Pure science for Apply research


แต่ถ้าหากครูและอาจารย์สามารถประยุกตร์งานวิจัยเข้าไปในศาสตร์หรือสาขาวิชาต่าง ๆ เหล่านี้ได้ก็จะทำให้นักศึกษาสามารถกลับมาสนใจในวิชาเหล่านี้

เมื่อการเรียนการสอนในศาสตร์หรือสาขาวิชาที่บริสุทธิ์ (Pure Science) คือ เมื่อก่อนสอนกันมาอย่างไรก็ยังคงต้องสอนต่อกันเป็นอย่างนั้น อาทิเช่น คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ หรือแม้กระทั่งศาสตร์ทางภาษา ฯลฯ การเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนแบบนี้จะว่าไปก็ดูจะค่อนข้างน่าเบื่อ เพราะสอนอย่างไร 1 + 1 ก็ต้องได้เท่ากับ 2 ...

ผู้สอนในรายวิชาจำพวก Pure science จึงต้องหาลูกเล่นเพื่อสร้างความตื่นเต้นอาชีพหรือสร้างรสชาดให้กับ "ชีวิต"

ถ้าหากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทางออกที่ง่ายที่สุดก็คือการขอทุนในการทำวิจัย เพราะการทำวิจัยในสาขา Pure Pure แบบนี้เมืองไทยเป็นอะไรที่ "ขาดแคลน"

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ การคิดค้นทฤษฎีต่าง ๆ นั้นเป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่คนไทยจะหันเข้าไปใส่ใจได้โดยยาก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทฤษฎีทางด้านฟิสิกส์ก็ดี เคมีก็ดี ในต่างประเทศมีการคิดค้น นำเสนอและตีพิมพ์ออกมาเป็นระยะ ๆ ก็เพราะด้วยหน่วยงานทั้งทางราชการและเอกชนมีที่รองรับให้นักวิชาการพิสูจน์ทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นองค์การ NASA หรือบริษัทผลิตยาต่าง ๆ ที่กำลังต้องการเอาชนะโรคภัยในปัจจุบัน

แต่คนไทยของเราก็ยังได้เปรียบในเรื่องของการประยุกตร์หรือเรียกภาษาบ้าน ๆ ว่า "พลิกแพลง" ดังนั้น การวิจัยเชิงประยุกตร์ (Apply Research) โดยการนำหลักการ ทฤษฎีต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้หรือศึกษาเพื่อนำมาประยุกตร์ใช้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ทุน" ต่าง ๆ ที่เรามีจึงเป็นสิ่งที่จะเกิดประโยชน์กับสังคมได้อย่างสูงที่สุด

แต่ถ้า Focus ภาพให้เล็กลงไปในสายของการศึกษา ครูในระดับชั้นตั้งแต่มัธยมเรื่อยลงไปถึงชั้นประถมหรือแม้กระทั่งอนุบาล ก็แทบจะหาทางออกกับ Pure science แทบไม่ได้

แต่ทว่า...ปัจจุบันมีทางให้เลือกอยู่ 2 ทาง คือ 1. การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Research) และ 2. การวิจัยในงานประจำ (Research to Routine : R2R) ที่จะสามารถนำไปเล่นกับวิชาอย่างเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ หรือแม้กระทั่งภาษาศาสตร์ได้อย่างมีรสมีชาด

เพราะถ้าหากวัน ๆ ต้องจมอยู่กับการสอนศาสตร์ประเภทที่ต้อง Fix อยู่กับหลักสูตรและตำรา เทอมนี้ เทอมหน้า หรือเทอมไหน ๆ ก็สอน ๆ ไปแบบไร้อารมณ์ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นักศึกษามักมองวิชาเหล่านี้ว่า "น่าเบื่อ"

แต่ถ้าหากครูและอาจารย์สามารถประยุกตร์งานวิจัยเข้าไปในศาสตร์หรือสาขาวิชาต่าง ๆ เหล่านี้ได้ก็จะทำให้นักศึกษาสามารถกลับมาสนใจในวิชาเหล่านี้

นอกจากนี้ ถ้าหากมีการจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยยกเลิกคำว่า "ผิด" หรือ "ถูก" โจทย์วิจัยต่าง ๆ ก็จะสามารถพัฒนาขึ้นมาจากสมมติฐานเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ ที่มักคิดอะไรแบบแปลกและแหวกแนว

การประยุกตร์ชีวิตจริงให้เข้ากับศาสตร์จำพวก Pure Science นั้น ยังจะสามารถตอบคำถามให้กับนักเรียนได้อีกว่า ทำไมเราถึงต้องเรียนวิชายาก ๆ พวกนี้ เพราะทุกวันนี้ย้อนกลับไป เราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราเคยเรียนมาจากวิชาที่สุดแสนยากนี้แทบจะไม่ได้ใช้อะไรเลย

ความผิดนั้นไม่ใช่อยู่ที่ตัววิชา แต่ความคิดอยู่ที่เราไม่สามารถตั้งโจทย์หรือสมมติฐานให้นักเรียนได้คิดแล้วเชื่อมโยงเข้าสู่ชีวิตประจำวัน...

หมายเลขบันทึก: 336310เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2010 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การปฏิวัติทฤษฎีใหม่ในเมืองไทยสามารถเกิดขึ้นได้โดยใช้ R2R (Research to Routine)

การประยุกต์ทฤษฎีให้เนียนเข้าไปในเนื้องานโดยคนระดับปัญญาชนซึ่งถือเป็นมันสมองของประเทศที่ได้โอกาสไปศึกษาเล่าเรียนปริญญาตรี โท และเอกทั้งในและนอกประเทศ เป็นหนทางที่สามารถสร้างทฤษฎีใหม่ที่สดใส

เพราะการคร่ำหวอดอยู่กับงานที่ไม่เฉพาะแต่งานสอน การมองทุกอย่างทุกย่างก้าวเป็นงานวิจัย ไม่ว่าจะขับรถไปไหน อยู่ที่ใด ถ้าหากหัวใจมี R2R หมุนวนเป็นเกลียวอยู่แล้ว เราก็สามารถสร้างทฤษฎีใหม่ได้อยู่ตลอดเวลา

ทฤษฎีใหม่นี้ อาจจะเริ่มต้นจากทฤษฎีเล็ก ๆ หลักการน้อย ๆ โดยจุดที่สำคัญอยู่ที่การบันทึก การสืบต่อ และการเชื่อมโยงทฤษฎีเล็ก ๆ เหล่านั้นให้ประติดประต่อเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ

เมื่อเราเจอ คิด ค้นคว้า ได้คำตอบต้องรีบบันทึก จากนั้นก็เริ่มตั้งสมมติฐานตัวต่อไป แล้วค่อย ๆ ประยุกต์ทฤษฎีต่าง ๆ ให้มากขึ้นและมากขึ้น

ขั้นต่อไปจึงค่อย ๆ ผสมทฤษฎีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือจะต้องมีการพูดคุยกันระหว่างเพื่อนฝูงในลักษณะของ "สภากาแฟ" ในทุกโอกาสและทุกเวลา

การพูดคุยกันจะได้ข้อคิด ข้อสงสัย ข้อซักถามที่เป็นประโยชน์ เพราะบางครั้งแง่มุมของคนแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่ละคนมองเหรียญคนละมุม คนละด้าน เพราะได้พูดจากัน ถกเถียง โต้แย้งสมมติฐานต่าง ๆ เราก็จะสามารถสังเคราะห์และสรุปออกมาเป็นทฤษฎีต่าง ๆ ได้

เมื่อต่างชาติเขาสร้างทฤษฎีในห้องทดลอง เราคนไทยก็ต้องสร้างทฤษฎีในห้องทำงาน

วงจรการใช้และการปรับเปลี่ยนทฤษฎีในห้องทำงานจะหมุนเร็วกว่ารอบการหมุนของวงจรในห้องทดลอง เพราะไม่ติดเรื่องแหล่งทุน เรื่องหลักการ วิชาการ หรือผู้บริหารที่คอยมานั่งตีกรอบ

เราสามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎีต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

หากวันใด หู ตา จมูก ลิ้น กาย หรือใจของเราไปสัมผัสกระทบเข้าไปสิ่งใด เราก็สามารถทดลองและประยุกต์ใช้ทฤษฎีเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที

นักวิจัยรุ่นใหม่จึงต้องเดินออกนอกกรอบของ "เวที" ที่เมื่อก่อนเคยคิดกันแค่ว่า จะทำอะไรใหม่ ๆ ได้ หรือจะคุยอะไรกันได้ก็ต้องอาศัยเวทีการอบรม สัมมนากันอย่างเป็นทางการ

นักวิจัย r2r นั้น ต้องลบภาพเวทีในห้องประชุม ในโรงแรม ในรีสอร์ท ออกไปให้ได้ แล้วมองทุก ๆ สถานที่ที่สองเท้าก้าวย่างไปเป็นเวทีเสมือน ซึ่งทุก ๆ ที่และทุก ๆ ที่ได้สัมผัส ณ เวลานั้น ขณะนั้นสามารถเข้าร่วมเวทีและโต้วาทีได้ทุกสถานการณ์

 

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เคยพบในการทำวิจัยประยุกตร์ (Apply Science) นั้น ก็คือ การไม่ถูกยอมรับจากแหล่งทุน หรือถูกจำกัดวงเงินงบประมาณให้น้อยกว่าการทำวิจัยในลักษณะของ Pure Science

สิ่งนี้ก็จะไปโทษแหล่งทุน ผู้พิจารณา หรือคนออกระเบียบก็ไม่ได้ ก็เพราะว่านักวิจัยที่มีพื้นฐาน Pure Science ในแต่ละสาขากลับไปประยุกตร์ศาสตร์แต่ละวิชากันให้ยุ่งไปหมด

การทำวิจัยประยุกตร์นั้น จะต้องมั่นคงในศาสตร์ที่ตนเองรับผิดชอบ ก็คือ จะต้องมั่นคงในสาขาวิชาที่ตนเองสอน หรือคณะที่ตนเองสังกัดอย่างมั่นคงเป็นเบื้องต้น เพราะจะทำให้เป้าหมายของโครงการนั้นชัดเจน

แต่ถ้าหากเขียนโครงการวิจัยแบบประยุกตร์แล้ว ติดสาขาโน้นนิด แจมกับสาขาโน้นหน่อย ก็จะกลายเป็นวิจัยแบบ "รวมศาสตร์" ซึ่งไม่สามารถชูศาสตร์ที่ตนเองถนัดได้อย่างโดดเด่น

ดังนั้นจึงต้องมั่นคง ซื่อตรงต่อศาสตร์ที่ตนเองเรียนจบมา หรือทำงานอยู่ ณ ขณะนั้นเป็นสำคัญ จากนั้นจึงค่อย ๆ ประยุกตร์จากจุดเริ่มต้น ณ ศาสตร์ตรงนั้นให้เข้ากับชุมชน ท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คน" ที่อยู่ใกล้เคียง

ถ้าหากเราเริ่มต้นจากสาขาวิชาที่ตนเองสังกัดหรือทำการสอนอยู่ การเขียนโครงร่าง ตลอดไปจนถึงการดำเนินงานการวิจัยก็จะไม่ไขว้เขว

ส่วนผลหรือผลการวิจัยที่ได้ออกมาหรือพบระหว่างการวิจัยนั้นไปเกี่ยวข้องหรือกระทบกับศาสตร์สาขาวิชาใด จึงจักตั้งเป็น "โจทย์วิจัย" ไว้สำหรับอาจารย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นทำวิจัยในโครงการต่อไป

หรือถ้าโครงการวิจัยของเราสามารถครอบคลุมในด้านงบประมาณรวมทั้งระยะเวลาได้แล้ว ก็อาจจะเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องนั้นมาร่วมวิพากษ์ หรือร่วมลงพื้นไปกับเราเพื่อเสริมความแข็งแกร่งหรือสร้างความเชื่อมั่นในด้านของข้อมูลและการทดสอบสมมติฐานให้หลากหลายขึ้นได้

จุดสำคัญก็คือต้องไม่หลงไปตาม "กระแส" ที่คอยแต่จะพาเราหลงทิศ หลงทางจากหน้าที่หลักที่เรารับผิดชอบ

สังคมนี้ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ที่มีกิ่ง มีสาขากระจายอยู่ครอบคลุม และทั่วถึง

ดังนั้นเราจึงรับผิดชอบกิ่ง ก้าน และสาขาที่ตนเองรับผิดชอบในการส่งกำลังบำรุงให้กับดอกและใบที่เรารับผิดชอบอยู่ เพื่อหวังว่า "ผล" ที่จะออกมาในกิ่งของเรานั้นจะสมบูรณ์เหมือนกับกิ่งอื่นที่เขาก็รับผิดชอบหน้าที่ในกิ่งของเขาอย่างเต็มที่...

ที่จริงแล้วการวิจัยแบบ Pure Science หรือศาสตร์ในสาขาเหล่านี้เป็นสิ่งที่มี "เสน่ห์" มากนะ เพราะสามารถทดลองวิจัยอะไรออกมาแล้วเห็นได้เป็นรูปธรรม นับได้ สัมผัสได้ แตกต่างกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดูเหมือน "หวือหวา" คือศึกษาเรื่องพฤติกรรม ความสนใจ ความพึงพอใจ การศึกษาเปรียบเทียบสิ่งโน้น สิ่งนี้ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคน อารมณ์ซึ่งจะต้องใช้การบรรยายหรือจินตนาการให้เห็นภาพและคล้อยตาม

การสรุปรายงานการวิจัยทางสังคมศาสตร์จึงต้องอาศัยจินตนาการบวกประสบการณ์สูง ซึ่งนั่นก็แล้วแต่จินตนาการหรือประสบการณ์ของแต่ละคน บางคนใช้ประสบการณ์ตีความไปอย่างนี้ อีกคนมีประสบการณ์ไปอีกอย่างหนึ่ง ก็ว่าคนโน้นผิด คนนี้ถูก

สู้การวิจัยพวก Pure Science ไม่ได้ ผลได้ออกมาอย่างไรไปทดลองซ้ำก็เป็นอย่างนั้น

แต่ปัญหาของนักวิจัยหรือนักวิชาการโดยทั่วไปที่มีปัญหาเกี่ยวกับงานวิจัยแบบ Pure science ส่วนใหญ่ก็คือ มักจะ "คิดการใหญ่" ก็คือคิดจะค้นหาทฤษฎีหรือหลักการใหม่ ๆ หรือจะทดลองอะไรที่ใหญ่ ๆ บางครั้งก็ใหญ่เกินตัว

เมื่อคิดจะโน่นอันโน้น ก็ติดว่าเครื่องมือไม่มี สารเคมีไม่พอ คิดจะวิจัยอันนี้งบประมาณก็เยอะ ต้องใช้เวลาตั้งแยะ

แต่ถ้าหากเราเข้าใจถึงหัวใจแห่ง R2R (Research to Routine) เราก็จะสามารถสนุกกับการวิจัยแบบ Pure Science นี้ได้

ในแววตของเด็ก ๆ นักเรียน นักศึกษา มักจะมีสมมติฐานต่อสิ่งที่เราหรืออาจารย์สอนเสมอ

ถ้าหากเราสามารถจัดการความรู้ในแววตาของเด็ก ๆ นั้นได้ ง่าย ๆ ก็คือถามเขาว่า สงสัยอะไร คิดอะไรอยู่กับทฤษฎีที่ครูสอนอยู่ในขณะนี้ เราก็จะได้โจทย์วิจัยง่าย ๆ ที่สามารถทำให้ห้องเรียนฟิสิกส์ที่น่าเบื่อกลายเป็นสถานที่ทดลองที่สนุกสนานได้

หรืออย่างเช่นเร็ว ๆ นี้ก็ได้คุยกับเจ้าของร้านขายเหล็กท่านหนึ่ง ก็ถามเขาง่าย ๆ ว่าเหล็กที่ได้มาตรฐานที่โรงงานเขาว่ามาตรฐานต้องเท่านั้น เท่านี้จะดูได้อย่างไร

เราก็เริ่มสงสัยว่า แล้วเอ๊ะ เวลาที่เขาสั่งเหล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งสแตนเลสมาขายที่ร้านเขาเช็คกันอย่างไร...?

เขาก็ตอบว่า ทำได้แค่ดูใบรับประกัน (Certificate) และต้องหาบริษัทที่มั่นใจ

เราก็ถามต่อไปอีกว่า ดูได้แค่นั้นเองหรือ...?

เขาก็บอกว่าต้องส่งไปตรวจแล็ปที่กรุงเทพฯ หรือไม่ก็ต้องให้ทีมงานจากส่วนกลางเอามาตรวจเช็ค ซึ่งนั่นก็หมายความว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายหมื่นหรือหลักแสนเลยทีเดียว

เราก็คิดต่อไปว่า น่าจะมีอะไรที่ทำได้มากกว่านั้นนะ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราก็จะไม่สามารถส่งเหล็กเส้นเดียวไปเช็คที่กรุงเทพฯ ก็เพียงเพื่อหาความมั่นใจว่าของที่ได้นั้นคุ้มกับเงินที่เราจ่ายนั้นหรือไม่...

ยิ่งในฐานะผู้บริโภคตาดำ ๆ อย่างเรา เวลาซื้อของ อาทิ จะสั่งรั้วสแตนเลสมาใส่ที่บ้านสักบานนึง คนขายก็บอกว่านี้ก็บอกว่านี้เกรด 304 นะ ไม่ใช่ 201, 202 ราคาจึงต้องแพงกว่า เราไอ้เรานี้จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวนี้มันเกรดไหนกันแน่

แล้วถ้าคิดไปให้ลึก 304 บริษัทนี้ กับ 304 ร้านนี้ ประเทศโน้นมาตรฐานเดียวกันไหม ต่างกันอย่างไร คำถามนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาสารเคมีอะไรมาตรวจได้หรือเปล่า...?

เราจึงได้ย้อนคิดกลับไปลึกอีกนิด ก็พบได้ว่าที่จริงแล้วนักฟิสิกส์ เคมี ชีวะที่ผู้บริหารการศึกษาส่วนใหญ่บอกว่าขาดแคลนนั้น ที่จริงแล้วคำว่าขาดแคลนไม่น่าจะใช่ในเรื่องของจำนวนคน แต่น่าจะขาดแคลนในเรื่องของการวิจัยที่ใกล้ตัว ใกล้ใจคน

ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งเป้าไปที่อวกาศกัน จะไปแข่งเหยียบดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวศุกร์กัน หรือไม่ก็มุ่งแต่ค้นหาเทคโนโลยีสเตมเซลล์ หรืออะไรต่ออะไรที่มันใกล้ตัว

จากนั้นก็นำสิ่งที่นักวิชาการไทยคิดได้ ค้นคว้าได้ ไปเทียบกับเมืองนอก ที่เขามีทุนวิจัยหนา ๆ มีเครื่องมืออุปกรณ์เยอะ ๆ ก็มักได้คำตอบว่าของเราด้อย ประเทศเรายังต้องใช้งบใช้ทุนวิจัยอีกมาก

แต่ถ้าหากเรามอบย้อนกลับมาใกล้ ๆ ตัวสักนิด นำชีวะ เคมี และฟิสิกส์ มาตอบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยอาจจะเริ่มต้นที่ครอบครัวของนักวิทยาศาสตร์เอง ปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำอาหาร การจัดที่หลับที่นอนว่ามีเชื้ออะไรอยู่บ้าง ทดลองนั่น ทดลองนี่ ทดลองว่าแดดบ้านเรากับแดดเมืองนอกอะไรจะฆ่าเชื้อโรคได้มากกว่ากัน

เป็นครู เป็นอาจารย์ก็เริ่มต้นทดลองจากข้อสงสัยเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ เด็กในที่นี้ต้องว่ากันตั้งแต่อนุบาลเลยนะ เพราะว่าเด็กโต ๆ จำพวกปริญญาโท ปริญญาเอก เขาจะมีปัญหาแต่เรื่องระดับชาติ ระดับอวกาศ

แต่ถ้าหากเราเริ่มต้นปัญหาเล็ก ๆ แบบเด็ก ๆ เด็กอนุบาล เด็กประถม เด็กมัธยม เขาก็จะมีปัญหากุ๊กกิ๊ก ๆ ที่บางครั้งผู้ใหญ่ระดับอาจารย์อย่างเราอาจจะมองดูว่า "ไร้สาระ"

แต่สิ่งนั้นคือสิ่งที่ "จำเป็น" ต่อชีวิตเขา จำเป็นต่อการที่เขาจะสร้างอุปนิสัยในการทดลอง วินัย เพื่อนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของการตั้ง "สมมติฐาน (Hypothesis)" ดังนั้น เราซึ่งเป็นอาจารย์ก็ควรจะที่สนใจ ใส่ใจ และให้กำลังใจกับสมมติฐานเล็ก ๆ ของเขา โดยนำเอาเป็นโจทย์หรือกรณีศึกษาที่ใช้ภายในชั้นเรียน ณ เวลานั้น

ถ้ามีการคิดและทดลองแบบนี้ก็คงจะสนุกกว่าให้นักเรียนไปท่องสูตรทางเคมีมาสอบ เพราะหลาย ๆ คนก็บอกว่าท่องไปท่องมาก็จำได้แต่ CO2

ถ้าอาจารย์รู้จักการทดลอง การวิจัยอะไรต่าง ๆ ในชีวิต ประเทศไทยจะห่างไกลจากคำว่าการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์

เพราะนักวิทยาศาสตร์คือผู้ที่อยู่บนฐานของเหตุและผล ดังนั้นเมื่อมีเหตุให้สงสัย นักวิทยาศาสตร์จักต้องทดลองเพื่อให้ทราบคำตอบนั่นก็คือผล

เราทุก ๆ คนก็สามารถเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ หากเราเข้าใจและใช้การวิจัยในชีวิตประจำวัน (Research of Life...)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท