KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 176. บันทึกอย่างไรให้ความรู้ฝังลึกออกมา


เขียนออกมาจากที่เราเห็น จากที่เราตีความ จากที่เราปะติดปะต่อ หรือจากลางสังหรณ์ (sixth sense) โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหรือผิด

         นี่คือทักษะขั้นสูงยิ่งนะครับ     ผมไม่มีความเชี่ยวชาญหรอกครับ     ที่เอามาลงบันทึกนี้ก็เพื่อเชิญชวนให้ "คอ KM" ทั้งหลาย นำเอาประสบการณ์  เทคนิค เคล็ดลับ ของแต่ละท่าน     เอามาแลกเปลี่ยนกัน     เป็นการชวนกันระดมความคิด

        โดยผมจะเริ่มต้นให้นิดหน่อย

        เริ่มต้นของการบันทึก ผมจะบอกตัวเองว่าให้เขียนออกมาจากที่เราเห็น จากที่เราตีความ จากที่เราปะติดปะต่อ หรือจากลางสังหรณ์ (sixth sense) โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหรือผิด     โดยตอนที่เขียนก็บอกไว้ตรงไหนสักแห่ง ว่าไม่รับรองว่าที่เขียนนี้จะถูกต้อง นี่คือขั้นตอนของการสร้างใจที่เป็นอิสระให้แก่ตัวเอง

        อิสระจากความกังวลต่อความถูก-ผิด ยังไม่พอ     ต้องอิสระจากทฤษฎีและตำราทั้งปวงด้วย     ดังนั้นผมจะ "เผาตำรา" ทิ้งหมด     เป็นการเผาทิ้งจากสมอง จากใจ นะครับ    ไม่ได้เผาจริงๆ     ผมรักหนังสือออกจะตายไป     ภรรยาเคยถามว่ารักตำรามากกว่าเขาใช่ไหม    ทุกคนคงรู้คำตอบนะครับว่าผมตอบอย่างไร     ผมยังสงสัยไม่หายว่าการตอบโดยสัญชาตญาณแบบนี้ของผมมันเป็นมุสาวาทหรือเปล่า    

       อ้าว!  คุยกันเรื่องการบันทึกความรู้ฝังลึกอยู่ดีๆ     เลี้ยวเข้าซอยไปหาความรักฝังลึกเสียแล้ว     นี่แสดงว่าความคิดของผมมันไม่มีอิสระจริง     มันถูกพันธนาการด้วยความรักฝังลึก (ห้ามอ้วก)      ขอกลับมาเข้าเรื่องใหม่นะครับ

       ที่ว่า "เผาตำรา" หมายความว่า อย่าไปนึกถึงมัน     อย่าไปเปิดดู     ให้นึกถึงเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแทน     เอาชีวิตจริงแทนตำรา หรือบดบังตำราให้หมด     ในขณะที่เขียนบันทึกเพื่อปลดปล่อยความรู้ฝังลึกออกมา  

       ขณะเขียน ผมจะใช้ "ยุทธการปอกหัวหอม" ครับ     ผมได้แนวคิดนี้มาจากหนังสือ Birth of the Chaordic Age แต่งโดย Dee Hock ครับ     คือผมจะบอกตัวเองว่าไอ้เจ้าความรู้ฝังลึกนี่มันอยู่ลึกเข้าไปเป็นชั้นๆ เหมือนหัวหอมนะ     แรกๆ เขียนเราก็จะเขียนส่วนที่อยู่ชั้นนอกออกมา     พอจิตนิ่ง  และมองเห็นภาพ (อดีต) ที่เกิดขึ้นจริงในกิจกรรมแจ่มชัด   เราก็จะเริ่มเห็นความรู้ฝังลึกส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปเป็นชั้นที่ ๒  - ๓ - - -  ลึกเข้าไปได้เรื่อยๆ      บางครั้งเรานึกถึงความรู้ชั้นลึกๆ ได้รางๆ เท่านั้น  ไม่ชัดเจน     ตั้งท่าจะเขียนก็ไม่กล้าเขียน เพราะมันยังไม่ชัด     ในกรณีเช่นนี้ผมเคยพบด้วยตัวเองว่า ให้เขียนทั้งๆ ที่นึกได้ไม่ชัด     แล้วบางครั้งจะมี "เทวดามาช่วยเขียน" คือเราจะเขียนออกมาได้แบบไม่ได้ใช้การคิดแบบปกติธรรมดา      

        ถ้าเรากล้าเขียน ทั้งๆ ที่เรานึกได้ไม่ชัด     บางทีประเด็นที่เราเขียนมันช่วยนำไปสู่ประเด็นใหม่     ที่เดิมเราก็นึกไม่ถึง

       เรื่องของการบันทึกความรู้ฝังลึก นั้น     สำหรับผม มันเป็น "มหัศจรรย์แห่งจิต"     เป็นมหัศจรรย์แห่งความเป็นมนุษย์     เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น

        แต่สำหรับบันทึกนี้ สิ้นไส้สิ้นพุงแล้วครับ     ขอเชิญนักบันทึกความรู้ฝังลึกทั้งหลาย     ช่วยกันแลกเปลี่ยนเทคนิค วิธีการบันทึก ความรู้ฝังลึกครับ

วิจารณ์ พานิช
๒๓ กย. ๔๙   

หมายเลขบันทึก: 53504เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2006 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ดิฉันเองไม่ใช่นักบันทึกความรู้ฝังลึก....แถมพยายามเขียนแล้วเขียนอีกหลายบันทึกก็ไม่น่าอ่าน....ยอมรับว่ามันยากมากค่ะแต่ใจที่ไปแล้วคือ....ใฝ่จะเรียนรู้....เห็นความหอมหวานหากเราทำสำเร็จ...ชนะใจตนเอง....ค้นหาแนวของตัวเอง....
ทุกครั้งที่ดิฉันเขียน ดิฉันจะเริ่มต้นที่....
1. "จะเขียนบันทึกนี้ให้กลุ่มใครอ่าน"
.......ซึ่งเคยสนทนากับคนเขียน blogที่ ม.อ.....ว่า...นั่นเท่ากับตั้งต้นผิด...."หากจะตั้งต้นว่าเราเขียนเพื่อทบทวนตัวเอง...คุยกลับไปกลับมากับตัวเองแต่อนุญาตให้คนอื่นอ่านด้วย..."
2."อ่านแล้วผู้อ่านจะได้อะไร"....คิดถึงประโยชน์ของผู้อ่านนำ....ซึ่งหากสอดคล้องกับข้อหนึ่งที่เพื่อคุยกับตัวเอง....น่าจะเปลี่ยนเป็นเราได้อะไรจากการการคุยกลับไปกลับมากับตัวเอง..."
     เขียนไปเขียนมาหลายๆ บันทึกมันแย้งกันในใจว่า เราอยากเป็นนักเขียนหรืออยากเป็นนักถ่ายทอด tacit knowledge  หรือนักเล่าเรื่อง....มันเป็นระดับระดับไป
เริ่มจาก .....นักเล่าเรื่อง.......นักเขียน...เพื่ออ่านเพลิน
นักเขียนถ่ายทอด tacit k..... ทั้งหมดไม่ใช่ง่าย....ที่สำคัญคือมีฝันที่จะไปให้ถึง....ขอบคุณค่ะ....

ดิฉันเอง ก็ใช้วิธีการมาแล้ว 2 ระดับ

ช่วงแรกๆ ของการบันทึกคือ การถอดคำบรรยาย ... ด้วยความคิดที่ต้องการเน้น คำพูดของผู้เล่าเรื่อง ซึ่งจะต้องนำมาประมวลอ่านซ้ำให้เข้าใจ ปรับเนื้อหาเรื่องราวให้สอดคล้อง ต่อเนื่อง ประมาณ 2-3 ครั้ง ตอนนี้ก็ยังคงทำ เพราะคิดว่า นั่นคือ การนำความรู้ที่เป็น tacit k. ของผู้เล่ามาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ช่วงหลังๆ ดิฉันจะเพิ่มเติมในเรื่องของการบอกเล่าเรื่องราว ตามอารมณ์ความรู้สึกที่ได้อ่านต่อยอดเรื่องเล่า ของชาว GotoKnow ด้วยความคิดต่อเนื่อง ในเรื่องนั้นๆ ซึ่งก็คิดว่า เป็นการคุยกันเสียมากกว่า ... ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ได้อารมณ์ต่อยอดการทำงานค่ะ

... นี่เป็นพฤติกรรมที่เป็นผู้เรียนรู้ใน GotoKnow ค่ะ ...

ส่วนการบันทึกเรื่องชีวิตประจำวัน และนำมาผูกโยงกับการเรียนรู้ การจัดการชีวิต ดังที่เห็นได้จากชาว GotoKnow มากมายนั้น ยังทำไม่เป็นเลยค่ะ (เช่น พี่เม่ย อ.โอ๋ ดร.กะ-ปุ๋ม และคนอื่นๆ อีกมากมาย) ... เพราะรู้สึกว่า งานราชการฉุดอารมณ์นั้นไปเกือบหมด ถึงบ้านเดี๋ยวนี้ก็ม่อยแล้วละค่ะ อาจารย์ ... อิจฉาความสุนทรีย์ในชีวิตของผู้อื่นค่ะ

 

  • เขียนเหมือนพูดคุยกับเพื่อนที่สนิทที่ "รู้ทาง" กัน จะทำให้ดึงเรื่องที่อยู่ลึกมากออกมาได้ดี (แต่จะมีคุณค่าหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่อง)
  • หากรณีอุปมาที่เทียบเคียงได้กับเรื่องที่จะเขียน เพราะบางทีเขียนไม่ออก การเล่าฉีกออกไปเรื่องอื่น ดูเผิน ๆ เหมือนสะเปะสะปะ แต่หากเรารู้สึกลึก ๆ ในใจว่าเป็นเรื่องคล้ายกัน พอเทียบเคียงกันได้ ก็แสดงว่ามีนมีความรู้ฝังลึกที่เป็นแก่นของมุมมองของเราซ่อนอยู่ หากเขา"จูน" ตรงกับเราได้ เขาเห็นตัวอย่างต่าง ๆ เขาก็จะนึกออกเอง การเล่าจึงต้องเน้นกรณีตัวอย่าง เน้นเล่าเหตุการณ์ เน้นตัวอย่างที่มองเห็นได้ง่าย นึกออกได้ง่าย

 

อาจารย์อธิบายได้ดีเยี่ยมเลยค่ะ เพราะตัวเองก็รู้สึกได้ถึง"มหัศจรรย์แห่งจิต"ที่อาจารย์พูดถึงได้จากการเขียนบันทึกจากความนึกคิด ทั้งระหว่างการงานและต่อเนื่องมาถึงตอนที่เราเล่าอีกที เริ่มด้วยความรู้สึกเพียงแค่ว่า งานนี้เป็นของเรา ความคิดนี้เป็นของเรา เราคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ แล้วก็ลงมือเขียน ส่วนมากบันทึกที่มาแบบสดๆจะเป็นประโยชน์กับตัวเรานะคะ ได้ค้นพบอะไรๆเสมอเมื่อลงมือเขียน ส่วนบันทึกที่เกิดจากการคิดมาแล้วก่อนจึงลงมือเขียน ก็จะเป็นอีกแบบ แต่ก็ได้อะไรกับตัวเองเสมอค่ะ

จึงอยากเชิญชวนให้คนอื่นๆมาค้นพบ "พลังแห่งตนเอง" แบบนี้บ้าง เพื่อเราจะได้เอามาแลกเปลี่ยนกัน เชื่อมั่นว่าทุกคนมีแน่นอนค่ะ เพียงแต่ต้องเขียนอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นเอง

  • บันทึกนี้เขียนอย่างอิสระทางความคิด มีติดตลกนิดๆ...อ่านแล้วขำน้อยๆ
  • "มหัศจรรย์แห่งจิต" และ "ยุทธการปอกหัวหอม" นี่ผมมีประสบการณ์..จะลปรร.ครับ
  • คือจิตเดิมแท้ของเรามันบริสุทธิ์ครับ เป็นจิตที่หยั่งรู้ ทีนี้ตัว "กิเลส" มันจะหุ้มจิตเป็นชั้นๆ ให้หนาขึ้นเรื่อยๆ
  • เมื่อใดที่เราพยายามทำจิตให้บริสุทธิ์ ก็จะมีการ "กะเทาะเปลือกกิเลส" ออกทีละชั้น (แต่ไม่ถึงกับหมดนะครับ)
  • จิตก็จะค่อยๆ สดใส เราจึงเค้นความรู้ฝังลึกออกมาได้
  • ในตอนนั้นจิตจะค่อนข้างเป็นอิสระทางความคิดครับ
  • สุดท้ายบันทึกของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ก็ยังไม่เป็นอิสระทางความคิดเต็มที่ เพราะว่า ยังมีเจ้า "ยุทธการปอกหัวหอม" จากหนังสือ Birth of the Chaordic Age มาเป็นแนวในการเขียนบันทึกนี้..
  • ขอขอบพระคุณครับ

ส่วนตัวแล้ว ดิฉันรู้สึกว่า การอ่านเรื่องเล่าในบล็อกที่แฝงไปด้วยประสบการณ์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติของผู้เขียนนั้น น่าอ่าน และ จดจำง่าย จนตอนนี้เวลาดิฉันจับงานบทความวิชาการขึ้นมาอ่านทีไร ก็จะเริ่มรู้สึกเบื่อค่ะ :)

  • การเขียนแบบนี้เรารู้สึกว่าเราเขียนให้กับคนที่ไม่ใช่ญาติแต่ก็เหมือนญาติ คนที่เรารู้จักมักคุ้น พี่ๆ และเพื่อนๆ ได้อ่านจึงทำให้เรารู้สึกเป็นอิสระทำให้สามารถเล่าได้อย่างไม่มีข้อจำกัดค่ะ (แต่ตัวเองยังทำได้ไม่ดี  พยายามอยู่เสมอค่ะ)  แล้วอีกอย่างเรา นั่งเขียนอยู่คนเดียว  ไม่ต้องรับรู้ว่าผู้อ่านอ่านแล้วจะนั่งอมยิ้มคนเดียว  หรือหัวเราะกันคิกคักในความน่ารักเสียงดังขนาดไหน (อย่างเช่นบันทึกนี้)
  • ชอบบันทึกของอาจารย์หมอเกือบทุกบันทึกที่ได้อ่าน  แต่บันทึกนี้หนูขออนุญาตเอ่ยปากจากใจว่า  "หนูชอบจริงๆ เลยค่ะ"

 

  • ขอชอบบันทึกนี้มาก ๆ ของท่าน อ.วิจารณ์ ด้วยคนนะคะ พอได้อ่านแล้ว ก็ยังหัวเราะอยู่คนเดียวเลยค่ะ
  • จะดึง "ความรู้ฝังลึก" ออกมาได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ประสบการณ์มากน้อยของแต่ละคนด้วยค่ะ....แต่ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคการถ่ายทอดด้วยเช่นกัน
  • ตัวเองใช้วิธีพิมพ์เรื่องแล้ว ลองอ่านกลับไป-กลับมา ถ้ายังไม่เห็นว่าบันทึกของเราให้ความรู้ และวิธีการปฏิบัติที่กระจ่างสักเท่าไร ก็กลับไปเพิ่มเติมอีก ... และถ่ายทอดโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ค่ะ
  • ยังเป็นมือใหม่อยู่น่ะค่ะ...กำลังฝึกฝนอยู่...เพราะมีใจรักในการ ลปรร. ค่ะ แนวทางของทุกท่านด้านบน จะขอนำไปพัฒนาตัวเองค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ
  • นาน ๆ จะเห็นบันทึกของท่านอาจารย์ฯ มีข้อคิดเห็นมาก  ทั้งที่ผมเข้าใจว่าทุกๆ บันทึกของอาจารย์ฯ มีคนอ่านมากเสมอ
  • พยายามจะคิดและทำอย่างที่อาจารย์แนะนำครับ "เริ่มต้นของการบันทึก บอกตัวเองว่าให้เขียนออกมาจากที่เราเห็น จากที่เราตีความ จากที่เราปะติดปะต่อ หรือจาก ลางสังหรณ์ (sixth sense) โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหรือผิด"
          จริงๆผมรู้จักอาจารย์แต่ทางบล็อก ไม่เคยเจอตัวจริงและ F2F กับอาจารย์มาก่อน วันนี้ผมรู้สึกได้ว่าอาจารย์น่าจะเป็นคนโรแมนติก(ไม่มากก็น้อย)...อาจมองผิดก็ไม่แน่ใจ           วันนี้ได้อ่านบล็อกอาจารย์แล้วยิ้มครับ
          เรื่องการ share การเขียนบล็อก ผมไม่ค่อยมีครับ เพราะละอ่อนอยู่ครับ

   เท่าที่ผมทำมา พบว่าบันทึกที่ตัวเองเขียนแล้วพอใจ มักจะมาจากแรงบันดาลใจที่อยากจะช่วยใครบางคน หรือหลายคนให้ได้ใช้ประโยชน์จากตัวความรู้ชนิด Tacit ที่เรามี  เขียนแบบไม่ต้องระมัดระวังอะไรมาก  มีอยู่ 2 เรื่องที่กำกับอยู่ก็คือ  ความมุ่งหวังที่เรามีอย่างชัดเจน  และการบอกสิ่งที่เป็นความจริงจากการปฏิบัติของเรา ไม่ใช่อ้างจากตำราหรือใครที่ไหน

ขอให้ตัวอย่างเพิ่มเติมหน่อยครับ เช่น

คิดถึงบันทึกนี้ของอาจารย์ที่ชอบมากๆอยากให้เวียนมาให้หลายๆท่านที่ยังไม่เคยอ่านได้อ่านด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท