เรื่องเล่าจากเตาเผาศพ (ชมรมนักปั่นสัญจรครั้งที่ 3)


“คนเราก็เท่านี้ ตายแล้วก็เป็นเถ้า”

ต่อจากบันทึก

ชมรมนักปั่นสัญจรครั้งที่ ๓ : โง่อย่างเดียวไม่พอต้อง “บ้า” ด้วย...

 

ขอโอกาสถอดบทเรียนจากในเตาเผาศพเจ้าค่ะ

 

วันนี้ได้โอกาสทำบุญใหญ่ จากการที่ได้รับโอกาสในการเป็นธุระให้ พี่ Ka-Poom ครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าแล้ว ช่วงเวลาว่าง จากการรอผล Lab  ท่านสุญญตาเมตตา ข้าพเจ้าและพี่น้อย ได้มีโอกาสทำความสะอาดเตาเผา

ก่อนทำข้าพเจ้าคาดหวังอะไรหรือไม่

                อืม ไม่เลยเจ้าค่ะ ตั้งใจเพียงว่ามีสิ่งใดทดแทนพระคุณท่านได้ จะตั้งใจทำอย่างไม่รีรอ ตอนแรกท่านพาเดินมาที่เมรุ ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร รู้แต่ว่าต้องทำ และเชื่อว่าทำได้ด้วยเจ้าค่ะ พอท่านสุญญตาเปิดกระจกด้านหน้า ก็ยังไม่ทราบอีกว่าอะไร เพราะเปิดกระจกออกมาก็เจอแผ่นหินอ่อน รู้สึกงง ๆ เอ ทำไมตรงนี้ต้องมีกระจก

แต่ไม่นาน หินอ่อน ค่อย ๆ เลื่อนตัวขึ้นด้านบน ก็พอจะเข้าใจว่าต้องทำเช่นใด

พี่น้อยคว้าอุปกรณ์เป็นเหล็กด้ามยาว ๆ ดังรูป ค่อย ๆ กวาด ดูแล้วพิจารณากันว่า แบบนี้ ท่าทางจะกวาดได้เพียงชิ้นส่วนใหญ่ ๆ พอมองเข้าไป เห็นกระดูกที่ยังเป็นรูปร่างชัดเจน

 

ขอยืมรูปจากบันทึก ชมรมนักปั่นสัญจรครั้งที่ ๓ : โง่อย่างเดียวไม่พอต้อง “บ้า” ด้วย... ของท่านสุญญตาเจ้าค่ะ

 

 

                หนูยังคงความโง่ ไม่มีความคิดเจ้าค่ะ  

รู้เพียงว่าทำอย่างไร จึงจะสะอาด  เชื่อว่าทำได้ ทำยังไงก็ได้ ทำวิธีไหนก็ได้ ให้สะอาดพร้อมใช้งาน อุปกรณ์ถูกเลือกสรรตามเหมาะสม จึงปรึกษากัน สรุปได้ไม้กวาดดูสภาพแล้วถูกใช้งานมานาน แต่ก็ยังใช้การได้อยู่ กับลังกล่องนม UHT

 

                ข้าพเจ้าจึงขอโอกาสอาสาปีนเข้าไปเพื่อทำความสะอาด ค่อย ๆ ปัด ค่อย ๆ กวาด ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

เห็นกระดูกขาว ๆ ก็ยังโง่เจ้าค่ะ เพราะมันก็เป็นกระดูก ไม่ได้คิดต่อ.........ใจสบาย ๆ เจ้าค่ะ

 

ได้ยินเสียงคนงานที่ท่านสุญญตาสนทนา ก็ได้รอยยิ้ม

เนื้อความประมาณว่าสนใจไหม สนใจเข้าไปบ้างไหม

แล้วมีเสียงตอบมาว่า “ไม่ค่ะ ขอเข้าที่เดียวเลย”

“.....................”

 

ขอยืมรูปจากบันทึก ชมรมนักปั่นสัญจรครั้งที่ ๓ : โง่อย่างเดียวไม่พอต้อง “บ้า” ด้วย... ของท่านสุญญตาเจ้าค่ะ

 

ตอนนั้นรู้แต่ว่าตั้งใจทำหน้าที่ อย่างเต็มที่ หลังจากกวาดกระดูกและเถ้าลงช่องได้เรียบร้อย

หันกลับมามอง เห็นชิ้นส่วนของไม้กวาดที่อายุมาก สละชิ้นส่วนกระจายอยู่พอสมควร

จึงค่อย ๆ กวาดอุปกรณ์ที่เสียสละตน เพื่อการทำความสะอาดนี้ลงไปรวมในช่องเถ้ากระดูก

สำรวจความเรียบร้อย จึงค่อย ๆ ไต่ลงมา  ใจมันเบา ๆ

 

                พอเสร็จจากด้านบน มาดูต่อที่หลังเตา ถาดรองด้านล่าง อืม ผลักถาดไม่สนิท อาจจะต้องโกยใหม่ แต่ก็ในพื้นที่ ๆ แคบลง ครานี้พี่น้อย สุภาพบุรุษผู้จิตใจงาม อาสา นั่งคุกเข่า ใช้กล่องกระดาษลัง กวาดเถ้ากระดูกที่เหลือพร้อมกับรำพึงว่า

 

“คนเราก็เท่านี้ ตายแล้วก็เป็นเถ้า”

อืมเห็นภาพจริง ๆ

เพราะในกะบะ เต็มไปด้วยชิ้นส่วนของกระดูกสีขาว เป็นชิ้น ๆ แทบจะแยกไม่ออกว่าส่วนไหนเป็นส่วนไหน พร้อม ๆ กับ ขี้เถ้าและชิ้นส่วนของไม้กวาดที่ร่วงหลุดออกจากด้ามตามอายุการใช้งาน หลังจากนั้น จึงค่อย ๆ ช่วยกัน เก็บเถ้าที่เหลือให้เรียบร้อย

 

            ได้เรียนรู้ว่า ตายแล้วก็เหลือแค่นี้  เก็บเองก็ไม่ได้ ต้องให้ผู้อื่นช่วยอีกที เหมือนได้ภาพประทับลงในใจ เพื่อระลึกถึงความตายได้ชัดขึ้นเจ้าค่ะ ซึ้งใจพี่น้อย ๆ มาก ๆ ที่เมตตา และยัง มาช่วยทำภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้

                กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ ที่เมตตาให้โอกาส อันทรงคุณค่านี้

 

แต่หากหนูทำสิ่งใดไม่เหมาะ ไม่สมควร ขอใช้โอกาสนี้ในการกราบขอขมานะเจ้าค่ะ

ขอบพระคุณอีกครั้งที่ให้ทำบุญใหญ่ สุดยอด ๆ เจ้าค่ะ

หมายเลขบันทึก: 305670เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

พี่ขอบคุณทีติ้ว เป็นอย่างยิ่งที่ช่วยเป็นกายเป็นแรงให้นะ

ไม่ได้เป็นเพียงแค่กายและแรงเท่านั้น...หากแต่เป็น "ใจ" ใจที่ทุ่มเทในการทำภารกิจนี้

ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตน่ะนะ ดีเสมอ...ไม่มีสิ่งใดไม่ดี...

ทุกอย่าง คือ โอกาสแห่งการเรียนรู้...อย่าเพิ่งไปให้ค่าและราคาว่าดีหรือไม่ดี หากแต่เรียนรู้ไปก่อน การเรียนรู้นั้นน่ะ มีสิ่งที่ดีดีปรากฏขึ้นเกิดขึ้นเสมอ การเรียนรู้ในระบบเป็นเพียงอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่นำพาให้เราก้าวไปสู่การเรียนรู้ภายในเท่านั้นเอง...

หาตัวเองให้เจอ คืน ความเป็นชีวิตให้กับตัวเอง...

ก้าวไปในเส้นทางอันงดงาม อันประเสริฐ อันเป็นแสงสว่างส่องนำพาให้ชีวิตได้มองเห็นความเป็นไปได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือชั่ว ขอให้น้อมรับด้วยใจเบาเบา ใจที่เปิดออกพร้อมรับอย่างเต็มหัวจิตหัวใจเรา แล้วนั่นน่ะเราจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่เริ่มเข้าสู่การพัฒนาในตนเอง...

ไปต้องไปวิ่งไปหา...คอร์สการพัฒนาที่ไหน...

เพียงแค่กลับมาตัวเรา น้อมจิตน้อมใจกลับมาตัวเอง เรียนรู้ตัวเรา อ่านตัวเราให้มาก ให้ใคร่ครวญ...อ่านด้วยใจที่เป็นกลางติดตามเรื่องราวของบุคคลที่ชื่อ ทีติ้ว...นี้ไว้...เท่านั้นเอง แล้วเราจะพบว่าทุกเรื่องราว ทุกเหตุการณ์ ทั้งสิ้นทั้งปวงนั้นดีเสมอ

แล้วน้อมลง...

ใช้เรื่องแห่ง "การละความเห็นแก่ตัว เสยสละให้มาก ทำเพื่อสรรพสิ่งต่างๆ ให้มาก"... พร้อมหายใจเข้าสบาย และหายใจออกสบาย ฝึกฝนตนไปเพรงเท่านี้แหละ...แล้วเราจะได้พบสิ่งต่างๆ มากมายในชีวิตนะ...

ความเสียสละน่ะ ไม่ได้หมายเพียงแค่การกระทำนะ...

หากแต่...เป็นการเริ่มต้นนับตั้งแต่การเสียสละออกจากใจนั่นแหละ...

ใจที่สละออกจากอารมณ์ที่อยาได้อยากดี และอารมณ์ที่มักอยากปฏิเสธที่เราไม่ชอบใจไม่พอใจ... อดทนให้มาก ตั้งใจให้มาก อดทนและตั้งใจทำสิ่งแต่ๆ อันเป็นความละความเห็นแก่ตัว ทำเพื่อผู้อื่น อย่าทำเพื่อตนเอง... ทำด้วยลมหายใจที่มี การทำด้วยลมหายใจนั่นน่ะทำให้เรามีสตินะ เมื่อสติมีถึงที่ถึงเวลา เราจะมีปัญญาที่นำพามาสู่การแก้ไขและนำพาเราไปได้ในทางที่ถูกที่งดงาม...

ตั้งใจ - ศรัทธา... อดทน และมีสตินะ...

 

สาธุ สาธุ เจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณ คุณครู

เพราะท่านเมตตาหนูจึงมีวันนี้เจ้าค่ะ

(^___^)

ดีมาก ดีมาก

กำลังจะเข้ามาบอกให้มาเขียนไว้เป็นบันทึกสักหน่อย แต่ก็ไม่ทันเพราะท่าน "ปั่น" เร็วกว่า...

อย่างที่เรามานี้เขาเรียกว่า "โง่อย่างถูกที่ ถูกเวลา..."

เวลาที่สมควรโง่ก็โง่ เวลาที่เข้าไปในเตาเผาศพนั้นก็ต้องโง่อย่างนี้แหละ

เห็นไหมมีคนฉลาดนั่งดูข้างนอกอยู่สองคน (คนงานไง) เขาฉลาดอย่างไร...?

เขาฉลาดที่คิดโน่น คิดนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คิดกลัว" คิดกลัวกับสิ่งที่ไม่ได้มีอะไร ไม่ได้เป็นอะไรเลย...

ความคิดมันมาหลอกเราทั้งนั้น คนฉลาดมากก็คิดมาก คิดมากก็กลัวมากอยู่อย่างนั้น

ความคิดต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งปิดกั้นโอกาสในการกระทำของเราหลาย ๆ อย่าง

ก็เพราะว่าเรามัวแต่นั่งคิด คิด คิด คิด แล้วก็คิด

คิดได้ก็ทำ คิดไม่ได้ก็ไม่ทำ

คนโง่อย่างพวกเรานั้นต้องรู้ว่าสิ่งใดควรคิด สิ่งใดไม่ควรคิดอย่างนี้แหละถูกต้องแล้ว

การมีโอกาสทำความดีนั้น ไม่ต้องเสียเวลาคิด

ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าชายหนุ่มชื่อน้อยนั้น กลับไปนั่งคิดเสียใจที่ "คิดนาน" ปล่อยให้ "ใบไม้ร้องเพลง" กระโดดเข้าไปใน "เตาเผาศพ" ก่อนหรือเปล่า...

นี่เองเขาเรียกว่า "เสียเวลาคิด" เสียโอกาสที่จะ "ทำความดี"

คนที่ไม่ได้คิดอะไร เขาจะทำอะไรเขาก็ "ทำไปเลย"

ส่วนคนคิดมากต้องคิดให้ดีก่อน

อย่างเช่นครั้งนี้มีคนเดียวที่มี "โอกาส" จะได้เข้าไป

คนไม่คิดเข้าก่อน คนที่คิดอยู่ คิดได้ก็เข้าไปไม่ทันแล้ว...

ยุคสมัยนี้จะเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยของ Econony of Speed... ก็ได้ คือ "ใครเร็ว ใครได้"

ใครทำอะไรเร็วกว่าคนนั้นมี "โอกาส" ก่อน...

คนคิดมาก คิดโน่น คิดนี่ อาจจะคิดดีแต่ "ช้า..."

ยุคสมัยก่อนเป็นยุคสมัยของ Economy of Scale ทำอะไรมาก ๆ เยอะ ๆ แล้วถูก แล้วดี แต่ยุคสมัย "จรวด" นี้ ไม่ทัน "กาล..."

สิ่งนี้นั้นเองคือข้อได้เปรียบของ "คนโง่" คือ จะคว้าโอกาสดี ๆ ได้ "เร็ว" กว่าคนฉลาดเพราะไม่ต้องเสียเวลา "คิด" มาก

คนฉลาดมากยิ่งมี "ข้อมูล" มาก

การมีข้อมูลมากนั้นทำให้การตัดสินใจนั้น "ช้า"

สื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษานั้นทำให้เรารู้มากแล้ว "คิดมาก"

แต่ระบบการศึกษานั้นไม่ได้ทำให้เราใช้ความรู้ที่มีมากนั้นมาทำให้ชีวิตนี้ "ดี" ขึ้นเลยในแง่ของ "โอกาส..."

โอกาสของคนเรียนมาก รู้มากนั้นมักสูญหายไปกับ "อัตตา" และ "ตัวตน"

หยิ่ง ผยอง ลำพองอยู่ว่าตนเองรู้มากกว่าคนอื่น พอคนอื่นพูดอะไร บอกอะไร ให้ทำอะไร ก็มัวแต่ "ยะโส" คิดว่า ฉันแน่ ฉันแน่ เรื่องอะไรฉันจะไปทำอย่างนั้น

การปฏิเสธเสียก่อนที่แม้นเพียงจะฟังข้อมูลต่าง ๆ ให้จบนั้นเป็นการเสียโอกาสของชีวิตอย่างใหญ่หลวง

ยิ่งเมืองนอก เมืองนา ยิ่งเป็นกันมากนะ

สัปดาห์ก่อนเจอโยมป้าที่ไปอยู่เมืองนอกเมืองนา จะทำอะไรแต่ละอย่างคิดมากน่าดู เหตุผลเยอะ ไม่เชื่อเรื่อง "นอกเหตุ เหนือผล"

ตอนนี้โยมป้าบินกลับเมืองนอกไปแล้ว วัดก็ไม่ได้ไป ไม่ได้เจอหลวงพ่อฯ ไม่ได้ทอดกฐิน ก็เพราะคิดมาก สังคมเมืองนอกเขาสอนให้ "สนุกสนาน" กลับมาเมืองไทยต้องไป "เยี่ยมญาติ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการ "ทรัพย์สมบัติ"

โยมป้าก็เลยวุ่นวายแต่เรื่องของ "ทรัพยสมบัติ" ตามค่านิยมของเมืองนอกที่ได้รับมา

วุ่นวายติดต่อธุรกิจว่าบ้านหลังนี้ที่ไม่มีใครอยู่จะทำอย่างไร วางแผนโน่น วางแผนนี่ จะปรับปรุง จะหาลูกค้าเมืองนอกมาเช่าอย่างไร ทำไป ทำมา จะชวนไปวัด ไปไหนก็ "ไม่ว่าง" เอาไว้ "โอกาสหน้า..."

ตอนเจอกันครั้งสุดท้ายเราก็เลยบอกโยมป้าว่า โอกาสหน้าก็ว่ากันใหม่ "ชาติหน้า" เลยนะ

แต่นั่นก็เน๊อะ จะว่าท่านก็ไม่ถูก เพราะสังคมที่ท่านอยู่เขามี "ค่านิยม" ประพฤติ ปฏิบัติกันมาอย่างนั้นจนเป็น "ประชาธิปไตย"

ใคร ๆ ที่นั่นเขาก็ทำกันอย่างนี้ ถ้าเกิดจะไปทำอย่างอื่น ไม่ทำตามอย่างเขาก็เป็นคนแปลก "แปลกประหลาด"

การไปอยู่เมืองนอก เมืองนาก็มิใช่ว่าดีเสมอไปนะ

เพราะว่าถ้าหากเราไม่เข้มแข็งพอ เราก็จะไปซึมซับวัฒนธรรมเขาแล้วมา "ทับ" วัฒนธรรมเรา

แต่ถ้าเราเข้มแข็งดีแล้วในระดับหนึ่ง การไปได้รู้ ได้เห็น "สรรพสิ่ง" ในโลกใบนี้ ก็จะทำให้เราได้เห็นเหรียญทั้งสองด้าน

ต้องระวังให้ดี อย่าให้เหรียญด้านนอก มาทับเหรียญด้านใน รู้อะไรต่ออะไรจากภายนอกแล้วก็นำมาทับสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ภายใน คุณธรรมความดีงามที่สังคมไทยเคยมี เคยฝากไว้ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย...

งานที่ทำเมื่อวานนี้มี "อานิสงส์" มากนะ

มรณสติกัมมัฏฐาน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับชีวิตที่ยังดำเนิน "ชีวิต" อยู่ในสังคม

ระลึกถึงความตายให้มาก ชีวิตนี้จะตั้งอยู่บนความ "ไม่ประมาท..."

สาธุเจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณท่านสุญญตาที่เมตตาให้โอกาส

ได้รับรู้ความจริงในชีวิต คนทำงานด้านสุขภาพดูเหมือนไม่กลัวผีเนาะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท