ถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้ด้วยแผนภูมิต้นไม้(The Tree Model).......การถอดบทเรียนแบบAI(สุนทรียสาธก)


“จุดพลิกผันสำคัญในความสำเร็จของสถานประกอบการเรา คือพนักงานของเรา ด้วยเขาอยากเลิกสูบบุหรี่แต่ไม่รู้วิธีการ.......

การถอดบทเรียนเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางทางสังคมของผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคม

  • เป็นเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้
  • สร้างองค์กร/ชุมชนแห่งการเรียนรู้
  • สร้างแนวปฏิบัติจากการสรุปที่เป็นข้อค้นพบเป็นความรู้ใหม่ร่วมกัน(แบบองค์รวม ครอบคลุม)
  • เครื่องมือสร้างจิตสำนึกการเปลี่ยนแปลงทางทางสังคมของภาคประชาสังคม

แต่แนวทางการทำงานถอดบทเรียนที่ผ่านมา แม้จะมีคนพูดถึงมากมายแต่ก็ยังไม่มีแนวทางหรือวิธีปฏิบัติที่จะช่วยทำให้คนทำงานนำไปประยุกต์ใช้ได้ชัดเจนนัก  ผมจึงสนใจพัฒนาประยุกต์ใช้เครื่องมือถอดบทเรียนแบบง่ายๆที่แม้แต่ชาวบ้านธรรมดาก็สามารถเข้าใจได้และนำไปใช้เองได้  เป็นเครื่องมือถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้ด้วยแผนภูมิต้นไม้(The  Tree  Model) ของ Peter  Senge  ครับ

เมื่อวันหยุดเสาร์- อาทิตย์ต้นเดือนระหว่างวันที่  5 – 6  มิถุนายน 2553   ผมไปวิทยากรกระบวนการให้กับแผนงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในการถอดบทเรียนในการ สัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “สถานประกอบการไทย...ทำอย่างไรให้ปลอดบุหรี่(ถอดบทเรียน) ณ ศูนย์รวมตะวัน  อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ในครั้งนั้นผมจึงได้ใช้กระบวนการถอดบทเรียนแบบAI(สุนทรียสาธก) โดยถอดบทเรียนการทำงานเป็นองค์ความรู้ด้วยแผนภูมิต้นไม้(The  Tree  Model) ครับ  ซึ่งผลการถอดบทเรียนในตอนท้ายจะได้ออกมาเป็น “เรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง”ครับ

ในตอนต้นผมได้บรรยายนำถึงวิธีการการถอดบทเรียนแบบเสริมพลังนำการเปลี่ยนแปลงโดย การถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้แบบแผนภูมิต้นไม้(The  Tree  Model)  ว่าการถอดบทเรียนแบบเสริมพลังนำการเปลี่ยนแปลงโดย การถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้แบบแผนภูมิต้นไม้ เป็นการถอดความรู้แบบองค์รวมเพื่อขับเคลื่อนชุมชนแห่งการเรียนรู้

Peter  Senge  ได้เสนอกรอบความคิดการพัฒนาแบบองค์รวม    ยุคคนทำงานโดยอาศัยความรู้เป็นที่อาศัยกรอบความคิดใหม่     ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับทัศนะเดิมที่มองคนเป็นเพียงวัตถุในยุคอุตสาหกรรม  เราเรียกว่ากรอบความคิดบุคคลแห่งองค์รวม (Whole Person)  โดยใช้เครื่องมือที่เป็นแบบแผนภูมิ (Model) ที่เรียกว่า   แบบแผนภูมิต้นไม้ (The  Tree  Model)

  • เป็นกรอบในการมองต้นไม้ซึ่งแบบแผน (Model) ของกิจกรรมดังกล่าว เป็นกระบวนการพัฒนาชุมชนที่เน้นการสร้างองค์ความรู้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงและต้องการของชุมชน
  • เป็นกรอบในการมองกระบวนการสร้างความรู้ว่าเปรียบเสมือนระบบของสิ่งมีชีวิตที่ส่วนประกอบต่าง ๆ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและสามารถสร้างส่วนประกอบต่าง ๆ ขึ้นมาแทนที่ได้อย่างต่อเนื่อง

 Peter  Senge  ได้เปรียบระบบการทำงานหนึ่งดั่งเช่นต้นไม้ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต และมีองค์ประกอบหลักแบบองค์รวมที่จัดเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้

1. ระบบเมล็ดพันธุ์   เปรียบเทียบเป็นฐานที่มา  ทีแสดงถึงตัวตน  ความหมาย คุณค่าและวิธีคิด

2. ระบบราก   เปรียบเทียบเป็นความเชื่อ    ค่านิยม

3. ระบบลำต้นกิ่งก้าน เปรียบเทียบเป็นแบบแผน โครงสร้างหลักในการดำเนินงานและกลยุทธ์

4. ระบบใบ  เปรียบเทียบเป็นกระบวนการทำงาน การดำเนินงานในรายละเอียด

5. ระบบดอก  ผล   เปรียบเทียบเป็นผลลัพธ์

6. ระบบสภาพแวดล้อม   ( อากาศ แสงอาทิตย์)    เปรียบเทียบเป็นความหวัง ศรัทธา

7. ระบบดิน แร่ธาตุ น้ำ  เปรียบเทียบเป็นทุนทางสังคม

 8. ระบบจุลินทรีย์    เปรียบเหมือนการเอื้ออำนวย สนับสนุนและปัญหาอุปสรรค 

9.ระบบกิ่งก้านใบที่ร่วงหล่น  เปรียบเทียบเป็นการสะท้อนกลับความรู้และคุณค่าฝากเป็นตำนาน

Peter  Senge  ยังได้เสนอว่ากรอบความคิดที่มองไม่ครบถ้วนบริบูรณ์เป็นสาเหตุง่ายๆ ประการหนึ่งที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวงว่าทำไมคนจำนวนมากจึงไม่พอใจกับหน้าที่การงานของตน

  • ทำให้องค์กรส่วนใหญ่จึงไม่สามารถดึงประสบการณ์ ความสามารถพิเศษ ความฉลาด ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ออกมาได้ และไม่สามารถเป็นองค์กรที่ยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงได้เลย
  • ต้นตอของปัญหานี้มาจาก กรอบความคิด ความรู้ ที่มองไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ว่า “เราเป็นใคร เรามีคุณค่าความหมายอะไร” 
  • ระบบโมเดลแบบแผนภูมิต้นไม้ (The  Tree  Model)  จึงเป็นมุมมองที่ลึกซึ้งถึงขั้นพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์

หลังจากนั้นผมได้แต่ละกลุ่มได้เลือกกรณีศึกษาโครงการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ จากสถานที่กลุ่มเห็นว่าน่าสนใจถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้ด้วยแบบแผนภูมิต้นไม้  ซึ่งผลสรุปผลการถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้โดยแบบแผนภูมิต้นไม้ กรณีศึกษาของสถานประกอบการที่กลุ่มย่อยเลือกศึกษามีตัวอย่างที่น่าสนใจดังนี้

…………………………………………………………………….

การถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้ด้วยแบบแผนภูมิต้นไม้ กรณีศึกษาของบริษัท E จำกัด(นามสมมุติ) 

นำเสนอโดยพี่หมู

“จุดพลิกผันสำคัญในความสำเร็จของสถานประกอบการของเรา คือพนักงาน  พนักงานของเรา คือผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในโครงการนี้  ด้วยเขาอยากเลิกสูบบุหรี่แต่ไม่รู้วิธีการ.......ผู้บริหารระดับสูงทุกคนสูบบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์  ท่านเหล่านั้นไม่ได้ขัดขวางและไม่ได้สนับสนุน”

ความเป็นมาของโครงการ(ราก)

เดิมทีเราไม่ได้รู้จักสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. เราไม่ได้รู้จักสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่เราก็มีความสนใจจะพัฒนาสถานประกอบการให้เป็นสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ด้วยเหตุผลของเราดังนี้

  1. ปัญหาสุขภาพของพนักงาน จากการเป็นผู้รับผิดชอบที่ดูแลเรื่องสุขภาพพนักงานของบริษัทพบว่าคนของเรามีปัญหาสุขภาพหลายอย่างโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ และพบว่าพนักงานของเรามีปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่
  2. ปัญหาความปลอดภัยในที่ทำงานเช่น การทิ้งก้นบุหรี่ เมื่อมีพนักงานสูบบุหรี่ในที่ทำงานจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย เช่น การเกิดไฟไหม้
  3. พนักงานของเรามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ พนักงานเขาอยากเลิกสูบบุหรี่อยู่แล้วแต่ไม่รู้วิธีการเลิก มีพนักงานที่สูบบุหรี่ของเราหลายคนเคยมาขอคำปรึกษาอยากเลิกบุหรี่ ตอนนั้นเรารู้เรื่องวิชาการปัญหาโทษภัยของบุหรี่ แต่เรายังไม่รู้วิธีการว่าทำอย่างไร จึงจะช่วยให้พนักงานของเราเลิกบุหรี่ได้
  4. ต่อมาได้รับเอกสารจากโครงการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ที่ดำเนินงานโดยสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้เชิญชวนให้สมัครเข้าร่วมโครงการและเข้าค่ายฝึกอบรม

กิจกรรมและแนวทางสำคัญ(ลำต้น กิ่งก้าน)

การดำเนินงาน ที่ของบริษัทEเราได้มีการจัดกิจกรรมสำคัญตามแนวทางของโครงการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ตามที่คณะทำงานของเรา ได้เข้าอบรมหลักสูตร “การพัฒนาสถานประกอบปลอดบุหรี่อย่างเป็นระบบ” ที่สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจัดขึ้น โดยมีกิจกรรมตามแผนงานที่สำคัญดังนี้

  1. หลังจากเข้าค่ายฝึกอบรมจากสมาคมได้นำแนวทางที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ นำเสนอให้ผู้บริหารทราบ
  2. ศึกษาข้อมูลจากพนักงานทั้งหมด ทำการประเมินผลดี/ผลเสีย และคิดแนวทางการดำเนินงาน
  3. ประสานกับฝ่ายบริหารเพื่อออกนโยบายประกาศเจตนารมณ์ให้เป็นสถานประกอบการปลอดบุหรี่
  4. แต่งตั้งคณะทำงานรับผิดชอบดำเนินงานโครงการโดยวางแผนร่วมกับผู้บริหาร
  5. ตั้งโต๊ะรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ ลด ละ เลิกบุหรี่ รวมทั้งผู้สนับสนุน(หัวหน้าหน่วย,ผู้จัดการ) มีพนักงานเข้าร่วมโครงการ 213 คน  เป็นผู้ที่สมัครลด ละ เลิกสูบบุหรี่ 97 คน ที่เหลือเป็นผู้สนับสนุน มากกว่า 100 คน สัดส่วน 1 ต่อ 1 หรือ  2 ต่อ 1ในระหว่างรับสมัครก็ให้ข้อมูลเอกสารความรู้ไปพร้อมๆกัน โดยในวันรับสมัครจะมีเอกสารให้ความรู้แนบไปพร้อมใบสมัคร โดยตั้งโต๊ะรับสมัครที่โรงอาหาร มีเอกสาร และบอร์ดให้ความรู้
  6. จัดสภาพแวดล้อมของสถานประกอบการให้เอื้อต่อการเป็นสถานประกอบการปลอดบุหรี่
  7. กิจกรรมตามแผนงานโครงการเช่น  จัดอบรมให้ความรู้  จัดกิจกรรมรณรงค์ ประกวดคำขวัญ แจกรางวัล แจกของ

การจัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมพิเศษของสถานประกอบการเพื่อเอื้อต่อความสำเร็จ(ใบ)

ที่ของบริษัทEเราได้มีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อที่จะมุ่งเน้นให้เป็นสถานประกอบการที่มีการควบคุมการสูบบุหรี่ และมุ่งให้เป็นสถานประกอบการที่มีการวางแผนงาน มีการดำเนินงานเพื่อสร้างภาวะปลอดบุหรี่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตามความพร้อมและตามบริบททางวัฒนธรรมของของบริษัทEเราโดยเราได้จัดกิจกรรมพิเศษและจัดสภาพแวดล้อมของของบริษัทEเราให้เอื้อต่อการเป็นสถานประกอบการปลอดบุหรี่ตามแนวทางที่เราได้คิดค้นของเราเองด้วย ได้แก่

  1. จัดคู่บัดดี้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน (ผู้สูบบุหรี่ – ผู้สนับสนุนการเลิกบุหรี่) เนื่องจากเพื่อนอยากให้เพื่อนเลิกสูบด้วย จากพนักงานที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 213 คน  มีผู้แสดงความสมัครใจจะลด ละ เลิกสูบบุหรี่  97 คน ที่เหลือเป็นผู้สนับสนุน มากกว่า 100 คน สัดส่วน  1 ต่อ 1 หรือ  2 ต่อ 1ใน
  2. การลงพูดคุยกับพนักงานรายบุคคล(CASE STUDY)ให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัว โดยใช้มนุษย์สัมพันธ์ส่วนตัว ให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพ เรื่องครอบครัว และโทษของการสูบบุหรี่ เป็นการให้เวลาพบปะกับพนักงานอย่างต่อเนื่องทุกคน ซึ่งจากการได้พบปะรายคนทั้ง 97 คนพบว่าทุกคนมีความตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ 
  3. การลงไปสัมผัสในพื้นที่โดยตรง เป็นการพบปะกลุ่มแบบใจต่อใจในเขตพื้นที่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องทีมคณะทำงานจะจัดการพบปะกลุ่มผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่อย่างสม่ำเสมอ
  4. สร้างเครือข่ายการทำงานทั้งภายในและภายนอกเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ให้มีเกิดการทำงานที่ต่อเนื่องเป็นเครือข่ายรวมพลังความร่วมมือหลายมิติ ที่ของบริษัทEเราสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้าหน่วย,หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนกมาร่วมเป็นผู้สนับสนุน เราสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับครอบครัวของพนักงาน   เราสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรของพนักงานคือสหภาพแรงงานของบริษัท เราสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับเพื่อนสถานประกอบการอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ผลงาน  ความสำเร็จที่เกิดขึ้น(ดอก ผล)

จากการดำเนินการโครงการ ที่ของบริษัทEเราในเวลา 6 เดือน ได้มีการจัดระบบการควบคุมการสูบบุหรี่ และมุ่งให้เป็นสถานประกอบการที่มีการวางแผนงาน มีการดำเนินงานเพื่อสร้างภาวะปลอดบุหรี่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญดังนี้

1.  จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการที่เป็นผู้แสดงความสมัครใจจะลด ละ เลิกสูบบุหรี่ จำนวน 97 คน สามารถเลิกบุหรี่ได้ 39 คน ลดการสูบบุหรี่ได้ 58 คน คงมีพฤติกรรมเดิม 6 คน

2. มีพนักงานหลายคนที่ยังไม่สมัครเข้าร่วมโครงการในรอบแรก  สนใจเข้าร่วมโครงการเรียกร้องให้มีโครงการในรอบ 2

3. มีเครือข่ายการทำงานถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ทั้งภายในและภายนอกเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ให้มีเกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง

4. จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการที่เป็นผู้สนับสนุน การลด ละ เลิกสูบบุหรี่ของเพื่อนพนักงาน  จำนวน116 คน ทั้งหมดมีความภาคภูมิใจในการมีส่วนช่วยเพื่อนพนักงานและสนใจจะสมัครเข้าร่วมโครงการระยะต่อไป

5. สหภาพแรงงานของบริษัทให้การสนับสนุนโครงการและสนใจเข้าร่วมโครงการในระยะต่อไป 

6. เห็นผลที่ชัดเจนในเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับ การมีสุขภาพที่ดีของพนักงาน

7.สถานประกอบการได้รับประโยชน์จากโครงการในเรื่อง การลดค่ารักษาพยาบาล  การทำงานของพนักงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างชัดเจน

บทเรียนการความก้าวหน้าสู่การขยายผล(เมล็ดพันธ์ที่นำไปเพาะปลูกต่อ)

ที่ของบริษัทEเรามีพนักงานหลายคนที่ยังไม่สมัครเข้าร่วมโครงการในรอบแรก  มีความสนใจเข้าร่วมโครงการเรียกร้องให้มีโครงการในรอบ 2 เราจึงอยากให้มีโครงการปีที่  2 เรามีการตั้งชมรมเครือข่าย “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อการขยายผล  ขณะเดียวกันสหภาพแรงงานของบริษัทเห็นผลงานความสำเร็จก็มีความสนใจจะเข้าร่วมโครงการด้วย 

เราสนใจที่จะนำนำบทเรียนที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ไปประยุกต์ใช้ทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานของเราในมิติอื่นเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ และอื่น ๆ

รวมทั้งเรายังได้มีขยายผลความร่วมมือเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการอื่น โดยช่วยเขาเขียนโครงการและช่วยประสานงานโครงการ ซึ่งจากการได้พูดคุยนอกรอบกับผู้บริหารสถานประกอบการหลายแห่งเขาสนใจจะเข้าร่วมโครงการในระยะต่อไป  นอกจากนี้เรายังได้เข้าไปช่วยขยายผลความร่วมมือในโรงเรียนให้พัฒนาเป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ อีกด้วย

คุณค่า ความหมาย ความภาคภูมิใจคนทำงานจิตอาสา(ใบไม้ที่ร่วงหล่นฝากไว้เป็นตำนาน)

รู้สึกมีความสุขใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่  ได้เห็นเพื่อนพนักงานมีสุขภาพดี มีเงินเหลือเก็บ มีความรักความอบอุ่นในครอบครัวและเราเองได้มีส่วนทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมา แม้จะไม่สำเร็จทั้งหมดทุกคน แต่เราก็ได้เริ่มต้นแล้ว  มีรูปธรรมความสำเร็จ  มีบทเรียนประสบการณ์ รวมทั้งมีเพื่อนเครือข่ายร่วมก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ทำให้มีกำลัง...ไม่ท้อถอย

สิ่งที่ไม่อยากทำต่อคือการแจกของเพราะเป็นการหลอกล่อให้เขาเข้ามาร่วมโครงการ

บทเรียนสุดท้ายที่พี่หมูอยากบอก จากบทเรียนประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ว่า  เราต้องทำอย่างเข้มข้น ต้องสัมผัสตรง ๆ จากใจของเราสู่ใจของพนักงาน ให้ความจริงใจด้วยการลงไปให้ความรู้ถึงวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลด ละ เลิกสูบบุหรี่  กับพนักงานเป็นรายคนให้ได้  ต้องสัมผัสลึกเข้าถึงภายในจิตใจของพนักงาน  มีการให้กำลังใจเขาซึ่งกำลังใจเป็นสิ่งที่มีสำคัญมาก เราจึงจัดให้เขามีเพื่อนพนักงานที่เป็นผู้สนับสนุนได้ทำหน้าที่เป็นคู่บัดดี้  ที่มีความจริงใจต่อกัน  

ภาระกิจการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนแม้เป็นเรื่องที่ยาก ต้องการการทุ่มเท ทั้งใจและเวลาของทีมทำงาน แต่หากเมื่อเราทำได้สำเร็จกับคนคนหนึ่งแล้ว เราก็สามารถถ่ายทอดให้กับเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ สามารถถ่ายทอดให้กับสถานประกอบการอื่นๆได้ทั้งโลก

 “งานนี้ต้องทำด้วยใจ  ต้องมีความจริงใจที่จะทำมาก่อน”   นี่คือคำพูดที่พี่หมูทิ้งท้ายให้กับพวกเรา

ขอบคุณ  แผนงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยพื้นที่ให้เกิดเรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง .....จากการถอดบทเรียนแบบAI(สุนทรียสาธก)ด้วยระบบโมเดลแบบแผนภูมิต้นไม้ (The  Tree  Model)  

หมายเลขบันทึก: 369414เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2010 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

. . ขอบคุณ คุณสุเทพ สำหรับ Tree Model ที่อธิบายได้ชัดเจนมากครับ

ขอบคุณครับอ.ดร.ประพนธ์P

  • แผนภูมิต้นไม้(The  Tree  Model) ของ Peter  Senge 
  • เป็นเครื่องมือถอดบทเรียนการทำงานให้เป็นองค์ความรู้ ที่ทำได้ง่าย ทำได้จริง ทำแล้วเกิดผล
  • ผมจึงสนใจพัฒนาประยุกต์ใช้เครื่องมือถอดบทเรียนนี้ในแบบที่ง่ายๆ ที่แม้แต่ชาวบ้านธรรมดาๆก็สามารถเข้าใจได้และนำไปใช้เองได้ ครับ
  • ขอบคุณครับ 

สิ่งที่คุณสุเทพทำนั้น ผมขอชื่นชมมากๆ เลยครับ คุณกำลังทำสิ่งที่เรียกว่า Appreciative Evaluation ครับ ได้ทั้งการประเมินและการถอดบทเรียน ความคิด และกิจกรรมของคุณถือเป็นต้นแบบได้เลยครับ

ผมขออนุญาตนำไปเผยแพร่ให้ชาวเครือข่ายได้ทราบนะครับ และสิ่งที่ผมเห็นร่องรอยอย่างหนึ่งคือ "จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการที่เป็นผู้สนับสนุน การลด ละ เลิกสูบบุหรี่ของเพื่อนพนักงาน จำนวน116 คน ทั้งหมดมีความภาคภูมิใจในการมีส่วนช่วยเพื่อนพนักงานและสนใจจะสมัครเข้าร่วมโครงการระยะต่อไป" ตรงนี้ต่อยอดเป็น Destiny ได้เลยครับ ว่าไปทำให้คุณเจอ Change Agent ในทันที

 

นอกจากนี้การเอามารวมกับ Model ต้นไม้ของ Senge จริงๆ แล้วคล้ายๆกับทฤษฎี Open Systems Model 

ตรงนี้นอกจากสร้างสรรค์แล้ว คุณสุเทพ ยังนำไปกิจกรรมไปผูกกับทฤษฎีนี้ ซึ่งเป็นรากฐานของ OD ทั้งหมด (KM, AI, LO และ AR) ครับ นับว่าสอดคล้องกับปรัชญา ทฤษฎีที่เป็นรากฐานทีเดียว..

ทฤษฎีนี้ำทำให้เราไม่หลุด เพราะมันครอบคลุมพลวัตทั้งหมดครับ 

สร้างสรรค์ดีครับ

และตัวโครงการเอง มีจุดเด่น น่านำไปขยายผล ต่อยอดอีกนะครับ 

ขออนุโมทนาด้วยครับ

 

 

 

เรียนอ.ดร.ภิญโญครับP

อะไรจะปานนั้นครับอ.โญ  แต่ผมก็ชอบและขอบพระคุณอาจารย์งามๆเลยหละครับ

คุณกำลังทำสิ่งที่เรียกว่า Appreciative Evaluation ครับ ได้ทั้งการประเมินและการถอดบทเรียน ความคิด และกิจกรรมของคุณถือเป็นต้นแบบได้เลย

นอกจากนี้การเอามารวมกับ Model ต้นไม้ของ Senge จริงๆ แล้วคล้ายๆกับทฤษฎี Open Systems Model 

นอกจากสร้างสรรค์แล้ว คุณสุเทพ ยังนำไปกิจกรรมไปผูกกับทฤษฎีนี้ ซึ่งเป็นรากฐานของ OD ทั้งหมด (KM, AI, LO และ AR) ครับ นับว่าสอดคล้องกับปรัชญา ทฤษฎีที่เป็นรากฐานทีเดียว

ผมเป็นเพียงเชียงจ่อยเด็กเลี้ยงควาย....ที่สนใจเรื่อง "ชายผู้รู้ใจม้ากับม้าที่รู้ใจคน"มีโอกาสวาสนาได้มาเรียนมข.มอดินแดงที่ท่านอาจารย์ทำงานอยู่(ที่จริงแทบจะไม่ได้เรียนด้วยซ้ำร่อนเร่แสวงหาความหมายไปเรื่อยเพียงแต่สอบผ่าน)ก็นับเป็นบุญวาสนาแล้วครับ

ผมได้บนทึกชีวิตวัยเด็กของผมเป็นเรื่องเล่าใน "เรื่องเล่าเร้าพลังเมื่อผมกลับบ้าน “เชียงจ่อยเด็กเลี้ยงควาย และเชียงจ่อย...ชายผู้รู้ใจม้ากับม้าที่รู้ใจคน”" ไว้ที่http://gotoknow.org/blog/suthepkm/365668

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

พี่คิมไม่ค่อยจะมีความรู้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้  ทั้ง ๆที่ได้ยินมาตั้งนาน  ที่ทำไปก็เพียงแต่ใจกล้าเอาเพื่อนร่วมงานและเด็ก ๆ มานั่งล้อมวงกัน หรือประชุมกัน  ต่างก็ให้ความจริงเกี่ยวกับกิจกรรมที่ได้ทำ

สรุปผลและตัดสินใจร่วมกัน  แต่เราก็เรียกว่า "ถอดบทเรียน" ฮา ๆ ๆ ๆ ๆ ผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้น  เราได้ "ใจ" ของทุกคนมาแล้วครึ่งหนึ่ง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ๆ

วันนี้ได้เรียนรู้ที่เข้าใจดีค่ะ ขอขอบพระคุณค่ะ พี่คิมเป็นคนกล้าที่จะนำความรู้ใหม่ ๆ ไปทดลองใช้ค่ะ

สวัสดีครับครูคิมP

ที่ทำไปก็เพียงแต่ใจกล้าเอาเพื่อนร่วมงานและเด็ก ๆ มานั่งล้อมวงกัน หรือประชุมกัน  ต่างก็ให้ความจริงเกี่ยวกับกิจกรรมที่ได้ทำ

สรุปผลและตัดสินใจร่วมกัน  แต่เราก็เรียกว่า "ถอดบทเรียน" ฮา ๆ ๆ ๆ ๆ ผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้น  เราได้ "ใจ" ของทุกคนมา

ครับครูคิมสุดยอดของกระบวนท่าคือไร้กระบวนท่า และสุดยอดเพลงกระบี่อยู่ที่ใจครับ

ครูคิมชัดเจนดีแล้วครับ...ที่ผมนำเสนอนี้เป็นเพียงการเรียนรู้ของเชียงจ่อยเด็กเลี้ยงควาย  ที่มีฟอร์มหน่อยอยากลองของวิชาของเจ้าสำนักยุทธจักรต่างๆเพื่อฝีกฝนตัวเอง

กระบวนท่าต่างๆนั้นมีไว้สำหรับคนฝึกปรือฝีมือใหม่ครับ  ที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  จะทำอย่างไรให้Workครับ

ตามมาอ่าน ได้ความรู้มากจริงๆ ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

ขอบคุณครับคุณนายดอกเตอร์P

ตามมาอ่าน ได้ความรู้มากจริงๆ ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

  • รู้สึกว่าบันทึกนี้จะมีดอกเตอร์หลายท่านให้เกียรติเข้ามาเมนท์  เชียงจ่อยเด็กเลี้ยงควายที่http://gotoknow.org/blog/suthepkm/365668เลยอดเขินไม่ได้
  • ขอบตุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท