ชีวิตที่พอเพียง : ๘๙๙. ตามเสด็จทัศนศึกษา สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ๒๕๕๒ (๑) เกาะเกร็ด และบ้านสวนปทุม


 
          นี่คือรายการที่กรรมการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ รอคอย   รายการของปีที่แล้วอ่านได้ที่นี่ ,

          ปีนี้การเดินทางถูกเปลี่ยนกระทันหัน    จากที่วางแผนมากว่าปี ว่าจะลงไปนราธิวาสและหาดใหญ่   มาเป็นไปภาคกลางใกล้ๆ แทน   เพราะทางใต้พายุเข้า ฝนตกและน้ำท่วม   และเวลาก็ต้องหดสั้นลง จากเดิมเริ่มบ่ายวันที่ ๑๓ พ.ย. เป็นเริ่มออกเดินทางเช้าวันที่ ๑๔   และใช้เวลาเพียงวันครึ่ง   แต่กำหนดการก็แน่นมาก   ได้ไปชมกิจการต่างๆ มากมาย

          แม้จะกระทันหัน ทีมจัดการเดินทางก็จัดได้ดี   คือใน  ๑ ๑/๒ วัน จัดไป ๖ ที่   วันที่ ๑๔ พ.ย. เช้าไป ๒ ที่ บ่ายไป ๒ ที่   และวันที่ ๑๕ เช้า ไป ๒ ที่   เราได้ไปเห็นสถานที่น่าสนใจในหลากหลายด้าน   และได้ไปเห็นในมิติหรือสภาพที่ยากจะได้ไปเห็น หากเราไปเอง   ปัญหาที่เราเผชิญคือดินฟ้าอากาศ ที่อากาศร้อนอบอ้าวมาก   แต่ก็โชคดีที่เราไม่โดนฝนเลย   ทั้งๆ ที่ช่วงนั้นในกรุงเทพฝนตก

 

เกาะเกร็ด


          เช้าวันที่ ๑๔ พ.ย. ๕๒ เราไปรวมกันที่โรงแรมโอเรียนเตล   นั่งรถตู้ไปยังวังสระปทุม    แล้วเข้าไปนั่งรอในห้องรับแขก   ก่อนเวลา ๘.๓๐ น. เล็กน้อยสมเด็จพระเทพรัตน์ก็เสด็จมาขึ้นรถ   ซึ่งเป็นรถบัสของทหารบก   ด้วยความสะดวกที่เขาปิดถนนและมีรถตำรวจนำ เพียงไม่ถึง ๒๐ นาทีเราก็มาถึงท่าน้ำปากเกร็ด   มีคนมาเฝ้ารับเสด็จเนืองแน่น   ทางจังหวัดนนทบุรีจัดเรือข้ามฟากถวาย มีทั้งทหารเรือและตำรวจน้ำมาอารักขามากมาย  

          เนื่องจากในคณะมีภรรยาของกรรมการที่เดินไม่สะดวก ๒ คน   และคนอื่นๆ อีกหลายคนก็อายุมาก   ทางสำนักพระราชวังจึงเตรียมรถเข็นไปบริการ   ผมลงเรือลำที่ขนของรวมทั้งรถเข็น   ซึ่งจะไปเทียบท่าหนึ่ง และแม้จะออกทีหลัง ก็ไปถึงก่อน เพื่อเอารถเข็นไปบริการ  

          พอขึ้นไปบนเกาะ ก็มีรายการแสดงวัฒนธรรมขนมมอญหลากหลายชนิด   ขนมที่มีที่นี่แห่งเดียว คือขนมหัวผักกาด กับขนมหันตรา   ขนมหัวผักกาดทำจากหัวผักกาดเค็ม   เขาบอกว่ากวนด้วยมือถึง ๓ ชั่วโมง   ส่วนขนมหันตราก็คือเม็ดขนุนนั่งเอง แต่โรยหน้าด้วยน้ำค้างไข่ ที่ทำด้วยไข่ขาวผสมน้ำตาลทำให้เป็นเส้นแบบเดียวกันกับฝอยทอง   เราได้ชิมขนมกันถ้วนหน้า

          แล้วจึงไปที่หอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา   มีการแกะลายที่ประณีต และการคิดค้นวิธีเผาที่ทำให้หม้อดินเผามีสีแตกต่างกัน   ช่างคนหนึ่งชื่อคุณธวัชชัย เชื้อเต็ง บอกว่าเพิ่งคิดค้นวิธีเผาให้ได้สีเทาดำเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว   ขายเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นถ้วยมีฝาปิด แกะลายเป็นลายไทย ชุดหนึ่งมี ๙ ชิ้น ราคา ๒๐,๐๐๐ บาท   คุณธวัชชัยกำลังค้นคว้าวิธีเผาให้เครื่องดินเผาชิ้นเดียวกัน มีสีแตกต่างกัน   ผมให้ความเห็นต่อคุณธวัชชัยว่า ให้ขายของที่ทำอย่างสุดฝีมืออย่างนี้ในฐานะศิลปะ ไม่ใช่ในฐานะภาชนะ

          ที่อาคารเดียวกัน ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ ๕   ผมได้ความรู้ว่าชาวมอญอพยพมาอยู่ที่เกาะเกร็ด พ.ศ. ๒๓๑๗ สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช   ชุมชนเกาะเกร็ดใกล้ชิดกับราชวงศ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕   เพราะทรงเสด็จมาทอดกฐินที่วัดมอญทั้ง ๔ วัด   และทรงโปรดให้บูรณะวัดปากอ่าวแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดปรมัยยิกาวาส    ในความหมายว่าเป็นวัดที่สร้างอุทิศถวายยาย   ที่นี่จึงมีของเก่าที่เกี่ยวข้องกับ ร. ๕ เก็บสะสมอยู่    แต่น่าเสียดายที่อยู่ในสภาพรกรุงรังและแคบ   ไม่มีการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สวยงามและให้ความรู้แก่ผู้มาชม   คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ซึ่งตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ครั้งนี้ด้วย   มาปรารภกับผมว่า จะบริจาคเงินสร้างพิพิธภัณฑ์ให้เป็นหลักเป็นฐาน    ซึ่งน่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง 

          ศ. นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร ชี้ให้ผมดูตะเกียงโบราณ ที่เรียกว่าตะเกียงหลอด   ที่มีหลอดแก้วจารึกว่าเป็นของที่ระลึกงานพระบรมศพพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ    และบอกว่า ถ้าใครทำแตกเสียดายแย่   ตะเกียงนี้เก็บไว้รวมๆ กับของอื่นอีกหลายอย่าง โดยไม่มีแผ่นป้ายอธิบายความสำคัญ

          เราเข้าไปกราบพระและชมจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์วัดปรมัยยิกาวาส    ที่โบสถ์อายุ ๑๓๖ ปี   ส่วนภาพเขียนมีการบูรณะในปี ๒๕๔๑ – ๔๗   พอเสร็จก็พอดีน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๔๙   ความชื้นทำให้ภาพหลุดลอกต้องซ่อมใหม่อีก   เราจึงไปพบนั่งร้านสำหรับซ่อมภาพอยู่  

          แล้วเราเดินชมบรรยากาศของชุมชนไปยังโรงงานเครื่องปั้นดินเผา   ซึ่งทำงานแบบโรงงาน   ซึ้อดินมาจากจังหวัดปทุมธานี   เอามาหมักไว้ ๑ คืนก็ผสมกับทราย   มีเครื่องผสมและนวดออกมาเป็นก้อน   แล้วนวดกับน้ำอีก ออกมาเป็นก้อนขนาดพอเหมาะที่จะปั้นขึ้นรูปเป็นภาชนะที่ต้องการ   เมื่อแห้งแล้วจึงนำไปเผา 

          ตัวเตาเผาเป็นแบบจีน ขนาดใหญ่มาก ใช้การเผาฟืนเป็นแหล่งความร้อน   เขามีป้ายเขียนรูปและคำอธิบายไว้ให้   น่าจะถือได้ว่าเป็นเตาเผาโบราณที่ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน 

 

บ้านสวนปทุม

          เป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา    ตรงกันข้ามกับวัดบางพังที่ผมไปเที่ยวบ่อยๆ   และองค์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ก็ทรงบรรยายเล่าว่าทางวัดมีการกระจายเสียงสร้างมลภาวะทางเสียงมายังวังของพระองค์ท่านด้วย  

          เมื่อไปถึงทรงนำพวกเราไปยังเรือนกระจกปลูกต้นมะเดื่อ (fig) ที่ทรงรวบรวมมาจากทั่วโลกถึง ๔๕ สายพันธุ์   เป็นเรือนกระจกขนาดใหญ่มาก สูงกว่า ๑๐ เมตร  ยาวประมาณ ๕๐ เมตร    มีเครื่องฉีดละอองน้ำออกมาจากหลังคา เพื่อให้ความชื้น   นอกจากนั้นที่พื้นดินโคนต้น ยังคลุมด้วยแผ่นพลาสติกเพื่อป้องกันความชื้นระเหย

          ก่อนจะเข้าไปในเรือนกระจก เขามีผลมะเดื่อวางไว้ในจานให้หยิบชิม   มีทั้งชนิดสดและชนิดแห้ง   เมื่อกินชนิดแห้งผมก็จำได้ทันทีว่าเคยกินเมื่อหลายเดือนมาแล้ว   โดยเพื่อนของลูกสาวซื้อมาฝากจากญี่ปุ่น 

          เมื่อเข้าไปในแปลง   ท่านผู้นำชมบอกว่าลูกที่สุกแล้วปลิดชิมได้   ผมจึงช่วยปลิดให้แขกชาวต่างประเทศ และสุดท้ายให้แก่ตัวเอง ๑ ลูก   ท่านอธิการบดี ศ. นพ. ปิยะสกล บอกว่า ราคาลูกละ ๒๕ บาท 

          บ้านสวนปทุมเริ่มสร้างปี ๒๕๓๔ เวลานี้มี พระตำหนัก และอาคารพิพิธภัณฑ์ ๖ อาคาร    เราไปรับประทานอาหารเที่ยงที่พระตำหนัก   แล้วทรงบรรยายเรื่องบ้านสวนปทุมย่อๆ   ว่าเวลานี้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ ที่มีการจัดหมวดหมู่และแสดงรายละเอียดของสิ่งของไว้อย่างเป็นระบบ   ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที   แล้วเดินทางต่อ

          สาวน้อยเขาไม่ได้ร่วมโต๊ะเสวย    เขาเลยโชคดีได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ ๒ อาคาร    บอกว่าของสวยมาก 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ พ.ย. ๕๒

เรือพระที่นั่งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา

เห็นเจดีย์มอญวัดปรมัยยิกาวาสเด่นเป็นสง่า

ขนมหันตรา

 

ขนมผักกาด

เครื่องปั้นดินเผาต่างสี

ภายในพิพิธภัณฑ์ ร. ๕ รกอย่างนี้

 ภายในโบสถ์วัดปรมัยยิกาวาส

 

ภาพฝาผนังโบสถ์

 

บานประตูหน้าต่างโบสถ์อันงดงาม

 

บรรยากาศภายในโรงงานปั้นหม้อ

 

ผลมะเดื่อสดและแห้ง

 

ภายในเรือนกระจกปลูกต้นมะเดื่อ

 

ผลมะเดื่อ

 

 สิ่งของในพิพิธภัณฑ์บ้านสวนปทุม

 

เครื่องเซรามิกส์ในพิพิธภัณ์บ้านสวนปทุม

หมายเลขบันทึก: 319158เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2009 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ สำหรับข้อมูล ทำให้รู้จักขนมหันตรา ส่วนผลมะเดื่อผลละ 25 บาท อยากเห็นรูปค่ะ  ดิฉันรู้จักแต่มะเดื่อผลเล็ก ๆ สีเขียว ผลเป็นช่อ ที่ทางใต้ใช้จิ้มน้ำพริก

ท่านคะถ้าจะไปเที่ยวเกาะเกร็ดฟดูไหนจะสดวกที่สุดช่วยแนะนำด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • ศิริวรรณประทับใจอย่างยิ่งในคำกล่าวที่ว่า...ขายของที่ทำอย่างสุดฝีมืออย่างนี้ในฐานะศิลปะ ไม่ใช่ในฐานะภาชนะ ...ทำให้หวนคิดถึงงานของตัวเองที่จะต้องทำอย่างสุดฝีมือ
  • เพิ่งจะทราบว่าผลฟิกก็คือผลมะเดื่อ เคยชิมของนำเข้าจากยุโรป ได้รับฟังคำโฆษณาว่าดีเลิศหลายประการ สำหรับผลมะเดื่อในบ้านเราก็เคยทานกับขนมจีนที่ภูเก็ต/พังงา ชอบมากค่ะ แต่คนละรส บ้านเราทานเป็นผัก ของเขาเป็นผลไม้ แล้วก็ยังเจอผลโทงเทงบ้านเรา มีขายในร้านโครงการหลวง(ผลใหญ่กว่า)ในชื่อที่ต่างกัน(จำไม่ได้ค่ะว่าใช้ชื่อว่าอะไร) เห็นแล้วอยากหามาปลูกไว้ในโรงเรียน ก็บังเอิญว่าไปเจอที่ข้างถนนแต่ไม่รู้จะย้ายต้นไปได้อย่างไร(เจออยู่ต้นเดียว ย้ายดีก็รอด ย้ายไม่ดีก็สูญไปเลย)

ขอบคุณมากค่ะสำหรับความรู้ที่ได้รับจากท่าน

ศิริวรรณค่ะ

ขอบคุณค่ะที่ได้รับการแบ่งปันความรู้..เป็นที่น่าเที่ยวอีกแห่งหนึ่งนะคะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท