การปฏิรูปประเทศไทยด้วยจังหวัดจัดการตัวเอง


ฉันต้องการเห็นความร่วมมือแทนที่จะเห็นการแบ่งแยกระหว่างข้าราชการขอเจ้า(เจ้าหัวเมืองท้องถิ่นและประเทศราช)กับเทศาภิบาล(รัฐบาลส่วนกลาง)....ฉันต้องการให้พวกเขาตั้งสภาขึ้นมาให้เหมือนกับอังกฤษใช้ปกครองหัวเมืองมลายู

"....การต้องการในเมืองเราในเวลานี้  เป็นที่ต้องการสำคัญ คือ คอนเวินเมนต์ รีฟอร์ม(การปฏิรูปการปกครอง) จำเป็นที่จะให้พนักงานของราชการแผ่นดินทุกๆกรมทำการให้ได้เนื้อตามหน้าที่ และให้ได้ประชุมปฤกษาหารือกันทำการเดินให้ถึงกันโดยง่าย  โดยเร็ว ทำการรับผิดชอบในหน้าที่ของตัว  หลีกลี้ไม่ได้ นี่เป็นความต้องการหนึ่ง ..รวมความก็อย่างเดียวคือคอนเวินเมนต์ รีฟอร์ม(การปฏิรูปการปกครอง)นี่แหละเป็นต้นเหตุที่จะจัดการทั้งปวงได้สำเร็จตลอด ..."

        พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอบคำกราบบังคมทูลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ฯ      ในปี 2435

           

             วันที่20 -21 ก.ย.53 ผมมาเชียงใหม่ ร่วมเวที "ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศไทยภาคประชาชน(จังหวัดจัดการตัวเอง) 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน" มีการแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในแต่ละจังหวัดและการนำเสนองานวิชาการครับ
           ผมสนใจบทเรียน "การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยด้วยจัดการตัวเอง" ซึ่งทางภาคเหนือตอนบนกำลังให้ความสนใจแนวทาง "การปฏิรูปประเทศไทยด้วยจังหวัดจัดการตัวเอง"  ไม่ว่าจะเป็น“เชียงใหม่จัดการตัวเอง” และ “น่านจัดการตัวเอง” ซึ่งกำลังขับเคลื่อนกันอย่างคึกคัก ที่น่านมีการนัดหมายจะจัดเวทีเรื่องนี้ในวันที่1 และ 5 ตุลาคมนี้ครับ ทั้งสองจังหวัดมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีผู้คนในท้องถิ่นมากมายสนใจเข้าร่วมขับเคลื่อนในเรื่องนี้ 

           การมาร่วมสัมมนาครั้งนี้  นอกจากการแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในแต่ละจังหวัดแล้ว ขณะเดียวกันผมก็สนใจ บทเรียนการจัดการตัวเองโดยการปกครองของท้องถิ่นในต่างประเทศ  ที่นำเสนอโดยภาคีวิชาการด้วยครับ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนจากทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศษและแคนนาดา ที่นำเสนอโดย อ.ชำนาญ จันทร์เรือง และการทบทวนงานวิชาการว่าด้วยการจัดการตัวเองของชุมชนท้องถิ่น  ซึ่งนำเสนอโดย อ.ไพสิฐ พานิชย์กุล จาก มช. ก็น่าสนใจเช่นเดียวกันครับ

         จากบทเรียนการปกครองของท้องถิ่นในต่างประเทศ ทำให้ผมคิดถึงข้อเสนอของ อ. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ที่เคยเสนอว่าเมื่อพูดถึงประชาธิปไตยควรคำนึงถึงประชาธิปไตย 3 ระดับ นั่นคือ ประชาธิปไตยทางตรง(ประชาธิปไตยชุมชน_เน้นที่ชุมชนท้องถิ่น) ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(เน้นที่ท้องถิ่น/ภูมินิเวศวัฒนธรรม)และประชาธิปไตยทางอ้อม(แบบเลือกตั้งรัฐสภา_ระดับชาติ) หากจะมีการปฏิรูปต้องมีการปฏิรูปทั้งสามระดับหรือ สามมิติไปพร้อมๆกันจะแก้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้

          ในวงสัมมนาทุกท่านมีความเห็นสอดคล้องกันครับว่าการจะปฏิรูปประเทศไทยให้ประสบผลสำเร็จนั้น นอกจากการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางแล้ว เราจะต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์การปฏิรูปสังคมของบ้านเรา และเรียนรู้บทเรียนจากต่างประเทศด้วยครับ  ทัศนะความคิดเห็นจากวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนั้น ได้ทำให้ผมมีทัศนะต่อเรื่องนี้ที่กว้างรอบด้านขึ้นครับ

          ผมพบว่า หากเราจะวิเคราะห์ปรากฏการณ์การอภิวัฒน์สังคมที่เกิดขึ้น  เราจะพบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆในสังคมไทยเรามักจะบังเอิญมีแบบแผนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆในห้วงเวลาในแต่ละช่วงเป็นระยะเวลาประมาณ 40 ปี ซึ่งสอดคล้องกับที่ท่านอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม ได้เคยกล่าวปาฐกถาพิเศษ  จินตภาพใหม่  ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง” ในเวทีการสัมมนา “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 14  กันยายน 2553  ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์  กรุงเทพฯ  ผมได้บันทึกเรื่องนี้ "การอภิวัฒน์สังคม ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนท้องถิ่นฐานราก" ไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/suthepkm/394311

 

"......ครั้นเมื่อล่วงมาถึงปัจจุบัน บ้านเมืองยิ่งเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า การปกครองอย่างเก่านั้นยิ่งไม่สมกับความต้องการของบ้านเมืองหนักขึ้นทุกที จึงได้มีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ที่จะแก้ไขธรรมเนียมการปกครองให้สมกับกาลเวลา ให้เป็นทางที่เจริญแก่บ้านเมือง......."

     พระราชดำรัสทรงแถลงพระบรมาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2435

        

         ในเวทีครั้งนี้ได้มีคนเสนอว่าหากจะใช้วงเวลา 40 ปีในการปฏิรูป เราคงต้องมองย้อนไปก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ย้อนไปอีกเป็นเวลา 40 ปีก่อนหน้านั้นด้วย ซึ่งเราจะพบว่าในปี 2435 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูปการปกครองของไทยครั้งสำคัญ โดยมีสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ดำรงตำแหน่งสำคัญขณะที่อายุยังไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ ท่านผู้นี้เป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ของบ้านเราในครั้งนั้น  ในครานั้นนอกจากจะมีการปฏิรูปการปกครองในส่วนกลางแล้ว ยังเป็นการปฏิรูปหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นครั้งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น  จากการปกครองตนเองในลักษณะที่เป็นการปกครองตนเองของหัวเมืองต่างๆและการปกครองตนเองแบบประเทศราชภายใต้สยาม เป็นการปกครองท้องถิ่นแบบรวมศูนย์ของอำนาจรัฐส่วนกลางแบบเบ็ดเสร็จ ที่เรียกกันว่า "ระบบเทศาภิบาล" โดยเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการปกครองตนเองสู่อำนาจระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ ทั้งนี้โครงสร้างนี้ได้ถูกออกแบบโดยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นเพื่อป้องกันสยามประเทศให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม จึงได้มีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารประเทศให้มีความทันสมัยเพื่อรับกับสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น ขณะเดียวกันในห้วงเวลาดังกล่าวก็ได้มีการประกาศเลิกทาสในสยามประเทศเกิดขึ้นด้วย รวมความแล้วการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการปกครองเป็น "ระบบเทศาภิบาล" ใช้เวลาจากปี 2435 จนถึงปี 2458 การรวมศูนย์อำนาจรัฐสู่ส่วนกลางแบบเบ็ดเสร็จจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์

          การรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลางโดยส่งเจ้านายที่ได้รับความไว้วางใจจากส่วนกลางไปปกครองท้องถิ่น ก่อให้เกิดการต่อต้าน หรือเกิดกบฏของประชาชนในท้องถิ่นที่ไม่พอใจต่อการถูกปกครอง การไม่ได้รับประโยชน์จากการปกครองของส่วนกลาง หรือได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง เช่น ภาคอีสาน เกิดกบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 กบฏโดยพวกข่า เกิดขึ้นหลังจากนโยบายของรัฐที่ขยายอำนาจเข้าไปในภาคอีสาน, กบฏผู้มีบุญ พ.ศ. 2444 – 2445 ได้เกิดจากสภาพชีวิตของราษฎรอีสาน ความผันผวนทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงหันไปหาความเชื่อท้องถิ่นเรื่องผู้มีบุญที่จะมาแก้ไขความทุกข์เข็ญให้กับตนเอง ภาคเหนือ เกิดกบฏพญาผาบ พ.ศ. 2432 เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บระบบภาษีหมาก พลู มะพร้าวที่ทำให้ราษฎรต้องเสียภาษีทั้งที่ยังไม่มีการซื้อขาย ทำให้ราษฎรเดือดร้อน ภาคใต้ เกิดกบฏผู้วิเศษ พ.ศ. 2442 – 2454 ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความไม่พอใจต่อการออกข้อบังคับสำหรับปกครองจากส่วนกลาง

 

 ".....ฉันต้องการเห็นความร่วมมือแทนที่จะเห็นการแบ่งแยกระหว่างข้าราชการขอเจ้า(เจ้าหัวเมืองท้องถิ่นและประเทศราช)กับเทศาภิบาล(รัฐบาลส่วนกลาง)....ฉันต้องการให้พวกเขาตั้งสภาขึ้นมาให้เหมือนกับอังกฤษใช้ปกครองหัวเมืองมลายู ถ้าไม่แบ่งแยกออกเป็นพวกคนลาว แลให้เขาร่วมมือกับเราได้ แลถ้ามีการปฤกษาหารือกัน แลตัดสินใจกันในสภาแล้วก็ไม่มีทางที่จะที่จะบ่นถึงเรื่องขาดความร่วมมือในกิจการงานของรัฐบาลได้ ..."

                               นโยบายโดยทั่วๆไปเกี่ยวกับหัวเมืองลาว(หัวเมืองลาวเฉียง(เชียงใหม๋) ลาวพวน(อุดร)และลาวกาว(อุบล))

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯถึงสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ 

 เมื่อ 26 สิงหาคม 2442

(จากเตช บุนนาค:การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยามฯ) 

 

        ครับ  นั่นคือการปฏิรูปในยุคแรก แม้จะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายในการหลอมรวมความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ เป็นการบูรณภาพของดินแดนแห่งราชอาณาจักรสยามในเวลานั้น ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สยามประเทศเรา  สามารถรักษาเอกราชไว้ได้ในยุคแสวงหาอาณานิคมของยุโรปได้ รวมทั้งทำให้เกิดการปรับปรุงการบริหารบ้านเมืองให้ทันสมัยทั้งในส่วนระบบการปกครองของรัฐบาลส่วนกลางและการปกครองท้องถิ่นด้วย(เป็นการจัดระบบให้ส่วนกลางได้ปกครองท้องถิ่น มิใช่การสนับสนุนท้องถิ่นปกครองตนเอง)   แต่ในขณะเดียวกันการปฏิรูปโดยการรวบอำนาจเข้าส่วนกลางในครั้งนั้น ก็ได้สร้างปัญหาที่เป็นมรดกของปัญหาตกทอดมาถึงยุคปัจจุบันด้วย นั่นคือการสลายความเป็นเอกลักษณ์ อัตตลักษณ์ที่เป็นตัวตนของแต่ละชุมชนท้องถิ่นแล้วให้หลอมรวมเป็นรัฐชาติหนึ่งเดียว ส่งผลถึงความเป็นชุมชนท้องถิ่นที่อ่อนแอ ร่องรอยของปัญหา ร่องรอยของความไม่พอใจ ที่รัฐชาติส่วนกลางได้ก่อไว้จากคราโน้น  มันไม่ได้จางหายไปตามกาลเวลาได้เลย   หากแต่มันยังคงครุกรุ่น.......จวบจนถึงปัจจุบัน

 

    ".....เราปกครองหัวเมืองลาว  และหัวเมืองมลายูทั้งเจ็ดค่อนข้างจะผิดไปจากสภาพอันแท้จริง  อาจจะกล่าวได้ว่าเรานำแบบการปกครองของต่างประเทศมาใช้ แต่เราใช้ผิดแบบเขาไป.....

            เมื่ออังกฤษใช้รูปแบบการปกครองนี้นั้น  เขา(ข้าหลวงใหญ่ส่วนกลาง)ให้คำแนะนำปฤกษาแก่ผู้ปกครองท้องถิ่น  ซึ่งถือเสมือนเป็นเจ้าของหัวเมืองเหล่านั้น ......ในทางตรงข้าม  เรากลับถือว่าหัวเมืองเหล่านั้นเป็นของเรา  ซึ่งมันไม่จริง เพราะคนมาลายู  และคนลาวเขาจะถือว่าหัวเมืองเหล่านั้นเป็นของพวกเขา   เมื่อเราพูดว่าเราไว้วางใจเขา  แท้จริงเราก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น  แต่เรากลับส่งข้าหลวงและผู้ช่วยไปให้คำปฤกษาแก่พวกเขา  แล้วข้าหลวงกับผู้ช่วยที่ได้รับมอบอำนาจไป ก็จะเชิดพวกนี้เป็นหุ่น หรือไม่ถ้าหากทำไม่ได้ก็จะคอยสอดส่องพวกเขา  และรายงานความลับของเขาเข้ามา อย่างไรก็ตาม  เราแก้ไม่ได้ในเรื่องนี้ ฉันคิดว่าการปกครองที่ไม่ได้ตรงไปตรงมา  จะไม่เกิดผลในทางการเชื่อใจกันและกัน  แลยังไม่ให้ความสงบทางจิตใจอีกด้วย...."

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงจบพระราชหัตถเลขาด้วยข้อความที่ว่าพระองค์ "เสียพระทัยที่ไม่มีทางออกแต่อย่างใด(สำหรับปัญหานี้)ในขณะนี้"

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯถึงสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ 

 เมื่อ 21  พฤศจิกายน  2445

(จากเตช บุนนาค:การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยามฯ)

 

   ครับการอภิวัฒน์สังคมหรือการปฏิรูปประเทศไทยมีขึ้นครั้งใหญ่ๆและสำคัญในแต่ละช่วง 40 ปีสรุปได้ดังนี้

         1. การปฏิรูปการปกครองของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5  เริ่มจากปี 2435 และมีการเลิกทาสในห้วงเวลาเดียวกัน

         2. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย

         3. ยุคการพัฒนาเพื่อประชาชนสู่การพัฒนาของประชาชนและเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516

        4. ยุคต่อไป จะครบรอบ 40 ปี ในปี 2555 หมอประเวศบอกว่า เป็นยุคการอภิวัฒน์โดยชุมชน หรือ ชุมชนาภิวัฒน์  ส่วน อ.ไพบูลย์บอกว่า เป็นยุคของการปฏิรูปประเทศไทยด้วยการจัดการตัวเองอย่างมีคุณภาพและรอบด้าน ของขบวนชุมชนท้องถิ่น

      ครับในยุค การอภิวัฒน์สังคมในยุคการปฏิรูปประเทศไทยด้วยการจัดการตัวเองอย่างมีคุณภาพและรอบด้านของขบวนชุมชนท้องถิ่น  ตามที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2555 นั้น  จะเกิดขึ้นได้จริงหรือเป็นเพียงวาทะกรรมทางการเมืองก็ตาม  แต่เราเองก็น่าจะมีความหวังและร่วมลุ้นนะครับว่า การอภิวัฒน์สังคมในยุคนี้  ในครั้งนี้  ด้วยการปฏิรูปการจัดการตัวเองของชุมชนท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้จริง  และเราคงไม่อยากรอการอภิวัฒน์สังคม อีกครั้งในอีก 40 ปีข้างหน้า

        ครับการอภิวัฒน์สังคมในแต่ละยุคสมัยตามประวัติสาสตร์การปฏิรูปสังคมบ้านเรา  อาจต้องใช้เวลาถึง 40 ปี  เราคงไม่อยากรอนานขนาดนั้น ส่วนจะเป็นไปได้แค่ไหนและใช้เวลาเท่าไหร่ เป็นเรื่องของอนาคตที่อยู่ที่ขบวนชุมชนท้องถิ่นและผู้คนจากทุกภาคส่วนจะได้มารวมพลังกันเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์การการอภิวัฒน์สังคมในครั้งนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 397999เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2010 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้ "หลักและรูปแบบการจัดการตนเอง"  พี่คิมสนใจค่ะ ตอนนี้เป็นชาวบ้านแล้วนะคะ  ต้องหาความรู้ใส่ตัวเองค่ะ

ข้อมูลแน่นมากครับ เข้ามาอ่านแล้วก็ชอบ ความรู้ด้านนี้ของผมนั้นน้อย คงต้องใช้เวลาซํกพักกว่าจะแลกเปลี่ยนกับคุณสุเทพในประเด็นนี้ได้ แต่ส่วนตัวอ่านแล้วก็เห็นด้วย จริงๆ อยากจะให้จัดการตนเองไปถึงหลักสูตรการศึกษา ... เอาไว้มีโอกาส อยากให้คุณสุเทพเขียนบันทึกเกี่ยวกับ มิติทางการศึกษาที่จะเปลี่ยนไป หากจังหวัดมีการจัดการตนเอง .. จะเป็นพระคุณอย่างสุงเลยครับ

สวัสดีครับครูคิมIco32

  • ครูคิมสนใจ "ชุมชนท้องถินจัดการตัวเอง"
  • สอดคล้องกับยุคสมัยครับ  ดูอย่างครูมุกดา  อินต๊ะสาร ที่ดอกคำใต้ พะเยา ก็ทำงานในนามที่เป็นชาวบ้านด้วย ยินดีด้วยครับ
  • หมอประเวศบอกว่ายุคนี้ เป็นยุคของการอภิวัฒน์โดยชุมชน  หรือ ชุมชนาภิวัฒน์   ตอนนี้ครูเป็นชาวบ้านแล้วนั่นแหละเหมาะเลย  ยุคสมัยนี้คนมียศ มีตำแหน่งหน้าที่มักจะถูกระบบกลืนศักยภาพไปเสียหมดครับ
  • ขอบคุณครับ 

สวัสดีครับคุณบีเวอร์ Ico32

ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามความหมายของท่านปรีดี พยมยงค์หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร  บอกว่า เป็นประชาธิปไตยที่รอบด้าน(ประชา +  อธิปไตย = อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชน) หมายความว่า ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในโครงสร้างทั้งสามของสังคม คือ

  • ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในทางเศรษฐกิจ
  • ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง
  • ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในทางวัฒนธรรม(ทัศนะทางสังคมรวมการศึกษาด้วย)

คำถามที่ต้องช่วยกันหาคำตอบคือ ทำอย่างไรประชาชนจึงจะมีอำนาจสูงสุดในโครงสร้างทั้งสามของสังคม  ผมเห็นด้วยกับคุณบีเวอร์ครับว่าการศึกษาหรือทัศนะทางสังคมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่ง  นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง

ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับครูหยูยIco32

  • สมัยครูหยูย เป็น สนช. ครูหยูยมีบทบาทสำคัญผลักดัน พรบ.สภาองค์กรชุมชนและ พรบ.สภาพัฒนาการเมือง
  • ครูหยูยเป็นแรงสำคัญสืบสานภารกิจ "การอภิวัฒน์โดยชุมชน หรือ ชุมชนาภิวัฒน์" 2555 ให้สำเร็จนะครับ

 

ผมมาเชียงใหม่ในคราวนั้น(20-21ก.ย.53)ทำให้ผมได้ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบจากการปฏิรูปการปกครองสังคมไทยในยุคแรก เมื่อปี2435 (เป็นการจัดระบบรวบอำนาจการปกครองให้ส่วนกลางได้ปกครองท้องถิ่นเบ็ดเสร็จ  มิใช่การสนับสนุนให้ท้องถิ่นปกครองตนเองว่ามีผลต่อการเมืองการปกครองของไทยเราเป็นอย่างมาก  การปฏิรูปครั้งเป็นรอยต่อครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบทำให้ความเป็นชุมชนท้องถิ่นและภูมิภาคอ่อนแอลงเป็นอย่างมากและยังคงส่งผลกระทบจนถึงปัจจุบันนี้   ผมทราบแต่ว่าทางภูมิภาคภาคอีสานในช่วงแรกมีการต่อต้านจากคนในท้องถิ่นมากพอสมควร ในรูปกบฏผีบุญ แต่ไม่ทราบว่ามีการต่อต้านในภูมิภาคอื่นๆ ผมได้คุยกับพี่สวิง  ตันอุด และพี่ชัชวาลย์  ทองดีเลิศจึงทำให้ทราบว่าที่ภาคเหนือก็มีประวัติการต่อต้านโดยเฉพาะที่เชียงใหม่และแพร่(กบฎเงี้ยว-ไทใหญ่) เพียงแต่ยังไม่มีการศึกษาค้นคว้าเท่าที่ควร  ต่างจากทางอีสานเรื่องกบฎผีบุญมีงานวิชาการศึกษาค้นคว้ากันอย่างกว้างขวาง พี่ชัชวาลย์  ทองดีเลิศบอกว่ากรณีของเชียงใหม่ ลำพูน เราจะเห็นความชัดเจนได้ในกรณีของครูบาศรีวิชัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท