ผิดไหมที่จะ Copy


ในยุคเว็บ 2.0 ผู้คนมีส่วนร่วมและสามารถเป็นหนึ่งเดียวกับเทคโนโลยี มันถึงยุคที่สื่อมืออาชีพจะต้องทำงานหนักกว่าที่เคย

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้เผอิญไปหยิบหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ในที่ทำงานเพื่อนมาพลิกอ่าน เพราะเห็นปกเกี่ยวกับเรื่อง trend 3.0 เค้าก็คุยถึงเรื่องมือถือ เรื่องเว็บ แต่พออ่านถึงหน้า 2 ก็คุ้นๆ เหมือนเคยเห็นเนื้อหานี้ที่ไหนมาก่อน แล้วอ่านไปจนจบคอลัมน์ อืมมม... เค้าพิมพ์ไว้ว่าเอามาจากบล็อก How do u think? ผมก็สงสัยว่าแล้วเค้ามาติดต่อของลิขสิทธิ์จากผมตั้งแต่เมื่อไรเนี่ย ถ้าบอกกันสักหน่อย ผมจะได้ไปซื้อเก็บไว้ได้ทัน และบางทีก็จะช่วยเกลาเนื้อหาที่มันเก่าๆ ให้ทันสมัยด้วย เลยเป็นที่มาของการค้นคว้าและเนื้อหาที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ครับ

ลิขสิทธิ์ (copyright) เป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์ที่เรียกว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" (intellectual property) ที่ใช้ในการคุ้มครองผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ งานเขียน บทประพันธ์ รวมไปจนกระทั่งถึงซอฟต์แวร์และเว็บไซต์ ซึ่งตามกฎหมายจะได้รับการคุ้มครองทันทีหลังผลงานนั้นๆ ได้ถูกเปิดเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยไม่ต้องไปแจ้งหรือจดทะเบียนแต่อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผมเขียนบล็อกเสร็จและ publish ให้ผู้คนได้อ่านกัน เนื้อหาการเรียบเรียงนั้นๆ ถือเป็นลิขสิทธ์ถูกต้องของผมตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 อ้อ... ยังไงขอออกตัวก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้เรียนกฎหมายโดยตรง ถ้าหยิบตัวบทกฎหมายมาอ้างอิงผิดอย่างไร รบกวนผู้รู้ช่วยแก้ไขให้ด้วยเพื่อประโยชน์ของผู้อ่านท่านๆ อื่นๆ ต่อไปครับ ดังนั้นเมื่อเป็นผลงานของผม ผมมีสิทธิ์ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นนำไปดัดแปลง แก้ไข ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ และหากมีผู้ละเมิด ผมมีทางเลือกสองทางคือ นิ่งๆ ไว้ หรือ แจ้งตำรวจให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งก็ต้องผ่านกระบวนการที่ยุ่งยากและใช้เวลานานมากกว่าจะมีคนถูกหรือคนผิด คำถามจึงมาอยู่ที่ว่าคุ้มไหมที่จะทำเช่นนั้น มันก็จะนำไปสู่เรื่องการตีมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญานั้นๆ ต่อไป

บางคนคิดว่าของบนอินเทอร์เน็ตทุกอย่างเป็นของฟรี เพราะไม่มีต้นทุน (cost) อันนั้นไม่จริงครับ เรื่องจริงมีอยู่ว่าผลงานทุกอย่างในอินเทอร์เน็ต ต้องลงทุน ลงแรงในการทำ แท่นพิมพ์กูเต็นเบอร์กทำให้ต้นทุนในการทำหนังสือต่ำลง ทำให้ผู้คนมีหนังสืออ่านกันมากขึ้น อินเทอร์เน็ตก็เช่นกันทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลต่ำลง และทำให้ผู้คนสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น มันทำให้กำแพง (barrier) ในการเข้าสู่วงการซอฟต์แวร์ลดลง ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น นักพัฒนาทุกคนมีเวทีให้นำเสนอผลงานของตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างเป็นของฟรีนะครับ ฝรั่งจะสอนให้เราจ่าย ไม่ว่าจะด้วยเงิน หรือความพึงพอใจ เพราะบางคนทำบางสิ่งบางอย่างไม่ได้เพราะอยากได้เงิน แต่เพราะอยากทำ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผมอยากเน้นว่า ทุกอย่างมีค่า มี cost และต้องได้รับผลตอบแทนเป็น return อย่างหนึ่งอย่างใดกลับ นั้นคือความจริงที่ผมเชื่อ ส่วนความจริงๆ นั้นจะเป็นเช่นไร ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะเชื่ออย่างไร

ในวงการซอฟต์แวร์ สิทธิ์ (right) จะถูกผูกอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า สัญญาอนุญาต (license) ซึ่งคงจะคุ้นเคยกันหากเป็น Commercialware เค้าจะขาย license เป็น per use/user บ้าง per server บ้างหรือบางทีก็เป็น per CPU แล้วแต่การคำนวณต้นทุนกำไรของแต่ละเจ้า ส่วน Open source จะมอบสิทธิ์การใช้งานและการเผยแพร่ให้แก่ผู้ใช้ตามสัญญาอนุญาต เช่น GPL, LGPL, BSD, MPL เป็นต้น ซึ่งมันก็เป็นที่มาของคำพูดกวนๆ ว่า copyleft ที่หมายถึง เจ้าของผลงานให้สิทธิ์ทุกคนนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหากทำอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางประการที่เจ้าของได้กำหนดไว้ ดังนั้น Copyright คือ All rights reserved ในขณะที่ Copyleft คือ Some rights reserved ครับ

ตัวอย่างของ copyleft ที่น่าสนใจตัวหนึ่งซึ่งเราคงจะเคยเห็นและใช้กันอยู่บนอินเทอร์เน็ตคือ creative commons license หรือ cc ที่เป็นสัญญาอนุญาตที่มีให้เลือกถึง 6 ประเภท โดยการผสมกันของพื้นฐาน 4 แบบ ดังต่อไปนี้
attibution (BY) อนุญาตให้เผยแพร่ได้ โดยต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาหรือเจ้าของงาน
noncomercial (NC) ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ทางการค้า หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจ
no derivative works (ND) ไม่อนุญาตให้แก้ไข เปลี่ยนแปลงต่อเติมใดๆ ทั้งสิ้น
share alike (SA) งานที่นำไปใช้ ต้องให้สิทธิอนุญาตแบบเดียวกันกับต้นฉบับ


ที่มารูปภาพจาก http://cc.in.th/wiki/spectrum-of-rights

จริงๆ พักนี้นั่งทำ Dissertation Proposal อยู่ พออ่าน Paper เยอะๆ จะรู้สึกขอบคุณมากๆ เลย เวลาที่เจ้าของ Paper บอกแหล่งที่มาที่ชัดเจน ว่าเค้าได้ความรู้นั้นๆ มาจากไหน จะทำให้เราสามารถตามไปอ่านต่อ และได้ทราบมุมมองความเป็นไปของแต่ละเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่ อย่างบทความนี้ผมได้ข้อมูลมาจากสไลด์ประกอบการบรรยายของ รศ.ดร. วิศณุ ทรัพย์สมพล(2007),"การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา" และ Isriya Paireepairit(2006), "Intellectual Property" พอดีผมไม่มีสิทธิ์ในการเผยแพร่ ถ้าอยากทราบเพิ่มเติมก็ลอง search ดูกันเองแล้วกันนะครับ

ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดคือเรื่องของสิทธิ์ (rights) ลิขสิทธิ์ copyright และ copyleft แต่นอกเหนือจากนี้ ทรัพย์สินทางปัญญา ยังมี
- เครื่องหมายการค้า (Trademarks)
- สิทธิบัตร (Patent)
- ความลับทางการค้า (Trade secret)
- เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication)
- และอื่นๆ

มีกฎหมาย(ไทย)ที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น
- ประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์
- พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
- พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
- พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545
- พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542

แต่สุดท้ายมันจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเราละเลยไม่ปฏิบัติกัน กฏคือไม่มีกฏ ในยุคเว็บ 2.0 ผู้คนมีส่วนร่วมและสามารถเป็นหนึ่งเดียวกับเทคโนโลยี มันถึงยุคที่สื่อมืออาชีพจะต้องทำงานหนักกว่าที่เคย เพราะคนธรรมดาสามารถเคาะคีย์บอร์ดแล้วมีชื่อเสียงโด่งดังได้ บางคนถ่ายคลิปวีดีโอเพื่อเอามันส์ในหมู่เพื่อนๆ แต่กลับดังระดับโลก ในขณะเดียวกันก็มีบางคนที่พิมพ์ความคิดเห็นส่วนตัวแล้วสามารถทำลายความเชื่อถือล่มยักษ์ใหญ่ในวงการเว็บลงได้เหมือนกัน อินเทอร์เน็ตคือสื่อ เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโลกเข้าหากัน มันอยู่ที่ว่าเราจะเอาไปใช้ยังไง แล้วคุณหละคิดอย่างไร How do u think?

 

หมายเลขบันทึก: 180578เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2008 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อืมม.... สื่อมวลชน "รายนั้น" อีกแล้วครับ

น่าเศร้าที่ปัจจุบันนี้สื่อพลเมืองอย่างพวกเราไม่มีโอกาสในการโต้แย้งความผิดถูกกับเขาได้เลยครับ

หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในวงการสื่อของไทยอาจต้องรอคนข้างในที่ทนทำงานอยู่ตัดสินใจเป็นอิสระจากการนายทุนครับ เมื่อไหร่เกิดกระแสว่าสื่อมืออาชีพที่อดทนทำงานอยู่ภายใต้คำสั่งของนายทุนแยกตัวออกมาเป็นอิสระ เมื่อนั้นเราจะได้เห็นสื่อพลเมืองก้าวมามีบทบาทต้านทานอำนาจสื่อมวลชนดังเช่นในต่างประเทศครับ

เห็นด้วยครับ บางครั้งผลงานที่ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญานั้น กว่าจะได้มาเลือดตาแทบกระเด็น ดังนั้นใครก็ตามถือสิทธิ์แอบอ้างผลงานนั้น น่าเกลียดและไม่น่าอภัย

แต่มองเหรียญอีกด้าน (ผมชอบ 2 แง่ 2 ง่าม เอ้ย มองสองด้าน...)

คือ มองจากคนทำหากเปิดใจทำเพื่อเผยแพร่เป็นวิชาการ วิทยาทาน เป็นเทียนเล่มที่ 1 เพื่อให้เทียนเล่มที่ 2 จุดต่อกันไป ก็จะเต็มไปด้วยแสงสว่างแห่งความรู้ เฉกเช่นวิทยาการมากมายที่ในอดีตสืบทอด พัฒนา มาถึงยุคเรา หากคนโบราณคิดเก็บความรู้นั้นไว้ วันหนึ่งมันจะหายสาบสูญไปตลอดกาล เฉกเช่น สูตรลับเฉพาะตระกูล

บางครั้งการยิ่งเปิด ยิ่งให้ ยิ่งไม่ถือตัวกูของกู ก็ยิ่งได้รับนะครับ :D

กรรมเป็นของสัตว์โลก ผู้ใดก่อกรรมเช่นใดไว้ จะได้เช่นนั้น (มาจบที่ธรรมมะได้ไง :D

คุณ Suksom ครับ
Copyright -> Copy, Is it right? -> Copy ถูกต้องไหม -> ผิดไหมที่จะ Copy ^_^ ถูกต้องแล้วครับมันเป็นที่มาของชื่อเรื่องนี่นี้เอง

-----------
ขอบคุณอาจารย์คุณพ่อน้องต้นไม้ครับ
ผมมองอีกมุมนะครับ ผมอยากให้คนเราดี ดีที่ตัวบุคคลแต่ละคน (individual) ครับ เพราะถ้าแต่ละหน่วยในสังคมรู้และตระหนักถึงสิ่งที่ถูกที่ผิด อะไรควรหรือไม่ควรทำ มันจะรวมตัวกันกลายเป็นสังคมที่ดีเองครับ

ยกตัวอย่าง gotoknow ตอนนี้มี blogger ดีๆ ในเว็บเยอะเลย แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดมีใครสักคนเขียนอะไรไม่ดีๆ ทำให้คนอื่นเสียหาย ผมจะไม่โทษ gotoknow ว่าเป็นหน่วยงานหรือเป็นเว็บที่แย่ครับ แต่อยากจะให้คนๆ นั้นปรับปรุงตัว และให้คนใน gotoknow มีส่วนทำให้คนๆ นั้นพัฒนาขึ้นมามากกว่าครับ

เช่นเดียวกัน ถ้ามืออาชีพเป็นมืออาชีพจริง เค้าจะทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างมืออาชีพ อำนาจเงินทำลายคนจริงไม่ได้หรอกครับ

-----------
คุณ BoeMarket
ขอบคุณสำหรับไอเดียการต่อเทียนครับ อันนี้ work ;)

แถมครับ อายุลิขสิทธิ์ คือ 50 ปีหลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตครับ

ส่วน pd คือ public domain นั้นหมายถึงการเปิดให้สาธารณะไปใช้ประโยชน์ได้อย่างอิสระครับ หรืออาจจะเรียกว่า ใช้ลิขสิทธิ์แบบไม่ป้องกันสิทธิ์เหมือนการให้ต่อเทียนที่คุณ BoeMarket ว่าก็ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท