มุมมองใหม่เกี่ยวกับชาวนา



 
           ผมได้เขียนบทความชี้ให้เห็นว่า เราควรมีวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับชาวนา    หรือชาวนาควรมีความคิดใหม่เกี่ยวกับตนเอง    แล้วทาง สคส. ได้เอาไปลง นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๑๒ พ.ค. ๕๑ แล้ว    โดยมีการแก้ไขจากต้นฉบับเดิมของผมเล็กน้อย    ผมจึงเอามาลงเผยแพร่ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง    วันที่ ๑๘ พ.ค. จะเอาสาระไปพูดในงานแซยิดคุณเดชา ศิริภัทร ที่มูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรีด้วย      


โอกาสของชาวนา

วิจารณ์ พานิช
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
www.kmi.or.th

          มีหลายเหตุปัจจัยมาประกอบกันทำให้ข้าวราคาแพง    ส่วนหนึ่งเพราะข้าวไม่ใช่เป็นแค่อาหารหลักของคนเท่านั้น ยังแปรรูปออกไปได้มากมาย    และการแปรรูปไปเป็นอาหารรถยนต์ (ซึ่งชาวนาไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น) มาเป็นปัจจัยหลักในการปั่นราคาข้าวขึ้นไป   และที่แพงมากคือราคาข้าวสาร ไม่ใช่ราคาข้าวเปลือก    เพราะยังเห็นข่าวชาวนาขายข้าวเปลือกให้โรงสีได้เพียงตันละ ๗,๐๐๐ – ๘,๐๐๐ บาท

          บทความนี้จะเน้นที่ชาวนา ไม่เน้นที่ข้าว ไม่เน้นตลาดข้าว ไม่เน้นนโยบายข้าว ซึ่งมีผู้รู้เขียนและพูดกันไว้มากมายแล้ว    เพราะตลาดข้าว ราคาข้าว นโยบายข้าว เหล่านี้เป็นเรื่องชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว    เป็นเรื่องของกระแสชั่ววูบ    เป็นเรื่องที่ชาวนาไม่มีอำนาจควบคุม    จึงขอนำเสนอเรื่องที่ยั่งยืน ที่จะก่อผลประโยชน์ระยะยาวให้แก่ชาวนา    ช่วยให้ชาวนาเป็นตัวของตัวเอง สามารถควบคุมผลประโยชน์ของตัวเองได้    และสามารถทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมชุมชน ร่วมชาติ และร่วมโลกได้   คือเรื่อง การเรียนรู้ของชาวนา

          แปลกไหมครับที่ชาวนาทำนากันมาตลอดชีวิต ยี่สิบสามสิบปี   หรือทำกันมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย พ่อแม่   แต่ชาวนาใช้ความรู้ที่คนอื่นบอก ในการทำนา    ไม่ได้ใช้ความรู้ที่ตนพัฒนาและสั่งสมต่อๆ กันมา    และความรู้ที่คนอื่นบอกให้ชาวนาใช้นั่นเองคือเครื่องมือสูบเลือดชาวนา    ดูดเอาความมั่งคั่งจากแปลงนาและชาวนาไปยังบริษัทผลิตและขายสารเคมีที่ใช้ในแปลงนา    เป็นการสูบเลือดที่คนถูกสูบยินดีให้สูบ เพราะคิดว่าเป็นคุณแก่ตน   ไม่รู้สึกตัวว่านั่นคือมายาที่ปลอมแปลงมาในรูปของความทันสมัย  

          ที่ร้ายกว่านั้น ชาวนาไทยเปลี่ยนการทำนาเพื่ออยู่เพื่อกินมาเป็นปลูกเพื่อขาย เมื่อประมาณ ๕๐ – ๑๐๐ ปีมาแล้ว   แต่ชาวนามีความรู้ความเข้าใจแต่เฉพาะด้านการผลิต หรือปลูกข้าว    ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องตลาดเลย   ไม่มีใครแนะนำชาวนา ว่าเมื่อผลิตเพื่อขาย ชาวนาต้องมีความรู้ทั้งด้านการผลิตและด้านการขาย    ต้องรู้ว่าขายอย่างไรจึงจะได้ราคาดี    ต้องรู้ว่าสภาพตลาดจะเป็นอย่างไร   ชาวนาต้องไม่ใช่แค่ฉลาดในการผลิตแต่ต้องฉลาดในการขายด้วย    เพราะนี่คือชีวิตของการผลิตขาย ไม่ใช่ผลิตกินอย่างแต่ก่อน    ชาวนาถูกกีดกัน (หรือหลอก) ให้มุ่งแค่ทำนาหรือผลิตข้าว    ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้เรื่องตลาด    ปล่อยให้พ่อค้าคนกลางและผู้ส่งออกข้าวมีความรู้ และกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ของตลาด เพื่อประโยชน์ของตน    ซึ่งก็คือเอาเปรียบชาวนานั่นเอง

          นี่คือเหตุผลเชิงโครงสร้างภาพใหญ่ ว่า ทำไมชาวนาจึงยากจนและเป็นหนี้ 

          เป็นการเมืองเรื่องผลประโยชน์โดยใช้เงื่อนไขด้านความรู้เป็นตัวกำหนดความได้เปรียบให้แก่คนกลุ่มหนึ่ง   กดขี่คนส่วนใหญ่ให้เป็นฝ่ายรับการกระทำ รับเงื่อนไขที่ทำให้ต้องแบกรับความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยง    ทั้งหมดนี้เป็นสภาพของระบบที่กดขี่ชาวนา

          นี่ยังไม่นับนโยบายของประเทศที่ควบคุมราคาสินค้าเกษตรหรืออาหารให้ต่ำ เพื่อให้ค่าครองชีพต่ำ    ช่วยให้ระบบอุตสาหกรรมพัฒนาขึ้น    ที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์บอกว่าประเทศไทย พัฒนาอุตสาหกรรมบนบ่าของเกษตรกร  

          กลับไปที่เรื่องชาวนากับความรู้    ที่ได้เสนอแล้วว่า ชาวนาไทยถูกปิดกั้นโอกาสในความรู้ ๒ ด้านใหญ่ๆ คือความรู้สำหรับทำนา    กับความรู้สำหรับขายข้าว  

          กิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี    โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์ฟอรั่ม จังหวัดนครสวรรค์ และโรงเรียนชาวนา หรือกลุ่มชาวนาอีกหลายท้องที่ ได้ยืนยันหรือพิสูจน์แล้วว่า    วิธีทำนาแบบใช้สารเคมีเข้มข้น ตามที่กระทรวงเกษตร (ในอดีต) และบริษัทขายสารเคมี (ในปัจจุบัน) แนะนำนั้น    ไม่ใช่วิธีทำนาที่ดีที่สุดสำหรับชาวนา    ไม่ดีทั้งต่อสุขภาพที่ต้องได้รับสารเคมีที่มีพิษ    และไม่ดีต่อผลกำไรที่จะได้รับ เพราะต้นทุนการผลิตสูง    นอกจากนั้น ยังไม่ดีต่อสภาพแวดล้อมในแปลงนา    และไม่ดีต่อการใช้เวลาทำงานในนา คือต้องเสียเวลามาก ต้องทำงานหนักโดยไม่จำเป็น

          เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่การทำนาแบบลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมี แต่ใช้ความรู้เข้มข้น   และสร้างความรู้ขึ้นใช้เองโดยชาวนา   กลับทำให้ชาวนามีเวลาว่างมากขึ้น   ใครไม่เชื่อให้ไปดูที่มูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี แต่ต้องนัดไปก่อน เพราะมีคนขอไปดูงานมากจนชาวนาไม่มีเวลาทำนา    นอกจากนั้น ความเจ็บป่วยยังลดลงถึง ๘๐ -๙๐% คือเคยต้องไปหาหมอปีละ ๑๐ ครั้ง ลดลงเหลือเพียง ๑ -๒ ครั้งเท่านั้น

          นี่คือผลของการกลับลำของชาวนา   จากการใช้ “ความรู้มือสอง” หรือความรู้ที่เขาบอก (หรือเขาหลอก) มาเป็น “ความรู้มือหนึ่ง” หรือความรู้ที่ชาวนาคิดขึ้นเอง ทดลองเอง ในแปลงนาของตนเอง ต่อยอดจากความรู้ของนักวิชาการ    ทำให้ชาวนาสามารถทำนาต้นทุนต่ำ  สารพิษต่ำ  กำไรสูง และจิตใจไมตรีสูง  

          ผมชื่นชมแนวทางโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี ที่ไม่ใช่แค่เรียนเทคนิคการทำนา    แต่เรียนอุดมการณ์ของการเป็นชาวนา เรียน “ความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต” ควบคู่ไปด้วย  

          ชาวนาที่มี “ความรู้” ๔ ประการ จะไม่มีวันจน    ความรู้องค์สี่ สำหรับชาวนา ได้แก่ 

๑. ความรู้สำหรับการทำนา
๒. ความรู้ในการทำให้ขายข้าวได้ราคาดี
๓. ความรู้ด้านอุดมการณ์ของการเป็นชาวนา หรือเป็นมนุษย์
๔. ความรู้ในการเป็นบุคคลเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

          ท่านที่ต้องการเรียนรู้ความรู้ประการที่ ๑, ๓, ๔ ให้ไปเเรียนที่มูลนิธิข้าวขวัญ   แต่ที่มูลนิธิข้าวขวัญยังไม่ได้ทำคือเรื่องที่ ๒ วิธีขายข้าวให้ได้ราคาดี   ซึ่งในความเห็นของผม เคล็ดลับคือ “อย่าขายข้าว” ให้ขายผลิตภัณฑ์จากข้าว   นี่คือหลักการตลาดขั้นต้นที่สุด   กำไรสูงสุดอยู่ที่ขั้นตอนสุดท้ายของ value chain    แต่กิจกรรมปลูกข้าวคือขั้นตอนแรก   ปลูกข้าว ได้ข้าวเปลือก ขายข้าวเปลือก ได้กำไรต่ำที่สุด   ขั้นตอน ต่อไปคือโรงสี ได้กำไรมากกว่าชาวนาผู้ปลูกข้าว   ขั้นต่อไปผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ผู้ส่งออก ได้กำไรมากกว่าชาวนาทั้งสิ้น นี่คือความเป็นจริง  

          ชาวนาต้องพัฒนาความรู้ว่าด้วยวิธีขายข้าวให้ได้ราคาดี ที่เหมาะสมและใช้ได้จริง    ซึ่งน่าจะมีหลักการหลายประการ   ตามความรู้อันจำกัดของผู้เขียน เช่น

 รวมตัวกันตั้งโรงสี
 รวมตัวกันรับซื้อข้าวและขายข้าวเปลือก
 ตั้งโรงงานแปรรูปข้าว ไปเป็นสินค้าที่หลากหลาย และมีมูลค่าเพิ่มสูง
 ผลิตข้าวพันธุ์
 ผลิตข้าวกินชนิดพิเศษ เพื่อขายให้แก่ตลาดจำเพาะ (niche market) ที่มีข้อตกลงธุรกิจต่อกัน   เช่นข้าวปลอดสารพิษที่มีวิธีการผลิตมาตรฐานเชื่อถือได้ และมีการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์

          ทั้งหมดนี้ เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความรู้เข้มข้น และเป็น “ความรู้มือหนึ่ง”   ที่ชาวนาสามารถสร้างขึ้นเองได้ด้วยสองมือหนึ่งสมองของตนเอง    โดยมีเคล็ดลับสำคัญ คือต้องรวมตัวกันเรียนรู้   และต้องมี “คุณอำนวย” (Learning Facilitator) ช่วยเป็นกระบวนกร กระตุ้นการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มชาวนา แบบที่มูลนิธิข้าวขวัญดำเนินการ   เคล็ดลับของ “คุณอำนวย” คือ อย่าเป็น “คุณอำนาจ” เอาความรู้สำเร็จรูปไปให้ชาวนายึดถือ    ต้องไปอำนวยให้เกิดการสร้างความรู้ขึ้นใช้เองโดยชาวนา   เป็นความรู้ที่เหมาพสมต่อสภาพนา และสภาพสังคมแต่ละพื้นที่    

          เมื่อมีวิกฤต หน้าต่างแห่งโอกาสก็เปิดอ้า    แต่จะเป็นโอกาสของใคร อยู่ที่ผู้มองเห็นโอกาสและลงมือทำ    วิกฤตข้าวแพง เป็นโอกาสของชาวนา หรือของพ่อค้า หรือของนักการเมือง เป็นได้ทั้งนั้น  

          หน้าต่างแห่งโอกาสของชาวนา ก็คือโอกาสที่จะรวมตัวกันเรียนรู้ และสร้างความรู้ ๔ กลุ่มขึ้นใช้เอง   และเป็นโอกาสที่จะร้องขอจาก อบต. หรือจากหน่วยงานของรัฐ ให้จัด “คุณอำนวย” มาทำหน้าที่เอื้อการเรียนรู้ของชาวนา    ถ้าไม่มี “คุณอำนวย” ให้จัดงบประมาณ จ้างมูลนิธิข้าวขวัญช่วยฝึกให้   สามารถฝึกทักษะระยะสั้น แล้วติดตามฝึกต่อ (coaching) ระยะยาวได้    รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมของมูลนิธิข้าวขวัญ  อ่านได้ที่ www.gotoknow.org/blog/play  และ http://www.sathai.org/story_thai/007-KKF%20Story.htm
  
 --------------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 182235เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2008 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนอาจารย์วิจารณ์

หนูขออนุญาตนำบันทึก ความภูมิใจที่ได้เป็น “ชาวนา” ของอาจารย์แสวง รวยสูงเนิน  มาเพิ่มเติมในบันทึกนี้คะ

เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ที่สนใจคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท