บันทึกการเมืองไทย : เสาหลักประชาธิปไตย


 

          ผมเพิ่งได้อ่านปาฐกถา เรื่อง Sustainable Democracy ของท่านอดีต นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน   ที่เป็นถึง Amartya Sen Lecture Series on Sustainable Development   ที่ท่านแสดงเมื่อวันที่ ๒๔ มิ.ย. ๕๑ ที่นครบรัสเซลส์ เบลเยี่ยม    (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)


          จึงเอามาตีความบันทึกไว้ ว่าท่านนายกฯ อานันท์ท่านมองว่าเสาหลักประชาธิปไตยมีถึง ๘ เสา    จึงอาจเรียกว่า มรรค ๘ ประชาธิปไตย

 
๑. การเลือกตั้ง   เป็นเสาหลักหนึ่งอย่างแน่นอน   แต่ไม่ใช่เสาเดียว   ต้องมีเสาอื่นกำกับให้เป็น free and fair election


๒. ความอดทนอดกลั้นทางการเมือง   ที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองต้องไม่กลั่นแกล้งผู้ไม่เลือกตนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา   ต้องอดทนอดกลั้นและเคารพความเชื่อ ความคิดเห็น ที่แตกต่าง    ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องปฏิบัติต่อผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับตนอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องของการได้รับประโยชน์สาธารณะ  


๓. การปฏิบัติตามกฎหมาย   ของผู้ปกครองบ้านเมือง   ผลของความอ่อนแอในการปฏิบัติตามกฎหมาย คือคอรัปชั่นระบาด   อำนาจของการบังคับใช้กฎหมายอยู่ที่ความเป็นกลางและเป็นอิสระของศาล   ประชาธิปไตยจะพิการ หากฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ ภาคธุรกิจ ตำรวจ และทหาร ต่างก็ทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน    โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมภาพรวม   ในกรณีเช่นนี้ จะมีการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย และคอรัปชั่นระบาด     


๔. เสรีภาพในการแสดงออก   ได้แก่เสรีภาพของบุคคลในการตีพิมพ์เผยแพร่ข้อคิดเห็น   เสรีภาพของสื่อมวลชน   และการที่รัฐไม่ควบคุมอินเทอร์เน็ต   แต่ไม่ได้หมายถึงเสรีภาพไร้ขอบเขต   หลักการก็คือประชาธิปไตยที่ดีประชาชนต้องมีโอกาสแสดงออกเพื่อควบคุมผู้ปกครอง  


๕. ความรับผิดรับชอบตรวจสอบได้ และความโปร่งใส   เพื่อป้องกันการปกครองบ้านเมืองเพื่อผลประโยชน์ตนและพวกพ้อง  

 
๖. การกระจายอำนาจ   เพื่อป้องกันอำนาจรวมศูนย์   และเพื่อใช้พลังของความเป็นชุมชน ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น   การกระจายอำนาจอย่างแท้จริงต้องกระจายเงิน วัตถุ ทรัพยากรมนุษย์ และความสามารถขององค์กร 


๗. ประชาสังคม   ซึ่งหมายถึงการที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือชุมชนในภาพรวม    ไม่ยกธุระให้เป็นของฝ่ายปกครองบ้านเมืองทั้งหมด   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะ   และการที่กิจกรรมต่างๆ ของบ้านเมืองเปิดช่องให้ประชาคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง    ซึ่งหมายความว่า จะไม่มีระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง  


๘. คุณภาพของผู้นำ   ซึ่งหมายถึงผู้นำที่สร้างความเข้มแข็งของเสาหลักทั้ง ๗ ข้างบน   ไม่ใช่ผู้นำที่ทำลายเสาหลักทั้ง ๗ อย่างในบางประเทศ

 

          บันทึกเอามาเผยแพร่เพื่อจะบอกว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง    ต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกหลายตัว    ที่บ้านเมืองเรายุ่งยากอยู่ในขณะนี้ก็เพราะความเข้าใจผิด    หรือจงใจใช้อำนาจจากการเลือกตั้งครอบงำเสาหลักอื่น หรือเลือกตั้งแบบขี้โกง นี่แหละ

          ประชาธิปไตยไม่ได้ประกันความราบรื่นของสังคม   แต่ในระยะยาวมันดีกว่าระบอบอื่นๆ    แต่ประชาธิปไตยในสังคมใด ก็ต้องได้มาจากการเรียนรู้ของสังคมนั้น   และกว่าจะบรรลุประชาธิปไตยที่ดี ก็ต้องใช้เวลายาว   เพราะว่าจะมีผู้นำที่ขี้โกง ต้องการรวบอำนาจในทางตรงหรือทางอ้อมเกิดขึ้นเสมอ    ประชาชนทั้งสังคมจะต้องเรียนรู้และปรับระบบไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศมีวุฒิภาวะ    ก็จะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ คืออำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน    โดยมีหลายอำนาจคานกันอย่างได้ดุลยภาพ


          ท่านนายกฯ อานันท์ สรุปว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต้อง empower ประชาชนไม่ใช่แค่ให้สิทธิ์เลือกตั้ง  แต่ต้อง empower ผ่านการสร้างระบบคุณค่า วิถีปฏิบัติในสังคม และระบบสถาบัน ที่ส่งเสริมสิทธิ์นั้น   และมีแนวโน้มว่าประชาธิปไตยในโลกจะมีลักษณะที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจโดยตรงมากขึ้น   ปล่อยให้นักการเมืองตัดสินใจเอง น้อยลง
          ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยแท้   กับฝ่ายประชาธิปไตยลวง  

 

วิจารณ์ พานิช
๖ ส.ค. ๕๑

      
         
            
                 

หมายเลขบันทึก: 199390เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2008 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

การเมืองภาคประชาชน น่าเป็น การ empower ได้ หาก ภาคการเมืองยอมรับ หาก ภาคประชาชนแข็งแรง ภาคการเมืองต้องเปลี่ยนตัวเอง

เห็นด้วยค่ะ

ประเทศไทย อีกกี่ปีจะบรรลุเป้าหมายคะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ ที่เอามาเผยแพร่ น่าจะนำไปสอดแทรกในชั้นเรียนทุกระดับตั้งแต่อนุบาลยันปริญญาเอกเลยนะครับ

ความสำคัญอยู่ที่คนเข้าไปมีอำนาจทางการเมือง

นำอำนาจนั้นไปทำประโยชน์เพื่อคนส่วนรวมอย่างแท้จริง

ฉะนั้น ระบบตรวจสอบของผู้เข้าไปทำงานทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ

ซึ่งสังคมไทยได้ละเลย ไม่สนใจเรื่องนี้มานานหรือสนใจแต่ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากกลัวอิทธิพล

ขอบคุณอา่จารย์สำหรับบทความดี ๆ ครับ

 

 

สวัสดีครับอาจารย์

หากเราเห็นว่าบทความนี้ถูกต้องเกี่ยวเกี่ยวประชาธิปไตยจริง...

ผมยังอยากให้ห้าแกนนำในม็อบได้อ่านครับ...

แล้วเขาจะรู้ว่า พวกเขากำลังทำในสิ่งที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย...

ขอบคุณอาจารย์ เราจะต้องร่วมกันเผยแพร่ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้กับผู้คนทั่วไปได้รับทราบ การทำความจริงให้ปรากฎ อดทนและให้เวลาซึ่งกันและกัน บ้านเมืองเรายังมีผู้ด้อยโอกาสอีกเยอะ เป็นกำลังใจให้กับคนดีทุกคน

แม้ผมจะด้อยความรู้ในระบบการเมืองการปกครอง แต่เห็นบทความนี้แล้วก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ

การยอมรับให้ีมีการเลืองตั้งไม่ใช่องค์ประกอบอย่างเดียวของระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะต้องให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้นำที่เป็นที่ยอมรับของคนหมู่มากแล้ว ยังต้องเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความแตกต่าง และต้องไม่ดูถูกความเห็นของคนทุกสถานะ ต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายแม้ว่ากฎหมายบางข้อไม่ชอบด้วยเหตุผลก็ต้องต่อสู้กันภายใต้กฎระเบียบ และต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการเก็บข้อมูลในอินเตอร์เน็ต การปิดกั้นอินเตอร์เน็ตและสื่อต่างๆ นับเป็นการทำลายเสรีภาพและสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง และไม่เคารพในการเป็นปัจเจกชนของบุคคลด้วย ที่สำคัญคือสิ่งที่เป็นจุดเด่นของระบอบประชาธิปไตยคือทุกองค์กรต้องตรวจสอบและวิจารณ์ได้ เพื่อเป็นการคานอำนวจไม่ให้แต่ละองค์กรประพฤติมิชอบ และอำนาจต้องไปตกอยู่ในกลุ่มคนเพียงคนหนึ่งคน หรือต่อให้เป็น ห้าคน สิบคน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ชอบ ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการปกครอง (และเลือกผู้แทนของตน)

ประชาสังคัมเป็นคำที่ผมไม่ค่อยเข้าใจความหมายกระจ่างนัก แต่ผมเห็นว่าการดำเนินงานทุกด้านควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมไม่ทางใดทางหนึ่ง และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาดำเนินงานสาูธารณะและเปิดให้มีการแข่งขัน ไม่ใช่การผูกขาดโดยรัฐซึ่งทำให้หน่วยงานรัฐเอาเปรียบประชาชนได้

และผู้ที่จะมาเป็นผู้ปกครองก็ต้องรักษาสภาพทั้ง 7 อย่างข้างบนไว้ ถึงจะสมควรเป็นผู้นำประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

แม้ผมจะด้อยความรู้ในระบบการเมืองการปกครอง แต่เห็นบทความนี้แล้วก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ

การยอมรับให้ีมีการเลืองตั้งไม่ใช่องค์ประกอบอย่างเดียวของระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะต้องให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้นำที่เป็นที่ยอมรับของคนหมู่มากแล้ว ยังต้องเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความแตกต่าง และต้องไม่ดูถูกความเห็นของคนทุกสถานะ ต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายแม้ว่ากฎหมายบางข้อไม่ชอบด้วยเหตุผลก็ต้องต่อสู้กันภายใต้กฎระเบียบ และต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการเก็บข้อมูลในอินเตอร์เน็ต การปิดกั้นอินเตอร์เน็ตและสื่อต่างๆ นับเป็นการทำลายเสรีภาพและสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง และไม่เคารพในการเป็นปัจเจกชนของบุคคลด้วย ที่สำคัญคือสิ่งที่เป็นจุดเด่นของระบอบประชาธิปไตยคือทุกองค์กรต้องตรวจสอบและวิจารณ์ได้ เพื่อเป็นการคานอำนวจไม่ให้แต่ละองค์กรประพฤติมิชอบ และอำนาจต้องไปตกอยู่ในกลุ่มคนเพียงคนหนึ่งคน หรือต่อให้เป็น ห้าคน สิบคน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ชอบ ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการปกครอง (และเลือกผู้แทนของตน)

ประชาสังคัมเป็นคำที่ผมไม่ค่อยเข้าใจความหมายกระจ่างนัก แต่ผมเห็นว่าการดำเนินงานทุกด้านควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมไม่ทางใดทางหนึ่ง และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาดำเนินงานสาูธารณะและเปิดให้มีการแข่งขัน ไม่ใช่การผูกขาดโดยรัฐซึ่งทำให้หน่วยงานรัฐเอาเปรียบประชาชนได้

และผู้ที่จะมาเป็นผู้ปกครองก็ต้องรักษาสภาพทั้ง 7 อย่างข้างบนไว้ ถึงจะสมควรเป็นผู้นำประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ต้องขอโทษด้วยครับผมกด back มาหน้าเดิมทำให้ข้อความขึ้นสองครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท