ชีวิตที่พอเพียง : ๘๑๗a. ไปเปลี่ยนใจตัวเอง จากบริการสุขภาพปฐมภูมิ สู่ระบบสุขภาพชุมชน (๓) โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย


ตอนที่ ๑ 

 
ตอนที่ ๒

          โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย  จ. เลย มี นพ. ภักดี สืบนุการณ์ หรือหมอจิ๋วเป็นผู้อำนวยการ    ผมมีข้อสังเกตว่าสไตล์การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนของแต่ละโรงพยาบาล (ใน ๓ แห่ง) เป็นไปตามบุคลิกของผู้อำนวยการ    คุณหมอภักดีดูจะเป็นคนที่มีดุลยภาพของสมองสองซีก   ต่างจากหมอทั่วๆ ไปที่ถูกฝึกให้สมองซีกซ้ายเด่น   คุณหมอภักดีจึงเป็นคนที่ให้คุณค่าของธรรมชาติสูงมาก    ชอบขี่จักรยาน  ชอบเที่ยวชมธรรมชาติ  ชอบดนตรี    และเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง   ท่านหลงใหลความงดงามของธรรมชาติที่เป็นภูเขาและลำธาร

          คุณหมอภักดีบรรยายสรุปให้เราฟังว่า พัฒนาการของการทำงานที่ รพ. ด่านซ้ายมี ๔ ช่วง คือ ช่วงที่ ๑ มีลักษณะ centralized   ช่วงที่ ๒ มีลักษณะ decentralized    ช่วงที่ ๓ มีลักษณะเป็น network  มีภาคีเครือข่ายมากมายหลากหลายด้าน มาร่วมให้บริการแก่คนไข้ที่ด่านซ้าย ซึ่งถือว่าอยู่ห่างไกล    คนด่านซ้ายได้รับบริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลากหลายด้านเพราะการมีเครือข่ายนี้    ช่วงที่ ๔ มีลักษณะเป็น eco-systems คือทำงานแบบเรียนรู้และปรับตัวเรื่อยไป อย่างเป็นธรรมชาติ   ซึ่งหมายความว่าปรับตัวไปตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง และปรับตามเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย


          คุณหมอภักดีย้ำแล้วย้ำอีกว่า “เราทำเหมือนที่อื่น” คือไม่พยายามบอกว่าตนเองต่างจากที่อื่น   ไม่ยกตนข่มท่าน ตามที่ผมสรุปไว้ในตอนที่แล้ว


          ส่วนที่เด่นที่สุด แตกต่างที่สุด ในสายตาของผม คือการใช้การวิจัยท้องถิ่น วิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นเครื่องมือปลุกชุมชน ให้รู้จักตนเอง   และช่วยให้ทีมสุขภาพของ รพ. รู้จักชุมชนถึงระดับแก่น ที่คุณหมอภักดีเรียกว่า “เข้าใจท้องถิ่นอย่างคนใน”    ชุมชนที่รู้จักตนเอง จะมีความมั่นใจตนเองสูงขึ้น   และจะมีความมั่นใจที่จะฝันร่วมกัน และมั่นใจที่จะคิดหาวิธีบรรลุสิ่งที่ตนฝันร่วมกัน    ชุมชนจึงกลายเป็นส่วนสำคัญของ eco-systems ของระบบสุขภาวะ อำเภอด่านซ้าย


          โชคดีที่คุณหมอภักดีได้พบและเรียนวิธีวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยทำงานร่วมกับปราชญ์ใหญ่ของเมืองไทย และเป็นปรมาจารย์ด้านประวิติศาสตร์ท้องถิ่น คือ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม   โดยผมเดาว่าท่านอาจารย์ศรีศักรมาป้วนเปี้ยนแถวนี้เพราะด่านซ้ายเป็นชุมชนชายแดน ติดต่อกับประเทศลาว    มีประวัติศาตร์เชื่อมโยงกับลาวหลวงพระบาง    ผมขอชักชวนให้ท่านอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นใน link ข้างบน เพราะให้ความรู้เรื่องหลักการของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างดีเยี่ยม   ท่านที่สนใจพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองด่านซ้ายอ่านได้ที่นี่   เมื่ออ่านแล้วจะได้เห็นว่าหมอและโรงพยาบาลชุมชนสามารถเข้าไปสร้างสุขภาวะของท้องถิ่นอย่างเป็น “คนใน” ได้อย่างไร   ผลงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชิ้นนี้ได้รับรางวัลจาก สกว. และมีการจัดทำสมุดภาพนิทาน และหนังสือ “ผีกับพุทธ : ศาสนาและความเชื่อในสังคมด่านซ้าย  ดุลยภาพทางจิตวิญญาณของชาวบ้านในลุ่มน้ำหมัน” ออกมาเผยแพร่


          ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือการสื่อสารกับภายนอกด้วย อินเทอร์เน็ต และสื่อสารกับชุมชนด้วยวิทยุชุมชน   รพ. ด่านซ้ายเด่นกว่าอีก ๒ รพ. อย่างเห็นได้ชัด   คงจะเป็นเพราะความหลงใหลงานวิทยุชุมชน และการเป็น บล็อกเก้อร์ ของนายสาระแน คุณเดชา สายบุญตั้ง


          คุณหมอภักดีบอกว่า ใน ๓ ปัญหาหลัก คือ “จน เจ็บ โง่” นั้น    รพ. ด่านซ้ายทำเรื่องเจ็บ (เจ็บไข้ได้ป่วย) ได้ดีในระดับที่น่าพอใจ    ส่วนเรื่องโง่ คือเรื่องการเรียนรู้นั้น นอกจากเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยังได้ทำเรื่องการเรียนรู้ของเด็กมากมาย โดยเริ่มต้นที่ลูกๆ ของแกนนำ กลายเป็นโครงการเพาะกล้าตาโขนน้อย ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่ , ,   ด้านที่ยังทำได้น้อย ซึ่งจะต้องเรียนรู้ต่อไป คือเรื่อง จน (ยากจน)    ซึ่งเป็นเรื่องที่ทาง รพ. อุบลรัตน์เก่ง คงจะต้องหาทางไปเรียนรู้


          คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี ส่ง นศพ. มาฝึกงานเวชศาสตร์ชุมชน อย่างต่อเนื่อง    อ่านแผนการเรียนรู้ของ นศพ. เหล่านี้ที่นี่   ซึ่งจะทำให้ได้เข้าใจหลักการสุขภาพชุมชนของ รพ. ด่านซ้ายชัดเจนขึ้น 


          ก่อนจบ ขอบันทึกความประทับใจเรื่องระหัดวิดน้ำพลังน้ำ ลำรางไม้ไผ่ส่งน้ำ และระบบการจัดการน้ำ ที่คุณหมอภักดีฉายให้ดูและอธิบายเพราะผมสนใจ   นี่คือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังไม่ถูกทำลายไป    และจะเป็นภูมิปัญญาสำคัญสำหรับเศรษฐกิจพอเพียง การใช้พลังงานทางเลือก และความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม

วิจารณ์ พานิช
๑๗ ส.ค. ๕๒

นักปั่นจักรยานกับระหัดพลังน้ำ

ระหัดวิดน้ำทำงาน

น้ำไหลลงรางไม้ไผ่ ลงสู่ลำรางส่งน้ำไปยังนา

บทสรุปงานใน ๒๒ ปี

นพ. ภักดี สืบนุการณ์ กำลังบรรยายสรุป

บรรยากาศในห้องประชุม

อีกมุมหนึ่งของห้องประชุม

สรุปกิจกรรมเรียนรู้สำหรับเด็ก เพาะกล้าตาโขนน้อย

ทีมงานที่มาเล่าเรื่องให้คณะไปเยื่ยมชื่นชมฟัง  ขอโปรดได้รับความขอบคุณ

 

หมายเลขบันทึก: 289246เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความรู้แจ้งที่เกิดจากการปฏิบัติจริง ของ คุณหมอ นพ. ภักดี สืบนุการณ์ ขอชื่นชมจริงๆคะ คุณหมอคงไม่ต้องมีพรรค อะไรทั้งนั้น เพราะมีภักดี ดีที่สุดคะ ขอบคุณอาจารย์หมอวิจารณ์ อย่างสูง ที่สร้างประสบการณ์พื้นที่ให้จากการอ่านคะ

ท่าน ผอ.หมอ จิ๋ว ชอบบันทึกภาพ ที่น่าสนใจ ห้องทำงาน ของท่าน อยู่รวมกันครับ มี โต๊ะและคอม นั่งเรียงกันในห้อง น่าสนใจครับ ไม่มีห้องส่วนตัวแยกออกมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท