ชีวิตที่พอเพียง : ๗๒๐. เรียน DCP 116 (๒)


 

ตอนที่ ๑

 

          วันที่ ๒ ของการเรียน เป็นวิชาอ่านรายงานการเงิน   กับวิชาประเมินผลประกอบการ   ซึ่งต้องชมว่าวิทยากรสุดยอดทั้ง ๒ ท่าน   คือคุณสุวภา เจริญยิ่ง กับคุณนรรัตน์ ลิ่มนรรัตน์    คือเต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์    มีกรณีศึกษาช่วยให้เข้าใจสภาพจริงมากขึ้น   และมีการแบ่งกลุ่มอภิปรายแลกเปลี่ยนกรณีศึกษา    มีการตั้งคำถามให้ตอบด้วยเครื่องโหวด โดยไม่รู้ว่าใครตอบว่าอย่างไร    แล้วมีการอธิบายว่าที่ตอบคำตอบต่างกันนั้นเพราะคิดอย่างไร   และวิทยากรก็อธิบายเพิ่มเติมด้วย  

          ความรู้ที่ผมได้รับที่สำคัญคือ

 

บทเรียนที่ ๒  การอ่านรายงานการเงิน

 กรรมการมีหน้าที่ตั้งคำถาม    ไม่ใช่มีหน้าที่ตอบหรืออธิบาย    ผู้มีหน้าที่ตอบหรืออธิบายคือฝ่ายบริหาร    และต้องไม่ลืมว่า รายงานการเงินเมื่อสิ้นปีนั้น   เป็นผลของสิ่งที่เกิดในอดีต   อย่าลืมตั้งคำถามว่า สิ่งที่สะกิดใจหรือสะดุดนั้น ในปัจจุบัน ณ วันประชุม เป็นอย่างไร
 หน้าแรกของรายงานการเงินที่ต้องพลิกไปอ่านก่อนคือรายงานของผู้สอบบัญชี    ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดปกติจะเขียนสั้นมาก และมี ๓ ย่อหน้าสั้นๆ   ยิ่งรายงานยาว ยิ่งแสดงว่ามีสิ่งผิดปกติมาก
 การอ่านรายงานการเงินเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกา (compliance role)    ไม่ใช่หน้าที่สร้างสรรค์ผลประกอบการ (performance role)    คือเป็นการอ่านเรื่องราวของอดีต – ปัจจุบัน    เพื่อดูรากฐานความเข้มแข็งขององค์กร   ส่วนหน้าที่สร้างสรรค์ผลประกอบการเป็นการทำหน้าที่ด้านอนาคต 
 รายงานการเงิน ๔ ชนิด ที่ต้องอ่านให้เป็น คือ (๑) งบกำไรขาดทุน (income statement)  (๒) งบดุล (balance sheet)  (๓) งบกระแสเงินสด (statement of cash flow)  (๔) งบการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น  (equity)
 ต้องอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินเป็น   เพราะผู้สอบบัญชีมักจะแสดงส่วนที่น่ากังวลไว้ที่นี่    โดยกรรมการต้องอ่าน ๕ เรื่อง  (๑) นโยบายการบัญชี  (๒) ภาระผูกพัน  (๓) หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นภายหน้า  (๔) รายการบัญชีกับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน  (๕) สัญญาระยะยาว
 งบดุล : สินทรัพย์ (assets) = เงินกู้ยืม (liability) + เงินของผู้ถือหุ้น (equity)  
 งบกำไรขาดทุนประกอบด้วย  รายรับจากการขาย   ค่าใช้จ่าย   กำไรขั้นต้น (gross profit)   กำไรหลังหักภาษีและค่าใช้จ่าย (EBITDA)   และ กำไรสุทธิ (net profit)
 งบกระแสเงินสด = รายรับ – รายจ่าย (รายจ่ายกิจกรรมดำเนินงาน + รายจ่ายกิจกรรมลงทุน + รายจ่ายกิจกรรมจัดหาเงิน + เงินสดเพิ่ม-ลดสุทธิ) + เงินสดเมื่อต้นงวด  = เงินสดเมื่อปลายงวด 
 จุดสังเกตความผิดปกติที่สำคัญคืองบกระแสเงินสด
 ROA = EBIT / Total Assets (EBIT = กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี)
 ROE = EBIT / Total Equity
          = NI / Sale (ผลงานของกิจกรรมลงทุน)  x  Sale / TA (ผลงานของกิจกรรมดำเนินการ  x TA / TE (ผลงานของกิจกรรมจัดหาเงิน) 
 ผมมีข้อสังเกตว่า ปัญหาจะก่อตัวขึ้นเมื่อฝ่ายบริหารร่วมกับฝ่ายบัญชี ร่วมกันคิดวิธีทำธุรกิจแบบตีความวิธีลงบัญชีแบบมีนวัตกรรมในการทำให้ผลประกอบการดูดี   โดยที่เห็นชัดว่าไม่ตรงตามเหตุผลเชิงสามัญสำนึก    เช่นลงบัญชีรับทันทีที่เอาสินค้าไปฝากขาย
 เวลาอ่านรายงานการเงิน ให้ตั้งคำถามในเรื่องต่อไปนี้ 
          ๑. ผลประกอบการทางการเงิน  (๑) ทุน  (๒) คุณภาพของสินทรัพย์  (๓) กำไร  (๔) สภาพคล่อง  (๕) การเติบโต  
          ๒. การจัดการหนี้สิน  (๑) เงินกู้ยืม  (๒) การจัดการความเสี่ยงของสภาพคล่อง
          ๓. การจัดการการลงทุน  (๑) รายงานการลงทุน  (๒) ROI  (๓) ประเภทของการลงทุน  
          ๔. กิจกรรมนอกเหนือจากที่แสดงในงบการเงิน  (๑) อนุพันธ์การเงิน  (๒) การกู้ยืม  (๓) การค้ำประกัน
          ๕. รายงานการตรวจสอบ และการควบคุมภายใน
          ๖. หมายเหตุประกอบการเงิน
 ผมรู้สึกว่าการเป็นกรรมการนี้ มีความเสี่ยงคุกตะรางไม่น้อยเลย
 

บทเรียนที่ ๔  ประเมินผลประกอบการและ “สุขภาพ” ขององค์กร

 ประเมินผลประกอบการที่ ๓ กิจกรรม  คือ (๑) กิจกรรมลงทุน - ดูงบดุล  - บอก health  (๒) กิจกรรมดำเนินการ - ดูรายรับจ่าย  - บอก wealth (๓) กิจกรรมการเงิน - ดูรายงานเงินสดหมุนเวียน – ดูพฤติกรรม    กรรมการประเมินรายงานผลประกอบการเพื่อตั้งคำถามให้ฝ่ายบริหารตอบ   ซึ่งก็ยังเป็นการทำหน้าที่เชิงตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกา (compliance role)
 ดู Performance Indicators ๕ ตัว   (1) Asset P   (2) Profitability P  (3) Company P  (4) Debt P  (5) Earning P  
 หนี้ที่ต้องจับตาคือหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 
 บัญญัติสิบประการสำหรับประเมินผลประกอบการของบริษัท  (๑) รายการการเงินสำคัญ  (๒) รายการใหญ่ๆ  (๓) รายการที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก  (๔) รายงานงบดุล  (๕) กำไร  (๖) เงินสดหมุนเวียน  (๗) Performance Indicators  (๘) กิจกรรมที่ต้องจับตา  (๙) ปัจจัยภายนอก  (๑๐) รายการเกี่ยวข้อง : ลงทุน  ให้ยืม กู้  ค้ำประกัน  ขาย  ซื้อ  ถ่ายโอน

          ข้อดีของหลักสูตรนี้คือ   ผู้จัด (IOD) ตระหนักว่าเป็นการเรียนทักษะพอๆ กับเรียนทฤษฎี    จึงมีแบบฝึกหัดให้คิดเป็นกลุ่ม และคิดร่วมกันไปตลอดเวลาเรียน   คิดแบบ KM ก็คือ หลักสูตรนี้ใช้ KM เป็นเครื่องมือให้เกิดการเรียนรู้เชิงทักษะด้วย

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ มี.ค. ๕๒
 

 

 

หมายเลขบันทึก: 250749เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2009 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

หนูเข้ามาอ่าน แล้วสนในวิธีการถอดบทเรียนของอาจารย์ ทำให้เห็นภาพของบทเรียนเรื่องนั้นจริงๆๆ ค่ะ ใคร่เรียนถามอาจารย์ว่า การถอดบทเรียนมีแนวทางการถอดอย่างไรบ้างค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท