KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 554. KM จังหวัด : Systems Thinking และ Learning Organization ภาคปฏิบัติ


หากประยุกต์ใช้ KM อย่างถูกต้อง จะเกิดทักษะทั้ง ๕ องค์ประกอบของ Learning Organization อันได้แก่ Shared Vision, Mental Models, Team Learning, Personal Mastery, และ Systems Thinking

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 554. KM จังหวัด : Systems Thinking และ Learning Organization ภาคปฏิบัติ

 

ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึง Mental Models ภาคปฏิบัติสำหรับ KM จังหวัด    ตอนนี้จะกล่าวถึง Systems Thinking ภาคปฏิบัติสำหรับ KM จังหวัด   

ผมมองว่าระบบราชการระดับจังหวัดมีความท้าทายและมีความเหมาะสมมากที่จะใช้เรียนรู้ Systems Thinking    โดยที่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ   ไม่ใช่เรียนรู้จากการอ่านหรือท่องจำ  

เท่ากับเอางานหรือภารกิจที่จะต้องทำให้สำเร็จอย่างดีมาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้องค์ประกอบตัวที่สำคัญที่สุดของ Learning Organization ตามที่ระบุไว้ในหนังสือ The Fifth Discipline   คือ Systems Thinking

เราจะเรียน Systems Thinking แบบไม่ต้องพูดถึงทฤษฎีเลย

เริ่มที่งาน   ครับ! โปรดสังเกตว่า KM เริ่มที่งานเสมอ   ไม่เริ่มที่ความรู้

เริ่มที่ข้าวหอมมะลิก็ได้  เพราะจังหวัดอำนาจเจริญประกวดข้าวหอมมะลิได้ที่ ๑   เราอาจเริ่มด้วยการตั้งเป้าหมายว่าต้องการสร้างคุณภาพของข้าวหอมมะลิอำนาจเจริญ   และต้องการสร้างคุณค่าจากข้าวหอมมะลิให้มากยิ่งขึ้น

KM เป็นเรื่องของการคิดอย่างละเอียด ตั้งคำถามเชื่อมโยง   ต้องไม่มองข้าวหอม มะลิเฉพาะที่ต้นข้าวหรือเมล็ดข้าว หรือเงินที่ได้จากการขายข้าวเท่านั้น   ต้องมองให้เชื่อมโยงถึงคน ถึงสิ่งแวดล้อม ถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน   และต้องไม่มองเฉพาะความรู้ด้านการผลิต ต้องมองไปถึงความรู้ด้านการขายด้วย 

จากประสบการณ์ของโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ (มขข.) สุพรรณบุรี ข้าวที่ปลูกโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และมีการพัฒนาพันธุ์แบบง่ายๆ โดยชาวนาเอง มีคุณภาพดีกว่าข้าวที่ปลูกแบบอัดปุ๋ยอัดยาอย่างมาก   ยิ่งต้นทุนการผลิตยิ่งต่ำเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ของวิธีปลูกแบบเดิม   และยังลดความเจ็บป่วย และลดงานลงไป ทำให้มีเวลาว่างในการฟื้นฟูประเพณีดั้งเดิมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

แต่นั่นเป็นความรู้หรือประสบการณ์ของสุพรรณบุรี   ไม่สามารถลอกเลียนเอามาใช้ที่อำนาจเจริญได้  

จึงควรมีการตั้งวง KM ชาวนาอำนาจเจริญ    วิธีการไปเรียนจาก มขข. ได้   มีเคล็ดลับมากมายที่เราเอามาใช้ได้   แต่ตัวความรู้ในการทำนาแบบปลอดสารเคมีและลดต้นทุนลดความเจ็บป่วย ต้องสร้างขึ้นเองโดยชาวนา

นี่ก็เป็นอีกหนึ่ง mental model “ความรู้ในการทำนาแบบปลอดสารเคมีและลดต้นทุนลดความเจ็บป่วย ต้องสร้างขึ้นเองโดยชาวนา   คือได้จากการเรียนรู้ (Learning) ของตนเอง ไม่ใช่จากมีคนมาสอน (Training) หรือถ่ายทอดความรู้ให้ (Technology Transfer)

มขข. ทำงานส่งเสริม KM ชาวนาโดยมี ครูใหญ่ คอยปลุกใจให้เห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยน mental model จาก ทำนาอัดสารไปสู่ ทำนาไร้สาร (สารเคมี) เพื่อสร้างความมุ่งมั่นและความมั่นใจที่จะเปลี่ยนแปลงและต้านกระแสสังคมกระแสโฆษณา    และมี คุณอำนวย (Knowledge Facilitator) ทำหน้าที่ชวนเรียนรู้ ชวนแลกเปลี่ยนจากการสังเกตของชาวนาเอง

เกิดคำถามว่า ใครควรทำหน้าที่ ครูใหญ่   ใครควรทำหน้าที่ คุณอำนวย ของอำนาจเจริญ   คำตอบคือควรลองหลายๆ แบบ แล้วมา ลปรร. กัน   แต่ละอำเภอควรคิดรูปแบบของตัวเอง    แล้วเอาประสบการณ์มาลปรร. กัน   เกิดเป็นวง KM “ครูใหญ่  และวง คุณอำนวย โรงเรียนชาวนาหอมมะลิอำนาจเจริญ   

ครูใหญ่ โรงเรียนชาวนา ไม่ควรเป็นคนทางเกษตรเสมอไป    ควรมี กศน.  นายอำเภอ  ผอ. เขตการศึกษา  ผู้อำนวยการโรงพยาบาล  พาณิชย์จังหวัด  นายก อบต.  นายก อบจ.  ฯลฯ  แล้วแต่จะตกลงกัน    และ คุณอำนวย ก็ควรมาจากหลากหลายพื้นฐาน หลากหลายหน่วยงาน พิจารณาความเหมาะสมหลายด้าน  

ก็จะเกิด วง KM ขึ้นหลายสิบวง    มีการสร้างและใช้ความรู้ และ ลปรร. ทั้งภายในวง และระหว่างวง   รวมทั้งไป ลปรร. กับจังหวัดอื่นบ้าง

โจทย์ของ KM ตามข้างบนคือการผลิตข้าวปลอดสารพิษและลดต้นทุน ลดความ เจ็บป่วย  

ควรมีโจทย์ KM ว่าด้วยการขาย “ข้าวหอมมะลิปลอดสารอำนาจเจริญให้ได้ราคาและมีลูกค้าที่ยั่งยืน   เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างผู้ผลิต-ผู้บริโภค   เกิดคล้ายๆ วง KM ขึ้นอีก

ภายใต้การจัด ครูใหญ่  และ คุณอำนวย แบบนี้ ข้าราชการของจังหวัดอำนาจเจริญ จะเกิดการเรียนรู้ Systems Thinking โดยอัตโนมัติ   จะเกิดทักษะ Systems Thinking โดยแทบไม่ต้องอ่านหรือฟังคำบรรยายเรื่องนี้   และที่สำคัญคือเกิด Personal Mastery ในหลากหลายทักษะจากการได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ  

ความเข้าใจ Systems Thinking จะมาจากการได้สัมผัสด้วยตนเองว่า การผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงและปลอดสารพิษนั้น   ต้องใช้ ความรู้ ที่ไม่ใช่เฉพาะเกี่ยวกับข้าว ดิน น้ำ ปุ๋ย แมลง เท่านั้น   แต่ต้องใช้ความรู้ที่มากมายซับซ้อน   เกี่ยวข้องกับชีวิตของงชาวนาทั้งชีวิต   และเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานในจังหวัด   เห็นว่าระบบการผลิตข้าวเป็นระบบย่อยของระบบสังคมในจังหวัดอำนาจเจริญ   และเห็นว่าระบบราชการในจังหวัดเมื่อมองจากมุมของชาวบ้าน มันเชื่อมโยงกันหมด   และถ้าข้าราชการต่าง function ไปร่วมงานกันโดยเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง   ข้าราชการจะทำหน้าที่ function ของตนได้ดีขึ้น เก่งขึ้น คือเกิดการเรียนรู้ขึ้นนั่นเอง

Systems Thinking คือ mental model ด้าน connectedness   มองสรรพสิ่งว่าเชื่อมโยงกัน   มองภารกิจของราชการว่าเชื่อมโยงกัน   แต่ mental model ไม่พอ ต้องมี personal mastery ด้วย

การจัดทีมหรือวง KM แบบนี้ จะเกิด Team Learning ไปโดยอัตโนมัติ   และ personal mastery ด้าน team learning ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

 การดำเนินการทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นได้เพราะข้าราชการในจังหวัดอำนาจเจริญ  ผู้นำในจังหวัดอำนาจเจริญ  และชาวบ้านใน จังหวัดอำนาจเจริญ มีเป้าหมายร่วมกัน ที่จะสร้างความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนขึ้นในจังหวัด  โดยเน้นที่การเรียนรู้จากการปฏิบัติภารกิจประจำวัน    มีความมุ่งมั่น (Commitment) ที่จะใช้การเรียนรู้แนว KM คือเน้น ลปรร. ความรู้จากการปฏิบัติ   การมีเป้าหมายร่วม ความมุ่งมั่นร่วมนี้ คือ Shared Vision

จะเห็นว่า ในการประยุกต์ใช้ KM อย่างถูกต้อง    จะเกิดทักษะทั้ง ๕ องค์ประกอบของ Learning Organization  อันได้แก่ 

¨      Shared Vision

¨      Mental Models

¨      Team Learning

¨      Personal Mastery

¨      Systems Thinking

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ส.ค. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 203263เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2008 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท