ระดับน้อยที่สุด

แปลความหมาย

ค่าเฉลี่ย 3.51 – 4.0 หมายถึง ระดับมาก
ค่าเฉลี่ย 2.51 – 3.0 หมายถึง ระดับปานกลาง
ค่าเฉลี่ย 1.51 – 2.0 หมายถึง ระดับน้อย
ค่าเฉลี่ย 0.51 – 1.0 หมายถึง ระดับน้อยที่สุด

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท