นำชม พระธาตุอินทร์แขวน(พม่า) ตอน ๑


15-18 มิถุนายน 2550 ผู้เขียนมีโอกาสไปทัวร์พม่าประเภท "3 วัน 3 คืน 3 ชั่วโมง" มีโอกาสไปกราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของพม่า 3 แห่ง

 

15-18 มิถุนายน 2550 ผู้เขียนมีโอกาสไปทัวร์พม่าประเภท "3 วัน 3 คืน 3 ชั่วโมง" มีโอกาสไปกราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของพม่า 3 แห่งได้แก่

  1. พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
  2. พระมหาเจดีย์มุเตา
  3. พระธาตุอินทร์แขวน

ภาพที่ 1: "ประเทศพม่ามีรูปสี่เหลี่ยม คล้ายว่าวจุฬาฯ..."(ไกด์ท่านว่า)

ไก๊ด์ของเรามี 2 ท่านคือ คุณกวางและคุณฟองนวล... ชื่อไทยเสียด้วย ใช่ครับ เพราะเป็นไกด์ไทยใหญ่

คุณกวางมีเชื้อสายจีนแคะ ท่านพูดได้ 5 ภาษาคือ พม่า จีนแคะ จีนกลาง อังกฤษ และไทย ถ้ารวมไทยใหญ่ด้วยจะเป็น 6 ภาษาทีเดียว

ต่อไปจะขอเรียกท่านว่า "อาจารย์กวาง" เนื่องจากเก่งมากทั้งทางโลก ทางธรรม(ธัมมะ / ธรรมะ) ทางพม่า (เช่นประวัติศาสตร์พม่า ฯลฯ) และทางไทย (เช่น ประวัติศาสตร์อยุธยา ฯลฯ)

มีอย่างหนึ่งที่ไม่เก่งเท่าไหร่ คือ ท่านบอกว่า จะร้องเพลงให้ลูกทัวร์ฟัง ไม่ยอมร้องเพลงไทย ดันไปร้องเพลงปลุกใจพม่า ท่านบอกว่า เนื้อความมีว่า ขอให้ชาวพม่าช่วยกันรักษาชาติบ้านเมือง

เสียงร้องคล้ายๆ นักเรียนร้องเพลงชาติหน้าเสาธง... ถ้ารัฐบาลพม่าได้ยินไกด์ร้องเพลงแบบนี้คงจะกล่าวกันเป็นเสียงเดียวว่า "โอ... ไกด์ในฝัน(ของชาวพม่า)"

คุณฟองนวลเป็นนักฟิสิกส์ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงรุ้ง อัธยาศัยไมตรีดี ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดไทยชัดเปรี๊ยะ

คุณฟองนวลน่าจะพูดได้อย่างน้อย 3 ภาษาได้แก่ พม่า อังกฤษ ไทย... ถ้ารวมไทยใหญ่ไปอีกจะเป็นอย่างน้อย 4 ภาษาทีเดียว

น่าภูมิใจแทนชาวพม่าที่มีคนเก่ง มีความรู้ความสามารถสูงเช่นนี้...สาธุ สาธุ สาธุ

 

การเดินทางรอบนี้คุณกวางแต่งชุดประจำชาติพม่าตลอดได้แก่ เสื้อเชิ้ตชั้นใน เสื้อแขนยาวสีน้ำตาล กระดุมเป็นผ้าแบบเสื้อทางเหนือของไทย(ไทยใหญ่-ล้านนา กล่าวกันว่า อาจจะได้แบบมาจากจีน) โสร่ง และรองเท้าแตะคีบ นับเป็นแบบอย่างของไกด์ที่ดีมาก

อาจารย์กวางบอกว่า พม่าเป็นประเทศในเขตอินโดจีน ได้รับอิทธิพลทั้งจากอินเดียและจีน

ตัวอย่างเช่น เสื้อนอกพม่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากจีน โสร่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ฯลฯ

คนพม่าเป็นโรคอะไรไม่ทราบ... ไม่ถูกกับเข็มขัดและกางเกงใน ผู้ชายพม่า 80% ไม่นิยมนุ่งกางเกงใน(ข้อมูลจากอาจารย์กวาง) และปกติไม่นิยมใส่เข็มขัด 

 

ในบรรดาประเทศนุ่งโสร่งทั้งหมด... พม่าเป็นมหาอำนาจด้านการนุ่งโสร่งอันดับหนึ่งของโลก (เท่าที่ทราบ... ไม่เคยมีใครเคยเห็นคนพม่าโสร่งหลุดมาเลยในประวัติศาสตร์)

ทว่า... คนไทยที่ไปนุ่งโสร่งพม่าแล้วหลุดมีแล้วอย่างน้อย 1 ท่านคือ ท่านผู้การฐนัสจากเชียงใหม่ ท่านมีโสร่งจากอินเดีย เป็นโสร่งไนล่อนที่แสนจะลื่น หลุดมาแล้วที่วัดแฌมเย่ เมืองย่างกุ้ง... ดีที่จับไว้ทัน

อาจารย์กวางท่านบอกว่า การนุ่งโสร่งให้ถูกวิธีแบบพม่าจะช่วยให้เหน็บอะไรไว้รอบขอบโสร่งได้... ไม่หลุด แต่ "ไม่แนะนำ" ให้ไปแกล้งดึงโสร่ง (ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า อาจเจ็บตัวได้เหมือนกัน)

คนพม่ามักจะเหน็บอะไรๆ ไว้ด้านหลังโสร่ง เช่น ร่ม รองเท้าแตะ (โดยเฉพาะเวลาเข้าเขตวัด หรือพระเจดีย์) ฯลฯ ที่เห็นเหน็บทางด้านหน้าคือ โทรศัพท์มือถือ

ผู้เขียนลองนุ่งโสร่งแบบพม่า แล้วดึงโสร่งตัวเองดู พบว่า ถ้าดึงด้านข้างหรือด้านหลัง... โอกาสโสร่งหลุดยากมาก แต่ถ้าดึงด้านหน้า... หลุดครับหลุด

การเห็นคนชาติอื่นสวมชุดประจำชาติทำให้ผู้เขียนรู้สึกสะเทือนใจว่า เมืองไทยไม่มีชุดประจำชาติที่ใช้การได้ในชีวิตจริงเลย

ชุดประจำชาติเป็น "เสน่ห์" อันหนึ่งของการท่องเที่ยวพม่าที่หาชาติอื่นมาเทียบได้ยากมากๆ

ชุดประจำชาติควรใช้แทนเสื้อนอกได้ทุกงานแบบของพม่า... ไม่ใช่ชุดที่หรูแพง หรือรีดยากซักยากจนชาวบ้านใช้ไม่ได้

ผู้เขียนมีโอกาสเรียนถามท่านว่า เรียนภาษาไทยที่ไหน... ท่านบอกว่า เรียนพืชศาสตร์เป็นวิชาเอกทั้งปริญญาตรีและโท เลือกเรียนภาษาไทยเป็นวิชาโท

ท่านบอกว่า ระบบการศึกษาพม่าเป็นระบบอังกฤษ คือ ถ้าเรียนพืชก็ต้องต่อโท-เอกพืช ถ้าเรียนเคมีก็ต้องต่อโท-เอกเคมีอะไรทำนองนี้ จะย้ายสาขาไม่ได้ แต่เลือกเรียนวิชารอง(วิชาโท) เช่น เรียนภาษาไทย ฯลฯ ได้

ไกด์ทั้ง 2 ท่านพูดไทยเก่งมาก และพูดชัดมากด้วย... น่าดีใจกับชาวพม่าที่มีคนเก่งๆ เช่นนี้เป็นกำลังสำคัญของชาติ

ไกด์ท่านนี้เตรียมตัวมาดี... มีการเตรียมแผนที่มาประกอบการบรรยาย วันสุดท้ายก่อนกลับท่านสอนวิธีนุ่งโสร่ง ซึ่งมีลูกทัวร์ถ่ายไปออกอากาศ (TV) มาแล้ว

น่าภูมิใจแทนคนไทยใหญ่ และคนพม่าที่มีไกด์เก่งๆ เช่นนี้... สาธุ สาธุ สาธุ

ภาพที่ 2: "ให้ก่อนแล้วจะได้รับอะไรดีๆ คืนมากขึ้น"

ทัวร์นี้คนรถพูดไทยไม่ได้สักคำ ทว่า... ท่านคงรู้ว่า ถ้ารู้จักให้ก่อน (give first) แล้ว ย่อมจะได้รับอะไรดีๆ คืนมากขึ้นเสมอ

ท่านจึงขับรถอย่างดี สุภาพ ยิ้มแย้ม ไหว้ลูกทัวร์ทุกวัน (ปกติคนพม่าจะไหว้เฉพาะพระ พ่อแม่ และครูบาอาจารย์เท่านั้น เวลาคนไทยไปอาจจะแปลกใจว่า ทำไม "มือแข็ง" จัง)

เวลาลงรถ... เด็กรถและคนขับจะนำกระบะไม้ไปวางไว้ตรงบันได และช่วยลูกทัวร์ลงจากรถทุกครั้ง แน่นอนว่า ลูกทัวร์ส่วนใหญ่วัยเกษียณย่อมประทับแน่ๆ

ท่านอาจารย์สามารถขอให้ลูกทัวร์ช่วยกันทิปไกด์ คนขับ และเด็กรถ... ผลคือ ทัวร์ 3 วัน 3 คืน 3 ชั่วโมงนี่... คนขับได้ไป 2,000 บาทไทย เด็กรถได้น้อยกว่านี้หน่อย ไกด์ได้มากกว่านี้ แถมยังมีลูกทัวร์ท่านหนึ่งทิปไกด์ด้วยใบละพันอีกต่างหาก

ชีวิตคนเราก็เป็นแบบนี้... ถ้าคิดแต่จะเอา (take & take) คงไม่ทำให้ลูกค้าประทับใจเท่าไหร่ ทางที่ดีกว่าคือ เริ่มต้นด้วยการให้ (give first) และจะได้กลับมามากขึ้นเอง (take 'more' later) 

ภาพที่ 3: "คนเดียวหลายงาน (multitasking)"

ยุคนี้ทำงานบริการต้องเก่งจริงอย่างน้อย 1 อย่าง และทำงานให้ได้หลายอย่าง... คนขับท่านนี้ถ่ายภาพให้ลูกทัวร์ได้ด้วย

คนข้างๆ คนขับคือ เด็กรถที่ขยันมาก รถจอดทุกครั้งแทบจะกระโดดออกมาวางกระบะไม้เป็นบันได และช่วยประคองลูกทัวร์สูงอายุลงจากรถทันที...

ภาพที่ 4: "ยอดขยัน..."

อาจารย์กวางกล่าวถึงคำขวัญลักษณะ(ที่ดี)ของคนพม่าไว้หลายอย่าง ที่จำได้คือ "เมี่ยนเมียน" แปลว่า ทำอะไร(ไม่ทราบทุกอย่างหรือเปล่า)ทำเร็ว ไม่ชักช้า

ที่เหลือคือ คนพม่าจะต้องอดทน เข้มแข็งอะไรทำนองนี้

ตอนยกตัวอย่าง... ท่านยกตัวอย่างคนพม่าว่า โหนรถเมล์ได้ แขนเดียวไม่หลุด โดยสารรถเมล์ไปได้ไกลๆ และนานๆ ทนแดด ทนฝน ทนทุกอย่าง (โอ้โฮ...)

ตัวอย่างคนพม่าที่ขยัน เร็วไว ไม่ชักช้าก็ "เด็กรถ" นี่แหละครับ... พอรถจอดปุ๊บ จะนำกระบะไม้มารองพื้นเป็นบันได ยืนยิ้ม และคอยประคองลูกทัวร์ที่เป็นคนสูงอายุทันที

ภาพนี้ถ่ายที่เมืองพะโค (Pago / หงสาวดี)... ก่อนรถออก ท่านจะนำถังใส่น้ำมาราดทำความสะอาดตะแกรงระบายอากาศ ไม่ทราบว่า เป็นส่วนระบายความร้อนของแอร์ หรือเครื่องยนต์

ถ้าคนพม่าขยันแบบนี้... ไม่กี่ปีอาจจะแซงไทยไปหลายปีแสงเลยทีเดียว

ภาพที่ 5: "คนพม่าชอบบอลมากๆ"

ตอนแวะพักที่พะโค (หงสาวดี / Pago) คนขายของเห็นหนังสือพิมพ์รูปท่านทักษิณ ชิณวัตร อดีตนายกฯ ของไทยติดต่อขอซื้อทีมฟุตบอลอังกฤษแล้ว นำมาให้พวกเราดู

"คนพม่าชอบบอลมากๆ ครับ" ท่านว่าอย่างนั้น คนตรงกลาง(ตาโต)คือ คนขายของที่ระลึก... หยุดขายมาพูดเรื่องบอลชั่วคราว คนทางขวาคือ คุณกวาง ไกด์ไทยใหญ่

ภาพที่ 6: "ห้ามถ่ายครับ..."

ลูกทัวร์ในภาพกำลังทำผิดกฎหมายพม่า... "กฏหมายพม่าห้ามถ่ายภาพข้าราชการกำลังทำงาน ห้ามถ่ายภาพจุดยุทธศาสตร์ เช่น สะพาน ฯลฯ ครับ" คุณกวางบรรยาย

ลูกทัวร์ท่านนี้คงจะถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น... แม่น้ำสายนี้ไม่ธรรมดาครับ เป็นแม่น้ำสะโตงที่กล่าวกันว่า สมเด็จพระนเรศวรประทับยิงปืนข้ามแม่น้ำสายนี้

ภาพที่ 7: "แม่น้ำสะโตง"

ทางไปพระธาติอินทร์แขวนคือ เส้นทางไปสนามบินพม่า ออกจากเมืองไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพะโค(หงสาวดี) ต่อไปทางตะวันออก พระธาตุอินทร์แขวนอยู่ในรัฐมอญครับ...

โปรดสังเกตหยดน้ำฝนที่กระจกรถ... พอมีหยดน้ำกั้น กล้องดิจิตอลจะโฟกัสที่หยดน้ำ เลยชัดเท่านี้เอง

ภาพที่ 8: "คนงานเกรดดิน"

คนงานท่านนี้เกรดดินอยู่ริมแม่น้ำสะโตง... ฝั่งแม่น้ำด้านมอญ(ตะวันตก)สูงกว่าด้านพม่า(ตะวันออก)

คุณกวางบอกว่า ถ้าให้เดา... สมเด็จพระนเรศวรน่าจะอยู่ฝั่งนี้ เพราะเป็นเนินสูงกว่าฝั่งโน้น และน่าจะทำให้ได้เปรียบหากยิงปืนไปด้านที่ต่ำกว่า

ภาพที่ 9: "คนพม่าเป็นคนตรง"

คนพม่าเป็นคนตรงครับ... ถ้าเอียง(คอ)นิดเดียวกล้วยจะตกลงจากหัวทีเดียว ท่านเดินทูนของไว้บนหัวไปได้ไกลๆ โดยไม่ต้องใช้มือจับ

เดือนมิถุนายน... หน้าฝนเป็นช่วงโลซีซัน (low season) นักท่องเที่ยวมากันน้อย พอคนงานรับจ้างแบกของเห็นทัวร์ไทย... สีหน้าแทบจะเบิกบานออกมาทั้งหมู่บ้านเลย

โปรดคลิกที่นี่...                                                 

  • โปรดคลิกที่นี่ เพื่ออ่านตอนที่ 2
  • [ Click - Click ]
  • ตำนานพระธาตุอินทร์แขวน / ไจ้ก์ทิโย จากสารานุกรมวิกิพีเดีย ภาคภาษาไทย
  • [ Click - Click ]
  • เรื่องพระธาตุอินทร์แขวน "ไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวน" ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • [ Click - Click ]

แหล่งที่มา...                                                    

  • ขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์องค์ บรรจุน. ต้นทางจากมะละแหม่ง. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง (www.amarinpocketbook.com). พิมพ์ครั้งที่ 1. 2549. 
  • ขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช. พม่าเสียเมือง. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ (www.nanmeebooks.com).  พิมพ์ครั้งที่ 1. 2548.
  • ขอบพระคุณ > เว็บไซต์มอญศึกษา > http://www.monstudies.com/ > 23 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณ > มอญ > ศาสนพิธีและพิธีกรรม > http://www.samutsakhon.go.th/mis/tour/piti04.htm > 23 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณ > เรื่องพระธาตุอินทร์แขวน / ไจ้ก์ทิโย > วิกิพีเดียภาคภาษาไทย > [ Click - Click ] > 21 มิถุนายน 2550.
  • ขอขอบพระคุณ > รศ.อรนุช นิยมธรรม > ไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวน > http://www.myanmar.nu.ac.th/ > 21 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์สามารถ ปราบกรี ([email protected]) >  15-18 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณอาจารย์กวาง และคุณฟองนวล ไกด์ไทยใหญ่ > [email protected] > 15-18 มิถุนายน 2550.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 21 มิถุนายน 2550.
หมายเลขบันทึก: 105221เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท