7 วิธีเพื่อบุคลิกดีๆ (น่าคบ น่ารัก ฯลฯ)


...

เป็นที่ทราบกันดีว่า คนเรามีเสน่ห์ได้ด้วยบุญเก่า (เมตตาหรือบุญที่ทำด้วยความไม่โกรธทำให้รูปงาม) การแต่งกายดี แต่งพอดี(ไม่มากจนเยิ้ม หรือพอกหน้าหนาเป็นแผ่นๆ) และที่สำคัญคือ บุคลิกภาพผสมผสานกัน

ท่านอาจารย์เกริกบุระ ยมนาค & พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุลตีพิมพ์เรื่อง "ทำอย่างให้ให้เป็นคนมีเสน่ห์น่าประทับใจ(Charisma)" ในนิตยสาร "Gourmet & Cuisine กูรเมท์ แอนด์ ควีซีน (www.gourmetthai.com)" ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

...

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

...

คนบางคนเป็นคนที่น่าคบ น่านับถือ คู่ควรต่อการให้ความไว้วางใจจากคนรอบข้าง... คนเหล่านี้มีอะไรดี ท่านอาจารย์เกริกบุระและพรสรัญกล่าวว่า สูตรทางจิตวิทยาที่ทำให้คนเราน่าคบหรือมีเสน่ห์ได้แก่ สูตร 'A-I-R (แอร์)'

นิตยสารฉบับเดือนตุลาคม 2551 ท่านแสดง 'A' ตัวแรกไว้ 7 ประการ ท่านผู้อ่านที่ต้องการเจ้า "แอร์" ที่เสริมสร้างบุคลิกภาพตัวต่อไปได้แก่ 'I' และ 'R' คงต้องติดตามนิตยสารฉบับเดือนต่อไป (ราคาเล่มละ 90 บาท ไม่แนะนำให้คนที่อยากลดความอ้วนอ่านหรือชม เนื่องจากชมแล้วอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นได้)

...

น้อง 'เอ (A)' ตัวแรกที่พวกเราควรฝึกฝน อบรม บ่มเพาะให้มีไว้ประจำตัวพวกเรา 7 ประการคือ ความใส่ใจคนรอบข้าง (attention) ได้แก่

...

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

...

(1). eye contact                      

  • "อาย คอนแทค" คือ การสบสายตากับคนรอบข้างที่เรากำลังคุย หรือติดต่อด้วยเป็นพักๆ (ประมาณ 60-70% ของเวลาทั้งหมด) และพยายามสบตาให้ครบทุกคน

...

  • การสบสายตาไปยิ้มน้อยๆ ไป เป็นการแสดงความจริงใจ ความเป็นมิตรกับคนที่เราติดต่อด้วย
  • สายการบินและห้างสรรพสินค้าหลายแห่งบังคับให้พนักงานไหว้บ้าง กล่าวคำขอบคุณบ้าง ทว่า... ลูกค้ายังรู้สึกได้ว่า นี่ยังไม่จริงจัง สาเหตุหนึ่งเกิดจากการ "ลอยหน้าลอยตา" ไม่สบสายตาของพนักงาน

...

(2). look interested                

  • สนใจคนอื่น เช่น พูดเรื่องคนอื่น(ไม่พูดเรื่องตัวเรามากเกิน) ฟังคนอื่นบ้าง ผงกหัวตอบรับบ้าง จดโน้ตย่อเรื่องที่คนอื่นพูดบ้าง หรือถามคำถามที่คาดว่าไม่ทำให้คนอื่นหนักใจบ้าง ฯลฯ

...

  • จุดอ่อนสุดๆ อย่างหนึ่งที่ทำให้คนบางคนไม่น่าคบคือ การง่วงเหงาหาวนอน ฯลฯ เรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยการนอนให้พอ และถือหลักการง่ายๆ คือ "ง่วงไม่พูด" คล้ายๆ กับ "เมาไม่ขับ-ง่วงไม่ขับ" เนื่องจากการพูดกับคนที่กำลังง่วงเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่เป็นครูบาอาจารย์จะเบื่อลูกศิษย์แบบนี้อย่างสุดๆ แถมอาจอยากจะให้เกรด 'D,E,F,G,...' หรือเกรดอื่นที่ต่ำกว่านี้กับมัน(ถ้ามี)
  • ทีนี้ถ้าเราไม่อยากคบคนอื่น(บางคน)บ้างล่ะ จะทำอย่างไร... ขั้นแรกคือ พูดแต่เรื่องตัวเรา พูดแต่เรื่องร้ายๆ เช่น พูดถึงความตายทุกๆ 3-5 นาที ฯลฯ หรือรีบเดินหนีไปให้ไกลแสนไกล

...

(3). use and remember name   

  • พยายามใช้ชื่อ เรียกชื่อคนรอบข้างบ่อยๆ และนำไปทบทวนบ่อยๆ จะช่วยให้จำชื่อคนรอบข้างได้

...

(4). listen attentively                

  • ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ทำอย่างอื่นไปด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ อย่าขัดคอเป็นอันขาด

...

(5). smile                                

  • ฝึกยิ้มให้เป็นนิสัย... ถ้าไม่ชอบคนที่กำลังคุยด้วยก็ขอให้คิดว่า กำลังยิ้มให้กับตัวเอง

...

  • หนังสือเล่มหนึ่งกล่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นมีวิธีฝึกคนให้รับโทรศัพท์แล้วอีกฝ่ายรู้สึกว่า เป็นมิตร คือ ให้นำกระจกเงามาตั้งไว้ตรงโทรศัพท์ ฝึกยิ้มไปพูดไป
  • รอยยิ้มที่จริงใจเปรียบเสมือนดอกไม้... ใบหน้าที่ไม่มีรอยยิ้มเปรียบคล้ายบ้านที่ไม่มีไม้ดอกไม้ประดับหรืออะไรทำนองนั้นเลย

...

(6). encourage talk about interests

  • พูดในเรื่องที่(เรารู้ว่า)อีกฝ่ายประสบความสำเร็จหรือชื่นชอบ เช่น งานอดิเรก สัตว์เลี้ยง ฯลฯ และหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง เช่น อยู่เมืองไทยก็อย่าเพิ่งพูดเรื่องการเมือง เนื่องจากไม่รู้ว่า ใครเป็นใคร และใครกำลังจะเป็นใคร(อยู่ฝ่ายไหนแน่) ฯลฯ

...

  • ไม่จำเป็นอย่าพูดเรื่องที่อาจทำให้อีกฝ่ายสะเทือนใจ เช่น โรงพยาบาลหลายแห่งมักจะชอบประกาศเรียกคนไข้วัยกลางคนขึ้นไปว่า "นางสาว" ทั้งๆ ที่รู้ว่า เจ้าตัวไม่ค่อยชอบให้เรียกแบบนี้เท่าไร ฯลฯ ทางที่ดีกว่าคือ เรียกคนไข้ทุกคนด้วยคำกลางๆ ว่า "คุณ" หรือ "ท่าน" อะไรทำนองนี้
  • อาจารย์ชาวเวียดนามท่านหนึ่งขยันขันแข็งแบบสุดๆ พอมาดูงานเมืองไทยเลยเที่ยวไปถามคนอื่นว่า มีลูกกี่คน แต่งงานแล้วยัง ฯลฯ เจอใครก็ถามแบบนี้... ผลคือ ไปไหนคนก็เบื่อขี้หน้า (ท่านไม่ได้มีเจตนาร้าย ทว่า... สังคมเวียดนามนิยมทักทายกันแบบนี้ เพียงแต่ไปทักผิดที่เท่านั้นเอง)

...

(7). act as if the person is important

  • คนเราต้องการมีความสำคัญ(อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง) จึงควรฝึกให้เป็นคนชมคนรอบข้างง่าย โดยเริ่มจากการชมคนรอบข้างให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และค่อยๆ เพิ่มเป็น 3 ครั้งหลังอาหาร (คนเรามักจะมีอารมณ์ดีตอนหลังอาหารมากกว่าตอนก่อนอาหาร)

...

  • ยิ่งเราเป็นผู้ใหญ่หรือมีตำแหน่งสูงแล้วยิ่งอ่อนน้อมได้เท่าไร ยิ่งจะทำให้ "ได้ใจ" คนรอบข้างมากขึ้น เช่น ถ้าคนไหว้... เราควรไหว้ตอบ เวลาเห็นคนอื่นไหว้... อย่าเพิ่งเชิด(หลงตัวเอง) ฯลฯ
  • คำสอนในพระพุทธศาสนานิกายเซ็นของญี่ปุ่นกล่าวว่า "ต้นข้าวสมบูรณ์น้อมรวงลง(อ่อนน้อม) ต้นข้าวลีบชูเชิด(ไม่น้อมรวงลง)" แสดงถึงคนที่ใหญ่จริงจะอ่อนน้อม ตรงกันข้ามคนที่ใหญ่ไม่จริงมักจะเชิด(หยิ่งหรือจองหอง)

...

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

...

ผู้เขียนขอเสริมหน่อยคือ หลักการให้เกียรติคนเราอาจจะมี 2 ยุค... ยุคแรกเป็นยุคที่ข้าวยากหมากแพง อาหารขาดแคลนหรือยุค "คนอิ่ม"

ยุคนั้น.. การให้เกียรติกันที่สำคัญคือ ให้ข้าว ให้น้ำ ให้กับข้าวให้มากพอ

...

ยุคนี้เป็นยุคที่หาคนอดตายจริงๆ ได้ยากมาก ที่พบมากคือ คนประเภท "ไม่รู้จักพอ" นี่พบบ่อยสุดๆ...

ยุคที่ท้องอิ่มแล้ว... การให้เกียรติที่สำคัญมีอยู่ 2 อย่างได้แก่ People need 'voice' and 'choice' นั่นคือ คนเราต้องการการมีสิทธิ์มีเสียง (voice) และการมีส่วนร่วม (choice)

...

เพราะฉะนั้น... ถ้าคิดจะทำการใหญ่(งานใหญ่)ให้สำเร็จ ควรหาโอกาสปรึกษาหารือคนรอบข้าง ให้โอกาสคนรอบข้างแสดงความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้างบ้าง

กล่าวกันว่า คนที่พูดเก่งคือคนที่ฟังเก่ง และคนที่บริหารเก่งคือคนที่รับฟังเก่ง(รับฟังอย่างพอดี)

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีบุคลิกดี (เป็นน่าคบ น่ารัก ฯลฯ) ไปนานๆ ครับ

...

ขอแนะนำ                                                          

...

ที่มา                                                                  

  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์เกริกบุระ ยมนาค & พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล > ทำอย่างให้ให้เป็นคนมีเสน่ห์น่าประทับใจ(Charisma) > Gourmet & Cuisine กูรเมท์ แอนด์ ควีซีน (www.gourmetthai.com) > Issue 099. October' 08. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 26 ตุลาคม 2551 > 18 พฤศจิกายน 2551.
หมายเลขบันทึก: 218332เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2008 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

จะพยายามฝึกน่ะครับ ผมหงุดหงิดง่ายเหลือเกิน

ขอขอบคุณ... คุณ suksom

  • ผมเองก็เป็นหงุดหงิดง่ายกว่าประชากรทั่วไป

เรื่องนี้แก้ไขได้บางส่วน เช่น ออกแรง-ออกกำลังให้มากหน่อย นอนให้พอ ฯลฯ

  • และที่สำคัญที่สุดอาจจะเป็นการยอมรับตัวเราอย่างที่เราเป็น พร้อมกับหลีกเลี่ยงไม่ทำอะไรที่เสี่ยงมากเกิน เช่น ไม่รับงานหรือภาระยุ่งๆ มาสุมตัวเรามากเกิน ฯลฯ

จริงด้วยครับพี่ พอรับงานหรือภาระต่างๆมาเยอะๆ แล้วมันจะพาลหงุดหงิด อัตโนมัติเลย

ขอบคุณครับจารย์

  • ขอบพระคุณอาจารย์หมอมากค่ะ
  • จะพยายามค่ะ สัญญา
  • (^_^)

 

ขอขอบคุณ... คุณ suksom มากๆ เช่นกันครับ

ขอขอบคุณ... อาจารย์ครูปู

  • ขอแสดงความชื่นชมอาจารย์ที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ได้ดีมากๆ ต่อไปครับ สาธุ สาธุ สาธุ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ เนื้อหาน่าสนใจค่ะ จะพยายามค่ะ

ขอขอบคุณ... คุณกระจ๊าบ

  • ขอขอบคุณต้นฉบับจากท่านอาจารย์เกริกบุระ และกูรเม่ต์ แอนด์ ควีซีนครับ...

ขอบคุณนะคะข้อมูลดีมากมาก

จะพยายามเพื่อตัวเราเองนะคะอันดับแรก..และเพื่อคนที่อยู่ข้างๆเราเขาจะได้ดูดีไปด้วย

อยากเป็นคนที่มีบุคลิกดี..อยากเป็นคนน่ารัก อยากเป็นคนน่าคบ..จะต้องพยายาม

ขอบคุณมากค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์ add...

  • เชียร์ครับ ... 
  • ขอขอบคุณต้นฉบับจาอาจารย์เกริกบุระเช่นกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท