8 เหตุผลที่ควรมีเพื่อน 10 คน


 

...

โลกเรานี่มีคนที่มีส่วนช่วยเราเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ซึมเศร้า-เหงา-เซง ช่วยให้ฟื้นไข้ได้เร็วขึ้น แก่ช้าลง และช่วยให้อายุยืนขึ้น... "เขา(หรือเธอ)คือใคร?" (ต่อไปจะใช้ตัวเลขในวงเล็บแสดงจำนวนเหตุผล)

...

(1). เพิ่มโอกาสอายุยืน                          

  • การศึกษาที่ติดตามไปนาน 10 ปีจากออสเตรเลียพบว่า คนสูงอายุที่มีก๊วนเพื่อนวงใหญ่หน่อยมีโอกาสตายก่อนวัยอันควรลดลง = มีโอกาสอายุยืนขึ้น 22% เมื่อเทียบกับคนที่มีเพื่อนน้อย

(2). คบเพื่อนผอมลดเสี่ยงอ้วน                

  • การศึกษาในปี 2550 พบว่า การมีเพื่อนอ้วนทุกคนทำให้เสี่ยงอ้วนเพิ่มเกือบ 60%... การศึกษานี้อาจจะทำให้เราต้องรีบวิ่งไปคบเพื่อนผอมๆ กับเขาบ้าง หรืออย่างน้อยชีวิตนี้ต้องมีเพื่อนผอมอย่างน้อย 1 คน

(3). ช่วยสมองดี                                  

  • ปี 2551 ผลงานวิจัยจากฮาร์วาร์ดพบว่า การเข้าสังคมพอประมาณช่วยให้สมองของคนสูงอายุดีขึ้น

... 

(4). เพื่อน 10 คนช่วยต้านมะเร็ง              

  • ปี 2549 การศึกษาทำในกลุ่มตัวอย่างพยาบาลที่เป็นมะเร็งเต้านมเกือบ 3,000 คนพบว่า คนที่ไม่มีเพื่อนสนิทมีโอกาสตายจากโรค 4 เท่าของคนที่มีเพื่อน 10 คนขึ้นไป
  • เพราะฉะนั้นถ้ามีเพื่อนน้อยกว่า 10 คนอาจจะต้องหามาตุนเพิ่มไว้ให้ครบ 10 (แล้วบอกตัวเองเงียบๆ ว่า โอ้โห... เรานี่คบเพื่อนแบบงกชีวิตสุดๆ เลย)
  • การศึกษานี้พบว่า ขอให้มีเพื่อนบ้างก็พอ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนสนิทเสมอไป (จึงจะมีอายุยืน) และที่สำคัญคือ การมีคู่ครอง (spouse) หรือไม่นั้น... ไม่ทำให้โอกาสอายุยืนเปลี่ยนแปลง

(5). ช่วยสุขภาพดี                                

  • ศ.เบลลา เดอเปาโล แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียทบทวนการศึกษาหลายรายงานพบว่า มิตรภาพในหมู่เพื่อนๆ มีผลต่อสุขภาพมากกว่าคู่ครอง หรือสมาชิกในครอบครัว

(6). ลดเสี่ยงโรคหัวใจ                           

  • การศึกษาทำในกลุ่มตัวอย่างผู้ชายสวีเดนวัยกลางคน 736 คน ติดตามไป 6 ปีพบว่า การมีคู่ครองหรือเป็นโสดไม่มีผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจ และโอกาสตายจากโรคหัวใจ แต่มิตรภาพในหมู่เพื่อนมีผล (= คบกันเป็นเพื่อนจริงๆ ไม่ใช่สักแต่รู้จักหน้าตา)

(7). ป้องกันภัยบุหรี่                               

  • (ต่อจากข้อ 6) การขาดเพื่อนมีผลทำให้แย่ลงไปอีก... ถ้า "เศร้า-เหงา-เซง" ด้วย สูบบุหรี่ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเลิกบุหรี่ได้เป็นดีที่สุด... ถ้ายังเลิกไม่ได้ อย่าลืมคบหาเพื่อนดีๆ ไว้บ้าง อายุจะได้ยืนยาว เพราะการมีเพื่อนช่วยลดพิษภัยจากบุหรี่ได้ในระดับหนึ่ง
  • คุณภาพของเพื่อนสำคัญกว่าระยะทาง... ขอให้มีมิตรภาพต่อกัน จะใกล้หรือไกลก็ทำให้มีโอกาสอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น 
  • กลไกที่เป็นไปได้คือ การมีมิตรภาพในหมู่เพื่อนทำให้ระดับความเครียดลดลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาที่ว่า คนที่มีมิตรภาพในหมู่เพื่อนเป็นหวัดน้อยลง

(8). เพิ่มความกล้าหาญ                          

  • ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ทำในกลุ่มตัวอย่างนักศึกษา 34 คน จัดให้นักศึกษาไปอยู่ที่ตีนเขาสูงชัน ให้สวมเป้หนัก
  • และจัดกลุ่มตัวอย่างบางคนให้ยืนใกล้ๆ เพื่อน ส่วนบางคนให้อยู่ไกลเพื่อน หลังจากนั้นให้ลองประมาณการณ์ว่า ภูผาข้างหน้าสูงชันเท่าไร
  • ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาที่อยู่ใกล้เพื่อนๆ บอกว่า ภูผาหาได้ชันไม่ (= ไม่ค่อยสูงชัน) ส่วนนักศึกษาที่อยู่ไกลเพื่อนมีแนวโน้มจะบอกว่า ภูผาชันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยิ่งไกลเพื่อนยิ่งบอกว่าชันมาก (= แปรตามระยะทางไปถึงเพื่อนๆ) 
  • แถมความชันยังแปรตามระยะเวลาของการคบเพื่อนด้วย คือ ยิ่งให้ไกลเพื่อนที่คบกันมานาน... ภูผายิ่งดูชันเพิ่มขึ้น
  • สรุปง่ายๆ คือ คนเรามักจะมีความกล้าหาญมากขึ้นถ้ามีเพื่อน และเพื่อนอยู่ใกล้ๆ เรา โดยเฉพาะเพื่อนที่คบกันมานาน

...

การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า การมี "น้อง(น้องหมา น้องแมว)" ส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างกว้างขวางคล้ายๆ กัน

ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหายหรือคู่ครอง, ถ้าอยากรักษามิตรภาพให้ดีไปนานๆ แล้ว... ขอให้พยายามรักษาสัดส่วนของ "ข่าวดี (เช่น กล่าวคำชม แสดงความชื่นชม เป็นฝ่ายให้ ให้ของขวัญ ฯลฯ)" ต่อ "ข่าวร้าย (เช่น กล่าวติเตียน บ่นว่าด่าทอ เป็นฝ่ายขอ เป็นฝ่ายรับ ฯลฯ)" ไว้อย่าให้ต่ำกว่า 1 ต่อ 10

... 

ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่บ่นอะไรสัก 10 ประโยคแล้วควรรีบหยุด แล้วถามตัวเองว่า ประโยคที่ 11 ควรจะเป็นอะไรในแง่ดีบ้าง เช่น ชื่นชมคนอื่นบ้าง ฯลฯ

ถ้าไปบ่นอะไรมากพอแล้ว... ครั้งต่อไปอย่าลืมของฝาก หรืออะไรที่เป็นข่าวดีบ้าง เพื่อรักษามิตรภาพไว้ให้งอกงาม

...

ไม่อย่างนั้นลูกหลาน หรือญาติสนิทมิตรสหายจะ "หาย" ไปเรื่อยๆ ทิ้งให้ "เหงา-เศร้า-เซง" อยู่คนเดียว

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

... 

ที่มา                                                     

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า >  > 21 เมษายน 2552.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 256668เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท