ชีวิตที่พอเพียง : ๗๙๕. ข้อคิดเห็นเรื่องนโยบายวิทยาศาสตร์ของประเทศ ๑. ภาพใหญ่



          เมื่อต้องไปให้ความเห็นเรื่องนี้ ผมจึง BAR กับตัวเองว่า    ควรให้ข้อคิดเห็นอย่างไร   ผมคงค่อยๆ นึกไป เสนอแนะไป   หลายๆ ส่วนที่เป็นความเห็นของผมคงจะใช้ไม่ได้   เพราะไม่ทำให้ได้คะแนนเสียง   เรื่องแบบนั้นผมไม่ถนัด

          ผมฟันธงเลย ว่าที่ผ่านมานโยบาย วทน. (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม) ของประเทศล้มเหลวในด้านการส่งเสริมให้คนไทยคิดเชิงวิทยาศาสตร์ (scientific thinking)    ผมว่ากระแสไสยศาสตร์ดูจะชนะด้วยซ้ำ

          ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการส่งเสริมการเรียนรู้เชิงวิทยาศาสตร์น่าจะผิดทาง    คือเน้นเฉพาะนักเรียนนักศึกษาสายวิทย์    จริงๆ แล้วต้องส่งเสริมให้แก่นักเรียนนักศึกษาทุกสาย    และแก่คนทั่วๆ ไปทุกกลุ่มอายุ/อาชีพ ด้วย   เราไม่ได้เอาใจใส่เรื่องนี้อย่างจริงจัง  

          ดังนั้นข้อเสนอที่ ๑ ของผมคือ นโยบายการส่งเสริมการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย   จะส่งเสริมแก่นักเรียนสายอาชีพอย่างไร   แก่นักเรียนสายศิลป์อย่างไร   แก่คนทั่วไปอย่างไร  ฯลฯ    และข้อเสนอที่ ๒ คือ กระทรวงวิทย์อย่าเน้นทำเอง    ไม่ว่าเรื่องใด   วทน. สำคัญต่อบ้านเมืองเกินกว่าที่จะเก็บไว้ในมือนักวิทย์ และกระทรวงวิทย์    ให้ทำ mapping ว่ามีโครงการใดบ้าง กิจกรรมใดบ้างที่มีคน/หน่วยงาน ทำอยู่แล้วและได้ผลดี   กระทรวงวิทย์เข้าไปหนุน และชวนหน่วยงานอื่นๆ เข้าไปหนุน    

          เป็นชีวิตที่หัดคิดภาพใหญ่    ภาพเชิงนโยบาย

วิจารณ์ พานิช
๒๘ มิ.ย. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 277349เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2009 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบสวัสดีค่ะท่านอาจารย์ใหญ่ KMI Thailand ที่เคารพรักเป็นอย่างสูง

จิตวิทยาศาสตร์ จิตคิดภาพใหญ่ จิตรักความดี ความงาม ความจริง เป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากกระบวนการสร้างการเรียนรู้ของครูในวันนี้ เพราะ สภาพงานการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนและสถานศึกษาต่างมุ่งสู่วิชาการ เนื้อหา ที่คิดว่าเป็นแก่นความรู้ของสาระวิชาที่ตนเป็นผู้สอนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในภาพของคะแนนโอเน๊ตและร้อยละที่ต้องเพิ่มทุกปีการศึกษา.......ทำให้ลืมไปว่าภาพใหญ่แห่งฝันที่เป็น

จิตวิญญาณของครูผู้เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีของแผ่นดินคือ ภาพใดกันแน่ คะแนนหรือความรุ้ที่คงทนในตัวผู้เรียนที่เป็นคุณลักษณะบุคคลแห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างชาติไทยให้เข้มแข็งในวันข้างหน้า

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ใหญ่ที่ให้ข้อคิดนี้แล้วใครคือ ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงจิตวิทยาศาสตร์สู่จิตใหญ่ให้ครูกู้แผ่นดิน

เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

"โดน" มากๆครับ

สมัยก่อน เวลาได้ยินนักวิชาการบ่นกันว่า "เมืองไทยเป็นเมืองไสยศาสตร์" ผมก็รู้สึกข้องใจ เพราะผมคิดว่าคนที่บ้าไสยศาสตร์ เป็นเพียงคนส่วนน้อยของประเทศ

แต่ ณ วันนี้ ผมกระจ่างแจ้งมาก อาจเพราะได้สัมผัสบุคคลที่หลากหลายมากขึ้น และแม้แต่เพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยเอง ผมก็เริ่มมาสังเกตว่า พวกเธอก็ชอบดูหมอ เพื่อนๆที่ทำงาน ก็ชอบดูหมอ

ผมขอตั้งขอสังเกตกับอาจารย์นิดนึงว่า

"วิทยาศาสตร์ที่เราเรียนอยู่ ส่วนใหญ่ยกความรู้มาจากต่างประเทศ ไม่มีการปรับใช้ให้เข้ากับภูมิปัญญาไทย จึงทำให้คนไทยดูดซับ เรียนรู้ได้น้อย"

ไม่รู้ว่าอาจาจารย์คิดเห็นอย่างไร

อย่าว่าแต่อะไรเลยครับ แม้แต่นักเรียนสายวิทย์เอง ก็ยังเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้กะพร่องกะแพร่ง

พี่สาวผมที่เป็นอาจารย์ฟิสิกส์ ธรรมศาสตร์ ก็บ่นตลอดเวลา ถึงความไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ของนักเรียน

แต่ผมก็พอมองเห็นความหวัง ที่อาจารย์จะเข้าไปช่วยปฏิรูปการศึกษาครับ

ปล. เผอิญได้กลับไปดูเทปที่สัมภาษณ์อาจารย์อีกครั้ง ก็รู้สึกชอบเทปนี้จัง อาจเพราะได้คุยในเรื่อง "ความรู้" ที่ผมสนใจมาตลอดชีวิตก็ได้ ขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาให้สัมภาษณ์ และทำให้ผมสามารถเก็บความทรงจำ และเรื่องราวดีๆที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ไว้ได้ ตราบนานเท่านาน

ในประเทศจีน และ อินเดีย คล้ายกับ ว่า นักวิทยาศาสตร์ พยายามเขียน หนังสือ อ่านสำหรับประชาชน ในราคา ไม่แพง ยังคงมีอยู่ถึงทุกวันนี้

แม้แต่เรื่อง พื้นฐาน ของชีวิต คือ หนังสือ การแพทย์และ สมุนไพร ก็เป็นวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวมากๆ

ประเทศเรา มีนโยบายชี้นำ เช่นนี้ น้อยมาก นานๆ พบ คนอย่าง อ สุทัศน์ ยกส้าน

หาก ราคา หนังสือ และสาระ เข้าถึง ผู้อ่าน มากขึ้น

ในต่างประเทศ นักวิชาการ จะมี web หรือ blog ของตนเอง เพื่อสื่อข่าวสาร ทางวิทยาศาสตร์ เผยแพร่ บ้านเรา ก็มีทำ แต่ยังน้อยมาก

วทน ก็คงจะดีขึ้น หาก เราเลียนแบบ เรียนรู้ พัฒนา จาก สิ่งดีๆ ของ คนอื่น

เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง

หนูเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ค่ะเพราะอยู่ทางสายศิลป์ค่ะ

บทความนี้ของท่านอาจารย์ทำให้หนูนึกถึงที่ประชุมวิชาการการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ประเทศมาเลเซีย (ตุลาคม ๒๕๕๒) ว่า ประเทศนี้ส่งเสริมการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ

ในฐานะผู้สอนภาษาอังกฤษ เมื่อหนูกลับมาจากการประชุม หนูลองคิดในมุมกลับว่าจะสามารถนำกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการสอนภาษาอังกฤษได้อย่างไร? หนูลองออกแบบการสอนสำหรับวิชาภาษาอังกฤษ ในเทอมปลายปีการศึกษาที่แล้วว่า ใน ๓ ชั่วโมง ถ้าสอนการเขียน เช่น ในคาบที่สอนการเขียนแบบเปรียบเทียบเชิงทฤษฎี comparison and contrast และกระบวนวิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ๓ ชั่วโมง--

๑. ใช้เวลาบรรยายแบบทฤษฎี(๑ ชั่วโมง)

๒. ให้ทดลองวิทยาศาสตร์เล็กๆ โดยใช้วัสดุไม่แพง เพื่อสังเกตการเปรียบเทียบ --หนูไปซื้อนาฬิกาทรายที่มีกระเปาะ ๕ กระเปาะมีสีต่างๆ กันและมีปริมาณทรายต่างๆกัน (ที่เดอะมอลล์ ราคาไม่เกิน ๑๐๐ บาท) แล้วให้นักเรียนสังเกตและจับเวลาอัตราการไหลของทรายแต่ละกระเปาะ จะได้เปรียบเทียบทั้ง quality and quantity ค่ะ(ใช้๑ ชั่วโมง)

๓. ให้นักเรียนทดลองเขียนสรุปสิ่งที่นักศึกษาสังเกตได้เป็นภาษาอังกฤษเชิงวิทยาศาสตร์ค่ะ

หนูเป็นอาจารย์ตัวเล็กๆ ที่อยากลองทดลองสอนแบบนอกกรอบ เลยได้ลองทำใน Class เล็กๆ แต่ไม่ทราบว่าidea นี้จะเป็นประโยชน์กับอาจารย์ท่านอื่นอย่างๆไรค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท