ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

พบครอบครัวG2K: ณ สถานทูตไทยในเดลี


     วันนี้ (๒๔ กุมภาพันธ์ ๕๓) หลังจากเดินทางมาร่วมงาน "มาฆบูชาโลก" และกล่าวสุนทรพจน์ ที่เมืองนาคปูร์ รัฐมหาราช อินเดีย http://gotoknow.org/blog/united-nation-day-of-vesak/338962  และได้ถือโอกาสค้นหา "สัจธรรม" ที่้ถ้ำอัลโลร่า ณ เมืองออลังกบาต http://gotoknow.org/blog/limcu/339558  มาวันนี้ได้ถือโอกาสมาอินเดียครั้งนี้ มาเยี่ยม "ญาติธรรม" ที่ธรรมะได้จัดสรรมาพบกับ "ท่านทูตพลเดช วรฉัตร ณ สถานทูตไทยในกรุงเดลี" ซึ่งทำงานในตำแหน่ง "อัครราชทูต"

     นับตั้งแต่ิวินาทีแรกที่เดินทางมาถึงหาที่พักไม่ได้เพราะบริษัทที่ทำหน้าที่ในการดำเนินการผิดพลาดในการจองที่พัก ท่านทูตได้แสดงความเป็นห่วงโดยการโทรติดต่อหลายครั้งมาก  จนรู้สึกเกรงใจในความปรารถนาดี  เพราะทั้งเรื่องงานและเรื่องที่พัก 

     การเดินทางมาอินเดียครั้งแรกคราวนี้ ถือเป็นความตั้งใจที่จะถือโอกาสพิเศษนี้ มาเยี่ยมครอบครัว G2K เพราะเมื่อเดือนก่อนไปเยี่ยมและให้กำลังใจท่าน ผอ. พรชัย พี่ครูคิม ดร.ขจิต อ.แผ่นเดิน เป็นต้น ที่จังหวัดยโสธรมาก่อน

     นับเป็นโอกาส และบรรยากาศที่โชคดีอย่างยิ่งที่ท่่านทูตพลเดช ได้จัดสรรเวลา เพื่อจะได้มีโอกาสพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนธรรมะ โดยได้นิมนต์ให้ผู้เขียนและ ท่านมหาสุทัศน์ได้เดินทางไปฉันภัตตาหารเพลที่สถานทูตไทย ณ กรุงเดลี ซึ่งเป็นบ้านพักของท่านทูตพลเดชเอง

     ฉันภัตตาหารเพลเสร็จได้สนทนากับท่านทูตพลเดช ภรรยาท่านทูต (เสื้อสีน้ำเงิน)  ภรรยาผู้ช่วยทูตทหารเรือ  (เสื้อแดง) และภรรยานักการทูตประจำอียูที่เดลี (เสื้อสีน้ำตาล) ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ที่อินเดีย  ในการนี้ได้เชิญทุกท่านเข้าร่วมงานวันวิสาขบูชาโลกครั้งที่ ๗ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพเดือนพฤษภาคม

     ในขณะเดียวกัน ได้สนทนากันเกี่ยวกับ "สถานการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย" ประเด็นสำคัญคือ ชาวพุทธในประเทศอินเดียขาดผู้นำที่เป็นพระภิกษุ ที่จะเป็นศูนย์รวมใจในการพัฒนาและประกาศศาสนา  โดยเฉพาะอินเดียตอนกลางตั้งแต่นาคปูร์ไปจนถึงตอนใต้  เนื่องจากพระสงฆ์ไทย หรือชาวพุทธไทยจะสนใจบูรณะและให้ความสำคัญกับ "สังเวชนียสถาน" มากกว่า

    ผู้เขียนมองว่า "น่าจะมีการให้ทุนการศึกษาแก่พระสงฆ์อินเดีย โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่อยู่ในกลุ่มของ Maha Bhodi Society ซึ่งเป็นพระสงฆ์กลุ่มใหญ่ในประเทศอินเดียที่มี ดร.เรวตะ เป็นเลขาธิการใหญ่ เมืื่อพระสงฆ์เหล่านี้ได้เรียนรู้ และเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างชัดแจ้งแล้ว จะได้กลับมานำชาวพุทธในอินเดียศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพราะเท่าที่สังเกต เราเห็นพ้องต้องกันว่า ชาวพุทธในอินเดียจะเน้นพิธีกรรมและการสวด  และไม่ค่อยลงลึกในรายละเอียดของเนื้อหาที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา

     ผู้เขียนได้มอบพระร่วงโรจนะ และหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษให้แก่ท่านทูต  ซึ่งพระพุทธรูปและหนังสือนั้น ผู้เขียนตั้งใจนำมาจากประเทศไทยเพื่อมอบให้แก่ญาติธรรมที่พบกันใน G2K  ซึ่งท่านทูตบอกว่าเป็น "ธรรมะจัดสรร"

ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันครอบครัว และญาติธรรมที่ทำงานอยู่ในสถานทูต 

ถ่ายภาพด้านหน้าของเรือนพักรับรองของเอกราชทูตไทยประจำประเทศอินเดีย

"ทูตไทย ใจพุทธศาสตร์"

      ถ่ายรูปภายในสถานทูตซึ่งเต็มไปด้วยดอกไ้ม้กำลังบานสะพรั่ง ส่วนด้านหลังเป็นเรือนพักรับรองของท่านทูตพลเดช วรฉัตร และผลจากการได้มีโอกาสสนทนาธรรมตามที่ได้ตั้งใจมานานพบว่า ท่านทูตมีอัธยาศัยที่ดีมาก  ให้การดูแลและเอาใจใส่ผู้เขียนและท่านมหาสุทัศน์ที่รวมคณะเป็นอย่างดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทที่ท่านมีต่อวัดไทยในประเทศอินเดีย ซึ่งหากดูจากบล๊อกของท่านจะพบว่าไปร่วมกิจกรรมวัดไทยในสังเวชนียสถานด้วยดีเสมอมา 

     ขอผลบุญบารมีอันจากการสร้างสรรค์คุณงามความดีเพื่อคนไทย พระสงฆ์ไทย ชาวไทยพุทธ จงได้โปรดอภิบาลให้ท่านทูตประสบแต่ความสุข คิดสิ่งหนึ่งประการใด ขอให้สมความปรารถนา ตลอดปี ตลอดไป.

หมายเลขบันทึก: 339768เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2010 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

  • รู้สึกซาบซึ้งในมิตรภาพของชาว G2K
  • และตามมาชมบรรยากาศแห่งความอบอุ่นและสวยงามที่อินเดียค่ะ 

สถานทูตไทยประจำประเทศอินเดีย บรรยากาศดูดี สถานที่สวยงามเหมือนกันนะคะท่านธรรมหรรษา

ขอบพระคุณค่ะ ที่ท่านนำมาให้ชม

นมัสการพระคุณเจ้า

  • อ่านแล้วมีความสุขจัง
  • เพิ่งจะทราบและได้รับความรู้ใหม่ว่า....ชาวพุทธในอินเดียจะเน้นพิธีกรรมและการสวด  และไม่ค่อยลงลึกในรายละเอียดของเนื้อหาที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา
  • กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

นมัสการครับ

ขอช่วยเสริมในเรื่องที่ท่านใช้คำเรียกว่าท่านทูตครับซึ่งได้อธิบายให้ทราบแล้ว ตำแหน่งของผมคืออัครราชทูต ส่วนเอกอัครราชทูต(คนปัจจุบัน)คือออท.กฤต ไกรจิตติ อย่างไรก็ดี ท่านอจ.(และหลายๆ คน) ก็ยังคงเรียกผมโดยใช้คำว่าท่านทูต ซึ่งผมก็เข้าใจว่าเป็นการให้เกียรติ ในความหมายว่าเป็นนัการทูตและบางครั้งก็ถือว่าเป็นกันเอง จึงขอเสริมเพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปได้เข้าใจประเด็นนี้นะครับ :)

อีกเรื่องหนึ่ง ในภาพ ภรรยาของผมใส่เสื้อสีน้ำเงินครับ ส่วนเสื้อสีกากีคือภรรยานักการทูตประจำอียูที่เดลี และเสื้อสีแดงคือภรรยาผู้ช่วยทูตทหารเรือครับ

ต้องเรียนว่าการพบกันของสมาฃิก G2K เป็นเรื่องที่น่าสนใจครับเพราะการเขียนในบล๊อค ทำให้สื่อกันในเรื่องที่นำเสนอ เป็นเสมือนกัลยาณมิตรกัน แม้จะอยู่ที่ใดในโลกก็เสมือนอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เมื่อมีโอกาสจึงอยากจะพบกัน เช่นผมกับท่านอจ.หรรษา ซึ่งถือว่าเป็น KM และธรรมะจัดสรร

ผมพบว่าท่านเป็นพระนักวิชาการจริงๆ มีพลังที่จะทำงานเพื่อพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ และผมดีใจที่ท่านได้ไปอินเดีย ได้เห็นสภาพที่แท้จริงของอินเดีย ซึ่งจะทำให้การพิจารณาแนวทางการดำเนินการฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดียชัดเจนยิ่งขึ้น

งานฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดียเป็นงานใหญ่มากครับ ปัญหาพื้นฐานมีมาก ถ้าเปรียบเสมือนการทำธุรกิจ เรียกว่าโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ดีครับ จึงต้องลงทุนมากหน่อย ที่สำคัญคือการขาดผู้นำครับ

การเป็นพุทธไม่ยาก ปีหนึ่งมีการเปลี่ยนจากฮินดูมาเป็นพุทธหลายแสนคน แต่การจะเป็นพุทธด้วยจิตใจและความรู้พื้นฐานวิถีพุทธยังไม่เกิดขึ้นครับ

ขาดผู้นำในการเป็นพุทธนั้นชัดเจนครับ วิธีการดังที่ท่านอจ.บอกนั้นถือว่าถูกต้องแล้วครับคือการให้ทุนคนอินเดีย(ทั้งพระและฆราวาส)ไปเรียนพุทธศาสนาที่ประเทศไทยแล้วกลับมาพัฒนาในอินเดียต่อไป

งานนี้ต้องพึ่งพระสงฆ์ไทยเป็นผุ้นำครับ ซึ่งพระธรรมทูตสายอินเดียถือว่าได้ทำงานได้ดีมากแล้วครับ แต่ยังขาดบุคคลากร

ในส่วนของรัฐ ต้องสนับสนุนงานของพระธรรมทูตครับ รวมทั้งสถาบันอย่าง มจร.นี่ละครับ ช่วยกันสร้างพระที่เป้นคนอินเดียเพื่อกลับไปเป็นกำลังสำคัญในการนำพุทธศาสนากลับไปอินเดียอีกครั้งหนึ่งครับ

ขอบพระคุณกับบันทึกนี้ครับ

หากได้กลับไปเมืองไทยจะแวะไปเยี่ยม มจร.ที่วังน้อยครับ

เจริญพร พี่ครูคิม/ท่านทูต

  • คำว่า "เน้นพิธีกรรมและการสวดมนต์ ไม่ค่อยลงลึก"  หมายถึงเท่าที่สังเกตจากคนส่วนใหญ่ และูพูดคุยกับนักการศาสนาและนักวิชาการที่อินเดีย  ประเด็นนี้ อาจจะเหมือนคนไทยด้วยหรือเปล่า????
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม  วันนี้จะเดินทางต่อไปพาราณสีซึ่งเป็นดินแดนที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก หรือที่เรียกว่า ธัมเมกสถูป

ท่านทูต

  • อนุโมทนาขอบคุณมากที่แวะมาช่วยแก้ไขบางประเด็น และเติมเต็มสิ่งดีๆ อีกครั้ง
  • เข้าใจถูกต้องแล้ว พวกเราเรียกท่านว่า "ท่านทูต" เพราะให้เกียรติ และเคารพคุณธรรมภายใน และภายนอก  ซึ่งจริงๆ ก็ทราบว่า ท่านเป็นอัครราชทูต  
  • ถูกต้องว่า การประกาศตัวเป็นชาวพุทธไม่ยาก แต่ที่ยากกว่าที่เราจะทำให้ท่านเหล่านั้นเข้าถึงสาระที่แท้จริงได้อย่างไร
  • อนุโมทนาท่านทูตอีกครั้ง และจะรอต้อนรับที่เมืองไทยในวันวิสาขบูชาโลก และวันอื่นๆ
  • เจริญพร

นมัสการครับ

กราบขอบพระคุณสำหรับความเข้าใจที่เต็มไปด้วยไมตรีจิตครับ

คนเราก็เป็นอะไรได้เท่าที่บุญกรรมจะนำพาและบันดาลครับ

หากทำใจได้ ก็เป็นได้ พอใจได้ ในทุกฐานะ ในที่ทุกสถานในทุกกาลสมัยครับ

ในฐานะที่อินเดียเป็นประเทศต้นกำเนิดพุทธศาสนาหรือบ้านของพระบิดา ประเทศต่างๆ ที่มีพุทธศาสนาหยั่งรากและมั่นคง

จะเป็นการสมควรที่นำต้นพุทธศาสนา(ที่โตแล้วนั้น)นั้นกลับไปปลูกเพาะชำลงดินให้เติบใหญ่ในดินแดนพุทธภูมิครับ

เสียดายแต่ว่า หาคนยินดีจะกลับไปปลูกยากหรือไม่ง่ายเลยครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่ายังยากอยู่ก็คือทัศนะคติครับ หากยังมีเขา(แขก)ยังมีเราอยู่ ยังไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน คงใช้เวลาครับ

อย่างไรก็ดี ถ้าช่วยกันทำบ่อยๆ ส่งเสริมกันไปเรื่อยๆ คงสำเร็จสักวันหนึ่งนะครับ

ขอบพระคุณและนมัสการครับ

มานมัสการ

ในวันมาฆะบูชา

เจ้าค่ะ

นมัสการพระมหาหรรษา ธมฺมสาโรและคณะ

ในวัยที่มากขึ้น การใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือย เพ้อเจ้อก็ละวางมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องที่น่าสนใจมากที่สุดคือการได้ศึกษาธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า การได้รับรู้การเคลื่อนไหวของชาวพุทธในประเทศอินเดีย ที่อื่นๆในโลกนี้รวมทั้งการเคลื่อนไหวของค์การชาวพุทธทั่วไปด้วยเจ้าค่ะ โยมกำลังติดตามอย่างใกล้ชิดเรื่องกลุ่มชาวพุทธในเมืองนาคปูร์ รัฐมหาราฏร์ (หรือมหาราช เขียนอย่างไรถูกที่สุด)เพราะดูว่ามีกิจกรรมต่างๆมากขึ้น ...ข่าวเหล่านี้เป็นกำลังใจแก่ชาวพุทธในประเทศไทยด้วย เพราะข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์และทีวี ฟังและดูแล้วไม่ค่อยได้เรื่อง จิตมันตก (ตกจน บางทีถึงกับแตกละเอียดเลยเจ้าค่ะ) โยมไม่ดูทีวีนานแล้ว ประมาณเกือบ ๕ ปีแล้ว รู้สักดีจัง....จะติดตามฟังรายการของมจร. ทางคลื่น เอ เอ็ม พล.ม ๒ ๙๖๓ เวลา ๒๒.๑๐ -๒๓.๐๐ น. จ.-ศ. (ยกเว้นจะหลับไปซะก่อน) แต่คืนวันศุกร์ระยะนี้อันเป็นเวลาที่ใกล้งานวิสาขบูชาโลก พระคุณเจ้าจะมาแสดงธรรม แถลงความคืบหน้าของการจัดงานวันวิสาขบูชาโลกบ่อยขึ้น โปรดเล่าเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการมาทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่เมืองนาคปูร์ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยก็ดีนะเจ้าคะ อ้อ โยมมีความสงสัยอีกว่า ทำไม่เราไม่ประชาสัมพันธ์วันสำคัญอีก ๒ วัน คือวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชาแก่ชาวโลกด้วย เพราะเหตุใด

อนึ่ง การจัดรายการของพระคุณเจ้าทางคลื่นพล ม. ๒ ๙๖๓ ทุกวันศุกร์สำหรับอาทิตย์สุดท้ายก่อนที่พระคุณเจ้าจะเดินทางไปเมืองนาคปูร์ ท่านได้มีเมตตาแจ้งให้พวกเราทราบว่า ขณะนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลกแล้วจำนวน ๑,๕๐๐ รูป/คน และฆราวาสไทยอีกประมาณ ๑,๕๐๐ คน เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้มาจัดรายการแทนพระคุณเจ้า ได้แจ้งว่ามีประมาณ ๕,๐๐๐ รูป/คนแล้วเจ้าค่ะ

เป็นข่าวที่ถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าใช่ก็น่าปลื้มใจจัง ...

โยมเห็นด้วยที่ว่า ญาติโยมและพระสงฆ์ไทยชอบ (ก่อ) สร้างถาวรวัตถุ มีเรื่องหนึ่งที่โยม งงงงง!! คือคนไทยพุทธชอบสร้างทั้งพระและโบสถ์ แต่พอถูกคนต่างศาสนาทำลาย พวกเราเองกลับบอกว่า "มันเป็นอิฐเป็นหิน" (เออเป็นไปได้!!!!!) ....โยมคิดว่าน่าจะจัดส่งพระภิกษุที่เป็นนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนามาให้ความรู้แก่พระภิกษุและชาวพุทธที่เมืองนาคปูร์น่าจะดีกว่า การส่งพระสงฆ์ชาวอินเดียมาเรียนในประเทศไทยก็เห็นด้วยอยู่ แต่เกรงว่าจะ "ติด" สุขภาวะจากประเทศไทยไปนะเจ้าคะ

ขออนุโมทนาการทำกิจภาระของพระพุทธศาสนาของพระคุณเจ้าด้วย เจ้าคะ

ก่อนจบขอกราบเรียนให้พระคุณเจ้าและผู้อ่านได้รับทราบว่า ในประเทศไทยปีนี้มีวัดร้างเพิ่มอีก ๔๐ วัด รวมๆแล้วประมาณ ใกล้ๆ ๖,๐๐๐ วัดแล้ว ...แล้วจะทำอย่างไรดี หยุดก่อสร้างของใหม่ ร่วมด้วยช่วยกันกลับไปดูแลและฟื้นฟูของเก่าๆก่อนจะดีกว่าไหม.. ยั้งงั้นขอเพิ่มพุทธมามกะจากเมืองนาคปูร์ก็จะดี ช่วยทดแทนความรู้สึกบางอย่างได้บ้าง อีกนิดหนึ่งคือได้ข่าวมาจาก facebook ว่ามีผู้คนขอเปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนาพุทธที่เมือง Abmeddabad ประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นไม่ทราบว่าใช่หรือไม่ประการใด

กราบนมัสการลา

แว่นสีฟ้า

นมัสการครับ

นำภาพนี้มาฝากครับ

พร้อมกับคำอธิบายเกี่ยวกับต้นโพธิ์ที่อยู่ข้างหลังว่า เมื่อปี 2500 รัฐบาลอินเดียฉลองกึ่งพุทธกาล ที่เรียกว่าบุดดาชยันตี ได้มีการเชิญสถานเอกอัครราชทูตไทยไปร่วมฉลองที่พุทธคยา จนท.การทูตสมัยนั้นได้นำหน่อของต้นพระศรีมหาโพธิ์มาด้วย 2 หน่อ หนึ่งต้นคือที่เห็นอยู่ในภาพครับ เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่คนสถานทูตและคนไทยในเดลีสักการะมากว่า 50 ปีแล้ว

นมัสการครับ

ท่านทูต

  • อนุโมทนาขอบคุณมากที่แวะมาเติมเต็มสิ่งดีๆ เพื่อให้พวกเราได้เรียนรู้และเข้าใจมากยิ่งขึ้น
  • ต้นโพธิ์ หรือต้นไม้แห่งการรู้ ตื่น และเบิกบานเป็นประดุจสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา
  • ประเด็นที่น่ายินดีก็คือ ต้นโพธิ์มีอยู่ทั่วไปในประเทศอินเดีย ทั้งเดลี และเมืองอื่นๆ และในขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ในอินเีดียต่างก็รู้ว่า ต้นโพธิ์คืออะไร มีที่มาอย่างไร และประชาชนไม่นิยมตัดหรือโค่น
  • อนุโมทนาอีกครั้ง เจริญพร

นมัสการครับ

นำภาพต้นโพธิ์ผลัดใบใหม่มาฝากครับ

กับบันทึกนี้ http://gotoknow.org/blog/poldejw/348773

ใบโพธิ์งามจริง พูดถึงเรื่องต้นโพธิ์ ดิฉันก็มีความรู้สึกเจ็บปวดกับความคิดของคนไทยพุทธในประเทศไทยซะจริงๆ และผู้ที่กระทำการนี้ก็คือหน่วยงานของราชการ บุคคลธรรมดาทั่วไปทำไม่ได้หรอกค่ะ เหตุนี้เกิดที่เขตบางพลัด กทม. ถนนจรัญฯ 75 ต้นโพธิ์ต้นนี้ใหญ่มาก อายุน่าจะกว่า ๔๐ ปีแล้ว ก็งดงามดีและให้ร่มเงาแก่ชาวมอเตอร์ไซค์ซึ่งคิวของพวกเขาอยู่ปากซอย จรัญฯ 75 นี้ และก็ได้มีการนำผ้าสีมาผูกรอบต้นไม้ตามความเชื่อของตนเอง ...สัก ๒-๓ เดือนที่แล้วดิฉันได้มีโอกาสใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์ที่ซอยนี้ ปรากฎว่าต้นโพธิต้นนี้หายไปครึ่งต้นเสียแล้ว ดิฉันเลยถามคิวรถว่าทำไมเขาจึงทำกับต้นโพธิ์ต้นใหญ่มากๆแบบนี้ มีคนตอบว่าก็ไม่ทราบ แต่พอจะทราบว่าจะมีคนมาขนเอาไปซึ่งก็มีใบใหม่ๆงอกออกมาแล้ว

ดิฉันก็วางใจและดีใจที่จะมีคนมาเอาเขาไปปลูกยังที่ใหม่ ....ต่อมากลับมาที่ซอยนั้นอีกที ปรากฎว่าต้นไม่ตายสนิทเสียแล้ว ก็ถามคิวรถอีกว่า ทำไมถึงตายก็มันงอกใบใหม่แล้วนี่ เขาตอบว่า เขาเอายามาฉีดให้ตาย....

ดิฉันทราบดีว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้วันนี้มันใหญ่มากและบังสายตาคนขับรถที่จะเข้า-ออกซอย แต่ถ้าคนมีจิตใจอนุรักษ์นะ ต้องมี "ปัญญา" มากกว่านี้ ไม่ใช่มักง่ายแบบนี้ ต้นโพธิ์เขาอยู่มาก่อน ความเจริญมันมาที่หลังนี่

ไม่น่าแปลกใจหรอกว่า ทำไมคนต่างศาสนาจึงกล้าทำลายพระพุทธรูปที่อาฟกานิสสถาน และเมื่อเร็วๆนี้ก็ทำลายพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่ประเทศมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเพราะเราเป็นคน "ไม่จริงจังสักเรื่อง"

ที่ประเทศศรีลังกาเขานับถือต้นโพธิ์มากใช่ไหมค่ะ ทราบมาว่า ถ้าต้นโพธิ์มาขึ้นใกล้บ้านเขา เขาจะย้ายบ้านหนีด้นไม้

ท่านฑูตพลเดช วรฉัตรคะ กรุงเทพมีอายุกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว ท่านสังเกตุเห็นไหมว่า ต้นไม้ในกทม.และปริมณฑน่ะ ต้นใหญ่ขอพูดแบบชาวบ้านว่า "ต้นใหญ่เท่าขาไก่เท่านั้นเอง" จะมีหลงเหลือพอที่จะช่วยรับหน้าได้บ้างก็สักที่ละ 1 ต้นกระมังคือตามสวนสาธารณะ (ยกเว้นสวนลุมพินีเพราะมีต้นไม้ต้นใหญ่ๆเยอะ) ชาวตปท.ที่ไปเที่ยวประเทศสิงคโปร์เขาบอกว่า ประเทศสิงคโปร์เขาอนุรักษ์ต้นไม้จริงๆ ทำไมประเทศไทยต้นไม้จึงยังเล็กอยู่ ??? ดิฉันตอบเขาว่าอย่างนี่ค่ะ ต้นไม้ถึงแม้จะเล็ก แต่ก็เป็นต้นไม้นะ (ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรดี)

ที่หอสมุดแห่งชาติ เทเวศร์ ที่ริมรั้วภายในปลูกต้นไม้มาก ต้นใหญ่โตและร่มรื่น คิดว่าปลูกมาหลายปีแล้วละตั้งแต่เริ่มก่อสร้างหอสมุดแห่งชาติ ปกติจะไปอาทิตย์ละครั้ง แต่ระยะหลังนี้ไม่ได้ไปสักสองอาทิตย์ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วไปที่หอสมุดแห่งชาติ เขาตัดต้นไม่ใหญ่ก็ถือว่าใหญ่นะคะ อาจจะไม่ใหญ่ชนิดที่มีรุกขเทวดามาอาศัยอยู่ เขาตัดแบบฉีดยาต้นไม้จนตายอีกแล้วค่ะ ทำไมเขาจึงไม่ติดต่อหน่วยงานหรือองค์อื่นๆหรือแม้แต่บริษัทใหญ่ๆบางแห่งเขาก็อาจจะต้องการ ก็ลงทุนครั้งเดียวเป็นค่าใช้จ่ายในการขุด ถอนและขนย้าย แต่จะได้ต้นไม้ที่ใหญ่มากและร่มรื่นด้วย ...

มีการกระทำแบบนี้ในประเทศไทยอีกหลายแห่ง ดิฉันคิดเช่นนั้นเพราะเราไม่รู้ว่าที่ไหนเขาตัดทิ้งแบบนี้ กทม.มันกว้างใหญ่มากเราไม่สามารถไปได้ทั่วถึง

แล้วข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยบนหน้าหนังสือพิมพ์เอย โทรทัศน์และสื่อต่างๆก็ต่างประชาสัมพันธ์เรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างเป็นร่ำเป็นสัน รวมทั้งรณรงค์ปลูกป่า (สัตว์ป่าไม่เอาเพราะขืนอยู่กับคนในป่า คนก็จะกลัวสัตว์ จริงๆสัตว์กลัวคนมากกว่า แต่จริงๆเราไปบุกรุกที่ของพวกเขาต่างหาก) ....มันเป็นการเล่นลคร แสดงความรู้สึกของการเป็นคนดีแต่เป็นแต่เพียงภายนอก ภายในยัง "แย่ๆ" อยู่

ดิฉันใครขอพูดถึง "อภินิหารของความรักในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ว่าด้วยเรื่องต้นไม้ (จะว่า "สิ่งแวดล้อม" มันเป็นลครไปนะคะ) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ดิฉันได้ไปร่วมงาน "วิสาขบูชาโลก" ทั้งสามที่คือ ๑. พุทธมณฑล ๒. มจร. วังน้อย และ๓. สำนักงาน UN" ถนนราชดำเนิน เรื่องการดำเนินงานของงานวิสาขบูชาโลกปีที่แล้วจะไม่ขอพูดถึง

คือ ภายใน มจร. อ. วังน้อย วันนี้กว้างขวางมากและทราบว่าได้ซื้อที่เพิ่มเติมอีก ๘๐ ไร่เพื่อสร้าง ม. มจร.นานาชาติระดับปริญญาโท

บริเวณที่ดินที่ว่างระหว่างอาคารอธิการบดี และศาลากลาง -ห้องอาหาร ได้ทำเป็นสวนได้ปลูกต้นไม้ไว้จำนวนหนึ่งซึ่งกำลังเริ่มโต ก้แค่กำลังโตนะคะ นั่นคือภาพที่ได้เห็นในเดือนพ.ค. ๒๕๕๒ แต่ถัดมาอีกสักสองประมาณสัก ๓ เดือนมีโอกาสได้ไปที่ มจร. วังน้อยใหม่ คราวนี้รู้สึกตกตลึงเลยค่ะ มีต้นไม้ใหญ่ (ใหญ่กว่าต้นเติมๆ)และหลายชนิด มาปลูกเพิ่มเติมอีกมากมาย รู้สึกถึงความร่มรื่น ได้ทราบว่ามีผู้ศรัทธาจัดหามาบริจาคเพิ่มด้วย (ข้อมูลนี้ต้องถาม มจร.ค่ะ) เพื่อนนักบุญของดิฉันได้เล่าว่าบางส่วนมาจากวัดแห่งหนึ่ง เจ้าอาวาสท่านบริจาคมาคือท่าได้ขุดถอนต้นไม้เหล่านี้ที่ปลูกอยู่ในวัดนานแล้วค่ะ .......ดิฉันได้พูดกับเพื่อนนักบุญว่า "นี่คือความรักและศรัทธาอันแรงกล้าของชาวพุทธในประเทศไทยที่มีต่อองค์พระสมณโคดม" ดิฉันบอกกับเพื่อนว่า ผู้ร่วมงานวิสาขบูชาโลกทั้งหลายที่เคยมาเมื่อปีที่แล้ว ถ้าได้มาอีกในปีนี้ต้องรู้สึกแปลกใจเพราะมันร่มรื่นขึ้นกว่าปีที่แล้วซึ่งมันร้อนมากๆเลย ปีนี้ขณะนี้ก็ร้อนมากๆเช่นกัน

เมื่ออาทิตย์ก่อน ได้ไปร่วมงาน "บุญเผวส" ที่ มจร. อ. วังน้อย ได้แลเห็นที่ดินอ้านข้างที่ว่าจำนวน ๘๐ ไร่กำลังมีการพัฒนาคือมีการปรับและถมที่ดิน คือมจร.มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ....อีกความคิดหนึ่งอยากจะให้มจร. ทำแปลงผักปลอดสารพิษเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของทั้งพระและญาติโยม ทำให้เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อสุขภาพจริงๆเพราะสุขภาพของพระภิกษุทุกวันนี้ไม่ค่อยดีนัก รพ.สงฆ์วันนี้ ก็ไม่สามารถรองรับพระภิกษุได้ครบถ้วน มหายานเขาคำนึงถึงเรื่องนี้มากๆ

ขอรบกวนเวลาท่านฑูตพลเดช วรฉัตรเท่านี้ พูดมากไปหรือเปล่ก็ไม่ทราบนะคะ หวังว่าจะได้พบกับท่านในงาน "วันวิสาขบูชาโลก" ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่กทม. นะคะ

นมัสการท่านธรรมหรรษา

สวัสดีครับคุณอิสรีย์

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายจริงๆ ครับ ที่คนไทยหรือคนกรุงไม่รู้คุณค่าของต้นไม้

ที่อินเดีย ตามเมืองใหญ่ๆ จะเห็นได้เลยว่าต้นไม้ได้รับการรักษาเป็นอย่างดี

ไม่ว่าอะไรก็ต้องหลีกทางให้ต้นไม้ เพราะมีความศรัทธาว่าต้นไม้เกิดก่อนมนุษย์ จึงไม่ควรไปทำลายต้นไม้

เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมนี้ ความจริงเป็นเรื่องระดับเมือง ระดับจังหวัด ไม่ต้องถึงระดับชาติ หากกทม.หรือเมืองต่างๆ จะเป็นผู้นำเอาจริงเอาจัง รณรงค์รักษาต้นไม้ก็น่าจะทำได้

ยินดีครับที่ได้สนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

ต้องขอบพระคุณท่านธรรมหรรษาด้วยครับ

โยมอิสรีย์ และท่านทูต

อนุโมทนาขอบคุณสำหรับข้อคิด และแนวทางการดำเนินการในการจัดงานวิสาขะ ตอนนี้กำลังให้ทีมงานช่วยกันออกแบบอยู่ รับรองได้เลยว่าจากแรงบันดาลใจของท่านทูตเรื่องใบโพธิ์ เราจะมีใบโพธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในการจัดงานแน่นอน แต่จะออกมาในรูปแบบไหนนั้น จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

อาตมาเห็นด้วยกับท่านทูตว่า อินเดียดูแล "ต้นโพธิ์" ได้ดีมาก ตามถนนหนทางมีต้นโพธิ์เยอะมาก และคนส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันว่า เป็นต้นไม้แห่งการตรัสรู้

ฉะนั้น กลุ่มหนึ่งที่สำคัญในการจัดสัมมนาคือ Buddhist Ecology หว้งว่าจะได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์ และโยมอิสรีย์

เจริญพรธรรมท่านทั้งสอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท