หัวอกคนบ้าBlog(44) ตอน: หนทางสู่การผลิตบัณฑิตในฝัน


 

 เท่าที่ติดตามดูจากเอกสารและสื่อต่างๆ มีผู้อธิบายว่า ในต่างประเทศเขาเปลี่ยนการเรียนการสอนไปมากแล้ว ประเทศเยอรมัน จีน เกาหลี เขาจะสอนวิชาการต่างๆเฉพาะช่วงเช้า3-4ชั่วโมง ช่วงบ่ายปล่อยให้เด็กๆนักศึกษาออกไปหาความรู้ในโลกแห่งความจริง เป็นการเปิดห้องเรียนสู่โลกกว้างอย่างแท้จริง ..เขาคิด และเขาทำกันอย่างจริงจัง ไม่ได้คิดเล่นๆ ทำเล่นๆ ถ้าจะทำอย่างหวังผลควรพิจารณาประเด็นอะไรบ้าง 

  1. เด็กที่เรามองเขาว่าพวกเรียนอ่อน ประมาณ30% อ่านและเขียนไม่เก่ง เบื่อการ

เรียน หนีโรงเรียน เกเร ป่วนสังคม พวกนี้มีปัญหากับการเรียนในหลักสูตรปกติ ควรที่ฝ่ายวางระบบการศึกษาเลิกข่มขืนให้เรียนแบบไม่ดูตาม้าตาเรือเสียที เห็นควรปรับหลักสูตรใหม่ขึ้นมารองรับเป็นการเฉพาะ ให้เรียนวิชาสามัญ30% ไปเรียนวิชาวิถีไทยในท้องถิ่น ในสังคมไทยทั่วไป70% โดยมีการปรับเอาเทคโนโลยีและวิทยาการที่เหมาะสมมาร่วมกระบวนการเรียน          โตขึ้นเขาจะได้มีความผูกพัน มีความรู้ ความเข้าใจ พอที่จะรับงานในครอบครัว งานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกรรมการหมู่บ้าน เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นคนท้องถิ่นที่ได้รับการเติมเต็มเรื่องมิติชุมชน ถ้าเรียนจบม..3ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชีวิตเป็นการเพิ่มเติมศักยภาพให้สูงขึ้นได้ 

   2.กระบวนการหลักสูตรท้องถิ่น ไม่ควรจะอยู่ที่เด็ก ที่ครู ที่กรรมการสถานศึกษา หรือเขตพื้นที่ฯ แต่ควรจะเฉลี่ยอยู่ในสังคมไทยทุกหมู่เหล่า และควรกำหนดไว้ในนโยบายการศึกษาในระดับที่มีความสำคัญไม่ด้อยกว่าด้านอื่นๆ สุดท้ายถามว่าจะทำอย่างไร

 - ในระดับสถาบันอุดมศึกษา ประมาณว่ามีเด็กโดดห้องเรียน30% ถ้าภาควิชาต่างๆ จัดสัดส่วนการเรียนการสอนภาคทฤษฎีให้สอดรับกับภาคปฏิบัติมากขึ้น แทนที่หลักสูตรต่างๆจะเน้นการสอนแบบอัดทฤษฎีเต็มเวลา จนนึกไม่ออกว่าจะเอาเวลาที่ไหนมาจัดการเรียนภาคสนาม  เรื่องนี้ต้องผ่าหลักสูตร ปรับเนื้อหาวิชาการในตำรา มาเป็นการสร้างเนื้อหาที่เป็นจริงในสังคม เอาเวลาที่เด็กโดดเรียนนั่นมาจัดการเรียน ที่เด็กโดดเรียนเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า เด็กเบื่อการสอนแบบน้ำลายท่วมทุ่ง แต่อาจารย์ก็ยังไม่ยอมเปลี่ยน เด็กนักศึกษาจึงเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนด้วยตนเอง 

- ควรมีนโยบายร้อยรัดเป็นแนวทางเดียวกัน ปรับเป้าหมายในการสร้างสังคมอัตคัดปัญญา หรือสังคมแห่งการรับรู้มาเป็นสังคมสร้างผู้เรียนรู้ ตราบใดที่ไม่มีไม่ถึงจุดนี้ หลักสูตรทิ้งถิ่น ทิ้งชุมชน ลอยเพสังคม จะขยายวงกว้างต่อไป 

ถามว่า จะเริ่มศึกษาแนวคิดการเรียนแบบอิงระบบ หรือKM.ธรรมชาติแบบผสมผสานนี้ได้อย่างไร ขอแนะนำเข้าไปในBlog ของG2K ที่สนามสาธารณะการเรียนรู้แห่งนี้ เปิดกว้างให้ค้นหาตนเอง ค้นหาคนอื่น ถ้ามีคำถาม ก็จะมีผู้หาคำตอบให้  

เข้าไปแล้วตาลาย.. เนื้อหามากมายเหลือเกิน อ๋อ! เรื่องนี้ไม่ยาก ลองแว๊ปไปที่Blog ความรู้เพื่อชีวิต โดย.ดร.แสวง รวยสูงเนิน หรือจะท่องเน๊ทไปชมBlogสมาชิกท่านอื่น หรือจะไปแวะBlogเสวนาวิสาสะกับกลุ่มคนแซ่เฮ ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่จะทำความเข้าใจเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นได้อย่างสนุก 

หมายเหตุ :พรุ่งนี้ มีการประชุมสมัชชาคุณภาพการศึกษา ณ ห้องแกรด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมเพค เมืองทองธานี งานนี้นอกจากมีนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆแล้ว ยังมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยหัวข้อต่างๆที่น่าสนใจ เช่น 

  1. สันติวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสถานศึกษา
  2.  คุณภาพการศึกษา ความเสื่อม ความเสี่ยงทางสังคม
  3. การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
  4.  อาชีวะในมิติใหม่
  5. หนทางสู่การผลิตบัณฑิตในฝัน
  6. คุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนในมุมมองของประชาชน
  7. แนวทางยกระดับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ในสถานศึกษา
  8. การพัฒนาคุณภาพลุกเสือในสถานศึกษา
  9. การศึกษาเอกชน ทำอย่างไร จึงจะมีคุณภาพ
  10. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาพระปริยัติธรรม

 ผมอยู่ในห้องประชุม 5 เวลา 13.00-16.00 . 

เรื่อง หนทางสู่การผลิตบัณฑิตในฝัน มีวิทยากร ดังนี้

ภาคผู้ใช้บัณฑิต                  : ผู้บริหารปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มหาชน

ภาคผู้ผลิตบัณฑิต               :.นพ. อดุย์ วิริยเวชกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัย มมส.

ภาคสังคม                          : ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ จากกลุ่มคนแซ่เฮ

ภาคนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ   : .ดร.ธรรมศักดิ์ สมมาตย์.เกษตรศาสตร์

ภาคนิสิตนักศึกษา               : ผู้แทนนิสิตจากเครือข่ายบัณฑิตอุดมคติไทย

ผู้ดำเนินรายการ                  : .นพ. วุฒิชัย ธนาพงศธร

หมายเลขบันทึก: 148476เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2007 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

  หนทางสู่การผลิตบัณฑิตในฝัน

ท่านครับ มันสำคัญว่าใครฝัน ?

  • นักการศึกษาฝันแบบหนึ่ง
  • นักการเมืองฝันอีกแบบหนึ่ง
  • พระคุณเจ้าฝันอีกแบบหนึ่ง
  • ชาวบ้าน ตาสี ยายมี ก็ฝันอีกแบบหนึ่ง

แล้วเอาไงล่ะ จะเอาฝันใครเป็นตัวตั้ง

ล้านเปอร์เซนต์ คนเขียนก็เอาฝันของตนเอง อาจจะอ้างว่าเอามาจากการมีส่วนร่วมคนนั้น กลุ่มนี้ เอาไว้กัน..

นายศีลาบ้านพังแดง มุกดาหารก็ฝันว่า จะทำงานอย่างไรได้เงินทองมาให้ลูกเรียนหนังสือที่ มมส.และ มข.ได้ จะทำอย่างไรจึงจะไม่ต้องไปขายแรงงาน อยู่บ้านแล้วทำงานมีรายได้ พอเพียงส่งลูกเรียนหนังสือ ได้ไหม

ลุงอ่าง บ้านพรานอ้นมุกดาหาร ก็ฝันว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำการเกษตรได้ผลผลิตมากพอที่จะเอาไปขายได้ราคามาใช้หนี้สินกองทุนเงินล้านน่ะ ให้หมด ให้สิ้นเสียที แล้วหน่วยงานราชการที่มาส่งเสริมปลูกหญ้าเพื่อเอาเมล็ดพันธ์ไปขายต่อน่ะ เมื่อไหร่จะมาซื้อเอาไปตามราคาที่ตกลงกันโดยวาจาเมื่อปีที่แล้ว เล่า

บัณฑิตที่สถาบันสูงส่งนั้นน่ะสร้างคนมารับผิดชอบความต้องการเหล่านี้ได้ไหม

เห็นกี่คนกี่คนก็วิ่งเข้าเมืองไม่เห็นหาง ปล่อยให้ชนบท อีพ่ออีแม่เผชิญหน้ากับพ่อค้าที่เข้ามาหว่านล้อม ให้ซื้อนั่น ขายนี่ คำพูดของเขาอย่างกับว่าซื้อแล้วจะรวยวันพรุ่งนี้  ใช้แล้วผลผลิตจะล้นยุ้งล้นฉาง มีบัณฑิตเข้าไปช่วยวิเคราะห์ เจาะลึกให้เห็นแก่นแท้ของธุรกิจที่หากินกับชาวบ้านบ้างไหม 

แม้แต่ตัวมันเองยังตกไปในหลุมพลางระบบธุรกิจที่บ้าคลั่งเงินตรา โดยอ้างว่าบ้านเราเป็นประชาธิปไตย ใครๆมีสิทธิที่จะทำมาค้าขายอะไรก็ได้ที่ไม่ผิดกฏหมาย  

บันฑิตอันพึงประสงค์เป็นบัณฑิตที่ไม่รู้จักประเทศไทยจริง เวลาตั้งคำถามบัณฑิตว่า ลองเอากระดาษไปหนึ่งแผ่น แล้วลองวาดรูปชนบทให้ดูหน่อยซิว่า ชนบทในทัศนะของเขานั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง วาดรูปมาให้หมด

พบว่า ชนบทที่บัณฑิตวาดนั้น มีแต่บ้าน ถนน รถยนต์ เสาทีวี มือถือ ภูเขาสองลูก พระอาทิตย์ขึ้น นกสองตัว.......อาจจะมีควาย มีวัว....แต่ร้อยทั้งร้อย ไม่มีผู้เฒ่าผู้แก่  ไม่มีวัฒนธรรมประเพณี ไม่มีความคิดความเชื่อ วัด พระ และคุณธรรม

ดังนั้นบัณฑิตที่เราได้มาจากสถาบันก็เพียงเป็นเด็กที่ในหัวเขามีแต่ การบริโภคผลผลิตสินค้าของกลุ่มทุน ธุรกิจ บริโภคสินค้าสำเร็จรูปที่เสนอขายบนทีวี ใช้ภาษาที่คิดว่า เท่ห์ระเบิด มองไม่เห็นคุณค่าของการเดินไปทำบุญที่วัด แต่จะต้องก้าวขาออกไปร่วมงานวาเลนไทน์ หรือวันฮาโลวีน

คิดไม่เป็น : คนที่ทำงานกับผม จบมาจากสถาบันอุดมศึกษามีชื่อ ทำงานตามคำสั่ง คิดไม่เป็น บอกอย่างหนึ่งก็ทำอย่างหนึ่ง  อีกหลายอย่างที่เป็นเรื่องต่อเนื่องกันนั้นคิดไม่เป็น คิดไม่ออก  เอ้าคิดซะว่าเป็นน้องใหม่ต้องสอนงาน  แต่ เอ เวลาผ่านไปเป็นปีแล้วนะ เบอร์โทรศัพท์ที่ใช้เกือนทุกวันยังต้องค้นให้ทั่วไปหมดว่าจดไว้ตรงไหน

ตรงข้าม เด็กโรงเรียนบ้านแก่งนาง มาช่วยแม่ขายผัก ขายสักพักเดียวคิดเลขในใจคล่องปรื๊อ รู้จักทอนเงินเอง รู้จักต่อรอง รู้จักพูดบอกคุณสมบัติของผักของตัวเองให้ลูกค้าได้ .....นี่ไม่ใช่บัณฑิต แค่เด็กบ้านนอกเท่านั้น

หากสังคมนี้มีเพียงพ่อค้า นักธุรกิจ โลกดิจิตอล ก็ไปอย่างหนึ่ง 

แต่ประเทศไทยมีชนบท มีชาวนาชาวไร่ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่  เอาเขาไปไหน  การเรียนการสอนพูดถึงอะไรของเขาบ้าง...

 

เอ้าผมบ่นซะยาวเลยครับ ขออภัยครับ เปล่าหรอก คิดถึงบัณฑิตในฝันน่ะครับ

ครูบาคะ

เข้ามาเก็บรับซับความรู้ค่ะ..

มีเพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งเล่าด้วยความน้อยอกน้อยใจ ว่า เรียนจบแล้ว จะไปบวช ถามว่าทำไม...เขาตอบว่าจะไปขออโหสิอาจารย์และภาวนาว่าชาตินี้ไม่ต้องเจอกันอีก...นี่คือเรื่องจริงที่กลืนน้ำลายยังติดคอค่ะ

P

ขอบคุณมากครับ ได้แนวคิดหลากมุมมอง ขออีกๆๆๆ

..อยากจะเห็นการผลิตบัณฑิตในโลกความจริง

เราฝันมาเยอะแล้ว อย่างโรงเรียนในฝัน เลอะเทอะ จนคนฝันแทบบ้า มีคนฆ่าตัวตาย อิอิ

ครูบาครับ

  • ที่ผ่านมาในห้องเราเรียนหลักการ ทฤษฎีมากมาย  ผมเห็นด้วยครับว่าต้องเรียน  แต่เรียนเล้วต้องเปิดโลกสังคมจริงให้เขาเอาหลักการนั้น ทฤษฎีนั้นไปใช้ ไปปฏิบัติ ไปทำ ไปฝึก
  • ผมชอบหลักสูตรของแพทย์ เมื่อเรียนแล้วปีท้ายๆเป็นแพทย์ฝึกหัด (Intern) ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์  ก่อนที่จะออกไปประกอบอาชีพ
  • วิชาชีพอื่นๆก็เหมือนกัน  ต้องออกไปฝึก ไปทำ ไปปฏิบัติ จึงจะรู้ว่าชีวิตจริงนั้นเป็นอย่างไร เข้าใจเขาซะให้ลึกซึ้ง ก่อน เหมือนหมอหาข้อมูลคนไข้ แล้วบันทึก วินิจฉัย แล้วเยียวยารักษา และดูอาการต่อเนื่อง วิชาชีพอื่นก็เช่นกันต้องทำในทำนองเดียวกัน เอาหลักการไปใช้เอาทฤษฎีไปใช้ในสถานการณ์จริง จึงจะรู้ว่า หลักการนี้ ใช้ได้หรือไม่ได้ ได้มากได้น้อยอย่างไร 
  • อาชีพครูมีการฝึกการสอน  ทุกวิชาชีพต้องใช้ศิลปะควบคู่ไปกับวิชาชีพ ทราบว่าบางประเทศจะต้องออกไปปฏิบัติจริงอย่างน้อยหนึ่งปี จึงกลับมาเรียนต่อจนจบในทุกวิชาชีพ
  • การเรียนในห้อง----->ออกไปปฏิบัติ----->เอาบทเรียนมาแลกเปลี่ยนแล้วศึกษาค้นคว้าต่อไป นี่คือการฝึกให้คิดเป็น ทำเป็น ติดดิน และสร้างสรรค์ อยู่บนของจริงไม่ลอยละล่อง
  • ครูออกไปสอน
  • เรียนกฏหมาย ออกไปฝึกกับอัยการ นักกฏหมายข้างโรงข้างศาล สถาบันศาลต่างๆ
  • นักเกษตรออกไปอยู่กับชาวบ้านสักปีหนึ่ง
  • เภสัช ออกไปอยู่ที่โรงพยาบาล ไปเรียนสมุนไพรโบราณกับพ่อนั่นพ่อนี่ ไปเดินป่าดงหลวง ดูกวางเครือของจริงมันเป็นอย่างไรขึ้นตรงไหน ต้นตะไคร้ต้นมันเป็นอย่างไรในป่าของจริง อยู่สักปีหนึ่ง
  • นักวิศวกร  ออกไปอยู่กับโรงานต่างๆ บริษัทก่อสร้าง หน่วยงานก่อสร้างจริง ฯลฯ
  • .....ฯลฯ.  อาจารย์ก็ออกไปด้วย ไปแลกเปลีย่นกับนักศึกษา ไปแลกเปลี่ยนกับเจ้าของกิจการ ไปแลกเปลี่ยนกับลูกค้า...โอย..ข้อมูลบานตะไทที่มาจากสังคมจริง  ของจริง  ไม่ใช่สมมุติกันอยู่นั่นแหละ 10 ปีมาแล้วยังยกตัวอย่างเดิมอยู่เลย  อิอิ
  • การออกไปสนามจริงทุกสาขาวิชานั้นจะช่วยให้เกิดการถกเถียงว่าหลักการที่เรียนมากับของจริงมันไปด้วยกันได้ไหม อาจะก่อให้เกิดการสร้างหลักการใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆที่มาจากฐานสังคมจริงของไทยเรา ไม่ใช่เอาแต่แปรมาจากตำราต่างประเทศ อ้างกันอยู่นั่นแหละ มิสเตอรนั่น มิสสิสนี่  ไม่เห็นอ้างพ่อบัวไลผู้ตอนผักหวานป่าได้ผล พ่อแสนผู้ทำเล้าหมูเคลื่อนที่ ไม่เห็นอ้างครูบาสุทธินันท์ ...
  • เรียน---->เอาไปปฏิบัติจริง------>เรียนรู้แบบยกระดัยขึ้นไปอีกจากของจริง
  • เราจะได้เด็กที่ติดดิน ทำเป็น คิดเป็น สร้างสรรค์เป็น ดัดแปลงได้ มีความสนใจเฉพาะส่วนตัวตามความถนัดของตัวเอง
  • เราจะได้เด็กที่ยืนอยู่บนของจริง

กราบสามครั้งครับ

ผมเขียนให้แล้วนะครับ ตามอ่านได้ที่นี่นะครับ

เก้าข้อ บัณฑิตที่สังคมไทยควรผลิต

ขอแค่เก้าข้อพอครับ 

กราบครับ 

สวัสดีครับครูบา

              การศึกษาทุกวันนี้พยายามที่จะบรรจุทุกอย่างให้เด็ก สุดท้ายเด็กที่จบการศึกษาออกมากลายเป็นเป็ดครับ

             เด็กที่เห็นจะแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มเรียนเก่ง กลุ่มเรียนปานกลาง กลุ่มเรียนอ่อน แต่กลุ่มที่อยู่ในสังคมได้อย่างสบาย คือกลุ่มเรียนปานกลางครับ

              ส่วนครูอาจารย์ทุกวันนี้ วุฒิภาวะทางอารมณ์ยังไม่ได้ ยิ่งเรียนสูง บางท่านยิ่งอารมณ์อ่อนไหว ผลกรรมก็ตกกระทบที่เด็กครับ

              แผนการศึกษาชาติก็เห็นเปลี่ยนไปตามผู้บริหารระดับสูงตลอดครับ

              ผู้บริหารส่วนหนึ่งยังติดยึดกับยศฐา บรรดาศักดิ์ มากกว่าบริหารจัดการสถานศึกษาของตัวเองครับ              

              วงการศึกษาไทยยังไม่มีพลังพอที่จะต่อสู้กับสิ่งที่เป็นพลังบีบอัดที่ทำให้การศึกษาไทยไม่ก้าวหน้า แคระเกร็นครับ

              ก็ต้องรอดูพลังที่จะสามารถสลายพลังมืดเหล่านั้นได้...คิดว่าคงจะเห็นในช่วงอายุของพวกเรานิดหน่อยก็ยังดีครับ

                          ขอบคุณครับที่มีโอกาสออกความเห็นครับ

                                    สวัสดีครับผม

  • สวัสดีครับพ่อครูบา
  • พี่บางทรายได้สรุปไว้ตอนท้ายว่า
  • เรียน---->เอาไปปฏิบัติจริง------>เรียนรู้แบบยกระดับขึ้นไปอีกจากของจริง  อันนี้คงต้องปรับวิธีการเรียนรู้ใน-นอกสถาบัน
  • เราจะได้เด็กที่ติดดิน ทำเป็น คิดเป็น สร้างสรรค์เป็น ดัดแปลงได้ มีความสนใจเฉพาะส่วนตัวตามความถนัดของตัวเอง  อันนี้น่าสนใจมากครับ และ เราจะได้เด็กที่ยืนอยู่บนของจริง
  • ตามไปอ่านของ อ.เม้งแล้ว ก็สอดคล้องกันดีครับ
  • ผมคงจะไม่เขียนเกี่ยวกับสิ่งที่พึงประสงค์ของผมว่าบัณฑิตความเป็นอย่างไร
  • แต่มีประสบการณ์ตรงและขอยืนยันว่า คนรุ่นใหม่ที่จบแล้วมาทำงาน เท่าที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสบางส่วน  ใจไม่สู่ครับ  ไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งๆ ที่เรียนรู้อะไรใหม่ๆ  ไม่รู้จักใช้โอกาส
  • สู้คนรุ่นเก่าๆ ที่จบ ปวส.หรืออนุปริญญา ที่เคยลุยงานหนักตอนเรียนมาก่อนไม่ได้  ลงสนามแล้วจะเห็นความแตกชัดเจนมาก  ปรับตัวก็ไม่เก่ง

 

ก่อนที่เราจะพูดถึงการผลิตบัณฑิตในฝัน ลองพิจารณาดูว่า บัณฑิตในฝันคือคนที่มีคุณภาพ (มีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ มีศักศรี มีสุขภาพจิตรที่ดี ทนต่อสภาวะกดดันและยั่วยุทุกรูปแบบได้ ) มีความรู้ ความสามารถ มีความรับผิดชอบ ทำงานได้ตรงตามความต้องการของท้องถิ่น ของภาคส่วนต่างๆ ของประเทศชาติหรือเปล่า ถ้าใช่ หรือไม่ก็ใกล้เคียง เราก็ต้องพิจารณาดูความเป็นจริงว่าในบ้านเมืองเรา มีบุคนต้นแบบในแต่ละท้องถิ่น แต่ละภาคส่วน ในสาขานั้นๆ หรือไม่ ถ้ามีก็ต้องตั้งคำถามต่ออีกว่า ท่านเหล่านี้ผ่านการศึกษาฝึกฝนในระบบแบบไหนมา เมื่อไหร่ อย่างไรทำไมถึงได้มีคุณภาพที่เราต้องการ แล้วเราจะพบความจริง..ถ้าไม่มีล่ะ จะต้องลองผิดลองถูกกันอย่างไร ก็ต้องคิดหาทางทำกันอย่างรอบคอบ อย่าเป็นแค่ฝันเอา จงลงมือทำให้มันเกิดตราบใดที่เรายังไม่รู้เลยว่าเราต้องการนำพาประเทศชาติไปทางไหน ด้วยเหตุผลใด  เราหันมาดูต้นทุนของประเทศชาติเสียก่อน ว่าเรามีทรัพยากรอะไร อยู่ที่ไหน  มากน้อยเพียงไร  คุณภาพอย่างไร สามารถที่พัฒนาให้เกิดประโยชน์ พอเพียง และเหมาะกับประชากรของประเทศหรือไม่ และต้องทำอย่างไร แต่ละพื้นที่ มันมีทั้งความเหมือน และความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การพัฒนาที่ดีต้องสอดคล้องกับพื้นที่ และทันกันกับเหตุการ ดังนั้นจะต้องปรับให้เหมาะสมทันการตลอด ไม่ใช่แผลนนิ่งมีแต่แผนแต่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่เคยทำ ไม่รู้ว่าทำอย่างไร คงต้องมีคำถามอีกมากมายที่ต้องการคำตอบจากหลายๆภาคส่วน อิสระภาพทางการศึกษาคืออะไร มันมีไหมในบ้านเมืองเรา เขาอยากเรียนรู้เขาจึงมาหาเรียน เพื่อเอาไปใช้กับสิ่งที่เขาต้องการ ไม่ใช่มาให้เขายัดเยียดหลักสูตรต่างๆที่นั่งเทียนปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อความทันสมันที่หลงสมัยทั้งๆที่ยังไม่รู้เลยว่ามันใช่สิ่งที่คนในบ้านเมืองต้องการหรือไม่ อย่าเอาการศึกษาทำแค่เป็นแฟชั่นเท่านั้นเราจะหลงทาง

คงต้องผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน  คุณครูที่มุ่งแต่ศาสาตร์  วาดภาพแต่ในตำรา  หามีปัญญาไม่  

เราไม่ทิ้งศาสตร์  แต่ศิลปในการสอน  การนำเสนอเนื้อหา  ที่ไม่ต้องยึดติดแต่ในห้องเรียนเหลี่ยมๆ โต๊ะเก้าอี้เรียงเป็นแถวๆ  ไม่สร้างปัญญาการเรียนรู้สักเท่าไร  คงต้องไปดูภายนอกห้องเรียนแล้วนำมาเล่าเรื่องอย่างที่ชาวบล็อกเขาทำกัน

หลักสูตรท้องถิ่น ต้องสอดคล้องต่อภูมิสังคม  อย่าคิดแต่เหมือนๆกัน  เพราะแต่ละท้องถิ่นชุมชนต้องการปัญญาที่แตกต่างกัน  เมืองน้ำต้องหนักไปทางจัดการน้ำ  เมืองดินแล้งต้องการจัดการดิน  เมืองคนนักต้องการจัดการคน  

อย่าว่าแต่เด็กเลยระบบการสอนแบบปัจจุบันมันน่าเบื่อทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่  เราเอาของจริงมาสอนก่อนได้ใหม  แล้วค่อยไปสู่ตำรา  ปัญหาเวลานี้เอาตำรานำแล้วปัญญาตาม  ปัญญาเลยไปติดอยู่ที่ตัวหนังสือหมด  เรียนม่งแต่เอาชนะคะแนน  ห่างไกลการแก้ปัญหาชีวิตไปทุกที

การวิจัยทุกวันนี้ก็ดีแต่มัดรวมเล่ม  ขอสนับสนุนประชาพิจัยของมหาวิทยาลัยชีวิต  เรียนจากไกล้ตัวจับต้องได้ไปสู่ของใหญ่ที่ไกลตัว  บางคนบอกผมว่าอาจารย์บางส่วนทุกวันนี้ไม่เคยปฏิบัติเลยในชีวิต  ดำรงอยู่ได้ภายในห้องเรียน  พอออกนอกห้องอาจารย์เองเอาชีวิตแทบไม่รอด 

การเรียนการสอนทั้งในและนอกพื้นที่ห้องเรียนต้องสร้างให้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น  ครูที่ดีไม่จำเป็นต้องสิงห์สถิตย์อยู่แต่ในห้องเรียน  พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายหมู หมา กา ไก่ ก็เป็นครูเรียนรู้ชีวิตเราได้หมด  ผมเองก็มีครูหมาๆสอนอยู่ทุกวัน  เพียงแต่เตือนตนเองเสมออย่าเป็นคนหมาๆก็แล้วกัน   ฮิฮิแล

ขอบคุณมากครับ

  • ทุกความเห็นขออนุญาตเหมารวมว่า เป็นความเห็นของคนแซ่เฮ จะประมวลไปนำเสนอพรุงนี้ครับ ว่าภาคสังคม เห็นแล้ว เข้าใจแล้ว รู้ที่ไปที่มาของเส้นทางนี้แล้ว ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่นำไปสู่ระบบการเรียนที่ระหกระเหินนี้
  • เราไม่อยากเห็นเส้นทางบัณฑิตที่มีแต่ความฝัน
  • บัณฑิตในโลกความจริง จะดีขึ้นได้ ควรมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร หลักการศึกษาของชาติ เปลี่ยนไปตามคำขวัญที่คิดขึ้นมาให้ดูดี บางทีถึงกับทะลึ่ง ไปถึง ความเป็นเลิศทางวิชาการ 
  • ก็ได้แต่เห็นใจ  เมื่อทุกภาคส่วนสังคมยังไม่ยอมรับเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ที่มีความตระหนักว่า เรามีหน้าที่ดูแลการศึกษา ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษา สกอ สกว สกศ  หรือตระกูล ส.ทั้งหลาย
  • ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย โรงเรียน ครู และนักบริหารการศึกษาที่อ่อนเปลี้ยเต็มที
  • ถ้าประชาคมไทย ไม่ยอมรับเป็นเจ้าภาพร่วมมือร่วมใจกัน  เหมือนการมาร่วมอุปสมบทลูกหลาน นัดกันเอาลูกหลานมาบวชอบรมบ่มนิสัย
  •  คนไทยสอนลูกตั้งแต่อยู่ในอู่ เพลงกล่อมลูก พาลูกเข้าวัด ทำบุญ ส่วนเป็นส่วนรับผิดชอบสังคมที่งดงาม
  • ช่วงที่ไปดงหลวง พวกเราปลื้มกับเจ้าตัวเล็ก ตัวกระเปี๊ยก ที่พี่ป้าน้าอารุมรัก รุมกอด แย่งกันดูแล ..สิ่งเรานี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิตตามสไตล์ของคนแซ่เฮ
  • เจ้าหนูดิน แดน น้องไผ่ หนูออต กิ่ง ออย สิงโต หนูขวัญ หนูอาย (ก๊วนเด็กเฮ) ล้วนอยู่ในวงล้อมของสายใยรักของชาวเฮรุ่นอาสุโส
  • มีความรักไหมครับ เอามาร้อยเรียงลูกหลานให้อยู่ที่บ้าน ที่โรงเรียน อยู่ในสังคม อย่างอบอุ่น ไม่ทิ้งขว้างกัน ไม่โทษกัน
  • ไม่รู้จะอธิบายยังไง จึงเอาเรื่องใกล้ตัวของชาวเฮมาเล่า หน้าที่จัดการศึกษา คือหน้าที่ของคนเรา
  • อย่าไปรอคนอื่น กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้
  • มาผัดหมี่โคราช แกงหรี่ญี่ปุ่น แกงผักกาดจอ น้ำพริกอ่อง น้ำพริกลงเรือ ไก่ทอดเจ สลัดผัก กินกันเองดีกว่า นะครับ อร่อยด้วย ดีด้วย ทุกมิติ 

พ่อครูบาฯครับ

  • บันทึกนี้  อ่านไปเคาะหัวคนอ่านไปด้วย
  • คนที่มีบทบาทสำคัญเรื่องนโยบายมาอ่านบ้างหรือเปล่าเนี่ย อยากให้โดน.....บ้าง
  • ท่านที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นก็เผ็ดมันและถึงแก่นมาก
  • ก็ด้วยพลังของ G2K แท้ ๆ

ถือเป็นสุดยอดบันทึกที่รวบรวมสุดยอดครูบาอาจารย์ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการศึกษาไทย

สะท้อนจากตนเอง สำหรับในโลกให้ความซับซ้อนมีปัจจัยหลายอย่างมันเปลี่ยนไป ในส่วนตัวผมคิดว่ามิติทางด้านสังคมและครอบครัว ก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กได้

  • เรียนตามใบสั่ง ขาดเวทีในการค้นหาต้นเองก่อน
  • พ่อแม่มีค่านิยมในการเปรียบเทียบ ไม่เคารพและชื่นชมความแตกต่าง ซึ่งน่าจะมีโรงเรียนสอนพ่อแม่บ้างนะครับ (บางที่จากปัจจัยที่เปลี่ยนไป เลยถูดครอบงำทางความคิดไปแล้ว)
  • ปัจจัยทางสังคมที่ไม่สอดประสาน  
  • การเร่งรีบดิ้นรน
  • กาครอบงำทางวัฒนธรรม
  • การทอดทิ้งภูมิปัญญาที่มีกันอยู่ และไม่ต่อยอด
  • ....

โชคดีที่ข้ามพ้นและปนเปื้อน ผ่านมาได้ แต่คนอื่น และเด็กรุ่นหลัง คงต้องการการแก้ปัญหาที่ผสมผสานในหลายๆมิติ ไปพร้อมๆกันด้วย

คงเป็นปัจจัยอีกด้านที่ละเลยไม่ได้

 

P

เออ โรงเรียนสอนพ่อแม่ นี่ก็สำคัญนะ

ใครจะเปิดโรงเรียนนี้ละ จะไปสมัครเรียน หมายเลข 1

กราบสวัสดีครับพ่อครูบาฯ

  • กำลังตามเก็บแนวความคิดของพ่อย้อนหลังไปเรื่อยๆครับ
  • เก็บทุกบันทึกที่เกี่ยวกับการศึกษา
  • และก็ค่อยๆกลั่นเอาออกมาใช้กับเด็กและชุมชนไปเรื่อยๆเช่นเดียวกันครับ
  • แต่จะได้ผล จะสู้กับกระแสนิยมคะแนนดีๆ เกรดสูงๆในเชิงวิชาการได้หรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจครับ
  • ขอกราบขอบพระคุณพ่อครูบาฯมากๆครับ  สำหรับบันทึกที่อธิบายความในใจแทนผมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้ทุกเรื่อง
  • สวัสดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท