การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Research)


เมื่อยังไม่มีอยู่ก็ดีก็ควรสร้างให้เกิดให้มี หรือเมื่อเห็นจุดที่ด้อยประสิทธิภาพก็อุดรูรั่วของจุดนั้น อีกทั้งเมื่อขาดก็ดี ก็ต้องเติมให้เต็ม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดีอยู่แล้วมีความปรารถนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก

การกระทำใดที่เกิดขึ้นมาจากแนวคิดที่จักต้องการปรับปรุง แก้ไข พัฒนา "หน้าที่" ที่เรา (ครู อาจารย์) กระทำในการถ่ายทอดสรรพวิชาทั้งที่เป็นความรู้จากตัวเรารวมถึงสรรพสิ่งรอบข้างนั้นจัดได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตามแนวทาง "การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Research)

การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Research) จึงมีจุดเริ่มต้นจากการที่เรา "มองเห็นปัญหา" และต่อมาจักต้องประกอบด้วย "ความต้องการที่จะแก้ไข"

ปัญหานั้นอาจจะเป็นปัญหาในเชิงลบ คือ เกิดจากการขาดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน แล้วเราต้องการที่จะเติมเต็มในส่วนที่ขาดนั้น

หรือจะเป็นปัญหาในเชิงบวก คือ ประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนของเราในปัจจุบันนั้นดีอยู่แล้ว แต่เราต้องการที่จะพัฒนาการเรียนการสอนให้ก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ดังนั้น เมื่อยังไม่มีอยู่ก็ดีก็ควรสร้างให้เกิดให้มี หรือเมื่อเห็นจุดที่ด้อยประสิทธิภาพก็อุดรูรั่วของจุดนั้น อีกทั้งเมื่อขาดก็ดี ก็ต้องเติมให้เต็ม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดีอยู่แล้วมีความปรารถนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เมื่อเรามีความคิดทั้ง 4 ดังกล่าวนี้ก็จัดได้ว่าเป็นครูดี "ครูเพื่อศิษย์" เป็นครูที่มีจิตวิญญาณในการ "พัฒนาคน" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ตนเอง"

หลุมพรางที่มักจะพาใครหลาย ๆ คนตกลงไปในวังวนของการพัฒนาก็คือ การตั้งเป้าหมายไว้ว่ากิจกรรมการวิจัยนี้จะนำพามาซึ่ง "ผลงานทางวิชาการ" KPI ก็ดี การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งหรือรายได้ก็ดี เป็นหลุมพรางที่กั้นไม่ให้ประสิทธิภาพในตัวครูแสดงออกมาได้อย่างสูงสุด

 

แต่ถ้าหากเราเริ่มต้นด้วยแนวคิดในการมองเห็นปัญหา ประกอบกับแรงปรารถนาที่จะแก้ไขและพัฒนา เราก็จะสามารถดึงศักยภาพในตัวเราที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์มาช่วยพัฒนาการศึกษาไทยให้ยั่งยืน

ปัญหานั้นอาจจะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ แต่ถ้าผนวกด้วยความสนใจ ความเอาใจใส่ การไม่ละเลยเศษเสี้ยวแห่งปัญหา โดยนำปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมาร่างเป็น "สมมติฐานเล็ก ๆ" ไว้ในใจ หรือจดลงไว้สู่กระดาษ จากนั้นก็ค่อย ๆ คิด ไตร่ตรอง ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาคิด วิเคราะห์ แก้ไข ซึ่งอาจจะใช้การสนทนาเพื่อซักถามกับเพื่อนร่วมอาชีพ หรือค้นคว้าจากเอกสาร ตำรา หรือผลงานวิจัยต่าง ๆ เพิ่มเติม จากนั้นก็ตั้งเป็นโจทย์เพื่อทดลองง่าย ๆ ในชั้นเรียน เมื่อทดลองแล้วครั้งหนึ่ง สรุปผล แล้วจากนั้นเขียนรายงานฉบับน้อย ๆ สักสี่ห้าบรรทัดจดไว้ในไดอารี่ จากนั้นก็ย้อนกระบวนการตั้งสมมติฐานใหม่ ทำใหม่ ทำซ้ำ ๆ วนไป วนมา โดยเริ่มจากการร่างโครงร่างในหัวสมอง แล้วกระทำการทดลองในชั้นเรียน นำข้อมูลหรือผลการวิจัยที่ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ๆ ในสภากาแฟ (World cafe) คุยกันบนโต๊ะอาหารในเวลาพักกลางวัน จากนั้นสรุปเป็นลายลักษณ์อักษรสักนิด เก็บไว้ รวบรวมไว้ (Knowledge Assets) เพื่อใช้ในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนการสอนของตนเอง 

เมื่อเราทำได้เช่นนี้เราจะสามารถอุดรูรั่วของปัญหา เติมเต็มรอยขาดในการจัดการเรียนการสอน อีกทั้งสามารถพัฒนาประสิทธิการทำงานของตนเองให้ก้าวหน้า แล้ววันนั้นลูกศิษย์ก็จะสามารถ "พึ่งพา" กระบวนการเรียนการสอนของเรา (ครู) ได้อย่างแท้จริง...

 

หมายเลขบันทึก: 336939เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2010 06:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นเช่นนั้นจริงๆค่ะ

ทำซ้ำ ทดลอง ทำซ้ำ อุดรูรั่ว

ลองใหม่แก้ไข ๆๆๆๆจนเกิดความชำนาญ

เด็กน้อยได้รับการพัฒนา แก้ไขจนได้ดี

ขอบคุณแนวทางcarค่ะ

การวิจัยในชั้นเรียนไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่แต่เป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่

เพราะถ้าหากว่าเราคิดว่าการวิจัยในชั้นเรียนเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ใครต่อใครก็จะไม่กล้าที่จะเริ่มลงมือทำกันสักที

ความยิ่งใหญ่นั้นอยู่ที่การลงมือกระทำ เริ่มจากปัญหาเล็ก ๆ สมมติฐานน้อย ๆ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ลอง ค่อย ๆ แก้ไขปัญหาไปกับวันต่อวัน คาบต่อคาบ วิชาต่อวิชา ทำไปเรื่อย ๆ ทำแล้วค่อย ๆ สะสมทุน ทั้งทุนความรู้ ทุนประสบการณ์ ทุนความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุนทาง "กำลังใจ"

มีปัญหาอะไรเราก็วิจัยไปเรื่อยอย่างนี้แหละ มีความปรารถนาที่จะพัฒนาอะไรเราก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ทำไป ทำไป

แต่สิ่งที่สำคัญคือต้อง "กล้า" กล้าที่จะลงมือทำ กล้าที่จะทดลอง กล้าที่จะวิจัย กล้าที่จะสรุป กล้าที่จะเผยแพร่และกล้าที่จะแลกเปลี่ยน

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการสอนที่เกิดขึ้นจริง (Tacit Knowledge) กับคนที่อยู่ในอาชีพเดียวกัน ในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเดียวกันนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพราะแต่ละคนที่บริบทหรือตัวแปรต่าง ๆ นั้นใกล้เคียงกัน เพื่อนช่วยเพื่อน ครูช่วยครู การเรียนรู้แบบพึ่งพาอาศัยกันจะทำให้วงการวิชาการของไทยนั้น "พัฒนา..."

การวิจัยในชั้นเรียนเป็นการหาคำตอบที่เกิดขึ้นในการจัดกระบวนการเรียนการสอนเพื่อแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนากระบวนการเรียนการสอนนั้นให้ดีขึ้น คำว่าดีขึ้นนี้จะต้องพุ่งเป้าไปที่ตัวนักเรียนหรือลูกศิษย์ซึ่งมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น สามารถนำวิชาความรู้ไปใช้ได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทั้งประสิทธิภาพของครูและประสิทธิภาพของลูกศิษย์

ประสิทธิภาพของครูคือ สามารถใช้เวลา สถานที่ และทรัพยากรในสถาบันการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การวิจัยในชั้นเรียนจะช่วยให้ครูสามารถประยุกต์ใช้สิ่งรอบกาย สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในห้องเรียน อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ พัฒนาให้เป็น "เครื่องมือช่วยสอน" ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้หลักการของ "การวิจัยแบบมีส่วนร่วม" คือ ให้เด็กนักเรียน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมพัฒนาปรับปรุง โดยมีส่วนสำคัญก็คือ "ร่วมกันเรียนรู้" ในทุก ๆ กระบวนการที่เกิดขึ้น

การวิจัยในชั้นเรียนแบบมีส่วนร่วมนั้น (Participatory Action Classroom Research) จักต้องเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในทุก ๆ กิจกรรม

ตั้งแต่การเริ่มตั้งโจทย์ ซึ่งสามารถประยุกต์หลักการของ "การจัดการความรู้ (Knowledge Management)" เข้าไปจัดการข้อสงสัย ข้อติดใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองคือ จุดเริ่มต้นของการแสวงหาความรู้

 การนำกระบวนการจัดการความรู้เข้าไปจัดการความสงสัยในแววตาของนักเรียน นักศึกษาเป็นสามารถตั้งชุดโจทย์วิจัยในชั้นเรียนได้อย่างหลากหลาย เพราะความสงสัยของนักเรียนแต่ละคนนั้นจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานแลประสบการณ์ทางครอบครัวและสังคมที่แตกต่างกัน ดังนั้นโจทย์การวิจัยจะกว้างกว่าการตั้งโจทย์โดยอาจารย์ผู้สอนแต่เพียงคนเดียว

การจัดเวทีและการทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยในชั้นเรียนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ตัวอาจารย์เองจะต้องใช้คำถามแบบเปิด และไม่ละเลยคำถามของนักเรียนที่ส่วนใหญ่เรา (อาจารย์) มักมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ

การทำวิจัยแบบมีส่วนร่วมในชั้นเรียนนี้เราสามารถตั้งทีมงานโดยให้นักเรียนจัดการได้ทั้งหมด แนวคิดนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะเราไม่ควรที่จะทำอะไรแต่เพียงผู้เดียว ทั้งการเขียน mind map การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ การจัดเก็บ สรุปข้อมูล การถอดเทป ถอดความ การเตรียมงานในครั้งหน้า เราต้องแจกจ่ายงานให้เด็กตามความถนัดหรือ "แวว" ของเด็กแต่ละคน

อาจารย์ต้องพยายามใช้การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยการปฏิบัติให้มาก ให้เขาทดลองทำไปเรื่อย โดยพยายามจัดกระบวนการเรียนรู้ให้อยู่นอกเหนือจากคำว่า "ผิดหรือถูก"

คำว่าผิดหรือถูกมักจะเป็นตัวผิดกั้นกระบวนการเรียนรู้

เราต้องพยายามให้นักศึกษาทำไปเรื่อย ๆ เพราะทุก ๆ ครั้งที่เขาได้ลงมือทำนั่นคือการเรียนรู้

อาทิเช่นการเขียน mind map เราก็พยายามให้นักเรียนผลัดเปลี่ยนกันออกมาเขียน ให้เขาได้ทดลอง ซึ่งอาจจะมีนักเรียนที่เคยเขียนอยู่ก่อนคอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ ๆ ให้เขาได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน เพราะเขาเป็นคนวัยเดียวกัน เขาคุยกันได้ง่ายกว่าเรา

พยายามให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ของเขาเองด้วยตัวของเขาเองให้มากที่สุด แล้วการวิจัยในชั้นเรียนแบบมีส่วนร่วมจะดำเนินไปถึงจุดที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท