ตีแตก อีสาน


เรื่องต่างๆในแผ่นดินที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เรียกกันสั้นๆว่าอีสาน มีตำนานเกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับความเป็นไป เปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยน และปรับตัวปรับใจ มีงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับแผ่นดินนี้ไม่น้อย นักพัฒนานักวิจัยแม้แต่ผู้นำชุมชนชาวบ้านต้องต่อสู้กับกระแสที่ไหลท่วมบ่า มีทั้งความปรารถนาดี ปรารถนาแอบแฝง ทุกคนแย่งกันรักและพัฒนาอีสาน ทำให้เกิดสิ่งดีๆมากมาย แต่เรื่องมิดีมิร้ายก็แอบซ่อนอยู่ทั่วหัวระแหง แต่ยังไงก็เถอะ ถ้าจะเสวนาเรื่องอีสาน ลงมาตะลุมบอลในอีสานดีที่สุด

วันที่23-25เมษายน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันหน่วยงานและองค์กรต่างๆเป็นเจ้าภาพร่วม ชวนคนที่เกี่ยวข้องมาสอดส่องดูอีสาน แต่ก็คงทำได้ตามสไตล์ของการประชุม  ไม่ทราบว่าแต่ละฝ่ายทำการบ้านล่วงหน้าไปแค่ไหนอย่างไร? 

ในส่วนของคนสกุลเฮ เตรียมเสนอ วิธีมอง วิธีคิด วิธีทำ วิธีแก้ไขปัญหา วิธีลงมือรักษาอาการอีสานป่วยและป่วน ในระดับชุมชนจะทำอะไรได้บ้าง เพราะเราเชื่อว่าการฟื้นฟูอีสานมีแผนงานหลากหลายระดับ ระดับชาติไปจนถึงระดับหมู่บ้าน เส้นทางและเส้นสายเหล่านี้เป็นกองทุน กองหนุน ที่มาพัฒนาอีสาน เช่น อีสานเขียว วัวพลาสติก โคล้านตัว SML.ปลูกยางพารา ยูคาฯ ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง กองทุกข์หมู่บ้าน ชุมชนอยู่เย็นเป็นทุกข์ ทำเอาคนอีสานตาโตแต่ใจเหี่ยว จ้าละหวั่นพันพัวอีลุบตุ๊บป่อง

ในฐานะคนอีสานขนานแท้ -ดั้งหัก -หน้าเหลี่ยม -ใจดี -อยู่ง่าย -กินง่าย -อดทนต่อการกดขี่ -ชอบสนุก -รักเสียงเพลง –เชื่อคนง่าย-เอาไหนเอาด้วย ชวนไปม๊อบที่ไหนขอให้บอก  อาการเหล่านี้บ่งบอกอะไร? ถ้าไม่ใช่ต้นทุนด้านวัฒนาธรรมอีสาน ที่นำโจทย์เหล่านี้ ไปสู่บทตีแตกอีสานในขั้นต่อไป

คนอีสานคิดอะไร? ทำอะไร? แก้ปัญหาอย่างไร?

  

ขณะนี้เกิดการอพยพในประเทศ คนอีสานอพยพออกจากหมู่บ้าน มีฝรั่งแก่ๆอพยพเข้าอีสาน ปักหลักตั้งอาณานิคมเปิดฮาเร็มชาติต่างๆขวักไขว้ ช่วงปิดเทอมเด็กๆอพยพมาอยู่กับพ่อแม่ที่เป็นพลเมืองชั้น2ในกรุง แม้แต่ควายก็อพยพเข้าโรงงานลูกชิ้น ต้นไม้ป่าไม้ สินค้าเกษตร พืชไร่ อพยพเข้ากรุงเป็นระลอก ชาวบ้านทิ้งกระทรวงเกษตรฯ ไปอยู่กระทรวงแรงงานและพัฒนาสังคม แล้วเราจะประเมินตรงไหน อย่างไร?

มีสินค้าออก ก็มีสินค้าเข้า ความทันสมัย สะดวกสบาย เรียงล่ายซ่ายสู่อีสาน น้ำมัน ปุ๋ย สารเคมี ดอกเบี้ย เทคโนโลยี เงินกองทุกข์หมู่บ้าน ถนนลาดยาง น้ำประปา ทีวี มือถือ เทคโนโลยี หลายหมู่บ้านมีกระถางยางรถยนต์สีสวยเข้าแถวยืนโชว์เศรษฐกิจพอเพียง

เด็กๆมีมือถือ รถจักรยานยนต์ขี่ฉวัดเฉวียนไปเรียน ในท้องทุ่งมีรถเกี่ยวข้าว แม่ใหญ่เลี้ยงหลานด้วยการ์ตูนและวิดีโอ เพลงกล่อมลูกหายไปเพลงซิ่งกระจายเข้ามาแทน เรื่องจริงผ่านจอมีกว่านี้มากนัก พูดไปก็ไลย์บอย  

ประเด็นฉุกคิด:

ถ้าจะคุยเรื่องอีสาน ก็ควรถามความในใจของคนอีสาน นะสิ ใช่ไหมครับ ใครจะมารู้อีสานเท่ากับคนอีสาน ถ้าเริ่มคิดอย่างนี้ ..จะชวนใครบ้างมาถกประเด็นอีสาน เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ในระยะสั้นๆคงเจาะจงกลุ่มคน เช่น หลวงพ่อ ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ครู อาจารย์ นักวิจัย นักพัฒนา พ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้สันทัดกรณีด้านต่างๆ

การออกแบบเรื่องนี้ ผมนึกถึงใครต่อใครในหมู่หมูไม่กลัวน้ำร้อน หรือผู้ที่ร้อนวิชา ที่มีวิธีสะท้อนคิดออกไปจากวัฒนธรรมราชการแบบเดิมๆ ท่านบางทราย ปาลียอน หลวงพ่อไหล เม็กดำ1 สายลม เล่าฮูแสวง พระอาจารย์ลินฮุ่ย สิงห์ป่าสัก และกลุ่มลูกสาวลูกชายโทนทั้งหลายฯลฯ ถ้ามีวาสนาน่าจะได้ชวนท่านเหล่านี้มาถกปัญหาแบบปิดปะตูตีแมวล่วงหน้า1-2วัน ก่อนที่คณะนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าลงมาจัดเสวนาภาคสนาม

มาช่วยกันตีแตกอีสานจากโจทย์พื้นฐานก่อนดีไหมครับ? ขออนุญาตตั้งต้นคิดจาก ณ วันนี้เป็นต้นไป ยังไม่ต้องย้อนรอยอดีตเพราะเวลาจำกัด เรื่องอดีตเก็บตกจากการค้นคว้าได้ แต่เรื่องใหม่ๆในอนาคตเราต้องช่วยกันคิดเอง ก่อนที่คนอื่นจะมาสวมความคิดให้คนอีสาน

ช่วยกันขบคิด โจทย์ข้างล่างนี้ดีไหมครับ?

1.    ภาพรวมอีสานในปัจจุบัน

2.    วิถีชีวิตคนอีสานเป็นอย่างไร

3.    วิธีคิดของคนอีสาน

4.    วิธีทำอาชีพการงานของคนอีสาน

5.    วิธีแก้ไขปัญหาของคนอีสาน

6.    วิธีเรียนรู้ และพัฒนาอีสาน

7.    แผนพัฒนาหรือโครงการหลักๆอะไรบ้าง ที่มาจัดการในอีสาน

8.    เบื้องหลังความคิด และการกระทำในโครงการพัฒนาอีสาน

9.    ข้อเสนอแนะ

หมายเหตุ :

โจทย์เหล่านี้เหมือนโยนหินถามทาง ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะ ยังไม่ดีพอ กรุณาช่วยปรับแก้ได้ตามใจปรารถนา เพียงแต่อย่าช้านัก วัยรุ่นใจร้อนนะขอรับ

   หนูลองยา ชื่อว่า อีสานนั้น

เจ็บจุกกันทั่วถ้วนจวนเป็นบ้า

ข้อบ่งชี้เหลวแหลกที่แทรกมา

สุดระอาอีสานจะทานทน

   มาวันนี้อีสานพลุกพล่านแล้ว

ไม่เชื่อแนวทางใครให้สับสน

หาทางออกบอกทางไปแต่ละคน

ประสบผลหาผัวใหม่จากไอแลนด์

   น่าจะดีที่มีสายพันธุ์ใหม่

ถ้าลูกไทยลูกเทศเป็นปึกแผ่น

เติบโตไปนิสัยไม่คลอนแคลน

ช่วยทดแทนพันธุ์เหลวไหลดีไหมเอย

หมายเลขบันทึก: 174335เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2008 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีเจ้าค่ะ พ่อครูบา ที่เคารพ

              น้องจิเคยผ่านไปตามภาคอีสานหลายจังหวัด เพราะน้องจิไปเป็นวิทยากรเด็กที่จังหวัดมุกดาหาร ภาคอีสาน ชาวบ้านใจดีมากๆ การดำรงชีวิตไม่เหมือนคนในเมืองใหญ่ อาหารก็พื้นบ้าน อยู่ตามธรรมชาติที่สดใส ที่สำคัญ คนอีสานไม่แล้งน้ำใจ เอิกๆๆ แต่เห็นกลอนบทนี้แล้วฮาเจ้าค่ะ

          คิดทางออกบอกทางไปแต่ละคน

      ประสบผลมีผัวใหม่จากไอแลนด์

    เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ---> น้องจิ ^_^

คนอีสาน มีศักดิ์ศรี มีค่าล้ำ

มีวัฒนธรรมควรศึกษา

มีน้ำใจ จริงใจ ไม่มารยา

มีชีวา เพริศแพร้ว แนวไทยไทย

ความเปลี่ยนแปลง สังคม ผสมส่วน

อาจแปรปรวน น้อยมาก ลื่นหลากไหล

ยุวชน ยังเยาว์ ตามเขาไป

เราผู้ใหญ่ ต้องคอยรั้ง ระวังกัน

สร้างศักดิ์ศรี อีสาน ให้บานเบ่ง

เหมือนเสียงเพลง หมอแคน แสนสนั่น

เสียงโปงลาง ครึกครื้น ชื่นชีวัน

คนอีสาน ยึดมั่น มโนธรรม

ครูพิสูจน์ ใจเที่ยงกุล

สวัสดีค่ะคุณพ่อครูบาที่เคารพ หากมีการถกเพื่อระดมความคิดกันจริงอย่าลืมบอกข่าวให้ลาวขนานแท้แถวเมืองโคราชได้มีโอกาสไปร่วมเวทีความคิดด้วยคนน่ะค่ะ....แม้จะผ่านช่วงวัยมาหลายขวบปีแต่ที่แสนจะดีคือการมีสายเลือดของคนอีสานที่เล่าขานมาเนินนานตาปีว่าคนอีสานแสนดีและอดทน

P

4. นางสาว ฐิติพร บุทธิจักร์
เมื่อ จ. 31 มี.ค. 2551 @ 16:15
  • คนลาวแท้ แถมยังอาสามาเอง
  • พร้อมสนทนาสไตล์อีสาน
  • มีหรือจะไม่ชื่นชม อบรมเมื่อไหร่จะส่งเทียบเชิญไปนะครับ

ครูฯ ครับ 

คิดลึกๆแล้วเศร้ามากครับ

  • วันเวลาผ่านไป 
  • คนเฒ่าเล่าขาน 
  • ทุกๆวันมันผ่านไป 
  • อะไรก็ฉุดรั้งยากมาก
  • จะเป็นเพียงตำนานหรือ
  • มันจะเปลี่ยนไปยังไง
  • ผู้คนจะไปถึงไหน
  • ยังต้องช่วยกันดูช่วยกันแก้ต่อไป
  • แสงใหม่
  • ถึงจะเป็นหิ่งห้อย
  • แต่มันโบยบิน
  • ก่อกำเนิดเมล็ดพันธุ์ใหม่
  • สายพันธุ์  เฮฮา
  • มันจะสร้างประวัติศาสตร์
  • จารึกอยู่ชั่วนานแสนนาน

ขอคารวะ 

สมควรอย่างยิ่งเลยครับท่านครูบา

ปักหมุดเมื่อไหร่ก็ส่งข่าวครับ

หรือจะอุ่นเครื่องใน blog ก่อนก็ได้นะครับ

ผมว่านี่คือความคิดริเริ่มที่เข้าสาระของท้องถิ่นเผงเลย

เริ่มหน่ออ่อนทางความคิด ก่อนที่จะแตกออกไปสู่การขยายตัวแบบไร้ขอบเขตทางการสร้างประโยชน์ .. เยี่ยม..

คนอิสานหายไปไหน  ทำไมทิ้งถิ่น  งานนี้สภาพัฒน์ต้องหาคำตอบให้ได้  ตัวเลขคนสายเกษตรกรรมปัจจุบันว่ากันว่าเหลือเพียง 40% แต่ผมว่าอิสานนั้นคงเหลือไม่เกิน 30%  หากจะถามว่าคนอิสานไปไหน  ขอตอบว่าก็สภาพัฒน์ไงขับเคลื่อนแต่เรื่องทิ้งถิ่น

เลิกทีได้ใหมผลักใสคนเข้าโรงงาน  แถมมีองค์กรมูลนิธิ  เที่ยวกว้านเด็กๆในท้องถิ่นไปอยู่โรงงาน  แถมมีกระบวนการหานางบริบาลไปดูคนแก่ซะอีก

ผมมีความเชื่อว่าคนอิสานสู้กับชีวิตได้  รากเหง้าของคนอิสานเกิดมากว่า 2000 ปีแล้ว  แม้รัฐไทยจะไม่นับถือคนที่เกิดก่อนสุโขทัย  เป็นคนไทยก็ตาม 

ที่ผมว่าคนอิสานรอด  เพราะด้วยพื้นฐานชีวิตที่มีความอดทน  มีความซื่อสัตย์  ผมออกจะขยะแขยงต่อพวก Phd(Permanent Head Damage )  มักจะต่อว่าคนอิสาน ในมุมมองทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ  ว่าคนอิสานโง่ไม่มีความคิด  ผมว่าคิดผิด

ผมได้รู้จักคนอิสานทั้งในเมือง  ในชนบททั้งถิ่นตัวเองและต่างถิ่น  แถมไปเจอคนอิสานที่ไปใช้ชีวิตครอบครัวในต่างประเทศแถบยุโรปอย่างมากมาย  ล้วนแล้วแต่มีวิธีคิดที่ยืนบนขาตนเอง

ขอฝากให้สภาพัฒน์กลับมาย้อนดูตัวว่าตั้งแต่ พ.ศ.2504 ที่มีแผน 1 เป็นต้นมา  จวบจนถึงปัจจุบัน  47 ปี 10 แผน ประเทศไปถึงไหนๆแล้ว(เพื่อนบ้าน)  เราวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ปัจจุบันอยู่ช่วงวิกฤตทางการเมือง  ผมห่วงสังคมไทยที่ฝากสภาพัฒน์ช่วยวางแผนสังคมด้วยจะล่มสลายตายตามไปอีกเมื่อไรก็ไม่รู้  ผมกังวลๆชอบกล

จุดแข็งคนไทยคือขายบริการ(Human Tough)  แต่ทำไมยังมุ่งแต่จะขายสิ่งที่ไม่ถนัดคือการผลิต  และทั้งๆที่ถนัดเกษตรแต่ก็ปล่อยให้เกษตรทิ้งถิ่นซะหมด  โลกทุกวันนี้ต้องการสินค้าเกษตร  รอบบ้านเรา จีน  อินเดียและอินโดนีเซีย  3 ประเทศนี้มี ประชากรรวมกันเท่ากับครึ่งโลกภายในไม่เกืน 10 ปีนี้ครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท