KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 613. แนะนำหนังสือ KM ในภาคการศึกษา (๓)


นานาทัศนะ : การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ในภาคการศึกษา

 

ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๒

 

บทสรุป

การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ เป็นกิจกรรมหนึ่งของการจัดงานมหกรรมตลาดนัดความรู้ 4 ภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ โดยจัดขึ้น 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม ถึง 5 สิงหาคม 2550 เพื่อเป็นเวทีนำเสนอพร้อมกับเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 95 องค์กร ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในโครงการวิจัย และผู้สนใจทั่วๆ ไป เกี่ยวกับแนวปฏิบัติของกระบวนการจัดการความรู้ในองค์กร และวิธีทำงานต่างๆ ที่จะนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีและหลากหลาย และเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษาด้วยการจัดการความรู้  

วัตถุประสงค์ของการจัดให้มีปาฐกถาพิเศษ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงนานาทัศนะและประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management หรือ KM) เพื่อให้องค์กรเป้าหมายในโครงการวิจัย จำนวน 95 องค์กร ได้ประยุกต์นำแนวคิดและเห็นประโยชน์ต่อการนำการจัดการความรู้มาใช้พัฒนาประสิทธภาพการทำงานขององค์กร รวมถึงนำไปใช้ในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้กับผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและอย่างต่อเนื่องยั่งยืน

ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ท่าน ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงที่แตกต่างกันในการใช้การจัดการความรู้หรือ KM พัฒนางาน ซึ่งมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน แต่สาระความรู้ที่นำเสนอล้วนเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด และแนวทางของการจัดการความรู้ที่อยู่บนฐานคิดเดียวกัน คือ การให้ความสำคัญกับ คน และกระบวนการ เป็นหลัก โดยใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนสนับสนุนในการนำหลักการและแนวทางการจัดการความรู้มาประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน สามารถก่อให้เกิดการนำสติปัญญาขององค์กรมาเพิ่มพลังในการเรียนรู้ การเข้าถึงความรู้ การรู้จักเลือกใช้ ดัดแปลง ปรับปรุง ต่อยอดความรู้ที่มีอยู่เดิม พร้อมกับสร้างความรู้ใหม่ในการนำไปพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของการทำงาน จนสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นวัฒนธรรมของการเรียนรู้และการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นภายในหน่วยงานได้อย่างดี

สาระสำคัญของปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ ในงานมหกรรมตลาดนัดความรู้ 4 ภูมิภาค สรุปได้ดังนี้

1. แนวคิดเบื้องต้น

การจัดการความรู้เป็นกระแสโลกหรือตามกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีความตื่นตัวและแข่งขันสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ ต้นกำเนิดของการจัดการความรู้มาจากประเทศตะวันตก ประมาณปี ค.ศ. 1986 แต่ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา และต้องการมีเสถียรภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและด้านอื่นๆ จึงได้มีการนำการจัดการความรู้มาใช้ในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ประเทศไทยมีบริบทหรือสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน จึงต้องมีความยืดหยุ่นสูงในการปฏิบัติ จนเกิดการเคลื่อนกระแสการจัดการความรู้ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาสังคม ภาคราชการและภาคเอกชน

การจัดการความรู้ของภาคเอกชนในเริ่มแรกเน้นความอยู่รอดขององค์กร การจัดการความรู้ของภาคเอกชนจึงมักเป็นเรื่องที่รู้กันภายในองค์กร แต่ปัจจุบันได้มีการเปิดตัว เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่มากขึ้น สำหรับภาคราชการมีกระแสการจัดการความรู้สูงมาก เพราะถูกกำหนดให้ต้องปฏิรูปการทำงานแนวใหม่ที่จำเป็นต้องทำเรื่องการจัดการความรู้ และมีตัวอย่างดีๆ ของการจัดการความรู้เกิดขึ้นมากมาย ส่วนภาคประชาสังคมซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ มักมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ชาวบ้านมักไม่รู้จักคำว่า การจัดการความรู้ แต่มีผลสำเร็จเกิดขึ้นมากมายในกิจกรรมของการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดการความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละบริบทของชุมชนต่างๆ

แนวคิดของการบริหารจัดการองค์กรในยุคปัจจุบัน มองคนในองค์กรทุกระดับเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า เพราะคนเป็นสิ่งที่มีความรู้สึกและมีชีวิตจิตใจ จึงทำให้ผลงานขององค์กรส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลของกลุ่ม องค์กรจึงต้องปรับตัวให้องค์กรเป็นเสมือนสิ่งที่มีชีวิต (Organic Organization) ผนวกกับการเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยี การบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ที่มีการกระจายอำนาจ การทำงานเป็นทีม เน้นผลงานมากกว่ากฏระเบียบ มีการสื่อสารแบบไม่เป็นทางการและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น สร้างความรู้ เรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ร่วมกันจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร การจัดการความรู้จึงเป็นเรื่องของคนและการเปลี่ยนแปลงการจัดการ ที่ต้องเป็นการจัดการทั้งเรื่องของคน เงิน และงาน เน้นความสำคัญของความรู้ที่มีในคน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความรู้และนำไปพัฒนางาน เพื่อมุ่งไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้

ความรู้แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1) ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่อยู่ในรูปแบบของเอกสาร วิชาการ ตำรา คู่มือการปฏิบัติงาน และ 2) ความรู้ซ่อนเร้น (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวคน เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการทำงาน ฉะนั้น การจัดการความรู้เป็นการดึงหรือนำความรู้ความชำนาญที่แฝงเร้นหรือฝังลึกในตัวคน ทั้งจากการได้รับการศึกษาจากระบบการศึกษาหรือแบบทางการ หรือการศึกษาแบบไม่เป็นทางการ ที่อาจนำมาใช้ทำงานได้หรือใช้ไม่ได้ หรือความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ในการทำงานซึ่งทุกคนมีความรู้ความชำนาญในงานที่ตนทำ อาจมาผนวกหรือไม่ผนวกกับความรู้ชัดแจ้งหรือความรู้จากภายนอกตัวคนก็ได้ พร้อมกับนำความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อต่อยอดหรือเพิ่มพูนความรู้ที่มีอยู่เดิมหรือสร้างความรู้ใหม่ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คนในกลุ่มสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานได้ ทั้งนี้ความรู้ 2 ประเภทนี้จะปรับเปลี่ยนสถานภาพตลอดเวลา

การจัดการความรู้ที่ครบวงจรต้องดึงความรู้ฝังลึกในตัวคนออกมา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับให้ง่ายและเหมาะต่อการทำงาน จัดเก็บหรือบันทึกให้เห็นชัดเพื่อสังเคราะห์เป็นความรู้ชัดแจ้ง เป็นการนำความรู้ใหม่และความรู้เก่ามาสมานกัน หรือต่อยอดให้เกิดความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ เกิดการเรียนรู้และปัญญาร่วมกันทั้งกลุ่มในการทำงาน เมื่อนำไปใช้ในการทำงานก็จะเกิดเป็นความรู้ฝังลึกในตัวคน และนำมาเล่าสู่กันฟัง หมุนวนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

2. หลักการสำคัญในการนำการจัดการความรู้หรือ KM มาสร้างกระบวนการเรียนรู้

2.1 ใช้การจัดการความรู้ในการสร้างจิตสำนึกและสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ในการพัฒนาการทำงาน

2.2 กำหนดเป้าหมายและทิศทางหรือวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพราะการใช้การจัดการความรู้ต้องมีเรื่องของ ใจ มาก่อน หรือดังคำกล่าวว่า ใจมา เวลามี เวทีเกิด

2.3 บุคลากรแกนนำ KM ต้องเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนอย่างแท้จริง

2.4 ผู้นำการจัดการความรู้สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกส่วนในองค์กรหรือชุมชน

2.5 ดึงความรู้ฝังลึกในตัวคนที่เกิดจากการทำงานจนชำนาญ พร้อมจัดวางตำแหน่งความรู้ฝังลึกในตัวคนเป็นฐานรากที่มั่นคง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและต่อยอดความรู้ขึ้นไป

2.6 การเรียนรู้ของบุคคล ต้องมีความสมดุลในเรื่องของปัญญา สุนทรียะ อารมณ์ ความรู้สึก และการลงมือปฏิบัติ

2.7 การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ต้องสร้างความรู้ในทุกระดับและทุกมิติของสังคม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

2.8 ใช้ KM เป็นเพียงเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร เพื่อให้กิจกรรมมีประสิทธิภาพในทุกองค์กร ทุกระดับและทุกมิติ

3. แนวทางในการนำการจัดการความรู้หรือ KM สู่การปฏิบัติ

สาระในปาฐกถาแสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้นำหรือแกนนำ KM ที่ก่อให้เกิดแนวทางการใช้การจัดการความรู้ในการสร้างสังคมฐานความรู้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ บทบาทของนักพัฒนาชุมชน บทบาทของนักวิชาการ รวมทั้งบทบาทของนักปกครอง ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่แตกต่าง ดังนี้

บทบาทของนักพัฒนาชุมชน

กรณีของ KM กับโรงเรียนชาวนา (เกษตรกรรมยั่งยืน) เป็นการจัดการเรียนรู้ในรูปของศูนย์การเรียน โดยมีโรงเรียนชาวนาเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สำคัญ เป็นโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นรูปแบบการเรียนรู้นอกระบบและตามอัธยาศัย ที่เริ่มจากโจทย์หรือปัญหาเป็นตัวตั้ง เกี่ยวกับเรื่องปฏิวัติเขียว ชุมชนซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครวมทั้งเครือข่าย ได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ จากวิธีการทำเกษตรกรรมกระแสหลัก มาเป็นการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ภายนอก ฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิม นำความรู้มาบูรณาการเป็นความรู้ใหม่ เกิดระบบการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูธรรมชาติ ลดการพึ่งพาภายนอก พึ่งพาตนเองได้ มีหลักสูตรเป็นแนวทางกว้างๆ กำหนดผู้เรียนให้สัมพันธ์กับเนื้อหาที่เรียน โดยเรียนในเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง ผ่าน 3 หลักสูตรของโรงเรียนชาวนา คือ การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี การปรับปรุงบำรุงดิน และการพัฒนาพันธุ์ข้าว จนเกิดเป็นชุมชนชาวนาที่สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตลอดเป็นฐานทุนที่สำคัญของกระบวนการโรงเรียนชาวนาที่ใช้ความมีคุณธรรม เป็นสายสัมพันธ์ให้คนมาเรียนรู้ ที่สำคัญที่สุด คือ มีการทดลองปฏิบัตจริง จนสามารถทำให้รู้สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาที่แท้จริง และนำมาแก้ปัญหาได้ เป็นการทำเกษตรกรรมตามความรู้ความเข้าใจของตนเอง โดยการทดลองและเห็นผลด้วยตนเอง ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญของการจัดการความรู้

กรณีของการจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น ได้เน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนทุกเพศทุกวัย เริ่มตั้งแต่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเป็นการสร้างฐานรากให้กับชุมชนและจัดการศึกษาสำหรับชุมชนทั่วไป ซึ่งในอดีตชุมชนเคยเข้มแข็งด้วยองค์ประกอบหลัก คือ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียนรู้ด้วยความจำ แต่ปัจจุบันข้อมูลใหม่เกิดขึ้นทุกวินาที จึงต้องสร้างกระบวนการจัดการความรู้ของชุมชน โดยเน้นความรู้ในชุมชนและชุดความรู้จากภายนอก นำมาบูรณาการจัดเป็นความรู้ของชุมชนท้องถิ่น ที่ชุมชนได้นำมาประยุกต์ใช้ ช่วยให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ แก้ปัญหาได้ เกิดการพึ่งตนเอง หลักคิดในการนำ KM ลงสู่ปฏิบัติของชุมชนท้องถิ่น ต้องเอาวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง ภาษาที่สื่อสารต้องเห็นผล ทำแล้วเกิดผล และให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของคนในชุมชน

บทบาทของนักวิชาการ

กรณีหลักคิดของการนำ KM สู่การปฏิบัติ ได้มีการแปลงทฤษฎีการจัดการความรู้ลงสู่การปฏิบัติมากมาย อาทิ ตัวแบบการจัดการความรู้ที่บูรณาการสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ของโรงพยาบาลบ้านตาก (Lkasa Egg Model) ซึ่งเปรียบเสมือนไข่ทั้งฟอง มี 5 ขั้นตอนหลัก ที่ไม่จำเป็นต้องเริ่มจาก 1 หรือ 2 หรือ 3 เรียงตามลำดับ เริ่มจากขั้นตอนใดก็ได้ และหมุนวนเวียนกันไป หัวใจสำคัญคือ การจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะนำสิ่งที่สำเร็จแล้วมาเล่าสู่กันฟัง เสมือนไข่แดงที่จะทำให้ไข่ฟักเป็นตัว โมเดลดังกล่าวทำให้การจัดการความรู้ทั้งโรงพยาบาลประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม เป็นการใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือไปสู่คุณภาพของงานและบูรณาการการจัดการความรู้กับงาน รวมทั้งการใช้ ตัวแบบการจัดการความรู้ตามโมเดลปลาทู (Tuna Model)  ที่มีกระบวนการสำคัญของ KM ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) Knowledge Vision  มองว่าจะไปทางไหน 2) Knowledge Sharing การแบ่งปันความรู้ การถ่ายทอดความรู้หรือกิจกรรมเรื่องเล่าเร้าพลัง และ 3) Knowledge Assets การนำเอาความรู้ที่ได้มาเก็บไว้เป็นแหล่งความรู้หรือขุมทรัพย์ความรู้ ซึ่งทั้งสองรูปแบบสามารถสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชาชนทางด้านสาธารณสุขในสภาพที่ทรัพยากรจำกัดทั้งคน เงิน และเครื่องมือ อาคารสถานที่ได้เป็นอย่างดี เกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งต่อองค์กร บุคลากรในหน่วยงาน ผู้บริหาร และท้ายที่สุดต่อประชาชนเป็นผู้ที่ได้ผลกระทบโดยตรง

บทบาทของนักปกครอง

กรณีของ KM 3 มิติ ผู้ปฏิบัติต้องสร้างความเข้าใจในหลักการเบื้องต้นของ KM  ให้แก่บุคคลในองค์กร แสวงหาความรู้ที่ยากขึ้น เพื่อพัฒนาต่อยอดความรู้และประสบการณ์ สร้างเครือข่าย ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารองค์กรทั้งจังหวัดในแนวราบ รวมทั้งต้องเอื้ออำนาจและมอบอำนาจให้เกิดวงทำงานเล็กๆ โดยสร้างทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ซึ่งเป็นทักษะย่อยที่สำคัญของการจัดการความรู้ พัฒนาทักษะอื่นๆ ที่เรียกว่า กระบวนการทางปัญญา คือ 1) สังเกต 2) บันทึก 3) ฝึกนำเสนอ นอกจากนี้ เกณฑ์กว้างๆ ในการสร้างรูปแบบชุมชนเข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนทั้งจังหวัดของนักปกครอง มีองค์ประกอบหลัก 5 ประการ คือ 1) การมีแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเองที่จัดทำโดยชุมชน 2) การใช้การจัดการความรู้ในการกำหนดกิจกรรมเป็นแผนงาน/ โครงการในการทำกิจกรรมชุมชนพึ่งตนเอง 3) ต้องมีคณะผู้นำที่เข้มแข็งและมีคุณภาพในการจัดการให้ชุมชนร่วมจัดทำแผนแม่บทชุมชน 4) ชุมชนต้องมีกลุ่มและการเงินเป็นของตนเอง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการชุมชน และ 5) ต้องพัฒนาทีมเรียนรู้ในชุมชนตลอดเวลา

โดยสรุปแล้ว หลักการ แนวคิด และข้อเสนอแนะจากการแสดงทัศนะการจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ในภาคการศึกษาดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้ประยุกต์นำการจัดการความรู้ไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรต่อไป

 

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๕๑

คำสำคัญ (Tags): #edkm#สกศ.
หมายเลขบันทึก: 223447เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-เรียนท่านอาจารย์

-ขออนุญาตถอดบทเรียนตามความเข้าใจดังนี้

หลักการ และวิธีการ KM เน้นบุคลากร และกระบวนการ โดยมีสื่อเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่จะนำความรู้มาปฏิบัติจริง พัฒนาลปรร ควบคู่ไปกับการพัฒนาตนเอง เรียนรู้จากการทำงาน นำภูมิปัญญาและความรู้ในชุมชน บูรณาการกับความรู้จากภายนอก ต่อยอด สู่การรู้ลึก เกิดความรู้ใหม่ นำมาวางแผนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบโดยชุมชน เพื่อชุมชน ขับเคลื่อนไปพร้อมกับการเรียนรู้แบบ Long Life Education

-ถูกผิดประการใดโปรดชี้แนะค่ะ

-ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท