ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๗๓. จินตนาการทักษะครูเพื่อศิษย์ ๗. PLC สู่ TTLC หรือ ชร.คศ.


การมี ชร.คศ. เกิดจากความเชื่อว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ นั้น เป็นการเรียนรู้ที่ซับซ้อน ไม่มีใครสอนเป็น วิชาครูที่สอนต่อๆ กันมา ๔๐ – ๕๐ ปี นั้นล้าสมัยไปเรียบร้อยแล้ว เพราะเป็นการเรียนรู้ในสังคมอุตสาหกรรม ไม่ใช่การเรียนรู้ในยุคความรู้ หรือยุคความรู้ระเบิด หรือยุค ICT และสมองเด็กในสมัยนี้ไม่เหมือนสมองเด็กในยุค ๒๐ ปีก่อน ที่การสอนแนวยุคอุตสาหกรรมได้ผล การสอนแบบนั้นไม่ได้ผลต่อเด็กที่มีสมองยุคความรู้ ไม่ได้ผลต่อเป้าหมายเด็กให้เกิดการเรียนรู้แบบซับซ้อน เลยเรียนรู้วิชา ไปสู่การเรียนรู้ 21st Century Skills

 
          PLC ย่อมาจาก Professional Learning Community   ซึ่งก็หมายถึงชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) วิชาชีพครูนั่นเอง   ในที่นี้ผมขอเรียกว่า ชุมชนครูเพื่อศิษย์   ซึ่งก็คือการรวมตัวกัน ลปรร. การทำหน้าที่ครูเพื่อศิษย์นั่นเอง 

          ต่างประเทศเขาเรียก PLC เราอาจเรียก TLC ก็ได้ โดยย่อมาจาก Teacher Learning Community หรืออาจใช้ TTLC (Thailand Teacher Learning Community)  ในภาคไทยคือ ชร.คศ. (ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์)   โดยเราต้องแปลงยุทธศาสตร์การดำเนินการให้เข้ากับบริบทไทย

          ครูเพื่อศิษย์แต่ละคนควรเข้าเป็นสมาชิก ๓ ชุมชน   คือชุมชนในโรงเรียนของตน  ชุมชนในเขตการศึกษา หรือในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนของตนเอง   และชุมชนเฉพาะกลุ่มสาขาวิชา หรือเฉพาะศาสตร์ หรือเฉพาะเป้าหมายการเรียนรู้ของศิษย์ ในประเทศไทย    ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าครูเพื่อศิษย์แต่ละคนจะต้องเป็นสมาชิกชุมชนใดบ้าง   เป็นอิสระตามความพอใจของครูเพื่อศิษย์แต่ละคน

          การมี ชร.คศ. เกิดจากความเชื่อว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ นั้น เป็นการเรียนรู้ที่ซับซ้อน ไม่มีใครสอนเป็น   วิชาครูที่สอนต่อๆ กันมา ๔๐ – ๕๐ ปี นั้นล้าสมัยไปเรียบร้อยแล้ว   เพราะเป็นการเรียนรู้ในสังคมอุตสาหกรรม   ไม่ใช่การเรียนรู้ในยุคความรู้ หรือยุคความรู้ระเบิด หรือยุค ICT   และสมองเด็กในสมัยนี้ไม่เหมือนสมองเด็กในยุค ๒๐ ปีก่อน ที่การสอนแนวยุคอุตสาหกรรมได้ผล   การสอนแบบนั้นไม่ได้ผลต่อเด็กที่มีสมองยุคความรู้   ไม่ได้ผลต่อเป้าหมายเด็กให้เกิดการเรียนรู้แบบซับซ้อน เลยเรียนรู้วิชา ไปสู่การเรียนรู้ 21st Century Skills

          ครูเพื่อศิษย์จึงต้องออกแบบการเรียนรู้ของศิษย์ของตน   โดยศึกษาหลักการจากตัวอย่างที่มีในประเทศไทยและในต่างประเทศ   ดังตัวอย่างในหนังสือครูเพื่อศิษย์  ครูเพื่อศิษย์ เติมหัวใจให้การศึกษา   บนเส้นทางครูเพื่อศิษย์   และ มีปัญญายิ่งกว่าฉลาด เป็นต้น 

          ย้ำว่าครูต้องใช้เวลาออกแบบการเรียนรู้ของศิษย์   และควรจับกลุ่มกันออกแบบและเรียนรู้จากการออกแบบการเรียนรู้นั้น นี่คือกิจกรรมสำคัญของ ชร.คศ.

          อย่างน้อย ๒ ใน ๓ ของเวลาเรียนของศิษย์ ควรเรียนแบบ PBL (Project-Based Learning)  เพื่อเรียนรู้ทั้งสาระวิชาและเรียนรู้ทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ ไปพร้อมๆ กัน   และเป็นการเรียนรู้แบบลงมือทำ เป็น student-based learning   ไม่ใช่ teacher-based teaching   ซึ่งฝืนใจครูชะมัด   เนื่องจากครูคุ้นเคยกับการทำหน้าที่สอน  บัดนี้ ในศตวรรษที่ ๒๑ ครูต้องไม่เน้นทำหน้าที่สอน เปลี่ยนมาเน้นทำหน้าที่กระตุ้นและส่งเสริม (facilitate) การเรียนรู้ของศิษย์   และคอยตรวจสอบว่าศิษย์เรียนรู้ได้จริงหรือไม่   ศิษย์แต่ละคนเรียนรู้ได้ต่างกันอย่างไร

          การเรียนรู้ส่วนใหญ่ของศิษย์จะทำกันเป็นทีม มักเป็นทีม ๔ คน เพื่อให้เด็กลงมือปฏิบัติร่วมกัน ปรึกษากัน โต้แย้งกัน ร่วมมือกัน และหัดแก้ไขความเห็นที่แตกต่างหรือไม่ตรงกัน ไปสู่การตัดสินใจร่วมกันว่าจะเดินต่ออย่างไร   นี่คือการเรียนรู้ทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑  

          เมื่อดำเนินการได้ผลอย่างไรแล้วทีมเรียนรู้ของเด็กจะเตรียมนำเสนอต่อชั้นเรียน  ทำให้เด็กได้แบ่งงานกันทำ หรือผลัดกันทำ  นี่ก็เป็นอีกการฝึกหนึ่งสำหรับเรียนรู้ทักษะเพื่อศตวรรษที่ ๒๑ – ทักษะการสื่อสาร

          สภาพเช่นนี้ ครูส่วนใหญ่ไม่คุ้น และไม่แน่ใจว่าศิษย์ได้เรียนรู้สาระวิชาครบถ้วนหรือไม่   จึงต้องมีการออกแบบแล้วออกแบบเล่า หรือปรับปรุงรูปแบบของการเรียนรู้หรือของ PBL อยู่ตลอดเวลา   ครูต้องทำงานหนักขึ้น   แต่ครูเพื่อศิษย์จะสนุกขึ้น เป็นการทำงานที่มีชีวิตชีวา   เพราะมีเพื่อนร่วมทาง ใน ชร.คศ.

          สมาชิกของ ชร.คศ. ในโรงเรียนเดียวกันน่าจะพบปะหารือกันทุกวัน   เพื่อขอความเห็นหรือคำแนะนำซึ่งกันและกัน   เพราะครูที่เป็นสมาชิกของ ชร.คศ. จะเป็นผู้ที่มีความรู้มาก ในส่วนของความรู้จากการปฏิบัติ (practical knowledge หรือ phronesis)   แต่ถึงจะมากอย่างไรก็ยังไม่เพียงพอ   ต้อง ลปรร. กับเพื่อนสมาชิก ชร.คศ.   เพื่อลับความรู้นั้นให้คมขึ้น ชัดขึ้น ลึกขึ้น และกว้างขวางเชื่อมโยงยิ่งขึ้น   ให้นำไปใช้งานได้ดียิ่งขึ้น   วิธีคุยกันน่าจะเป็นการเล่าวิธีออกแบบการเรียนรู้ และตีความจากเหตุการณ์การเรียนรู้ของศิษย์ที่เกิดขึ้นจริง   ว่าการออกแบบและจัดอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้นั้นๆ สอนอะไรแก่ครูบ้าง

          สมาชิก ชร.คศ. ที่อยู่ห่างไกลกันก็อาจ ลปรร. ผ่าน ICT ซึ่งที่ง่ายที่สุดคือโทรศัพท์คุยถามไถ่กัน  แต่ในยุคนี้ครูทุกคนน่าจะต้องใช้อินเทอร์เน็ตเป็น   และ ลปรร. กันผ่านอินเทอร์เน็ต

          สิ่งที่สมาชิกของ ชร.คศ. ต้องมี คือทักษะในการเรียนรู้ต่อยอดความรู้จากการปฏิบัติ ที่เรียกว่าการจัดการความรู้   ชร.คศ. ต้องใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือทำให้เกิดการ ลปรร. ที่ทรงพลัง   เกิดการขับเคลื่อนขบวนการครูเพื่อศิษย์เต็มทั้งแผ่นดิน

          มสส. (มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้พูดคุยกัน ในการร่วมมือกันเริ่ม ชร.คศ. ขยายตัวจากครูเพื่อศิษย์ที่มีอยู่แล้ว   กิจกรรมนี่จะเริ่มในปี ๒๕๕๔ โดยเริ่มเล็กๆ ไปก่อนตามทรัพยากรที่มีจำกัด   เราหวังว่าต่อไปจะมีภาคีเข้ามาร่วมสนับสนุนมากขึ้น

          โดยหวังว่า ชร.คศ. จะเป็นจุดเชื่อมระหว่าง ความรู้ปฏิบัติ ที่ครูทุกคนมีอยู่แล้ว กับความรู้ทฤษฎี ที่กำลังก่อตัวในรูปของ 21st Century Skills   นำไปสู่ผลประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของศิษย์ ให้ได้เรียนรู้งอกงาม ทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑  

 

วิจารณ์ พานิช
๕ ธ.ค. ๕๓
วันเฉลิมพระชนม์พรรษา
                                              

หมายเลขบันทึก: 422918เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2011 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากค่ะสำหรับของขวัญปีใหม่ ๒๕๕๔ ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง..หนังสือ "ครูเพื่อศิษย์"..และคำอวยพรที่ประทับใจซึ่งดิฉันจะได้น้อมนำไปปฏิบัติค่ะ..

 

              

 

              

อ้อ ชอบที่อาจารย์บอกว่า ครูเพื่อศิษย์ ที่เป็นสมาชิก CoP 2-3 ชุมชนค่ะ (เช่น  ชุมชนในโรงเรียนของตน  ชุมชนในเขตการศึกษา หรือในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนของตนเอง)  น่าจะพอมีอยู่แล้วในพื้นที่   ถ้าออกไปหาแล้วชวนมาร่วมก่อตัวขึ้นแล้วค่อยๆ ขยายเครือข่ายคงจะดีมากนะคะ     

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท