ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๓๓. โอกาสสร้างสายงานวิชาการรับใช้สังคมไทย


ผมจึงเสนอให้ กกอ./สกอ. ดำเนินการสร้างระบบอุดมศึกษาให้ใกล้ชิดสังคมไทย ไม่ใช่เหินห่างสังคมอย่างที่เป็นมานานกว่า ๓๐ ปีจนปัจจุบัน โดยต้องมีกุศโลบาย/incentive ให้อาจารย์นักศึกษา อยากทำงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมไทย และเครื่องมือนั้นคือ สายงานวิชาการรับใช้สังคมไทย ที่มีการยอมรับ มีเกณฑ์คุณภาพ ของผลงานวิชาการที่เผยแพร่เป็นภาษาไทย และวัดที่ผลกระทบต่อสังคม (social impact) เป็นหลัก


          ผมใฝ่ฝันมากว่า ๑๐ ปี ที่จะให้มีสายงานวิชาการรับใช้สังคมไทย ที่อาจเรียกว่า สาย Social Impact   คู่กับสายงานวิชาการนานาชาติ หรือสาย Impact Factor   ดังเคยเขียนไว้ที่นี่ ที่นี่ และที่นี่   เวลาเสนอแนวคิดในที่ต่างๆ ก็มีคนเห็นด้วยหมด   แต่ไม่มีคนลงมือดำเนินการให้เกิด   เพราะเป็นเรื่องยาก

          วันที่ ๑ ก.ค. ๕๓ ในการประชุม กกอ. มีวาระเรื่อง การนำพลังทางปัญญาพาชาติพ้นวิกฤต เข้าหารือเพื่อหาทางดำเนินการ   ผมจึงเสนอให้ กกอ./สกอ. ดำเนินการสร้างระบบอุดมศึกษาให้ใกล้ชิดสังคมไทย   ไม่ใช่เหินห่างสังคมอย่างที่เป็นมานานกว่า ๓๐ ปีจนปัจจุบัน   โดยต้องมีกุศโลบาย/incentive ให้อาจารย์นักศึกษา   อยากทำงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมไทย   และเครื่องมือนั้นคือ สายงานวิชาการรับใช้สังคมไทย   ที่มีการยอมรับ มีเกณฑ์คุณภาพ ของผลงานวิชาการที่เผยแพร่เป็นภาษาไทย   และวัดที่ผลกระทบต่อสังคม (social impact) เป็นหลัก   ให้มีสายวิชาการที่ขึ้นสู่ตำแหน่ง ผศ., รศ., ศ., ศ. ๑๑ ด้วยผลงานสายนี้ได้  

          คือให้ผลงานวิชาการมี ๒ สาย  คือสาย impact factor ที่มีอยู่แล้ว   กับสาย social impact ที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่   ให้มีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี และมีผลดีต่อสังคม 

          ที่ประชุม กกอ. รับหลักการ   โดยฝ่าย สกอ. จะไปดำเนินการต่อไป   โดยอาจต้องตั้งคณะทำงานขึ้นพัฒนาวิชาการสาย social impact นี้

          วันที่ ๒ ก.ค. ๕๓ ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันคลังสมองของชาติ รศ. ดร. สมพร อิศวิลานันท์ รายงานเรื่องโครงการวิจัย ๒ เรื่องที่ได้รับทุนจาก สกว. คือ

   การเฝ้ามองนโยบายเกษตรไทย  ซึ่งทำเป็นชุดโครงการ  ให้นักวิจัยจากสถาบันต่างๆ เสนอโครงการเข้ามา   รวมทั้งมีการจัดเวทีสังเคราะห์นโยบายเสนอต่อผู้กำกับนโยบายและสาธารณชน   ซึ่งผมมองว่า output ของผลการวิจัยนี้มี ๓ ประการคือ (๑) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย  (๒) การสร้างนักวิจัยด้านวิเคราห์สังเคราะห์และเสนอแนะนโยบาย  (๓) องค์ความรู้ด้านการจัดการเกี่ยวกับงานนโยบายสาธารณะ


•   การเสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรด้านการประเมินผลกระทบจากงานวิจัย : กรณีงานวิจัยด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร   เป็นการสร้างศาสตร์ (คู่มือ) ด้านการประเมินผลกระทบจากงานวิจัย   และสร้างนักประเมินผลกระทบจากงานวิจัย

          เมื่อเห็นเรื่องที่ ๒ ผมดีใจดังได้แก้ว   รีบเสนอต่อที่ประชุมว่า ขอเสนอให้ รศ. ดร. สมพร ช่วยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสร้างสายงานวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย หรือสาย social impact ด้านการเกษตร   โดยทำงานมาจากโครงการที่ ๒

          วิธีทำงาน คือ ตรวจสอบรายงานผลการวิจัยในวารสารวิชาการไทยที่ได้รับการยอมรับจาก สกอ.   เลือกที่ถือว่ามี social impact สูงมาก สมควรได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพสูงตามแนวทางของผลงานวิชาการสาย social impact   ที่เอามาขอตำแหน่งวิชาการได้   แล้วดำเนินการตีความจากผลงานเหล่านั้น   ตั้งเป็นเกณฑ์ของผลงานวิชาการสาย social impact ว่าควรมีเกณฑ์พิจารณาอย่างไรบ้าง   ในการทำงานนี้ ควรจัดทีมมาช่วยกันทำ   โดยผมขอปวารณาตัวเป็นที่ปรึกษา    และควรเชิญ ศ. ดร. ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ แห่ง TCI มาร่วมด้วย

          ผมหวังว่า หากมีการดำเนินการเช่นนี้ ในช่วงแรกๆ อาจมีความไม่แม่นยำอยู่บ้าง   แต่เมื่อเรียนรู้และปรับปรุงไปเรื่อยๆ ระบบนี้จะลงตัว มีความแม่นยำในการตีคุณค่า คุณภาพ และยกย่อง ผลงานวิชาการสาย social impact

          ผมเคยท้อใจ ว่าผมคงจะตายไปก่อน โดยไม่ได้เห็นประเทศไทยมีการสร้างสรรค์สายวิชาการรับใช้สังคมไทย   บัดนี้ความหวังของผมลุกโพลง

 

วิจารณ์ พานิช
๓ ก.ค. ๕๓
            

หมายเลขบันทึก: 374219เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อนุโทนากับท่านอาจารย์ครับ ฟังแล้วรู้สึกดีมากๆครับ

ขอให้งานทุกอย่างของอาจารย์สำเร็จลุล่วงด้วยดี ขอให้กำลังใจค่ะ

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

"ผมเคยท้อใจ ว่าผมคงจะตายไปก่อน โดยไม่ได้เห็นประเทศไทยมีการสร้างสรรค์สายวิชาการรับใช้สังคมไทย   บัดนี้ความหวังของผมลุกโพลง" กระผมได้อ่านบันทึกของท่านอาจารย์หมอ กระผมตีความตามความเข้าใจกระผมเอง ก็รู้สึกเคารพในหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของท่านอาจารย์หมอครับผม หัวใจที่อยากเห็นสังคมที่นำทางด้วย ปัญญา วิชชา ที่ถูกต้อง เหมาะสม มีอย่างหลากหลายในสังคม เห็นสังคมที่สุดโต่งแล้วเสียดาย แรง ทรัพยากรและเวลาครับผม เราเทไปอยู่กับของแห้งๆ แบบแนววาดวิมาน ผลจากโครงสร้างในเชิงระบบ ก็ยังลากจูงสังคมไปเรื่อย หรือว่าต้องออกจากเอกสารมาทำเองจึงจะซึ้งครับผม กระผมจะทำรอระบบมาเชื่อมต่อล่วงหน้าไปก่อน กระผมสัมผัสแล้วว่า ผลงานแบบนี้ สัมผัสได้จริง เย็นใจกว่าเยอะ วิชาการสายนานาชาติก็จำเป็นนะครับผม  แต่ต้องบอกว่า ชีวิต สังคมคนจำเป็นต้องอยู่ได้ก่อน นี่ทรัพยากร สังคมจะอยู่ไม่ได้แล้ว หากเฉยเมยไม่มาร่วมสร้างก่อน ที่ผ่านมา กระผมเสียดายเวลาชีวิตอยู่แต่ถือว่าซื้อ วิชาชิวิต หรือ ปริญญาชีวิตไป เพราะความไม่รู้ เพราะก็อยู่กับของแห้งๆ และแยกส่วนมาแสนนานแล้ว ตอนนี้ขอเป็นมือเล็กมือน้อย ร่วมแก้ไขปัญหา ที่เป็นความเร่งด่วนของสังคมครับผม  ส่วนระบบการศึกษานั้นกระผมไม่ทราบเหตุและปัจจัยที่เกิดขึ้น แต่ที่คาดเดาได้คือว่า  "อวิชชา มิจฉาทิฐิ และอุปาทาน"    ต้องเกาะเกี่ยวอย่างแน่นแฟ้นแน่ๆครับผม เดาไว้เช่นนั้นครับผม

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

เรียน อาจารย์หมอวิจารณ์ครับ

อาจารย์ครับ ขอสนับสนุนและให้กำลังใจอาจารย์ กกอ และ สกอ
ให้ทำงานนี้สำเร็จด้วยครับ
สายวิชาการ ๒ สาย สายงานวิชาการนานาชาติ (impact factor)
และสายงานวิชาการรับใช้สังคมไทย (social impact) นั้น
ผมนึกถึงคำของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
ที่เคยวิพากษ์การศึกษาของไทยเราว่า "เป็นแบบหมาหางด้วน" ครับ
และท่านได้เสนอโรงเรียนต่อหางสุนัข เพื่อสร้างคนให้ "เก่ง" และ "ดี"
http://gotoknow.org/blog/pobbuddha/359033

อุปมาสาย impact factor เปรียบเสมือนสาย "เก่ง"
ส่วนสาย social impact ก็เปรียบเสมือนสาย "ดี"

สิ่งที่ท่านอาจารย์นำเสนอ กกอ สกอ ในครั้งนี้
ผมคิดว่าจะเป็นคุณูปการอันมีประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศชาติครับ
เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้นักวิชาการไทยเป็นทั้ง "คนเก่ง" และ "คนดี" ในคนเดียวกัน

 

 

 

มหาวิทยาลัย..ต้องการให้สร้างบัณฑิตให้เป็นคนอย่างไร
อาจารย์จะต้องพยายามทำตัวให้เป็นคนอย่างนั้นเสียก่อน
ดังที่นักปราชญ์ กล่าวไว้ว่า " ไม่มีใคร สามารถให้ในสิ่งที่ตนไม่มีได้ "

ถ้าอาจารย์มีจิตอาสา มีจิตสำนึกสาธารณะ เสียสละ
มีส่วนทำผลงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคม เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกศิษย์
นอกจากอาจารย์จะนำไปขอตำแหน่ง เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการได้แล้ว
สิ่งที่จะได้มากกว่านั้นคือ ความปิติ ความภาคภูมิใจในการเป็นแบบอย่างให้แก่ศิษย์

หวังว่า...บัณฑิตที่มหาวิทยาลัยผลิตออกไปสู่สังคม (ส่วนใหญ่)
ก็จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีจิตอาสา มีจิตสำนึกสาธารณะ
และคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
นั่นคือเราจะมี "มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม" และ "ครูเพื่อสังคม"
ในที่สุด...สังคมไทย ก็จะเป็น สังคมอุดมปัญญา ที่สงบ และศานติสุข...


ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ

ด้วยความเคารพ

วัชรชัย

ขอเป็นกำลังใจอีกหนึ่งแรงผลักดันครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท