KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 584. มหกรรมการจัดการความรู้นครศรีธรรมราช 2551


 

ผมโชคดีมาก ที่ ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย รอง ผอ. สกว. เชิญไปร่วมงานนี้ เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ย. ๕๑    ผมได้เล่าประเด็นที่ผมจะไปพูดไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/209843

             มหกรรมการจัดการความรู้นครศรีธรรมราช 2551 จัดในชื่อ "สร้างความรู้ สานความร่วมมือ...สู่ดุลยภาพการพัฒนาเมืองนคร"   จัด ๒ วัน คือ ๒๔ – ๒๕ ก.ย. แต่ผมอยู่ร่วมประชุมวันเดียว

สังเกตจากนิทรรศการ และเรื่องเล่าจากที่ประชุมแล้ว ผมสรุปกับตัวเองว่า   จังหวัดนครศรีธรรมราชได้เอา KM มาเป็นเครื่องมือพัฒนาจังหวัดทั่วทั้งจังหวัด   ที่ใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา    ใช้หลักสร้างเจดีย์จากฐาน    คือเน้นการพัฒนาจากชาวบ้านเป็นหลัก   ราชการเปลี่ยบบทบาทเป็น “คุณอำนวย” ได้อย่างน่าชื่นชมมาก   ความพิเศษของ KM เมืองนครที่ผมมองเห็น ได้แก่

 เกิด “โรงเรียนคุณอำนวยเมืองนคร” แบบรวมตัวกันเอง  จัดกันเอง    ไม่มีคำสั่งของใครให้ทำ   ไม่รองบประมาณจากที่ใดๆ   มีการสร้าง “คุณอำนวย” จากคนที่เป็นชาวบ้าน ทำหน้าที่อยู่ในหมู่บ้าน เป็น “คุณอำนวยหมู่บ้าน”   เรื่องนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก   และน่าจะส่งเสริมให้กลายเป็น สินทรัพย์ทางปัญญา (intellectual capital) ของ KM ประเทศไทย   เป็นกลไกขยาย KM ชาวบ้าน ไปทั่วประเทศ   ผมจะเขียนถึง  “โรงเรียนคุณอำนวยเมืองนคร” ในอีกบันทึกหนึ่ง 

 

 มีการใช้เทคนิค “จับภาพ” ผลสำเร็จเล็กๆ ของแต่ละหมู่บ้าน    เอามาทำเป็นเอกสารเล่มเล็ก  แลกเปลี่ยนความรู้   มีทีม “จับภาพ” ของจังหวัดถึง ๑๒ ทีม   ผมไม่มีโอกาสสอบถามวิธีการทำงานของทีมจับภาพเหล่านี้    แต่ตั้งใจไว้ว่าจะส่งคุณ  ”อ้อม ลูกเมืองคอน” ไปจับภาพทีมจับภาพอีกต่อหนึ่ง   

 

 มีการนำเอาเทคนิค “โมเดลประเทศ” ของคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผอ. สรส. ไปใช้    ที่จริงเรื่องนี้ผมไม่ได้ยินการพูดในห้องประชุม    แต่มีโปสเตอร์   และทีม สสส. รวมทั้ง อ. หมอประเวศ ไปเยี่ยม อบต. ปากพูน ซึ่งอยู่ในอำเภอเมืองนั่นเอง    พบว่า อบต. ปากพูนใช้ KM โมเดลประเทศ    ทำให้มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบครบด้าน   จึงเกิดพลังเสริมความอยู่ดีกินดีของชาวบ้านถ้วนหน้า    อ. หมอประเวศตื่นเต้นมาก ที่ได้เห็นการพัฒนาพื้นที่อย่างครบด้าน เป็นระบบที่เชื่อมโยงกัน    และเกิดผลดีต่อความอยู่ดีกินดีของชาวบ้านขนาดนั้น   

 

 ท่านผู้ว่าฯ วิชม คอยทำหน้าที่สร้าง KV – Knowledge Vision และการมอง “ปลาทั้งตัว” ของ KM โมเดลปลาทู ของ ดร. ประพนธ์ อยู่ตลอดเวลา    ทั้งตอนที่ท่านกล่าวเปิด ๒๕ นาที   และกล่าวสรุปอีก ๑๕ นาที ของการประชุมวันที่ ๑๔ ก.ย.   ความยิ่งใหญ่อยู่ที่ท่านไม่ได้มอง KM แบบมีจุดเริ่มต้นและจุดจบ   คือไม่มองแบบเป็นโครงการ    แต่มองเป็นช่วงๆ ช่วงละ ๔ ปี    ช่วงที่ ๑ ปี ๒๕๔๘ – ๒๕๕๑    การประชุมนี้เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของช่วงที่ ๑   และร่วมกันคิดวางแผนช่วงที่ ๒ (๒๕๕๒ – ๒๕๕๕) ซึ่งมี KV คือ “ตำบลแห่งความพอเพียง” ทำเป็นเครือข่ายถักทอกันทั่วทั้งอำเภอ    ท่านมอง KV ไปถึงช่วงที่ ๔ ซึ่งจบในปี ๒๕๖๓ หรือ ค.ศ. ๒๐๒๐ พอดี   ผมตีความว่า ท่านทำหน้าที่ “ยอดคุณเอื้อ”     วิธีทำหน้าที่ “คุณเอื้อ” ของท่านเป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้มาก  

 ผมจับเคล็ดในการทำหน้าที่ “ยอดคุณเอื้อ” ของท่านผู้ว่าฯ วิชม ได้อย่างหนึ่ง   คือท่านใช้วิธี ชื่นชม (สมชื่อ) ตามด้วย ท้าทาย ในเวลาเดียวกัน    ท่านใช้คำว่า KM เมืองนครฯ ที่ทำมา ๔ ปี ได้ทำให้ชุมชนนครฯ มีความเข้มแข็งแล้ว    แต่ยังเข้มแข็งเป็นจุดๆ และเข้มแข็งเพียงบางด้าน   ต่อไปในช่วงที่ ๒ จะทำให้เข้มแข็งทุกด้าน   ในทุกพื้นที่    ท่านไม่ได้กล่าวเฉยๆ แต่จัดทีมจับภาพไปตรวจสอบความเข้มแข็ง เอามา ลปรร. กัน    ส่วนที่ยังไม่เข้มแข็งก็รู้กันเอง

 

 “หัวปลาใหญ่” ของ KM เมืองนคร คือ “๓ อยู่”    อยู่ดีกินดี  อยู่เย็นเป็นสุข  และอยู่รอดปลอดภัย   เป็นการตั้งหัวปลาแบบที่ให้อิสระในการตีความและดำเนินการแก่ “คุณกิจ” ของแต่ละพื้นที่   โดยคอยตีความชี้แนะ และให้กำลังใจ เชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์หรือคำขวัญเมืองนครศรีธรรมราช    ว่า “นครฯ เมืองพระ” เพื่อประสบความสำเร็จ ต้องใช้ธรรมะ อินทรีย์ ๕  พละ ๕ มาเป็นพลัง

 

 มีการให้รางวัลแก่ความสำเร็จจำนวนมาก    ได้แก่รางวัลชุมชนอินทรีย์   รางวัลตำบลแห่งความพอเพียง   ประกาศเกียรติคุณคุณอำนวยตำบล   ประกาศเกียรติคุณทีมจับภาพในพื้นที่   ประกาศเกียรติคุณบุคลากร อปท. ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการจัดการข้อมูลตำบล     ผมมองว่าเป็นวิธีสร้างแรงขับเคลื่อนด้วยความภาคภูมิใจในความสำเร็จ    แต่ในขณะเดียวกัน เนื้อหาของการ ลปรร. ก็ช่วยบอกว่า ยังต้องพัฒนาบางด้าน หรืออีกหลายด้าน    ผมเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสฟังเรื่องราวของพื้นที่ต้นแบบ (Best Practices) ในวันที่ ๒๕ ก.ย. 

 

 มีการวางแนว KM สำหรับการเดินทางไกล (long journey) ของผู้คนทั่วทั้งจังหวัด   ไม่ได้มอง KM เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีการทำ KM   แต่เน้นการเอา KM มาเป็นเครื่องมือบรรลุ ๓ อยู่ 

 

ผมคิดว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชน่าจะเป็นตัวอย่างของการนำเอา KM มาใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมฐานราก   จากสังคมรับรู้ เป็นสังคมเรียนรู้    เกิดความมั่นใจตนเอง    มีกลไกภายในจังหวัดเอง ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของชาวบ้านโดยการรวมตัวกัน ลปรร. ความรู้ปฏิบัติ

 

ข้างล่างเป็น “เศษกระดาษบันทึกระหว่างการประชุม” ของผม 

 วิชม  3 อยู่  ทำมาแล้วช่วงที่ 1 เวลา 4 ปี  ต้องมีอีก 3 ช่วง  12 ปี   ใช้เครื่องมือ KM

เรื่องเล่าจาก 5 คุณอำนวย

รร คุณอำนวยแห่งแรกของประเทศ ที่จัดตั้งกันเอง

ประเวศ  ยืนยันจุดเปลี่ยน ปทท   นคร เดินมาถูกทาง

 ท้องถิ่นต้องไม่เป็นภาครัฐ ต้องทำงานร่วมกับชุมชน   และทำเรื่องความรู้  

 

วิจารณ์ พานิช

๒ ต.ค. ๕๑

1.ป้ายแสดง KV ของ KM เมืองนคร2.ท่านผู้ว่าฯ วิชม ทองสงค์ กล่าวเปิดประชุม บอก KV ของ KM นครศรีธรรมราช
3.ทีมจับภาพพื้นที่ สุดยอดชุมชนอินทรีย์ ตำบลแห่งความพอเพียง และคุณอำนวยตำบล4.ครูนงเมืองคอน รับประกาศนียบัตร จากท่านผู้ว่าฯ5.โนราลงถาด การแสดง ก่อนการบรรยาย6. เสวนาเรื่องความร่วมมือบนพื้นฐานความรู้…..แนวทางพัฒนาจังหวัดในอนาคต

 

หมายเลขบันทึก: 214433เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2008 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับท่านอาจารย์

คณะของผมจากพัทลุงนำโดยนายหัว แก้ว สังข์ชู อยู่ร่วมทั้ง สอง วัน

ถ้าจะว่าไป นคร พัทลุง-สงขลา ในเรื่ององค์ชุมชน มีเด่นคนละด้าน

นคร KM พัทลุงแผนชุมชน สงขลา องค์กรการเงิน สวัสดิการ น่าสนใจครับอาจารย์

ขอบคุณอาจารย์มากครับที่นำมาเสนอ

สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์

แวะเข้ามาอ่านโชคดีค่ะได้รูในสิ่งที่อยากรู้

เขียนเข้าใจง่าย อ่านเพลินค่ะ จะตามอ่าน km วันละคำค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท