นักวิชาการแนะนำทำอย่างไรกับ "หวัด2009"


 

...

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ. ตีพิมพ์เรื่อง "นักวิชาการเตือนคนอ้วนเสี่ยงติดหวัดใหญ่2009ง่ายสุด" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า เรื่องนี้มีคุณค่าต่อสังคมโดยรวม ขออนุญาตนำมาเผยแพร่

ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ขอความกรุณาแวะไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ "กรุงเทพธุรกิจ" อ่านข่าว หรือคลิกโฆษณา เพื่อให้เว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวสารดีๆ อยู่รอดปลอดภัยต่อไป ขอขอบพระคุณ

...

[ เริ่มต้นข้อความคัดลอก ]

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่มีการนำเสนอข้อมูลของหลายส่วน ยังไม่ตรงกันและไม่อิงตามหลักฐานที่ปรากฏ ทั้งจากข้อมูลในต่างประเทศและในประเทศ

... 

(1). มาตรการที่สื่อสารเพื่อลดการแพร่กระจาย การติดต่อง่าย การแพร่กระจายเป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งประเทศในเวลาอันสั้น

ดังนั้นไม่ว่ามาตรการการปิดปาก จมูก เวลาไอ จาม ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้วนได้ประโยชน์ ต้องรณรงค์พร้อมกัน เป็นการปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดีต่อตนเองและสังคม

...

(2). ตัวเลขอัตราการตาย การคำนวณร้อยละของอัตราการเสียชีวิต ต้องทราบจำนวนที่แท้จริงของคนที่ติดเชื้อทั้งหมด ไม่ได้ใช้ 

ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อเท่าที่ตรวจได้มาคำนวณ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อนี้ ในประเทศไทยที่ทราบขณะนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

...

ทำให้ไปแสดงตัวเลขอัตราการตายที่พุ่งสูงขึ้นจนเกิดความตระหนกตกใจ เช่น คาดการณ์การติดเชื้อขณะนี้น่าจะเป็นที่กว่าแสนราย

การรายงานตัวเลขต่างๆ จึงมีปัญหาเมื่อนำมาสื่อสารทั้งหมด เพราะขึ้นกับกระบวนการได้มาของข้อมูลที่อาจไม่ได้มีความชัดเจน

...

(3). การอ้างอิงข้อมูลตัวเลขควรบอกถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ว่า เป็นการคาดการณ์โดยอาศัยอาการอย่างเดียวหรือมีข้อพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ

เช่น มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่ละปีหลายแสนคน และเสียชีวิตไม่ต่ำกว่าปีละ 300-400 คนทุกปี อาจสะท้อนเพื่อให้เห็นว่าการเสียชีวิตจาก H1 N1 คือเรื่องปกติ ไม่น่าตกใจ

...

(4). การสกัดกั้นผู้ป่วยจากต่างประเทศด้วยการตรวจคัดกรองไข้ที่สนามบินนานาชาติต่างๆ แม้ดูเสมือนไม่มีประโยชน์

แต่ก็พบว่าประเทศท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม ยังปฏิบัติอย่างเข้มงวด และมีการตรวจซ้ำสามถึงสี่รอบ

...

(5). ลักษณะที่อาจเป็นอาการเฉพาะตัวของไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้แก่

  • (a). ระบบทางเดินอาหาร : คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • (b). กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเมื่อยรุนแรง
  • (c). เมื่ออาการเริ่มรุนแรงขึ้น จะมีความดันเลือดต่ำ จนช็อก
  • (d). ลักษณะการทำงานของไตน้อยลง อาจพบตั้งแต่มีอาการเริ่มรุนแรงขึ้น
  • (e). อาการทางสมองอาจพบบ่อยกว่าไข้หวัดตามฤดูกาล

...

(6). ภาวะของโรคที่มีความรุนแรงจนปอดบวมและเสียชีวิต

ภาวะดังกล่าวอาจไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มเสี่ยงตามปกติ อันหมายถึงผู้มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด ไต ตับ หัวใจ ความดันเลือดสูง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเท่านั้น แต่เสียชีวิตในกลุ่มบุคคลปกติอายุ 5-65 ปีได้

กลุ่มคนอายุ 5-65 ปี ที่เสียชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีโรคประจำตัวก็ได้ มีก็ได้ ทั้งนี้พบว่ากลุ่มอายุดังกล่าวที่เสียชีวิตมีโรคประจำตัวประมาณร้อยละ 45-64 หรือครึ่งหนึ่งอาจแข็งแรงดีก็ได้

...

อย่างไรก็ตาม ความอ้วน (BMI มากกว่า 30) เป็นความเสี่ยงของการทำให้เสียชีวิตจากปอดบวมได้ ดังที่ปรากฏในรายที่เสียชีวิตในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโกผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี แม้มีปอดบวมแต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าหนุ่มสาวที่มีอาการปอดบวมเช่นกัน

จากรายงานผู้ป่วยในเม็กซิโก พบว่า ร้อยละ 87 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในกลุ่มอายุ 5-59 ปี  และร้อยละ 71 มีปอดบวมรุนแรงได้ ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มดังกล่าวเพียงร้อยละ 17 และมีปอดบวมรุนแรงร้อยละ 32

...

ผู้เสียชีวิตในประเทศไทยหลายรายอายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว ถึงแม้ว่าสาเหตุของการเสียชีวิตอาจเกิดจากการวินิจฉัยไม่ทันการณ์ การได้รับยาช้า

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ที่ผู้ป่วยแข็งแรงอายุน้อย เกิดอาการปอดบวมรุนแรงและรวดเร็วเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ

...

เนื่องจากเคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2461 (ค.ศ.1918) ที่รู้จักกันว่าไข้หวัดสเปน ที่คร่าชีวิตผู้คนหลายสิบล้านคน

พบว่าผู้มีอายุ 20-40 ปี มีอัตราการตายมากกว่ากลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป ไข้หวัด 1918 นั้น เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และลักษณะการระบาดรวดเร็วเช่นกัน

...

ในระลอกแรกมีผู้เสียชีวิตประมาณร้อยละ 5 แต่ระลอกที่สองการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60-80

คำว่าระลอกที่สองอาจมีระยะห่างจากรอบแรกตั้งแต่สองเดือนถึงหนึ่งปีหรือมากกว่า จึงต้องเฝ้าระวังทุกกลุ่มอายุ ไม่ว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ก็ตาม

...

(7). อาการทางสมอง

แม้จะพบอาการทางสมองในไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่เป็นจำนวนน้อยมาก การติดตามระยะนานกว่าสามปีที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ไม่พบผู้ป่วยมีอาการทางสมองเลย

ที่พบมีรายงานจะมาจากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และประเทศในยุโรป ตุรกี ในญี่ปุ่นในช่วงปี พ.ศ. 2540-2541 มีการประมาณการที่พบเด็กมีอาการทางสมองประมาณ 100-200 รายต่อปี

...

แต่ไข้หวัดใหญ่ 2009 พบแล้วในประเทศไทยในสามเดือนเท่านั้น เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่ต้องจับตามอง

มาตรการใดที่กระทรวงสาธารณสุขเริ่มประกาศต้องมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

...

(1). แยกผู้มีอาการออกจากผู้อื่นโดยเด็ดขาด ตั้งแต่มีอาการหวัด ไอ น้ำมูก แม้ไม่มีไข้ก็ตาม หยุดงาน อยู่บ้าน สวมหน้ากาก อยู่ในห้องปิดประตู

  • หรือถ้าอยู่ห้องรวมพยายามอยู่ห่างกันตลอดเวลาอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อลดโอกาสติดกันทั้งบ้าน แยกภาชนะจาน ชาม แก้วน้ำ หน้ากาก หรือกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วควรแยก และทำลายทิ้ง
  • คนในบ้านควรสวมหน้ากากด้วยเช่นกัน และต้องล้างมือเพื่อทำลายไวรัสที่ติดมือ แล้วเอามือ ขยี้ตา แคะจมูก

(2). ผู้มีอาการน้อยเหมือนไข้หวัดธรรมดา

  • ไม่ต้องรีบไปโรงพยาบาลและไม่จำเป็นต้องพยายามพิสูจน์ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009
  • เพราะการไปโรงพยาบาลขณะป่วยเสี่ยงต่อการพาตัวไปติดเชื้อของจริง

...

(3). ผู้มีอาการยกระดับจากไข้หวัดธรรมดาต้องพบแพทย์ ได้แก่

  • ไข้ไม่ลด สูงขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่สองหรือวันที่สาม ปวดกล้ามเนื้อมากขึ้น หรือมีอาเจียน ท้องเสีย เพลียมาก หรือมีอาการปวดหัวมากขึ้น หรือมีซึม ในเด็ก ไม่กิน ไม่เล่น ซึม รีบไปโรงพยาบาล

(4). รายงานจากห้องปฏิบัติการต้องเร็วและครอบคลุม

  • การตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้รองรับจำนวนตัวอย่างมหาศาลของผู้ติดเชื้อทุกคนได้ยาก หากไม่จำกัดและคัดกรอง และตรวจทุกรายที่ต้องการตรวจ จะทำให้ในรายที่มีความจำเป็นต้องทราบผลด่วนไม่ได้รับผลการตรวจเร็วพอ ไม่ควรส่งตรวจผู้มีไข้หวัดธรรมดา

ผู้ที่ต้องได้รับการตรวจและทราบผลเร็วที่สุด ได้แก่

  • (ก). ผู้ที่มีกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าอาการน้อยหรือมาก
  • (ข). ผู้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ถ้ามีอาการมากกว่าหวัดธรรมดา แม้ไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม
  • (ค). บุคลากรสาธารณสุขที่มีโอกาสสัมผัสโรคและแพร่ให้คนไข้

(5). ข้อมูลสถานการณ์แต่ละวันทั่วประเทศในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงปานกลางขึ้นไป

  • การนำข้อมูลจากทั่วประเทศที่ส่งให้กระทรวงสาธารณสุขมาแยกแยะอาการและแจ้งให้ทราบทั่วไปแก่บุคลากรการแพทย์ โรงพยาบาล หรือผู้เกี่ยวข้อง
  • ที่สำคัญช่วยในการพิจารณาความพร้อมของบุคลากร ห้อง ICU เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น แต่ละสถานพยาบาลควรกำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อการดูแลผู้ป่วยลดการเสียชีวิตที่สามารถทำได้

(6). วิเคราะห์กลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยที่ติดเชื้ออาการระดับกลางถึงรุนแรง

  • การที่ได้ทราบกลุ่มเสี่ยงจะทำให้บริการจัดการการให้วัคซีนในอนาคตได้ดี และจัดสรรให้กลุ่มเหล่านี้ได้เหมาะสม

(7). การปิดสถานที่ต่างๆ

  • เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และอาจทำได้ และต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยก่อนปิดต้องมีการสื่อสารข้อมูลอย่างเข้มงวดแก่ผู้จะหยุดว่า
  • อย่างน้อยสองวันแรกขอให้อยู่บ้าน และใส่หน้ากากเพื่อไม่ให้แพร่แก่คนในบ้าน เพราะถ้าติดโรคประมาณสองวันจึงแสดงอาการ
  • ที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าที่บ้านมีผู้ป่วย หรือผู้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ต้องจัดแยกให้ชัดเจน

[ สิ้นสุดข้อความคัดลอก ]

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

 > ขอขอบพระคุณ กรุงเทพธุรกิจ

ที่มา                                                                      

หมายเลขบันทึก: 276292เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2009 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีคะ..

ขอบคุณสำหรับข้อมูลคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท