วิชาอุ้มช้างอาบน้ำ


 

  

หัวค่ำ ป้าจุ๋ม เพื่อนบุญธรรม ขนลูกๆมาหา มีหนึ่งทโมนหล่อ กับ สาวน้อยต่อมน้ำตื้น ..ก่อนหน้านี้แม่ครัวจัดสำหรับกับข้าวมื้อเย็นไว้แล้ว พอนึกว่า..ญาติแซ่เฮจะมาก็ให้เอาไปเก็บ เพียงไม่ถึง1นาที เสียงเน่อๆ..สวัสดีครับพ่อ ก็โผล่มา อ้าว! จัดกับข้าวอีกรอบ เป็นอาหารมื้ออร่อย แปลกนะ กินข้าวกับชาวเฮ มันมีรสปลื้มสุข ชิมไปพร้อมได้ด้วย อ.หมู เอาปลาสลิดแดดเดียว เจ้าดังเมืองสุพรรณฝันหว๊านมาฝาก

พอข้าวเรียงเม็ด ชาวค่ายและพี่เลี้ยงวิทยากรกระบวนการ จะนำเสนอการบ้านที่ผ่านมาทั้งหมด ว่าถอดรหัสเศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างไร เพราะเขาต้องเขียนพิมพ์เขียวในฝันหมู่บ้านออกมา พร้อมกับอธิบายว่าจะทำฝันให้เป็นจริงอย่างไร เท่าที่สังเกต..ถ้าชอบอะไร ก็จะปักใจรีบร้อนที่จะทำ อาจารย์ปลาบู่คงรู้แกว จึงดึงเบรกมือไว้ แนะให้ชะลอความอยาก กลับไปคิดอะไรที่เป็นระเบียบแบบแผน เช่น เรื่องข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะทำ ตรงจุดนี้ผู้นำชาวบ้านยังดูแคลน ไม่รู้ใครมาสอนวิชาโมเมศาสตร์เอาไว้

ผมสังเกตการเขียนของบประมาณต่างๆของแต่ละหมู่บ้าน เป็นไปแบบสุกเอาเผากิน ส่วนใหญ่หน่วยราชการในพื้นที่ก็จะบีบให้เข้าทางตัวเอง ไม่ได้มีเจตนาที่จะสอนวิธีคิดวิธีทำ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทั้งประเทศ ชาวบ้านจึงคิดกิจกรรมได้น้อย และคิดได้เหมือนๆกัน ดูดีๆมันประหลาดมาก แต่ก็ยังดันทุรังทำ เราจะเรียกว่าโครงการชุมชนเป็นทุกข์ได้ไหมนี่  ผมเป็นกรรมการระดับจังหวัด ผู้ว่าฯเรียกไปประชุม แต่ไม่ค่อยได้ไป เพราะไม่รู้จะออกความเห็นอย่างไร

วันนี้ มีผู้จัดการ ธกส.มาหา เล่าให้ฟังว่าอ่านเจอเรื่องคนแซ่เฮในหนังสือพิมพ์  จึงตามลายแทงมา อยากปรึกษาว่า..จะอบรมลูกค้า ธกส.ให้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรดี ผมเล่าให้ฟังว่า..ก็อย่างที่เห็นนี่แหละ ถ้าตั้งใจดี กระบวนการดี เนื้อหาดี วิทยากรดี บรรยากาศดี เอาจริงถึงลูกถึงคน อย่าเรื่องมาก แต่คิดให้มาก ขี้เกียจคิดเป็นบาป ขยันคิดเป็นบุญ ใครอยากได้บุญต้องตั้งต้นที่คิดๆๆ เพื่อนำไปสู่วิธีคิดให้มากขึ้น ลดความสำคัญของการจำขี้ปากคนอื่น

ปากของเรา เราต้องแปรงฟันเอง

ทาลิปติกเอง

และ ยิ้มเอง รู้ไหมจ๊ะ คนสวย

ระบบสารสนเทศชุมชน ส่วนมากคนอื่นจะมาทำเพื่อเอาไปใช้งานตัวเอง ไม่มีใครทำระบบสารสนเทศเพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงาน ดังนั้นแผนชุมชนจะต้องยกร่างโดยชุมชน มันถึงเกาถูกที่คัน เช่น จะทดลองเลี้ยงปลาบู่ ข้อมูลเบื้องต้นด้านความพร้อมในส่วนต่างๆ จำนวนสระน้ำที่มีอยู่แล้ว ระดับน้ำ ความกว้าง-ยาว ปัจจัยแวดล้อมอื่น ต้องรวบรวมไว้เพื่อนำไปสู่การหารือขั้นตกลงในหลักการ ในชั้นนี้มองว่าการยกเบรกมือ เป็นประโยชน์อย่างมาก ไม่อย่างนั้นวิชาฉุกคิดศาสตร์คงจะเกิดขึ้นได้ยาก

ผู้นำชุมชนกับเรื่องแผน เขาเองเพิ่งเจอโจทย์ที่ไม่เคยมีใครบอกอย่างนี้มาก่อน..อะไรๆก็อธิบายไปหมดแล้ว เนื้อหาวิชาการและวิชาเกินก็ปลิ้นกระเป๋าเทให้แล้ว กรณีศึกษา วิทยากรระดับจอหงวนก็เชิญมาถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แล้ว ยังจัดให้เจอตัวจริงเสียงจริงของนักสู้ชีวิต คาดว่าต้นทุนเหล่านี้เพียงพอที่ผู้เข้าอบรมจะวางแผนเศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชนเบื้องต้นได้พอสมควร

เมื่อรู้เห็นแล้ว ได้คิดบ้างแล้ว ก็มาถึงจุดหาเรื่องทำ

จะทำเรื่องอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน

มันถึงจะเป็นการปูฐานเศรษฐกิจสำนึกใหม่ของชาวหนองแคน

บอกมาสิ ว่าเธอคิดกับฉันยังไง อิอิ

คืนนี้ ตัวแทนรุ่นที่1 หนองบัวแปะ เดินทางมาเยี่ยมรุ่นน้อง ทั้งๆที่อยู่กันคนละหมู่บ้าน  เขาบอกว่าแม่ใหญ่ทั้งหลายฝากความคิดถึงมา ผมเป็นโรคขาดแคลนความคิดถึง เมื่อได้รับย่อมตระหนักในค่าของสิ่งนี้ จะสอบถามว่า..ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ก็มีเรื่องอื่นๆมะรุมมะตุ้ม

การประเมินผลหลังปิดอบรมในระยะ 3-6เดือน มีความหมายมาก ว่าวิชาเศรษฐกิจพอเพียงฉบับเฮฮาศาสตร์ ภายใต้แนวทางพระราชดำริได้ผลหรือไม่ จะต้องปรับแก้หลักสูตรที่อบรมให้ดีขึ้นในจุดไหนอย่างไร? นี่คือการบ้านสำคัญประการหนึ่งของคนออกแบบการสอนภาควิชาหาเรื่องเฮฮาศาสตร์

ก่อนนอน วิทยากรกระบวนการประชุมกัน ทุกคนสารภาพว่าปั่นป่วนพอสมควร แรงกดดันทำให้บางคนกินข้าวบ่ลง และซาบซึ้งกับคำว่ากระบวนการมากขึ้น แต่ถึงจะหนักและเหนื่อย ทุกคนก็ยังหัวเราะครืน หลังจากที่ระบายอะไรๆออกมา

มีคนถามว่า..หลักสูตรกระบวนการแบบนี้ เขาเรียกว่าวิชาอะไร

อ๋อ! วิชาอุ้มช้างอาบน้ำ ยังไงละ

แต่ก็ยังไม่หนักเท่าเข็นครกขึ้นเขาของท่านบางทรายหรอกนะ

ต่างกันยังไง

ช้างกระโจนลงน้ำมันยังลอยตุบป่อง

แต่เข็นครกขึ้นเขา เบาแรงเมื่อไหร่มันจะถ่ายเทน้ำหนักมาทับเราทันที

เท็จจริงอย่างไรไม่ทราบนะ

ต้องถามเจ้าตำหรับเอาเอง อิ อิ..

หมายเลขบันทึก: 167436เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2008 02:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

การฉุกคิดเป็นรากฐานสำคัญสำหรับกระบวนการคิด ซึ่งน่าจะนำไปสู่การกระทำที่ให้ผลที่ดีกว่าการลุยทำไปเฉยๆ  หรือการทำไปตามที่คนอื่นมาบอกให้ทำ (ซึ่งไม่ได้เข้ากับตัวเราเลย แล้วคนที่มาบอกให้ทำ ก็ไม่รู้จักเราเลย)

เมื่อเปรียบกับร่างกาย การฉุกคิดก็คงเหมือนกับการหายใจมั๊งครับ มันเกิดอยู่กับตัวเราจนเป็นปกติ จนเราไม่ฉุกคิดว่ามีการฉุกคิดได้ด้วย

แล้วเมื่อไม่เข้าใจการฉุกคิด ก็ไม่เข้าใจว่าความทุกข์ยากที่เผชิญอยู่นั้น มีทางเลือกที่ดีกว่า

P 1. Conductor

  • โครงการอบรมครั้งนี้
  • ต้องการมุมที่มอง ข้อแนะนำ ข้อคิดเห็นต่างๆ
  • เพื่อจะนำมาปรับใช้ได้ทันที
  • ถึงไม่ทันรุ่นนี้ รุ่นอื่นก็จ่อเข้ามา
  • ทำไป ปรับใจ จนถึงจุดโดนใจ
  • ขอคาวะด้วยน้ำใสใจจริง 1 จอก

กราบงามๆยามเช้าๆตามเคยครับพ่อ

"อาจารย์ปลาบู่คงรู้แกว จึงดึงเบรกมือไว้ แนะให้ชะลอความอยากกลับไปคิดอะไรที่เป็นระเบียบแบบแผน เช่นเรื่องข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะทำ"

"แผนชุมชนจะต้องยกร่างโดยชุมชน มันถึงเกาถูกที่คัน"

  • สำคัญมากครับ
  • ครูควรต้องมีส่วนร่วมกับพี่น้องบุคลากรทุกฝ่ายในฐานะกำลังหลักด้านการเข้าถึงข้อมูลและการประสานสิบทิศ (ยิ่งเดี๋ยวนี้มี ผอ. และครูชำนาญการพิเศษเยอะ ยิ่งน่าจะช่วยชุมชนได้มากขึ้น)
  • สวัสดีครับ
  • พ่อคะ
  • เอาช้างอาบน้ำแล้ว อย่าลืมตามไป ทาแป้ง แต่งตัวล่ะ
  • (ติดตาม ประเมินผลความคืบหน้า หลังการฝึกอบรม)
  • อิอิ

 

  • อิอิ...ใครพูดยากกว่าใคร
  • เคยมีผู้รู้ได้พูดไว้ว่า หากปล่อยให้.ขรก..คิด  ก็จะตกร่องคิดเดิม คือโครงการ...แบบเดิมๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่  สุดท้ายก็แก้ไขอะไรไม่ได้จริงจัง
  • ชาวบ้านส่วนมากก็คิดตามเท่าที่ได้เคยรู้และเห็นมา (จากข้างบน)  จึงไม่แปลกว่าจะวนอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล  ซึ่งไม่ใช่ความผิดของชาวบ้านแต่อย่างใด 
  • ต้องกระตุ้นให้ชาวบ้านได้คิด  โดยไม่ติดอยู่บนฐานของงบประมาณ(ขอโครงการ)มากเกินไป(อันนี้ก็แก้ยากเหมือนกัน)  บางครั้งคิดในสิ่งที่ทำได้เองก่อน(พึ่งตนเอง)  เคยพบว่าเขาคิดได้ดีทีเดียว
  • ทั้งเข็นครกขึ้นเขาของ อ.บางทราย และอุ้มช้างอาบน้ำของพ่อครูบา  ก็ล้วนแล้วแต่หนักๆ ทั้งนั้นเลยนะครับ...อิอิ

สมัยหลัง 14 ตุลาเราคุยกันว่าการเข้ามาทำงานพัฒนาชนบทนั้น "เป็นอาสาสมัคร" แต่ผ่านไปสัก สิบปี เราคุยกันอีกว่า งานนี้ไม่ใช่อาสาสมัครแล้วแต่เป็นวิชาชีพ มีการตั้งคณะพัฒนาชุมชนขึ้นในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย คนที่ลงมาทำงานทางด้านนี้ก็มีมากขึ้น เมื่อเราทำงานมากขึ้นรู้มากขึ้นว่า การทำงานพัฒนาคน พัฒนาครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่นนั้น มันเกี่ยวเนื่องและซับซ้อนมากขึ้นกว่าสมัยที่เราเข้ามาทำงานใหม่ๆ 

และหลายครั้ง เราหวังดีแบบโง่ๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการ ทำงานพัฒนาไปกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาต่างหาก นั่นคือความอ่อนหัดของผม ต้องกลับไปเริ่มใหม่ คนพูดมีเยอะครับ แต่คนที่ทำตามพูดมีน้อย คนที่พูดสวยๆมีเยอะ แต่ทำให้ได้สวยๆตามพูดมีน้อยมากๆ

คนทำงานในชนบทที่มีปัญหารอบด้าน พ่อคนนี้เป็นหนี้มากมายล้นพ้นตัว แต่เป็นคนดีมาก คนนี้ข้าวไม่พอกิน คนนั้นป่วยเพราะกินดิบ คนนี้ลูกสาวหนีตามผู้ชายไป ฯลฯ.......บางทีก็อยู่ในสภาพที่ตกอยู่ในเหวปัญหา   มิใช่บางหน่วยงานที่หยิบเรื่องเดียว มาพูดสวยๆแล้วก็ไป มาสร้างสิ่งสวยๆแล้วก็ไป โดยไม่มาตามด้วยว่าหลังจากนั้น 5 วันเป็นอย่างไร 1 เดือนเป็นอย่างไร 3 ปีเป็นอย่างไร...

เราทำงานก็เพียงขับเคลื่อนไปตามเงื่อนไขและโอกาสเท่าที่เรามีอยู่ แต่ปัญหา และกระบวนการแก้ปัญหานั้นมันกว้างใหญ่ มากกว่าความรับผิดชอบของเรา หลายครั้งเรารู้เราเห็นว่าหากทำอย่างนี้แล้วจะมีส่วนช่วยให้ดีขึ้น แต่ก็ทำสิ่งนั้นไม่ได้ เพราะนอกเหนืออำนาจหน้าที่เรา ไปประสานงาน ก็แค่ประสานงาน ทำหรือไม่ทำเรื่องของท่านผู้นั้น  เรามีคำสวยๆออกมามากมายในการพัฒนา แต่คนที่เอาคำนั้นๆมาทำให้เป็นจริงๆนั้นน้อย

มีทางเดียวคือ รับรู้สิ่งที่รู้ที่เห็น ทำในสิ่งที่ทำได้ให้มากที่สุด ดีที่สุด แม้ว่าจะทำได้เพียง 6 แต่มีเงื่อนไขที่ควรจะทำตั้ง 20 ก็ตาม 

และการใช้เวลาเป็นเรื่องสำคัญ การพัฒนาต้องใช้เวลา มากบ้างน้อยบ้าง

มันไม่ง่าย อย่างคำพูดสวยๆ ดูซิพัฒนาประเทศไปๆมาๆ เกิดปัญหาใต้ เกิดเด็กแว้น เกิด..... 

แต่เราก็ทำต่อไปครับ ท่านครูบาครับ แม้เราจะอุ้มช้างทั้งโขลงก็ต้องอุ้มครับ อิอิ

ถ้าหลายๆคนต่างคนก็ต่างอุ้ม

ช้างเป็นโขลงก็พงพอช่วยกันได้

 

ช้างตัวไหน ควาญแต่ละคนคงรู้จักดี

พ่อ

อาบช้างทีละตัว   หรือ ลงเป็นโขลง

สบายดีนะครับ  ไม่ได้ เจอกันนาน  ....  อากาศเปลี่ยนแปลง  รักษาสุขภาพนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท