5 ดูสิเธอ ตอน: : เด็กตีกัน สะท้อนถึง เด็กตีเบ้าตาระบบการศึกษา!


[ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มเยาวชน

..เรื่องนี้เต็มไปด้วยความน่าเห็นใจ สะสมกันมานาน.. จนท้วมท้นใจ แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่า เราจะชำระเสี้ยนที่ปักใจลูกหลานเราได้อย่างไร? มีใครบ้างที่ไม่เดือดร้อน เป็นทุกข์เรื่องลูกๆหลานๆ ยกมือขึ้น !

เมื่อก่อน นานๆครั้งเราจะได้ข่าวเด็ก สายอาชีวะ ช่างกล ยกพวกทดสอบพลังกัน แต่บัดเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะมีงานในหมู่บ้านหรืองานฉลองในเทศกาลต่างๆ เด็กยกพวกถล่มกันระบาดไปทั่วทุกชุมชน เป็นเรื่องที่รู้กันว่างานไหนงานนั้น ..ตีแน่ ถึงจะป้องกันอย่างไรก็ตุบตั๊บกันจนได้ บางหมู่บ้านเลี่ยงมาจัดงานช่วงกลางวัน เปิดเพลงเต้นซิ่ง ซิ่งกันไปกันมาก็ฝุ่นตระหลบกระเจิง เป็นการคิดบัญชีหมั่นไส้ค้างเก่าของพวกวัยรุ่นเขา เหตุการณ์ขยายทำร้ายกันระบาดในหมู่เด็กสตรี นี่ก็ล่อกันนัวเนียเป็นข่าวเอิกกะเริกอยู่เสมอ เด็กสมัยนี้ไม่รู้จัก เมตตา กรุณา อุเบกขา..หนักนิดเบาหน่อยเก็บมาอาฆาตแค้น ท่านลองนึกดูเถิดถ้าลูกหลานเรามีชีวิตจิตใจหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้  อนาคตจะเป็นเช่นไร สังคมสมานฉันท์อยู่ตรงไหน?  จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? โรงเรียนวิถีพุทธ  โรงเรียนในฝัน อบรมลูกเสือ ค่ายพุทธบุตร ฯลฯ เพียงพอไหมที่จะเป็นต้นแบบแก้ไขวิกฤตินี้  

[ ในสมัยที่วิถีสังคมชนบทปกติ เด็กเกิดมาจะได้รับการอบรมขัดเกลาจิตใจ ผ่านเพลงกล่อมลูกตั้งแต่นอนอยู่ในอู่ โตขึ้นมาอยู่ภายใต้สายตาผู้คนในชุมชนช่วยกันดูแลพี่ป้าน้าอายังอยู่กันพร้อมหน้า ชวนเด็กทำงานหรือเรียนวิถีภายในชุมชน โตขึ้นมาเข้าสู่วัยเลือดร้อน พ่อแม่พี่ป้าน้าลุงจับบวชเรียน มอบลูกหลานให้หลวงพ่ออบรมบ่มเพาะจิตใจให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ สำนึกในสถานะของตนเอง นั่งพนมมือน้ำตาไหลพรากตอนเรียกขวัญนาค พิธีการเหล่านี้ได้บ่งบอกว่า ตัวเขานั้นมีความหมายมีความสำคัญต่อครอบครัวและสังคมนั้นๆ ไม่ใช้ปล่อยให้เป็นเด็กเหลือขอเร่ร่อนป่วนสังคม

[ ย้อนมาดูเส้นทางเดินของเด็กยุคใหม่  พ่อแม่ผู้ปกครองโยนภาระให้โรงเรียนแทบทั้งหมด โรงเรียนอ้าแขนรับ ใครจะเข้าไปช่วยก็จะมีกฎเกณฑ์มาอ้างที่จะไม่ยอมปล่อยเด็ก หรือเปิดทางให้เด็กได้มีการร่วมงานกับครอบครัวมากนัก เกิดกระแสบ้าเรียนพิเศษ พ่อแม่และครูเห็นชอบตรงกันว่า เด็กต้องติวๆๆ เรียนกันอย่างเดียวเป็นพายุบุแคม ตัวหลักสูตรปกติก็รัดรึงจนเด็กทำอะไรไม่เป็น เนื้อหาการเรียนไม่มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการทางสังคมท้องถิ่น วิชางานบ้านหายไป เน้นที่วิชาการบ้านอย่างเดียว หลักสูตรส่วนมากสอนวิชาทิ้งถิ่น

[ ในเมื่อการศึกษาการพัฒนาชนบทไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทุกคนมองว่าชนบทฝืดเคือง ขาดแคลน ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีอนาคต ทำให้เกิดแนวคิด วิ่งสู้ฟัด ขานรับกันทั้งระบบ ไล่ตั้งแต่นโยบายไปถึงนโยบอด ที่น่าเวทนา กลุ่มเด็กที่เรียนวิชาการไม่ถนัด จะถูกบังคับขืนใจให้เรียนหลักสูตรปกติ ยิ่งเรียนก็ยิ่งอมทุกข์ เห็นหมวดภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เป็นยาขมหม้อใหญ่ ฝืนทนฝืนใจเรียนไม่ไหว

ตอนหลังก็ชวนกันหนีออกจากห้องเรียน ไปแสวงหาโลกใหม่ที่โดนใจมากกว่า เด็กเกลียดครูและโรงเรียน หล่นหายระหว่างทาง โรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ในชนบท มีเด็กกลุ่มนี้ประมาณ25-30% คิดเป็นจำนวนหลายร้อยคน/1โรง เมื่อไหร่จะยอมรับกันเสียที ทำง่ายๆ ยอมรับความจริง มองหาตัวช่วย..ไม่ต้องเกรงว่าคนอื่นจะมาเปิดดู ขี้ที่นั่งทับไว้ ..วิกฤตินี้ถ้าไม่แก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม การเดินขบวนขับไล่ผู้บริหารสถานศึกษาก็จะบาด ระเบิด  ระเบย..

โรงเรียนไม่สามารถดูแล สอนเด็กเป็นคนดีได้ ถ้าไม่ร่วมมือกับกลไกทางสังคม

[ สายบริหารสถานศึกษา ก็ยังบ้าจัดฉากความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งๆที่ผลการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาไม่ผ่านหลายหมื่นโรง ..คุณครูบางส่วนเร่งทำผลงานวิชาการอีแอบ ทำให้..

เกิดสภาพการศึกษาทิ้งเด็ก เด็กทิ้งการศึกษา

เอากันให้เละไปข้างหนึ่ง เด็กเก็บกดมากเข้าก็เตลิดเปิดเปิงไปสู่ซอกลืบของวงจรมืด ค้ายา ค้าทุกอย่าง ตั้งแก๊งขโมย โจร เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นสังคม การที่เด็กยกพวกตีกัน จึงหมายถึงลางบอกเหตุว่ามันไม่ไหวแล้ว ความรู้สึกเด็กกลุ่มนี้เน่าแล้ว ตรงจุดนี้สะท้อนได้ไหมว่า

“สังคมลอยแพเด็ก  เด็กจึงไม่แยแสสังคม”

เรื่องนี้ เราจะไม่โทษใคร แต่เราควรจะช่วยกัน

ตอบว่า เรามีวิธีแก้ไขปัญหานี้แล้วหรือยัง

Key Word

: เด็กตีกัน สะท้อนถึงเด็กตีเบ้าตาระบบการศึกษาใช่หริอไม่

: บัณฑิตทิ้งถิ่น-คืนถิ่น

: ค่ายอาสาพัฒนา

: วิชาดื้อตาใส

: วิชาดูตาม้าตาเรือ

: วิชายูเทิร์นชีวิต

: วิชาจะไซโย ทำไมต้องรอลีโอก่อน

: หมวกกันน็อค กันอะไร

: กรณีศึกษาของโรงเรียนเม็กดำ การเรียนรู้ของคนหลายวัย

: กรณีศึกษาขององค์การนิสิตนักศึกษา มมส. (แผ่นดิน)

: กรณีศึกษา โคกเพชร1 (ครูวุฒิ) เรื่องงานครู , รถครู , หนี้สินครู

หมายเลขบันทึก: 156941เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2008 05:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

“ในสมัยที่วิถีสังคมชนบทปกติ เด็กเกิดมาจะได้รับการอบรมขัดเกลาจิตใจ ผ่านเพลงกล่อมลูกตั้งแต่นอนอยู่ในอู่ โตขึ้นมาอยู่ภายใต้สายตาผู้คนในชุมชนช่วยกันดูแลพี่ป้าน้าอายังอยู่กันพร้อมหน้า ชวนเด็กทำงานหรือเรียนวิถีภายในชุมชน โตขึ้นมาเข้าสู่วัยเลือดร้อน พ่อแม่พี่ป้าน้าลุงจับบวชเรียน มอบลูกหลานให้หลวงพ่ออบรมบ่มเพาะจิตใจให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ สำนึกในสถานะของตนเอง นั่งพนมมือน้ำตาไหลพรากตอนเรียกขวัญนาค พิธีการเหล่านี้ได้บ่งบอกว่า ตัวเขานั้นมีความหมายมีความสำคัญต่อครอบครัวและสังคมนั้นๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเด็กเหลือขอเร่ร่อนป่วนสังคม
         
ตรงนี้ต่างหากที่ควรจะมองค่ะพ่อ การเรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ  การหล่อหลอมให้เกิดสำนึกต่าง ๆ มันต้องเริ่มมาจากตั้งแต่อยู่ในท้องแล้ว หัวใจและสมองของแม่เชื่อมโยงเข้าในสายเลือดของลูก ความรัก ความผูกพัน ความเอาใจใส่ ทะนุถนอมกล่อมเกลาสิ่งดี ๆ ของพ่อแม่ไหลเวียนถ่ายเทให้เกิดขึ้นในตัวลูกได้
             หลังจากการคลอดออกมาเด็กเริ่มที่จะเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามวัย โดยเฉพาะในช่วงวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 4 ขวบ เด็กจะรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมรอบตัว เลียนแบบพฤติกรรมของคน สัตว์ สิ่งของ หากอบรมสั่งสอนให้รู้ผิดรู้ถูกได้ก็ถือเป็นบันไดขั้นแรกของอนาคตที่ดีแล้ว 
              เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้สังคมทุกวันนี้ดีขึ้นได้ อันดับแรก หรืออันดับต้น ๆ ที่จะต้องเร่งรีบพัฒนาคือสถาบันครอบครัวค่ะ โดยที่คนในครอบครัวควรรู้จักที่ กอด กันก่อนนั่นเองเพราะเป็นการถ่ายเทพลังความรัก ความผูกพัน ความอบอุ่น โดยหาคำพูดใด ๆ มาเปรียบเทียบได้ยากเหมือนกลุ่มเฮเขาทำกันไงคะ
                  

  • ท่านครูบานำร่อง เบิกโรงแล้ว
  • นักการศึกษาใน g2k ช่วยกันเรียงคิวเสนอแนะกันหน่อยครับ
  • น่าจะเกิดมิติที่ก่อเกิดประโยชน์แก่วงการสร้างคนของบ้านเราได้ครับ

ในความเห็นของผมนะ

ผมขอแค่ ให้ ทุกกระทรวง รับผิดชอบ การศึกษาด้วย

อย่าให้ พวก กท ศึกฯ เท่านั้น

เจ้า สื่อมวลชน นี่ตัวร้าย    ไม่ช่วย ยัง  ปล่อยเชื้อ "กิเลส" กระจายไป ทั่วประเทศ

 

 

    การศึกษาไม่สามารถซึมซับเข้าไปวิถีชีวิตได้ เพราะเราจัดแบบแยกส่วน  สร้าง/โชว์ผลงาน หลอกลวง  หลงกระแส ขาดตัวแบบที่ดี และขาดการกล่อมเกลาทางสังคมที่ดีอย่างต่อเนื่อง
     ผมก็เป็นจำเลยคนหนึ่งในวงการนี้ที่ไม่สามารถทานกระแสอย่างที่คุณขจิตบอกได้...ถึงอย่างไรก็ต้องทำกันต่อไป  เริ่มจากตัวเราก่อน ขยายไปสู่คนใกล้ตัว
     ความหวังเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นต้องใช้เครือข่าย KM ครับ..เพราะเป็นกระบวนการทางสังคม

เรื่องนี้ พวกเรา คนไทยทุกคนร่วมกันเป็นจำเลย ครับ

ไม่ต้องไปโทษใครทั้งนั้น โทษตัวเอง ผมเองก็หนึ่งละตัวดีนักเชียว

กราบสวัสดีปีใหม่ 2551 ครับพ่อครูบา

  • พ่อครูบาเริ่มศักราชใหม่ได้ถึงแก่นของตัวปัญหาทั้งหมดของประเทศไทยอย่างตรงเผงและละเอียดละออ  ในบันทึกเพียงสั้นๆ
  • ผมใคร่ขอเสริมอีกแรงว่า  ภาพ"เด็กตีกัน" คือดัชนีชี้วัดคุณภาพเนื้อแท้ของการศึกษาไทย  และเป็นตัวแทนคำบอกเล่าถึงสภาพปัญหาทั้งหมดของประเทศไทย
  • เด็กตีกันแบบเด็ก ผู้ใหญ่(แต่ตัว)ก็ตีกับแบบผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่มีทั้งตีแบบเงียบๆ(แต่ให้ผลรุนแรง)และตีแบบตะลุมบอน(ด้วยวาจาผ่านสื่อฯ)
  • แม้ในหมู่บ้านเล็กๆ  เดี๋ยวนี้มีก๊กมีเหล่าแบบไม่กินเกาเหลากัน(เลย)แทบทุกหมู่บ้าน  อันเป็นผลสืบเนื่องจากการมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน อบต. กำนัน ฯลฯ นี่ก็ผลลัพท์สุดท้ายจากการจัดการศึกษาแบบมุ่งเน้นการแข่งขัน "ชิงดีชิงเด่นกันด้านเนื้อหาวิชาการหรือความรู้ที่เอาไว้อยู่เหนือคนอื่น" มิใช่หรือ?
  • ความมีน้ำจิตน้ำใจ  ความเอื้ออาทร  ความมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา  และสิ่งที่เรียกแบบสั้นๆว่า "จิตใจที่ดีงาม" หรือ "น้ำใจนักกีฬา" จึงหาไม่เจอจากใจคน เดี๋ยวนี้ที่บ้านนอกบ้านนา  เด็กรุ่นใหม่เขาไม่เห็นหัวผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่าผู้แก่กันแล้ว 
  •  ผมอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลต่อไป รวมทั้งท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯได้อ่านบันทึกนี้ของพ่อครูบาจังเลย
  • ขอกราบขอบพระคุณพ่อครูบามากครับที่ให้เกียรติกล่าวถึง
  • และขอบพระคุณเป็นพิเศษ  สำหรับบันทึกนี้ของพ่อครูบา
  • สวัสดีครับ

      นิวเห็นด้วยกับคุณ สำเนียง (ความคิดเห็นที่ 1) ที่กล่าวว่า  ต้องให้ "สำนึกในสถานะของตนเอง"  เพื่อบ่งบอกว่าตัวเขามีความหมายหรือมีความสำคัญอย่างไรต่อครอบครัว และสังคม !!

       แต่ "วิธีการ"  ที่จะทำให้อนาคตของชาติเหล่านี้  สำนึกในสถานะของตนเอง  ทำอย่างไรหละ !!   นักการศึกษา - ผู้ปกครอง   ต้องช่วยกันระดม เพื่อหาแนวทางร่วมกัน  

       นิวเคยได้ยินมาว่า   เคยมีเด็กคนนึง  ไม่เห็นความสำคัญของการเรียน  ทำตัวไม่ดี  ใช้ชีวิตไปวัน ๆ  มั่วสุม  มีเรื่องชกต่อยประจำ     เรียนเข้าขั้นแย่ --> ถึงแย่มาก  ... จนกระทั่งวันนึง   เค้าได้รับรู้ว่า  เค้ามีความสำคัญต่อใครบางคน   และรุ้ว่าต้องเรียนไปเพื่ออะไร  ทำเพื่อใคร  .... วันนี้เด็กคนนั้นเรียนถึงระดับปริญญาเอก ในต่างประเทศ..(คิดว่าน่าจะใกล้จบแล้ว)  ... ความรักเป็นสิ่งที่หล่อหลอมเค้า  ให้เค้ากลับใจ   และหันกลับมามองตนเอง   มองความมีคุณค่าในตนเอง   และการมีคุณค่าต่อสังคม  จะทำให้เด็กรักตัวเอง  รู้และรับผิดชอบต่อตนเอง-สังคม  

ปัญหาในโรงเรียนไม่ใช่แค่เด็กตีกันค่ะ  ความรับผิดชอบ  น้ำใจยังไม่มี  รุ่นของครูจะริน  เห็นคุณครูถือของมาเรากุลีกุจอเข้าไปช่วยคุณครู  แต่รุ่นนี้ เห็นครูถือของมา เดินหลบไปซะแล้ว  กลัวจะได้ถือของให้คุณครู

ขอบคุณครับพ่อฯ

สำหรับการย้ำให้เรารู้ว่า  ทางออก ยังไม่ถูกปิดตาย ..

กราบสวัสดีครับ

        สบายดีนะครับ ตอนดูิสิเธอ นี่เขียนไว้ซักพันตอนนะครับ รับรองว่าเขียนกันไม่หมดแน่ครับ อิๆๆ

        ทุกปัญหามีทางออก มีทางแก้ อยู่ที่ว่าจะแก้หรือจะออกจากปัญหานั้นหรือว่าเปลี่ยนเป็นปัญญาได้หรือไม่ หากผู้ใหญ่จะโทษเด็ก ผมว่าก็ต้องโทษผู้ใหญ่ั่นั่นหล่ะ แต่หากเด็กจะโทษผู้ใหญ่ ผมว่าก็ต้องโทษเด็กนั่นหล่ะ

        ระบบดีหรือไม่ ดูที่การประท้วงของสังคม มองปัญหาที่เิกิดคือการประท้วงจากสังคมที่เป็น ระดับนักวิชาการไทย นักการศึกษาไทย วิเคราะห์เรื่องนี้ มองปรูดเดียวก็ออกครับ ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน  แต่ปัญหาคือ ใครจะทำนี่หล่ะ ใครจะร่วมเป็นเจ้าภาพ หากไม่ใช่เราทุกคน

        สิ่งที่อยู่ข้างหน้าที่คนสร้างขึ้นมานั้น คนนั่นหล่ะต้องรับกรรมครับ ธรรมชาติช่วยแก้ปัญหาได้เพียงทางเดียวเท่านั้นครับ

กราบขอบพระคุณมากครับ

เ้้ม้ง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท