สิ่งที่ได้เรียนรู้.. จากการฝึกจับประเด็น (๑)


การจับประเด็นต้องนำสิ่งที่ผู้พูดมาจับประเด็นโดยไม่เอาประสบการณ์เดิมของเรามาร่วมด้วย เราจึงจะจับสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อได้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นเราจะจับผิดประเด็น

          ๗ - ๙ พ.ย. ๕๑ ที่ผ่านมาดิฉันมีโอกาสเข้าอบรม ฝึกทักษะการจับประเด็นเบื้องต้น ของ เสมสิกขาลัย โดยมี          อ.กิตติชัย งามชัยพิสิฐ (พี่อ้วน) เป็นวิทยากร   การอบรมครั้งนี้จัดที่ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน (อยู่ระหว่างสะพานหัวช้างกับโรงแรมเอเชีย)

         จริงๆ แล้วดิฉันต้องอบรมในเดือน พ.ค. ๕๒  เพราะรุ่นนี้เต็มแล้ว (แต่ละรุ่นรับไม่เกิน ๒๐ คน) ... เนื่องจากบังเอิญมีคนยกเลิก ดิฉันก็เลยโชคดี มีโอกาสเข้าอบรมรุ่นนี้ด้วย (มีผู้เข้าร่วม ๑๕ คน) ... และถือว่าดิฉันช่างโชคดีจริงๆ เพราะทราบภายหลังว่าเขาจะไม่จัด ฝึกจับประเด็นเบื้องต้น อีกแล้ว  แต่จะจัดขั้น ๒ และ ๓ อีกขั้นละรุ่นเท่านั้น

          ดิฉันจะเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับการอบรมครั้งนี้นะคะ.. ว่ามีลักษณะอย่างไรบ้างแต่คงไม่ลงรายละเอียดเท่าไรนัก... แต่จะเล่าถึงประเด็นสำคัญ (ต้องใช้คำนี้เพราะเพิ่งเรียนรู้มา.. ถือเป็นการฝึกฝนไปในตัว.. อิอิ เป็นประเด็นแบบเรื่องเล่านะคะ ก็เลยต้องมีบริบทบ้าง.. ออกตัวไว้ก่อนเพราะเดี๋ยว พี่อ้วน อ่านเจอแล้วเห็นว่าไม่ตรงกับที่สอน เดี๋ยวคนสอนจะเสียใจ)        

          การจัดห้องเป็นแบบนั่งพื้นตลอด ไม่มีเก้าอี้ เพื่อความเป็นกันเองและไม่เป็นทางการ    โดยตลอดกระบวนการจะมีกิจกรรมสนุกสนานนำเข้าสู่เนื้อหาหลักเสมอ

          วันแรก : ประเด็นหลักมี ๒ ข้อ  คือ ๑. การจับประเด็นไม่ใช่การย่อความหรือสรุปเนื้อหา ๒. เรียนรู้เครื่องมือการจับประเด็นให้ครบถ้วน ชัดเจน และกระชับ  

          การฝึกในวันนี้ จะเป็นลักษณะ ฟังเรื่องเล่า  นิทาน  เรื่องของเพื่อน  แล้วให้จับประเด็นว่าเรื่องนั้นๆ มีประเด็นของเรื่องคืออะไรบ้าง แล้วอธิบายว่ามีหลักคิดอย่างไร ทำไมถึงคิดว่าเป็นประเด็น... เป็นกระบวนการกลุ่ม

          สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้ในวันแรก คือ 

          - เรามักจะคิดว่าการจับประเด็นคือการย่อความ สรุปเนื้อหา  มองเฉพาะสิ่งที่พูด  แต่จริงๆ แล้วการจับประเด็นคือ ต้องมองทะลุผ่านเรื่องเล่าเหล่านั้นว่า หาหัวใจหลักของเรื่องว่าเขาต้องการสื่ออะไร  เรื่องเล่าหรือรายละเอียดต่างๆ เป็นเพียงกลวิธีหนึ่งของผู้เล่า เพื่อจะให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการจะบอก  แต่บอกตรงๆ คนฟังก็ไม่เข้าใจหรือไม่อยากฟัง

          - การจับประเด็นต้องนำเฉพาะข้อมูลหรือสารที่ ผู้พูด พูด.. ไม่ใช่นำข้อมูลหรือประสบการณ์เรามาร่วมจับประเด็นด้วย  เพราะประเด็นที่ได้อาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อ    ซึ่งประเด็นนี้ขอยกตัวอย่างในการอบรม คือ เรื่องกระต่ายกับเต่า ซึ่งเรารู้กันทั่วไปว่าเรื่องนี้มีรายละเอียดอย่างไร มีบทสรุปอย่างไร ดังนั้นประเด็นที่ได้จึงเป็น ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น และ ความประมาททำให้เกิดความผิดพลาด .... แต่ตอนที่เล่านั้น พี่อ้วน จะเน้นเรื่องราวของกระต่ายซึ่งแทบจะไม่เล่าเรื่องของเต่าเลย ซึ่งถ้าหากเรานำแค่สิ่งที่ได้ยินมาจับประเด็น  เรื่องกระต่ายกับเต่าที่พี่อ้วนเล่านี้ ประเด็นก็คือ ความประมาททำให้เกิดความผิดพลาด   เพราะต้องการสื่อในเรื่องความประมาทไม่ใช่ความพยายาม  .....  นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่า การจับประเด็นต้องนำสิ่งที่ผู้พูดมาจับประเด็นโดยไม่เอาประสบการณ์เดิมของเรามาร่วมด้วย เราจึงจะจับสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อได้ถูกต้อง  ไม่เช่นนั้นเราจะจับผิดประเด็น

บันทึกนี้ขอเล่าเท่านี้ก่อนนะคะ.. ติดตามอ่านตอนต่อไปได้นะคะ

 

คำสำคัญ (Tags): #การจับประเด็น
หมายเลขบันทึก: 221973เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2008 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับคุณuraiman

มาเรียนการจับประเด็นอย่างเป็นการ เพราะที่ผ่านมาทำเวทีก้ฝึกจับประเด็นตามประสบการณ์ ขอตอนต่อไปครับ

  • ตามมาเรียนรู้ด้วยคน
  • ดีจังเลยครับ
  • หายไปนาน
  • อยากให้มาเล่าบ่อยๆๆ
  • เราจะได้เรียนรู้ด้วย
  • เข้าใจว่ามีอบรมหลายรุ่นมากของเสมสิกขาลัยนะครับ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท