อย่าไว้ใจเทคโนโลยีการศึกษา (๑)


สองสามเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตไม่นานมานี้ทำให้ผมได้คิดทบทวนอะไรหลายอย่างครับ ยิ่งได้ผ่านการศึกษาด้านเทคโนโลยีการศึกษามาแล้วก็ยิ่งทำให้คนขี้ระแวงอย่างผมหวาดระแวงมากจนขึ้นสมอง

เหตุการณ์แรกคือการได้กลับไปทบทวนความเคลื่อนไหวในชุมชน OLPC [1][2] หลังจากที่ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชมมาเป็นปี ผมก็พบว่าทีมงานที่กระจายตัวในประเทศต่างๆ ยังตั้งหน้าตั้งตาพยายามที่จะเอาเทคโนโลยีเข้าไปเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก ผมชื่นชมและเคารพในความพยายามของอาสาสมัครจากทุกมุมโลกที่มุ่งหวังจะพัฒนาประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่ยังไม่เริ่มพัฒนาให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ผมเดาเอาว่าความ “พัฒนาแล้ว” น่าจะมีเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง ครั้นเอาเทคโนโลยีเป็นตัวตั้งแล้ว โครงการของหลายๆ ประเทศก็เลยเน้นที่เทคโนโลยี โดยละเลยการพัฒนาบุคลากรไปซะอย่างนั้น การวางแผนอย่างนี้ถือว่าผิดพลาดอย่างมหันต์ครับ เพราะการโยนคอมพิวเตอร์ไปให้เด็กเฉยๆ แล้วหวังว่าเด็กจะเรียนได้นั้นเป็นความคิดที่สั้นเสียจนน่าตบกะโหลก จากการดูอยู่ห่างๆ โครงการ OLPC ที่ตอนนี้มีอายุได้หกขวบนั้น ผมสรุปได้สองประการ ข้อหนึ่ง เมื่อเอาเทคโนโลยีเป็นโจทย์คำถาม การตอบจะทำได้ยาก ข้อที่สองนั้นคือนักปฏิบัติและนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในชั้นเรียนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่างบประมาณที่สำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีก็คือการพัฒนาครู ซึ่งสำคัญกว่าคอมพิวเตอร์ และการพัฒนาหลักสูตรเสียอีก

แต่วิธีการของ OLPC นั้นคือการเซ็นสัญญากับรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อจะจัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้ได้มากที่สุด และส่งถึงมือเด็กให้มากที่สุด โดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆ ในระบบนิเวศน์ของโรงเรียน ไม่สนใจว่าอาจารย์ใหญ่จะเห็นด้วยกับโครงการไหม (ละเลยภาวะผู้นำ) ไม่สนใจว่าครูจะใช้คอมพิวเตอร์เป็นไหม (ไม่สนใจผู้ใช้งาน) และไม่สนใจการพัฒนาเนื้อหาการเรียน (ละเลยการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง) พูดง่ายๆ คือโยนคอมพิวเตอร์ลงไปโครมเดียวแล้วหวังว่าเด็กจะเก่งขึ้นในพริบตา ฝันไปเถอะครับ

ตลกร้ายของโครงการ OLPC ที่หลายคนคงขำไม่ออก ก็คือทีมงานที่ดูจะประสบความสำเร็จมากที่สุดคือทีมงานในสหรัฐอเมริกานั้นเองละครับ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก แถวๆ ซานฟรานซิสโกที่ทางมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเนื้อหา ระบบและการอบรมครูในโรงเรียน [3] สรุปง่ายๆ ก็คือว่าถ้าคนพร้อมมันก็จะประสบความสำเร็จ เหมือนที่ Mark Warschauer นักวิจัยที่ศึกษาด้านการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษามาเกินศตวรรษค้นพบว่าคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนนั้นช่วยให้โรงเรียนที่พร้อม (good schools) นั้นดียิ่งขึ้น แต่ไม่ได้ช่วย แถมยังทำร้ายโรงเรียนที่ไม่มีพร้อม (troubled schools)

ที่ผมขึ้นหัวข้อไว้ว่า “อย่าไว้ใจเทคโนโลยีการศึกษา” นั้นก็เพราะว่าหลายๆ ครั้งเรานึกว่ามันจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาว แต่ถ้าเราศึกษาย้อนไปตั้งแต่ในวงการการศึกษา ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ วิดีโอ และต่อมาก็คือคอมพิวเตอร์พีซีนั้น เรามักจะคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้น เร็วขึ้น และต่อไปนี้เราไม่ต้องมีครูแล้ว ฮูเร่! แต่ทุกครั้งก็กลับมาอีหรอบเดิม คือก็ไม่เห็นมันจะช่วยอะไรมากนัก มีคอมพิวเตอร์ เด็กก็แชต เล่นเกม ดูสื่อลามกกัน มาคราวนี้เราก็เฮโลกันไปว่า OLPC ขี่ม้าขาวมา แต่ผลสุดท้ายก็ไม่ต่างจากเทคโนโลยีรุ่นก่อนๆ

ถ้าเราไม่เริ่มหวาดระแวงว่าเทคโนโลยีมันจะมาไม้ไหนอีก เราก็คงวนเวียนกันอยู่ตรงนี้ที่เรียกว่าวัตถุนิยมนั่นละครับ

เมื่อไหร่เราจะบุคลากรนิยม หรือครูนิยมกันเสียที?

อ่านต่อตอนสองได้ตามลิงค์นี้ครับ [link]

ภาพประกอบ: http://www.olpcnews.com/images/olpc-sfnov.jpg

อ้างอิง: Mark Warschauer (2006) Laptops And Literacy: Learning in the Wireless Classroom. Teachers College Press.

หมายเลขบันทึก: 437416เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2011 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท