ชีวิตที่พอเพียง : ๘๑๕a. ไปเปลี่ยนใจตัวเอง จากบริการสุขภาพปฐมภูมิ สู่ระบบสุขภาพชุมชน (๑)


          หมอสมศักดิ์ให้คุณอ้อยเลขา นัดไปเที่ยวชื่นชม รพช. ที่ได้ชื่อว่าทำงานสุขภาพปฐมภูมิดีเยี่ยมเป็นที่เลื่องลือ ๓ แห่ง    นัดล่วงหน้ากว่า ๓ เดือน    หลังจากเราติดใจจากการไปเยี่ยม รพ. หล่มสัก และ รพ. ภูกระดึง เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์    ซึ่งผมได้บันทึกความประทับใจไว้ที่นี่    แต่คราวนี้เราใช้เวลา ๒ วัน แทนที่จะเป็น ๓ วันอย่างคราวที่แล้ว    คือระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๕ ส.ค. ๕๒ ห่างจากการเดินทางครั้งที่แล้ว ๖ เดือนพอดี   

          หลังจากไปชื่นชม รับฟังความฝัน, ความล้มเหลวระหว่างการเดินทางไกลในการทำงานริเริ่มสร้างสรรค์ ความสำเร็จ, ความมุ่งมั่น, และปัญหาที่ได้เผชิญ และกำลังเผชิญ ของ รพช. ที่ถือว่ามีความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ    คือ รพ. ด่านซ้าย  จ. เลย, รพ. อุบลรัตน์ และ รพ. น้ำพอง  จ. ขอนแก่น   และเดินทางกลับมานอนที่บ้าน ๑ คืน   ผมก็นึกออก ว่า เรื่องบริการสุขภาพปฐมภูมินั้น จะให้ได้ผลจริงต้องเน้นที่การดูแลสุขภาพปฐมภูมิ   ไม่ใช่เน้นที่บริการ    คือเน้นที่ตัวชาวบ้านหรือประชาชนเอง เน้นการรวมตัวกันดูแลสุขภาพ   ซึ่งก็คือระบบสุขภาพชุมชนนั่นเอง   

          ที่จริงระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิมีความสำคัญมาก    และตอนนี้ระบบนี้คือระบบ PCU (Primary Care Unit) ซึ่งนโยบายรัฐบาลให้เป็น รพสต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล)    ชื่อ รพสต. ดูจะเป็นที่ยอมรับกันชัดเจนแล้ว    แต่ยังไม่ชัดเจนนัก ว่า รพสต. ควรมีวิธีทำงานอย่างไร   ซึ่งตัว function จะกำหนดโครงสร้างทางกายภาพ และโครงสร้างกำลังคน    คือ function กำหนด structure


          นี่คือโจทย์วิจัยที่คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รับมาจาก สปสช. และ สวรส. ว่าระบบ PCU ควรเป็นอย่างไร    ควรทำงานอย่างไร ควรจัดระบบโครงสร้างอย่างไร    เรื่องที่ยากและซับซ้อนอย่างนี้ ใช้หมอสมศักดิ์ถูกต้องแล้ว    และหมอสมศักดิ์ก็รู้จักหลอกใช้คนแก่ ให้ไปดูแล้วตีความ    คนแก่มี ๒ คน คือ ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอยกับผม   ศ. ธาดาแก่กว่าผมหลายปี และเป็นครูของผม    แต่เวลาคนมาเห็น เขาคิดว่าผมแก่กว่าทุกที 


          ไหนๆ ก็ไปดูมา ๕ โรงพยาบาลแล้ว    ผมฟันธงเลย ว่า ระบบ PCU ที่ดีคือระบบที่ empower ให้เกิดระบบสุขภาพชุมชน   โดยวิธีทำงานเพื่อ empower นั้นมีได้หลากหลายแบบ   ระบบสาธารณสุขต้องเปิดช่องให้มีการทำงาน empower หลากหลายรูปแบบ   โดยระบบที่ส่วนกลางทำหน้าที่คอย capture SS แล้วสนับสนุนให้มีการนำเอา SS มาทำ SSS   และหนุนให้มีการยกระดับความเข้าใจทั้งระบบบริการปฐมภูมิที่ดี และระบบสุขภาพชุมชนที่ดี   คือระบบบริหารส่วนกลางก็ทำหน้าที่แบบ empower เช่นเดียวกัน   เป็น empowerment ซ้อน empowerment  


          เราต้องไม่มองชุมชนว่าเหมือนกันหมด   ไม่มองผู้ปฏิบัติงานเสมือนเป็นหุ่นยนตร์    แต่มองว่าเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ   และเราต้องการคนที่มีแรงบันดาลใจ มีความฝัน ที่จะทำงานสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะของเพื่อนมนุษย์   หรืออย่างน้อยก็เพื่อนร่วมหมู่บ้าน ร่วมตำบล ร่วมอำเภอ ร่วมจังหวัด หรือร่วมประเทศ   ดังนั้น การสร้างระบบ PCU ที่ดีต้องเริ่มจากการเลือกคนที่มีแรงบันดาลใจมาทำงาน    ถ้าอยากรู้ว่าทำอย่างไร ให้ไปดูที่ รพ. น้ำพอง    และเวลานี้รพ. อุบลรัตน์ก็ทำแนวเดียวกัน   ที่ ๒ รพ. นี้ใช้ เป็นระดับพยาบาลชุมชน    แต่จริงๆ แล้ว ใช้ได้กับทุกวิชาชีพ รวมทั้งแพทย์  

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ ส.ค. ๕๒

        
                                            

 

หมายเลขบันทึก: 288281เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สุดยอด ปรมาจารย์แห่งยุค จริงๆ ที่มองประเด็นออก ตรงกับ ที่ผมบ้าทำงาน และเชื่อ

ก็ทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้เดินคนเดียว มีหลายคนเดิน ตามๆ กัน ในเส้นทาง เพื่อชาติ เพื่อชนเผ่า ที่พึ่งพาตนเอง ชุมชนพึ่งตนเอง ด้วยความรู้ที่ใช้ประโยชนืได้พอดี

หากผู้ใหญ่ เห็นตรง แล้ว เรื่องยาก ไม่มีอนาคต ก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย อนาคตสดใสของชาติ เลยทีเดียว

จากระบบ ฝึกให้ไปเอาของฟรีฟรี ที่ รพ ตาม โฆษณา ไว้

ขอบคุณครับ อจ ไม่ได้หลอกใช้ผู้สูงอายุครับ อยากได้มุมมองที่แตกต่าง เพราะที่ผ่านมา คุยกันอยู่แต่ในหมู่คนคุ้นเคยกับ คำศัพท์ และแนวคิดที่มาจากไม่กี่ โรงเรียน ก็อย่างที่คุณ ศิษย์แพทย์ มอ ว่ามา คนทำงานถ้าได้ยินคนที่ไม่ใช่ขาประจำมาพูด แล้วตอกย้ำ สิ่งที่ทำอยู่ ก็คงจะยิ่งค้นหานวัตกรรมทำให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ

เรียนอ.วิจารณ์

การดำเนินการ บริการปฐมภูมิ อาจมีสองกรอบ

1.หน่วยบริการปฐมภูมิ-สปสช. มีภาระกิจการดำเนินการในเชิง การจัดบริการปฐมภูมิ การจัดการ-ธุรกรรมการเงิน สปสช.อาจจะหวังให้เป็นบริการปฐมภูมิแบบข้อ 2.แต่จะมีได้หรือไม่ จะอยู่ที่คนทำงานว่าเขาเข้าใจบริการปฐมภูมิอย่างไร และสปสช.มีกระวนการที่เหมาะสมหรือไม่

2.บริการปฐมภูมิที่เป็นอุดมการณ์ ความเสมอภาค-เป็นธรรม และยุทธศาสตร์ การมีส่วนร่วมของประชาชน ประสานความร่วมมือ การเน้นเรื่องส่งเสริมป้องกัน การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการทำให้ประชาชนพึ่งตนเอง

ข้อสองคือข้อที่ผมคิดว่าอาจถูกหลงลืมไป และเมื่อมีนโยบายใหม่ๆ ภาระงานสำคัญอาจกลายเป็นการรณรงค์ หรืออาจต้องจมกับภาระกิจทางการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง มากกว่าเรื่องของการพยายามจัดบริการปฐมภูมิตามยุทธศาสตร์และอุดมการณ์

อมร

ผมว่าอมรพูดชัดดี ตอนนี้ปัญหาสำคัญคือทำยังไงให้ระบบการจ่ายเงิน ส่งเสริมปฐมภูมิอย่างที่ควรเป็น ผมพูดไว้ในหลายที่ว่าเคล็ดลับคือใช้ระบบซื้อบริการแบบเปิด (กำหนดเป้ากว้างๆ) ไม่ใช่แบบปิด (แบบ DRG)

องค์ประกอบของระบบบริการปฐมภูมิในปัจจุบันมีหลากหลายแนวคิด แต่ผมคิดว่าไปในทิศทางเดียวกัน แต่แตกต่างกันค่อนข้างมากในเรื่องรายละเอียดว่าเรื่องหนึ่งๆควรทำลึกและละเอียดแค่ใหน ใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำบ้าง ผมยกตัวอย่างเช่นเรื่องการเข้าถึงบริการ หน่วยปฐมภูมิต้องจัดให้ประชาชนในเขตรับผิดชอบได้รับบริการที่ควรได้รับ อย่างมีมาตรฐาน(มาตรฐานเดียวกันกับบริการระดับอื่นในเรื่องเดียวกัน)ถ้าบริการด้วยตัวเองไม่ได้ต้องมองหา และส่งต่อให้ถึงจุดสัมผัสที่จะได้รับบริการ ไม่ใช่ส่งไปลอยๆบนกระดาษส่งต่อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท