กรณีศึกษา (Case Study) กับปัญหาการหางานทำในที่ที่ศิวิไลซ์


จินตนาการถึงสิ่งสวยงามอยู่ในเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) และจินตนาการถึงสิ่งที่อดยาก แร้งแค้น ลำบาก ตรากตรำ ต้องคิดถึงชนบท สิ่งเหล่านี้กลายเป็นบรรทัดฐานในอุดมคติและความคิดของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

ในช่วงเช้าของวันนี้ผมได้มีโอกาสเปิดเข้าไปอ่านบันทึกเรื่อง ปริญญาใจกระจาย ของท่าน ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ที่ท่านได้กล่าวถามปัญหาไว้อย่างน่าคิดยิ่งว่า  "ทำไมบัณฑิตต้องเข้ากรุงไปหางานทำส่วนใหญ่  หลักสูตรการเรียนมันสูงเกินไปที่จะมาทำงานใช้ชีวิตในบ้านเกิดอย่างนั้นหรือ ทำไมวิชาความรู้มันถึงมีขีดจำกัดอย่างนี้ด้วย  วิชาทำอยู่ทำกิน วิชาพอเพียงที่พูดกันปาวๆ อยู่ไหนหนอ" ทำให้ผมครุ่นคิดอยู่ในใจตลอดหลายชั่วโมงที่ผ่านมาถึงสาเหตุที่บัณฑิตว่าทำไมต้องทิ้งบ้านเกิดไปทำงานในที่ที่ห่างไกล

ทั้งจาก Tacit Knowledge ของการที่เป็นบัณฑิตที่ต้องทิ้งบ้านเกิดและภูมิลำเนาไปทำงานที่อื่น รวมถึงประสบการณ์ในการเฝ้าดูและติดตามความเป็นมาเป็นไปของลูกศิษย์ที่เรียนจบแล้วก็ได้พบกับปัญหาในแง่หนึ่ง จึงนำมากราบเรียนถึงต้นเหตุของปัญหารวมถึงขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในส่วนของวิธีการแก้ไขปัญหาและแนวทางพัฒนา ณ ที่นี่พร้อมกันไป โดยต้นเหตุของปัญหาที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ กรณีศึกษา (Case Study) ที่ใช้ในการเรียนการสอนตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน รวมถึง (อาจจะ) ในอนาคต


กรณีศึกษาหรือ Case Study ที่ใช้ในการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาไทยตั้งแต่ผมจำความได้ก็คือเมื่อครั้งที่เรียนปริญญาตรี พ.ศ.2540 มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ นับได้ว่ามีแต่ "กรณีศึกษาที่สำเร็จเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ และดินแดนที่ห่างไกล (เมืองนอกเมืองนา) ทั้งสิ้น"

แต่ทว่า "กรณีศึกษาที่ล้มเหลว ประสบปัญหา ผู้คนที่ต้องเผชิญโชคชะตา แบบลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ก็อยู่ที่ไหนไม่ไกล บ้านของเราเอง ชุมชน และพื้นที่ที่เรียกว่า ชนบทของประเทศเรานี่เอง"

กรณีศึกษาที่นักศึกษาใช้ในการเรียนการสอนทั้งวิชาบรรยายหรือวิชาปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะพูดถึงความสำเร็จที่สวยหรู งดงาม ของบริษัทหรือเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของแต่ละประเทศ

ความสำเร็จ ซึ่งเป็นความสวยสดงดงามนำมาสร้างจินตนาและความฝันให้กับนักศึกษาที่นั่งเรียนอยู่ในห้อง โดยเฉพาะวิชาบรรยาย เพื่อให้การศึกษามีรูปธรรมมากขึ้น "การปั้นน้ำเป็นตัว" โดยใช้กรณีศึกษาจึงมีประโยชน์มากในการที่จะทำให้ผู้เรียนจินตภาพถึงสิ่งที่ผู้สอนกำลังพูด

จินตนาการถึงสิ่งสวยงามอยู่ในเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) และจินตนาการถึงสิ่งที่อดยาก แร้งแค้น ลำบาก ตรากตรำ ต้องคิดถึงชนบท

เป็นสิ่งที่ลูกหลานไทยถูกปลูกฝังเช่นนี้มาเป็นเวลานานแสนนาน

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นบรรทัดฐานในอุดมคติและความคิดของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

ความสวยงามที่ถูกวัดด้วยสิ่งที่เรียกว่า "เงิน" สิ่งที่ถูกใช้สร้างบรรทัดฐานระหว่างคำว่า "สุข" กับ "ทุกข์"

สิ่งที่ถูกใช้สร้างบรรทัดฐานระหว่างคำว่า "จน" กับ "รวย"

รวมถึง เป็นสิ่งที่ใช้สร้างบรรทัดฐานระหว่างคำว่า "อดีต" "ปัจจุบัน" และ "อนาคต"

เมื่อย้อนภาพในอดีต การยกกรณีศึกษาก็จะยกความลำบากตรากตรำ ความล้มเหลวของชนบทในบ้านเรา ในทางกลับกัน ความสำเร็จในอดีตกลับกลายถึงหยิบยกมาจากเมืองใหญ่ เมืองที่อยู่ห่างไกลแสนไกล

แล้วใครล่ะ? อยากจะอยู่กับความทุกข์ในชนบทเข้าไปหาความสุขในเมืองใหญ่กันดีกว่า

วรรณกรรมต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่ากรณีศึกษา และถูกสร้างค่าให้สมจริงจากชื่อต่าง ๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ จนกลายเป็นวาทกรรมที่ทุกคนเชื่อว่า "เมืองหลวงดีและชนบทแย่"

จากนั้น "ธรรมชาติแห่งพฤติกรรมของมนุษย์" การดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด หนีความลำบาก เป็นธรรมดาที่ประสบการณ์ซึ่งถูกสั่งสมทั้งในและนอกห้องเรียนจะสอนเราว่า อย่าอยู่ชนบทเลย ไปอยู่เมืองกรุงฯ ดีกว่า (จริงไหม)

เมื่อนักศึกษาเรียนจบเป็นบัณฑิต

บัณฑิตผู้ที่มีภูมิความรู้ในตัวหนังสือและทฤษฎี แต่ขาดภูมิคุ้มกันทางด้านความคิดและประสบการณ์ ทำการกลั่นอดีตที่เรียนมาในห้อง กรณีศึกษาที่เรียนมาเขาบอกว่า กรุงเทพฯ ดี กรุงเทพฯ มีงาน กรุงเทพฯ มีเงิน กรุงเทพฯ มีห้างสรรพสินค้า กรุงเทพฯ มีเทคโนโลยี กรุงเทพฯ มีความสำเร็จ และสรรพสิ่งที่กรุงเทพฯมีนั้น "น่าจะ" เป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้เราได้ "เราไปกรุงเทพฯ กันเถอะ"

แล้วใครหน้าไหนเล่า จะย้อนกลับมาหากรณีศึกษาของชนบท ที่ถูกบอกกล่าวตลอดมาในชั้นเรียนว่า "มีแต่ความทุกข์" พื้นดินแตกระแหง มีแต่หนี้ มีแต่ปัญหา ใครล่ะอยากจะกลับมาเพื่อพบเจอกับสภาพแบบนี้

ทุกคนก็มุ่งหน้าเข้าหาความหวังตามประสบการณ์ จากกรณีศึกษาที่ตนเองมี (ในชั้นเรียน) อย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าอยู่บ้าน 

จากรั้วโรงเรียน สถานศึกษา เดินเข้าสู่เส้นทางชีวิต กรณีศึกษาต่าง ๆ ทำลายความเชื่อมั่นแห่งความสุขของตนเอง

ความสุขที่ตนเองก็รู้ว่า "อยู่บ้านแล้วมีความสุข" แต่เขาบอกว่า อาจารย์บอกว่า ทุก ๆ คนบอกว่า "อยู่บ้านแล้วไม่ดี ไม่มีความสุข" แต่ "อยู่กรุงเทพฯสิดี มีความสุข"

ความเชื่อมั่นในตนเอง ความสุขของตนเองเริ่มลดน้อยลง

น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน แต่ประสบการณ์อ่อน ๆ ของเด็กนักเรียนนักศึกษาจะทนไปได้อย่างไรกับสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกหล่อหลอมในทุกลมหายใจทั้งในและนอกโรงเรียน

"สุดท้ายที่กรุงเทพฯ" เขาว่าอย่างนั้น ไป ไปกันเถอะ.....

แต่.... นิมิตรหมายที่ดีเริ่มเกิดขึ้น

ในหลากหลายพื้นที่ทั้งในและนอกรั้วสถาบันการศึกษา การค้นหา Best Case หรือกรณีศึกษาที่ดีเพื่อที่จะนำมาใช้เป็นเป้าหมายแห่งชีวิต

กรณีศึกษาที่บอกว่า "อยู่บ้านเราดี มีความสุข" เริ่มมีเยอะขึ้น มากขึ้น

นับตั้งแต่การใช้หลักสูตรพุทธเศรษฐศาสตร์ ในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี การสร้างหลักสูตรท้องถิ่นในมหาชีวาลัยภาคอีสาน ภาพความสวยงามของแปลงนาของท่านดร.แสวง ที่ทำแล้วไม่ทุกข์ ทำแล้วมีความสุข การพยายามค้นหาสิ่งต่าง ๆ ในท้องถิ่นแล้วนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อให้นักศึกษาได้เห็นแล้วเชื่อมั่นว่า "บ้านเราดี อยู่บ้านเราแล้วมีความสุข"

ประกอบกับการที่สื่อต่าง ๆ เริ่มสะท้อนภาพความทุกข์และภาพของความไม่สวยงามต่าง ๆ ในเมืองหลวง เมืองใหญ่ที่มีแต่ความสับสนวุ่นวาย

การเปลี่ยนภาพของกรณีศึกษา จะมีผลทำให้เจตคติ ทัศนคติ และมุมมองของคนในสังคม โดยเฉพาะนักศึกษาหรือบัณฑิตซึ่งมีภูมิรู้และขาดภูมิคุ้มกันชีวิต "ตัดสินใจ" จากประสบการณ์ที่ลูกลิขิตอย่างถูกต้องจากปราชญ์ที่พบสุขกับชุมชน.

และคำถามสุดท้ายที่ท่านครูบาสุทธินันท์ทิ้งท้ายไว้ ว่า....

   ·       วิชาที่ไม่ต้องทิ้งถิ่นมีไหม

   ·       วิชาที่สามารถอยู่กับพ่อแม่ช่วยพ่อแม่มีไหม

   ·       วิชารักบ้านเกิดอยู่บ้านเกิดมีไหม

   ·       วิชาพึ่งตนเองช่วยตัวเองมีไหม

การเริ่มต้นสำหรับวิชาเหล่านี้อยู่ไม่ไกล ขอให้พวกเรา (ครอบครัว สื่อและสถาบันการศึกษา) เริ่มต้นง่าย ๆ จากการปรับกรณีศึกษา เรื่องเล่า นิทาน ปรับการบรรยาย ปรับการสัมมนาและปรับวิพากษ์ พูดคุยกันถึงสิ่งสวยงามในชุมชน ความสวยงามที่มีอยู่ใกล้มือแค่เอื้อม

ความสุขที่ได้รับจากพ่อแม่หาใดเหมือน

ความสุขจากท้องถิ่นคอยย้ำเตือน

ความสุขจากบ้านเรือน ครอบครัว พี่น้อง พร้อมหน้า

เป็นความสุขที่น่าไขว่คว้าเข้าชีวิตเหนือสิ่งใด........

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

หมายเลขบันทึก: 68004เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ชอบมากครับบันทึกนี้
  • โง่ จน เจ็บ
  • อยากให้พยายามทำให้นักศึกษา นิสิต มองเห็นความสำคัญของท้องถิ่นครับ
  • ขอบคุณมากครับ ขอให้มีความสุขมากๆนะครับ
สวัสดีครับท่านดร.ขจิต (คนแรกของผม) ตอนนี้ผมเองก็พยายามเสนอภาพความสวยงามของชุมชนให้กับนักเรียนและนักศึกษาใน Learner.in.th เห็นความสวยงามของท้องถิ่นไทยครับ เราต้องร่วมด้วยช่วยกันสร้างสรรค์สังคมและท้องถิ่นไทยให้สวยงามและน่าอยู่ตลอดไปครับ
  • ผมเป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจว่าจะไม่ไปทำงานหรืออยู่ประจำในกรุงเทพฯ ครับ
  • แน่ใจว่า ชนบท ดีกว่าในเมือง ในหลาย ๆ ด้าน
  • ก็คงขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน

"ครูดีให้ความรู้ ครูที่ดีกว่าให้ความเข้าใจ แต่ครูทีดีที่สุดให้แรงบันดาลใจ "

การที่จะจูงใจให้คนรุ่นใหม่สนใจกลับไปพัฒนาชนบททำได้หลายวิธีและหลายระดับครับ

อย่างหนึ่งก็คือ แนะนำให้พวกเขารู้จักกับรุ่นพี่ที่ทำงานทุ่มเทกับชนบทเช่นนั้น ซึ่งในบล็อกโกทูโนว์นี่มีวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวหลายคนให้พวกเขาใช้เป็นแนวทางสร้างแรงบันดาลใจ

หากน้องๆนักศึกษาสนใจมีความสุขกับการทำงานในชนบทผมก็เชื้อเชิญมาเยื่ยมเยือนในบล็อคของผมได้ครับที่ http://gotoknow.org/blog/culturalgarden

หรือถ้าอาจารย์กับนักศึกษาจะมาเยี่ยมคนทำงานบนดอยทางปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อไร ก็ยินดีต้อนรับครับ

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ Panda ที่เคารพ
  • ผมก็เช่นกันครับที่พยายามหลีกเลี่ยงการดำเนินชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯให้มากที่สุดครับ
  • เมื่อก่อนตอนที่จะเข้าเรียนปริญญาตรีได้โควต้าเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปิดชื่อดังแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ แต่ก็ตัดสินใจไม่ไปครับ
  • บ้านเราดีมีความสุขกว่ากรุงเทพฯ ในหลาย ๆ ด้านครับ
  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับคุณยอดดอยที่เข้ามาร่วมกันต่อยอดเพื่อสร้างความสวยงามในท้องถิ่นไทยของเราครับ
  • แรงบันดาลที่บล็อกของคุณยอดดอย ผมขอปวารณาตัวเป็นแนวร่วมเพื่อสร้างสรรค์แรงใจดีอย่างเต็มที่ครับ
  • อย่างไรก็ตามผมจะต้องไปเยี่ยมคุณยอดดอย ที่ปางมะผ้าให้ได้ครับ

ผมเคยวิ่งเข้ากรุงเทพ เพราะโคราชไม่มีที่พักพิงให้เรียนสูงๆได้

ผมหนีกรุงเทพมาได้แล้วครับ

กว่าจะหนีได้ก็หืดขึ้นคอ

มาหาที่อยู่ในอีสาน ยังต้องใช้เวลาเกือบ ๑๕ ปี พอมีที่ยืน

ผมเกือบโดดข้ามกรุงเทพ (ฝรั่งชวน)ไปอยู่องค์กรต่างประเทศ (ลอง ๑ ปี)

เงินดี แต่ไม่ใช่จริต เลยรีบแจ้นกลับมาอยู่อีสาน "คื้อเก่า"

ตอนนี้ไม่คิดจะไปไหน

อยากอยู่กับเครือข่าย แต่ก็ต้องหาที่ยืนเหมาะๆ

เลยกลับมาทำนาเลี้ยงวัวเอง ไม่ต้องกังวลใจ

ทดลองทุกอย่างที่อยากลอง ไม่ต้องเกรงใจใคร ดิน น้ำ ต้นไม้ ปลา ข้าว นา วัว ควาย ไก่ ฟาง ปุ๋ยหมัก ฯลฯ

กลับบ้านเรา รักรออยู่ ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ดีกว่าครับ

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ ดร.แสวงที่เคารพ
  • กลับบ้านเรา รักรออยู่ แม่นแล้วครับ
  • ผมก็หนีจากกรุงเทพฯมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ครับ น่าจะตั้งแต่ ป.5
  • เมื่อตอนเด็ก ๆ ก็เข้าไปเผชิญชีวิตในกรุงเทพฯหลายปีเหมือนกัน มีโอกาสเป็นเด็กเตพกับเขาบ้าง
  • เอ่.. แต่ที่จริงผมก็เกิดกรุงเทพฯ นะเนี่ย เกิดที่ศิริราช พอดีตอนนั้น พ่อกับแม่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็เลยได้มีสูติบัตรเขียนไว้เกิดกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร
  • ตอนนี้หนีมาอยู่คลองลาน (หลังเขา อิอิ เขามาตั้งอยู่หน้าบ้านครับ) เงียบสงบ เย็นสบาย (หนาวอีกต่างหากช่วงนี้ครับ)
  • สุขใดก็ไม่เท่าอยู่บ้านเรา สบาย ๆ สไตล์ชิว ๆ ครับท่านอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท